สุกัญญา เบาเนิด
และแล้วสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจนได้....เมื่อเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ วันแรกของการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดย วัดและชุมชนมอญบ้านไร่เจริญผล ร่วมกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ
ข้าพเจ้าตื่นขึ้นพร้อมกับเสียงตระหนกของเพื่อนคนหนึ่งที่วิ่งกระหืดกระหอบนำข่าวของเช้านี้มาบอก “....เร็วๆมาดู อะไรนี่ ...ยกโขยง มากันเป็นร้อยเลยว่ะ...เต็มวัดไปหมด .....” ในทันทีนั้นข้าพเจ้าจึงชะโงกหน้ามองจากหน้าต่างชั้นบนของศาลาการเปรียญที่พวกเราอาศัยซุกหัวนอนกันตั้งแต่เมื่อคืนเพื่อมาเตรียมจัดงาน ภาพที่เห็นก็คือกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ อป.พร. (อาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือน) สันติบาล กองปราบ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)กระจายตัวอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด รวมทั้งเส้นทางที่ผ่านเข้าออกก็มีการตั้งด่านตรวจอย่างเต็มกำลัง
ส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาประจำการที่วัดบ้านไร่เจริญผล
“โอ้โฮ !!! ถึงขั้นนี้เชียวรึนี่” ข้าพเจ้าพึมพำเบาๆกับตัวเองและคิดทบทวนในเรื่องราวทั้งหมด งานรำลึกชนชาติมอญในปีนี้ทำไมสถานการณ์จึงตึงเครียดนัก ด้วยสายตาของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่มองมาด้วยความหวาดระแวง และไม่ไว้ใจ...ทำให้ข้าพเจ้ายังครุ่นคิดต่อไป
“นี่เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชนมอญผู้ล่วงลับมิใช่หรือ แล้วก็เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ภาษาและวัฒนธรรมประเพณีของคนมอญ เป็นวันสำคัญที่คนมอญจากทั่วประเทศจะได้มีโอกาสพบหน้าคร่าตากัน พูดจาสอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน และเหนือสิ่งอื่นใดในโอกาสนี้ ชาวมอญทั้งหลายจะได้ทำบุญถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์อีกด้วย”
แท้จริงแล้วความตึงเครียดความวิตกกังวลของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ตั้งเค้ามาก่อนหน้านี้สักระยะหนึ่งแล้ว ต่อกรณีการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญในจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากบริบทในเชิงพื้นที่แห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนมากนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญ หรือคนมอญจากเมืองมอญ (ประเทศพม่า) และด้วยกลุ่มคนมอญเหล่านี้มิใช่คนไทยทำให้เจ้าหน้าบ้านเมืองต้องควบคุมอย่างเข้มงวด ตลอดจนขาดความรู้ความเข้าใจต่อความเป็นพม่า และความเป็นมอญอย่างลึกซึ้ง กลุ่มคนเหล่านี้จึงถูกตีกรอบให้อยู่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง” และถูกตีตราด้วยอคติ ดังนั้นการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญจึงสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงไปด้วย
ด่านตรวจหน้าปากซอยวัดบ้านไร่เจริญผล ส่วนสำคัญที่ทำให้การจราจรติดขัดบริเวณถนนพระราม 2
“..ความมั่นคง... ความมั่นคง.... ความมั่นคง.... ความมั่นคง..... !!! ” ข้าพเจ้าท่องคำๆนี้ ซ้ำไปซ้ำมา ทั้งที่ยังไม่เข้าใจเลยว่าการที่คนมอญจัดกิจกรรมเพื่อสำนึกถึงความเป็นตัวตน และรากเหง้า ผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณีจะเป็นภัยต่อความมั่นคงตรงไหน!!!
งานรำลึกชนชาติมอญในครั้งนี้คงจะต้องเป็นที่จดจำของชาวมอญไปอีกยาวนาน ทั้งพระสงฆ์ คนในชุมชน คนจัดงาน นอกจากจะต้องเหนื่อยแรงกับการเตรียมจัดงานแล้ว ยังต้องเหนื่อยใจกับคำถามซ้ำๆ ที่ถูกป้อนมาจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองด้วยท่าทีและความรู้สึกไม่ไว้ใจ แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วัฒนธรรมประเพณีมอญ และคนมอญ” กำลังถูกตั้งคำถามและมองด้วยสายตาที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งที่แต่ก่อนนั้นคนมอญและวัฒนธรรมประเพณีมอญถูกหล่อหลอมจนกลมกลืนกับสังคมไทยมาเนิ่นนาน
ข้าพเจ้าและคนอื่นๆยังคงช่วยกันตระเตรียมงานต่อไป เพราะในช่วงค่ำของวันนี้จะมีกิจกรรมหลายอย่างทั้งการออกร้านสินค้าพื้นบ้านมอญ นิทรรศการวิถีชีวิตมอญ การแสดงนาฏศิลป์มอญจากชุมชนและสถานศึกษาต่างๆจัดมาร่วมงาน แต่ทว่าตลอดทั้งวันผู้คนยังคงบางตาผิดไปจากงานวันรำลึกชนชาติมอญเมื่อปีก่อนๆ บรรยากาศที่เคยเป็นมานั้นไม่ว่าคนไทยเชื้อสายมอญ และคนมอญจากเมืองมอญที่ทำงานในเมืองไทยเมื่อทราบข่าวก็จะมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง เพราะวันรำลึกชนชาติมอญเป็นการธำรงความหมายและสำนึกร่วมของคนมอญที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทานปรัมปรา บรรพบุรุษ ภาษา และประเพณีวัฒนธรรมที่คนมอญทั้งสองเมืองมีร่วมกัน
ส่วนหนึ่งของรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาจอดภายในวัดบ้านไร่เจริญผล
แต่วันนี้กลับมองไปไม่เห็นแรงงานมอญต่างด้าวมาร่วมงาน ทั้งที่ทราบมาว่าพวกเขาได้เตรียมจัดการแสดง และจัดกองผ้าป่ามาร่วมงานในครั้งนี้ และนั่นคงเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งด่านสกัดกั้นไว้ทุกเส้นทางที่จะเข้ามาบริเวณวัดซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าต้องการตรวจจับผู้ที่ไม่มีบัตร (ทะเบียนราษฎรต่างด้าว ท.ร.๓๘/๑) หรือการข้ามเขตพื้นที่ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าเจตนาที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่นั้นต้องการสกัดกั้นมิให้แรงงานมอญต่างด้าวเข้ามาร่วมงานวันรำลึกชนชาติมอญมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่ได้มีประกาศของทางจังหวัดไม่สนับสนุนให้แรงงานมอญต่างด้าวได้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมประเพณี จึงทำให้ไม่มีใครกล้าเดินทางมาร่วมงานที่จัดขึ้น ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิด เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นการกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไทยมีต่อพม่า ซึ่งมากมายเหตุผลที่จะนำกล่าวอ้าง
ด่านตรวจหน้าปากซอยวัดบ้านไร่เจริญผล พร้อมรถบรรทุกเจ้าหน้าที่ตระเวนตรวจการ
เมื่อวันรำลึกชนชาติมอญถูกตีความว่ามีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงยังส่งผลสะท้อนกลับมาที่คนไทยเชื้อสายมอญอีกระลอกใหญ่ ข้าพเจ้าจึงไม่แปลกใจนักที่จะได้ยินได้ฟังคนไทยเชื้อมอญหลายต่อหลายคนมีท่าทีและคำพูดเช่นนี้
“....งานวันรำลึกชนชาติมอญจัดขึ้นสำหรับคนไทยเชื้อสายมอญเท่านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกมอญแรงงานต่างด้าวนั้นหรอก เราเป็นคนไทยย่อมมีสิทธิ์ที่จัดงานได้...”
จากความคิดดังกล่าวได้ส่งผลในระดับสำนึกความเป็นมอญเปลี่ยนแปลงไปโดยมีกรอบของรัฐชาติเป็นเงื่อนไขกำหนด ผ่านการชี้นำจากเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความเป็นอื่นต่อกลุ่มแรงงานมอญต่างด้าว ทำให้คนไทยเชื้อสายมอญต้องเลือกข้างเลือกฝั่ง หรือถ้าแย่กว่านั้นคนมอญอาจจะอับอายและซ่อนความเป็นมอญไม่กล้าแสดงออกอย่างที่เคยเป็น
“..พวกท่านจะรู้หรือไม่ว่า...ท่านกำลังสร้างรอยร้าวให้กับกลุ่มชนชาวมอญของเรา...” ข้าพเจ้าอยากตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ไปแบบนั้น แล้วก็แจ้งแก่ใจว่าสังคมไทยยังขาดการเรียนรู้และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอีกมากมาย ทำให้การยอมรับการให้เกียรติต่อกันลดน้อยลง
แล้ววันแรกของการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ก็ผ่านไปด้วยบรรยากาศแห่งความตึงเครียดระหว่างเจ้าหน้าที่ พระสงฆ์ ชาวชุมชน และคนจัดงาน...
ทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ข้าพเจ้านอนฟังเสียงฝนที่เทลงเหมือนฟ้ารั่วตอนค่อนสว่าง เมื่อฟ้าสางทั่วบริเวณวัดเจิ่งนองไปด้วยน้ำ...เมื่อวานเรายังต้องต่อสู้กับวิธีคิดของคน และวันนี้ฟ้าฝนก็ยังไม่เป็นใจ ทั้งคนและธรรมชาติต่างกระหน่ำซ้ำเติม เป็นอุปสรรคที่เราจะต้องฝ่าฟัน...
วันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ซึ่งกำหนดให้เป็นวันพิธีการและพิธีกรรมที่สำคัญ ทั้งการเปิดงานอย่างเป็นทางการ การกล่าวสดุดีบรรพชนมอญ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ถวายกองฝ้าป่าและการแสดงวัฒนธรรมประเพณีมอญ ในวันนี้จะมีคนมอญจากชุมชนต่างๆทั่วประเทศเดินทางเข้ามาร่วมงาน จะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยประธานเปิดงานในครั้งนี้คือ คุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ หรือ ครูแดงแห่งบ้านปางสา อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ทำงานและคลุกคลีกับชาวเขามากว่า ๓๐ ปี อดีต สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย และ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ที่มีความเข้าใจและให้เกียรติในวัฒนธรรมประเพณีมอญอย่างดียิ่ง ต่างไปจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่ปฏิเสธคำเรียนเชิญในการเป็นประธานเปิดงานไปก่อนหน้านี้ ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดถึงการจัดงานเมื่อปีที่แล้วไม่ได้ ซึ่งเป็นวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๐ ณ วัดอัมพวัน ชุมชนมอญบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงานตามคำเชิญของคณะผู้จัดงาน แล้วท่านได้แต่งกายแบบมอญซึ่งสร้างความประทับใจให้กับชาวมอญไม่รู้ลืม เฉกเช่นเดียวกับคุณเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ที่ให้เกียรติแต่งกายแบบมอญในงานครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
นางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ ขณะกล่าวเปิดงานวันรำลึกชนชาติมอญ และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
ถึงแม้ว่าแรงงานมอญต่างด้าวจะไม่กล้ามาร่วมงาน หลายๆคนก็มาไม่ถึงงานต้องเดินทางกลับไป เพราะตระหนกกับการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าพเจ้าก็ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าแรงงานมอญต่างด้าวที่ตั้งใจมาทำบุญ นำกองผ้าป่ามาถวายวัด พร้อมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนมอญผู้ล่วงลับตลอดจนทำบุญถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จะมาไม่ถึงวัด เนื่องจากสาเหตุที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งด่านสกัดจับ ทั้งที่พวกเขาก็มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทย ในฐานะที่พวกเขาได้มาอาศัยแผ่นดินไทยทำมาหากิน ไม่ต่างจากชาวมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยามเมื่อหลายร้อยปีก่อนจนปัจจุบันก็คือคนไทย หรือ คนไทยเชื้อสายมอญ
ในงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งนี้ จึงมีแต่เฉพาะคนไทยเชื้อสายมอญมาร่วมงานเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่ ข้าพเจ้ามองเห็นและรับรู้ได้คือสัญลักษณ์ที่มีร่วมกันของมอญทั้งสองเมืองนั่นก็คือการสวมใส่ โสร่งแดง ผ้าถุงแดง เสื้อขาว ซึ่งหมายถึง “ชุดประจำชาติมอญ” จึงทำให้มั่นใจว่าตราบใดที่ลมหายใจของคนมอญยังไม่สูญสิ้น เชื่อได้ว่างานวันรำลึกชนชาติมอญจะยังดำเนินต่อไป แต่บทเรียนที่ได้รับจากการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผลจังหวัดสมุทรสาคร มีสิ่งหนึ่งที่สูญเสียไปและไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้นั่นคือความรู้สึกดีๆการยอมรับที่สังคมไทยมีต่อคนมอญมันได้ถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกเคลือบแคลง ระแวงสงสัย และไม่ไว้วางใจจากรัฐไทย