การออกเดินทางครั้งนี้ เราได้มีจุดหมายที่ ม่อนแสงดาว จังหวัดเชียงราย เรากำลังแบกเป้ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่พร้อมจะเรียนรู้อย่างเต็มที่
ม่อนแสงดาว แหล่งเรียนรู้ของเด็กชาติพันธุ์ที่หลากหลายเป็นการเรียนการสอนผ่านธรรมชาติหรือ Eco School โดยมุ่งเน้นเด็กที่ไม่ได้รับโอกาสในการเลือก การค้นหาตนเองและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองการเรียนการสอนผ่านการสัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดีแล้วยังสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามศาสตร์พระราชา กระบวนการเรียนรู้ที่ได้สัมผัสถึงรากของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ ธรรมชาติ ควบคู่กับการเรียนรู้สถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อร่วมกันคิด วิเคราะห์ หาทางออกร่วมกันโดยไม่ลืมรากของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
คุณว่ามันน่าสนใจไหม? ฉันเองรู้สึกว่าการเรียนรูปแบบนี้น่าสนใจไม่น้อย ฉันจึงตัดสินใจเดินทางไปเชียงรายอย่างไม่ลังเลเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมทางของฉัน อีก 4 คน คือ พี่โบนัส คุณโบ้ผู้มากับขนม พี่แทน แถ่นแทนแถ๊น พี่ฟิตรี และพี่วริศ หรือ เชียงราย Don't Cry Gangster 5555 เราทุกคนล้วนมาจากต่างที่แต่มีจุดมุ่งหมายที่ไม่ได้ต่างกันนัก
การเดินทางกับเพื่อนใหม่่ที่เรารู้จักแค่ 2 วันก่อนการเดินทางก็น่าท้าทายไม่ต่างกัน แต่นั่นก็ไม่น่าตื่นเต้นเท่าการได้พบโรงเรียนม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยา โรงเรียนในฝันของฉันเอง...
และแล้วพวกเราเชียงราย Don't Cry ก็เดินทางมาถึง เราเดินทางไกลมากเพื่อมาพบโรงเรียนในฝัน ม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยา ความรู้สึกแรก เราได้รับพลังงานบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกเคว้งแปลกๆ มันเหมือนที่นี่เคยมีชีวิตแต่ตอนนี้มันเงียบเหงาจนน่าแปลกใจ เรารู้สึกว่่ามันต้องเกิดอะไรขึ้นกับที่นี่แน่ๆ เราต่างมองหน้ากันเงียบๆและเข้าใจกันผ่านสายตา สะพานที่ดูใกล้หักเต็มที่ สำนักงานที่ดูไม่ได้รับการใช้งานมานาน ประกอบกับแปลกผักรกร้าง เราก็อดคิดไม่ได้ว่า อะไรทำให้ที่นี่กลายเป็นแบบนี้ไปได้
“ ผิดหวังนะแต่ทำอะไรได้ละ เราเลือกเอง ”
“ ไม่มีอะไรตรงใจเราทุกอย่างหรอกเนอะ จริงไหม ”
เราคุยกับอาจารย์ระยะหนึ่งก็พบว่า ที่นี่มีปัญหาในด้านบุคลากร การเรียนการสอนรูปแบบนี้ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะสอนได้ การปรับตัวกับเด็กนักเรียนก็สำคัญไม่น้อย อาจารย์ไม่น้อยที่ต้องถอยก่อนกำหนด อาจารย์ทั้งสองเองก็มาทำงานที่นี่ได้ไม่นานนักแต่นั่นไม่ใช่ประเด็นทั้งหมด ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นคือการเปลี่ยนผ่านโรงเรียนทางเลือกแนวโรงเรียนนิเวศซึ่งอยู่ภายใต้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัชฌาศัยกลายเป็นโรงเรียนในระบบ ทุกอย่างถูกปรับเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมด ฉันไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงมันคืออะไรเพราะฉันไม่มีโอกาสคุยกับอาจารย์ใหญ่ แต่ถ้าเดาไม่ผิดปัญหาด้านงบประมาณคงมีส่วนไม่น้อยที่ต้องบีบให้โรงเรียนกลับเข้าสู่ระบบ อย่างน้อยก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่บ้าง
ฉันเองใจหายไม่น้อย ถ้าโรงเรียนต้องสูญเสียเอกลักษณ์บางอย่างไป การถูกครอบด้วยกฎระเบียบ อิสระในการเรียนรู้ก็กำลังเลื่อนหาย การเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัดกำลังจะถูกตีกรอบ การเรียนรู้ที่แตกต่างกำลังถูกลบเลือน ทุกอย่างกำลังย้อนกลับสู่ที่เดิม ที่ที่การศึกษามีเพียงตำรา การแข่งขันที่ไม่จบสิ้น การศึกษาที่ไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้แต่เป็นการศึกษาที่ขัดขวางการเรียนรู้ การศึกษาที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างในตัวบุคคลแต่คำนึงถึงการผลิตซ้ำที่ไม่ต่างอะไรจากโรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแต่ไม่เคยตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ฉันไม่รู้ว่าฉันมองโลกในแง่ร้ายไปไหม แต่ฉันไม่อยากให้มันเกิดขึ้น
“ การศึกษาต้องก้าวต่อไปต้องไม่มีใครที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง ”
“ม่อน แกเคยสดใสกว่านี้นะ
กลับมาสดใสอีกครั้งซิ ฉันรอมองอยู่นะ”
#สาธารณะศึกษา
#พื้นที่เรียนรู้สาธารณะ
#เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
#StorytellersInJourney
#midl2018
#InclusiveCities