ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ในวาระ 50 ปีนี้ คณะฯ เห็นว่า แทนที่เราจะรำลึกย้อนหลัง สู้เราลองคิดกันไปข้างหน้าไม่ดีกว่าหรือ เราจะลองคิดไปข้างหน้าดูว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า ทิศทางของคณะฯ น่าจะไปทางไหน แต่กระนั้นก็ตาม เราก็ต้องคิดไปข้างหน้าบนต้นทุนทางความรู้และต้นทุนทางเครือข่ายสังคมที่เรามีอยู่
สุดท้ายเราก็จึงตกผลึกกันมาที่การวางกรอบข้อเสนอต่อวงการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยและสากลว่า สาขาวิชาทั้งสองนี้ควรจะคิดถึงเรื่องอะไรต่อไปในอนาคต อันเป็นที่มาของชื่องานว่า “ออกมาข้างใน เข้าไปข้างนอก” ซึ่งเป็นการพยายามก้าวข้ามจากความจำเจคุ้นเคยของความรู้ในหลายๆ มิติ ดังนี้
หนึ่ง ก้าวข้ามศาสตร์ ได้แก่การข้ามพรมแดนของความเป็นสาขาวิชาทั้งสองสาขา สู่สาขาวิชาอื่นๆ แม้ว่าความเป็นสหวิทยาการจะถูกพูดถึงกันมามากแล้ว แต่เราก็ยังต้องการตอกย้ำความจำเป็นของการหาความรู้ข้ามสาขาที่จะทั้งส่งเสริม ทัดทาน หรือแม้แต่ทักท้วงกันทั้งในระดับวิธีการทำความเข้าใจมนุษย์ จุดเน้นของความรู้ และแนวทางการเข้าถึงความรู้ นอกจากนั้น เราต้องการเน้นให้เห็นถึงความได้เปรียบของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในการก้าวข้ามศาสตร์ เพราะมักสนใจมิติต่างๆ ของมนุษย์พร้อมๆ กันเสมอ
สอง ก้าวข้ามพื้นที่ สังคมศาสตร์ไทยมักจำกัดความรู้อยู่เฉพาะในพื้นที่ประเทศไทย ในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยมักตั้งคำถามเพียงว่า จะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้เข้าใจสังคมไทยได้อย่างไร ทั้งๆ ที่โลกนี้มีมนุษย์อยู่ทั่วไปหมด โลกนี้มีพื้นที่อย่างน้อยตรงตะเข็บชายแคนของพื้นที่ประเทศไทย เรื่อยไปจนถึงเพื่อนบ้านประเทศไทยที่อาศัยต่อเนื่องกับคนในประเทศไทย โลกนี้มีโลกทั้งใบให้เรียนรู้ คณะฯ ไม่เพียงเห็นความจำเป็นแต่ยังมีความเชี่ยวชาญของนักวิชาการทั้งสองสาขาที่ศึกษาพื้นที่พรมแดน ศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน และศึกษาประเทศที่ไกลออกไปทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
สาม ก้าวสู่อมนุษย์ ศาสตร์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสนใจศึกษาไม่เพียงสังคมและมนุษย์ แต่ยังศึกษาก้าวล่วงเข้าไปยังโลกของ “อมนุษย์” อมนุษย์ในที่นี้ไม่ใช่ภูติผีที่ไหน หากแต่เป็นวัตถุสิ่งประดิษฐ์ วัตถุธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งสัตว์และพืช ความรู้ของทั้งสองสาขาในอดีตวางอยู่บนการเข้าใจมนุษย์และอมนุษย์เสมอ แม้ว่าเราจะไม่เน้นจนเด่นชัด ส่วนความรู้ในอนาคตกำลังจะยิ่งให้ความสำคัญกับความเชื่อมต่อกันระหว่างมนุษย์และอมนุษย์มากยิ่งขึ้น
สี่ ก้าวสู่สาธารณะ คณะฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการนำความรู้ไปรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่องเสมอมา ทั้งบุคคลากรของคณะในอดีต และที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือศึกษาอยู่ในคณะฯ ต่างมีส่วนร่วมในกระบวนการทางสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัย นอกห้องเรียน เป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง นับได้ว่า คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามีส่วนในการสร้างสังคมนอกห้องเรียน ด้วยการนำเสนอประเด็นข้อคิดต่อสังคมและการก้าวออกไปร่วมงานทางด้านนโยบายไม่ว่าจะของเอกชนหรือรัฐ ในอนาคต ทิศทางเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่อย่างชัดเจน
ทั้งสี่มิตินั้น ในเบื้องต้นได้รับการถ่ายทอดผ่านตราสัญลักษณ์งาน 50 ปีฯ และจะได้นำเสนอผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี 2558 นี้ โดยเริ่มแรก ในวันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ 2558 คณะฯ จัดกิจกรรมทั้งสองวัน ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์และรังสิต ประกอบไปด้วบการปาฐกถา การเสวนาวิชาการ กิจกรรมสังสรรค์ การระดมทุนจัดตั้ง “กองทุนกึ่งศตวรรษ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา”
จากนั้น ในวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2558 จะมีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติร่วมกับ International Union of Anthropological and Ethnological Sciences (IUAES) ในหัวข้อใหญ่ชื่อ Re-imagining Anthropological and Sociological Boundaries ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของการ “ออกมาข้างใน เข้าไปขางนอก” วงวิชาการหลากหลายสาขา ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
ไม่เพียงกิจกรรมบรรยายและประชุมวิชาการ ยังมีการจัดพิมพ์หนังสือ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่รู้สึก เพื่อมอบเป็นที่ระลึกสำหรับกัลยาณมิตรของคณะฯ และร่วมกับ โครงการจัดพิมพ์คบไฟ จัดพิมพ์หนังสือวิชาการ 4 เล่ม ได้แก่ ศาสตร์-อศาสตร์ เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน|| ไม่ใช่เรื่อง ‘หมู หมา กา ไก่’ || รอยต่อ – รอยตัด สังคมศาสตร์ไทย || บทจร: บทอ่านมานุษยวิทยาไทย ซึ่งจะได้วางจำหน่ายต่อเนื่องกันในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2558 นี้
(คัดมาจาก http://socanth.tu.ac.th/news/department-news/about-tusocanth50/)