Skip to main content

หลังกลับมาถึงบ้าน ผมหวนคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่แกเล่าให้ฟัง ห้วงอารมณ์นั้น ผมคิดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการรอนแรมออกทะเล เพื่อตกปลาของชายแก่คนหนึ่ง การเดินทางออกทะเลของชายชราในหนังสืออาจแตกต่างกับการเดินทางออกสู่แม่น้ำของชายชราแห่งโลกของความจริงอยู่บ้าง แต่ในวิถีของชายเฒ่าทั้งสองคน มีเรื่องราวทั้งเหมือน ทั้งแตกต่างรวมอยู่ด้วยกัน

การเดินทางไปสู่วิถีของการเป็นนักล่าของชายทั้งสองอาจจะไม่ต่างกันมากนักในการกระทำ แต่เป้าหมายในการออกเรือ เพื่อเป็นนักล่าของชายทั้งสองอาจแตกต่างกัน คนหนึ่งออกเรือไปล่าเพื่อความสุขตามคิดความเชื่อของตัวเอง แต่อีกคนหนึ่ง การออกเรือไปล่ากลับเป็นไปเพื่อการฝากชีวิตไว้กับปลาเหล่านั้น

เมื่อพูดถึงคนหาปลาแล้ว มิใช่เพียงชายชราคนเดียวในแม่น้ำสายนี้ที่ต้องฝากชีวิตไว้กับปลา แต่คนหาปลาคนอื่นก็เป็นดุจเดียวกัน คงไม่เกินเลยไปนักที่จะบอกว่า การตายของปลาตัวหนึ่งคือการตายเพื่อต่ออายุของคนอีกหลายคน

ช่วงไหนคนหาปลาออกเรือหาปลาแล้วได้ปลา ก็หมายความว่า เมื่อกลับไปถึงบ้าน สินทรัยพ์จากการขายปลาก็จะเกิดขึ้น สินทรัพย์ที่ได้จากการขายปลาจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างกันออกไปตามแต่ความจำเป็นของแต่ละคน แต่ถ้าหากวันไหนการเดินทางกลับบ้านของคนหาปลา มีเพียงถังแช่ปลาเปล่าเปลี่ยว แน่นอนว่ารายรับ-รายจ่ายบางส่วนต้องผ่อนผันออกไป

ในการขายปลาแต่ละครั้งเงินจากการขายปลาผู้เฒ่าทั้งสองก็แบ่งคนละครึ่ง แต่ส่วนมากแม่เฒ่าจะได้ส่วนแบ่งมากกว่า เพราะแม่เฒ่าอยู่บ้านจึงมีความจำเป็นในการใช้เงินมากกว่า หากวันไหนขายปลาได้เงินสองร้อยก็แบ่งกันคนละร้อย สำหรับบางคน เงินหนึ่งร้อยบาทอาจใช้จ่ายได้ไม่ถึงวัน แต่สำหรับผู้เฒ่าทั้งสอง เงินหนึ่งร้อยบาทสามารถใช้จ่ายได้ ๓-๔ วันเลยทีเดียว

สำหรับชายชราวันที่หาปลาไม่ได้มีน้อยกว่าวันที่หาปลาได้ ค่าใช้จ่ายทั้งหลายตั้งแต่ลูกยังเล็กจนถึงตอนนี้ กล่าวได้ว่าแม่น้ำคือธนาคารของชายชรา แต่การถอนเงินจากธนาคารแห่งนี้ในแต่ละครั้งต้องใช้ทั้งแรง ทั้งประสบการณ์ และความสามารถอีกหลายอย่าง อีกทั้งจำนวนเงินที่สามารถถอนได้ในแต่ละวันก็ไม่เท่ากัน ธนาคารแห่งนี้อาจแปลกกว่าธนาคารอื่นตรงที่คนฝากเงินไม่ได้ฝากเพียงเงินอย่างเดียว แต่ยังต้องฝากชีวิตเอาไว้กับธนาคารแห่งนี้ด้วย

หลังได้ฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องจากชายชรา ในความรู้สึกของผม เรื่องราวของชายชรากับปลาบางตัว จึงเป็นเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องราวเรื่องใดบนแม่น้ำสายนี้

เมื่อพูดถึงคนหาปลาในแม่น้ำสายนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดทราบได้อย่างแน่ชัดว่า คนหาปลารู้จักเรียนรู้การหาปลาในแม่น้ำนี้คนแรกเป็นใคร ถึงแม้ว่าไม่มีใครรู้ว่าคนหาปลาคนแรกเป็นใคร แต่คนทั่วไปก็ได้รู้ว่า บัดนี้ลูกหลานของคนหาปลาคนแรกในแม่น้ำสายนี้ พวกเขาได้เดินตามรอยของคนหาปลาคนแรกในแม่น้ำแห่งนี้สืบต่อมาหลายชั่วอายุคนเช่นกัน

ดังที่กล่าวมา แม่น้ำก็มีจังหวะชีวิตของการดำรงอยู่เช่นกัน ในช่วงแต่ละจังหวะชีวิตถ้าเปรียบไปก็คงเป็นฤดูแต่ละฤดูนั่นเอง  

ฤดูฝนปีนี้ก็เหมือนหลายปีที่ผ่านมา ฝนยังคงตกลงมาอยู่สม่ำเสมอ แม้ฝนนี้ไม่ใช่ฝนแรกของปี แต่สายลมในม่านฝนในบางวันยังดูน่ากลัวอยู่เช่นเดิม ในช่วงฝนแรกเข้ามาเยือน เมฆฝนสีดำทะมึนจะปรากฏเหนือขอบฟ้า ความทะมึนดำขับความน่ากลัวของยามค่ำคืนให้แจ่มชัดขึ้น แต่ก็นั้นแหล่ะ ใช่ว่าสายฝนจะไม่ขาดจากฟ้า สายฝนก็เหมือนกับสายลม บางวันก็มีลม บางวันก็มีฝน แต่ ๒ วันที่ผ่านมาฝนไม่ตก ฟ้าเป็นสีฟ้า อากาศแจ่มใสกลับมาเยือนอีกครั้ง เมื่อฟ้าใสไร้เมฆฝน ชายชราจึงเอาเรือออกวางไซลั่น และวางเบ็ดอีกครั้ง หลังจากจมอยู่กับสายฝนบนกระท่อมเปล่าเปลี่ยวเพียงลำพังมา ๒ วันเต็ม

แม้ว่าการออกเรือหาปลาในแต่ละครั้งจะเหมือนกันทุกวัน แต่ในครั้งนี้กลับไม่เหมือนครั้งผ่านมา เพราะการออกหาปลาในครั้งนี้ ชายชราเอาเรือออกไปหาปลาไกลจากกระท่อมมาก

การออกไปหาปลาในที่ไกลๆ เช่นนี้ สำหรับชายชราถ้าในหลายปีก่อนมันเป็นเรื่องราวปกติ แต่ในยามแก่เฒ่าเช่นนี้ การตื่นแต่เช้าไปดูเบ็ดนั้นมีความเสี่ยงต่อชีวิตอยู่บ้าง เนื่องเพราะสายตาอาจพร่ามัว แต่นั้นก็เป็นเพียงความกังวลของคนอื่น ชายชราได้แสดงให้เห็นแล้วว่า แม้จะต้องไปหาปลาไกลเพียงใดก็ไม่ได้ทำให้ชายชราหวั่นวิตก แต่สิ่งที่ทำให้ชายชราหวั่นวิตกกลับเป็นการไม่ได้ออกไปหาปลามากกว่า

“ถ้าให้นั่งๆ นอนๆ ฟังเสียงฝนอยู่ในกระท่อมกับออกไปหาปลา ออกไปหาปลายังสนุกกว่า มีความสุขกว่า แม้ว่าบางทีเราจะไม่ได้ปลา แต่เราก็มีความสุข เพราะเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ และเราเลือกที่จะทำ”

บริเวณที่ชายชราสร้างกระท่อมเอาไว้พักเวลามาหาปลาห่างออกมาจากหมู่บ้านมาก จึงไม่มีบ้านเรือนของผู้คน แต่ก็นั้นแหละ แม้ว่าจะไม่มีผู้คนมาปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณกระท่อมของชายชรา และบริเวณที่ชายชราใช้วางเบ็ดก็ไม่มีคนอื่นไปวาง แต่พื้นที่วางเบ็ดก็มีน้อย ยิ่งช่วงหน้าน้ำมาก เกาะแก่งจะจมอยู่ใต้น้ำ พื้นที่มนการวางเบ็ดก็มีน้อยลง และที่สำคัญน้ำเป็นน้ำใหญ่ พอน้ำใหญ่ปลาก็มีอิสระแหวกว่ายเข้าไปหากินยังริมฝั่งตรงไหนก็ได้ เมื่อพื้นที่มีน้อย การแสวงหาพื้นที่ในการวางเครื่องมือหาปลาไกลออกไปจากจุดเดิมจึงเกิดขึ้น

หากไม่กล่าวจนเกินเลยนัก ทุกครั้งที่ชายชราออกหาปลา ก็ไม่ต่างกับการเสี่ยงดวงตามวงพนัน เพราะการวางเบ็ดไว้ในน้ำ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าปลาจะผ่านมากินเหยื่อช่วงไหน ถ้าปลาเข้ามากินเหยื่อถือว่าเทพีแห่งโชคชะตาเข้าข้าง โชคชะตาจึงเป็นสิ่งตัดกันไม่ขาด แม้ว่าการฝากความหวังไว้กับแม่น้ำจะเป็นเหมือนเอาโชคชะตาไปผูกแขวนไว้กับความเนิ่นช้าที่ไกลห่างการไปถึงเป้าหมายก็ตามที

พูดตามความจริงแล้ว การหาปลาในแม่น้ำใช่ว่าใครจะหาก็ได้ แต่การหาปลาในแม่น้ำต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนหาปลา การหาปลานั้นยาก และซับซ้อน พอๆ กับคนไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ต้องไปทำข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์ คนหาปลาแต่ละคนก็จะมีวิธีการหาปลาแตกต่างกันออกไป และเครื่องมือหาปลาบางชนิดก็เป็นเครื่องมือพิเศษ คนหาปลาบางคนไม่เคยใช้ก็ใช้ไม่เป็นเอาเสียเลย การหาปลาจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในคราวเดียวกัน

ชายชราเล่าให้ฟังว่า ช่วงวัยหนุ่มมีเรี่ยวแรงก็ไหลมอง แต่ในยามแก่เฒ่าการหาปลาด้วยการใส่ไซลั่น และวางเบ็ดดูเป็นการหาปลาที่แกทำได้ และทำได้ดี

“สมัยเป็นหนุ่ม เขาชวนไปหาปลาตรงไหนไปหมด ออกไหลมองแต่ละรอบได้ปลาไม่ต่ำกว่าสิบ แต่ก็อย่างว่านั่นมันเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว สมัยก่อนน้ำมันไม่เป็นอย่างนี้ คนหาปลาก็ไม่ค่อยเยอะ เราออกไหลมองรอบหนึ่งก็เลยได้ปลามาเยอะ ได้มาทีเรียกว่ากินปลากันจนไม่อยากกิน สมัยก่อนนี่ไม่ขายกันเป็นกิโล ปลาตัวใหญ่เราก็ขายแพงหน่อย ปลาตวเล็กเราก็ขายถูก ก็ขายตามขนาดของปลา แต่ตัวใหญ่มากๆ ก็จะขายกันเป็นกำ อย่างปลาบึกสมัยก่อนเขาก็ขายกันเป็นกำ--การขายเป็นกำเป็นวิธีการค้าขายของคนท้องถิ่นก่อนยุคที่จะมีตราชั่ง วิธีการขายคือใช้เชือกวัดรอบสิ่งที่เราจะขาย สมมุติว่าจะขายปลาก็เอาเชือวัดรอบตัวปลา จากนั้นก็เอาเชือกนั้นมาพับครึ่ง พอพับครึ่งเสร็จก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งกำเชือกไปจนสุดปลาเชือก เพื่อให้รู้ว่าได้กี่กำ”

วันและคืนได้หมุนเวียนผ่านไปเหมือนสายน้ำมีน้ำท่วมแล้วก็ลด เมื่อแล้งก็มีฝนตกลงมาให้น้ำอีกครั้ง การเปลี่ยนผ่านในบางครั้งเป็นดั่งการตอกย้ำให้หวนนึกถึงเรื่องราว และจดจำเรื่องราวในห้วงยามที่ผ่านมา แต่การจดจำเรื่องราวในหนหลัง หลายคนบอกว่ายิ่งแก่ตัวไป ความจำยิ่งลดลง แต่สำหรับชายชราผมกับรู้สึกว่ายิ่งแก่ ยิ่งลายคราม สมกับวันวัยแห่งประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน

บางครั้งบางทีหลักไมล์การเดินทางของชายชราอาจอยู่บนใบหน้าที่แข็งแกร่ง การสะสมไมล์เดินทางของชายชราล้วนแล้วแต่คือรอยทางของเกลียวคลื่นจากเรือหาปลาที่พุ่งเข้ากระทบฝั่ง และปลานับจำนวนไม่ถ้วนที่ชายชราหาได้ในแต่ละปีคือ หลักไมล์แสดงระยะทางของการเดินทางบนสายน้ำของชายชรา

“ปลามันไม่ได้น้อยลง คนเยอะขึ้นก็จริงอยู่ ดูอย่างพ่อเฒ่าไปหาปลาทุกวัน ใส่มอง ใส่เบ็ด ก็ได้ปลามากิน หากคนหาปลาทุกคนทำอย่างนี้ไม่เอาเปรียบปลาจนเกินไป ปลามันก็มีเยอะเหมือนเดิม บางคนนี่เอาระเบิดไประเบิด แล้วปลาที่ไหนจะเหลือ คนเราเอาเปรียบปลาเกินไป ปลามันก็ไม่อยากให้คนได้กินบ้างเป็นการตอบแทนกัน คนเราอยู่อย่างนี้หาอยู่หากินต้องพึ่งพาอาศัยกัน ปลาตัวไหนมันติดเบ็ดติดมองของเราก็เพราะมันเกิดมาเพื่อเรา แต่ตัวไหนที่มันโดนระเบิดตาย บางทีมันก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา แต่เราไปเอามันมาไปฆ่ามันก่อน

ปลาติดมองกับปลาโดนระเบิดมันไม่เหมือนกัน ปลาติดมองนี่ไม่ตาย มันว่ายมาติดเอง ชีวิตมันถูกลิขิตมาแล้ว แต่คนเอาระเบิดไประเบิดปลานี่ มันเอาเปรียบปลาเกินไป ปลามันว่ายน้ำอยู่ๆ ดี ไม่รู้เหนือรู้ใต้ เสียงตูมดังขึ้นใต้น้ำ ถ้าอยู่ในรัศมีของคลื่นแรงระเบิดนี่ร้อยทั้งร้อยหงายท้องหมด พวกระเบิดปลามันหากินไร้คุณธรรม มันอยากได้ปลาตัวใหญ่ไปขาย มันก็เลยเอาระเบิดมาใช้ พอระเบิดทีหนึ่ง มันเอาแต่ปลาตัวใหญ่ ปลาตัวเล็กไม่เอา ความจริงปลาตัวเล็กนี่มันจะโตได้ แต่โดนระเบิดตายก่อน ปลามันก็เลยน้อยลง ถ้าคนหาปลาใช้วิธีการหาปลาแบบพื้นบ้าน ปลามันก็ยังมีมาก อย่างเราอยากกินปลาใหญ่เราก็ใส่มอง--ตาข่าย, อวน ตาใหญ่ พอปลาเล็กมันว่ายมามันก็ผ่านไปได้ แต่ถ้าเราอยากกินปลาตัวเล็กด้วย เราก็ใช้มองตาเล็ก ถ้าเราทำอย่างนี้เหมือนกันหมด เมื่อเราตายไป รุ่นลูกรุ่นหลาน เหลนของเราก็จะมีปลากินกันต่อไป เราอย่าไปคิดว่ากูมาก่อน กูกินก่อน กินหมดกูก็ไป ไม่เหลือไว้ให้ใคร คนคิดอย่างนี้ มันเป็นคนโง่ คิดแต่จะได้เพียงคนเดียวไม่แบ่งคนอื่น มันไม่มีความสุขหรอก”

“แล้วพ่อเฒ่าไม่ขึ้นไปเหนืออีกหรือ”
“ไม่ได้ไป ช่วงนี้หยุดก่อน ถึงขึ้นไปหาปลาก็หาปลาไม่ได้ ไปเปลืองน้ำมันเปล่าๆ”
“ตอนนี้พ่อเฒ่าไปหาปลาถึงไหน”    
“แถวผากันตุง แก่แล้วไปไกลไม่ค่อยได้”

‘ผากันตุง’ ที่ชายชราว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มหินผาที่มีอยู่หลายแห่งในแม่น้ำ กลุ่มผาเป็นแท่งหินเหล่านี้ส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำตลอดปี กลุ่มหินผาอีกประเภทหนึ่งจะมีสันดอนทรายอยู่รอบๆ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอน กลุ่มหินผาลักษณะนี้จะมี ‘ดอน’ และ’หาด’ ประกอบอยู่ด้วย

ตรงผากันตุงมีเรื่องเล่าขานกันมาว่า “ผากันตุงเป็นผาขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางสายน้ำโขงตรงข้ามกับผาพระ ผากลางน้ำโขงซึ่งมีน้ำล้อมรอบ ในอดีตหลังจากชาวบ้านเคารพสักการะผาพระเสร็จก็จะพากันนำ ‘ตุง’ หรือธงยาวของทางเหนือที่ใช้ในพิธีกรรม มาปักไว้ตรงแก่งหินก้อนใหญ่กลางแม่น้ำ ชาวบ้านจึงเรียกสืบต่อกันมาว่า ผากันตุง”

บริเวณผากันตุงทำหน้าที่เป็นพื้นที่หาปลาของชายชรามาอย่างยาวนาน--นานขนาดที่แกรู้ว่า รอยที่เกิดจากการกัดเซาะบนหินเป็นรอยของปลาชนิดไหนมาฝากรอยคมเขี้ยวของมันเอาไว้ ความรู้เรื่องรอยฟันปลานี้ ชายชราได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกหลานอย่างไม่หวงแหน  โดยเฉพาะกับตี๋หลานชาย ชายชราได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่หลานชายคนนี้อย่างเต็มที่ ตี๋เองก็ออกหาปลากับชายชราตั้งแต่เล็ก บ่อยครั้งคนหาปลาด้วยกันจะเห็นเด็กชายตัวเล็กถือคันเบ็ดเดินตามหลังชายชราลงเรือ

สำหรับคนหาปลาแล้ว ไม่ใช่ว่าพวกเขาพอใจอยากหาปลาตรงไหนก็ทำได้ แต่คนหาปลาต่างมีพื้นที่หาปลาของตัวเอง คนหาปลาจะรู้ว่าพื้นที่ของตนจะหาปลาด้วยวิธีการใด เมื่อใด หากรู้จังหวะ ช่วงเวลา คนหาปลาก็จะได้ทรัพย์ในน้ำกลับมา

การวางเครื่องมือหาปลา คนหาปลาต่างต้องเคารพในกันและกัน และหลักการนี้ทำกันมาแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ คนหาปลาต่างยึดถือกฏเกณฑ์ของการไม่เอาเปรียบกันและกัน ในการวางเครื่องมือหาปลาแต่ละครั้งจะไม่มีการวางเครื่องมือหาปลาบริเวณพื้นที่หาปลาของคนอื่นเด็ดขาด แต่ถ้าจะวางเครื่องมือหาปลาในพื้นที่ของคนอื่นก็ต่อเมื่อ เจ้าของพื้นที่อนุญาตหรือไม่ใช้พื้นที่แล้ว คนหาปลาคนอื่นจึงจะเอาเครื่องมือหาปลาของตัวเองไปวางได้ การพึ่งพาอาศัย และการให้เกรียติกันของคนร่วมน้ำเดียวกันล้วนอยู่บนพื้นฐานของการเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นสำคัญ

“เราคนหาปลาด้วยกันเอาเปรียบกันมันไม่ดี เราเคยหาที่ไหนเราก็หา อย่าไปหาที่ของคนอื่น เรามี’ลั้ง’ ของเรา คนนอื่นเขาก็มีลั้งของเขา แต่ถ้าไหลมองนี่ก็มาไหลด้วยกันได้ เพราะมันต้องใช้พื้นที่ส่วนร่วม แต่พวกวางเบ็ด วางไซลั่นนี่ เราต้องหาพื้นที่เอาเอง ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นวางตรงไหนได้ปลา เราก็ไปวางที่ของเขาอย่างนี่ไม่ดีหากินไม่หมาน เราต้องเคารพเขา แต่ถ้าเขาไม่วางเบ็ด เราอยากได้ปลาเราก็ไปขอเจ้าของพื้นที่เขาวางได้ จริงอยู่แม่น้ำมันไม่ใช่ของใคร แต่พื้นที่ทำกินเราก็ต้องแสวงหาเอากันเอง แม่น้ำสายใหญ่อยู่ข้างหน้า มันต้องมีสักที่แหละที่พอให้เราหาอยู่หากินได้”

ในชีวิตจริงสำหรับชายชราแล้วไม่ได้มีเรื่องเคร่งเครียดจริงจังตลอด ชีวิตก็มีจังหวะของมัน ไม่ได้ต่างอะไรกับแม่น้ำ สำหรับชายชราในบางครั้งแกก็มีเรื่องราวชวนหัวให้ได้อำกันบ้างในบรรดาคนคุ้นเคย อย่างเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่องนี้

วันหนึ่งมีคนเห็นชายชราเอาเรือขึ้นเหนือไปตอนเช้า แต่ตอนเย็นก็เห็นแกกลับมา เลยถามว่าทำไมรีบกลับมาได้ปลาเยอะหรือ ชายชราก็ตอบกลับมาว่า กลับมานี่ยังไม่ได้หาปลาหรอก แต่ลืมเอาข้าวสารไปด้วย เลยย้อนกลับมาเอาข้าว เพราะเดี๋ยวจะไม่มีข้าวกิน

แม้เรื่องราวอย่างนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เมื่อคนหาปลาอาวุโสมีเรื่องแบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่ใครๆ พากันพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทุกครั้งที่ใครพูดเรื่องนี้ ชายชราก็จะหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเสมอ ยิ่งเวลาได้น้ำใสหนักดีกรีเข้าไปหลายจอก แกก็จะร้องเพลงรำวงอย่างสนุกสนานอยู่เสมอ...

มาเถิด มาเถิดแก้วตา รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ รำวงดีกว่าร่าเริงหัวใจ...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…