Skip to main content

 

ครั้งหนึ่ง

ชายคนหนึ่ง ขุดรูปสลักหินอ่อนที่สวยงามอย่างยิ่ง ได้จากท้องทุ่ง เขาจึงนำมันไปหานักสะสมของเก่า ซึ่งรักของสวยๆงามๆ และเสนอขายให้แก่เขา นักสะสมก็ซื้อไปในราคาสูง แล้วคนทั้งสองก็จากกัน

ในขณะที่ชายผู้นั้นเดินถือเงินกลับบ้าน เขาก็คิดและกล่าวกับตัวเองว่า

เงินก้อนนี้มีความหมายต่อชีวิตมากมายเหลือเกิน เป็นไปได้อย่างไร ที่ยังมีคนยอมเสียเงินมากมายถึงเพียงนี้ เพื่อแลกกับหินสลักที่ไร้ชีวิต ที่ถูกฝังอยู่ในดินมาตั้งพันปีแล้ว โดยไม่มีใครนึกฝันเช่นนี้”

 

ขณะนั้น

นักสะสมก็มองดูรูปหินสลักของเขา และคิดรำพึงกับตัวเองว่า

ช่างสวยงามอะไรเช่นนี้ ช่างมีชีวิตชีวาอะไรอย่างนี้ เป็นความฝันของดวงวิญญาณทีเดียวนะนี่ สดใสไปด้วยการนอนหลับอันแสนหวาน..มานานนับพันปี ใครกันนะ ที่ยอมแลกสิ่งนี้กับเงินที่ไร้ชีวิตและความฝันได้”

 

 

ครับ

งานเขียนสั้นๆแบบสาธกนิยายเกี่ยวกับเรื่องคุณค่านี้ เป็นงานเขียนที่ผมหยิบยกมาจากหนังสือ “ผู้เบิกทาง” ของคาลิล ยิบราน จากสำนวนแปลของกิติมา อมรทัต เป็นงานเล็กๆชิ้นหนึ่ง ที่ผมชอบมากพอๆกับงานอีกมากมายหลายชิ้นในรวมเล่มนี้ของยิบราน เพราะเขาสามารถสาธกเรื่องที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆของมนุษย์ - ให้เราเข้าใจได้โดยง่าย และทำให้เรารู้สึกว่า การมองเห็นคุณค่าของบางสิ่งบางอย่างที่ต่างกันของคนเรา และการตัดสินที่จะเลือก - เอาสิ่งที่แต่ละคนมองเห็นคุณค่าให้แก่ตัวเองนั้น แท้จริงแล้ว - หาได้มีใครเป็นคนผิดไม่ เพราะทุกคนต่างมีเหตุผลที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่ตัวเอง - ในการมองเห็นและเลือกด้วยกันทั้งนั้น

 

เช่น ชายที่มองเห็นเงินมีคุณค่าความหมายมากกว่ารูปสลักหินอ่อน ที่เขามองเห็นมันเป็นเพียงแค่ก้อนหินที่ไร้ชีวิต และไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับเขา นั่นเป็นเพราะว่า เขาอาจจะเป็นคนจนหาเช้ากินค่ำ และมีชีวิตอยู่อย่างอดๆอยากๆมาตลอดชีวิต ดังนั้น เงินย่อมมีคุณค่าความหมายแก่ชีวิตของเขา มากกว่ารูปปั้นหินอ่อนที่สวยงามอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าเขาเก็บไว้ไม่ยอมเอาไปขาย มันก็ไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์ใดๆที่จะทำให้ชีวิตที่อดๆอยากๆของเขาดีขึ้น เพราะงานศิลปะนั้น (รวมทั้งอุดมการณ์ทั้งหลายแหล่ในโลกนี้ด้วย...) ไม่ว่าจะงดงามยอดเยี่ยมและเพียบพร้อมด้วยพุทธิปัญญาอันสูงส่งขนาดไหน ก็ไม่อาจทำให้ท้องของคนจนที่กำลังโหยหิวอิ่มได้...

 

ในขณะที่นักสะสมของเก่า ซึ่งคงจะเป็นคนที่มีเงินทอง และมีชีวิตที่สุขสบาย ไม่มีปัญหาเรื่องปากท้อง หรือปัญหาพื้นฐานใดๆของชีวิตที่ต้องเป็นทุกข์กังวล กลับมองเห็นว่า เงินเป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าความหมายเลย เมื่อเทียบกับรูปสลักหินอ่อนอันงดงามนั้น และเขาคงไม่มีวันที่จะเอารูปปั้นหินอ่อนที่เขาซื้อมาด้วยราคาแพงไปขายต่อ เพราะเขามองดูเงิน - ที่มีคุณค่าความหมายมากมายต่อชีวิต ตามทัศนะของชายที่อดอยากยากจน เป็นเพียงแค่...สิ่งที่ไร้ชีวิตและความฝัน เช่นเดียวกับชายที่อดอยากยากจนมองดูรูปสลักหินอ่อน เป็นสิ่งปราศจากชีวิตที่ไร้คุณค่า..สำหรับตัวเขา ตรงกันข้ามกันเหมือนขาวกับดำ...

 

 

ทำไม

คนชั้นรากหญ้า

จึงเลือกรักและชื่นชมบูชาคุณทักษิณ ชินวัตร ราวกับเทพเจ้า

เช่นเดียวกัน

ทำไม

คนชั้นกลางและคนชั้นสูง

จึงเลือกรักและชื่นชมบูชาคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ต่างไปจากคุณทักษิณ ชินวัตร

ผมคิดว่าสาธกนิยายสั้นๆของยิบรานเรื่องนี้

ได้ให้คำตอบแก่เราไปขบคิดกันได้เป็นอย่างดี

ถ้าหากเราพอจะรู้จัก - การลดละอัตตา มานะ และทิฎฐิของตัวเอง

หันไปมองดูคนอื่นที่ต่างจากตัวเรา...จากมุมมองของเขา

บางทีคุณอาจจะพบว่า

ไม่มีใครผิดในการที่เขาจะเลือกรักและชื่นชมบูชา ทักษิณ ชินวัตร

ไม่มีใครผิดในการที่เขาจะเลือกรักและชื่นชมบูชา สนธิ ลิ้มทองกุล

เพราะการเลือกของเขาแต่ละพวกแต่ละคน

คงย่อมต่างมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่เขาจะได้รับ

จากคนที่เขาได้ตัดสินใจเลือกแล้วอย่างแน่นอน...

เช่นเดียวกับคนที่ไม่เลือกใครเลย

เขาก็ย่อมต้องมองเห็นคุณค่าและประโยชน์

ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง...จากการไม่เลือกรักและชื่นชมบูชาใคร

ไม่ว่าจะเป็นพวกสีแดงของคุณทักษิณ ชินวัตร

ไม่ว่าจะเป็นพวกสีเหลืองของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

หรือสีอะไรของใครก็แล้วแต่

ที่กำลังขับเคี่ยวกันในทางการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตาย - ในบ้านเมืองของเรา

ใช่ บ้านเมืองของเรา

แต่มิใช่ของเราแต่เพียงผู้เดียวที่จะต้องไปรับผิดชอบ

หรือผูกขาดความรักชาติแบบเชยๆและน่าเบื่อ...เอาไว้แต่เพียงผู้เดียว อย่างแน่นอน

สวัสดี - สวัสดี ฤดูหนาวที่น่ารัก.

 

22 พฤศจิกายน 2552

กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

ภาพถ่ายโดยปลายมนัส

 

 

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว