@ “ เฮ๊ย ติ๊ก อ้ายไม่ไป ปลายฝน ต้นหนาวแล้ว อ้ายจะรอพวกเธอที่ สุดสะแนน ” ฉันโฟนอินบอก ติ๊ก เพื่อนสาว น้องสาวผู้งดงามใจงามแห่งฉันและโลกชีวิตอีกคนหนึ่ง … เธอเหิรฟ้ามาจาก “ดินแดนด้ามขวานด่านใต้” จังหวัดสุราษฏร์ธานี เธอเอาแกงไตปลา จากใต้มาฝาก “อ้ายป้อม” ศิลปิน และอดีตทนายความ จบจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง อ้ายป้อมเบื่อชีวิตทนาย เลย say good bye … อ้ายป้อมเป็นเจ้าของ “ บ้านร้าน ปลายฝน - ต้นหนาว ” ทางไปหลังวัดเจ็ดยอด อ้ายป้อม เป็นคนภาคใต้เหมือนกับ ติ๊ก แต่มาอยูเชียงใหม่นานแล้ว บ้านร้านปลายฝน – ต้นหนาว เปิดกว้างให้นักศึกษาที่เรียนด้านศิลปะ มาแสดง งาน exhibition ได้ฟรี โดยไม่คิดค่าสถานที่ พวกน้องๆนักศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาศิลปะจากมหาวิทยาลัยราชมังคลา ฯลฯ มาแสดงงาน อ้ายป้อมเป็นศิลปินจึงเข้าใจศิลปินด้วยกัน … สาวติ๊ก โหลด ไตปลามา เพราะบนเครื่องบิน เขาไม่ให้เอาขึ้นไป ฉันขำที่ครั้งหนึ่ งหนึ่งฉันเอาเหล้าพื้นบ้านสองขวดไปด้วย จะเอาไปให้เพื่อนที่กรุงเทพฯ ชิมลิ้มรส ขณะเอาสัมภาระเช็คที่ด่าน เช็ค หญิงสาวที่เช็คเธอบอกว่าเอาขวดเหล้าขี้นไปด้วยไม่ได้ ฉันจึงจำเป็นต้องเอาขวดเหล้าไปโหลด คนบ้านนอกอย่างฉันนานๆขึ้นเครื่องบินทีก็งี้แหละ ที่เหิรฟ้าไปถ้าไม่มีคนออกตังค์ให้ก้อไม่ได้ไปแน่ ค่าเครื่องของการบินไทยโครตแพง ฉันก็แต่แค่ขึ้นรถไฟฟรีชั้นสามเท่านั้นแหละเจ้า
“ … “ ติ๊ก เมาแล้ว เมาเหล้ากุหลาบของอ้ายป้อม “ เธอหัวเราะเสียงใสผสมอ้อแอ้มาตามเครื่องโทรศัพท์ไร้สาย… “ เออมาเร็วๆ อ้ายรอ ”
พวกเราโอบกอดกันด้วยความรักแห่งผองเพื่อนมนุษยชาติ ไอ่หนู ติ๊ก ผิวสีค่อนข้างสีแทน ดีใจที่เจอฉันอีกคราหนึ่ง น้องๆทั้งหญิงชายที่มาด้วยกันก็ปิติยินดีปรีดาด้วย… พวกเราร่วมสิบชีวิตนั่งโต๊ะจัดยาว หัวเราะพูดคุยกันอย่างเริงรื่น …คืนนั้น ณ บ้านร้านสุดสะแนน จึงมีฝูงอีแร้งกระพือปีก บิน ย้าบๆ เย้บ ๆ บนฟลอร์ หน้าเวทีที่ “อ้ายพัฒน์” นักดนตรีบรรเลงเพลงลูกทุ่ง พอได้ที่ฉันก็จับแขกในร้านมาร่ายฟ้อนสนุกสนานม่วนซื่นโฮแซวไปตามๆกัน … ทุกที ทุกที เป็นแบบนี้แหละ เมื่อเราม่วนได้ที่กัน … “ หมู่เฮา หนิมพิ้วไว้ อย่ากระดุกกระดิก ห้ามไปไหน รอให้อ้ายพัดขี้นเพลงแหม ” ไอ่หนู “เขี้ยวฮิ้น เขียวฮิ้น” เจ้าของชื่อ face book หัวเราะบอก (ไอ่หนูคนนี้ ฉันเรียกเธอว่า “ไอ่โยโก๊ะ” เพราะในหน้าเธอ ทรงผมเธอ ละม้ายคล้าย “โยโก๊ะ โอ๊ะโน๊ะ” เมียของน้า John Lennon สมาชิกวงดนตรี The Beatles อันโด่งดังในยุค Sixties ในอดีต … ไอ่โยโก๊ะ ออกคำสั่งให้เรายืนนิ่งไม่กระดุกกระดิก พอบทเพลงเริ่มบรรเลง ฝูงอีแร้ง หน้าเวทีก็ พะเยิบพะย้าบ กระหยับปีกต่อ ฉันเดินไปดึง “ อ้ายแก้ว” และแฟนสาวคนไทย ให้ออกมาเริงระร่ายฟ้อนด้วยกัน และดึงน้องๆน้องๆที่นั่งหน้าสลอนบนโต๊ะข้างๆมาฟ้อนด้วยกัน (อ้ายแก้ว เป็นฝรั่ง พูดไทยชัด เพราะมีเมียไทย … “ เฮ๊ย หมู่เฮา ถ้าอยากพูดภาษาปะกิตเก่ง ก้อเอาเมียฝรั่ง เล๊ย อู้ ได้ปร๋อ แน่ ” ฉันแหย่เพื่อนๆน้องๆในวงเมา ก้อฮากันตรึมม … ฝรั่งอ้ายแก้ว มาทำงานกะพรรคพวกฝรั่งที่เชียงใหม่ พวกเขาเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่ชนเผ่าถูกละเมิด … มีคราหนึ่งพวกเราจัดกิจกรรมที่ ข่วงประตูท่าแพ เป็นวัน 8 - 8 - 8… วันที่แปด(8) เดือนแปด ( สิงหาคม) ปีแปด ( 1988) … ที่นักศึกษาและประชาชนพม่าชุมนุมประท้วงใหญ่ที่ร่างกุ้ง แล้วถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าปราบปรามเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ หลายคนต้องหนีเข้าป่าจัดตั้งกองกำลังต่อสู้ ในป่าเขา… อ้ายแก้วแสดงสด performance โดยการกระโดดลงน้ำคูเมืองแล้วว่ายในระยะทางประมาณร้อยเมตร ท่ามกลางฝูงชนคนดูปรบมือเอาใจช่วย จนถึงที่หมาย ฝรั่งจิตใจสากลนิยม … อ้ายแก้ว ประท้วงรัฐบาลเผด็การทหารพม่าที่กักอิสรภาพของ “ นางอ่องซาน ซูคยี” สตรีเหล็กของพม่าที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้ประชาชนพม่าด้วย ในขณะนั้น เผด็จการทหาร ซอหม่อง ยังไม่ปล่อยตัว อ่องซานฯ เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแต่เธอไม่ออกจากประเทศไปรับ เพราะเธอรู้ดีว่าถ้าเธอออกไป เธอจะต้องไม่ได้กลับมาบ้านเกิดเมืองนอนอย่างแน่นอน รัฐบาลจะต้องไม่ให้เธอเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองในพม่าอีก แต่ตอนนี้เธอได้รับอิสระภาพในระดับหนึ่งแล้วที่รัฐบาลเผด็จการทหารปล่อยออกมาเพราะไม่อาจต้านกระแสทางสากลที่กดดันรัฐบาลเผด็จการได้… อ้ายแก้ว ว่ายน้ำทั้งที่สวมใส่รองเท้า และเอารองเท้ามาประมูลในงานกิจกรรมนั้น รู้สึกว่าจะได้พันบาท อ้ายแก้วก็ยกเงินที่ได้นั้นมอบให้กองทุนที่ทำงานเรื่องอิสรภาพประชาธิปไตยของประชาชนพม่าฯลฯ
- - - “ อ้าย แสงดาว วันนี้เป็นวันเกิดของเพื่อนเรา เราจึงมาฉลองกันนี่นี่” แก้มยิ้มบอก พร้อมกับผายมือไปที่เพื่อนฝรั่งของเขา ที่นั่งใกล้กับภริยาคนไทย
“ อ้อ อ้ายจะเขียนบทกวี เป็นภาษาฝรั่ง อวยพรให้เขา ” ฉัน เอามือล้วงเอากระดาษเอสี่ในย่ามออกมา สะเก๊ตท์ ใบหน้าเขาง่ายๆ ฝรั่งหนวดงามยิ้ม แล้วฉันก็ร่ายบทกวีประดับบนกระดาษ …” เสร็จแล้ว Toy ” ฉันยื่นบทกวีมอบให้เขา เขายิ้มขอบคุณ “ อ้ายแสงดาว อ่านบทกวี บนเวทีให้ทอย” อ้ายแก้วบอก ฉัน เดินอาดๆตรงไปยังเวทีที่อ้าย “พัฒน์” กำลังเล่นดนตรี ก้มหน้ากระซิบที่หู “พัฒน์ อ้ายขอรบกวนขออ่านบทกวี อวยพร Birth Day เพื่อนฝรั่ง กลุ่มโต๊ะโน้น”
“ For Birth Day Toy …and for Humanity Friends on Earth… For Peace … For upfighting in Burmer … Blowing in the Wind by Heart and Soul … for Love …We Love You !!! ” … ฉันชูจอก ร่อนจอก เชื้อเชิญแขกในร้าน ตำจอกอวยพรให้ Toy … เสียงปรบมือดังลั่นร้าน ฉันยกมือไหว้ ผายมือไปที่ Toy
เพลงสุดท้ายก่อนที่อ้ายพัฒน์ จะอำลาเวทีก็ดังกังวานขี้น …
“ พร่างพราวแสง ดวงดาวน้อยสกาว ส่องวับวาว เด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทอง ส่องเรืองเรื้องในหทัย เหมือนธงชัย ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน … ฯลฯ ”
ฉัน ลุกขึ้นจากโต๊ะของกลุ่มอ้ายแก้ว ย่างเท้าช้าๆ ไปข้างเวที แล้วทำจินตลีลาพร้องบทเพลง ไม่ได้เลยถ้าบทเพลงนี้ขึ้นมา เหมือนกับต้องมนตร์สะกด ฉันต้องร่ายจินตลีลาทุกครั้ง พร้อมกับร้องเพลงคลอผสาน เพลง “ แสงดาวแห่งศรัทธา ” จากบทประพันธ์เพลงของ “ สหายจิตร ภูมิศักดิ์ ” นักรบประชาชนแห่งเทือกเขาภูพาน คราเข้าร่วมสงครามประชาชนร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขตภาคอิสาน ซึ่งเขาต้องเสียสละชีวิตในเขตนี้ด้วยปืนปฏิกิริยาของศัตรูประชาชน! … นามปากกา “ แสงดาว ศรัทธามั่น ” ที่ตั้งขึ้นก็มาจากแรงบันดาลใจจากบทเพลงนี้ ! …
“ ฯลฯ พายุฟ้าครื้นโครมคุกคาม เดือน ลับยาม แผ่นดินมืดมน
“ ดาวศรัทธา ” ยังส่องแสงเบื้องบน ปลุกหัวใจ ปลุกคนอยู่มิวาย
ขอหัวเราะ เยาะเย้ยทุกข์ยากลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย ฯลฯ บทเพลงมาถึงท่อนนี้ ฉัน ผายมือไปยังพี่น้องประชาชนที่นั่งรายเรียงรอบๆโต๊ะ พร้อมทั้ง กำหมัดสองข้างยกชูเหนือหัว …
“ แม้นผืน ฟ้า มืดดับ เดือน ลับมลาย ดาว ยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน
ดาว ยังพราวอยู่จน ฟ้า รุ่ ง รา ง ” @
“ เพลงนี้ ยามฉันรู้สึกทดท้อไม่ว่าเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ฉันต้องร้องเพลงนี้เสมอ ช่วยปลุกปลอบใจฉันนัก ” … “ อ้ายปอน… พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล ” … “เจ้าชายโรแมนติค ” - - - กวี นักคิด นักเขียน ศิลปิน คนเพลง แห่งล้านนาอิสระ เคยพูดในงานเขียนทุกครั้ง
. . . ราตรีนี้ ฉัน บรรทมที่นี่ ณ “สุดสะแนน …แสนสนุกสุดเสน่ห์” บ้านร้านป่าในเมืองของ “อ้ายฮวก - สุดสะแนน” (ถามไถ่ว่าคำว่า สุดสะแนน หมายถึงอะไร พวกเขาซึ่งเป็นพี่น้องคนอิสาน บอกทำนองว่า เป็นลายเพลงแคน ชนิดหนึ่งของอิสาน “ฮวก” หรือ “ อรุณรุ่ง สัตย์สวี ” (เป็นนามปากกาของเขา) เป็นทั้งนักคิด นักเขียน กวี ศิลปิน คนเพลง ฯลฯ เขาเคยได้รับรางวัลเรื่องสั้น “สุภา เทวกุล” (นักเขียนอาวุโสที่ได้กลับคืนสู่อ้อมอกอันอบอุ่นของแม่พระธรรมชาติไปแล้ว เพื่อนๆนักเขียนรุ่นอาวุโสรุ่นเดียวกับ ป้าสุภา เทวกุล จึงร่วมกันจัดตั้ง “รางวัล สุภา เทวกุล” เพื่อเป็นเกียรติให้ท่านผู้ล่วงลับ… ฉันก็ได้ไปส่ง “อรุณรุ่ง สัตย์สวี” ไปรับรางวัลที่กรุงเทพฯ ไปแสดงความยินดีกับเขาและผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ทุกๆคน
- - - เขาและเพื่อนรักของเขา “ ชวด - สุดสะแนน ” หรือ “ ผการัมย์ งามธันวา” กวี ศิลปิน กวีนักเขียน ร่วมกันตั้งวงดนตรี “สุดสะแนน” เล่นด้วยกันตั้งแต่ อิสาน กรุงเทพฯ ยันเชียงใหม่ … คงต้องเล่า เรื่องราวของเขาให้ท่านผู้อ่านได้รับฟังหน่อย … ในคราวมีการประกวดดนตรี FOLK SONGS เพลงเพื่อชีวิต รำลึก 20 ปี สิบสี่ตุลาคม ที่หอประชุมใหญ่ (ถ้าจำไม่ผิดในเรื่องสถานที่) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(และการเมือง) มีนักดนตรีจากภาคต่างๆทั่วประเทศมาร่วมแข่งขันกันตรึม ผลปรากฏว่า วงดนตรีสุดสะแนน ได้รับรางวัลชนะเลิศ!
. . . วงดนตรีสุดสะแนน นอกจากจะให้ความรื่นรมย์ แก่แขกผู้มาเยือนร้านนี้แล้ว เวลาคราใดที่ พี่น้องประชาชนทั้งชนเผ่าและชาวบ้านชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นลานหน้าศาลากลางจังหวัด หรือลานข่วงประตูท่าแพ ฯลฯ วงดนตรีสุดสะแนนก็ไปร่วม บรรเลงเพลงให้กำลังใจพี่น้องด้วย บ่อยครั้ง ฉันจึงชมชอบเขา และไปเป็นผีสิงสถิตที่ร้านบ้านป่าในเมืองนี้บ่อยๆ …
ราตรีนี้ พระจันทร์เต็มดวงอวยพรทอแสงโอบกอดเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก เอกภพ จักรวาล … ฉันยกมือวันทาแม่พระจันทร์ แล้วกลับไปนอนหลับฝันดี! @
--------------------------------------------------------------------
ฉั น รจนา เรื่องราวนี้ ณ โต๊ะ ไม้ สุดสะแนน ยามอรุณ … ชื่อเรื่องนี้ “ อรุณรุ่งรางสว่างแล้ว ” ฉั น เอามาจากบทเพลงของ “วงดนตรีสุนทราภรณ์” ที่แต่งและขับร้องโดย “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” หรือ “สุนทราภรณ์” ….
- - - สายฝน โปรยปราย โปรยปรอย … ยังได้ยินเสียงนกร้องเพลง ขณะนั่งรจนานี้ ฉั น เห็น นกเขาตัวผู้ต่อยมวยกัน ตีกับบนหลังคามุงจาก ตีกันดัง พลั่บ พลั่บ … พลั่บ พลั่บ สักครู่ ตัวหนึ่งสู้ไม่ได้ ต้องถอยบินหนีไป นกเขาเธอหวงถิ่น ใครแหลมเข้ามา เขาก็ต้องขับไล่ เป็นธรรมดาธรรมชาติของสรรพสัตว์ จ้า
๓ กรกฏาคม ๒๕๕๕ ล้านนาอิสระ , เจียงใหม่.