Skip to main content

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท


ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทย พื้นที่ที่เกิดความเสียหายเป็นแห่งแรก คืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สุดท้ายคืออำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ บางคนคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำโขงท่วมครั้งนี้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างมากมายขนาดนี้



27_8_01


หากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏการณ์น้ำโขงหลากท่วมในทุกพื้นที่ริมฝั่งโขงเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงคือน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ กับปี ๒๕๑๔ และมีอีกหลายครั้งที่เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามริมน้ำโขงทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่น้ำโขงหลากท่วมมักจะเกิดขึ้นจากฝนตกลงมาอย่างหนักทั้งในประเทศต้นน้ำ และประเทศท้ายน้ำ


จากความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงหลายคนโดยเฉพาะที่อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม จังหวัดเลย และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย คำบอกเล่าของชาวบ้านต่างเป็นคำบอกเล่าเดียวกันคือ น้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ และในปีอื่นๆ จะมาจากฝนตกหนัก ที่สำคัญคือน้ำจะท่วมมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาขา ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำโขงที่หนุนสูงขึ้น จากนั้นน้ำก็เอ่อท่วมเป็นรัศมีวงกว้างออกไป


พ่อสงคราม อินทะปัญญา ชาวบ้านปากเนียม อำเภอปากชม จังหวัดเลยได้บอกเล่าเรื่องน้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ ให้ฟังว่า “ในปี ๐๙ นี่น้ำมันจะท่วมมาจากห้วยก่อน เพราะฝนตกหลายวัน อย่างน้ำเลยก็มาจากภูหลวงแล้วท่วมเมืองเลยก่อน ต้นน้ำมันท่วมก่อน จากน้ำก็ไหลออกมาท่วมหมู่บ้านตรงปากน้ำที่ติดแม่น้ำโขง น้ำจากแม่น้ำโขงเริ่มหนุนสูงก็กลายเป็นว่าน้ำท่วมใหญ่เลย”


แล้วน้ำที่ท่วมในอีก ๔๒ ปีต่อมา (ปี ๒๕๕๑) หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ แตกต่างกันอย่างไร?จากการประมวลบทสรุปของหลายพื้นที่พบข้อสังเกตบางประการถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะข้อสรุปของนายบูรฉัตร บัวสุวรรณ เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากฝนตกหนักที่ส่งผลมาจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านหลายประเทศโดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ลาว เวียดนาม รวมทั้งภาคเหนือของไทย


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๘ ส..ที่ผ่านมา พบฝนสะสมในปริมาณมากจนเสี่ยงต่อสภาวะน้ำท่วมกระจายในตอนบนของแม่น้ำโขง ซึ่งยืนยันว่าระดับน้ำโขงที่สูงผิดปกติในครั้งนี้ มาจากปริมาณฝนที่มีมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ระดับน้ำต้องทรงตัวอยู่หลายวัน ไม่ใช่ลดแบบฮวบฮาบแบบที่เกิดขึ้น (สำนักข่าวไทย ๑๙ ส.. ๕๑) และจากแถลงการณ์ของ MRC เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคมระบุว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพายุเขตร้อนคามูริ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และน้ำโขงที่เวียงจัน ๕๐ % มาจากจีน ที่เหลือมาจากน้ำสาขา และระบุอย่างชัดเจนว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมิได้เกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งมีปริมาณกักเก็บน้ำน้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบต่ออุทกวิทยาในแม่น้ำโขง


แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลต่างๆ ที่มีออกมาจาก MRC นั้นจะสวนทางกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณน้ำฝน เพราะชาวบ้านที่อยู่ในริมฝั่งโขงหลายพื้นที่ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกลงมากแม้จะมีพายุ และฝนตกขนาดนี้ไม่สวามารถทำให้น้ำท่วมได้ แต่น้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง และไหลเข้าท่วมไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง และไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขา ลำห้วยสาขาทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง


27_8_02


นอกจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้มาจากแม่น้ำโขงเอ่อท่วมเป็นสำคัญ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตบางประการถึงเหตุผลที่
MRC ให้มาเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และระบบเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมที่ใช้ไม่ได้จริง โดยในแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงได้ระบุว่า MRC เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาล ๔ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีหน้าที่แก้ตัวแทนเขื่อนจีน แต่ควรประสานงานกับเครือข่ายสถานีวัดน้ำ โดยเฉพาะสถานีจิ่งหง และแจ้งเตือนภัยแก่สาธารณะทันที

ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา MRC ทำเพียงประกาศเตือนภัยทางเว็บไซต์ จึงกล่าวได้ว่า MRC มีข้อมูลระดับน้ำและตระหนักดีว่า น้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนในจีนจะหลากท่วมพื้นที่ตอนล่าง แต่กลับไม่ประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมตัวป้องกันความเสียหาย นับตั้งแต่มีเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงในปี ๒๕๓๙ จีนได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า เขื่อนในจีนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก มิได้มาจากน้ำสาขาในไทยหรือลาว ตรงกับที่หนังสือพิมพ์เซียงไฮ้เดลี่ วันที่ ๑๓ สิงหาคม รายงานข่าวความเสียหายจากพายุในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง รายงานข่าวระบุว่าประชาชนกว่า ๑,๒๕๐,๐๐๐ คน ใน ๑๑ เมือง ได้รับความเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิต ๔๐ คน แม้แต่ในประเทศตัวเองแท้ๆ คำพูดที่จีนกล่าวอ้างต่อสาธารณะว่า เขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมก็ไม่ได้เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด


นี่คือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบบเตือนภัย...


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำจากตอนบนในจีน มีนัยยะสำคัญต่อปริมาณน้ำและอุทกวิทยาในแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย แต่ระบบเตือนภัยที่มีอยู่นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


นอกจากออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้แล้วทางเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้มีข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้ MRC ตอบคำถามของสาธารณะ ว่าปริมาณน้ำจากทางตอนบน โดยเฉพาะจากเขื่อน ๓ แห่งในจีน จะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำตั้งแต่เขื่อนม่านวาน เขื่อนต้าเฉาซาน และเขื่อนจิ่งหง ทั้งนี้เพื่อให้มีการเตรียมการป้องกันภัยได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของ MRC เรื่องมีการแจ้งเตือนจากจีนมาก่อนหน้า มิเช่นนั้นจะเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับ


แถลงการณ์ของ MRC หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าเขื่อนในจีนได้มีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ การกล่าวเพียงว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในจีนมีความจุน้อยเกินไปที่จะควบคุมอุทกวิทยาของน้ำโขงตอนล่าง เป็นการพูดที่น่าอับอายมากที่สุด บนความพิบัติและความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในขณะนี้


เหตุการณ์น้ำโขงท่วมในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ คงจะเป็นบทเรียนให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ความจริงหลังน้ำลดที่ต้องรีบทำคือ ทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องแสวงหาแนวทางในการจัดการน้ำ การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดฝนตกหนัก และนำไปสู่สภาวะน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาต้องไปภาระของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไม่ใช่เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป


การแสวงหาแนวทางในการทำงานร่วมกันในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ก็คงต้องพึ่งพิงการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในระดับนโยบาย และประชาชน เพื่อก้าวไปสู่การวางรากฐานแนวทางในการที่จะให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้อยู่ร่วมกัน และใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างสันติอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน เพราะไม่ว่าเราจะเป็นพลเมืองของประเทศใดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราล้วนต้องได้ร่วมชะตากรรมที่เกิดขึ้นอันเดียวกัน เพราะเหตุการณ์น้ำโขงท่วมครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
หากท่วงทำนองของสายน้ำในฤดูฝนคือท่วงทำนองของเพลงร๊อคที่โหมกระหน่ำดุเดือดด้วยเสียงกระเดื่องกลองสลับกับเสียงเบสหนักๆ ปนกับเสียงร้องอันแหลมคม และสูงปรี้ดของนักร้อง สำหรับท่วงทำนองของสายน้ำในหน้าแล้งที่อยู่ในฤดูหนาว ท่วงทำนองของสายน้ำอันปกคลุมไปด้วยหมอกหนาวคงเป็นเสียงเพลงบูลล์หม่นเศร้า และในช่วงหน้าแล้ง ท่วงทำนองของสายน้ำคงเป็นท่วงทำนองของเพลงแคนอันเศร้าสร้อยอ้อยอิ่ง ชวนให้คิดถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง และดินแตกระแหงของผืนดินอีสาน ฤดูแต่ละฤดูที่ผ่านไป หากแม่น้ำพูดได้ น้ำคงอยากบอกอะไรกับมนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมากที่สุด อย่างน้อยคนที่ผิดหวังพลาดหวัง…
สุมาตร ภูลายยาว
ในชีวิตผมถือว่า สองปีที่ผ่านมา ผมโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ไปยังสถานที่ที่ตัวเองไม่คาดคิดว่าจะได้ไป สถานที่ที่ว่านั่นคือ ‘สันเขื่อน’ และจุดสำรวจที่จะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในตอนล่าง ไล่ตั้งแต่ปากแบ่ง หลวงพระบาง ไซยะบุรี ปากลาย ปากชม และบ้านกุ่ม จำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดแถบทุกพื้นที่ได้มีการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อนหมดแล้วการไปในแต่ละครั้ง บางทีก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวผู้อยากรู้อยากเห็น และที่สำคัญต้องตีสนิทกับคนท้องถิ่น เพื่อจะได้เดินทางไปสู่เป้าหมายง่ายขึ้น ในจำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด หากไม่นับรวมปากชมแล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง- สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้ แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้
สุมาตร ภูลายยาว
หลังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพวาดของเด็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเด็กจากช่วงชั้นต่างๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของโรงเรียนบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ข้าพเจ้าเองแบ่งรับแบ่งสู้ในตอนแรก เพราะโดยส่วนตัวแล้วการเป็นกรรมการประเภทนี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง สำคัญกรรมการควรมีความรู้ทางศิลปะมาบ้าง เพื่อให้ผลการตัดสินออกมาดูน่าเชื่อถือ แต่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ทางศิลปะเอาเสียเลย อย่างมากก็พอรู้ว่ารูปไหนสวยไม่สวย ซ้ำร้ายเรื่องของทฤษฏีสีแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้เอาเสียเลย แม้จะเคยลองวาดรูปอยู่บ้าง แต่ก็งูๆ ปลาๆ…
สุมาตร ภูลายยาว
โศกนาฏกรรมสองฝั่งน้ำ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสายน้ำเรื่องหนึ่งที่ผู้เฒ่าปกากะญอ มักเล่าให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เรื่องเล่าเรื่องนี้มีอยู่ว่า ‘นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งจะตึกแค-กั้นน้ำ เพื่อจับปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ลูกที่อยากกิน ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุย-วังน้ำใหญ่อยู่ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตกอกตกใจ เพราะหากว่าเลือดหรือน้ำมันจากปลาตัวนี้ไหลลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน…
สุมาตร ภูลายยาว
การพัฒนาบนคราบน้ำตาคนชายขอบ ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งนี้อาจมิได้ไหลอย่างอิสระต่อไปอีกแล้ว เพราะปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ได้ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาต่างๆ แผนพัฒนาที่สำคัญ คือแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะกับประเทศไทย แม่น้ำสาละวินกลายเป็นแม่น้ำยุทธศาสตร์สำคัญสายหนึ่งที่น้ำในแม่น้ำจะถูกนำมาแปรเป็นกระแสไฟฟ้า ภายใต้วาทะกรรมของนักพัฒนาที่ว่า ‘พื้นที่ชายขอบของประเทศมีคนอยู่น้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมมีส่วนน้อยเช่นกัน’
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้คนแห่งสาละวิน  สาละวิน ถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะสองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ ในเขตหุบเขาอันไกลโพ้นในประเทศจีนก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง เมื่อล่องตามน้ำลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-จีน พม่า-ไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมายไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายบนลุ่มน้ำแห่งนี้ กลุ่มยินตาเล…
สุมาตร ภูลายยาว
สาละวินบนนิยามของความหลากหลาย สาละวิน บนเส้นทางงานวิจัยชาวบ้าน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกาะกญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรม และความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวิน ตลอดพรมแดนไทย-พม่า มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย…
สุมาตร ภูลายยาว
ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ถือว่า มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่ได้ถูกล่ามโซ่ด้วยเขื่อน นักนิเวศวิทยาได้จัดให้แม่น้ำสาละวินเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก พื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศสลับซับซ้อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีนกับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายันหรือเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำสาละวิน มีอยู่น้อยมาก…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย พ่อตู้เริญเล่าว่า... นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา…