Skip to main content

คำนำ


เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาขายไม่ได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของโลก นักการเมืองรวมทั้งว่าที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ได้เสนอมาตรการลดหย่อนภาษีค่าโอนบ้าน โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป


ผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวข้างต้น แต่ขอใช้หลักคิดเดียวกันนี้เพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการพืชน้ำมันซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งโยงใยเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่เจ้าของโรงงานจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชน้ำมัน ( ปาล์มน้ำมัน อ้อย ฯลฯ ) เหล่านี้บ้างเล่า?


จะพูดว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการพืชน้ำมันดังกล่าวเพียงอย่างเดียวก็ออกจะเป็นการคิดที่ตื้นเขินเกินไป แต่จริง ๆ แล้ว การส่งเสริมให้ผู้ใช้น้ำมันธรรมดาหรือน้ำมันจากฟอสซิลหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลและแก็สโซฮอล์จะเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี


นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า สาเหตุของภาวะโลกร้อน 80% มาจากก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้พลังงานซึ่งได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และภาคไฟฟ้า


ในประเทศไทยเราเอง ภาคการขนส่งมีส่วนร่วมใช้พลังงานถึงประมาณ 36-37% ของพลังงานทั้งหมด ถ้าคิดเป็นตัวเงินก็ประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี


ถ้าเปรียบเทียบความยาวนานของ “วิกฤติเศรษฐกิจ” กับ “วิกฤติภาวะโลกร้อน” เราพบว่าวิกฤติอย่างแรกเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวแต่อาจจะยาวนานนับปีหรือนานกว่านั้นก็ได้ ส่วนวิกฤติอย่างหลังเป็นปรากฏการณ์ที่ยาวนานมากและดูเหมือนจะไม่มีทางออกใดๆ นอกจากมนุษย์ทั้งโลกจะพร้อมใจกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ และต้องกระทำในทันทีด้วยเท่านั้น


ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมให้คนทั้งโลกและคนไทยรีบหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลและแก็สโซฮอล์จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของเราทุกคน ขอย้ำครับว่า “เป็นภารกิจเร่งด่วนของเราทุกคน” รวมถึงท่านผู้อ่านและผมเองด้วย

ที่กล่าวมาแล้ว เป็นหลักคิดเชิงนิเวศหรือเชิงสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ถ้าจะคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราพบว่า พลังงานน้ำมันจากฟอสซิลเป็นพลังงานที่ถูกผูกขาดและรวมศูนย์โดยพ่อค้าพลังงานเพียงไม่กี่ตระกูลในโลกนี้เท่านั้น แต่พลังงานจากพืชน้ำมันเป็นพลังงานที่มีอิสระกว่าและกระจายตัวอยู่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่


ถ้ามีการจัดการดี ๆ พลังงานจากพืชน้ำมันสามารถเป็นพลังของชุมชน เพื่อความมั่นคงของท้องถิ่น ทำให้คนชนบทมีงานทำ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเมืองกับชนบทในหลายมิติ เช่น ลดการย้ายถิ่นเข้าเมืองของคนชนบท ลดปัญหาสลัมของเมือง เป็นต้น


ที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงแนวคิดของการส่งเสริมเท่านั้น แต่จะทำสำเร็จได้หรือไม่ เราจำเป็นต้องมาดูตัวอย่างของต่างประเทศ ว่าเขาส่งเสริมกันอย่างไร ขนาดไหน และส่งเสริมแล้วเกิดสัมฤทธิ์ผลขนาดไหน

แนวคิดของภาษีเชิงนิเวศ (Ecological taxes reform, ETR)


ตามประวัติที่ค้นได้จากอินเทอร์เนตพบว่า แนวคิดนี้เกิดจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคกรีนของประเทศเยอรมนีเมื่อครั้งที่เป็นรัฐบาลผสมเมื่อปี 2542 (หรือ ปี ค.. 1999)


แนวคิด ETR ต้องการเก็บภาษีกับสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือ สิ้นค้าที่มีต้นทุนภายนอก ( external cost ) แต่พ่อค้าไม่ได้นำมารวมเป็นต้นทุนของตน ปล่อยไว้ให้เป็นต้นทุนของสังคมแทน น้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิลหรือซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันนับล้านปี คือสินค้าที่มีต้นทุนภายนอกสูงมาก เพราะการเผาไหม้ของน้ำมันจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่กำลังก่อปัญหาใหญ่หลวงให้กับคนทั้งโลก ดังที่กล่าวแล้ว


วิธีการก็คือ ต้องเก็บภาษีเชิงนิเวศกับน้ำมันลิตรละเท่าใดก็แล้วแต่จะกำหนด แล้วให้รัฐบาลนำเงินรายได้จากเงินก้อนนี้ไปลดภาษีบางอย่างที่เก็บอยู่แล้ว (existing tax) ในจำนวนที่เท่ากันให้กับประชาชน ภาษีที่ว่านี้อาจจะเป็นภาษีรายได้ของบุคคลธรรมดารวมทั้งของนิติบุคคลด้วย


ด้วยวิธีการเช่นนี้ จะไม่ทำให้ภาคธุรกิจหรือภาคครัวเรือนเกิดความเกรงกลัวว่าตนเองหรือธุรกิจของตนเองจะต้องแบกรับภารภาษีเพิ่มขึ้นจนหลังอาน


แม้ราคาน้ำมันดิบเกือบจะเท่ากันทั่วโลก แต่ราคาขายปลีกของแต่ละประเทศกลับแตกต่างกันอย่างมาก บางประเทศ เช่น ราคาในประเทศอังกฤษสูงเป็นสองเท่าของราคาในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้คนอเมริกันใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย

 


จะเก็บภาษีเชิงนิเวศเท่าใดดี
?


อัตราการเก็บภาษีจะต้องมีมากพอที่จะดึงดูดให้กิจการพลังงานจากพืชน้ำมันสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น และทำให้ผู้ใช้รถยนต์เห็นความแตกต่างของราคาน้ำมันทั้งสองชนิดด้วย


ปัจจุบันประเทศไทยเราก็มีการส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซลอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่มีแรงดึงดูดเพียงพอ ทั้งต่อผู้ผลิตไบโอดีเซลที่ต้อง “กอดคอกันตาย” ภายใต้ “การส่งเสริม” ของภาครัฐเมื่อราคาน้ำมันดิบจากฟอสซิลลดลงจาก 147 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ไม่ถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล


ขณะเดียวกันราคาหน้าปั๊มน้ำมันก็ไม่ดึงดูดพอต่อผู้ใช้รถยนต์ โครงการโบโอดีเซลตามแนวพระราชดำริของในหลวงที่เริ่มต้นมานานหลายสิบปีและเป็นโครงการที่ดีมากก็ไปไม่ถึงไหน


เพื่อให้เห็นตัวเลขราคาน้ำมัน ผมขอยกราคาน้ำมันดีเซลธรรมดากับไบโอดีเซลมานำเสนอเพียง 2 วัน โดยเลือกเอาทั้งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแพงและถูก ดังนี้


วันที่ 29 กรกฎาคม 2551 (ช่วงที่ราคาน้ำมันดิบสูงที่สุดประมาณ $147 US/barrel) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (H-deisel) สำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นลิตรละ 33.1996 บาท แต่เมื่อรวมภาษีและกองทุนต่าง ๆ แล้ว ราคาหน้าปั๊มลิตรละ 37.94 บาท


น้ำมันไบโอดีเซลหมุนเร็ว (B5) สำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นลิตรละ 33.4856 บาท แต่ราคาหน้าปั๊มลิตรละ 37.44 บาท โดยที่ราคาน้ำมันไบโอดีเซลบริสุทธิ์(B100) อ้างอิงที่ 42.54 บาทต่อลิตร


เมื่อดูรายละเอียดของภาษี พบว่า รัฐบาลเกือบจะไม่ได้เก็บภาษีน้ำมันดีเซลเลย (ความจริงเก็บภาษีสรรพามิตรในอัตรา 55 สตางค์ต่อหนึ่งร้อยลิตร แถมยังได้นำเงินกองทุนน้ำมันมาช่วยพยุงราคาอีกลิตรละ 30 สตางค์) แต่เก็บภาษีไบโอดีเซลประมาณ 10 บาทต่อหนึ่งร้อยลิตรและนำเงินกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาลิตรละ 1.50 บาท


ในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ราคาหน้าปั๊มของน้ำมันไบโอดีเซลราคาลิตรละ 17.24 บาท ถูกกว่าดีเซลลิตรละ 1.50 บาท ในขณะที่ราคาน้ำมันไบโอดีเซลบริสุทธิ์(B100) อ้างอิงอยู่ที่ 22.45 บาท


เราจะเห็นว่า ไม่ว่าราคาน้ำมันดิบจะถูกหรือแพง ราคาน้ำมันไบโอดีเซลมีราคาถูกกว่าเพียงลิตรละ 50 สตางค์ถึง 1.50 บาทเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่ายังไม่ดึงดูดราคาให้คนหันมาเติมอยู่ดี ขณะเดียวกันราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นก็ดันขึ้นต่อกับราคาน้ำมันดิบเสียด้วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะราคาปุ๋ย ราคาค่าขนส่ง และราคาพลังงานเป็นองค์ประกอบหลัก


ก่อนที่จะตอบคำถามว่า เราควรจะเก็บภาษีเชิงนิเวศสักเท่าไหร่ดี เรามาดูข้อมูลของประเทศเยอรมนีต้นฉบับความคิดนี้กันก่อน ผมคัดลอกกราฟมาให้ดูกันเลยครับ เป็นข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 (2004) จนถึงเดือนมิถุนายน 2548



เส้นสีแดง (อยู่ส่วนบน) เป็นราคาน้ำมันดีเซลที่รวมภาษีทุกชนิด(รวมทั้งภาษี ETRด้วย) แล้ว ส่วนสีเขียว (เส้นล่าง) เป็นราคาน้ำมันไบโอดีเซล เราพบว่าราคาน้ำมันไบโอดีเซลถูกกว่าตั้งแต่ลิตรละ 7 ถึง 22 เซ็นต์ (หรือประมาณ 3.50 ถึง 11 บาท) หรือราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของราคาดีเซลเท่านั้น ไม่ใช่ 97-99% อย่างกรณีของประเทศไทย


เมื่อส่วนต่างของราคามีมากถึงขนาดนี้ ก็เกิดแรงจูงใจให้คนหันมาเติมไบโอดีเซลที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน


ถ้าเราอยากจะทราบว่า ด้วยนโยบายการส่งเสริมกันแบบนี้ ทำให้ชาวเยอรมันที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลกันมากน้อยแค่ไหน ผมมีข้อมูลมาให้ดูอีกครับ



ภายใต้นโยบาย “ภาษีเชิงนิเวศ” ที่เริ่มตราเป็นกฎหมายเมื่อปี 1999 ทำให้ปริมาณการจำหน่ายไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 144,000 ตัน (ประมาณ 144 ล้านลิตร) ในปี 2001 จนกระโดดไปสู่ 520,000 ตันหรือ 520 ล้านลิตรในปี 2548 (ปี 2548 ประเทศไทยใช้นำมันดีเซลประมาณ 19,594 ล้านลิตร)


จำนวนปั๊มน้ำมันที่ให้บริการไบโอดีเซลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน (เส้นบน สีเขียว)


จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เราได้แลเห็นร่วมกันว่า แนวคิดที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมหากสามารถประสานกับนักการเมืองและมาตรการทางภาษีที่ประชาชนยอมรับก็สามารถที่จะทำให้แนวคิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้


คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ คนไทยพร้อมจะจ่ายภาษีเชิงนิเวศกับน้ำมันหรือไม่


ถ้าอธิบายกันดี ๆ ให้ประชาชนเข้าใจ ประชาชนก็น่าจะยอมรับได้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมลองนำเสนอตัวเลขพร้อมข้อมูลบางส่วนมาคิดเพิ่มเติม ดังนี้


ในปี 2550 ประเทศไทยใช้น้ำมันทุกชนิดรวมกัน (รวมทั้งก๊าซหุงต้มด้วย) จำนวน 41,030 ล้านลิตร สมมุติว่าเก็บภาษีเชิงนิเวศลิตรละ 3.50 บาท (เท่ากับขั้นต่ำสุดของประเทศเยอรมนี) เราก็จะได้เงินเข้าคลังประมาณปีละ 1.5 แสนล้านบาท


เมื่อรัฐบาลได้เงินเพิ่มขึ้นจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ก็ไปลดภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลงมา จะเป็นอัตราเท่าใดก็ไม่ทราบได้ แต่ต้องลดให้ได้เท่ากับ 1.5 แสนล้านบาท รายละเอียดตรงนี้ กระทรวงการคลังกดคอมพิวเตอร์ 2-3 ทีก็สามารถรู้เรื่องได้แล้ว


ผมคิดว่าข้อเสียของแนวคิดนี้มีอย่างเดียว ก็คือเกรงว่าจะมีการค้าน้ำมันเถื่อนเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทะเลและชายแดนไทย-มาเลเซีย ส่วนชายแดนอื่นไม่เป็นปัญหาเพราะราคาน้ำมันในบ้านเราถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว


แต่ข้อดีมีเยอะครับ นอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยให้เกิดการจ้างงาน ช่วยเหลือผู้ลงทุนที่ต้องล้มลุกคลุกคลานจากนโยบายของรัฐที่ขาดหลักคิดอย่างเป็นระบบ

รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาได้ส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 2.5 ล้านไร่ ในปี 2551-2555 โดยปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปจำนวน 7 พันล้านบาท ในด้านการผลิตไบโอดีเซล ประเทศเรามีโรงงานผลิตไบโอดีเซลจำนวน 10 โรง รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะผลิตได้ปีละ 1 พันล้านลิตร แต่ทำได้จริงก็เพียงแค่ 47% ของเป้าหมายเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ (ข้อมูลจาก ข่าวเกษตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 30 ธันวาคม 2551 หมายเหตุ ข้อมูลนี้น่าจะสูงเกินจริง เพราะประเทศเยอรมนีเองที่อ้างว่าผลิตไบโอดีเซลมากที่สุดในโลกก็ผลิตได้เพียง 520 ล้านลิตรในปี 2548)


สรุป


ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ข่าวโทรทัศน์หลายช่องรายงานตรงกันว่า ปีนี้ผู้โดยสารนิยมนำรถยนต์ส่วนตัวกลับภูมิลำเนาเดิมมากกว่าปีก่อน เพราะราคาน้ำมันถูกลง นี่เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า การเก็บภาษีเชิงนิเวศจะทำให้คนไทยเราประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะขึ้นด้วยครับ




บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "9 คำถามคาใจ กรณี ปตท." ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจมาหลายปีนับตั้งแต่การแปรรูปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2544 เวทีเสวนาประกอบด้วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม  บมจ. ปตท. (คุณสรัญ รังคสิริ)  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (คุณสารี อ๋องสมหวัง) ดำเนินรายการโดยคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  บรรณาธิการนิตยสารสารคดี นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ภัทรด้วย นักข่าวของ “ประชาไท” รายงานว่า “…
ประสาท มีแต้ม
นายทหารยศพันตรีท่านหนึ่ง (พ.ต.รัฐเขต แจ้งจำรัส) ได้ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชนผ่านเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า “ปิโตรเลียมซึ่งได้แก่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้แผ่นดินไทยทั้งบนบกและในทะเลทั้งหมดมีมูลค่าถึง 100 ล้านล้านบาท” เงินจำนวน 100 ล้านล้านบาท(ล้านสองครั้ง)นี้ ถ้าเอามาจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินในปีปัจจุบันก็จะได้ประมาณ 62 ปี เพราะงบประมาณปีหน้า (2552) มีประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ข้อมูลที่นายทหารผู้นี้นำเสนอล้วนเป็นข้อมูลของทางราชการที่เข้าใจยาก กระจัดกระจาย แต่ท่านได้นำมารวบรวม วิเคราะห์ แล้วสรุปให้ประชาชนธรรมดาสามารถเข้าใจได้ง่าย…
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม จากปัญหาที่ผู้บริหารทั้งระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) “อ้าง” หลายครั้งหลายวาระด้วยกันว่า ก๊าซหุงต้มในประเทศไทยขาดแคลน ทาง บริษัท ปตท. จึงได้ออกมาบอกกับสาธารณะในสามประเด็นหลัก คือ (1) เสนอแนะให้รัฐบาลขึ้นราคาหรือลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มให้เท่ากับราคาตลาดโลก(2) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาทาง ปตท. ได้นำเข้าก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีแล้วจำนวน2 หมื่นตัน ขณะเดียวกันผู้บริหารระดับสูงสุดอ้างว่าในปีนี้จะมีการนำก๊าซถึง 4 แสนตัน (3) ราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกตันละเกือบพันเหรียญสหรัฐ แต่ราคาก๊าซในประเทศอยู่ที่ตันละประมาณ 300 เหรียญ…
ประสาท มีแต้ม
1. ประเด็นปัญหา ขณะนี้ บริษัท ปตท. ได้บอกกับประชาชนว่าก๊าซหุงต้มหรือที่เรียกกันในวงการว่าก๊าซแอลพีจี (Liquefied petroleum gas) ในประเทศไทยกำลังขาดแคลน และได้แนะนำให้รัฐบาลขึ้นราคาก๊าซชนิดนี้ โดยเฉพาะที่ใช้กับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์แท็กซี่ (นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ. ปตท. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Hard Topic ทาง Money Channel , 7 กรกฎาคม 2551) นอกจากนี้นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.กล่าวว่า “ความต้องการใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้ต้องนำเข้าแอลพีจี 4 แสนตัน” (ไทยรัฐ 11 กรกฎาคม 2551)
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำและปัญหา ขณะนี้ได้มีการเรียกร้องให้สังคมมาร่วมกันสร้าง “การเมืองใหม่” บทความนี้จะยังไม่เสนอกระบวนการที่จะนำไปสู่การเมืองใหม่ แต่จะมองว่าการเมืองใหม่ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร พร้อมนำเสนอตัวอย่างที่เป็นจริงเพื่อให้เราได้เห็นทั้งแนวคิดและหน้าตาของการเมืองใหม่ชัดเจนขึ้น สังคมในการเมืองใหม่ควรจะเป็นสังคมที่ ผู้คนมีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ทุกคนมีงานทำ มีความสุข การบริหารบ้านเมืองต้องโปร่งไส ตรวจสอบได้และ ปราศจากการคอร์รัปชัน ในที่นี้จะขอนำเสนอนโยบายและรูปธรรมด้านพลังงาน ทั้งนี้เพราะเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่มาก กล่าวคือทุกๆ 100 บาทของรายได้ของคนไทย ต้องจ่ายไปกับค่าพลังงานถึง 18 บาท…
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่คนทั่วโลกกำลังเดือดร้อนกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  แต่ผลกำไรของบริษัทน้ำมันขนาดยักษ์ของโลกกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา มันช่างฝืนความรู้สึกในใจของมนุษย์ธรรมดาๆ ที่คิดว่า “เออ! เมื่อสินค้าราคาสูงขึ้น เขาน่าจะลดกำไรลงมามั่ง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อนมากนัก”   แต่มันกลับเป็นตรงกันข้าม คือเพิ่มกำไรมากกว่าเดิม  โดยไม่สนใจใยดีกับเพื่อนร่วมโลกในขณะที่ผู้มีรายได้น้อยอย่างกรรมกรได้สะท้อนออกมาในวันแรงงานแห่งชาติว่า “ค่าครองชีพแพง แต่ค่าแรงเท่าเดิม”บทความนี้จะนำเสนอทั้งข้อมูลและความคิดเห็นใน 4 เรื่องต่อไปนี้ คือ (1)…
ประสาท มีแต้ม
๑.คำนำเมื่อ ๗ ปีก่อน  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คิดวิชาใหม่ขึ้นมาหนึ่งรายวิชา หากคำนึงถึงแนวคิด เนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนแล้ว อาจถือว่าได้วิชานี้เป็นวิชาแรกในประเทศไทยก็น่าจะได้  ผมจึงอยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้จ่ายภาษีมาตลอดได้รับทราบครับ ด้วยขั้นตอนตามระเบียบของมหาวิทยาลัย เราได้เริ่มลงมือเปิดสอนจริงเมื่อ ๓ ปีมาแล้ว รายวิชานี้ชื่อว่า “วิทยาเขตสีเขียว (Greening the Campus)”  เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่สามทุกคน เรื่องที่จะนำมาเล่าอย่างสั้นๆ นี้ ได้แก่ แนวคิด เนื้อหา กระบวนการเรียนการสอน  สิ่งที่นักศึกษาค้นพบและร่วมผลักดันขยายผล…
ประสาท มีแต้ม
ผมว่างเว้นจากการเขียนบทความมานานกว่าสองเดือนแล้ว จนอันดับบทความของผมที่เรียงตามเวลาที่เขียนในเว็บไซต์ “ประชาไท” ตกไปอยู่เกือบสุดท้ายของตารางแล้ว สาเหตุที่ไม่ได้เขียนเพราะผมป่วยเป็นโรคที่ทันสมัยคือ “โรคคอมพิวเตอร์กัด” ครับ มันมีอาการปวดแสบปวดร้อนไปทั่วทั้งหลัง พอฝืนทนเข้าไปทำงานอีกไม่เกินห้านาทีก็ถูก “กัด” ซ้ำอีก ราวกับมันมีชีวิตแน่ะที่นำเรื่องนี้มาเล่าก่อนในที่นี้ไม่ใช่อยากจะเล่าเรื่องส่วนตัว แต่อยากนำประสบการณ์ที่ผิดๆ ของผมมาเตือนท่านผู้อ่านโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะเก็บเรื่องของผมไปเป็นบทเรียน…
ประสาท มีแต้ม
ผมเองไม่ใช่นักกฎหมาย แต่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังในประเด็นพลังงานทั้งเรื่อง ปตท. และการไฟฟ้า ทั้งการเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานหมุนเวียนมานานกว่า 10 ปีหลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด (14 ธันวาคม) ในอีก 2 วันทำการต่อมารัฐบาลก็ได้ผ่านมติวิธีการจัดการรวมทั้งการคิดค่าเช่าท่อก๊าซฯให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล โดยใช้เวลาพิจารณาเพียง 10 นาที สร้างความกังขาให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมากประเด็นที่ผมสนใจในที่นี้มี 3 เรื่องดังต่อไปนี้หนึ่ง คำพิพากษาของศาลฯที่ว่า “การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” ในกรณีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้นควรจะครอบคลุมไปถึงไหน  ในฐานะที่ไม่ใช่นักกฎหมาย…
ประสาท มีแต้ม
เรื่องราวที่ผมจะนำมาเล่าในที่นี้  ไม่ใช่เรื่องเทคนิคทางไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์การทำงานเชิงสังคมที่น่าสนใจของตัวผมเอง  ผมคิดว่าเรื่องนี้มีคุณค่าพอที่ผู้อ่านทั่วไปตลอดจนกลุ่มเพื่อนพ้องที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อนสันติภาพของโลก  จริงๆนะครับ ผมไม่ได้โม้ผมขอเริ่มเลยนะครับเราเคยสังเกตไหมครับว่า สวิทซ์ไฟฟ้าในที่ทำงานของเรา โดยเฉพาะที่เป็นสถานที่ราชการ เวลาเราเปิดสวิทซ์ ไฟฟ้าจะสว่างไปหลายดวง หลายจุดเป็นแถบๆ  ยิ่งเป็นที่สาธารณะ เช่น สำนักงาน…
ประสาท มีแต้ม
1. ความในใจผมขอพักเรื่องนโยบายสาธารณะด้านพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากๆ สำหรับประเทศไทยและชาวโลกไว้ชั่วคราวครับ  ในบทความนี้ผมขอนำเรื่องภายในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่มาเล่าสู่กันฟังมันไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้อ่าน  แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบราชการไทยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้ว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว  นอกจากนี้ผมมีเรื่องวิชาใหม่ที่คาดว่าเป็นวิชาแรกในประเทศไทยคือวิชา “ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว (Greening the campus)”…
ประสาท มีแต้ม
การแปรรูป ปตท. คือการปล้นประชาชน! ในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศกำลังเดือดร้อนกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัว แต่บริษัทน้ำมันต่างๆในประเทศไทยกลับมีกำไรเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านั้นในบทนี้ จะกล่าวถึงกิจการของบริษัท ปตท. จำกัดมหาชน และบริษัทอื่นๆบ้าง โดยย่อๆ เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้๑. บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้แปรรูปมาจาก การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔  ตอนเริ่มต้นการแปรรูป กระทรวงการคลังถือหุ้น ๖๙% ปัจจุบันเหลือเพียง ๕๒.๔๘%ดังนั้น กำไรของ ปตท. ซึ่งเดิมเคยตกเป็นของรัฐทั้งหมด ๑๐๐% ก็จะเหลือเพียงตามสัดส่วนที่รัฐถือหุ้น  คงจำกันได้นะครับว่า หุ้น ปตท…