โลกของหนังสือเด็กสำหรับผมคือโลกที่ผมไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสมาก่อน และแยกไม่ออกว่าหนังสือเด็กคืออะไร แตกต่างจากหนังสือผู้ใหญ่ยังไง? ทำไมต้องมีการแบ่งอายุคนอ่านด้วย
สำหรับคนที่เกิดในเจเนเรชั่นเอกซ์ ในครอบครัวคนจีนยากจนเขตเมืองกรุงเทพฯ หนังสือเด็กที่พอจะหาได้ตอนนั้นคือ ขายหัวเราะที่อยู่ในร้านบาเบอร์ เราอ่านกันในช่วงรอคิวตัดผม หรือไม่ก็หนังสือมังงะญี่ปุ่นผิดลิขสิทธิ์ที่เวียนกันอ่านกับเพื่อนๆ อ่านได้ไม่ปะติดปะต่อเพราะ บางสัปดาห์ก็หาอ่านไม่ได้ ก็อาศัยการเล่าปากต่อปากจากเพื่อนๆว่า เรื่องราวที่ไม่ได้อ่านเป็นอย่างไร
เมื่ออายุมากขึ้น สำหรับผมการอ่านหนังสือจะอ่านเฉพาะตำราที่ต้องใช้ทำมาหากินเท่านั้น และไม่ค่อยเจียดเวลาไปอ่านหนังสือนอกเวลา หรือหนังสือนวนิยายเพื่อความงดงามทางศิลปะเท่าไหร่ หนังสือเด็กจึงยิ่งเป็นสิ่งไกลตัวสำหรับผม
แต่เมื่อเร็วๆนี้ผมเพิ่งมีโอกาสได้เข้าวงการหนังสือเด็ก ผมเพิ่งทราบว่าหนังสือเด็กมีมากกว่าการ์ตูนหรือมังงะ แต่มีหนังสือภาพ นิยายเด็กต่างๆ อย่างไรก็ตามผมรู้สึกว่าราคาของหนังสือเด็กในไทยก็ค่อนข้างแพงเกินกว่าที่ค่าขนมของเขาจะหาซื้อได้ และห้องสมุดในไทยก็ขาดแคลนหนังสือเหล่านี้อยู่
ผมเพิ่งค่อยๆทำความเข้าใจว่า หนังสือเด็กมีไว้ทำไม และทำไมถึงสำคัญมาก เด็กๆทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึง
แน่นอนว่าหนังสือเด็กเองก็คล้ายหนังสือทั่วๆไปตรงที่ว่า มีหนังสือที่ดี และหนังสือที่แย่
สำหรับผม คิดว่าหนังสือเด็กที่ดีมีจุดประสงค์ต่างๆแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วเขาควรช่วยเด็กให้ (1) มีจินตนาการไร้ขอบเขต เพราะเด็กเป็นช่วงเวลาเดียวที่จินตนาการพรั่งพรูได้โดยอิสระ (2) มีฝัน หนังสือเด็กควรให้พื้นที่แก่เด็กในการฝัน มันเป็นช่วงเวลาที่มีค่าของมนุษย์ ก่อนที่เมื่อเติบโตแล้วโอกาสที่จะฝันค่อยๆหมดไปเพราะข้อจำกัดทางภายนอก (3) มีความเติบโต หนังสือเด็กช่วยสอนให้เด็กค่อยๆพัฒนาปรับตัว เข้าอกเข้าใจตนเอง ผู้อื่นและสังคมมากขึ้นๆ (4) มีความหวัง เพื่อจะฝากความหวังของผู้ใหญ่ที่ไม่มีวันสำเร็จในรุ่นเขา ส่งต่อให้เด็กได้ก่อร่างสร้างมันสำเร็จในรุ่นต่อๆไป
เมื่อสักครู่ผมได้อ่านหนังสือเด็กจบอีกเล่ม เหมือนหั่นหัวหอม ของผู้เขียน “สองขา” ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ผมรู้สึกว่า เสียดายโอกาสที่ตอนเด็กๆเราไม่ได้เติบโตพร้อมกับหนังสือเด็กเหล่านี้ และอยากให้เด็กรุ่นลูกหลานเราได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือเด็กให้ได้มากกว่านี้ (แน่นอนว่าผมเองก็ไม่ด้อยค่า ขายหัวเราะหรือมังงะที่เคยอ่านมาเช่นกัน เพราะผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้เราเรียนรู้เติบโตในอีกเส้นทางที่ต่างกันไป)
คำโปรยในปกหลังที่ชักชวนให้ผมอ่านคือ “มีใครบ้างที่ไม่เคยเสียใจ ไม่เคยเสียน้ำตา ไม่ถูกด่า ไม่ถูกนินทา ไม่ถูกเพื่อนล้อหรือไม่เคยประสบความรู้สึกเหมือนหั่นหัวหอมที่แม้เราพยายามจะเก็บน้ำตาไว้ข้างใน แต่ทว่าไม่อาจฝืนไว้ได้”
ผมรู้สึกว่าการจัดการความรู้สึกสูญเสีย และพ่ายแพ้ เป็นทักษะที่เด็กๆทุกคนควรจะพัฒนาไว้ เนื่องจากประสบการณ์ตนเองที่แข่งขันเรื่องเรียนแล้วชนะตลอดมา แต่ประสบความพ่ายแพ้ล้มเหลวครั้งใหญ่ในช่วงวัยรุ่น ก็ทำให้ชีวิตผมในตอนนั้นเสียศูนย์ และสูญเสียเวลาวัยรุ่นที่มีค่าไปหลายๆปี ถ้าตอนนั้นเราเรียนรู้ทักษะการยอมรับความพ่ายแพ้และการรู้จักลุกขึ้นสู้มาใหม่ อาจจะมีเส้นทางชีวิตที่ต่างจากปัจจุบันก็ได้
อย่างไรก็ตามผมก็ยังโชคดีที่ช่วงเวลาที่แย่ที่สุด ก็มีครอบครัวที่คอยประคับประคองเราขึ้นมาให้กลับสู่เส้นทางเดินต่อไปได้ ให้เข้มแข็งขึ้นมาและพร้อมที่จะรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอีกเป็นร้อยเป็นพันครั้งอย่างมีสติสัมปชัญญะมากขึ้น
กลับมาสู่เนื้อเรื่องหลักของ เหมือนหั่นหัวหอม อีกครั้ง ผมจะไม่สปอยรายละเอียดหนังสือนะครับ แต่ขออธิบายความรู้สึกส่วนตัว และภาพรวมของหนังสือหลังจากอ่านจบเมื่อสักครู่แล้ว
เป็นหนังสือเด็กที่ประกอบไปด้วย จินตนาการ ความฝัน การเติบโต และมีความหวัง
หนังสือเริ่มต้นลักษณะจำลองของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่วัฒนธรรมการล้อรูปร่าง กลั่นแกล้งคนเป็นสิ่งปกติ โดยแสดงผ่านสังคมเด็กชั้นประถม
หนังสือไม่ได้สอนให้เด็กเชื่อโดยทันที แต่ค่อยๆพัฒนาการคิดของตนเองจนพบว่า การกลั่นแกล้งมันไม่ดีอย่างไร และเราจะค่อยๆเปลี่ยนสังคมที่เต็มไปด้วยการกลั่นแกล้ง ให้กลายเป็นสังคมที่เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นได้อย่างไร ยอมรับความแตกต่างในสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว รูปลักษณ์ ระดับความมั่งมี ฯลฯ
ในขณะเดียวกันหนังสือก็สอนให้เรายอมรับคุณค่าตัวเอง ยอมรับคุณค่าของคนรอบข้าง ครอบครัว
หนังสือสอนให้เด็กเข้าใจผู้ใหญ่ เข้าใจข้อจำกัดของผู้ใหญ่ในบางสถานการณ์ มากกว่าที่จะสร้างรอยร้าวระหว่างรุ่น ระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก ไม่ได้สอนให้เด็กคิดว่าโลกที่เขาอยู่มันย่ำแย่เพราะผู้ใหญ่อย่างเดียว เพราะบางครั้งผู้ใหญ่เองก็พยายามในแบบของเขาแล้ว
หนังสือสอนให้เด็กร่วมคิดหาวิธี reconcile ตามวิธีของเด็กเอง โดยถึงแม้ว่าผู้เขียนหนังสือเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ใช้ทัศนคติของผู้ใหญ่ใส่ลงไปในหนังสือ แต่เสมือนสะกดตัวเอง รับบทบาทเป็นเด็กอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหา reconcile ให้ได้แบบเด็ก
เป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรค่าให้เด็กอ่าน และผู้ใหญ่ที่ขอใช้ช่วงเวลาเล็กๆในการกลับเป็นเด็กได้อ่าน
******ส่วนถัดจากนี้เป็นการวิเคราะห์โดยการใช้จริตของผู้ใหญ่ และเป็นเรื่องการเมือง***********
โดยส่วนตัวแล้วก็คิดว่าหนังสือเล่มนี้สะท้อนการเมืองไทยในปัจจุบัน และปัญหาสังคมที่น่าเป็นห่วงในอนาคต
ประการแรกคือ ความแตกแยกทางการเมืองของไทยยาวนานเกือบ2 ทศวรรษ ทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้ ที่จะ reconcile ไปแล้ว
ประการสอง ค่านิยมที่ต้องประสบความสำเร็จของยุคสมัยนี้รุนแรงมากขึ้น เด็กๆมีความกดดันจนคิดว่าต้องมีเงินมีความร่ำรวย โดยคิดว่าวิธีใดเป็นทางลัดก็เลือกใช้ โดยบางครั้งทางลัดก็อาจส่งผลกระทบคนอื่นได้ ในขณะที่อีกกลุ่มโทษทุกสิ่งอย่างว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถึงทำให้ตนเองไม่ประสบความสำเร็จ และรับไม่ได้กับความพ่ายแพ้ สูญเสียที่เกิดขึ้นในชีวิต
ซึ่งจริงๆแล้ว ความพ่ายแพ้ ความสูญเสียเป็นสัจธรรมของมนุษย์ทุกคน เรียนรู้ ยอมรับ ลุกขึ้นพยายาม รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง คือสิ่งที่เราทำได้
ดังเช่นโคว้ทจากหนังสือ “มองต่ำเราเหลือ มองเหนือเราขาด อย่าประมาทให้มองรอบๆ ขณะทีมือทำงาน” และ “มีใครบ้างที่ไม่เคยเสียใจ ไม่เคยเสียน้ำตา ไม่ถูกด่า ไม่ถูกนินทา ไม่ถูกเพื่อนล้อหรือไม่เคยประสบความรู้สึกเหมือนหั่นหัวหอมที่แม้เราพยายามจะเก็บน้ำตาไว้ข้างใน แต่ทว่าไม่อาจฝืนไว้ได้”
โดย ภาคภูมิ แสงกนกกุล