Skip to main content

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท


ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทย พื้นที่ที่เกิดความเสียหายเป็นแห่งแรก คืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สุดท้ายคืออำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ บางคนคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำโขงท่วมครั้งนี้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างมากมายขนาดนี้



27_8_01


หากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏการณ์น้ำโขงหลากท่วมในทุกพื้นที่ริมฝั่งโขงเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงคือน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ กับปี ๒๕๑๔ และมีอีกหลายครั้งที่เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามริมน้ำโขงทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่น้ำโขงหลากท่วมมักจะเกิดขึ้นจากฝนตกลงมาอย่างหนักทั้งในประเทศต้นน้ำ และประเทศท้ายน้ำ


จากความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงหลายคนโดยเฉพาะที่อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม จังหวัดเลย และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย คำบอกเล่าของชาวบ้านต่างเป็นคำบอกเล่าเดียวกันคือ น้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ และในปีอื่นๆ จะมาจากฝนตกหนัก ที่สำคัญคือน้ำจะท่วมมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาขา ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำโขงที่หนุนสูงขึ้น จากนั้นน้ำก็เอ่อท่วมเป็นรัศมีวงกว้างออกไป


พ่อสงคราม อินทะปัญญา ชาวบ้านปากเนียม อำเภอปากชม จังหวัดเลยได้บอกเล่าเรื่องน้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ ให้ฟังว่า “ในปี ๐๙ นี่น้ำมันจะท่วมมาจากห้วยก่อน เพราะฝนตกหลายวัน อย่างน้ำเลยก็มาจากภูหลวงแล้วท่วมเมืองเลยก่อน ต้นน้ำมันท่วมก่อน จากน้ำก็ไหลออกมาท่วมหมู่บ้านตรงปากน้ำที่ติดแม่น้ำโขง น้ำจากแม่น้ำโขงเริ่มหนุนสูงก็กลายเป็นว่าน้ำท่วมใหญ่เลย”


แล้วน้ำที่ท่วมในอีก ๔๒ ปีต่อมา (ปี ๒๕๕๑) หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ แตกต่างกันอย่างไร?จากการประมวลบทสรุปของหลายพื้นที่พบข้อสังเกตบางประการถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะข้อสรุปของนายบูรฉัตร บัวสุวรรณ เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากฝนตกหนักที่ส่งผลมาจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านหลายประเทศโดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ลาว เวียดนาม รวมทั้งภาคเหนือของไทย


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๘ ส..ที่ผ่านมา พบฝนสะสมในปริมาณมากจนเสี่ยงต่อสภาวะน้ำท่วมกระจายในตอนบนของแม่น้ำโขง ซึ่งยืนยันว่าระดับน้ำโขงที่สูงผิดปกติในครั้งนี้ มาจากปริมาณฝนที่มีมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ระดับน้ำต้องทรงตัวอยู่หลายวัน ไม่ใช่ลดแบบฮวบฮาบแบบที่เกิดขึ้น (สำนักข่าวไทย ๑๙ ส.. ๕๑) และจากแถลงการณ์ของ MRC เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคมระบุว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพายุเขตร้อนคามูริ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และน้ำโขงที่เวียงจัน ๕๐ % มาจากจีน ที่เหลือมาจากน้ำสาขา และระบุอย่างชัดเจนว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมิได้เกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งมีปริมาณกักเก็บน้ำน้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบต่ออุทกวิทยาในแม่น้ำโขง


แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลต่างๆ ที่มีออกมาจาก MRC นั้นจะสวนทางกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณน้ำฝน เพราะชาวบ้านที่อยู่ในริมฝั่งโขงหลายพื้นที่ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกลงมากแม้จะมีพายุ และฝนตกขนาดนี้ไม่สวามารถทำให้น้ำท่วมได้ แต่น้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง และไหลเข้าท่วมไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง และไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขา ลำห้วยสาขาทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง


27_8_02


นอกจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้มาจากแม่น้ำโขงเอ่อท่วมเป็นสำคัญ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตบางประการถึงเหตุผลที่
MRC ให้มาเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และระบบเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมที่ใช้ไม่ได้จริง โดยในแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงได้ระบุว่า MRC เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาล ๔ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีหน้าที่แก้ตัวแทนเขื่อนจีน แต่ควรประสานงานกับเครือข่ายสถานีวัดน้ำ โดยเฉพาะสถานีจิ่งหง และแจ้งเตือนภัยแก่สาธารณะทันที

ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา MRC ทำเพียงประกาศเตือนภัยทางเว็บไซต์ จึงกล่าวได้ว่า MRC มีข้อมูลระดับน้ำและตระหนักดีว่า น้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนในจีนจะหลากท่วมพื้นที่ตอนล่าง แต่กลับไม่ประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมตัวป้องกันความเสียหาย นับตั้งแต่มีเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงในปี ๒๕๓๙ จีนได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า เขื่อนในจีนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก มิได้มาจากน้ำสาขาในไทยหรือลาว ตรงกับที่หนังสือพิมพ์เซียงไฮ้เดลี่ วันที่ ๑๓ สิงหาคม รายงานข่าวความเสียหายจากพายุในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง รายงานข่าวระบุว่าประชาชนกว่า ๑,๒๕๐,๐๐๐ คน ใน ๑๑ เมือง ได้รับความเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิต ๔๐ คน แม้แต่ในประเทศตัวเองแท้ๆ คำพูดที่จีนกล่าวอ้างต่อสาธารณะว่า เขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมก็ไม่ได้เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด


นี่คือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบบเตือนภัย...


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำจากตอนบนในจีน มีนัยยะสำคัญต่อปริมาณน้ำและอุทกวิทยาในแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย แต่ระบบเตือนภัยที่มีอยู่นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


นอกจากออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้แล้วทางเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้มีข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้ MRC ตอบคำถามของสาธารณะ ว่าปริมาณน้ำจากทางตอนบน โดยเฉพาะจากเขื่อน ๓ แห่งในจีน จะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำตั้งแต่เขื่อนม่านวาน เขื่อนต้าเฉาซาน และเขื่อนจิ่งหง ทั้งนี้เพื่อให้มีการเตรียมการป้องกันภัยได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของ MRC เรื่องมีการแจ้งเตือนจากจีนมาก่อนหน้า มิเช่นนั้นจะเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับ


แถลงการณ์ของ MRC หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าเขื่อนในจีนได้มีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ การกล่าวเพียงว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในจีนมีความจุน้อยเกินไปที่จะควบคุมอุทกวิทยาของน้ำโขงตอนล่าง เป็นการพูดที่น่าอับอายมากที่สุด บนความพิบัติและความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในขณะนี้


เหตุการณ์น้ำโขงท่วมในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ คงจะเป็นบทเรียนให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ความจริงหลังน้ำลดที่ต้องรีบทำคือ ทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องแสวงหาแนวทางในการจัดการน้ำ การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดฝนตกหนัก และนำไปสู่สภาวะน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาต้องไปภาระของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไม่ใช่เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป


การแสวงหาแนวทางในการทำงานร่วมกันในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ก็คงต้องพึ่งพิงการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในระดับนโยบาย และประชาชน เพื่อก้าวไปสู่การวางรากฐานแนวทางในการที่จะให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้อยู่ร่วมกัน และใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างสันติอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน เพราะไม่ว่าเราจะเป็นพลเมืองของประเทศใดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราล้วนต้องได้ร่วมชะตากรรมที่เกิดขึ้นอันเดียวกัน เพราะเหตุการณ์น้ำโขงท่วมครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’