Skip to main content

 ธรรมชาติของการใช้อำนาจรัฐโดยกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

ว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕*

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

.มุมมองทางกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ในคราวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมขึ้นในสยาม (๒๗ มิ.ย.๒๔๗๕) ภายใต้กระแสความคิดในยุคร่วมสมัยของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินและสถาปนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้นในประเทศสยาม เป็นบรรยากาศภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลง การก่อกำเนิดรัฐเอกราชขึ้นใหม่ได้ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมาก จากการแยกตัวจากดินแดนที่เคยอยู่ในอาณัติของเยอรมัน, จากเขตแคว้นที่แยกตัวออกเป็นอิสระภายหลังการล่มสลายของสหภาพของรัฐออสเตรีย – ฮังการี, จักรวรรดิออตโตมัน และการปฏิวัติในรัสเซียแล้วสถาปนาสหภาพสาธารณรัฐโซเวียต เป็นต้น บรรดา ‘รัฐที่ก่อกำเนิดขึ้นใหม่’ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่เป็นรูปธรรมยืนยันสถานะความเป็นรัฐเอกราช วิธีการดังกล่าวคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อประกาศอำนาจอธิปไตยของรัฐตนในทางระหว่างประเทศ และยืนยันอำนาจภายในรัฐของสถาบันการเมืองต่างๆ โดยแสดงให้ปรากฏผ่านเอกสารทางกฎหมาย สะท้อนอำนาจภายในรัฐ (Constitution - Reflet ; รัฐธรรมนูญกระจก) รัฐธรรมนูญที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้จึงมีลักษณะที่ไม่ทำลายล้าง “องค์กรทางการเมืองในระบอบเก่า” ภายในรัฐ  ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การรับรองสถาบันทางการเมืองเดิมให้ดำรงอยู่ แล้วประนีประนอมให้ ‘ตัวแทนองค์กรทางการเมืองในระบอบเก่า’ เป็นผู้ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ด้วยความจำนนยอม กระทำการตามวัตถุประสงค์ของผู้ก่อการ (Pacte) ดังเช่นปรากฏในการสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมของสยาม เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕

เมื่อคณะราษฎรก่อการยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นอันยุติการปกครองวิธีเผด็จการโดยรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีข้อสังเกตว่าระหว่างวันที่ ๒๔ ถึง ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งอยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่านระบอบและยังไม่มีการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้น ระบบกฎหมายภายในของประเทศสยามดำรงความสืบเนื่องภายในของรัฐไปพลางก่อนด้วยการปกครองโดย ‘คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร’ ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของคณะราษฎร เพื่อดำรงความสืบเนื่องของระบบกฎหมายภายในรัฐในช่วงเวลาระหว่างสถาปนาโครงสร้างบรรทัดฐานแห่งระบบกฎหมายขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ มีข้อน่าพิจารณาว่า ในระหว่างที่ปกครองโดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร เพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม (๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕) คณะราษฎร ไม่เคยออกประกาศคณะราษฎรให้ยกเลิกกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างกับคณะรัฐประหารในยุคต่อๆ มา หากแต่คณะราษฎรปล่อยให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่ได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตรากฎหมายยกเลิกองค์กรในระบอบเก่า เช่น องคมนตรีสภา และอภิรัฐมนตรีสภา เป็นต้น เลยอันเป็นข้อแตกต่างประการหนึ่งจากกรณีก่อการรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญในต่อๆ มา คณะราษฎรได้เคลื่อนหน่วยของ “อำนาจรัฐ” จากเดิมที่เคยสถิตอยู่ที่กษัตริย์ ให้เคลื่อนมาดำรงอยู่ที่ราษฎรทั้งหลาย (ปวงชน) โดยประกาศยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของเอกสารทางกฎหมาย ที่เป็น “รัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕”

.การสถาปนารัฐธรรมนูญ ๒๗ มิ.ย.๒๔๗๕

กระบวนการดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นโดยการใช้อำนาจในสภาวะว่างเปล่าหรือปราศจากพันธะอ้างอิงจากอำนาจอื่นใดในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เราเรียกอำนาจดังกล่าวว่า “อำนาจก่อตั้งหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบดั้งเดิม” (Pouvoir Constituant Originaire) และ ผู้ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดังกล่าว (๒๗ มิ.ย.) ได้แก่ “พระปกเกล้าฯ” (กษัตริย์ในระบอบเก่า) โดยอาศัย “อำนาจที่(พระปกเกล้าฯ)ได้รับมอบหมาย(Attribution)  มาจาก “คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร” ดังนั้น การสถาปนารัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มิใช่การใช้ “อำนาจเก่า” (Prerogative) ของ “พระปกเกล้าฯ” ในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจตามระบอบเดิม ในการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนั้น เพราะ “หน่วยอำนาจรัฐ” ได้เคลื่อนตำแหน่งแห่งที่ ไปจากองค์กษัตริย์แล้ว (ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิ.ย.) หากแต่เป็น "พระราชอำนาจ" (Attribution ; อำนาจที่[กษัตริย์] ได้รับมอบหมายให้กระทำการ) โดยได้รับมอบหมายหน้าที่จาก "คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร" (องค์กรผู้มีอำนาจที่แท้จริง) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ นายเดือน บุนนาค และ นายไพโรจน์ ชัยนาม อธิบายเรื่อง ‘การใช้อำนาจของกษัตริย์’ หรือ ‘พระราชอำนาจ’ โดยกำกับเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำว่า Attribution เพื่ออธิบายว่าเป็นอำนาจที่พระมหากษัตริย์ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี  แต่ภายหลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ ในปี ๒๔๙๓ นายหยุด แสงอุทัย นายเพียร ราชธรรมนิเทศ และพระยาศรีวิสารวาจา ทั้งสามท่านเป็นกรรมาธิการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ (๒๔๙๒) ได้ร่วมกันแปล ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย’ (ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๒) ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับคำว่า ‘พระราชอำนาจ’ ด้วยคำว่า Prerogative (อาทิ มาตรา ๑๒, มาตรา ๘๓, มาตรา ๙๗, มาตรา๑๕๒ – ๑๕๗,  มาตรา ๑๗๔) จากคำแปลดังกล่าว นายไพโรจน์ ชัยนาม ในปี ๒๔๙๕ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ความจริงพระราชอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหมายถึงอำนาจหน้าที่บางอย่าง…โดยทางคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น จะทรงใช้โดยลำพังพระองค์เองมิได้ มิฉะนั้นจะเป็นการผิดต่อระบอบการปกครองโดยรัฐสภาไป” ควรกล่าวด้วยว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ บังคับใช้ได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ ‘คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒๔๙๒) เป็นภาษาอังกฤษ’ ก็เป็นต้นแบบในการแปลรัฐธรรมนูญในสมัยต่อๆ มา รวมทั้ง กลายเป็น ถ้อยคำทางตำรา เดินตามในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน การให้ความหมาย ‘พระราชอำนาจ’ ผ่านการอ้างอิง Prerogative ยิ่ง สร้างความไม่เข้าใจให้แก่บุคคลทั่วไปหรือผู้ศึกษา เนื่องจากเป็นศัพท์ซึ่งมีบริบทเบื้องหลังคำอธิบายความหมาย การทำความเข้าใจ Prerogative นั้นจำเป็นต้องอาศัยคำอธิบายร่วมไปด้วย ทั้งที่จริง ถ้อยคำในทางตำราเดิม ; Attribution มีความหมายชัดแจ้งลำพังโดยถ้อยคำอยู่แล้ว, อาจกล่าวได้ว่า เป็นการสร้างหมอกควันต่อมุมมอง "พระราชอำนาจ" ให้บิดผันไปจากความหมายที่แท้จริง (Attribution ; อำนาจที่ [พระมหากษัตริย์] ได้รับมอบหมายให้กระทำ)

ดังกล่าวข้างต้น ในทางตำรากฎหมายมหาชนเราอาจอธิบายธรรมชาติของการใช้อำนาจใดๆ โดยกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยหลัก Avis Conforme ในการปรับคำอธิบายธรรมชาติของการใช้อำนาจโดยกษัตริย์ในทุกกรณี กล่าวคือ พระปกเกล้าฯ เป็นองค์กรผู้รับคำแนะนำซึ่งจำต้องยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คำแนะนำ และในทางกฎหมายถือว่าองค์กรที่ให้คำแนะนำที่ทำให้องค์กรผู้รับคำแนะนำจำต้องยอมปฏิบัติตามที่แนะนำคือองค์กรผู้มีอำนาจที่แท้จริงในระบบกฎหมาย ควรกล่าวด้วยว่าหลัก Avis Conforme ยังใช้อธิบายอำนาจวีโต้ร่างกฎหมายได้ด้วย โดยประการที่อำนาจวีโต้ร่างกฎหมายเป็น 'อำนาจที่(กษัตริย์)ได้รับมอบหมายให้กระทำ' (Attribution) ตามคำบงการของ ‘คณะรัฐมนตรี’ ให้กษัตริย์แสดงเจตนา 'คืนร่างพระราชบัญญัติไปยังสภาฯ' ทั้งกรณีโดยชัดแจ้ง (พระราชทานคืนมายังรัฐสภาโดยไม่ลงปรมาภิไธย) และกรณีโดยปริยาย (เมื่อพ้น ๙๐ วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภา) ซึ่งเป็น "มาตรการชั่วคราว" (ส่งผลไม่เด็ดขาด) หรือ "เครื่องมือ" อย่างหนึ่งของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร ‘ถ่วงดุลอำนาจรัฐสภา’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'สภาผู้แทนราษฎร'  นอกไปจากมาตรการ “ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่” เราจะเห็นได้ว่ากรณีวีโต้ร่างพระราชกำหนดหรือร่างพระราชกฤษฎีกานั้นย่อมไม่อาจปรากฏขึ้นได้เลยโดยสภาพ และหลักคิดนี้เป็นมูลฐานที่ใช้อธิบายเนื้อหาการใช้อำนาจอื่นโดยกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยได้เป็นหลักการทั่วไป

.ข้อพิจารณาบางประการ : บริบททางกฎหมายก่อนการอภิวัฒน์

การก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ จึงเป็นการกระทำเพื่อยุติ ‘ความสืบเนื่อง’ และ ‘พัฒนาการ’ (Evolution) ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และมุ่งต่อผลคือ ‘การอภิวัฒน์’ (Revolution) ด้วยการใช้วิธี ‘ยึดอำนาจรัฐ’ (Coup d'état) ซึ่งอำนาจรัฐเป็นของราษฎรอยู่เดิมโดยธรรมชาติ แต่กษัตริย์ทึกทักยึดเอาอำนาจนั้นไปครองไว้เด็ดขาดแต่ผู้เดียว คณะราษฎรนำอำนาจนั้นคืนมาให้แก่ราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจนั้น หาใช่ ‘การแย่งอำนาจ’ (Usurpation) อันเป็นของกษัตริย์ไปไม่ แม้ว่าราษฎรบางคนอาจไม่รู้ตัว เพราะถูกผู้อื่นทึกทักเอาอำนาจ (Presumed Power) จนเคยชิน ตลอดจนมาตรการกีดกันการสื่อสารของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแข็งขัน พิจารณาในระบบกฎหมายนอกจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ มาตรา ๙๘ มาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๐๔ (๑) อันเป็นบทบัญญัติห้ามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่เดิมแล้ว ในปี ๒๔๗๐ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๐๔ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ข้อ ง) เพิ่มเติมความผิดในการกระทำ “เพื่อจะกวนให้เกิดขึ้นซึ่งความเกลียดชังระวางคนต่างชั้นก็ดี” ตามมาตรา ๔ พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๐๑๐ อันเป็นการรักษาไว้ซึ่งการแบ่งชนชั้นเอาไว้อย่างแข็งแรง

ต่อมาภายหลังอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันพึงเคารพหลักความเสมอภาคนั้น รัฐบาลคณะราษฎรได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาชำระสะสางบรรดากฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่าขัดระบอบประชาธิปไตยหรือไม่๑๑ ในกาลนี้เอง ปี ๒๔๗๘ สภาผู้แทนราษฎรได้ยกเลิกความผิดฐาน "เพื่อจะกวนให้เกิดขึ้นซึ่งความเกลียดชังระวางคนต่างชั้นก็ดี" ออกไปเสีย โดยอำนาจตามมาตรา ๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๘ (ฉบับที่ ๗)๑๒ เป็นการยกเลิกพันธนาการในการจำกัดเสรีภาพทางวาจาในการวิพากษ์วิจารณ์ระบบชนชั้นในสังคมอันต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในทางก่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงการถูกกดขี่ในระบบชนชั้นศักดินา

 ในสภาพการณ์ซึ่งกษัตริย์ ฉกฉวยอำนาจรัฐไปใช้เป็นราชสิทธิ์ส่วนตน และพอกพูนพวกญาติบริวารอันมากมายด้วยทรัพย์สินของประชาราษฎร ยิ่งไปกว่านั้น พระบรมราชตระกูล๑๓ ยังมีเอกสิทธิ์ (Privileges) ต่างไปจากสามัญชนธรรมดา โดยวางตนอยู่เหนือกฎหมายเช่นเดียวกับกษัตริย์๑๔ เอกสิทธิ์ดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงเสนาบดีเจ้ากระทรวงทั้งปวงซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสถานะอำนาจต่ำกว่าอภิรัฐมนตรีและองคมนตรี ด้วยเหตุนี้เอกสิทธิ์ดังกล่าวนั้นจึงครอบคลุมถึงอภิรัฐมนตรีและองคมนตรีไปด้วยโดยปริยาย๑๕ ภายใต้ภาวการณ์เช่นนี้ พระประศาสน์พิทยายุทธ์ (วัน ชูถิ่น) บุคคลระดับหัวหน้าผู้ก่อการของคณะราษฎรฝ่ายทหาร อธิบายไว้น่าสนใจว่า “อนึ่ง การแบ่งชั้นวรรณะ มีเจ้ามีข้า ทำให้คนเป็นทาสโดยนิสสัย และมีความรู้สึกเป็นทาษปัญญา ผู้ที่มีสิทธิอยู่ในชั้นเจ้านายก็สบายคอยแต่จะใช้คนทั้งหลายมาปรนปรือตน และส่งเสริมความเหิมเห่อของตน หารู้ไม่ว่าตนผู้ซึ่งกินเบี้ยหวัดเงินปีของชาตินั้นเองที่มีหน้าที่จะต้องทำการงานให้แก่ปวงชน สภาพอย่างนี้เรียกว่าความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แบ่งชั้นวรรณะ ไม่มีความเสมอภาค (Equality) ประชาธิปไตยจะต้องมีความเสมอภาค”๑๖

______________________________

เชิงอรรถ

ขณะนั้น สยามก็ยังคงเสียเอกราชทางการศาลและหลัก ‘เอกราช’ ก็เป็นหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร.

Jean Gicquel  « Droit constitutionnel et institutions politiques » ได้จำแนก "แนวความคิด" เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่๑ อยู่ในกลุ่มที่เป็น Constitution - Reflet ซึ่ง ดร.วิษณุ วรัญญู แปลว่า ‘รัฐธรรมนูญกระจก’ อธิบายโดยสังเขปว่า เป็นแนวคิดที่จัดทำรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของเอกสารทางกฎหมายที่ มุ่งสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจหนึ่งๆ ในรัฐ เมื่อมองไปที่รัฐธรรมนูญแล้วสามารถเห็นได้เลยว่า พลังอำนาจในสังคมนั้นอยู่ที่ใคร เป็นแนวคิดที่ใช้กันมากในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่๑ : โดยดู วิษณุ วรัญญู. หลักการพื้นฐานรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง. หน้า ๙ ใน กลุ่มวิเคราะห์กฎหมายและคดี, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. รวมสรุปคำบรรยายในโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ,[อัดสำเนา]. (โครงการฝึกอบรมเรื่องเทคนิคปฏิบัติงานด้านวิเคราะห์กฎหมายและคดี, ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ นาฬิกา, ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๔ อาคารบ้านเจ้าพระยา).

องคมนตรีสภา ยกเลิกโดย ‘พระบรมราชโองการ ประกาศ ยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐’ ตราโดยความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นว่า… ตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ นั้นเป็นต้นมา ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐เสีย รวมทั้งสภากรรมการองคมนตรีที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินั้น กับให้เพิกถอนตำแหน่งองคมนตรีเสียทั้งสิ้น” โดยดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๙ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕. หน้า ๒๐๐ – ๒๐๑.

อภิรัฐมนตรีสภา ยกเลิกโดย ‘ประกาศเลิกอภิรัฐมนตรีสภา’ ตราโดยความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นว่า… ตั้งแต่วันประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั้วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ นั้นเป็นต้นมา ให้ยกลิกอภิรัฐมนตรีสภาที่ได้ทรงตั้งขึ้นตามกระแสพระราชดำรัสลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ และประกาศตั้งอภิรัฐมนตรีลงวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๓ กับวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๔ เสียทั้งสิ้น” โดยดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๙ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๕. หน้า ๒๐๒ – ๒๐๓.

  โดยดู เดือน บุนนาค, ไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งด้วย) : ภาค ๒ รัฐธรรมนูญสยาม. พิมพ์ครั้งที่๑. พระนคร : นิติสาส์น. ๒๔๗๗. หน้า ๕๓.

โดยดู พระยาศรีวิสารวาจา.และคณะ. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (๒๔๙๒) และ คำแปลภาษาอังกฤษ. พิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ณ  เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาศ  วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓. คำว่า Prerogative ความหมายโดยตรงจะหมายถึง “อำนาจอภิสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์”.

โดยดู ไพโรจน์ ชัยนาม. คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบ (โดยสังเขป) เล่ม ๒ กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ตอนที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่๑. พระนคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๔๙๕. หน้า ๑๘๖.

โดยดู วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับ “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕  ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕." ใน รพีสารฉบับพิเศษ วันรพี ๒๕๓๖. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยภาควิชากฎหมายมหาชน ร่วมกับสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า ๑๐๐ – ๑๐๑.

ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์, รัชกาลที่ ๗ แปล Revolution เป็นภาษาไทยว่า "พลิกแผ่นดิน" โดยดู คำนำ ใน ประชาธิปก.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, บรรณาธิการ. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน. เนื่องในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในวันตรงกับเสด็จสวรรคตที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๐. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร. ๒๔๗๐. หน้า (๒).

๑๐ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๔ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๗๐ หน้า ๑๖๗ – ๑๗๒.

๑๑ หยุด แสงอุทัย. ความผิดที่กระทำทางวาจา พร้อมด้วยย่อคำพิพากษาฎีกาประกอบ และคำอธิบาย พ.ร.บ. ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๙๕ เรียงมาตรา. พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร : สันติสุข, ๒๔๙๖. หน้า ๘.

๑๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๔๗๙ หน้า ๖๑ – ๖๕.

๑๓ ปรากฏเป็นรูปธรรมใน กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ภาค ๒ ส่วนที่ ๑ หมวดที่ ๑ ความผิดฐานประทุษฐร้ายต่อพระบรมราชตระกูล คำว่า ‘พระบรมราชตระกูล’ ตามกฎหมายลักษณะอาญา ได้แก่ พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน, สมเด็จพระมเหษี, มกุฎราชกุมาร, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, พระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองระดับที่สูงกว่าบุคคลสามัญ.

๑๔ สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คุ้มครองความสามารถกระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด โดยบุคคลระดับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ตามสายลงมาจนถึงหม่อม สามารถกระทำล่วงละเมิดบทบัญญัติกฎหมายนั้นได้โดยปราศจากความผิดและความรับผิด เว้นแต่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้พิจารณาความผิดและความรับผิดเป็นรายกรณีไป โดยดู กฎที่ ๖๑ ว่าด้วยเรื่องหม่อมห้ามต้องหาในคดีอาญา. กฎให้ไว้ ณ วันที่ ๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๐. ใน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์). ประชุมกฎหมายไทย. ภาค ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : นิติสาส์น. หน้า ๕๖๒.

๑๕ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.๑๒๗ มาตรา ๕ "กล่าวโทษเสนาบดีเจ้ากระทรวงทั้งปวง  ในข้อที่เกี่ยวด้วยหน้าที่ราชการ  ห้ามไม่ให้ฟ้องยังโรงศาล"  บทบัญญัติมาตรานี้ นักกฎหมายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อธิบายว่า “ทั้งนี้เพราะเสนาบดีเป็นผู้แทนกระทรวง  กระทรวงต่าง ๆ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล  รัฐบาลย่อมรับผิดชอบในข้อที่เกี่ยวด้วยราชการ  ถ้ายอมให้ฟ้องเสนาบดียังโรงศาล ก็เท่ากับยอมให้ฟ้องรัฐบาลตามโรงศาลตามกฎหมาย  ซึงศาลและกฎหมายตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเอง  ก็จะเรียกว่า รัฐบาลมีอำนาจสูงสุดไม่ได้" โดยดู จรูญ จันทรสมบูรณ์. ว่าด้วยกฎหมาย. ภาค ๑ ตอนที่ ๒. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์. ๒๔๗๑. หน้า ๒๑ - ๒๓.

๑๖ โดยดู พระประศาสน์พิทยายุทธ์, (บรรยาย). แผนการปฏิวัตร. (จำรัส สุขุมวัฒนะ, เรียบเรียง).พระนคร : รัฐภักดี. ๒๔๙๑, หน้า ๕.

*เผยแพร่ครั้งแรกใน วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ (มกราคม - มิถุนายน ๒๕๕๕) หน้า ๑๓๗ - ๑๔๒.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้ จิตติ ติงศภัทิย์ เรื่อง "ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท" ตามกฎหมายอาญา พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล อ.จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นปรมาจารย์ทางกฎหมายอาญาของไทย และเป็นนักนิติศาสตร์ผู้หนึ่งซึ่งสนับสนุน  "คำพิพากษาประหารจำเลย(แพะ)ในคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘" [ดู หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗]  ภายหลังท่านดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถาม-ตอบ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะของกฎหมายมณเฑียรบาล 
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ลำดับชั้นในทางกฎหมายของ "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กษัตริย์และคณะรัฐประหารของไทยผ่านคำอธิบายเรื่องพระราชนิยมของวิษณุ เครืองาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล [บันทึกความจำ] หมายเหตุ : ขอให้ท่านใคร่ครวญค่อย ๆ อ่านดี ๆ นะครับ คำอธิบายของ "วิษณุ เครืองาม" เช่นนี้ เป็นผลดีต่อกษัตริย์หรือไม่ อย่างไร
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฯ : ว่าด้วยการจัดการองค์กรของรัฐสู่"ระบอบใหม่" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คำว่า"ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด" ในทรรศนะนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้บรรยายกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาและอดีตกรรมการ คตส. (ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐) : พร้อมข้อสังเกต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คดีคณะโต้อภิวัฒน์ (๒๔๗๘) ขับไล่รัชกาลที่ ๘-สังหารผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วจะอัญเชิญรัชกาลที่ ๗ ครองราชย์อีกครั้ง
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้ธงทองฯ กรณีเทียบเคียงมาตรา ๑๑๒ กับกรณีหมิ่นประมุขต่างประเทศ, เจ้าพนักงานและศาล* พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ตุลาการที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ :คติกฎหมายไทยโบราณ พร้อมบทวิจารณ์ปรีดี พนมยงค์โดยสังเขป พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "เมื่อใดกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นโดยมิชอบก็มีสิทธิ์เป็นเปรตได้เช่นกันตามคติของอัคคัญสูตรและพระธรรมสาสตร"
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ร.๕ "ประกาศเลิกทาส" ภายหลังจากระบบไพร่ทาสได้พังพินาศไปเรียบร้อยแล้วในทางข้อเท็จจริง
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
รัชกาลที่๕ ตั้ง"เคาน์ซิลออฟสเตด"เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง มิใช่จะตั้งศาลปกครอง/กฤษฎีกาแต่อย่างใด พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล 
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อำนาจบาทใหญ่ของคณะเจ้ารัชกาลที่ ๗ ช่วงก่อน ๒๔๗๕ : เจ้าทะเลาะกับราษฎร (กรณีนายจงใจภักดิ์) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, ค้นคว้า-เรียบเรียง