Skip to main content

ผู้คนแห่งสาละวิน

 

สาละวิน ถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะสองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ ในเขตหุบเขาอันไกลโพ้นในประเทศจีนก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง เมื่อล่องตามน้ำลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-จีน พม่า-ไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมายไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง


ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายบนลุ่มน้ำแห่งนี้ กลุ่มยินตาเล ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเดียวที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด ชาวยินตาเล อาศัยอยู่บนที่ราบริมแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยาห์ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ในปัจจุบันชาวยินตาเลมีประชากรทั้งหมดเพียงประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าคนเท่านั้น


เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของการสร้างบ้านแปงเมืองของผู้คนในแถบถิ่นนี้แล้ว จะพบว่า บริเวณทั้งสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน มีผู้คนจำนวนมากตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้มาหลายร้อยปีแล้ว


กลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำมากที่สุดในปัจจุบันคือ กลุ่มปกากะญอ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ปรากฏหลักฐานที่มีการกล่าวอ้างถึงเป็นจำนวนมาก เช่น ในรัชสมัยพระเจ้าพุกามมินกษัตริย์พม่า (ครองราชย์ปีพ..๒๓๗๙-๒๓๙๖) ได้ยกทัพไปตีเมืองยางแดง และเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองยางแดง เพื่อมาตีเมืองเชียงใหม่ ไพร่พลที่เกณฑ์มานี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปกากะญอ เมืองยางแดง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน


ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางเมืองแม่ฮ่องสอนได้สักหมายรูปช้าง ให้กับชาวบ้านในบริเวณนี้ เพื่อให้เป็นการง่ายในการเก็บส่วยสาอากร และการควบคุมกำลังคน เพื่อใช้แรงงานให้กับรัฐสยาม (อนุชิต สิงห์สุวรรณ,บทความ)


ประวัติศาสตร์บางช่วงของเมืองเชียงใหม่ ก็ได้กล่าวถึงกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวินเอาไว้เช่นกัน กล่าวคือในยุคสมัยพระเจ้ากาวิละครองนครเชียงใหม่ ได้นำกำลังไพร่พลไปกวาดต้อนผู้คนในบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินอย่างต่อเนื่อง


ในปี พ..๒๓๕๒ เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ได้ผูกความสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าผ่อ เจ้าเมืองยางแดง ผู้ปกครองรัฐกะเหรี่ยงอิสระ โดยในการผูกสัมพันธ์กันในครั้งนั้น ได้กำหนดให้ล้านนาปกครองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ส่วนเจ้าฟ้าผ่อ ก็ปกครองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ โดยในการสัมพันธ์ไมตรีในครั้งนั้น ได้มีการการสาบานต่อกันว่า รัฐทั้งสองจะไม่รุกรานกัน และดูแลกันเป็นพี่เป็นน้องกันและจะไม่รุกรานกันและกัน


ในปี พ.. ๒๕๑๑ มีการค้นพบหีบคัมภีร์ใบลานที่บรรจุคัมภีร์โบราณของพุทธศาสนา ซึ่งการจดจารคัมภีร์นั้นเกิดขึ้นในช่วงประมาณปี พ.. ๒๒๔๓ บริเวณที่มีการค้นพบหีบคัมภีร์ใบลานนั้นคือ บริเวณถ้ำผาแดง ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน การค้นพบในครั้งนั้นแสดงให้เห็นว่า ความเจริญรุ่งเรืองที่มาพร้อมกับอารยธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในลุ่มน้ำสาละวินได้เป็นอย่างดี


สำหรับในเขตรัฐต่างๆ ของพม่าอาจกล่าวได้ว่า ในอดีตสายน้ำ และผืนป่าสาละวินฝั่งตะวันตกมีความสำคัญต่อชีวิต และความเป็น ความตายของผู้คนมากที่สุด โดยเฉพาะในเขตที่ยังคงมีสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่า และกองกำลังกู้ชาติชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เช่น ในรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ชาวบ้านผู้หนีภัยสงครามเป็นผู้พลัดถิ่นภายใน (Internally Displaced Persons) นับแสนคนได้อาศัยผืนป่าหนาทึบซ่อนตัวหลบหนีทหารพม่า อาศัยน้ำ และทรัพยากรจากป่าสาละวินฝั่งตะวันตกประทังชีวิตให้อยู่รอดได้ไปวันๆ


จากรายงานขององค์การ Human rights watch ได้รายงานถึงสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเอาไว้ว่า ในปี ๒๕๔๗ มีประชาชนประมาณ ๖๕๐,๐๐๐ คนในพื้นที่ภาคตะวันออกของพม่าต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ อันเนื่องมาจากสงครามภายในประเทศ และยังมีคนจากพม่าอีกประมาณ ๒ ล้านคนที่อพยพเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อหนีภัยสงคราม นอกจากนั้นในจำนวนคน ๒ ล้านกว่าคน มีคนกว่า ๑๔๕,๐๐๐ คนได้กลายเป็นผู้อพยพตามค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า


ปัจจุบันกล่าวได้ว่า ชนกลุ่มน้อยที่หลบภัยการสู้รบไม่ได้อาศัยผืนดินฝั่งตะวันตกเพียงอย่างเดียว แต่ผู้คนส่วนหนึ่งยังได้อพยพหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำมายังฝั่งตะวันออกอีกด้วย


ตลอดระยะทางที่แม่น้ำสาละวิน ไหลผ่านมาจากที่ราบสูงของธิเบต แม่น้ำสายนี้ได้ไหลผ่านชุมชนที่เป็นที่อยู่-ที่ทำกินของคนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า ๒๐ กลุ่ม กลุ่มคนชาติพันธุ์เหล่านี้อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มกลางหุบเขา และพื้นที่ราบจำนวนเล็กน้อยริมฝั่งแม่น้ำสาละวินและลำห้วยสาขา ชุมชนตลอดสองฝั่งน้ำตั้งแต่รัฐฉานลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-ไทย ผู้คนส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการทำเกษตร และบางพื้นที่ก็มีการหาปลา


นอกจากที่ราบลุ่มกลางหุบเขาแล้ว บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำสาละวิน อันเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ก็เป็นเขตที่มีการตั้งชุมชนหนาแน่นที่สุดอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์


ในส่วนของประเทศไทย ช่วงที่แม่น้ำสาละวินไหลผ่านชายแดนไทย-พม่า บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน หากเราได้ล่องเรือตามแม่น้ำ และเดินขึ้นตามลำห้วยใหญ่-น้อยที่อยู่บริเวณพรมแดนจะพบว่า ริมน้ำสาละวิน และริมห้วยในผืนป่ากว้างใหญ่มีชุมชนเล็กๆ ตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามป่าจำนวนมาก


ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนของชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ตั้งรกรากในแถบนี้มานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีคำพูดติดตลกกล่าวกันเล่นๆ ว่า หากจะดูว่าชุมชนในปาตั้งชุมชนมานานแค่ไหนแล้ว ให้ดูต้นมะพร้าวที่มีอยู่ในชุมชน เพราะถ้าต้นมะพร้าวขึ้นสูงจนลิงปีนเหนื่อยก็แสดงว่า ชุมชนถูกตั้งขึ้นมานานแล้ว


ผืนป่าของลุ่มน้ำสาละวิน เป็นผืนป่าที่เป็นป่าสักใหญ่ต่อเนื่องกันไปถึงพม่าและอินเดีย พื้นที่นี้จัดเป็นแหล่งกำเนิดไม้สักอีกพื้นที่หนึ่งที่สำคัญที่สุดของโลก ในอดีตเคยมีการให้สัมปทานการทำไม้เป็นอย่างมาก ปัจจุบันความเสื่อมโทรมอันต่อเนื่องมาจากอดีตจึงเกิดขึ้นกับผืนป่าแห่งลุ่มน้ำสาละวิน แต่ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นนั้นหาได้เกิดขึ้นจากคนที่อยู่ในป่าไม่ แต่มันเกิดขึ้นจากการเปิดป่า เพื่อให้สัมปทานตัดไม้ตามนโยบายของกรมป่าไม้ในอดีตต่างหาก เมื่อป่าใกล้หมด ทางการจึงมาคิดที่จะอนุรักษ์เอาเองภายหลัง และโยนความผิดให้กับคนที่อยู่ในป่าไป


แน่ละ ในยุคสมัยก่อนการอยู่ในป่าของผู้คนแถบถิ่นนี้ไม่เคยมีปัญหา แต่ภายหลังเมื่อมีการประกาศปิดป่า และป่าที่ชาวบ้านอยู่ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ด้วยเงื่อนไขการทำให้ป่าเป็นป่าอนุรักษ์ การอยู่อาศัยในป่าของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ซึ่งอยู่ที่ชายขอบของประเทศจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปโดยปริยาย


บ่อยครั้งที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ชาวบ้านไปทำไร่แล้วโดนจับ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นปัญหาที่มองต่างมุมกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็มองว่า คนกับป่าอยู่ร่วมกันไม่ได้ เมื่อคนอยู่กับป่า คนก็คือตัวการทำลายป่า แต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งที่เจ้าหน้ารัฐไม่ยอมรับคือ คนอยู่ป่าเหล่านี้สามารถจัดการป่าได้โดยไม่ได้ทำลายป่า และพวกเขาสามารถอยู่กับป่าได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ปกากะญอ


การที่ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งก็มาจากประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรมของชุมชนเป็นตัวกำหนดด้วย เช่น ในตอนที่เด็กเกิด พ่อแม่ของเด็กก็จะนำรกของเด็กไปผูกไว้กับต้นไม้ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ‘ป่าเดปอ’ ป่านี้จะไม่มีใครเข้าไปทำลาย เพราะเป็นป่าสายรกของพวกเขาถูกผูกเอาไว้ และพวกเขาก็จะดูแลต้นไม้ที่สายรกของพวกเขาได้ผูกเอาไว้


ในผืนป่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน นอกจากจะมีชุมชนตั้งอยู่ที่นี้มาหลายร้อยปี หลายชุมชนจึงมีการจัดทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และมีประโยชน์กับชุมชนในระยะยาวมากที่สุด การจัดการทรัพยากรของชุมชนส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้สอนลูกหลานมาหลายชั่วอายุคน


พ่อหลวงประวิทย์ กมลวรรณหงส์ เล่าถึงความเชื่อในการรักษาป่าให้ฟังว่า

บางหมู่บ้านก็มีการทำป่าชุมชน พอมีป่าชุมชนชาวบ้านก็จัดการกันเอง พอมีป่าสัตว์ป่าก็กลับมาหาอยู่หากินของ ที่หากินของสัตว์ป่าก็อยู่ทั่วไป แต่ถ้าเป็นโป่งที่สัตว์ป่ามากินโป่งมี ๒ อย่างคือ ม้อเค-โป่งแห้งกับม้อที้-โป่งน้ำ ถ้าอยากเห็นสัตว์ป่าก็ไปซุ่มดูตามโป่ง แต่ไปซุ่มดูแล้วห้ามยิง เพราะชาวบ้านเชื่อว่า สัตว์ที่ลงมากินโป่งจะเป็นสัตว์เลี้ยงของเจ้าของโป่ง เหมือนกับที่เราเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ชาวบ้านจะไม่ไปซุ่มยิงสัตว์ที่กำลังหากินบริเวณโป่งเป็นอันขาด เพราะเชื่อว่าสัตว์ป่ามีเจ้าของดูแลปกป้อง


นอกจากชาวบ้านจะไม่ไปซุ่มยิงสัตว์แล้ว ยังมีสัตว์ป่าบางชนิดที่ห้ามยิงด้วย เช่น โกยูปก่า-ชะนี เพราะชะนีไม่กินข้าวที่ชาวบ้านปลูกไว้ ชาวบ้านถือว่าชะนีเป็นเหมือนเจ้าป่า ถ้าหากยิงชะนีตายไป ๑ ตัวขุนห้วยจะเศร้าไป ๗ ขุนห้วย การห้ามลูกห้ามหลานของผู้เฒ่าสมัยก่อนมันก็เหมือนเป็นการบอกให้ลูกหลานได้อนุรักษ์สัตว์ป่าไว้นั่นแหละ’


ว่ากันว่าถ้าเข้าไปในผืนป่าใดก็ตาม หากได้ยินเสียงชะนีร้องแสดงว่า ป่าผืนนั้นยังมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะความที่ผู้เฒ่าผู้แก่กลัวว่า สัตว์ป่าเหล่านี้จะหมดไปจากป่าผู้เฒ่าผู้แก่ จึงได้คิดค้นคำทาขึ้นมากล่าวพร่ำสอนลูกหลานให้จำสืบต่อๆ กันมาว่า

ทุกสิ่งล้วนมีเจ้าของ เรากินเราใช้แค่พอเลี้ยงชีวิต ไม่ทำลาย เพื่อให้ลูกหลานได้มีกินสืบไป’


นอกจากนี้ แต่ละชุมชนก็มีกฎเกณฑ์ในการห้ามล่าสัตว์บางชนิดอย่างชัดเจนแล้ว บางชุมชนยังมีการกำหนดโทษปรับ และหลายชุมชนยังได้มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์ปลา และเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนอีกด้วย


นอกเหนือจากกลุ่มคนที่ได้รับการตราหน้าจากรัฐว่าเป็นคนทำลายป่าแล้ว ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ‘คนไร้สัญชาติ’ คนไร้สัญชาติในที่นี้หมายถึง คนที่ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐให้เป็นคนในรัฐ ซึ่งการเป็นคนไร้สัญชาตินั้นมักจะเกิดขึ้นกับคนชายขอบของประเทศเป็นส่วนใหญ่


การเป็นคนไร้สัญชาตินั้น ก็มีอยู่หลายประการ เช่น ไม่ได้รับการแจ้งชื่อในตอนที่เกิด พอโตขึ้นมาก็ไม่มีบัตรประชาชน เมื่อไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่สามารถบ่งชี้สถานะได้ว่าเป็นคนของรัฐใด สำหรับบางคนเรื่องไม่มีบัตรยังไม่หนักหน่วงเท่ากับการที่คนๆ หนึ่งเกิดในแผ่นดินนี้ แต่กลับได้รับสถานะที่รับรอง โดยรัฐเพียงเป็นผู้อพยพในแผ่นดินของตัวเองเท่านั้น


เรื่องที่กล่าวมานั้นถือว่า เป็นความผิดของผู้ใดผู้หนึ่งก็ไม่ได้ เพราะพื้นที่ห่างไกล และการเข้าใจในเรื่องของกฎหมายของชาวบ้านก็มีน้อย และที่สำคัญคือยิ่งห่างไกล ยิ่งลำบาก เจ้าหน้าที่รัฐยิ่งไม่อยากเดินทางเข้าไปหา เมื่อเป็นเช่นนี้การเป็นคนไร้สัญชาติจึงเป็นเรื่องเป็นไปได้ง่าย สำหรับคนชายขอบของประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้คนเหล่านี้ก็มีชาติพันธุ์ที่สามารถบ่งชี้สถานะได้อย่างชัดเจน


การไร้สัญชาติย่อม หมายถึงการไร้สิทธิขั้นพื้นฐานในหลายๆ ด้านที่คนทั่วไปควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในด้านการศึกษา สิทธิในด้านการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วย สิทธิเสรีภาพในการเดินทาง


สำหรับคนไร้สัญชาติแล้ว การมีบัตรประชาชนหนึ่งใบ มันไม่ใช่แค่แผ่นพลาสติกที่ระบุ ชื่อ สกุล วันเกิด และหมายเลขบัตรเท่านั้น หากแต่มันหมายถึง การได้มาซึ่งสิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพ อันพึงมีพึงได้เท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการได้รับการยอมรับความเป็นพลเมืองภายในรัฐที่ตนเองอยู่อาศัยอีกด้วย


ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นใช่ว่าจะได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานรัฐ แต่ก็นั้นแหละ ความวัวยังไม่หาย ความควายก็เข้ามาแทรก กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาเรื่องการไร้สัญชาติก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ปัจจุบันริมฝั่งสาละวิน ก็มีปัญหาใหม่เข้ามาแทนที่ปัญหาเก่า ดูเหมือนว่าปัญหาใหม่ที่กำลังเข้ามาจะเป็นเรื่องที่หนักหน่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาที่มีอยู่แล้ว



บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’