Skip to main content

-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง-

สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด

หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย

การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา ในการมาถึงเมืองหลวงพระบางครั้งแทบไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเป็นเพียงการแวะมาพักนอนเท่านั้น เพราะในรอบการเดินทางเที่ยวนี้ จุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองงอย

หลวงพระบางในฤดูฝนพรำทุกอย่างยังคงเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็น แม้แต่เฮือนพักเพียงจัน คนเฝ้าเฮือนพักก็ยังเป็นชายหนุ่มคนเดิม เมื่อก้าวเข้าไปในเฮือนพัก เขากล่าวทักสบายดีพร้อมกับยื่นกุญแจห้องพักให้ หลังจากรับกุญแจห้องพักมา พอพลิกดูหมายเลขห้องพบว่า มันเป็นห้องพักห้องเดิมที่เคยมาพักเมื่อ ๓ เดือนก่อน แล้วเราก็หัวเราะออกมาแทบจะพร้อมกัน

-ต้นทางที่หลวงพระบางปลายทางที่เมืองงอย-

หลังจากร่วมวงเฝอ และข้าวเปียกที่แกล้มด้วยกาแฟรสชาติหวานขมในตอนเช้าแล้วเสร็จสัมภาระก็ถูกนำขึ้นรถจัมโบ้ เพื่อไปสู่ท่าเรือหลวงที่อยู่ด้านหลังพระราชวัง เรือที่นัดหมายจอดลอยลำรออยู่แล้วตั้งแต่ตอนเย็นเมื่อวาน เรือลำที่จะพาไปสู่จุดหมายปลายทางลำนี้เป็นเรือขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับเรือล่องหลวงพระบาง-ห้วยทราย ขนาดของเรือพอเหมาะกับคนนั่งไม่เกิน ๑๐ คน เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วพบว่า เรือลำนี้ถูกย่อส่วนลงมาจากเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำขนาบข้างอยู่

ในการเดินทางรอบนี้โชคดีหน่อยที่คนไม่เยอะ ที่นั่งจึงเหลือพอให้วางสัมภาระ บนเรือมีคน ๙ คน หลังทีมเดินทางบางคนไปซื้ออาหารที่ตลาดกลับมา เรือจึงค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากท่าเรือเมืองหลวงพระบาง

ต้นฤดูฝนเช่นนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น เกาะแก่งที่โผล่พ้นน้ำในช่วงหน้าแล้งจมเงียบหายไปกับสายน้ำ หากถามชาวบ้านว่าสังเกตได้ยังไงว่าน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น คำตอบที่ได้คือ ช่วงใดที่น้ำในแม่น้ำโขงเป็นสีโอวันติลเข้มข้น ช่วงนั้นแหละน้ำเริ่มขึ้น

เมื่อเสียงเครื่องยนต์บนเรือดังขึ้นเป็นลำดับ เรือก็พุ่งทะยานทวนสายน้ำมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือ ขณะเรือผ่านปากน้ำคานพบว่า แปลงผักริมแม่น้ำในช่วงหน้าแล้งหายไปแล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำคานเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ด้านนอกเรือบรรยากาศมืดครึ้มด้วยเมฆฝน

พอเรือมาถึงบ้านดอนเก่า อ้ายเซียงกระแตคนขับเรือและเจ้าของเรือก็เบาเรือแล้วนำเรือเข้าเทียบเรือลำใหญ่ เพื่อเติมน้ำมัน ถัดจากเรือลำเล็กไปเป็นเรือลำใหญ่ ซึ่งมีจุดหมายปลายทางอยู่เมืองปากแบ่ง ผู้คนบนเรือแน่นขนัด เพราะเป็นเรือโดยสาร

หลังเติมน้ำมันเสร็จสิ้น เรือก็ค่อยๆ ทวนน้ำขึ้นไปสู่เป้าหมายต่อไป ขณะเรือวิ่งมาได้ไม่นาน เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่า ข้างหลังมีเรืออีก ๒ ลำที่ตามมา จากการพูดคุยกับนายน้ำ (คนลาวเรียกคนขับเรือว่านายน้ำ) จึงได้รู้ว่า จุดหมายของเรือ ๒ ลำที่ตามมาอยู่ที่เดียวกันกับจุดหมายที่เรือเราจะไป

พอพ้นถ้ำติ่งมาแล้ว เรือถูกบังคับให้มุ่งหน้าเข้าสู่แม่น้ำอู แม้จะเป็นหน้าฝน น้ำในแม่น้ำอูยังใสจนมองเห็นท้องน้ำ น้ำในแม่น้ำอูแม้จะเป็นหน้าฝน แต่ก็ยังไม่เพิ่มระดับขึ้น ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปบนฝั่ง ภูเขาหินปูนปรากฏต่อสายตา ว่ากันว่าบนภูเขาหินปูนที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ผาแอ่น-หน้าผาที่มีนกนางแอ่นมาอาศัยอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกผาแอ่น' นั้นมีโลงนางอั้วอยู่บนผานั้นด้วย (‘โลง' ในภาษาลาวหมายถึง หีบศพคนตาย)

การเดินทางทวนสายน้ำอูสู่เมืองงอยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว...

-แม่น้ำอูจากภูฟ้าลงมาดิน-

แม่น้ำอูมีต้นกำเนิดอยู่ในเมืองเจียงเฉิง ฮานูจู๋ มณฑลยูนนาน ประเทศแผ่นดินจีน หลังจากนั้นก็ไหลเข้าสู่ประเทศลาวที่เมืองอูเหนือ แขวงพงสาลี และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากอู แขวงหลวงพระบาง รวมความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำทั้งสิ้น ๔๗๕ กิโลเมตร ตลอดความยาวกว่า ๔๐๐ กิโลลเมตรนั้น แม่น้ำอูมีระบบนิเวศสลับซับซ้อนทั้งที่เป็นดอน เป็นหาดหิน เป็นแก่ง บางคนบอกว่าเมื่อมานั่งเรือล่องแม่น้ำอูเหมือนกับได้นั่งเรือล่องแม่น้ำโขง เพราะแม่น้ำอูมีสภาพคล้ายกับแม่น้ำโขง

มีเรื่องตลกเล่าให้ชวนหัวบนเรือว่า บรรดาลูกของแม่น้ำโขง (แม่น้ำสาขา) ทั้งหมด มีแม่น้ำอิงเพียงสายเดียวที่ไม่เหมือนแม่ (แม่น้ำอิงมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำในจังหวัดพะเยา และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย) เพราะระบบนิเวศของแม่น้ำอิงจะไม่มีแก่งหิน ริมฝั่งจะมีลักษณะเป็นดินทราย

บางครั้งที่เรือวิ่งฝ่าความเชี่ยวของสายน้ำ ทำให้หวนคิดถึงบางช่วงของแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงของได้เช่นกัน โดยเฉพาะตรงจุดที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘หาดคอ' ที่บ้านหาดคอ ตรงหาดคอนี้น้ำทั้งสายถูกแยกออกเป็นสายเล็กสายน้อย และมีบางแห่งเท่านั้นที่เรือจะฝ่าความเชี่ยวของสายน้ำขึ้นไปได้

บนแม่น้ำอูมีแก่งหลายแห่งที่คนขับเรือต้องใช้ความกล้า เพื่อพาเรือมุ่งหน้าฝ่าสายน้ำ นายน้ำ (ศัพท์ที่คนลาวใช้เรียกคนขับเรือ) บอกกับพวกเราว่า เมื่อหลายปีก่อนมีเรือเร็ววิ่ง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะมันเกิดอันตรายบ่อย และที่สำคัญชาวบ้านทนเสียงคำรามก้องกังวานของมันไม่ไหว เมื่อชาวบ้านร้องเรียนขึ้นไปทางเมืองจึงส่งห้ามเรือเร็ววิ่งขึ้น-ลงในแม่น้ำอู

แม้น้ำจะเชี่ยว และไหลแรงเพียงใด จากประสบการณ์ในการขับเรือล่องขึ้น-ลงบนแม่น้ำสายนี้มาตั้งแต่อายุ ๒๖ จนถึง ๔๒ ปีในตอนนี้ คงการันตีถึงความสามารถของนายน้ำคนนี้ได้เป็นอย่างดี

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเราเดินทางด้วยรถไปบนท้องถนน เราก็ต้องไว้ใจคนที่คุ้นเคยกับรถและถนนเส้นนั้น การเดินทางด้วยเรือก็ดุจเดียวกัน เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะไว้ใจคนขับเรือที่คุ้นเคยกับเรือ และแม่น้ำอันเป็นถนนให้เรือวิ่งด้วยเช่นกัน

นายน้ำไม่ได้ทำให้เราผิดหวังในเรื่องนี้

ตลอดสองฝั่งน้ำที่เรือวิ่งผ่านบริเวณใดมีหมู่บ้านอยู่ ริมฝั่งน้ำเราก็จะได้เห็นเด็กๆ ลงมาทำกิจกรรมริมแม่น้ำ บางคนตกปลา บางคนเล่นวิ่งไล่จับ บางคนออกไปหาปลากับพ่อ ไม่ว่าเด็กหญิงเด็กชาย เราจะพบเห็นพวกเขาเหล่านั้นไม่ต่างกัน เด็กผู้ชายหว่านแหหาปลาได้ เด็กผู้หญิงก็หว่านแหหาปลาได้เช่นกัน แต่ปลาที่พวกเขาหาได้ อาจเทียบไม่ได้กับปลาที่พวกผู้ใหญ่ได้มา แต่สิ่งที่ลึกลงไปในเรื่องราวเหล่านี้คือ วิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้ถูกตัดขาดจากสายน้ำที่พวกเขารู้จัก และคุ้นเคยกับมันเลยแม้แต่น้อย

เข็มบนหน้าปัดนาฬิกาบอกเวลา ๑๑ โมงเช้า เท่ากับว่าตอนนี้เรือพาเราออกเดินทางมาได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว แม้จะล่วงเลยเข้าไปเกือบเที่ยงแต่พระอาทิตย์ยังคงขี้เกียจจึงหลบอยู่หลังก้อนเมฆไม่ยอมออกมาส่องแสง

หลังจากเรือวิ่งผ่านบ้านหาดคอมาแล้ว สายตาก็ผ่านพบวัตถุบางอย่างที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมฝั่งน้ำ เมื่อถามนายน้ำจึงได้รู้ว่า เครื่องอะไรไม่รู้ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำนั้น ชาวบ้านเรียกมันว่า ‘เครื่องสูบหิน-ทรายใต้น้ำ'

เขาสูบหิน-ทรายขึ้นมาจากแม่น้ำทำไม?
คำตอบคือ หิน-ทรายที่สูบขึ้นมาล้วนมีทองปะปนอยู่ในนั้น เขาสูบหิน-ทรายขึ้นมาเพื่อเล่นแล่แปรธาตุให้มันเป็นทองนั่นเอง

เครื่องจักรแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่เราเห็นตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำ มันก็คือเครื่องมือดูดทรายดูดหิน เพื่อเอาขึ้นมาร่อนผ่านน้ำหาทรัพย์ในดินอันมีค่าสีเหลืองอร่ามนั่นเอง

คนบนเรือคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า กว่าที่จะได้ทองพอขายในแต่ละวัน ต้องใช้เวลานาน เพราะกว่าจะเจอทองที่ซ่อนตัวอยู่ในดินและหินอย่างแปลกแยกต้องใช้เวลา แต่ก่อนการร่อนทองชาวบ้านจะใช้ถาดที่คล้ายกับหมวกชาวเวียดนามมาเป็นเครื่องมือในการร่อน โดยการร่อนในแต่ละครั้ง ชาวบ้านก็จะไปหาจุดที่คาดว่าจะมีทองฝั่งอยู่ แล้วจะตักดินจากบริเวณนั้นขึ้นมาใส่ถาด แล้วก็ร่อน แก่วงไปแก่วงมากับน้ำจนดินทรายหรือหินหลุดร่วงจากถาดหมด วิธีการร่อนทองแบบนี้ถือเป็นวิธีการร่อนทองแบบดั้งเดิม จากนั้นพอได้ทองมาแล้วก็จะนำน้ำยามาประสานทองที่ได้ทั้งหมดให้เข้ากัน เพื่อนำไปขาย

เวลาล่วงเข้าไปเกือบบ่าย เรือก็พาเรามาถึงคอนไผ่ (คำว่า ‘คอน' ในพจนานุกรม อีสาน ไทย อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๒ ให้ความหมายว่า "น.ร่องน้ำลึก ที่น้ำตก แม่น้ำที่มีสันดอนสูง น้ำไหลไปเป็นร่องลึก เรียกคอน ถ้าน้ำไหลไป ๒ ร่อง มีสันดอนอยู่ตรงกลาง เรียก สองคอน เช่น สองคอนในแม่น้ำโขง") ที่ขวางอยู่กลางลำน้ำ นายน้ำบอกว่า ในช่วงหน้าน้ำท่วมหลาก การขับเรือข้ามคอนไผ่จะเป็นไปได้ง่ายกว่า แต่ในหน้าแล้งการขับเรือข้ามคอนไผ่จะเป็นไปได้ยาก เพราะน้ำยิ่งน้อย น้ำก็ยิ่งแรง

หลังเรือพ้นคอนไผ่มาแล้วก็มาถึงแก่งใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แก่งแห่งนี้ชาวบ้านเรียก ‘แก่งหลวง' น้ำบริเวณแก่งหลวงไหลแรง และหมุนวน การอยู่บนลำเรือเหนือสายน้ำเชี่ยว มันช่างฉุดดึงหัวใจให้ลอยไปสู่ความหวาดกลัวได้ดียิ่งนัก ขณะเรือผ่านแก่งหลวงไปได้ ใครบางคนแอบถอนหายใจออกมา

หลังเรือผ่านแก่งหลวง บนริมฝั่งแม่น้ำมีคนหลายสิบคนรวมกันเป็นกลุ่มวุ่นวายอยู่กับปั้มลมที่ใช้ปั้มอากาศ พอสอบถามนายน้ำจึงได้รู้ว่าชาวบ้านกำลังร่อนทอง

การร่อนทองแบบนี้แตกต่างกับการร่อนทอง ๒ แบบที่ผ่านมา เพราะการร่อนทองในรูปแบบนี้มีการเดิมพันด้วยชีวิต เนื่องมาแต่ต้องมีคนดำลงไปในน้ำลึก เพื่อขุดเอาหิน-ทรายใต้น้ำขึ้นมาใส่เครื่องร่อน ในการลงดำน้ำแต่ละครั้ง คนที่ลงไปใต้ในน้ำต้องเอาสายที่ต่อจากปั้มลมใส่อมไว้ในปาก เพื่อจะได้มีอากาศหายใจ จากนั้นก็จะดำลงไปในน้ำ สำหรับไฟฟ้าที่นำมาใช้กับปั้มลมก็มาจากแม่น้ำ ตอลดลำน้ำเราจึงได้เห็นเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่อาศัยแรงดันของน้ำ เพื่อให้ใบพัดของเครื่องทำงาน จากนั้นเครื่องก็จะส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปตามสายไฟฟ้า พอไปถึงปลายทางไฟฟ้าที่ได้มาทั้งหมดก็จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า ๒๒๐ v (อุปกรณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดมาจากประเทศจีน)

ตะวันบ่ายโผล่พ้นขอบฟ้าออกมา แสงแรกของวันฉาบไล้ลงบนแม่น้ำหลังจากเรือพาเรามาถึงเมืองชื่นเริ่มต้นเขตการปกครองของเมืองงอย หากว่าจะผ่านเลยเมืองชื่นไปเลยก็ได้ แต่มีบางอย่างฉุดดึงให้เราต้องหยุดเรือถ่ายรูป และวัดระดับความลึกของแม่น้ำ ตรงหินก้อนหนึ่งที่อยู่ริมฝั่งน้ำมีตัวหนังสือถูกเขียนทับลงบนแผ่นหินบอกไว้ว่า เขตวังสงวน เพราะป้ายนี้แหละที่ทำให้เราต้องหยุดเรือ

"ชาวบ้านเขาทำวังสงวนพันธุ์ปลา" นายน้ำบอก เมื่อเห็นพวกเราสงสัยและมีทีท่าว่าจะหยุดอยู่ตรงวังน้ำลึกแห่งนี้นานเกินไป

จากบ้านเมืองชื่นขึ้นมาตามน้ำเรื่อยๆ เราพบเห็นเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าอยู่เป็นระยะ บางที่มีอยู่หลายอัน บางที่ก็มีอันเดียว สำหรับเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าที่อาศัยแรงดันจากน้ำ หนึ่งตัวราคาอยู่ที่ประมาณ ๑,๕๐๐ บาท แต่สามารถใช้ได้หลายปี ไฟฟ้าที่ไปถึงปลายสายสามารถใช้กับหลอดไฟส่องสว่างได้ประมาณ ๒ หลอด ดูทีวีได้ ๑ เครื่อง และมันพอเพียงกับบ้านหนึ่งหลังเท่านั้น บางบ้านที่เก็บไฟไว้กับแบตเตอรี่ก็สามารถใช้ได้หลายชั่วโมง พื้นที่ในการติดตั้งเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำนี่ก็มีทั้งที่ติดตั้งถาวร และติดตั้งชั่วคราวตามระดับของน้ำคือถ้าน้ำมามากและน้ำจะท่วมก็ยกเครื่องขึ้น แต่ถ้าน้ำมาน้อยก็ยกเครื่องลง จุดที่พบเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าเหล่านี้มากที่สุดคือตามแก่งหิน แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเหล่านี้อาจจะไม่ได้ใช้อีกต่อไปในอนาคต เมื่อเรือพาเราผ่านป้ายที่บอกเอาไว้ชัดเจนว่าจุดสำรวจในการก่อสร้างเขื่อน

จุดก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้อยู่ห่างจากบ้านหาดฟางขึ้นไปทางเหนืออยู่ระหว่างแก่งจายกับบ้านหาดฟาง จากข้อมูลเบื้องต้นที่พอหาได้พบว่า บริเวณนี้ได้มีการสำรวจผ่านไปแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีเขื่อนเกิดขึ้นที่นี้ เมื่อเขื่อนเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เรือจากหลวงพระบางมาเมืองงอยก็จะถูกลดบทบาทลง แว่วว่า กลุ่มคนที่จะมาทำเขื่อน เพื่อนำไฟฟ้ามาขายให้กับไทยก็คือกลุ่มทุนจากจีน

แล้วการเดินทางอันยาวนานตั้งแต่ตอนเช้าก็ใกล้สุดลงเมื่อเรือจอดใต้สะพาน บนสะพานคือถนนจากหลวงพระบางมาสิ้นสุดลงตรงนี้ ต่อจากนั้นถนนเส้นนี้ก็มีจุดหมายปลายทางอยู่แขวงซำเหนือ หากจะเดินทางไปเมืองงอยเก่าต้องเดินทางด้วยเรือเท่านั้น

เรือ ๒ ลำที่เดินทางตามกันมาตั้งแต่ตอนเช้าจอดสงบนิ่งลงตรงท่าเรือ ผู้โดยสารทยอยลงจากเรือ ตรงท่าเรือแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า ‘หนองเขียวหรือเมืองงอยใหม่' เมืองงอยใหม่หรือหนองเขียวแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือบ้านหนองเขียวเหนือ และบ้านหนองเขียวใต้ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งของสะพานเป็นบ้านสบฮุ่น

บริเวณหนองเขียวแห่งนี้เมื่อเดือน ๑๑ ปี ๒๐๐๗ ชาวเมืองงอยได้พร้อมใจกันทำเขตวังสงวนขึ้นมาเป็นแห่งแรก (เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา) จากการประกาศเขตสงวนในครั้งนั้น พอมาถึงปีนี้ ชาวบ้านบอกว่าปลาเพิ่มขึ้น เมื่อยืนอยู่บนสะพานสามารถมองเห็นปลากระโดดขึ้นมาเหนือผิวน้ำได้ นอกจากที่หนองเขียวจะมีเขตวังสงวนแล้ว ยังมีบ่อกุ้งธรรมชาติที่มีกุ้งจำนวนมากอาศัยอยู่ จากข้อมูลเบื้องต้นที่สอบถามจากคนขับเรือพบว่า ในปีหนึ่งจะจับได้ครั้งเดียวในช่วงหน้าน้ำ กุ้งที่จับได้จะอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัม

หลังเรือจอดพักประมาณ ๑๐ นาที เครื่องยนต์ท้ายเรือก็ดังขึ้นอีกครั้ง เรือพาพวกเรามุ่งหน้าสู่เป้าหมายข้างหน้าขณะเข็มนาฬิกาบอกเวลาว่า ๑๗ นาฬิกา

ท้องฟ้าเริ่มมืดลงแล้ว ริมฝั่งผู้คนทยอยลงสู่แม่น้ำ เพื่ออาบน้ำ ใช้เวลาไม่นานนัก เรือก็พามาถึงแก่งทาง แก่งที่ได้รับการขนานนามว่า แก่งอันเชี่ยวกรากแห่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่เมืองงอยเก่า เมือเรือมาถึงแก่งทาง ด้วยน้ำที่มีอยู่ไม่มาก น้ำทั้งสายถูกบังคับทางน้ำให้เหลือร่องน้ำลึกเพียงแห่งเดียว กว่าเรือจะผ่านจุดนี้ไปได้ก็ใช้น้ำมันไปหลายลิตร แม้ว่าแก่งแห่งนี้จะไม่ยาวมาก ขณะเรือมาถึงตรงกลางของแก่ง เรือตะแคงไปด้านซ้าย น้ำจึงกระฉอกเข้ามาในเรือ สัมภาระบางส่วนที่อยู่ท้ายเรือเปียกชุ่ม ในราว ๑๘.๒๐ นาฬิกา เรือจึงเข้าจอดเทียบท่าบ้านเมืองงอยเก่า จากตัวเลขบนเครื่อง GPS บอกหมุดหมายของการเดินทางในบรรยากาศพลอยฟ้าพลอยฝนเอาไว้ว่า ๑๐๘ กิโลเมตร นี่คือระยะทางจากหลวงพระบางมาถึงเมืองงอยเก่า

เมื่อผ่อนคลายอิริยาบทแล้ว กระเป๋าเดินทางถูกนำขึ้นบนบ่า โดยมีเป้าหมายอยู่ที่บ้านของนายน้ำนั่นเอง

เสียงเครื่องปั่นไฟดังระงมผ่านความมืดมา แสงไฟตามเฮือนพักสว่างพอประมาณ บ้านเมืองงอยเก่าชีวิตในห้วงยามกลางคืนได้กลับมาอีกครั้ง ถ้าคืนนี้เป็นค่ำคืนของหลายปีก่อนที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง หมู่บ้านแห่งนี้จะเงียบงันไร้แสงไฟ

บ้านเมืองงอยเก่าแห่งถือเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่สวยงาม เพราะแวดล้อมไปด้วยขุนเขา ว่ากันว่าขุนเขาที่โอบล้อมเมืองงอยเอาไว้คือป้อมปราการในยามเกิดศึกสงครามเมื่อคราวอเมริกาบุก

ด้วยอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมในช่วงสงคราม เมืองงอยจึงกลายเป็นฐานที่มั่น เพื่อต่อต้านอเมริกา บ่อยครั้งที่เครื่องบินของอเมริกามาบุกและทิ้งระเบิด ชาวบ้านจะพากันเข้าไปหลบอยู่ในถ้ำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน

หากนับเนื่องจากวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาก็ผ่านไปเกือบ 30 ปี แต่ลูกระเบิดขนาดใหญ่ยังคงตกค้างอยู่ตามป่าเขา และเป็นภาระให้ชาวบ้านต้องคอยระวังลูกหมากแตกเหล่านี้ ในขณะที่ระเบิดอันสิ้นฤทธิ์ของมันลง ชาวบ้านก็นำมาวางไว้หน้าบ้านคล้ายจะประจานผู้รุกรานป่าเถื่อนให้จดจำอย่าได้ลืม

ปัจจุบันบ้านเมืองงอยเก่ามีบ้านจำนวน ๑๔๖ หลังคาเรือ และมีผู้คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจำนวน ๗๐๐ กว่าคน มีโรงเรียนหนึ่งแห่ง มีวัดอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอีกหนึ่งแห่ง

ยามกลางคืนมาเยือนแล้ว หลังอาหารเย็นผ่านพ้นไป เสียงเพลงดวงจำปาจากไวโอลีนของนักดนตรีวง RECYCLE เคล้าคลอความเงียบส่งผ่านไปยังห้วงความรู้สึกของใครหลายคนจนต้องเดินออกมานั่งฟังอยู่ริมถนนกลางหมู่บ้าน

ตรงระเบียงเฮือนพักคนต่างถิ่นต่างภาษามาเจอกันด้วยความงดงามของธรรมชาติ และก็จะจากไปพร้อมกับทิ้งรอยทรงจำบางรอยเอาไว้ ในฤดูพลอยฟ้าพลอยฝนเช่นนี้ เมืองงอยยังคงงดงามอยู่ในอ้อมกอดแห่งภูผาหินไม่เปลี่ยนแปลง

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’