Skip to main content

หลังจากวันแรกจนถึงวันนี้ ผมลองนับเดือน นับปีดูแล้ว ผมมาอยู่เมืองชายแดนริมแม่น้ำแห่งนี้ ล่วงเข้าไป ๕ ปีแล้ว ใน ๕ ปีของการใช้ชีวิต แน่ล่ะย่อมแตกต่างจาก ๗๖ ปีของชายชราอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ผมได้เห็นไม่ต่างกับชายชราเลยแม้แต่น้อย

แม้จะนานกี่ชั่วอายุคน ผู้คนริมฝั่งน้ำยังคงพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ อยู่เช่นเดิม คนหาปลายังคงหาปลา แม้ว่าจะได้ปลาน้อยลงก็ตามที คนขับเรือรับจ้างก็ยังคงขับเรืออยู่เช่นเดิม แม้ว่าจะมีข่าวการเกิดขึ้นของสะพานข้ามแม่น้ำก็ตามที คนแบกของตรงท่าเรือก็ยังคงทำหน้าที่แข็งขันกว่าเดิม แม้จะแบกของได้น้อยลง ชีวิตหลายชีวิตยังคงเป็นอยู่เหมือนเคยเป็นมาตราบเท่านาฬิกาชีวิตของแต่ละคนยังก้าวเดิน

ยามเช้าของบางเช้า ผู้คนยังคงเดินทางไปสู่จุดเริ่มต้นของชีวิตแตกต่างกันออกไป ผมก็เช่นกัน เช้านี้มีนัดกับชายชราอีกครั้ง หลังจากไม่ได้พบกันหลายวัน บางทีมันอาจไม่ใช่เป็นวัน มันเป็นเดือนเสียด้วยซ้ำที่เราไม่ได้เจอกัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ทุกครั้งหากมีใครพูดถึงชายชรา ผมจะนึกถึงรอยยิ้มอันแจ่มใส และเรื่องเล่าต่างๆ ของชายชราอยู่เสมอ แต่ก็มีบ้างบางทีที่ผมได้เห็นอารมณ์อย่างอื่นปรากฏบนใบหน้าของชายชรา

ในเย็นวันหนึ่ง ขณะผมเดินทางไปหาชายชราถึงกระท่อม เมื่อไปถึงผมถามถึงปลา คำตอบที่ได้รับกลับมาก็ไม่ต่างจากเมื่อ ๒ วันก่อนเช่นกัน เมื่อพูดถึงเรื่องการหาปลาไม่ได้ครั้งใด อารมณ์ผิดหวังก็จะปรากฏขึ้นมา และคำพูดต่างๆ นานาก็จะพรั่งพรูออกมา คำพูดเหล่านั้นล้วนเป็นการบ่นด่าถึงเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอารมณ์ผิดหวังจะมีอยู่บ้าง แต่ชายชราก็ไม่ค่อยแสดงให้ใครได้เห็นเท่าใด บางครั้งการได้อยู่กับบางสิ่งเนิ่นนานซ้ำแล้วซ้ำเล่าคงทำให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับมันได้ดี หรือบางทีการปล่อยวางกับเรื่องราวบางสิ่งตามแนวทางของศาสนาคงทำให้ชายชรายิ้มแย้มอยู่เสมอในวันที่หาปลาไม่ได้

เช้าวันนี้ ลมหนาวยังคงยะเยือกอย่างเคยเป็นมา หลังขึ้นควบมอเตอร์ไซด์คู่ชีพ มันก็พาผมวิ่งไปตามถนนคดเคี้ยวของดอยหลวง ถนนสายนี้เป็นถนนเลียบแม่น้ำ ขณะถนนไต่ขึ้นภูเขา เราจึงเห็นแม่น้ำอยู่ข้างล่าง

ความขาวทึบของสายหมอกทำให้ต้องเปิดไฟหน้ารถ แม้รถจะวิ่งช้า แต่ความหวาดกลัวก็เกิดขึ้นกับหัวใจได้ไม่ใช่น้อย เพราะรถที่วิ่งสวนทางมาบางคันวิ่งมาด้วยความเร็ว ไฟตัดหมอกของรถบางคันทำให้ผมต้องหลับตาหลบแสง ปีนี้เองผมรู้ว่าดวงตาไม่สามารถจะสู้แสงสว่างจ้าได้เหมือนเคย หากเปรียบกับชายชราแล้ว เราช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ชายชราร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง สายตายังดี ขับเรือฝ่าความมืดก็เคยทำมาแล้ว ออกไปหาปลาในวันที่สายหมอกหนาเหมือนสายฝนก็ทำมาแล้ว ชายชราไม่เคยมีปัญหาเรื่องสายตา แต่สำหรับผมอายุยังไม่เท่าไหร่สายตาก็เกเรเสียแล้ว

ขณะอยู่หลังเบาะอาน ผมคิดถึงคำพูดของชายชราที่บอกว่า ตอนเอาเรือออกไปหาปลาแรกๆ ก็กลัวน้ำอยู่เหมือนกัน แต่พอนานเข้าก็ไม่กลัวแล้ว ความกลัวมีอย่างเดียวในตอนนี้คือ กลัวว่าจะไม่ได้ปลาเท่านั้น หากพูดถึงความกลัวแล้ว อันความกลัวนั้นมันวิ่งมาจู่โจมหัวใจของทุกๆ คนอยู่เสมอ แต่เราจะจัดการกับความกลัวอย่างไรต่างหากเป็นเรื่องสำคัญกว่า และเมื่อเราจัดการกับความกลัวไม่ได้ ในรอยทางบางรอยของบางชีวิต ความกลัวจึงเป็นฆาตกรทำร้ายผู้หวาดกลัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า...

เมื่อรถวิ่งมาเกินครึ่งทาง ผมค่อยๆ ผ่อนเบาเครื่องยนต์ และหักรถเข้าข้างทาง หลังรถจอดนิ่ง ผมก็ยกนาฬิกาขึ้นมาดู เข็มสั้นเข็มยาวของนาฬิกาบอกเวลาว่าใกล้สิบโมงเช้า แม้ว่าจะสายเต็มที แต่สายหมอกยังไม่จางหาย อารณ์นั้นผมคิดถึงเป้าหมายในการเดินทางขึ้นมาฉับพลัน เป้าหมายข้างหน้ายังอยู่อีกไกล หากเมื่อไปถึงปลายทางแล้วเป้าหมายเราเปลี่ยนแปลงไป จิตใจของผมจะเป็นเช่นไร คงไม่ต่างอะไรกับสายหมอกที่เจอมา เพราะความทึมเทาอันบดบังความกระจ่างไว้คงหม่นเศร้าเกินกว่าจะเล่าให้คนอื่นฟังได้

ขณะรถใกล้ถึงเป้าหมาย ผมก็ชะลอความเร็วของรถลงอย่างช้าๆ แดดเช้าของวันเข้ามาแทนที่สายหมอกแล้ว หลังจอดรถผมก็เข็นมันเข้าไปซุกไว้ในป่าข้างทาง คงเป็นโชคดีของผมที่ไม่ต้องห่วงว่ารถจะหาย เพราะจากถนนลงไปยังกระท่อมมีไร่ข้าวโพดกำลังขึ้นมาพองามบดบังทิวทัศน์ทั้งสองข้างทางเอาไว้

ตรงทางลงไปสู่กระท่อมหาปลาของชายชราเป็นทางเดินเล็กๆ ผ่านไร่ข้าวโพดสูงซัดลดหลั่นกันไปตามก้อนหินที่ถูกนำมาเรียงแทนบันได ถ้าก้าวพลาดโอกาสจะได้ลงไปข้างล่างเร็วขึ้นมีอยู่สูงเช่นกัน เมื่อพ้นไร่ข้าวโพดมา ผมก็มาถึงกระท่อมของชายชรา

เมื่อลงไปถึงกระท่อมผม ไอ้แดงสุนัขพันทางที่ชายชราเก็บมาเลี้ยงก็ส่งเสียงเห่าขึ้นมา ผมตวาดให้มันเงียบ เมื่อมันได้ยินเสียง มันก็เงียบและเดินเข้ามาหา เดินวนเวียนอยู่รอบตัว ผมส่งเสียงหายใจดังฟืดฟาดออกมา ก่อนจะเดินจากไป หลังไอ้แดงจากไปแล้ว ผมก็มองหาเจ้าของกระท่อมอยู่นาน แต่ก็ไร้วี่แววผู้เป็นเจ้าของกระท่อม

หลังเฝ้ามองหาอยู่นาน ผมก็ถือวิสาสะเดินขึ้นไปบนกระท่อม ตรงระเบียงด้านนอกของกระท่อมกองไฟยังไม่มอดดับดีนัก บนหิ้งเหนือกองไฟกระติ๊บข้าวถูกเก็บไว้เรียบร้อย หลังมองเห็นกระติ๊บ ผมก็ลุกขึ้นเดินไปเปิดกระติ๊บ ข้าวในกระติ๊บยังไม่มีร่องรอยที่บ่งบอกได้ว่ามีคนมากินข้าว เมื่อเก็บกระติ๊บไว้ที่เดิม ผมก็รู้ได้ว่า ตอนนี้ชายชราออกไปหาปลา และอีกนานกว่าที่ชายชราจะกลับมา เมื่อคิดดังนั้นผมก็ล้มตัวลงนอนคิดเรื่องราวเรื่อยเปื่อย และในที่สุดก็เผลอหลับไป ผมไม่รู้ว่าหลับไปนานแค่ไหน แต่ผมก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อได้ยินเสียงคุ้นเคยดังอยู่ใกล้ตัวผม

“นอนหลับสบายเลย มานานหรือยัง มาคนเดียวหรือ”
“ครับมาคนเดียว พ่อเฒ่าได้ปลาไหม”
“พอได้อยู่ แต่ไม่ได้ปลาตัวใหญ่ ได้สัก ๒ กิโลนี่แหละ”
“กินข้าวมาหรือยัง”
“กินมาแล้วครับ”
“นึกว่ายังไม่ได้กินมา ถ้ายังไม่ได้กินก็ไปเอาปลามาปิ้งกินได้”
“แล้วพ่อเฒ่ากินข้าวหรือยัง”
“กินแล้ว กินตั้งแต่เช้า กินเสร็จก็ออกไปเก็บกู้เบ็ด”

ขณะเราพูดคุยกันพ่อเฒ่าก็สาละวนอยู่กับการเปลี่ยนเสื้อผ้า หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ ชายชราก็เก็บกวาดตรงระเบียงกระท่อม ก่อนเที่ยงหลังจัดการภาระทุกอย่างเสร็จสิ้น ทั้งให้อาหารหมา รดน้ำผัก ชายชราก็หอบเชือก และกล่องใส่ดวงเบ็ดไปนั่งใต้ร่มข่อย เพื่อลงมือผูกขอเบ็ด ไม่นานนักเบ็ดจำนวนหลายสิบก็ถูกผูกเข้ากับเชือกเส้นใหญ่ หลังผูกเบ็ดเข้ากับเชือกเสร็จ ชายชราก็ยื่นให้ผมดู แกบอกว่ามันคือ ‘เบ็ดค่าว--เบ็ดค่าวคือ เบ็ดที่ผูกกับเชือกต่อกันยาวๆ มีเบ็ดกับสายเบ็ดหลายตัว การผูกเบ็ดแบบนี้ภาษาท้องถิ่นทางเหนือเรียกว่า ‘ผูกเบ็ดเป็นค่าว’

“เบ็ดนี้เวลาเอาไปวางจะใช้ทั้งเหยื่อและไม่ใช้เหยื่อ ถ้าเราเอาไปวางจับปลาฝาไม ไม่ต้องใช้เหยื่อ เวลาวางเบ็ดเราก็เอาเบ็ดไปผูกไว้ตากคก พอปลาฝาไมมันลอยน้ำมาเห็นเบ็ด คิดว่าเหยื่อ มันก็กินเข้าไป พอมันกินเข้าไปเบ็ดจะเข้าไปติดในคอของมัน ปลาฝาไมนี้เวลามันกินเหยื่อมันชอบกลืนเข้าไปถึงคอ พอมันรู้ว่าไม่ใช่เหยื่อ มันก็จะดิ้น พอดิ้นเบ็ดดวงอื่นๆ ก็จะมาพันกับตัว แต่ถ้าเราจะเอาปลาอย่างอื่น เราก็ไปวางเบ็ดใกล้กับแก่ง ผูกสายเบ็ดอีกด้านไว้กับแก่ง จากนั้นก็เอากุ้งใส่เป็นเหยื่อ แล้วปล่อยให้สายเบ็ดจมลงในน้ำ  กุ้งที่เอามาเป็นเหยื่อนี่อย่าให้ตาย ถ้าตายปลามันไม่กิน เวลาเอาเบ็ดเกี่ยวกับกุ้งต้องเกี่ยวตรงหลังของกุ้ง ถ้าเราไปเกี่ยวตรงหัวนี่กุ้งมันตาย”

ชายชราเล่าพลางยกมือแสดงท่าทางที่ปลาฝาไมติดเบ็ดให้ผมดูไปด้วย

ผมเคยถามหลายคนที่รู้จักชายชรา พวกเขาต่างบอกคล้ายๆ กันว่า ในวัยยังมีเรี่ยวแรง ชายชราแกเคยไปหาปลาไกลถึงเขตประเทศพม่า บางครั้งก็ไปกับลูกๆ บางครั้งก็ไปกับเพื่อนหมู่บ้านอื่น ๓-๔ คน พอได้ยินเรื่องเล่าเนรื่อนี้ผมก็เลยอดถามชายชราไม่ได้ ในขณะนั่งคุยกันอยู่ใต้ร่มข่อย ผมจึงตัดสินใจถามชรา เพื่อคลายความสงสัยในใจ

“พ่อเฒ่า เขาเล่ากันว่า พ่อเฒ่าเคยไปหาปลาถึงพม่าจริงไหม”
“จริง ก็เอาเรือหาปลาลำใหญ่กว่าเรือหาปลาลำที่อยู่ข้างล่างนี่แหละขึ้นไป”
ชายชราพูดพร้อมกับชี้มือให้ผมดูเรือหาปลาลำเล็กของแก
“แล้วได้ปลาเยอะไหม”
“บางครั้งก็ได้ปลาเต็มลำเรือเอากลับมาแทบไม่ไหว”
“ไปอยู่กี่วัน”
“๔-๕ วัน”
“แล้วเอาปลาไปขายไหน”
“บางทีก็เอาไปขายเชียงแสน แต่ถ้าวันไหนล่องเรือลงมาแล้วรู้ว่ามีคนเอาปลาเข้าไปขายที่เชียงแสนก่อนก็จะไม่เอาปลาเข้าไปขาย ก็จะเอาปลามาขายที่เชียงของแทน”

“แล้วปลามันไม่เน่าหรือ”
“บางตัวก็เน่า บางตัวก็ไม่เน่า”
“แล้วตัวที่เน่าทำยังไง”
“ก็เอาตากแห้ง ย่างไฟเอาไว้เป็นปลาย่าง”
“แล้วช่วงนั้นขายปลาได้เงินเยอะไหม”
“ก็พออยู่พอกิน พอเลี้ยงลูกได้”
“แล้วตอนขึ้นไปหาปลาเขตพม่า พ่อเฒ่าอายุกี่ปี”

“ประมาณ ๓๐ กว่า ตอนอายุ ๓๐ กว่า ลาวยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พม่ามันก็ไม่รบกันมากเหมือนเดี๋ยวนี้ สมัยนั้นประเทศไหนมันก็สงบ คนก็เป็นญาติพี่น้องกัน ไปไหนก็ไม้ต้องกลัวอด อย่างเราไปพม่า เราก็ไม่กลัว เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราไปดี ถ้าเราไปเจอทหารหรือเจอคนตามหมู่บ้านริมน้ำ เขามาขอปลาเราก็แบ่งให้เขา แต่ช่วงที่เขายิงกันหนักๆ ช่วงนั้นจำได้ว่าก่อนลาวแตก ทั้งฝั่งพม่าก็ยิงกัน ฝั่งลาวก็ยิงกัน เราไปเราอยู่ตรงกลางพอดี หาปลาไปก็สะดุ้งไป บางทีไม่กล้านอนตามหาด ต้องอาศัยนอนตามบ้านคน เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งระเบิดตกลงมาใกล้ที่เรานอน โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร”

“แล้วตอนพ่อเฒ่าไปหาปลาเขตพม่าพ่อเฒ่าไปนอนที่ไหน”
“บางครั้งก็ไปนอนตามแก่งบ้าง บางครั้งก็นอนริมหาด บางครั้งก็ไปนอนบ้านเพื่อนคนพม่าที่รู้จักกัน”
“แล้วไปนอนริมฝั่งน้ำพ่อเฒ่าไปนอนยังไง”
“ก็ไปถางป่าตรงริมฝั่งปลูกกระท่อมเล็กๆ นอน แต่ไปหลายครั้งก็ไม่เคยได้นอนที่เดิมหรอก ย้ายที่นอนไปเรื่อยๆ”
“แล้วตอนนั้นมีทหารตามชายแดนหรือยัง”
“มีแล้ว แต่ถ้าขึ้นไปหาปลา บางครั้งทหารเขาก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าเขารู้เขาก็มาขอปลาไปกินแค่นั้น ถ้าเขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน แบ่งกันอยู่สู่กันกิน ปลามันหาได้เยอะหวงไว้กินคนเดียวไม่ได้หรอก บางทีกินไม่ทัน มันก็เน่าก็เสีย พอเสียก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเอาให้คนไปกินยังได้ประโยชน์กว่า”    

“ช่วงนั้นสนุกไหม”
“สนุก เพราะช่วงนั้นปลามันเยอะไปหาปลาไม่นานก็ได้ปลามากินแล้ว วันไหนได้ปลาเยอะ เราก็ไม่อยากหยุด แต่บางครั้งขึ้นไปหาปลามันก็เสี่ยงอยู่ แต่เสี่ยงก็ต้องทำ เพราะปลามันได้เยอะ ได้ทีก็คุ้มค่า”
“แล้วชพ่อเฒ่าขึ้นไปหาปลาแถวไหน”
“แถวตั้งสลัม ตั้งอ้อ ท่าล้อ ท่าอี่กุ้ย บ้านด่าน”
“แล้วทำไมขึ้นไปหาปลาแถวนั้น”
“ตรงนั้นน้ำมันเชี่ยว มีหินมีแก่งเยอะ ปลาก็เยอะ ปลามันก็อาศัยอยู่ตามแก่งหิน พอแก่งหินมันเยอะปลาก็เยอะ”
“พ่อเฒ่าตอนนี้แก่งต้นอ้อ ตั้งสลัมไม่มีแล้ว เขาจีนระเบิดทิ้งหมดแล้ว”

“เขาระเบิดได้ยังไง”
ชายชราถามพร้อมมองหน้าผม ดาวในดวงตาแกไม่ส่องแสงเมื่อได้ยินข่าวนี้
“ถ้าเอาแก่งในน้ำออก ปลามันก็ไม่มี มีแก่งก็มีปลา ไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เพราะปลามันอาศัยกินไคร้น้ำตามแก่งหิน”

“ถ้าให้ขึ้นไปหาปลาพม่าอีกพ่อเฒ่าจะไปไหม”
“คงไม่ไปแล้ว ถึงขึ้นไปก็คงไปไม่ถึง เพราะเรือใหญ่จากจีนล่องลงมามันอันตราย ฟองน้ำจากเรือใหญ่มันแรง มันพัดเรือเล็กล่มได้ มันไม่คุ้ม แล้วตอนนี้ทางราชการพม่า-ลาว-ไทย ก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน ถ้าขึ้นไปหาปลาตอนนี้ก็กลัวจะโดนจับ ช่วงที่ลาวแตกใหม่ๆ นี่คือไปอยู่หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งใกล้จะไปไม่อยู่แล้ว แต่เราก็คิดว่า ยังไงก็จะไม่ไปแล้ว ฤดูฝนหน้าขอเป็นช่วงสุดท้ายแล้วกัน

ช่วงนั้นเจอเหตุการณ์หลายอย่าง ที่จำได้ก็ช่วงที่ไปนอนแถวตั้งอ้อ ตอนนั้นนอนกันทางฝั่งลาว ช่วงนั้นลาวแตกใหม่ๆ เสียงปืนยังดังอยู่เป็นระยะ ถ้าบอกว่าไม่กลัวก็ไม่ได้ แต่กลัวก็กลัว ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเราได้ไปแล้วจะกลับบ้านก็ยังไม่ได้ปลาพอขาย ก็ต้องอยู่กันต่อ พอไปถึงใกล้กับตั้งอ้อก็เอาเรือเข้าฝั่งกะว่ายังไงเสียคืนนี้ก็ต้องนอนตรงหาด พอเอาของลงเรือเสร็จ ยังไม่ได้หุงข้าวด้วยซ้ำ ทหารใส่ชุดเต็มยศเลยเดินมาหาเรา พวกเรา ๓-๔ คนแต่ละคนไม่เคยเจอ กลัวก็กลัว แต่ไม่รู้จะทำยังไง

พอทหารกลุ่มนั้นเดินมาถึง ก็ถามว่ามาจากไหน เราก็บอกว่าเป็นคนไทย มาหาปลา เขาก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะช่วงนั้นเรื่องพรมแดนนี่มันไม่ได้เป็นเหมือนอย่างนี้ พอเขารู้ว่าเรามาทำอะไร เขาก็บอกอยากได้ปลาไปเป็นอาหาร เราก็มองหน้ากัน แต่ก็ให้เขาไป ๒๐ กว่าตัว ปลาตัวใหญ่ทั้งนั้น เสียดายก็เสียดาย แต่ถ้าเทียบกับชีวิตแล้ว ปลาพวกนี้ไม่นานเราก็หาใหม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นอะไรไปคนทางบ้านไม่รู้จะเป็นยังไง พอเขาได้ปลาแล้วเขาก็ไป ไม่ใช่เขามาปล้นนะ แต่เขามาขอแบ่งเราไปกิน เราก็เข้าใจเขา ช่วงนั้นเขากำลังเปลี่ยนแปลงใหม่ ข้าวปลาอาหารก็หายาก เพราะกำลังยิงกัน เขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน”

หลายครั้งชายชราขึ้นไปหาปลาไม่ได้ไปคนเดียว การไปหาปลากับเพื่อนหลายคนทำให้เกิดพรมแดนแห่งการเรียนรู้ของคนร่วมลุ่มน้ำเดียวกัน ใช่ว่าจะมีเฉพาะคนหาปลาคนไทยที่ชายชราสนิทชิดเชื้อ ในช่วงเดินทางรอนแรมขึ้นเหนือ เพื่อไปหาปลา ช่วงนั้นชายชราได้รู้จักกับคนพม่าแล้วก็เป็นเสี่ยวกันมาจนถึงปัจจุบัน ชายชราบอกว่าถึงตอนนี้ไม่ได้ขึ้นไปหาปลาแล้ว แต่ก็ยังจดจำเพื่อนที่เคยพึ่งพาอาศัยกันได้ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานแล้วก็ตามที

เส้นพรมแดนสำหรับชายชรามันอาจะเป็นเพียงเรื่องราวสมมติที่ถูกเขียนขึ้นมา เส้นพรมแดนสมมตินี้ไม่สามารถจะขีดแบ่งความรู้สึกผูกพัน คุ้นเคยของผู้คนทั้งสองฝั่งน้ำลงไปได้ เส้นพรมแดนสมมติตามสถานะของชายชราแล้วมันจึงเป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงกับความลวง

ช่วงเวลาแห่งความทรงจำของคนเรานั้นแม้ว่ามันจะเป็นความทรงจำที่ดีและไม่ดี มนุษย์ย่อมจดจำได้เสมอ แต่การจดจำนั้นก็อยู่กับว่า ใครจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้เนิ่นนานกว่ากันเท่านั้นเอง...

ถ้าถามว่าแล้วเหตุผลกลใดคนหาปลาเช่นชายชราต้องขึ้นไปหาปลาไกลถึงขนาดนั้น คำตอบที่ได้จากชายชราคือ เพราะข้างบนมันมีปลาเยอะกลับมาถึงเชียงของครั้งหนึ่งก็ได้ปลาเต็มลำเรือ

และหากถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้ชายชรามายึดอาชีพหาปลานั้น คำตอบคือ สมัยก่อนก็รับจ้างทั่วไปบ้าง ตัดไม้เผ่าถ่านขายบ้าง แต่พอเจ้านายเขาไม่ให้ตัดไม้ เราก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกินก็เริ่มลองหาปลา อีกอย่างรับจ้างมันก็เบื่อ ตัดไม้เผ่าถ่านขายมันก็เบื่อ เพราะเราต้องหลบซ่อนไม่ให้เจ้านายเขาเห็น เพราะถ้าเขาเห็นเขาจะจับ

“เดี๋ยวนี้พ่อเฒ่าหาปลามากี่ปีแล้ว”
“เริ่มหาปลาตอนอายุ ๒๔ ตอนนี้ก็อายุ ๗๖”
“ถ้านับตอนนี้ด้วยก็ ๕๐ กว่าปีแล้วใช่ไหมพ่อเฒ่า แล้วอีกกี่ปีถึงจะเลิกหาปลา”
“คงไม่เลิกหรอก ถ้าแรงยังมีก็คงต้องทำกันต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไร อีกอย่างเราก็แก่แล้วไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ หาปลานี่แหละพอได้อยู่ได้กิน”

ชีวิตบนสายน้ำของชายชราคงเป็นอย่างชายชรากล่าว หากจะให้ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่หาปลา แกคงทำไม่ได้ และความสุขจากการทำงานอื่นที่ไม่ใช่การหาปลาสำหรับชายชราแล้วคงไม่มี เพราะงานหลายอย่างชายชราเคยทดลองทำมาแล้ว สุดท้ายก็มาจบลงตรงการหาปลา ๕๐ กว่าปีที่ชายชราออกเรือหาปลา ประสบการณ์ได้มาแม้จะไม่มาก แต่ก็คงไม่น้อยสำหรับคนๆ หนึ่ง

สายน้ำอันเกี่ยวเนื่องอยู่กับสายชีวิตของผู้คนได้สอนให้ชายชราเข้าใจหลายสิ่งอย่างมากขึ้น ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ผมขาวโพลนบนศีรษะเหล่านี้ล้วนบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนย่อมสูญหายไปตามเวลาอันสมควร

เมื่อเราเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นนัก และมีที่สิ้นสุด เราก็ต้องเชื่อด้วยว่า การเดินทางของแม่น้ำจากตั้นกำเนิดครั้งแรกจนถึงวันนี้ แม่น้ำช่างยาวไกลจนสิ้นสุดได้ยากยิ่ง และวันหนึ่งแม่น้ำก็คงหยุดไหลเช่นกัน

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…