Skip to main content

หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟัง

เรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ และคิดเอาเองเป็นวรรคเป็นเวรเสียด้วยอย่างเช่นเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ลุงรัญเล่าให้ฟังว่า “หลังจากประเทศเราได้รัฐบาลใหม่ คนที่ถูกขนานนามว่า รากหญ้ามีความยินดีปรีดาเป็นอย่างมาก เพราะนโยบายเก่าๆ ที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้เคยทำไว้จะถูกนำมาสานต่ออีกครั้ง อย่างโครงการเงินล้านก็จะกลับมาอีกครั้ง และนโยบายหลายส่วนคนทั้งประเทศก็จะได้รับผลประโยชน์ อย่างโครงการผันน้ำโขงให้คนในภาคอีสานที่รัฐบาลโดยท่านผู้นำที่หน้าตาไม่ค่อยหล่อแถมพูดไม่เพราะในบางครั้งกำลังตัดสินใจที่จะทำ คนอีสานก็ได้ประโยชน์ เพราะจะได้ทำนากันตลอดปี ที่สำคัญแผ่นดินอีสานที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นดินแดนแห่งความแห้งแล้งก็จะได้ไม่แล้งอีกต่อไป”

นอกจากลุงรัญจะพูดถึงโครงการนี้แล้ว แกยังพูดถึงอีกหลายโครงการของรัฐบาลจนผมนึกว่า แกเป็นโฆษกรัฐบาลที่มีหน้าที่แถลงนโยบายของรัฐบาล หลังนิ่งฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลโดยคนรากหญ้าเสร็จสิ้นลง กับข้าว ๓-๔ อย่างก็ถูกส่งใส่มือ ก่อนออกจากร้านค้ารถเข็ญขวัญใจคนรากหญ้า ผมกลับรู้สึกอิ่มใจจาการฟังครั้งนี้อย่างประหลาด และรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยนิ่งฟังอะไรได้นานอย่างนี้มาก่อน

เมื่อกลับมาถึงบ้านกับข้าวก็ถูกนำไปวางไว้บนขันโตกในห้องครัว แล้วผมก็มานั่งครุ่นคิดอะไรบางอย่างตรงม้านั่งนอกบ้าน ผมจะไม่คิดมากเลยหากว่า เรื่องที่ผมได้ยินเป็นเรื่องไกลตัวผม แต่เรื่องที่ผมได้ยินเป็นเรื่องใกล้ตัวผมจนยากที่จะสลัดมันหลุดทิ้งไปได้ อย่างที่ ๑ ในฐานะลูกอีสาน ผมไม่เคยปฏิเสธว่าอีสานไม่แห้งแล้ง และที่สำคัญน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อคนอีสานมากเช่นกัน แต่ในขณะที่รัฐบาลหลังการรัฐประหาร และดูเหมือนว่า หลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ และได้เป็นแกนนำรัฐบาลสมใจ ท่านผู้นำก็เริ่มเสนอนโยบายใหม่ๆ หลายอย่าง หนึ่งในนั้นที่ท่านผู้นำย้ำเป็นนักหนาว่า จะต้องทำให้ได้คือ โครงการผันแม่น้ำโขง เพื่อคนอีสาน

หากว่ารัฐบาลใหม่อยู่ครบเทอม (๔ ปี) โครงการนี้อาจดำเนินไปข้างหน้า สิ่งที่เป็นคำถามของผมคือว่า รัฐบาลใหม่จริงใจกับพี่น้องคนอีสานมากน้อยแค่ไหน? ในฐานะคนอีสานคนหนึ่ง ผมกลับคิดว่า รัฐบาลใหม่ไม่ได้มีความจริงใจต่อคนอีสานเลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าท่านจะนำเสนอโครงการผันน้ำ เพื่อแผ่นดินอีสานจะได้มีน้ำใช้ และอีสานก็จะไม่แล้งอีกต่อไป คนอีสานจะได้ทำนาทั้งปี ที่สำคัญคนอีสานจะต้องไม่พลัดถิ่นอีกต่อไป อะไรเป็นสาเหตุที่รัฐบาลนี้ไม่มีความจริงใจให้กับคนอีสานในทัศนะของผม

หากมองไปที่นโยบายเรื่องการผันน้ำโขงเพื่อแผ่นดินอีสาน เราจะได้พบว่า มันเป็นเพียงนโยบายที่จงใจหลอกคนอีสานโดยตรง เพราะน้ำโขงที่จะผันมาให้คนอีสานใช้ ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า การผันน้ำระบบท่อ การผันน้ำจากแม่น้ำโขงนั้น รัฐบาลยังคงไม่ได้ศึกษาอย่างแท้จริงว่า วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำโขง และน้ำที่ผันมานั้นคนอีสานผู้เป็นเจ้าของพื้นที่จะได้ใช้ประโยชน์ช่วงไหน อีกอย่างหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทบทวนโครงการนี้ให้ดีคือ วันนี้เรารู้อย่างแท้จริงแล้วหรือยังว่า น้ำโขงที่จะผันมานั้น คุณภาพของน้ำเหมาะสมกับการทำเกษตรในหน้าแล้งแล้วหรือยัง?

การผันน้ำโขงผ่านท่อแล้วนำมาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ หากน้ำที่ผันมาเป็นช่วงหน้าฝน สารเคมีในภาคเกษตรที่โดนฝนชะล้างลงสู่แม่น้ำ เราก็จะได้อ่างเก็บน้ำที่เต็มไปด้วยสารเคมี และน้ำที่นำมาเก็บไว้บนอ่างเก็บน้ำ เพื่อรอการปล่อยน้ำในช่วงหน้าแล้ง น้ำในอ่างเก็บน้ำก็เสี่ยงที่จะมีความเน่าเสีย และนี่คือคำถามอีกข้อหนึ่งว่ารัฐบาลใหม่จริงใจกับคนอีสานมากมายแค่ไหน ท่านถึงกล้าปล่อยน้ำเสียจากการกักเก็บในอ่างมาสู่ไร่นาของคนอีสาน

เราในฐานะคนอีสานเห็นดีเห็นงามกับโครงการนี้แล้วหรือยัง และเราพร้อมที่จะเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงแล้วหรือยัง หากว่าเราพร้อมแล้ว สิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไปคือ เมื่อเขาปล่อยน้ำไปแล้ว การจัดการน้ำที่ไหลไปตามท่อจะอยู่ในมือของใคร ชาวบ้านคนท้องถิ่นหรือว่าเจ้าหน้าที่รัฐ และงบบริหารจัดการจะมาจากไหน แน่ละสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เมื่อน้ำถูกปล่อยไปสู่ไร่นาของผู้ใด ผู้ใช้น้ำก็จะต้องจ่ายค่าน้ำในจำนวนที่เราใช้ไป และเมื่อเวลานั้นมาถึง พี่น้องชาวอีสานดินแดนที่ราบสูงอันอุดมไปด้วยความแห้งแล้ง เราก็จะได้พบความจริงที่ว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีมิเตอร์’

คำว่า ‘ของฟรีไม่มีในโลก’ คงเป็นคำพูดที่ใช้ได้จริงเมื่อเวลานั้นมาถึง ในฐานะคนอีสานคนหนึ่งจึงได้แต่เพียงอยากบอกพี่น้องคนอีสานด้วยกันว่า เราจะยอมเป็นเหยื่อของนอมินีกระนั้นหรือ หรือว่าเราจะต้องร้องเพลงถึงเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก ผมในฐานะลูกอีสานไม่อยากให้พี่น้องคนอีสานต้องเป็นอย่างนั้น และยอมรับชะตากรรมอย่างนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลุกขึ้นมาบอกท่านผู้นำของเราว่า ‘พอกันทีกับการหลอกลวง และโกหกของท่าน’ และท่านผู้นำเสนอโครงการนี้เสร็จอย่าลืมจับจมูกของตัวเองนะครับว่า มันยาวขึ้นมาเพิ่มเหมือนพิน๊อคคิโอหรือเปล่า...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…