Skip to main content

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท


ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทย พื้นที่ที่เกิดความเสียหายเป็นแห่งแรก คืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สุดท้ายคืออำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ บางคนคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำโขงท่วมครั้งนี้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างมากมายขนาดนี้



27_8_01


หากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏการณ์น้ำโขงหลากท่วมในทุกพื้นที่ริมฝั่งโขงเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงคือน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ กับปี ๒๕๑๔ และมีอีกหลายครั้งที่เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามริมน้ำโขงทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่น้ำโขงหลากท่วมมักจะเกิดขึ้นจากฝนตกลงมาอย่างหนักทั้งในประเทศต้นน้ำ และประเทศท้ายน้ำ


จากความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงหลายคนโดยเฉพาะที่อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม จังหวัดเลย และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย คำบอกเล่าของชาวบ้านต่างเป็นคำบอกเล่าเดียวกันคือ น้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ และในปีอื่นๆ จะมาจากฝนตกหนัก ที่สำคัญคือน้ำจะท่วมมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาขา ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำโขงที่หนุนสูงขึ้น จากนั้นน้ำก็เอ่อท่วมเป็นรัศมีวงกว้างออกไป


พ่อสงคราม อินทะปัญญา ชาวบ้านปากเนียม อำเภอปากชม จังหวัดเลยได้บอกเล่าเรื่องน้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ ให้ฟังว่า “ในปี ๐๙ นี่น้ำมันจะท่วมมาจากห้วยก่อน เพราะฝนตกหลายวัน อย่างน้ำเลยก็มาจากภูหลวงแล้วท่วมเมืองเลยก่อน ต้นน้ำมันท่วมก่อน จากน้ำก็ไหลออกมาท่วมหมู่บ้านตรงปากน้ำที่ติดแม่น้ำโขง น้ำจากแม่น้ำโขงเริ่มหนุนสูงก็กลายเป็นว่าน้ำท่วมใหญ่เลย”


แล้วน้ำที่ท่วมในอีก ๔๒ ปีต่อมา (ปี ๒๕๕๑) หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ แตกต่างกันอย่างไร?จากการประมวลบทสรุปของหลายพื้นที่พบข้อสังเกตบางประการถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะข้อสรุปของนายบูรฉัตร บัวสุวรรณ เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากฝนตกหนักที่ส่งผลมาจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านหลายประเทศโดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ลาว เวียดนาม รวมทั้งภาคเหนือของไทย


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๘ ส..ที่ผ่านมา พบฝนสะสมในปริมาณมากจนเสี่ยงต่อสภาวะน้ำท่วมกระจายในตอนบนของแม่น้ำโขง ซึ่งยืนยันว่าระดับน้ำโขงที่สูงผิดปกติในครั้งนี้ มาจากปริมาณฝนที่มีมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ระดับน้ำต้องทรงตัวอยู่หลายวัน ไม่ใช่ลดแบบฮวบฮาบแบบที่เกิดขึ้น (สำนักข่าวไทย ๑๙ ส.. ๕๑) และจากแถลงการณ์ของ MRC เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคมระบุว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพายุเขตร้อนคามูริ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และน้ำโขงที่เวียงจัน ๕๐ % มาจากจีน ที่เหลือมาจากน้ำสาขา และระบุอย่างชัดเจนว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมิได้เกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งมีปริมาณกักเก็บน้ำน้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบต่ออุทกวิทยาในแม่น้ำโขง


แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลต่างๆ ที่มีออกมาจาก MRC นั้นจะสวนทางกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณน้ำฝน เพราะชาวบ้านที่อยู่ในริมฝั่งโขงหลายพื้นที่ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกลงมากแม้จะมีพายุ และฝนตกขนาดนี้ไม่สวามารถทำให้น้ำท่วมได้ แต่น้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง และไหลเข้าท่วมไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง และไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขา ลำห้วยสาขาทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง


27_8_02


นอกจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้มาจากแม่น้ำโขงเอ่อท่วมเป็นสำคัญ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตบางประการถึงเหตุผลที่
MRC ให้มาเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และระบบเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมที่ใช้ไม่ได้จริง โดยในแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงได้ระบุว่า MRC เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาล ๔ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีหน้าที่แก้ตัวแทนเขื่อนจีน แต่ควรประสานงานกับเครือข่ายสถานีวัดน้ำ โดยเฉพาะสถานีจิ่งหง และแจ้งเตือนภัยแก่สาธารณะทันที

ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา MRC ทำเพียงประกาศเตือนภัยทางเว็บไซต์ จึงกล่าวได้ว่า MRC มีข้อมูลระดับน้ำและตระหนักดีว่า น้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนในจีนจะหลากท่วมพื้นที่ตอนล่าง แต่กลับไม่ประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมตัวป้องกันความเสียหาย นับตั้งแต่มีเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงในปี ๒๕๓๙ จีนได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า เขื่อนในจีนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก มิได้มาจากน้ำสาขาในไทยหรือลาว ตรงกับที่หนังสือพิมพ์เซียงไฮ้เดลี่ วันที่ ๑๓ สิงหาคม รายงานข่าวความเสียหายจากพายุในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง รายงานข่าวระบุว่าประชาชนกว่า ๑,๒๕๐,๐๐๐ คน ใน ๑๑ เมือง ได้รับความเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิต ๔๐ คน แม้แต่ในประเทศตัวเองแท้ๆ คำพูดที่จีนกล่าวอ้างต่อสาธารณะว่า เขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมก็ไม่ได้เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด


นี่คือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบบเตือนภัย...


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำจากตอนบนในจีน มีนัยยะสำคัญต่อปริมาณน้ำและอุทกวิทยาในแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย แต่ระบบเตือนภัยที่มีอยู่นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


นอกจากออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้แล้วทางเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้มีข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้ MRC ตอบคำถามของสาธารณะ ว่าปริมาณน้ำจากทางตอนบน โดยเฉพาะจากเขื่อน ๓ แห่งในจีน จะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำตั้งแต่เขื่อนม่านวาน เขื่อนต้าเฉาซาน และเขื่อนจิ่งหง ทั้งนี้เพื่อให้มีการเตรียมการป้องกันภัยได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของ MRC เรื่องมีการแจ้งเตือนจากจีนมาก่อนหน้า มิเช่นนั้นจะเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับ


แถลงการณ์ของ MRC หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าเขื่อนในจีนได้มีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ การกล่าวเพียงว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในจีนมีความจุน้อยเกินไปที่จะควบคุมอุทกวิทยาของน้ำโขงตอนล่าง เป็นการพูดที่น่าอับอายมากที่สุด บนความพิบัติและความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในขณะนี้


เหตุการณ์น้ำโขงท่วมในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ คงจะเป็นบทเรียนให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ความจริงหลังน้ำลดที่ต้องรีบทำคือ ทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องแสวงหาแนวทางในการจัดการน้ำ การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดฝนตกหนัก และนำไปสู่สภาวะน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาต้องไปภาระของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไม่ใช่เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป


การแสวงหาแนวทางในการทำงานร่วมกันในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ก็คงต้องพึ่งพิงการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในระดับนโยบาย และประชาชน เพื่อก้าวไปสู่การวางรากฐานแนวทางในการที่จะให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้อยู่ร่วมกัน และใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างสันติอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน เพราะไม่ว่าเราจะเป็นพลเมืองของประเทศใดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราล้วนต้องได้ร่วมชะตากรรมที่เกิดขึ้นอันเดียวกัน เพราะเหตุการณ์น้ำโขงท่วมครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…