โศกนาฏกรรมสองฝั่งน้ำ
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสายน้ำเรื่องหนึ่งที่ผู้เฒ่าปกากะญอ มักเล่าให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เรื่องเล่าเรื่องนี้มีอยู่ว่า
‘นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งจะตึกแค-กั้นน้ำ เพื่อจับปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ลูกที่อยากกิน ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุย-วังน้ำใหญ่อยู่ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตกอกตกใจ เพราะหากว่าเลือดหรือน้ำมันจากปลาตัวนี้ไหลลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ
เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน หลังจากความเป็นห่วงของชาวบ้านแพร่ออกไปจากปากสู่ปาก มารชื่อมะกอลี ก็ทราบเรื่อง จึงขออาสามาขัดขวางการตึกแคของเจ้าเมือง โดยครั้งแรกมารมะกอลีไปบอกท่านเจ้าเมืองว่า ลูกตาย ช่วยไปทำศพให้หน่อย เจ้าเมืองซึ่งกำลังจะกั้นน้ำอยู่ก็ตอบกลับมาว่า ลูกตายไปก็มีลูกใหม่ได้
เมื่อพูดจบเจ้าเมือง ก็เริ่มทำงานของตนต่อไปไม่สนใจเจ้ามารมะกอลี หลังจากเห็นว่าเจ้าเมืองไม่สนใจ มารมะกอลีก็จากไป แต่จากไปไม่นานก็กลับมาใหม่แล้วบอกกับเจ้าเมืองว่า เมียตายช่วยไปทำศพให้หน่อยเถิด เจ้าเมืองก็ตอบกลับมาว่า เมียตายก็หาเมียใหม่ได้ แล้วเจ้าเมืองก็กั้นน้ำต่อไป
เมื่อบอกกับเจ้าเมืองถึง ๒ ครั้งไม่สำเร็จ ในครั้งที่สามมะกอลีก็มาบอกกับเจ้าเมืองว่า แม่ตายช่วยไปทำศพให้หน่อยเถิด เจ้าเมืองไม่รู้จะตอบไปอย่างไร จึงต้องเลิกกั้นน้ำ และตามเจ้ามะกอลี กลับไปยังเมือง พอกลับไปถึงเมืองก็พบว่า ทุกคนยังอยู่ครบ ดังนั้นเจ้าเมืองจึงไม่ได้กั้นน้ำสาละวิน ตามที่ใจปรารถนา และชาวบ้านก็ได้อยู่กันอย่างปรกติสุขเรื่อยมา’
จากเรื่องเล่าที่ยกมา ปัจจุบันเรื่องเล่าเรื่องนี้กลายเป็นข้อปฏิบัติสำหรับชาวปกากะญอที่ยึดถือกันเสมอมา ข้อปฏิบัติที่ว่าคือ เมื่อมีการกั้นน้ำเอาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตึกแค ภายหลังเอาปลาเสร็จแล้ว คนที่กั้นน้ำจะต้องปล่อยน้ำให้ไหลเป็นอิสระ เพราะถ้าไม่ปล่อยน้ำ ในปีต่อไปก็จะไม่มีปลากินอีก ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า คำสอนผ่านเรื่องเล่าเรื่องนี้จึงเป็นคำสอนที่ลูกหลานแห่งเผ่าพันธุ์ยึดมั่นถือมั่นมาจนถึงปัจจุบัน การกั้นไม่ให้น้ำไหลเป็นอิสระจึงถือเป็นข้อห้ามสำหรับชนเผ่าปกาปะญอ
‘ตั้งแต่ผมเกิดมา ก็เห็นสาละวิน ถูกทำลายมาหลายครั้งแล้ว สมัยก่อนก็สัมปทานป่า นายทุนเข้ามาตัดป่ากันจนเกือบจะหมด พอป่าใกล้หมดก็มาโทษชาวบ้านว่าเป็นคนทำ ตอนนี้ชาวบ้านไปเผาไร่ก็โดนจับ ทำไร่ไม่ได้ แล้วจะให้พวกเราทำอะไรกิน ตอนนี้ก็ได้ข่าวว่าจะมาสร้างเขื่อนอีก ผมเคยไปดูเขื่อนที่ตากมา พอมีเขื่อนน้ำท่วม ปลาก็น้อย คนก็ถูกย้าย ต่อไปถ้ามีเขื่อน แม่น้ำสาละวิน ก็จะไม่มีอะไรหลงเหลือไปถึงลูกหลานพวกเรา’
วิชัย อำพรนภา ชาวบ้านโพซอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ในเขตพม่า แม่น้ำสาละวิน ไหลผ่านรัฐฉาน เข้ารัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยง และรัฐมอญ หลายเขตที่กล่าวมายังคงมีการสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยผู้เป็นเจ้าของพื้นที่กับทหารพม่า โดยเฉพาะในรัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง เป็นเขตที่มีการรายงานถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารพม่าในรูปแบบต่างๆ มากที่สุด ตั้งแต่ข่มขืนผู้หญิง บังคับใช้แรงงานทาส บังคับให้อพยพ จากรายงานขององค์กรมนุษยธรรมชายแดนพม่าหรือทีบีบีซี ได้สรุปจำนวนผู้อพยพในแต่ละพื้นที่ในปี ๒๕๔๗ เอาไว้ว่ามีจำนวนมากถึง ๕๒๖,๐๐๐ คน
และในปี ๒๕๓๙ มีหมู่บ้านนับพันถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ ‘เขตยิงอิสระ’
เมื่อถูกขับไล่ออกนอกพื้นที่ ชาวบ้านไม่สามารถกลับมาเอาข้าวของของได้อีก เพราะถ้ากลับเข้าไปในพื้นที่จะถูกยิง บ่อยครั้งเช่นกันที่พื้นที่ในเขตการสู้รบ ชาวบ้านจะถูกทหารพม่ายิงทิ้งอย่างไร้ความปราณี โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณการสร้างโรงไฟฟ้าลอปิต๊ะ จากหนังสือการสร้างเขื่อนภายใต้รัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเป็นรายงานของกลุ่มวิจัยด้านการพัฒนาคะเรนนี ได้นำเสนอรายงานเอาไว้ว่า เมื่อมีการสร้างเขื่อนโมเบีย เพื่อผันน้ำให้กับโรงไฟฟ้าลอปิต๊ะ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมกินบริเวณกว้างถึง ๒๐๗ ตารางกิโลเมตร และจากการสร้างเขื่อนในครั้งนั้นทำให้มีผู้เดือนร้อนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต้องอพยพถึง ๘,๐๐๐ คน ที่สำคัญคือในช่วงฤดูฝน เขื่อนจะปล่อยน้ำทำลายพืชผลทางการเกษตรซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นของฤดูการทำเกษตร
นอกจาก ทหารพม่าจะบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากพื้นที่แล้ว ในที่ที่มีการสู้รบ ชาวบ้านจำนวนมากมายต้องอาศัยหลบซ่อนภัยอยู่ในอาศัยอยู่ในป่าสาละวิน เพื่อเอาชีวิตรอดไปวันๆ และในที่สุดคนจำนวนมากเหล่านั้นก็กลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศของตนเอง (Internally Displaced Persons-IDPs) ซึ่งคงไม่ต้องบอกกล่าวว่า ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่กลายเป็นคนพลัดถิ่นบนแผ่นดินเกิดของตัวเองจะมีมากมายเพียงใด
นโยบายการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาลทหารพม่า เราคงกล่าวได้เต็มปากว่า พวกเขาไม่เคยสนใจ คนพื้นถิ่นผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน เพราะหลายโครงการที่เกิดขึ้น ทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การวางท่อก๊าซ การสร้างเขื่อน รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่เคยสนใจว่า จะเกิดสิ่งใดขึ้นกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของโครงการ
คงไม่ต้องกล่าวซ้ำว่า เมื่อมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน น้ำจะท่วมเข้าไปในฝั่งพม่า หรือมีทหารพม่าเข้ามา ‘คุ้มกัน’ พื้นที่มากขึ้น เมื่อทหารเข้ามาในพื้นที่มาก คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ก็จะถูกให้บังคับโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ในเมื่อบ้านอยู่ไม่ได้แล้วจะให้คนเหล่านี้หลบหนีไปไหน นอกจากหนีมาพึ่งแผ่นดินไทย
และในอนาคตเมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินมากขึ้น แผ่นดินไทยคงเต็มไปด้วยระลอกคลื่นผู้ลี้ภัยมหาศาลจากพม่า มิต้องกล่าวถึงผู้ลี้ภัยร่วมแสนคนที่อาศัยอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัยต่างๆ แถบชายแดนไทย-พม่าในทุกวันนี้
หากมีโอกาสได้ถามผู้ลี้ภัยคนหนึ่งคนใด คำตอบที่ชัดเจนจากพวกเขาคงเป็นคำตอบที่ว่า พวกเรารอคอยวันที่พม่าเกิดสันติสุข และพวกเราก็จะได้หวนคืนสู่มาตุภูมิ
แน่ละเมื่อมีการสร้างเขื่อน แผ่นดินที่ผู้ลี้ภัยส่วนหนึ่งหวังว่าจะได้เดินทางกลับไปต้องจมอยู่ใต้น้ำหลังการสร้างเขื่อน แล้วในอนาคตผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะเป็นเช่นใด พวกเขาจะเป็นผู้ลี้ภัยถาวรที่ไม่มีแม้กระทั่งบ้านให้กลับอีกต่อไปกระนั้นหรือ
หากมีการสร้างเขื่อนชีวิตของประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสีย และเดือดร้อนนับหมื่นแสน ยังไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาระหว่างและหลังการสร้างเขื่อน
ย้อนกลับมามองฝั่งประเทศไทย หากว่ามีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีสงคราม แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องอพยพหนีน้ำท่วม ในขณะที่รัฐไทยไม่ได้มองความเป็นจริงว่า ผู้คนริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เขาอยู่ที่นี้มานาน และพวกเขาก็มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่า และแม่น้ำอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อป่าและน้ำถูกทำลาย คนเหล่านี้จะเป็นเช่นไร
พ่อหลวงนุ ชำนาญคีรีไพร กล่าวว่า
‘พวกเราอยู่กับป่า กินกับป่า พวกเราอยู่ตรงนี้มานาน จะมาสร้างเขื่อนเอาไฟฟ้าไปให้ใครใช้ก็ไม่รู้ พอเขาเอาไฟไปแล้ว พวกเราก็เดือดร้อน พวกเรามีบัตรประชาชนเป็นคนไทย พอสร้างเขื่อนจะมาให้พวกเราอพยพ ทั้งที่เราเป็นคนไทยจะให้เราเป็นผู้อพยพในประเทศของเราเองทำไม แม่น้ำมันดีอยู่แล้ว มันได้ไหลจะไปสร้างเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้ไหลทำไม สร้างเขื่อนได้ไฟ แต่รู้ไหมว่า คนจำนวนไม่น้อยจะเดือดร้อน’
บทเรียนซ้ำซาก ที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอมาคือ เมื่อมีการสร้างเขื่อนหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับบริเวณสร้างเขื่อนก็จะถูกอพยพ หากเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ถูกสร้างก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะต้องอพยพคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไปอยู่ในที่ใดภายหลังการสร้างเขื่อน แล้ววิถีชีวิตของคนอยู่ป่าที่เคยชินกับการทำไร่ และไม่ต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจในระบบของทุนนิยมเช่นปัจจุบัน
พวกเขาจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อวิถีชีวิตต้องปรับเปลี่ยน แม้กลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมจะบอกว่า บางทีคนส่วนน้อยต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่บ้าง บทเรียนที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า เราปล่อยให้ผู้เสียสละประสพความลำบากมามากต่อมากแล้ว และพวกเขาก็เป็นผู้สังเวยชะตากรรมที่ตัวเองไม่ได้สร้างอยู่ร่ำไป
ถึงเวลาหรือยังที่จะยอมรับว่า แม่น้ำสาละวิน คือ บ้านของคนนับแสน และถึงเวลาหรือยังที่จะยอมรับว่า เขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของเรื่องการจัดการน้ำ
ความสัมพันธ์ของคนกับสายน้ำมีมาเนิ่นนาน สายน้ำยังมีความหมายในหลายๆ ทาง ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของผู้คนสองฝั่งน้ำ การที่มนุษย์ได้พึ่งพาอาศัยน้ำ มนุษย์จึงได้ก่อเกิดวัฒนธรรมประเพณีที่แสดงออกให้เห็นถึงการเคารพนอบน้อมธรรมชาติ
นอกเหนือจากนั้นแล้ว บนสายน้ำเดียวกัน มนุษย์ยังได้เรียนรู้ที่จะรักษาสายน้ำไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง และปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำสาละวิน รักและหวงแหนแม่น้ำที่พวกเขาได้ใช้ประโยชน์ ด้วยความรักที่มีต่อแม่น้ำผู้เฒ่าผู้แก่จึงคอยย้ำเตือนลูกหลานแห่งเผ่าพันธุ์อยู่เสมอว่า
“อ่อทีกะต่อที อ่อก่อกะต่อก่อ กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่ารักษาป่า”
และปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่า ดิน น้ำ ป่า คน ล้วนเป็นความสมดุลที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายโดยแท้จริง ฉะนั้นแล้วเมื่อมนุษย์คิดกอบโกยเอาประโยชน์จากธรรมชาติ เราควรคิดให้ดีว่า
‘เมื่อเราใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ เราเคารพในธรรมชาติ และศรัทธาในความเท่าเทียมกันของมนุษย์แล้วหรือยัง’
ข้อมูลประกอบการเขียน
เขื่อนสาละวิน: โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน, แผ่นดิน สายน้ำ และลมหายใจของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะจมใต้น้ำ, รายงานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน, ๒๕๔๖
การสร้างเขื่อนภายใต้รัฐบาลทหารพม่า,จัดทำโดยกลุ่มวิจัยด้านการพัฒนาของกลุ่มคะเรนนี, ๒๕๔๙
ผ่าสาละวินก่อนจะสิ้นป่าผืนสุดท้าย,โดยยอด ยิ่งยวด,
การพลัดถิ่นฐานภายในประเทศ และสภาวะเปราะบางของผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่าแถบตะวันออก,โดยองค์การมนุษยธรรมชายแดนไทย-พม่า และเพื่อนไร้พรมแดน
งานวิจัยปกากะญอสาละวิน,วิถีน้ำ วิถีป่าของปกากะญอสาละวิน, โดยคณะนักวิจัยปกากะญอ สาละวิน, ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน, เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,๒๕๔๘
ขอบคุณข้อมูลจากโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขอบคุณเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวินยวมเมยทุกคนที่ร่วมกันรังสรรค์สิ่งดีงามด้วยการปกป้องแผ่นดินเกิด
หมายเหตุ: งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกหนังสือ “โศกนาฏกรรมคนชายขอบ”