Skip to main content

แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน
 \\/--break--\>

ไม่ใช่เฉพาะคำนั้นเท่านั้น เพราะไม่มีแม้กระทั่งคำรำพึงรำพันว่า เราจะหายไหมหนอ ลูกแม่คงไม่กลัวความตายแล้วจริงๆ แต่ใจแม่นี่สิที่รู้สึกเหมือนถูกกระตุกวาบในครั้งหนึ่ง เมื่อมีคนแปลกหน้าตามหลวงพ่อมาเยี่ยมลูก ขณะที่หลวงพ่อมาสอนธรรมะ คุณตาคนนั้น แกถามว่า ลูกป่วยเป็นอะไรเหรอ  แม่นิ่งอึ้ง ไม่อยากตอบเพราะไม่อยากโกหก และแล้วในนาทีต่อมา ผู้ที่ทำลายความเงียบอันชวนอึดอัดนั้นคือหลวงพ่อ ท่านพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆว่า
"เป็นมะเร็งในตับอ่อน"

แม่อยากจะสลายร่างไปในบัดดล รู้สึกช็อคชาไปทั้งตัว เพราะกลัวว่าลูกจะสะเทือนใจรับไม่ได้กับความจริงนี้ แต่แล้วทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ลูกยังคงนั่งสงบนิ่งไม่มีปฎิกิริยาใดๆที่แสดงว่าลูกได้ยิน บางทีลูกอาจจะรู้นานแล้ว หรือว่าเพิ่งจะรู้ แต่ดูเหมือนมันไม่มีความหมายใดๆต่อลูกอีก แม่ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ แอบชำเลืองดูลูก ก่อนที่จะก้มหน้าซ่อนน้ำตาที่ปริ่มๆ ของตัวเอง

แม้แต่ในวันที่ 17 กรกฏาคม ที่คุณหมออพภิวันท์ มาขอสัมภาษณ์ลูกเพื่อจะนำไปเขียนลงในจุลสารมิตรภาพบำบัด คุณหมอถามว่า
"กลัวตายไหมคะ" ลูกตอบว่า
"ไม่กลัวค่ะ เพราะทุกคนก็ต้องตาย"
"แล้วเสียใจไหม ถ้าจะต้องตาย"
"ไม่เสียใจค่ะ เพราะทุกคนต้องตาย ถ้าไม่มีใครตายเลย ป่านตายคนเดียวก็คงจะเสียใจ"
ลูกแม่ คำถามที่ยากจะตอบสำหรับคนทั่วไป แต่ลูกของแม่มีคำตอบแล้วสำหรับตัวเองและทุกคน

คุณหมอถามอีกว่า
"มีอะไรจะบอกพ่อกับแม่ไหมคะ"
ลูกนอนนิ่งเงียบไปชั่วครู่ แล้วน้ำตาก็ไหลอาบแก้ม นี่คือครั้งแรกที่ลูกร้องไห้ ตั้งแต่มาอยู่ที่วัด ทว่า น้ำตาที่หยาดลงมานั้น ไม่ใช่เพราะความเศร้าโศก
"เขารู้สึกตื้นตันใจ เมื่อนึกถึงพ่อกับแม่ จนพูดไม่ออก ใช่ไหมลูก" หลวงพ่อที่นั่งบนเก้าอี้โยก อยู่ทางหัวนอนลูกช่วยถาม ลูกพยักหน้ารับ ขณะที่จะยกมือขึ้นปาดน้ำตา
"แล้วมีอะไรจะบอกกับพี่สาวไหมคะ" คุณหมอถามอีก ลูกตอบด้วยน้ำเสียงกลั้นสะอื้น
"อยากให้พี่เขาพักผ่อนบ้าง ไม่อยากให้เรียนหนักมาก เพราะตอนนี้ มีพี่อยู่กับคุณย่าเพียงสองคน อยากให้พี่ดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย"
ดูสิ...สิ่งที่ลูกเป็นห่วงคนอื่นๆ มีแต่เรื่องสุขภาพ และความพอดีของชีวิต 

วันที่ 19  และ 20 สิงหาคม  

20/08/51
ลุงยุทธเสียเมื่อตอนเช้า ขอดวงวิญญาณ จงไปสู่สุขคติด้วยเถิด
15.34 น. หลวงพ่อมา บอกหลวงพ่อว่าลุงยุทธเสียแล้ว หลวงพ่อก็อุทิศบุญให้

เมื่อพ่อบอกว่า ลุงยุทธสิ้นใจแล้วที่บ้านพักในเมืองขอนแก่น เมื่อคืนนี้ ลูกรับฟังอย่างเงียบๆ ไม่ได้ถามอะไรเพิ่มเติม
  ในบันทึกของลูก ยังคงเขียนในเรื่องเดิมๆ เพียงเพิ่มอาการของร่างกายขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง ที่เกิดขึ้นภายหลังการพอกยา นั่นคือลูกเห็นอาการดูดและความเย็นของยา ที่แทรกลึกลงไปถึงเส้นเอ็นที่ขา จนสามารถขยับเข่า งอเข่าได้มากขึ้น

ระยะนี้ลูกจะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา(นอนสมาธิ) และจะไม่พูดอะไรกับใครเลย ยกเว้นเมื่อต้องการให้ทำอะไรให้ สิ่งหนึ่งที่ลูกขอให้แม่จัดเตรียมให้ คืออุปกรณ์การทำวัตรเย็น อันมีเบาะรองนั่ง หนังสือสวดมนต์  เพราะทุกวันลูกจะตั้งใจทำวัตรเช้าและเย็น จนกระทั่งวันสุดท้ายเท่านั้น ที่ลูกไม่มีเรี่ยวแรงลุกนั่งทำวัตรเย็นอีกแล้ว

วันที่ 21  สิงหาคม
06.45 น. ถ่ายเป็นก้อน ย่อยดี
06.53 น. กินแก้วมังกร  มะละกอสุก น้อยหน่า ลองกอง ส้มเช้ง หมากเบน หมากเม่า น้ำต้มข้าว ข้าวเหนียวโรยเกลือ (กินน้อย)
07.23 น. กินผลไม้เสร็จ ใช้เวลา 28 นาที ตั้งจิตอธิษฐาน อุทิศบุญ แผ่เมตตา อโหสิกรรม ถวายกล้วยน้ำว้า แก้วมังกร มะละกอ หมากเม่า น้านีไปถวาย
07.38 น. แม่ขูดซาให้
08.00 น. (แม่อุ้ม)ลงมาอาบแดด
08.32 น. (แม่อุ้ม)ขึ้นมาบนบ้าน 
              สดชื่น 
              มือ เท้า ศอก เข่า อุ่น 
              มือมีจุดแดงลดลง อุ่น
11.30 น. กินมะละกอสุก น้อยหน่า ลองกอง ส้มเช้ง หมากเบน หมากเม่า ไข่ขาวใส่ซอส ข้าวเหนียว
12.00 น. กินผลไม้เสร็จใช้เวลา 30 นาที
13.53 น. ฉี่ เยอะ ใส สีชา ถ่ายนิดหน่อย
16.18 น. กินหมากเบน น้อยหน่า ส้มเช้ง
16.31 น. กินผลไม้เสร็จใช้เวลา 13 นาที 

บันทึกวันสุดท้าย สิ่งที่ขาดหายไปคือการพอกยา เพราะหลังจากสี่โมงเย็นไปแล้ว ลูกมีอาการอ่อนเพลียลงมาก หลังจากกินอาหาร ลูกนอนหลับตานิ่งๆ จนตกค่ำ แม่จึงได้พอกยาให้ลูกอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ใช้เวลาไม่นานนัก

ขณะนั้น แม่เชื่อว่า จิตของลูกที่เฝ้าดูกาย ทำงานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกระแสแห่งการเกิด ได้ดับไปพร้อมกับกายแตกสลายของธาตุขันธ์ ในเวลา 21.30 นั้นเอง

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล