Skip to main content

ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย
บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง
ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’
แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง
หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มที

จริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง
ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย
คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง
มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง แต่ละทิ้งอะไรหลายอย่าง
ผูกพันกับเทคโนโลยี กับการงานที่เร็วและเร่ง
จนทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นช่างรกรุงรังเสียเหลือเกิน
เหนื่อยและล้า กระทั่งชีวิตชำรุด ผุกร่อน
ต้องเข้าโรงซ่อมหลายต่อหลายครั้ง

พักหลังมานี้ ผมจึงรู้สึกโหยหาและผูกพันกับสวนบนเนินเขามากขึ้น หลังจากเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาได้เริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านไม้หลังเล็กๆ ในสวน ผมเทียวขึ้นเทียวล่องอยู่อย่างนั้น อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง, เฝ้าดูสล่ากับเพื่อนบ้านช่วยกันขุดหลุม ลงเสา ขึ้นโครง มุงหลังคา ทำห้องน้ำ ห้องครัว หน้าต่าง ประตู ปูพื้นฝา ระเบียง ฯลฯ

ครั้นเข้าหน้าฝน กลับบ้านสวนครั้งใด ผมมักหิ้วกล้าไม้ใส่รถขนขึ้นไปปลูกแทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็สองสามอย่าง เผลอไม่นาน สวนผมกลายเป็นสวนผสมผสานไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อเดินสำรวจ ลูบคลำต้นไม้ใบไม้ในสวนทีละต้นๆ จึงรู้ว่ามีต้นไม้ที่ผมลงมือปลูกเอาไว้มีทั้งหมดมากกว่ายี่สิบชนิด รวมกว่าสี่ร้อยต้น ในเนื้อที่ราวห้าไร่

1.jpg

ล่าสุด, ผมมีโอกาสเดินทางไปหมู่บ้านก็อตป่าบง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากบ้านเกิด เป็นชุมชนชนเผ่าลาหู่ที่ผมรู้สึกผูกพันมานาน ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานเป็นครูดอยอยู่แถบถิ่นนี้ พอลงจากรถ ผมก็สัมผัสได้ถึงธรรมชาติ ความรัก ความเรียบง่าย และไมตรีจิตของพี่น้องชนเผ่าเมื่อทุกคนต่างเดินเข้ามาจับมือ ยกมือไหว้ทักทาย พร้อมเชื้อเชิญขึ้นบ้าน ล้อมวงพูดคุย จิบน้ำชา ถกถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกัน

หลังจากนั้น 'ป๊ะป่า' ชาวบ้านที่ผมคุ้นเคย ชวนเข้าไปดูแปลงเพาะกล้ากาแฟในหุบเขา ขณะที่เราเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า...ผมชอบภาพผ่านสองข้างทาง อากาศสะอาด แดดส่องผ่านหุบห้วย ขุนเขาสลับทับซ้อน ไร่ข้าว ถั่วลิสง ถั่วแป๋ ขึ้นแซมเต็มผืนดินที่ว่าง งามฝักข้าวโพดเหลืองแก่คาต้นรอการเก็บเกี่ยว แหล่ะนั่น ต้นกาแฟแทรกตัวอยู่ใต้ร่มเงามะม่วงสูงใหญ่

ผมชอบความสดเขียวมันวับของใบกาแฟ พร้อมลูกดกสีเขียวแดงเต็มกิ่งก้าน 

2.jpg

ป๊ะป่า กับภรรยามีความสุขเริงร่ากับกล้ากาแฟที่เพาะไว้

“รู้มั้ย กลายเป็นว่า ปลูกกาแฟนั้นดูแลง่ายกว่าปลูกข้าวโพดเสียอีก ปลูกทิ้งไว้ใต้ต้นลำไย มะม่วง สองปีก็เก็บหน่วยขายได้ ถึงเวลามีพ่อค้ามารับซื้อถึงหมู่บ้านเมล็ดกาแฟสด ลูกสีแดง ตอนนี้ ราคาตกประมาณ 12-15 บาทต่อกิโล...” ป๊ะป่า บอกเล่าให้ฟัง

ในขณะที่ ‘สุรเดช’ สมาชิก อบต.ปิงโค้ง ลูกหลานของป๊ะป่า บอกว่า เขาเอากล้าที่ป๊ะป่าไปปลูกใต้สวนมะม่วงเพียงห้าสิบต้น ปล่อยทิ้งไว้สองปีจนสูงท่วมหัว ล่าสุดเขาเก็บเมล็ดกาแฟขายได้เงินสี่ห้าพันบาท

“ตอนนี้ ทางนายกฯพิพัฒน์พงศ์ เดชา นายก อบต.ปิงโค้ง ได้ส่งเสริมให้ป๊ะป่าเพาะกล้าแจกจ่ายให้กับชาวบ้านได้ปลูกกันตามไร่ตามสวน ซึ่งต่อไปอาจเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านแถวนี้ และกำลังคิดกันว่าทำอย่างไรถึงจะส่งเสริมถึงขึ้นคิดจะสร้างแบรนด์เนมให้กับตำบลปิงโค้ง..และแพ็คใส่ถุงเป็นกาแฟบดขายได้ในอนาคต”

3.jpg
‘สุรเดช’ พาชื่นชมสวนกาแฟใต้ร่มเงามะม่วง

เราช่วยกันขนกล้ากาแฟในแปลงเพาะ ใส่ในกระบะหลังของรถขับเคลื่อนสี่ล้อคันเล็กจนเต็มล้น

“เอาไปลองปลูกในสวน แล้วรอเก็บหน่วยอีกสองปีข้างหน้าเน้อ...” นานแล้ว ที่ผมไม่ได้ยินน้ำเสียงของการให้ด้วยความเต็มใจ “ชีวิตผมไม่ต้องรวย แค่พออยู่ได้ มีเหลือก็แบ่งปัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้วล่ะ...” ป๊ะป่า เอ่ยออกมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดี

“อ่อบูอื่อย่าๆ...” ผมกล่าวขอบคุณป๊ะป่า ด้วยภาษาลาหู่ เป็นกล่าวคำขอบคุณด้วยความรู้สึกศรัทธาและชื่นชมในวิถีชนเผ่า

จริงสิ, ชีวิตแค่พออยู่พอกิน อยู่กับดิน น้ำ ฟ้า ป่าไม้ อากาศ ขุนเขา ฯลฯ เพียงเท่านี้ชีวิตก็รุ่มรวยแล้ว มาถึงตอนนี้ทำให้ผมนึกไปถึงภาพไร่กาแฟ ของ 'ไอแซค ไดนีเสน' ในหนังสือ 'Out of Africa' ที่ 'สุริยฉัตร ชัยมงคล' แปลเอาไว้อย่างงามและมีชีวิตชีวา

“...เราไม่มีวันรวยขึ้นมาได้จากการทำไร่.แต่การปลูกกาแฟนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งตัวคุณเอาไว้และไม่ยอมปล่อย, มีอะไรบางอย่างต้องเกี่ยวกับมันเสมอ”

ผมล่ำลาชาวบ้าน ก่อนขับรถขนกล้ากาแฟกลับไปสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดผมทันที

จากบ่ายจนเย็นย่ำ ที่ผมทำงานในสวนโดยมิยอมหยุดพัก เม็ดเหงื่อผุดพรายเต็มใบหน้า ไหลซึมเสื้อผ้าจนเปียกชื้นเย็น ก้มๆ เงยๆ อยู่อย่างนั้น จับจอบขุดหลุมไปตามหว่างร่มเงาของมะม่วง ลำไย ฉีกถุงเพาะกล้ากาแฟ ค่อยๆ หย่อนลงในหลุม พลิกดินกลบ จากหลุมนี้ ไปหลุมนั้น...นานนับนาน

ขณะที่ผมปลูกกาแฟไปรอบบ้านปีกไม้ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ผมครุ่นนึกไปถึงการเติบใหญ่ของกาแฟในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และนึกไปถึง 'ไอแซค ไดนีเสน' อีกครั้ง, ที่เธอบอกเล่าให้เห็นสีสันความจริงที่คล้ายกับว่ากำลังเคลื่อนไหวไปมาอยู่เบื้องหน้าอย่างไรอย่างนั้น...

“...การปลูกกาแฟนั้นเป็นงานยาวนาน, มันไม่เป็นผลอย่างที่วาดไว้เสียทั้งหมด, เมื่อคุณยังอายุน้อย, เปี่ยมด้วยความหวัง, ภายใต้สายฝนที่ถะถั่งลงมา, คุณประคองหีบต้นกล้ากาแฟที่เขียววะวับออกจากเรือนเพาะชำ, และพร้อมพรักด้วยบรรดาชาวไร่มืออาชีพกลางทุ่ง, เฝ้าดูต้นกล้าที่ลงสู่หลุมเรียงรายเป็นแถวอย่างมีระเบียบบนพื้นดินเปียกฉ่ำซึ่งมันจะงอกงามขึ้น กินเวลาสี่หรือห้าปี กว่ามันจะเติบโตได้ที่ และในช่วงนั้นก็อาจจะเกิดแล้งฝน หรือโรคพืช, และเจ้าวัชพืชพื้นเมืองก็จะพากันงอกพรึ่บขึ้นมาเต็มไร่”

กระนั้น, ผมก็ลงมือปลูกกาแฟไปแล้วกว่าสองร้อยต้นในสวนบนเนินเขา และอดจินตนาการไปถึงภาพความงามของดอกกาแฟสีขาวกำลังเบ่งบาน พร้อมโชยกลิ่นหอม เหมือนกับที่เธอบอกว่า “ดอกกาแฟนั้นมีกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ”

และผมอยากจะต่อถ้อยคำของเธออีกว่า...
ชีวิตชาวไร่ชาวสวนก็คงเหมือนกับดอกกาแฟนั่นแหละ…
ที่มีทั้งกลิ่นหอมระคนขื่นนิดๆ

ซึ่งผมรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ครับ.

 

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ “คนคือการเดินทาง” เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 และผู้เขียนนำมาเพิ่มเติมและเรียบเรียงใหม่

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ผมรู้ว่าสี่ห้าปีมานี้ ผมเขียนบทกวีได้ไม่กี่ชิ้น อาจเป็นเพราะต้องอยู่กับโลกข่าวสารที่จำเป็นต้องเร่งและเร็ว หรืออาจเป็นเพราะว่ามีบางสิ่งบางอย่างบดบัง จนหลงลืมมองสิ่งที่รอบข้าง มองเห็นอะไรพร่ามัวไปหมด หรือว่าเรากำลังหลงลืมความจริง...ผมเฝ้าถามตัวเอง...  อย่างไรก็ตามเถอะ...มาถึงตอนนี้ ผมกำลังพยายามฝึกใช้ชีวิต ให้อยู่กับความฝันและความจริงไปพร้อมๆ กัน ช่วงนี้ หลังพักจากงานสวน ผมจึงมีเวลาอยู่กับความเงียบลำพัง เพ่งมองภายในและสิ่งรายรอบมากยิ่งขี้น และผมเริ่มบันทึกบทกวีแคนโต้เหมือนสายน้ำ หลั่งไหล อย่างต่อเนื่อง ทุกวันๆ ตามดวงตาที่เห็น ตามหัวใจได้สัมผัสต้อง บ่อยครั้งมันมากระทบทันใด ไม่รู้ตัว…
ภู เชียงดาว
เกือบสามเดือนแล้วที่ผมพาตัวเองกลับมาอยู่ในหุบเขาบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่จึงขลุกอยู่แต่ในสวน ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกล แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าเหงาหรือห่างไกลกับผู้คนเลย เพราะในแต่ละเดือนมักมีมิ่งมิตรเดินทางมาเยี่ยมเยือนหากันตลอด  และทำให้ผมรู้อีกอย่างหนึ่งว่า...บางทีการอยู่นิ่งก็หมายถึงการเดินทาง ใช่ ผมหมายถึงว่า ในขณะที่ผมอยู่ในสวน หากยังมีผู้คนเดินทางแวะเวียนมาหา และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ผมยังมองเห็นเมล็ดพันธุ์เดินทางมายังสวนอย่างต่อเนื่อง “ผมเอาเมล็ดพันธุ์มาฝาก...” นักเดินทางคนหนึ่งเดินทางไกลมาจากสงขลา ล้วงเอาเมล็ดพันธุ์ที่ใส่ไว้ในกล่องฟิล์มยื่นให้ ขณะผมกำลังง่วนทำงานอยู่ในสวน
ภู เชียงดาว
หลังดินดำน้ำชุ่ม เขาหยิบเมล็ดพันธุ์หลากหลายมากองวางไว้ตรงหน้า มีทั้งเมล็ดผักกาดดอยที่พ่อนำมาให้ เมล็ดฟักทองที่พี่สาวฝากมา นั่นเมล็ดแตงกวา เมล็ดหัวผักกาด ถั่วพุ่ม ผักบุ้ง บวบหอม ผักชี ฯลฯ เขาค่อยๆ ทำไปช้าๆ ไม่เร่งรีบ ทั้งหว่านทั้งหยอดไปทั่วแปลง เสร็จแล้วเดินไปหอบใบหญ้าแฝกที่ตัดกองไว้ตามคันขอบรอบบ้านปีกไม้มาปูบนแปลงผักแทนฟางข้าว ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินหลังจากนั้น เขามองไปรอบๆ แปลงริมรั้วยังมีพื้นที่ว่าง เขาเดินไปถอนกล้าตำลึง ผักปลัง ผักเชียงดา มะเขือ พริก อัญชัน ตะไคร้ ขิง ข่า กระเพรา โหระพา สาระแหน่ ฯลฯ มาปลูกเสริม หยิบลูกมะเขือเครือ(ที่หลายคนเรียกกันว่าฟักแม้วหรือซาโยเต้)…
ภู เชียงดาว
ในช่วงสองเดือน ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เกือบทุกเสาร์-อาทิตย์ เขาใช้เวลาเทียวขึ้นเทียวล่องระหว่างเมืองกับสวนในหุบเขาบ้านเกิด เพื่อวางแผนลงมือทำสวนผักหลังบ้าน แน่นอน- -เพราะเขาบอกกับตัวเองย้ำๆ ว่าหากคิดจะพามนุษย์เงินเดือน กลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีฐานที่มั่น และมีผักไม้ไซร้เครือเตรียมไว้ให้พร้อม ให้พออยู่พอกินเสียก่อน ใช่ เขาหมายถึงการสร้างฐานความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวหลังบ้าน   หลายคนอาจบอกว่า งานทำสวนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนกับงานสาขาอาชีพอื่น แต่ก็อีกนั่นแหละ เขากลับมองว่า งานสวนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย…
ภู เชียงดาว
1. ในชีวิตคนเรานั้นคงเคยตั้งคำถามที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก คำถามคลาสสิกหนึ่งนั้นคือ...“คนเราต้องการอะไรในชีวิต!?...” คำตอบส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ...อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หากปัจจุบัน ‘เงิน’ กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของคนเรา แน่นอน, เมื่อเอาเงินเป็นตัวกำหนดชะตากรรม,ชีวิต จึงทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนเพียงเพื่อให้ได้มาทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้ชีวิตหลายชีวิตนั้นขวนขวายทำงานกันอย่างหน่วงหนัก ‘การงาน’ ได้กระชากลากเหวี่ยงเรากระเด็นกระดอนไปไกลและไกล ให้ออกไปเดินบนถนนของความโลภ ไปสู่เมืองของความอยาก ไปสู่กงล้อของการไขว่คว้าที่หมุนวนอยู่ไม่รู้จบ…
ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ฟ้าเริ่มครึ้มมัวหม่นเมฆฝน ข้ายืนจดจ้องฝูงมดดำเคลื่อนขบวนมหึมา ไต่ไปบนปีกไม้ไปหารวงรังแตนเกาะริมขอบหน้าต่างบ้านปีกไม้ หมู่มดยื้อแย่งขนไข่แตนกันออกจากรัง อย่างต่อเนื่อง ขณะฝูงแตนบินว่อนไปมาด้วยสัญชาติญาณ คงตระหนกตกใจระคนโกรธขึ้งเคียดแค้น แต่มิอาจทำอะไรพวกมันได้ เหล่าฝูงมดอาศัยพลพรรคนับพันนับหมื่นชีวิต ใช้ความได้เปรียบเข้าปล้นรังไข่พวกมันไปหมดสิ้น ไม่นาน ขบวนมดจำนวนมหาศาลก็ถอยทัพกลับไป ฝูงแตนไม่รู้หายไปไหน เหลือเพียงรังแตนที่กลวง ว่างเปล่า
ภู เชียงดาว
ในที่สุด, ผมก็พาตัวเองกลับคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากโชคชะตาชักชวนชีวิตลงไปอยู่ในโลกของเมืองตั้งหลายขวบปี การกลับบ้านครั้งนี้ ผมกะเอาไว้ว่า จะขอกลับไปพำนักอย่างถาวร หลังจากชีวิตเกือบค่อนนั้นระหกระเหินเดินทางไปหลายหนแห่ง ผ่านทุ่งนา ภูเขา แม่น้ำ ทางป่า ถนนเมือง... จนทำให้บ้านเกิดนั้นเป็นเพียงคนรู้จักที่ไม่คุ้นเคย เป็นเหมือนโรงเตี๊ยมพักผ่อนชั่วคราวก่อนออกเดินทางไกล อย่างไรก็ตามได้อะไรมากและหลากหลาย... สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาสู่,ชีวิตการกลับบ้านเกิดหนนี้, เหมือนกับว่าไปเริ่มสู่จุดเริ่มต้นและก่อเกิด ผมบอกกับหลายคนว่ากำลังเกิดใหม่เป็นหนที่สามจากบ้านเกิด เข้ามาเรียนในเวียง…
ภู เชียงดาว
‘ลุ่มน้ำแม่ป๋าม’ ถือว่าเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกสายหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย เมื่อย้อนทวนขึ้นไปบนความสลับซับซ้อนของต้นกำเนิดน้ำแม่ป๋าม หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตาน้ำ จะพบว่าอยู่บริเวณชุมชนบ้านแม่ปาคี ต.สันทราย ของ อ.พร้าว ก่อนจะลัดเลาะไหลอ้อมตีนดอยผาแดง ลงสู่หุบห้วยบริเวณบ้านป่าตึงงาม โดยมีสายน้ำย่อยอีกสายหนึ่ง คือน้ำแม่ป๋อย ได้ไหลมารวมกับน้ำแม่ป๋ามตรงสบน้ำบ้านออน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว นอกจากนั้นยังมีลำน้ำแม่มาดอีกสายหนึ่ง ซึ่งมีขุนน้ำอยู่บริเวณป่าเชิงดอยบ้านปางโม่ ก็ได้ไหลมาสมทบกับน้ำแม่ป๋าม แล้วค่อยไหลผ่านหมู่บ้านแม่ป๋าม…
ภู เชียงดาว
มองไปในความกว้างและเวิ้งว้าง ทำให้ผมอดครุ่นคิดไปลึกและไกล และพลอยให้อดนึกหวั่นไหวไม่ได้ หากภูเขา ทุ่งนาทุ่งไร่ สายน้ำ และวิถีชีวิตในหมู่บ้านเกิดของผมต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติเข้ามาเยือน
ภู เชียงดาว
‘…เรารู้ซึ้งถึงสิ่งนี้ โลกนี้มิใช่ของมนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่เป็นสมบัติของโลก สิ่งนี้เรารู้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเหมือนดังสายเลือดในครอบครัวเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรธิดาของโลกด้วย มนุษย์ไม่ใช่ผู้สานทอใยแห่งชีวิต เขาเป็นเพียงเส้นใยหนึ่งในนั้น สิ่งใดก็ตามที่เขาทำต่อข่ายใยนั้น ก็เท่ากับกระทำต่อตนเอง...’จดหมายโต้ตอบของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่ซีแอตเติ้ลจากหนังสือ ‘ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป’วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : แปล และเรียบเรียง
ภู เชียงดาว
  ผมยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน จ้องมองภาพเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า... เป็นภาพที่คุ้นเคยที่ยังคงสวยสด งดงาม และเรียบง่ายในความรู้สึกผม ภาพชาวนาในท้องทุ่ง ภาพหุบเขาผาแดงที่มีป่าไม้กับลำน้ำแม่ป๋ามไหลผ่านคดโค้งเลียบเลาะระหว่างตีนดอยกับทุ่งนา ก่อนรี่ไหลลงไปสู่ลำน้ำปิง แม่น้ำในใจคนล้านนามานานนักนาน
ภู เชียงดาว
(1)ดอกฝนหล่นโปรยมาทายทักแล้ว,ในห้วงต้นฤดูหอมกลิ่นดินกลิ่นป่าอวลตรลบไปทั่วทุกหนแห่งหัวใจหลายดวงชื่นสดในชีวิตวิถีถูกปลุกฟื้นตื่นให้เริ่มต้นใหม่อีกคราครั้ง…ตีนเปลือยย่ำไปบนดินนุ่มชุ่มชื้น,เช้าวันใหม่ไต่ตามสันดอย ไปในไร่ด้วยกันนะน้องสาวผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน  ช่วยกันทำงานๆพี่ใช้เสียมลำไม้ไผ่กระทุ้งดิน  น้องหยิบเมล็ดข้าวหยอดใส่หลุมไม่เร่งรีบ ไม่บ่นท้อ ในความเหน็ดหน่ายเสร็จงานเราผ่อนคลาย  เอนกายผ่อนพักใต้เงาไม้ใหญ่แล้วพี่จะกล่อมให้, ด้วยเพลงพื้นบ้านโบราณขับขาน