Skip to main content

ถ้าจะกล่าวว่า "หนังเกาหลีเป็นหนังสร้างชาติ" ก็เป็นการกล่าวที่ไม่เกินไปนัก อุตสาหกรรมหนังเกาหลีได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนขยายความนิยมได้ทั่วโลก ด้วยพล็อตเรื่องที่เป็นเฉพาะตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามภัยคุกคามชาติในแต่ละยุคสมัย สำหรับ 30 ปีที่แล้วภัยคุกคามแห่งชาติของเกาหลีใต้คือ สายลับเกาหลีเหนือ การแทรกแซงจากมหาอำนาจสหรัฐฯ และรัฐบาลเผด็จการทหาร จึงไม่แปลกใจนักที่หนังอย่าง The Quiet Family (1998) Taegukgi (2004) และ The Host (2006) เป็นหนังที่ออกมาให้ประชาชนได้ชม

อย่างไรก็ตามทิศทางของหนังเกาหลีในช่วง 10 ปีให้หลังก็เปลี่ยนไปตามภัยความมั่นคงแห่งชาติ ความเหลื่อมล้ำจากทุนนิยม สถาบันครอบครัวแบบขงจื่อที่เสื่อมลง และความล้มเหลวของรัฐสวัสดิการ กลายเป็นปัญหาของชาติแทน และปรากฏเป็นสัญญาณเตือนในหนังต่าง ๆ เช่น Along with the Gods (2017) The Forgotten (2017) และ The Parasite (2019)


สร้างหนังเกี่ยวกับความชั่วร้ายของทุนนิยมแบบไม่น่าเบื่อ

ทุกคนรู้และสัมผัสได้ถึงความเลวร้ายของทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำแก่สังคมที่นับวันก็จะถ่างออกมาเรื่อย ๆ มีหนังหลายเรื่องที่สร้างเกี่ยวกับความชั่วร้ายของทุนนิยม ความชั่วร้ายของนายทุน และการกดขี่ขูดรีด แต่การสร้างหนังในสตอรี่ดังกล่าวแล้วสนุกได้อย่างไร ไม่เป็นการเทศนาสั่งสอนมากเกินไปได้อย่างไร คือความสามารถและศิลปะของผู้เขียนเนื้อเรื่องและผู้กำกับหนัง

The Parasite กลายเป็นตัวอย่างมาสเตอร์พีซของการทำหนังด่าทุนนิยมที่ไม่น่าเบื่อ เป็นหนังที่ไม่ต้องปีนบันได ผู้ชมก็สามารถรู้ได้ว่าผู้กำกับต้องการสื่อถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เทคนิคการซ่อนสัญลักษณ์ความเหลื่อมล้ำในแต่ละเฟรมนั่นแหละที่เป็นศิลปะให้ผู้ชมไม่รู้สึกถูกยัดเยียดมากเกินไป ในขณะที่ผู้ชมดูหนังอยู่ก็ยังคงมีชีวิตอาศัยในระบบทุนนิยมอยู่ และเอาเปรียบขูดรีดผู้อื่นอยู่ ทั้งในแบบที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จอย่างสูงของ The Parasite ก็กลายเป็นมาตรฐานที่หนักอึ้งของผู้สร้างหนังเกาหลีที่ตามมา ว่าจะสร้างเรื่องราวด่าทุนนิยมอย่างไรให้พล็อตเรื่องไม่ซ้ำ ตัวผมเองก็เคยเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาอีกนานที่เกาหลีจะสร้างหนังด่าทุนนิยมได้ในมาตรฐานเดียวกันได้อีก แต่ทว่าแค่เพียง 2 ปีให้หลัง เขาก็สร้าง Squid Game (2021) ขึ้นมา


ตั้งคำถามความยุติธรรมใน Squid Game

พล็อตเรื่องลักษณะคนรวยว่างงานไม่มีอะไรทำเลยสร้างเกมส์เอาคนมาจนมาฆ่ากันด้วยการใช้อำนาจเงินทำลายความเป็นมนุษย์ของคนจน เป็นพล็อตที่พบได้ในหนังหลาย ๆ เรื่อง เช่น 13 เกมสยอง (2549) และ Battle Royale (2000) และก็เป็นเนื้อเรื่องหลักของ Squid Game เช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ทำให้หนังสนุกจนผมดูต่อเนื่องไม่กินข้าวกินปลาคือ รายละเอียดของหนังที่แฝงเรื่องคำถามยุติธรรมเศรษฐกิจสังคมเกาหลี

ม่านแห่งความไม่รู้

A Theory of Justice ของจอห์น รอวลส์ (John Rawls) [1] เป็นผลงานที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมและตั้งคำถามเกี่ยวกับความยุติธรรมมากที่สุดงานหนึ่ง ข้อเสนอหลักของเขาคือ การพยายามหาจุดประนีประนอมระหว่างแนวคิดความเท่าเทียมและอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสองแนวทางนี้ขัดกันตลอดเวลา เพราะแนวคิดเท่าเทียมนิยมมองว่าความยุติธรรมต้องเกิดจากการมีผลลัพธ์ที่เท่ากัน แต่อรรถประโยชน์กลับมองว่าความยุติธรรมไม่จำเป็นต้องเท่ากันก็ได้ แต่ต้องมีการกระจายทรัพยกรแล้วก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สังคมสูงสุด ซึ่งรอวลส์ก็หาทางออกของคู่ขัดแย้งว่า ถ้าสมมติให้ทุกคนต้องเข้าสู่สังคม เข้าสู่สนามแข่งขันโดยที่ก่อนการแข่งจะมีการกระจายสิ่งของจำเป็นพื้นฐาน ทุกคนก็จะเลือกการกระจายที่ตนเองได้เปรียบที่สุด แต่ถ้าทุกคนอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้ กล่าวคือ ละทิ้งตำแหน่งในสังคมและตัวตนทุกอย่าง เหลือเพียงแต่การตัดสินใจล้วน ๆ โดยปราศจากอคติแล้ว ทุกคนก็จะเลือกหนทางการกระจายที่คนที่เสียเปรียบที่สุดได้ประโยชน์ที่สุด เพราะเนื่องจากเราทุกคนไม่รู้ว่าเมื่อถอดม่านความไม่รู้ออกแล้ว เราอาจเป็นคนที่เสียเปรียบที่สุดในสังคมก็ได้ ดังนั้นทางออกดังกล่าวจึงเป็นการรับประกันขั้นต่ำสุดให้กับทุกคน สรุปแล้วการเลือกปฏิบัติให้แต้มต่อแก่ผู้ที่ลำบากที่สุดจึงเป็นความยุติธรรมสังคม

การแข่งขันอย่างเสรี โดยมีกฎกติกาที่บังคับใช้ทุกคนเหมือนกันหมด และทุกคนเริ่มที่จุดสตาร์ทที่เดียวกัน คือลักษณะการแข่งขันอย่างเป็นธรรมที่ระบอบทุนนิยมที่มีหัวใจถวิลหา เมื่อมีการแข่งขันที่เป็นธรรมแล้วไม่ว่าผลการแข่งออกมาเป็นอย่างไรล้วนยุติธรรม ดังนั้นการอยู่ในม่านแห่งความไม่รู้คือหัวใจหลักของเกมส์ต่าง ๆ ที่ปรากฎใน Squid Game ทุกคนเข้ามาแข่งขันโดยตัดสินใจเอง ไม่ทราบข้อมูลเกมส์ที่จะเล่นในแต่ละรอบ ไม่มีการใช้เครื่องมือใด ๆ แข่งขันแพ้ชนะขึ้นอยู่กับความสามารถและโชคล้วน ๆ โดยมีกรรมการที่เป็นกลางสวมใส่หน้ากากแห่งความไม่รู้คอยรักษาความสงบเรียบร้อย

ม่านแห่งความไม่รู้ไม่มีอยู่จริง

ม่านแห่งความไม่รู้กลายเป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมพอ ๆ กับที่ถูกวิพากษณ์อย่างกว้างขวาง จุดที่นักคิดคนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้คือ มันออกจะเป็นการเพ้อฝันและนำไปปฏิบัติได้ยากในความเป็นจริง การที่จะให้คนไม่มีอคติจากตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม คงเป็นไปได้แค่วิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้น รวมถึงการเลือกปฏิบัติที่เป็นคุณแก่ผู้ที่ยากลำบากที่สุดก็ไม่เกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ

เช่นเดียวกับที่ปรากฏในหนัง ถึงแม้ความมั่งคั่งไม่ได้เป็นปัจจัยแต้มต่อในการชนะเกมส์ แต่ตำแหน่งในสังคมกลับไม่สามารถสละหลุดไปง่าย ๆ มันติดตัวไปตลอดและก็กลายเป็นอภิสิทธิ์ที่เอาเปรียบผู้อื่นโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ การจบมหาวิทยาลัยโซลของซังอูช่วยให้เขากลายเป็นคนที่น่าเชื่อถือในทันที การเป็นหัวหน้าแก๊งอันธพาลของด็อกซูก็ทำให้เขาเป็นหัวหน้ากลุ่มกักขฬะและได้เปรียบเสมอเมื่อมีการเล่นเกมส์โดยใช้พละกำลัง การใช้ชีวิตมิจฉาชีพของแซบอคและมินโยก็ช่วยให้พวกเธอลักลอบนำมีดและไฟแช็คเข้ามาแข่งขันจนได้เปรียบคนอื่น การที่บยองกีจบหมอก็กลายเป็นแต้มต่อให้เขาได้ข้อมูลล่วงหน้าของเกมส์แต่ละรอบ การที่ซังฮีทำงานโรงงานกระจก 30 ปีก็ทำให้เขามีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าคนอื่น และเมื่อมีอคติบังตาทุกคนก็ล้วนตัดสินใจว่าการกระจายทรัพยากรต้องให้ตัวเองก่อนเพราะตัวเองลำบากที่สุด

นอกจากนี้สังคมปิตาธิปไตยของเกาหลีที่ฝังรากลึกแม้กระทั่งการละเล่นของเด็ก ก็ทำให้กลุ่มคนที่ลำบากอย่างเพศหญิงและคนแก่ถูกคัดออกเป็นตัวเลือกแรกจากการคัดหาสมาชิกเสมอ

ตั้งคำถามเจตจำนงเสรี

ทฤษฎียุติธรรมแนวเสรีนิยม เชื่อว่าการกระจายที่ยุติธรรมที่สุดคือการกระจายตามกลไกตลาดและการแลกเปลี่ยนโดยเจตจำนงเสรี ถ้าเชื่อแบบสุดโต่งแล้วละก็ แม้แต่การนำอวัยวะของตนเองไปขาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องทางศีลธรรมและยุติธรรมดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ในหนังก็ได้ตั้งคำถามว่าจะแน่ใจอย่างไรว่าการที่แต่ละคนตัดสินใจแลกเปลี่ยนในตลาดเพราะเจตจำนงเสรีจริง ๆ เขาอาจตัดสินใจเพราะถูกบังคับด้วยอำนาจทางกายภาพก็ได้ เช่น การที่เจ้าหนี้นอกระบบไปบังคับกีฮุนให้เซ็นมอบอวัยวะเพื่อชดใช้หนี้ หรือแม้แต่การที่ผู้เล่นแต่ละคนมาเซ็นสัญญาก่อนเข้าเล่น “Squid Game” โดยสมัครใจ มันมาจากเจตจำนงเสรีของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์โดยปราศจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจจริงหรือ?

โชคและความสามารถ

แนวความคิดความเท่าเทียมด้านโอกาสเชื่อว่า ถ้าทุกคนเข้าถึงโอกาสได้เหมือนกันก่อนที่จะมีการแข่งขันเกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้ผลลัพธ์การแข่งแตกต่างกันก็ยุติธรรมเสมอ ทุกคนมีความฝันแต่ไม่จำเป็นที่ว่าทุกคนต้องสำเร็จตามความฝันเสมอ เพราะการจะไปถึงฝันได้ก็ต้องใช้ความขยัน พรสวรรค์และโชคด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกินขอบเขตอำนาจของสถาบันสังคมจะกระจายให้เท่าเทียมกันได้ ดังนั้นในโลกทุนนิยมที่มีหัวใจจึงอนุญาตให้ดารา นักร้องและผู้มีพรสวรรค์ มีรายได้ตอบแทนสูงกว่าคนสามัญธรรมดาทั่วไป ตรงกันข้าม ผู้ที่โชคร้ายแทงม้าแพ้อย่างกีฮุนในตอนต้นเรื่องก็ถือว่าเป็นเรื่องยุติธรรมดีแล้ว และต้องแบกรับหนี้สินที่ก่อขึ้นเอง

อย่างไรก็ตาม หนังก็ตั้งคำถามถึงแนวคิดยุติธรรมดังกล่าวโดยฉายภาพให้ผู้ชมเห็นชัดเจนมากขึ้นในรูปผู้แพ้ต้องถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะเป็นโชคที่คาดเดาความน่าจะเป็นได้ อย่างการเลือกระหว่างแผ่นกระจกนิรภัยกับไม่ใช่นิรภัย หรือโชคที่คาดเดาความน่าจะเป็นไม่ได้ อย่างจาฮยองแพ้เกมส์ดีดลูกแก้วเพราะบังเอิญมีก้อนหินไปเบี่ยงเส้นทาง ซ้ำร้ายการพนันระหว่างคนจนและคนรวยกลับไม่เท่าเทียมกันอีก สำหรับคนจนการพนันมันคือหนทางการรอดชีวิต แต่สำหรับมหาเศรษฐีมันคือความสำราญชนิดหนึ่ง ดังเห็นได้ว่าบรรดาแขกวีไอพีเลือกแทงพนันว่าผู้เล่นเบอร์ใดจะรอดชีวิตอย่างสนุกสนาน เพราะเงินที่แพ้จากการพนันก็ไม่ทำให้ขนหน้าแข้งร่วงได้

 

ความล้มเหลวรัฐสวัสดิการตะวันตกในสังคมเอเชียตะวันออก

เกาหลีดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการสังคมจำนวนมากภายหลังการปฏิวัติประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การเดินรอยตามสวัสดิการสังคมแบบยุโรปก็ไม่ได้สร้างให้กาหลีเป็นรัฐสวัสดิการแบบยุโรปได้อยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้น การพยายามเดินรอยตามตะวันตกกลับกลายเป็นว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าเมื่ออยู่ในบริบทที่แตกต่างกันอย่างสังคมเอเชียตะวันออก

การลดความสำคัญของสถาบันครอบครัว (Defamilialization)

ในสังคมการผลิตก่อนทุนนิยมนั้น ครอบครัวและชุมชนมีบทบาทหน้าที่หลักในการสร้างและกระจายสวัสดิการให้แก่สมาชิกของตน โดยรัฐมีเพียงหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมเข้าสู่ทุนนิยมและต่อมามีการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศตะวันตก หน้าที่ในการกระจายรัฐสวัสดิการที่เคยเป็นของครอบครัวก็ถูกถ่ายโอนไปเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐแทน ยิ่งรัฐมีหน้าที่ในการกระจายสวัสดิการมากขึ้นเท่าไหร่ ความสำคัญของครอบครัวก็ถูกลดทอนมากไปเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่สังคมแบบเอเชียตะวันออกที่ให้ความสำคัญของครอบคัวตามคติของขงจื่อ

อย่างไรก็ตาม ลักษณะสำคัญหนึ่งของรัฐสวัสดิการตะวันตกที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอคือ “Breadwinner” กล่าวคือ สวัสดิการต่าง ๆ ล้วนติดอยู่กับสิทธิของเพศชายหัวหน้าครอบครัวเป็นหลัก โดยไม่ให้ความสำคัญของเพศหญิง งานบ้านของเพศหญิงไม่เคยถูกนับรวมใน GDP ของชาติ ซึ่งเป็นฐานสำคัญต่อการหาเงินไปใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ระบบรัฐสวัสดิการตะวันตกจึงต้องอาศัยอำนาจรัฐที่เข้มแข็ง การจ้างงานเต็มของแรงงานเพศชาย และสร้างภาวะพึ่งพาให้เพศหญิง

ดังนั้น ความฉิบหายของรัฐสวัสดิการตะวันตกจะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ทันที เพียงแค่หัวหน้าครอบครัวตกงาน กีฮุนที่เคยมีสถานะมั่นคงจากการเป็นลูกจ้างบริษัทกลับมีชีวิตล้มลกจนกลับมายืนใหม่ไม่ได้เมื่อเขาตกงาน จากเดิมที่เขาเป็นเสาหลักในการหาเงินเข้าบ้านให้แม่ เมียและลูก ก็กลายเป็นคนขี้แพ้ ไม่เอาถ่าน อกตัญญูในทันที เพียงเพราะเขาไม่มีสิทธิประโยชน์จากการจ้างงาน เมียเขาขอหย่า ส่วนเขาก็ต้องเกาะมารดาด้วยเงินบำนาญของแม่ ยิ่งไปกว่านั้น เมียเขาก็ยังไม่สามารถหลุดกับดักภาวะพึ่งพิงได้อยู่ดี เพราะต้องหาสามีใหม่ที่มีฐานะการงานมั่นคงกว่า เพื่อเขาจะได้ให้สิทธิประโยชน์เพื่อแผ่มาถึงเธอกับลูกสาวติดของสามีคนเก่า

สมรรถนะรัฐที่จำกัดในสังคมที่ซับซ้อน

รัฐสวัสดิการตะวันตกเป็นรัฐที่ต้องอาศัยรัฐราชการเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายสังคม สมรรถนะของรัฐที่เข้มแข็งจึงสำคัญมาก รัฐต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนแต่ลละคน เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ แล้วนำมาวางแผนนโยบาย อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมซับซ้อนมากขึ้น และจำนวนคนมากขึ้นด้วยความเร็วที่มากกว่ารัฐราชการจะปรับตัวเสริมสมรรถนะได้ทัน การกระจายสวัสดิการสังคมก็เกิดความล่าช้าและไม่เพียงพอตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

การให้บริการของตำรวจในหนังก็เป็นภาพสะท้อนให้ได้ชมกัน ตำรวจไม่สามารถเข้าช่วยเหลือเหตุการณ์เล็ก ๆ หรือเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเพ้อเจ้ออย่าง “Squid Game” นายตำรวจจึงปฏิเสธการรับคำร้องของกีฮุนและไล่เขาไป เมื่อรัฐราชการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนไม่ทัน มันก็ต้องอาศัยประชาชน ประชาสังคมด้วยกันเองที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ทว่าจะทำอย่างไรเล่า เมื่อหน้าที่การกระจายสวัสดิการมันถูกโอนย้ายไปที่รัฐแล้ว และด้อยค่าของการบริจาคและช่วยเหลือกันเองของประชาชน อีกทั้งข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจะถูกเก็บรักษาไว้ได้อย่างไร เมื่อผู้ก่อตั้ง “Squid Game” สามารถทะลวงหาข้อมูลหนี้สินของผู้เล่นแต่ละคนไอย่างไม่ยากลำบาก

ความซับซ้อนของความเหลื่อมล้ำเกินกว่าแก้ด้วยยารัฐสวัสดิการ

ความเหลื่อมล้ำและรัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรมเป็นปัญหาที่ซับซ้อนฝังรากลึกและมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม การมีรัฐสวัสดิการจึงไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือยาวิเศษรักษาทุกโรคในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐสวัสดิการที่ใจดีที่สุดที่เสนอสิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุดให้กับพลเมืองตนเองในฉากหน้า มันก็มีฉากหลังอยู่เสมอที่ต้องพบบุคคลที่ต้องถูกขูดรีดแรงงาน รัฐสวัสดิการแบบสวีเดนจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีการรับแรงงานต่างด้าวไร้ทักษะเพื่อมาทำงานหนักที่พลเมืองตนเองไม่ยอมทำ และเช่นเดียวกันกับในเกาหลี ที่ระบบเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการดำเนินไปได้เนื่องจากส่วนหนึ่งมันได้ขูดรีดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวอย่างอาลี ขูดรีดคนเกาหลีเหนือที่หนีมาเกาหลีใต้อย่างแซบอค

นอกจากนี้ ถึงแม้รัฐสวัสดิการเสนอสิทธิประโยชน์ที่เหมือนกันที่ดีที่สุด มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างความเท่าเทียมกันได้เสมอ เพราะแต่ละคนมีความจำเป็น มีรสนิยมที่แตกต่างกันในพหุสังคมที่หลากหลาย ในมื้ออาหารชั้นเลิศเสริฟในคืนก่อนเล่นเกมส์รอบสุดท้าย ซังอูที่เป็นคนในสังคมชั้นสูงตามมาตรฐานเกาหลีสามารถกินเนื้อริบอายราคาแพง และดื่มไวน์แดงชั้นดีอย่างไม่เคอะเขิน เมื่อเปรียบเทียบกับกีฮุนหนุ่มขับรถบรรทุกวัยกลางคนที่ต้องคอยชำเลืองและลอกเลียนพฤติกรรมของซังอู ส่วนแซบอคก็ทิ้งอาหารไว้กว่าครึ่งลงถังขยะเพราะไม่คุ้นชินกับอาหารชั้นเลิศแบบนั้น

 

รัฐสวัสดิการใหม่ที่เกาหลีกำลังสร้าง

เมื่อรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกกำลังถึงทางตันในสังคมเกาหลีแล้ว รัฐสวัสดิการแบบใหม่ที่ใฝ่ฝันกันจะเป็นลักณะอย่างไร อันที่จริงแล้วมันก็ปรากฎอยู่ในหนังเกาหลีหลาย ๆ เรื่องไม่ใช่เฉพาะแค่ Squid Game

สถาบันครอบครัวคือหน่วยสังคมที่สำคัญที่สุด

จริงหรือที่รัฐสวัสดิการต้องทำลายคุณค่าสถาบันครอบครัว? มันจะมีทางเลือกที่สามหรือไม่ที่การเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นสิทธิพื้นฐานพร้อม ๆ กับรักษาคุณค่าของสังคมตะวันออกอย่างสถาบันครอบครัวแบบขงจื่อ? ผมเองก็รู้สึกเช่นเดียวกันว่าคุณค่าบางอย่างเงินไม่สามารถทดแทนได้ อาหารฝีมือแม่ที่ทำต้อนรับลูกเสมอยามเหนื่อยล้ากลับมาบ้าน ข้าวกล่องที่ภรรยาทำให้สามีทุกเช้าก่อนไปทำงาน มันคงหมดความหมายไปทันทีเมื่อมันกลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยม ที่เราต้องจ่ายให้แม่ ให้ภรรยาทุกครั้งเมื่อทานอาหาร เราจะสามารถตอบแทนแม่ ตอบแทนภรรยาจากการเหนื่อยล้าทำงานบ้านได้อย่างไร โดยที่ไม่สร้างภาวะพึ่งพิงให้พวกท่าน?

ในหนังเรื่องนี้เราจึงมักเห็นการเตือนสติผู้ชมเกาหลีว่ากลับมาให้ความสำคัญสถาบันครอบครัวอีกครั้ง สร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นเก่าที่เสียสละตนเองสร้างชาติขึ้นมา สร้างความสมานฉันท์ร่วมกันระหว่างรุ่น สร้างรัฐสวัสดิการใหม่ที่ไม่เอา “Breadwinner” อีกแล้ว แต่ต้องรักษาครอบครัวไปให้ได้พร้อมกัน นโยบายสวัสดิการสังคมแบบใหม่ของเกาหลีจึงไม่ผูกติดเฉพาะหัวหน้าครอบครัวเพศชายอีกต่อไป แต่ขอให้เป็นครอบครัวญาติพี่น้อง ญาติห่าง ๆ ที่ทำงานอยู่ก็ได้ ก็เพียงพอต่อการขอสิทธิประโยชน์สวัสดิการจากรัฐได้

เงิน

เงินเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำนโยบายสวัสดิการสังคม การจะสร้างสังคมอุดมคติขึ้นมาได้มันก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเสมอ ความเชื่อเรื่องที่จะสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อชนชั้นกรรมาชีพ ทำสงครามกับชนชั้นนายทุน จะนำไปสู่ความล้มเหลว ตรงกันข้ามการสร้างรัฐสวัสดิการสำเร็จได้ ต้องมีการดึงคนทุกกลุ่มมาเข้าร่วมให้มากที่สุด

ความมั่งคั่งจากคนร่ำรวยเป็นแหล่งเงินสำคัญของรัฐสวัสดิการ และแน่นอนว่าจู่ ๆ ไปบังคับเก็บจากคนรวยมหาศาลก็เป็นเรื่องยากลำบาก พวกเขามีอำนาจและทางเลือกมากพอที่จะหลบเลี่ยงภาษีได้เสมอ ดังนั้นการจะเอาเงินจากคนร่ำรวยได้มันต้องมาจากความเต็มใจ เหมือนที่ปรากฏในแขกวีไอพีที่จ่ายเงินแทงพนันจำนวนมหาศาลเพื่อได้รับความบันเทิงกลับคืนมา ในขณะเดียวกันเงินก้อนนั้นก็นำไปจ่ายให้รางวัลแก่ผู้ชนะนำไปสร้างโอกาสตนเองได้ไหม หรือถ้าเกมส์เลิกกลางคันเงินก้อนนั้นก็จะนำไปแจกจ่ายให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทดแทน

เศรษฐกิจแบ่งปันและกรรมสิทธิ์ส่วนรวม

เกมส์ลูกแก้วเป็นเกมส์สร้างความสะเทือนใจให้ผู้ชมมากที่สุด เมื่อคู่หูที่เราไว้ใจที่สุดกลับกลายเป็นศัตรูในที่สุด อย่างไรก็ตามถ้าผู้ชมตั้งใจฟังดี ๆ ผู้สร้างเกมส์ก็ไม่เคยสร้างกฎกติกาการเล่นใด ๆ เลย พวกผู้เล่นต่างหากที่สร้างกฎการแข่งขันขึ้นมา และล้วนจินตนาการว่าต้องเป็นกฎการแข่งขันแบบทุนนิยมที่ต้องมีคนแพ้เสมอ อันที่จริงแล้วกฎแค่บอกว่าให้เอาลูกแก้ว 10 ลูกจากคู่ของท่านมาให้ได้ ซึ่งงทางออกที่ทุกคนจะรอดได้ก็คือ “กันบู” ตามที่คุณตาพยายาบอกใบ้ให้กุนฮีฟังหลาย ๆ ครั้ง กันบูก็คือลูกแก้วไม่เป็นของใครเลยแต่เป็นของส่วนรวม คุณกับคู่หูสามารถรอดไปพร้อมกันได้เพียงแค่นำลูกแก้วสิบลูกของตนเองแลกกับคู่หู อย่างไรก็ตามทุกคนต่างก็ตกหลุมการแข่งขันทุนนิยมไปหมด และต้องสูญเสียคนที่คุณรักไป ไม่ว่าภรรยา เพื่อน พ่อ ลูกน้อง สิ่งที่คนชนะพอจะทำได้เมื่อมันสายไปก็คือ อย่าลืมว่ามีคนที่เสียสละไปในทุนนิยมเพื่อให้เราอยู่รอดได้

ความไม่เห็นแก่ตัวและความเข้าใจจิตใจผู้อื่น

คนลักษณะนิสัยอย่างกีฮุนคือคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน (altruism) การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุดมคติเกาหลีจะแทบเป็นไปไม่ได้เลยถ้าผู้ชนะไม่ใช่กีฮุนแต่เป็นซังอู แต่ขณะเดียวกันความใจดีของกุนฮีก็สร้างสังคมอุดมคติไม่ได้เลยถ้าไม่มีพวกนักปฏิบัตินิยมอย่างซังอู

กีฮุนพร้อมยกเลิกเกมส์เสมอเพื่อรักษาชีวิตคนที่กำลังตายต่อหน้า แต่การตัดสินใจดังกล่าวในอดีตก็เกือบทำให้ภรรยาเขาต้องตายทั้งกลม และเช่นเดียวกัน เขาเกือบทำให้ชีวิตของผู้เล่นที่ตายไปสูญเปล่าทันทีเมื่อตัดสินใจจะเลิกเกมส์กลางคัน ในขณะเดียวกันถ้าคนเห็นแก่ตัวอย่างซังอูชนะ แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าเขาจะนำเงินไปช่วยเหลือพวกญาติ ๆ ของผู้เล่นที่เสียชีวิต แต่เขาเองก็มั่นใจความไม่เห็นแก่ตัวของพี่คนละสายเลือดอย่างกีฮุน และยอมให้กีฮุนเป็นผู้ชนะเพื่อนำเงินรางวัลไป

ในเรื่องกีฮุนหลั่งน้ำตานับครั้งไม่ถ้วน น้ำตาไม่ได้แสดงความอ่อนแอหรือขี้แพ้แต่อย่างใด แต่มันสะท้อนว่าเรายังเหลือความเป็นมนุษย์อยู่ รู้และสัมผัสความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ได้และอยากที่จะช่วยเหลือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า รากฐานระดับบุคคลแบบความไม่เห็นแก่ตัวและการเข้าใจจิตใจผู้อื่นมันก็ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน

[1] Rawls, John. 2005. (1971). A Theory of Justice. Original Edition. Cambridge, Mass: Harvard University Press.

โดย ภาคภูมิ แสงกนกกุล
 

บล็อกของ un sociologue normal

un sociologue normal
หนังเรื่อง สัปเหร่อ (2566) กระแสแรงแค่ไหน รายได้รวมทั่วประเทศกว่า 500 ล้านบาท [ข้อมูลจาก Major Group* ณ วันที่ 23 ต.ค. 2566] น่าจะบ่งบอกได้เป็นอย่างดี
un sociologue normal
โลกของหนังสือเด็กสำหรับผมคือโลกที่ผมไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสมาก่อน และแยกไม่ออกว่าหนังสือเด็กคืออะไร แตกต่างจากหนังสือผู้ใหญ่ยังไง? ทำไมต้องมีการแบ่งอายุคนอ่านด้วย  
un sociologue normal
จดหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมืองทุกพรรคพวกเราประชาชนผู้สนใจการพัฒนาสังคม อยากทราบว่า ท่านมีนโยบายด้านการศึกษาและการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรจากตำบลหรืออำเภอต่าง ๆ อย่างไรบ้างแล้วท่านพอรู้จั
un sociologue normal
ถ้าจะกล่าวว่า "หนังเกาหลีเป็นหนังสร้างชาติ" ก็เป็นการกล่าวที่ไม่เกินไปนัก อุตสาหกรรมหนังเกาหลีได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนขยายความนิยมได้ทั่วโลก ด้วยพล็อตเรื่องที่เป็นเฉพาะตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามภัยคุกคามชาติในแต่ละยุคสมัย สำหรับ 30 ปีที่แล้วภัยคุกคามแห่งชาติของเกาหลีใต้คือ สายลับเกาห
un sociologue normal
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาไทยเป็นสิ่งที่รับรู้ตรงกันทั้งจากประสบการณ์ที่เราพบเจอและในทางสถิติ ในปีการศึกษา 2535 ประเทศไทยมีจำนวนนักศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป (ปวส.
un sociologue normal
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมจะเปิดรับสมัครเพิ่มเติมโครงการ 1 อำเภอ1ทุน รุ่นที่ 3 รอบที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2555 โดยมีนโยบายจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ขอรับทุน คือ ผู้สมัครไม่ต้องยื่นหลักฐานรับรองรายได้ของครอบครัวจากเดิมที่จำกัดรายได้ไม่เกิน 1.5แสนบาทต่อปี และเพิ่มเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำในก
un sociologue normal
คำกล่าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อคณะนักเรียนทุนรัฐบาลโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (One District One Scholarship) หรือทุนโอดอส (ODOS) ในโอกาสที่นักเรียนทุนฯ สำเร็จการศึกษา ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 11.00 น.
un sociologue normal
คำกล่าวของ พ.ต.ท. [ยศขณะนั้น] ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อคณะนักเรียนทุนรัฐบาลโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (One District One Scholarship) หรือโอดอส (ODOS) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2547 เวลา 10.00 น. 
un sociologue normal
การศึกษาทำความเข้าใจและอธิบายโลกทางสังคม ต้องวางอยู่บนฐานสำคัญสองประการ 1) ตระหนักว่าปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นผลผลิตของมนุษย์ ไม่ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง 2) ตระหนักว่าผู้คนหรือองค์กรที่มีส่วนในการสร้างและ/หรือรักษาสภาพปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ทางสังคมไว้ มีมากกว่ากลุ่มเดียว ฝ่ายเดียว ขั้วเดีย
un sociologue normal
"รู้จักเลอแป้นมั้ย ที่ว่าเป็นเผด็จการน่ะ? ยายเคยทำแม่บ้านบ้านเค้านะ ซักผ้า รีดผ้า เก็บห้อง...
un sociologue normal
และแล้วพวกเราก็ต้องไกลบ้าน มีเพียงวิญญาณและเงาเดินทางเป็นเพื่อน ทะเลทรายและขุนเขารออยู่เบื้องหน้า ลัดเลาะฟันฝ่า บุกป่าข้ามผ่านชายแดน และหลังจากนั้น... สุดแต่ประสงค์ของเบื้องบน
un sociologue normal
“การศึกษาเรื่องของชีวิตนั้น เราต้องศึกษาจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของชีวิต ไม่ใช่ศึกษาจากหนังสือของนักคิดของพวกมีปัญญาที่นั่งคิดนั่งฝันเอาเอง” --เสนีย์ เสาวพงศ์. ความรักของวัลยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. 2548. หน้า 48.