Skip to main content

ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง เด็กสาวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดใต้สุดสยาม จะกำลังมุ่งหน้าสู่ดินแดนเหนือสุดสยามอย่าง ‘เชียงราย’ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากราวกับฝันไป เพราะฉันเพิ่งตัดสินใจและเริ่มวางแผนได้เพียงในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง รู้ตัวอีกที ฉันก็กำลังนั่งรถทัวร์มุ่งหน้าสู่เชียงรายเสียแล้ว

ก่อนวันเดินทางหนึ่งวัน ฉันได้มาเข้าร่วมเวิร์คช็อปโครงการ Storytellers in journey ที่เรือนร้อยฉนำ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป กิจกรรมดำเนินไปเรื่อยๆ จนฉันได้มารู้จักน้องผู้หญิงคนหนึ่ง คุยไปคุยมาก็รู้ว่าน้องเป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกัน น้องชื่อฟิตรี เป็นคนจังหวัดปัตตานี ส่วนฉันก็เป็นคนจังหวัดยะลา จึงทำให้เราสองคนสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงคราที่ต้องเลือกพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ฉันก็ถามว่าน้องเล็งที่ไหนไว้

“น้องอยากขึ้นเหนือ”

“พี่ก็อยากขึ้นเหนือเหมือนกัน”

โอ้โห ลงล็อคเป๊ะ เด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกัน แถมยังอยากขึ้นไปภาคเหนือเหมือนกันอีก เราสองคนจึงวางแผนจะขึ้นเหนือด้วยกัน แต่ด้วยอุปสรรคเรื่องเวลาที่มีจำกัดเราจึงลังเล เปลี่ยนแผนไปมาหลายต่อหลายครั้ง สุดท้ายก็เพิ่งได้ข้อสรุปว่า พวกเราจะขึ้นไปเชียงรายด้วยกัน! โดยมีสมาชิกเพิ่มมาอีก 3 คน นั่นคือ น้องแถ่นแทนแท๊น (น้องสะดวกให้เรียกแบบนี้ ฮ่าๆ) น้องจริงจัง และพี่วริศ ซึ่งเป็นพี่วิทยากรที่สอนพวกเราเกี่ยวกับการเล่าเรื่องนั่นเอง หลังจากนั้น พวกเราจึงได้ฤกษ์เริ่มออกเดินทาง ขึ้นรถทัวร์รอบหนึ่งทุ่มกว่าๆ และไปถึงเชียงรายประมาณหกโมงเช้าของอีกวัน

“ธรรมชาติเป็นครู รู้จักพึ่งตนเอง เก่งคิด กล้าทำดี มีวินัย” เป็นคำขวัญประจำโรงเรียนม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โรงเรียนแห่งนี้ไม่เหมือนกับโรงเรียนในระบบการศึกษาทั่วไปที่เน้นแต่การเรียนในห้องเรียน แต่ที่นี่เป็นศูนย์การศึกษาทางเลือกตามวิถีธรรมชาติ มุ่งเน้นสอนให้เด็กๆ พึ่งพาตนเอง เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงเพื่อเตรียมพร้อมสู่วิชาชีพ จบออกไปสามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ฉันและชาวแก๊งผู้ร่วมทริปเดินทางไปถึงโรงเรียนม่อนแสงดาวธรรมชาติวิทยาประมาณ 7 โมงเช้า ครูบอมออกมาต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่น และนำพวกเราไปยังที่พัก หลังจากเก็บของเรียบร้อยแล้ว เราก็ออกไปเดินสำรวจรอบ ๆ โรงเรียน มีอาคารและห้องหับมากมายที่ดูเหมือนจะเป็นห้องสำหรับทำกิจกรรม ทว่าเมื่อมองเข้าไปนั้น ฉันกลับรู้สึกว่าห้องเหล่านั้นไม่ได้ถูกใช้การมานานแล้ว แต่ฉันก็ยังเก็บความสงสัยไว้ในใจ

           ระหว่างที่พวกเรารอไปทำกิจกรรมกับน้อง ๆ เราก็พบอุปสรรคอย่างหนึ่ง นั่นคือ การที่น้อง ๆ ยังไม่ยอมเปิดใจให้พวกเรา พวกเราพยายามสานสัมพันธ์กับน้องๆ โดยการเข้าไปพูดคุยเล่นด้วยอยู่หลายครั้ง แต่ผลลัพธ์มักจบลงด้วยการที่คุยได้เพียงครู่เดียว แล้วน้องก็พากันเดินหนีเราไปหมด เหมือนกับเวลาที่เราเอาไม้ไปแหย่รังมด แล้วทำให้มดแตกรังกระจัดกระจายอย่างไรอย่างนั้น  มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตลกมากๆ และฉันจำได้ไม่ลืมเลยก็คือ ตอนนั้นพวกเราพากันไปปรึกษาพี่วริศว่าจะผูกไมตรีกับน้อง ๆ อย่างไรดี พี่วริศเหลือบไปเห็นว่ามีน้องคนหนึ่งกำลังเล่นกีต้าร์อยู่ท่ามกลางวงล้อมของเพื่อนๆ และกำลังร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน พี่วริศจึงคิดที่จะใช้ดนตรีในการสานสัมพันธ์ โดยอาสาช่วยตั้งสายกีต้าร์ให้น้อง แต่กลับกลายเป็นว่าพอกีต้าร์มาอยู่ในมือพี่วริศแล้ว น้องๆ ก็พากันเดินหนีไปอีก โดยทิ้งกีต้าร์ตัวนั้นไว้ให้พี่วริศแทน นึกย้อนกลับไปแล้วก็อดขำไม่ได้เหมือนกัน

          หลังจากที่รับประทานอาหารเช้าฝีมือครูหน่อยเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ตามน้อง ๆ ขึ้นไปเก็บหน่อไม้ในดงไผ่ เมื่อเสร็จกิจทั้งหลายพวกเราก็มีโอกาสได้มานั่งพูดคุยกับครูหน่อย ฉันจึงมีโอกาสถามในสิ่งที่สงสัยมาตลอดช่วงเช้า นั่นคือ ทำไมที่นี่ถึงดูเงียบเหงา ทั้ง ๆ ที่บรรดาอาคารต่าง ๆ ล้วนปลูกสร้างขึ้นมามากมาย พร้อมสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ครูหน่อยตอบพวกเราว่า ครูเองก็ไม่รู้รายละเอียดอะไรแน่ชัด เนื่องจากตอนนี้ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่แค่สองคน ทั้งครูหน่อยและครูบอมเพิ่งเข้ามาอยู่ที่นี่เพียงไม่กี่เดือน รู้แต่เพียงว่าหลายปีก่อนที่นี่เคยเจริญกว่านี้ แต่ช่วงหลังมานี้กลับซบเซาลงด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบแน่ชัด ครูหน่อยยังบอกอีกว่า น้อง ๆ ที่อยู่ที่นี่มาจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธ์ จึงอาจดื้อซนไปบ้าง ครูหน่อยเองกว่าจะปรับตัวให้เข้ากับน้อง ๆ ได้ก็ใช้เวลากว่าครึ่งเดือน มีครูหลายท่านที่เข้ามาสักพักแล้วก็ออกไป เพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเด็ก ๆ และสภาพแวดล้อมของที่นี่ได้

หลังจากที่ฟังครูหน่อยพูดจบ ฉันจึงเข้าใจทันทีว่า สิ่งนี้เองคือเหตุผลที่ทำให้น้อง ๆ ยังไม่กล้าเปิดใจให้พวกเรา เพราะเมื่อยามใดที่การจากลามาถึง มันก็มักจะพรากเอาความผูกพันของเราไปทุกที หลงเหลือไว้แต่เพียง ‘ความเดียวดาย’ จากการลาจาก และ ‘ความทรงจำ’ ที่เรามีต่อใครคนนั้น ฉันนับถือคุณครูทั้งสองท่านจริง ๆ ที่ยอมเสียสละตนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลเช่นนี้ และก็ดีใจเหลือเกินที่น้อง ๆ ได้พบกับครูที่ดีและเข้าใจพวกเขาอย่างครูหน่อยและครูบอม

ช่วงบ่าย ครูหน่อยและครูบอมให้พวกเราได้พักผ่อนตามอัธยาศัย เนื่องจากพวกเรามาอย่างกะทันหันไปหน่อย คุณครูจึงยังไม่ทันได้เตรียมกิจกรรมช่วงบ่ายไว้ พวกเรา 5 คนจึงปรึกษากันและลงความเห็นว่า เราเอาเวลาพักผ่อนช่วงนี้ไปเรียนรู้พื้นที่ในตัวเมืองเชียงรายกันดีกว่า! เมื่อคิดได้เช่นนั้นก็ไม่รอช้า ต่างคนต่างเตรียมตัวเข้าเมืองทันที

จากโรงเรียนม่อนแสงดาวไปตรงหน้าทางเข้าชุมชนนั้นดูเหมือนจะไม่ไกลมาก พวกเราเลยคิดว่า      เดินไปคุยไปเดี๋ยวก็คงถึงหน้าซอย แล้วค่อยไปขึ้นโดยสารตรงป้ายรถเมล์ จะได้ประหยัดค่าเดินทาง แต่เดินออกมาได้สักพักก็เริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ มันก็แอบไกลเหมือนกันนะ พวกเราจึงเปลี่ยนแผนมาลองโบกรถไปหน้าซอยแทน เราลงมือโบกคันแรก เป็นรถกระบะคันหนึ่ง มีคุณลุงกับคุณป้านั่งอยู่ข้างใน แต่หลังรถเต็มไปด้วยข้าวของต่าง ๆ เราจึงต้องถอดใจจากคันแรก แต่คุณลุงคุณป้าใจดีมาก ท่านบอกพวกเราด้วยว่า นี่ถ้าไม่มีของก็จะพาไปส่งแล้ว ฉันเลยลองถามไปว่า จากตรงนี้ไปหน้าซอยไกลมากไหม แล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่าอีก 7 กิโล!!!! ฟังไม่ผิดหรอกค่ะ 7 กิโลเมตรค่ะ ถ้าพวกเราไม่ถามคุณลุงคุณป้าคู่นี้คงได้เดินขาลากไปอีก 7 กิโล นี่แหละค่ะ       ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า อยากใช้ชีวิตวิถี Backpacker ผลเลยจบด้วยการโบกรถคันที่สอง คันนี้เป็นรถคุณลุงตำรวจใจดีคู่หนึ่ง กระบะท้ายรถก็ว่างพอดิบพอดี พวกเราจึงได้ติดรถคุณตำรวจไปยังที่หมาย ได้ลองใช้ชีวิตแบบ Backpacker สมใจอยากจริง ๆ

เมื่อมาถึงหน้าซอย พวกเราก็ไปนั่งรอรถโดยสารประจำทางที่ป้ายรถเมล์ แต่รอแล้วรอเล่า กินไอติมฆ่าเวลาก็แล้ว รถก็ยังไม่มาสักที จนเวลาผ่านไปเกือบสิบนาที ทุกคนเริ่มตกอยู่ในภาวะเซื่องซึม สุดท้ายจึงตัดสินใจโทรกลับไปง้อคุณลุงคนขับรถสองแถวให้มารับเหมือนเดิม

หลังจากนั้นพวกเราก็ได้ไปตะลุยสถานที่ที่เป็นแลนมาร์คของเชียงราย นั่นคือ วัดร่องขุ่น เป็นวัดที่มีศิลปะงดงามวิจิตรบรรจง ซึ่งออกแบบก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าไปสู่เชียงรายไนท์บาซาร์ ซึ่งเป็นตลาดที่เน้นขายสินค้าพื้นเมือง สินค้าแฮนเมดต่าง ๆ นอกจากนี้ภายในบริเวณยังมีร้านอาหาร เวทีการแสดง รำไทย ดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ศิลปะแบบล้านนาเอาไว้ด้วย หลังจากดื่มด่ำกับบรรยากาศยามค่ำคืน และได้ของฝากกลับไปคนละเล็กคนละน้อยที่ไนท์บาร์ซาร์แล้ว พวกเราก็ไปปิดท้ายด้วยการไปยืนชมหอนาฬิกาเปลี่ยนสี ก่อนมุ่งหน้ากลับสู่ม่อนแสงดาวพวกเราก็ไม่ลืมที่จะซื้อขนมไปฝากน้อง ๆ ด้วย       

          เมื่อเรากลับมาถึงโรงเรียนในช่วงค่ำ ก็พบว่าครูบอม ครูหน่อยและน้อง ๆ กำลังช่วยกันก่อไฟและเผาข้าวหลามกันอย่างสนุกสนาน พวกเราไม่รอช้า รีบเข้าไปร่วมแจมด้วยทันที แล้วก็ไม่ลืมที่จะนำขนมนมเนยที่ซื้อมายื่นให้กับน้อง ๆ เมื่อข้าวหลามสุกดี น้อง ๆ ก็ช่วยกันผ่าแล้วนำมาให้พวกเราชิม เมื่อลองชิมก็รู้สึกว่าอร่อยดี รสชาติและรสสัมผัสคล้าย ๆ กับข้าวเหนียว แต่มีความแห้งกว่าเล็กน้อย เคี้ยวไปเรื่อย ๆ จะได้กลิ่นอ่อน ๆ ของเยื่อไผ่ที่มาจากกระบอกข้าวหลาม ครูหน่อยบอกฉันว่าข้าวหลามครั้งนี้ไม่ได้ใส่น้ำกะทิ อาจจะจืดหน่อย แต่เหมาะกับคนไดเอทนะ ฉันจึงหยิบเข้าปากไปเรื่อย ๆ จนรู้ตัวอีกทีก็เริ่มจัดการกระบอกที่สองเสียแล้ว

          พวกเรานั่งคุย นั่งกินข้าวหลามกันไปสักพัก ครูบอมก็เรียกให้น้องผู้ชายคนที่เล่นกีต้าร์ได้ ออกมาเล่นให้พวกเราฟัง มารู้ทีหลังว่าชื่อ น้องจัมโบ้ (คนเดียวกับคนที่เอากีต้าร์ให้พี่วริศ) น้องมีท่าทีอิดออดด้วยความเขินอายอยู่สักพัก แต่สุดท้ายก็เดินไปหยิบกีต้าร์และออกมาพร้อมน้องผู้หญิงอีกสองสามคน เมื่อน้อง ๆ เริ่มบรรเลงความสามารถ ฉันก็อดรู้สึกทึ่งในความสามารถของพวกเขาไม่ได้ เพราะน้องจัมโบ้ก็เล่นกีต้าร์ได้ดี ส่วนน้องผู้หญิงก็ร้องเพลงได้ไพเราะ บางคนก็ร้องเก่งกว่าพวกเราเสียอีก  พวกเราทุกคนพากันร้องตามบ้าง ขอเพลงจากน้อง ๆ บ้าง นั่งโยกย้ายเคาะจังหวะประกอบตามกันอย่างสนุกสนาน และคนที่ดูแล้วน่าจะสนุกที่สุดก็คือ น้องแถ่นแทนแท๊น ที่กำลังเคาะจังหวะอย่างเมามัน ประหนึ่งว่าตนเป็นมือกลองให้กับวงของน้อง ๆ อย่างไรอย่างนั้น ในที่สุดแล้วดนตรีก็กลายเป็นสายใยที่เชื่อมความสัมพันธ์ของพวกเรากับน้อง ๆ เอาไว้ได้จริง ๆ …

 

“สายลมหนาว พัดโบกโบยพลิ้วดูแล้วสวยใสใส
เย็นลมเย็นไหวไหวสวยงาม
บ้านอยู่ไกลทุรกันดาร โรงเรียนอยู่หลังเขา
มีแต่เราพวกเราไม่มีใคร

โรงเรียนของหนู
อยู่ไกล ไกล๊ ไกล
อยากให้คุณคุณหันมอง
โรงเรียนของหนู…”

น้อง ๆ บอกลาค่ำคืนนี้ไปด้วยเพลง ‘โรงเรียนของหนู’ ของ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ทุกคำร้องและทำนองที่เปล่งออกมา ฉันรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่ส่งตรงออกมาจากใจของน้อง ๆ มันเหมือนกับว่าพวกเขากำลังบอกเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านบทเพลงนี้

ถึงแม้คืนนี้จะไร้แสงจากดวงดาว แต่แสงระยิบระยับที่เปี่ยมไปด้วยความสุขในดวงตาของน้อง ๆ กลับทำให้ฉันรู้สึกอบอุ่นหัวใจ ฉันมั่นใจว่าพวกเราทุกคนคงไม่มีทางลืมความรู้สึก และบรรยากาศของค่ำคืนนี้ไปได้อย่างแน่นอน

"เพราะเราทุกคน ไม่สามารถปฏิเสธการจากลาได้"

แต่เราสามารถเลือกได้ว่า เราจะสร้างความทรงจำเหล่านั้นอย่างไร

ให้เป็นสิ่งที่น่าระลึกถึง ในวันที่เราต้องพบกับการจากลาอีกครั้งหนึ่ง

 

และแล้วเช้าวันแห่งการจากลาก็มาถึง พวกเรากับน้อง ๆ วาดรูปลงบนเฟรมแลกกันเป็นที่ระลึก ครูบอม ครูหน่อย และน้อง ๆ พากันมาส่งเราที่รถสองแถว ถึงแม้ว่าฉันจะไม่ชอบเลยที่จะต้องโบกมือล่ำลาใคร   ไม่ชอบเลยที่ต้องแยกย้ายแล้วอาจจะไม่ได้เจอกันอีก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากพูดว่า "โชคดีนะ ไว้เจอกันใหม่" (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรเหมือนกัน)

 

การเดินทางในเชียงรายครั้งนี้ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้หรอกค่ะ หลังจากที่พวกเราออกเดินทางมาจากโรงเรียนม่อนแสงดาว พวกเราก็มุ่งหน้าไปยังไร่บุญรอด หรือที่รู้จักกันในนามว่า สิงห์ปาร์ค ไปชมไร่ชา จิบชา  และดูบรรดาสัตว์น้อยใหญ่อย่างเพลิดเพลิน จากนั้นก็พากันไปต่อที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ไปวัดร่องเสือเต้น (วัดสีน้ำเงิน) และมาจบลงที่ถนนคนเดิน ที่นี่มีร้านรวงขายสินค้าและอาหารละลานตาไปหมด เรียกได้ว่าเดินกันจนขาลากทีเดียว และที่ถนนคนเดินนี่เองที่น้องฟิตรีได้กินข้าวเป็นมื้อกับเขาสักที หลังจากที่กินแต่ขนมปังกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเกือบ 2 วัน เพราะน้องเป็นชาวมุสลิมจึงต้องกินอาหารที่ปรุงโดยชาวมุสลิม หรือเป็นอาหารที่มีเครื่องหมายฮาลาล (เครื่องหมายรับรองการบริโภคสำหรับชาวมุสลิม) รับรองเท่านั้น

หลังจากที่กินกันจนอิ่มแปล้ พวกเราทั้งห้าออกมาจากถนนคนเดินเป็นเวลาเกือบหนึ่งทุ่ม และมาถึง บขส. เชียงรายในเวลาไม่นาน ถึงเวลาที่เราต้องบอกลากันแล้วสินะ ขณะที่รถทัวร์เคลื่อนที่ออกไปอย่างช้า ๆ แต่ใจเจ้ากรรมยังคงส่งเสียงร้องว่าอยากอยู่ที่นี่ต่อ คงตกหลุมรักเข้าจริง ๆ แล้วล่ะ… เชียงราย

 

บล็อกของ Storytellers

Storytellers
 วันที่ 08/11/2018 – 09/11/2018 เวลา 3.53 น.
Storytellers
กาลครั้งหนึ่ง มีเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อว่า น้องสาว เธอได้เป็นหนึ่งใน 20 คน ที่โชคดีได้ออกเดินทางไปที่ต่างๆ แต่มีกฎว่าเลือกได้เพียงแค่ 1 ที่ น้องสาวเลือกสถานที่ไกลที่สุด เท่าที่จะไกลได้ ในการเดินทางน้องสาวจะต้องขึ้นยานไป โดยที่ในยานจะมีลูกเรือค่อยให้บริการ และลูกเรือคนนี้จะพูดทุกครั้งที่มีคนใหม่มา
Storytellers
ผมเป็นคนๆหนึ่งที่ชอบในความท้าทาย ชอบการหาประสบการณ์และรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เจอสิ่งใหม่ๆ เด็กใต้คนหนึ่งที่เคยสุขสบายมาก่อนเที่ยวไหนก็ได้ที่อยากไป รู้สึกว่าปัจจัยต่างๆทำให้เราเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะมีกำลังพอที่พาตัวเองไปสู่การเรียนรู้ที่มันหลากหลาย แต่รู้ไหมว่าเมื่อโช
Storytellers
ในยุคนี้มันคงถึงเวลาต้องยอมรับได้แล้ว ว่าการศึกษาที่ให้ผู้เรียนเป็นแค่ผู้ฟัง แล้วเอาผลคะแนนเป็นตัววัดนั้น ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนเสมอไปหรอก ผมเองก็เป็นคนหนึ่ง ที่เกรดไม่ได้ตีเอาซะเลย แต่เชื่อผมเถอะ ว่ามนุษย์ทุกคนเติบโตด้วยการเรียนรู้มากกว่าอายุอยู่แล้ว หลังจากได้ลงพื้นที่การเรียนรู้บนดอยไปแล้ว คำ
Storytellers
 หลังจากส่งบทความไปกับทาง Story tellers in journey ก็ไม่ได้สมหวังตั้งแต่แรกอย่างเพื่อนๆ ทั้ง 19 คนที่ได้ไป Workshop กันหรอก ฮ่าๆ แต่หลังจากนั้นก็มี G-mail เด้งมาจากพี่ตุ้ม จำได้ว่าตอนนั้นกำลังพรีเซ้นท์งานอยู่ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน ว่ามีคนสละสิทธิ์ และให้เราได้ไปเข้าร่วมกิจกรรม และบังเอิญตรงที
Storytellers
 หลังจากจบทริปไปเชียงรายในครั้งนั้น ฉันพยายามนั่งครุ่นคิดอยู่นานว่าจะเขียน จะเล่าเรื่อง จะถ่ายทอดเรื่องราวอย่างไรให้คนที่ได้อ่านรู้สึกอินไปกับฉัน
Storytellers
ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง เด็กสาวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดใต้สุดสยาม จะกำลังมุ่งหน้าสู่ดินแดนเหนือสุดสยามอย่าง ‘เชียงราย’ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากราวกับฝันไป เพราะฉันเพิ่งตัดสินใจและเริ่มวางแผนได้เพียงในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง รู้ตัวอีกที ฉันก็กำลังนั่งรถทัวร์มุ่งหน้าสู่เชียงรายเสียแล้
Storytellers
 "นี่เป็นประสบการณ์ไปต่างจังหวัดเองครั้งแรกของผม" 
Storytellers
 “เอ๊ะ! มีอีเมลอะไรส่งมาที่กล่องข้อความ”       อีเมลฉบับนั้นมีใจความว่า “ยินดีด้วย คุณได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 21 ของโครงการ storytellers in journey”
Storytellers
      การออกเดินทางครั้งนี้ เราได้มีจุดหมายที่ ม่อนแสงดาว จังหวัดเชียงราย เรากำลังแบกเป้ที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมที่พร้อมจะเรียนรู้อย่างเต็มที่
Storytellers
ฉันเห็น I ฉันคิด โดย อดิศักดิ์  โกเมฆฉันเห็นฉันคิด
Storytellers
ศูนย์การเรียนที่ผมเรียนชื่อ ศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า ชื่อโรงเรียนของผมนั้นเป็นภาษาปกาเกอญอแปลเป็นภาษาไทยว่า“โรงเรียนวิถีชีวิต” โรงเรียนขอผมนั้นตั้งอยู่บนดอยที่หมู่บ้านสบลานซึ่งศูนย์การเรียนนั้นก็มีสิทธิเหมือนโรงเรียนสามารถออกวุฒิการศึกษาได้แต่มันมีสิ่งที่ไม่เหมือนโรงเรียนอยู่นั้นก็คือการจัดกา