Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

สวนหนังสือ
‘พิณประภา ขันธวุธ’ ชื่อหนังสือ : ฉลามผู้แต่ง: ณัฐสวาสดิ์ หมั้นทรัพย์สำนักพิมพ์ : ระหว่างบรรทัดข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น...ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นในขณะที่สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น “วัตถุนิยม” ที่เรียกว่า เป็นวัฒนธรรมอุปโภคบริโภค อย่างเต็มรูปแบบ ลัทธิสุขนิยม (hedonism) ก็เข้ามาแทบจะแยกไม่ออก ทำให้ความเป็น ปัจเจกบุคคล ชัดเจนขึ้นทุกขณะ ทั้งสามสิ่งที่เอ่ยไปนั้นคน สังคมไทยกำลัง โดดเดี่ยว เราเปิดเผยความโดดเดี่ยวนั้นด้วยรูปแบบของ ภาษาและถ้อยคำสำนวนที่สะท้อนโลกทัศน์ของความเป็นปัจเจกนิยมได้แก่ เอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน การทำสิ่งใดโดยไม่ตามใคร“ฉลาม” เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ที่โปรยปกท้าทายคนที่ไม่เชื่อมั่นในความรักว่า “เรื่องรัก ที่จะกัดกินไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ” ตัวอักษรในหนังสือ165 หน้าถ่ายทอดเรื่องราวของ หญิงสาวชาวไทยที่ไม่ปลื้มกับชื่อเสียงเรียงนามของตัวเองนัก “น้ำใจ บุญบดินทร์” อายุเพียงยี่สิบปีเศษ หญิงสาวสุดเปรี้ยว แต่ในความเปรี้ยวของเธอนั้นเหมือนน้ำส้มสายชูมากกว่ามะนาวเพราะอะไรนะหรือ? ความเปรี้ยวที่เกิดในตัวเธอมันเกิดจากการแต้มแต่งชีวิตของเธอเองในขณะที่หัวใจและจิตวิญาณเธอยังสับสนกับความหมายของชีวิต เราจะรู้สึกทันที่ถึงความอ้างว่าง-เปล่าดายในลมหายใจของตัวละคร หลักๆ สองคน คือหญิงสาวกับชายหนุ่มนาม “กระถิก” ผู้อาศัยอยู่ในต่างแดนเหล้า-บุหรี่ -โคเคน-กัญชา นำมาซึ่งคราบน้ำตาของตัวละครทั้งสองฉันอ่านเรื่องนี้แล้วอดคิดตามไปด้วยไมได้ว่า ชีวิตฉัน ถึงจะข้องแวะสารเสพติดบ้างแต่ก็แค่นิดๆหน่อย พอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เหตุผลหลักของฉันคือ ...ฉันจะไม่ยอมมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทาสสิ่งใดฉันจะไม่ยอมอยู่อย่าง...คล้ายว่าต้องค่อยพึ่งพาสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น หากไม่มีมัน ฉันจะทุรนทุราย นั่นคือ เหตุผลที่ฉันจะไม่ยอมให้ตัวเองเป็นเช่นนั้นเช่นเดียวกันกับ “น้ำใจ” และ“กระถิก” พวกเขาไม่ติดสารเสพติดเหล่านั้น แต่มีชีวิตอยู่เหมือนขาดแก่นแกนให้ยึดเหนี่ยว แม้กระทั้งความรักที่เกิดขึ้นก็ยังถูกปฎิเสธให้มันเติบโตอย่างที่มันควรจะเป็น ในความดิบ-เถื่อนและคำสบถหยาบคายต่าง ๆ ที่หลุดจากปากตัวเอกของเรื่องราวกับโลกทั้งโลกไม่มีความหมาย ภาพรูปแบบ ปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจน “ตัวกู-อย่างยุ่งเรื่องของกู”ในสังคมที่ต้องเดินเบียดไหล่กับคนแปลกหน้าในท้องถนน เรามักโหยหาความเป็น “ส่วนตัว” แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องการให้มีคน “ห่วงใย” แท้จริงแล้ว...เราจะยังดำเนินชีวิตอยู่โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้จริงหรือ?อ่านเพียงผิวเผิน ฉลามอาจไม่ต่างจากนิยายที่ว่าด้วยเรื่องเด็กสาวใจแตก กับวังวนของชีวิต แต่สิ่งที่ทำแตกต่างกว่านิยายเกลื่อนแผงคือการถามหาความหมายของชีวิตในตัวละคร และโดยเฉพาะเมื่อ “น้ำใจ” ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากคนที่เป็นลูกมาเป็นรับบทแม่ แต่สิ่งที่บรรเทาและเยี่ยวหัวใจที่บาดเจ็บของ "น้ำใจ"คือความรัก ของ ผู้ซึ่งเธอเรียกว่า "แม่" น้ำใจ ที่กำลังจะเป็น "แม่" กับความรู้สึกสับสนว่าการเป็น "แม่" มันคืออะไร และบทบาท "แม่" ที่ต้องคอยดูแล "ลูก" ที่กำลังจะกลายเป็น "แม่"ฉันมองเห็นช่องว่างของสังคมที่ถ่างและกว้างสุดกว้างในขณะเดียวกันมันก็ใกล้แต่ใช้มือโอบกอด และสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนที่มีในซ่อนในตัวอักษรไม่ต่างจากความอ่อนโยนของแม่ของน้ำใจที่มีให้ลูกสาวผ่านท่าทีที่เย็นชา ราวกับไม่ใส่ใจความทุกข์ร้อนของลูก ทว่าในความเป็นจริงมันตรงข้าม เธอแทบกลายเป็นคนเสียสติเมื่อลูกสาวได้รับอุบัติเหตุความรู้สึกของถิกที่มีต่อน้ำใจ ไม่ได้เด่นชัดพอให้ฉันประทับใจได้ แต่ในทางตรงข้ามทำให้ฉันเผลอยิ้มกับความอ่อนหวานของผู้ชายอ่อนโยนที่ใช้ถ้อยคำหยาบคายคนนี้ ทำให้เห็นว่า ความรัก เป็นได้มากกว่าทิ่คิด‘ในท้องน้ำที่สงบร่มเย็น เราคิดอย่างดีแล้วว่า หนทางข้างหน้าคือปะการังที่สวยงาม ไม่มีภยันตรายใด ๆ ปลาน้อยแหวกว่ายเล่นได้ ไม่มีพิษ เราเลือกที่จะดำน้ำลงไป กับคนที่เรารัก กับรอยยิ้มที่กำลังแค่เริ่มผลิ...แต่บางทีเราก็ลืมคิดไปว่า อะไรบางอย่างที่กำลังตามมาหรืออยู่ข้างหลังอาจจะเป็น ในสิ่งที่ไม่มีวันคาดถึง’ข้อดีของการอ่านิยายสักเรื่องคือได้เห็นตอนจบของเรื่องราวเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย...ไม่จำเป็น ที่จะต้องเดินย่ำไปรอยเดียวกับตัวละครเล่านั้นเพราะเราได้มองเห็นจุดเจ็บที่ปวดร้าวตอนจบและหนทาง...ก่อนที่ความผิดพลาดจะมาเยือน
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
คนมาจากไหน ?8 พ.ย. 50 คนมากกว่า เก้าพันสามร้อยสามสิบเจ็ดคน เดินขึ้นภูกระดึง ภายในวันเดียวอะไรทำให้คนมากมายมาภูกระดึง นโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาล ,แรงประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,หนังสืออสท. ,ปากต่อปากถึงมนต์ขลังที่มิอาจจะปฏิเสธ ,ความยากลำบากของการเป็นหนึ่งในผู้พิชิต ,หรืออาการเริ่มแรกของโรคเบื่อการเมืองผมไม่รู้และไม่คิดอยากจะรู้ เพียงแต่การจัดอันดับ 10 อุทยานยอดนิยมของหนังสือท่องเที่ยว Trip ปลายปี 50 ภูกระดึงเป็นอุทยานที่มีนักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง...ว่ากันว่า 300 ล้านปีก่อน พื้นที่บริเวณโดยรอบภูกระดึงเคยเป็นทะเลมาก่อน จน 250 ล้านปีต่อมา เมื่อผิวโลกเคลื่อนตัว ความเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกได้ดันตัวเองให้สูงขึ้น จนกลายเป็นพื้นที่ราบบนยอดภูเขาหินทราย กว้างใหญ่สลับกับเนินเตี้ย ยอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว แหล่งกำเนิดของลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น...ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่ผมตัดสินใจเดินทางกลับในวันนั้น!ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ลานกว้างของศูนย์บริการวังกวาง มากันแบบครอบครัวพ่อแม่ลูก หมายรวมถึง คนเฒ่าคนแก่ถือไม้เท้าเขย่งขยอยเพื่อขึ้นให้ถึงยอด เด็กนักเรียนหลายกลุ่มมาทัศนศึกษา แน่นขนัด จนออกันอยู่ตรงบันไดทางเดินขึ้นภู ผลัดสลับกันให้คนเดินลงได้ลง บางคนแบกเป้ บางคนแบกลูก บางคนแบกแฟนและเป็นช่วงเวลาทำเงินของลูกหาบ ลูกหาบบางคนแบกก้อนน้ำเข็งก้อนโต บางคนแบกถังแก็สปิกนิก คุยกันว่า ลูกหาบบางคนทำน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมและแต่ละคนทำน้ำหนักได้ไม่ต่ำกว่า 30 กิโลกรัมในเงื่อนไขนี้ไม่เว้นทั้งชายและหญิง...ร้านค้าตลอดรายทางเดินขึ้นภูกระดึงบางร้านเปิดขายมานานกว่า 15 ปี ตั้งแต่ทางการยังไม่อนุญาตให้ตั้งร้านรวงถาวร ต้องใช้ผ้าปูบนพื้น เย็นเดินกลับลงไปนอนข้างล่าง จนเดี๋ยวนี้ อนุญาตให้นอนได้ บางร้านที่อยู่ตามริมขอบผาต่างๆ จะได้พบเห็นเพื่อนร่วมโลกจำพวก หมูป่า หมาป่า ออกมาเดินเลียบๆ เคียงๆ กินอาหารยกเว้น ช้างป่า ที่ไม่ค่อยอยากให้ออกมาเลียบๆ เคียงๆ สักเท่าไร...“พี่ คนเยอะอย่างนี้ก็ขายของดีสิพี่” ผมเอ่ยปากพร้อมรับจานข้าวขาหมูข้าวขาหมูดูจะเป็นของโปรดของผมสำหรับยอดภูที่มีอากาศหนาว“...”แทนคำตอบ เธอหันไปตักน้ำเต้าหู้ควันฉุย มือเป็นระวิงส่งให้ลูกค้าอีกสองสามรายที่ยืนออ กอดกระชับเสื้อกันหนาวอยู่ภายนอกร้านสีสันบนท้องฟ้า ยามพระอาทิตย์อัสดงที่ผาหล่มสักสังเกตดีดี เธอหิ้วถังแก็สปิกนิก ขนาดนี้ร่วม 30 กิโลกัรม น่าจะได้ลูกหาบจะมีท่าทางลีลาการแบกน้ำหนัก โดยการแกว่งแขนอีกข้างไปมา นัยว่า กระตุ้นการเคลื่อนไหว8 พ.ย.50 วันที่มีคนขึ้นภูมากกว่าเก้าพันคน ,ดูของที่ขนมาสิครับเพื่อนร่วมทาง  ราวกับผู้อพยพลี้ภัยสงครามผมเหนื่อยฮับ!เก็บขวดพลาสติก ขายได้และสะอาดตาเหมือนนกเค้า ไม๊ครับ! 
กวีประชาไท
ที่มาภาพ : http://www.artquotes.net/masters/vangogh/vangogh_starrynight1888c.jpg โพ้นระยิบ แสงระยับ – เขานับดาวกลางราตรี ดึกนี้ไม่มีจันทร์    นกกลางคืนโผผ่าน แหวกม่านมืดหมอกทะเลโบราณ หว่านระบายนั่นใช่ไหม? – ว่ายวาดปรารถนา ลบริ้วรอย ชีวิตอันนิดน้อย วูบเปลี่ยนผ่าน การรู้โลกกู่ก้องเหมือนจะลับเลือนห่าง เริดร้างเลยโลกลับลา คว้างคอย รูปรอยนั่นเพียงลำพัง โล้เรือดึก ผนึกคะเนปรารถนาเขียนทราย เพื่อถ่ายทอด กระไรเลย! วิบดาวไกล ไหวบางเบาคลื่นเคลื่อนผ่าน กระจิริดชีวิตหนึ่งเรือ ทะเล เผาชลา ฝ่าลำ, เรียงอย่างไรเถอะ! ชีพหนึ่ง ถึงเปลี่ยวเปล่า                  ชักสมอ ลงเรือ! เผื่อทางทิศโพ้นระยิบ หมื่นดาว พราวระยับ ดาววิบนั้น ฝันพริบนี้ พลีดวงใจทบทวนภาพเก็บเก่า ผ่าวผ่านผันดวงดาวนั้นระยิบพริบ กะพริบพรายมะพร้าวไหว เอื่อยอืดยืดยาดส่ายลมเคลื่อนคลื่น รูปทราย – สลายรอยห้วงเวลาแผ่วผ่าน พานถดถอย ซึ่งคว้างคอย ระเหิดลม – ลมรำเพยตั้งโจทย์ฟ้อง ภาคหน้า ถ้อยเฉลยเคลื่อนเข้าเกยหาดทราย ชายทะเลลมลอยฝัน ชีวา ทรายว้าเหว่ลมหักเห ชเลลึก คึก, เร่งเร้าได้โอบกอดห่มโลก พ้นโศกเศร้าเรือชีพคว้าง ว่างเปล่า – เงาตะเกียง ฝันรำพึงถึงรำพัน สวรรค์เบี่ยงดั่งภาพเพียงรูปดาว – เขลาชีวิตโลกมิโดดเดี่ยวเขา เฝ้าจับผิดกระจิริด วารหนึ่งถึงดาวไกลเขานอนนับ วิบฝัน วาบสั่นไหวชีพหนึ่งใช้เสียให้คุ้ม เถอะลุ่มลึก!                                         สานิตย์ สีนาค                                       กลุ่มโดยสารวรรณกรรม
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางอีกครั้งหนึ่งหลังจากต้นปีผ่านมา...เป็นการเดินทางที่ไม่ยาวนานนักในสามจุดหมายคือเซินเจิ้น หนึ่งเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่ แวะฮ่องกงและกลับจากมาเก๊า แต่ก็มีความเหนื่อย เหน็บหนาวจากสภาพอากาศอันไม่คุ้นเคยของจุดหมายที่ว่าแต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าการเดินทางอันไม่คาดหมายว่าจะผ่านเข้ามาสู่ชีวิตรวดเร็วอย่างไม่ทันจะตั้งตัว จะเป็นการเดินทางอีกครั้งที่ ‘ช่วยชีวิต’ ผมเอาไว้................................................ที่ว่าการเดินทางช่วยชีวิตเอาไว้นั้น ไม่ได้หมายความว่าผมไปผ่านพ้นหรือผจญภัยกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแล้วเอาชีวิตรอดกลับมาได้ แต่หมายถึงว่าช่วงเวลาแห่งการเดินทางมันได้ช่วยให้ผมหลุดพ้นไปจากข่าวไร้สาระที่เกิดขึ้นในภาวะประจำวัน ที่หากยังอยู่เมืองไทยก็คงไม่แคล้วหรืออดไม่ได้ที่จะได้ยินหรือกรอกหูจนต้องถูกทับถมจากข่าวสารเยี่ยงนี้แม้ว่าจริงๆ จะไม่ได้ให้ความน่าสนใจกับข่าวสารที่เกิดขึ้นก็ตาม................................................“เมื่อสองคืนก่อนมีไฟไหม้ตึกตรงนี้ ไฟลุกท่วมด้านข้างเลยนะ แต่ข้างในไม่ไหม้เลย”  น้าแท็กซี่คันที่นั่งกลับมาจากสนามบินเปิดฉากการสนทนาขึ้นหลังจากก่นด่าเพื่อนร่วมเลนที่เบียดเสียดยื้อแย่งช่องจราจรและรถติดไฟแดงมาได้ร่วมสิบนาทีโดยไม่ขยับเขยื้อน“ไม่รู้มันเผาเอาประกันหรือเปล่า เพราะสร้างก็ยังสร้างไม่เสร็จ แต่ก็หยั่งว่าแหละครับที่ตรงนี้มันโหงวเฮ้งไม่ดี เป็นที่สามแพร่ง ทำอะไรก็ไม่ขึ้น” น้าแกว่าของแกต่อทันใดนั้นเสียงวิทยุในรถแท็กซี่ก็ดังขึ้นเป็นรายการที่มีเสียงผู้ชายสนทนากันสองคนและเป็นรายการเกี่ยวกับข่าวผู้จัดคนแรกเล่าว่าตอนนี้หกพรรคการเมืองจับมือกันได้แล้วจะจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 315 เสียงโดยมีพรรคประชาธิปัตย์ถูกปล่อยให้เหลืออยู่พรรคเดียวต้องเป็นพรรคฝ่าค้านไปอีกข่าวหนึ่งเป็นการรายงานของผู้จัดรายการอีกคนหนึ่งว่าตอนนี้ได้มีสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่เกิดขึ้นและเริ่มเผยแพร่ภาพแล้ว เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่ไม่ให้มีโฆษณาแต่มีผู้อุปถัมภ์รายการได้ และสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่นี้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหลายวงการมาเป็นคณะผู้บริหาร ประกอบด้วย... จากทั้งหมดที่ได้ยินมาจะกล่าวได้หรือไม่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นเป็นข่าวสาร ข่าวสารที่มีประโยชน์มีคุณค่าน่าบริโภค หรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านเข้ามาในหูในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งกินเวลาไม่ถึงสามสิบนาทีนับแต่รถติดไฟแดงจนแล่นถึงจุดหมาย................................................ผมถึงเรียกว่าการเดินทางครั้งนี้ช่วยชีวิตผมไว้ เพราะการห่างจากบ้านเกิดเมืองนอนไปชั่วเวลาหนึ่ง จะกี่มากน้อยก็ย่อมทำให้เราทนเรื่องบางเรื่องที่เคยทนไม่ได้ หรือได้ยินเรื่องบางเรื่องที่น่าจะเป็นสิ่งเก่าหรือเรื่องเก่าแต่เวลาที่แตกต่างออกไปแต่เวลาก็ทำให้มันดูเหมือนมีองค์ประกอบใหม่ ดูแปลกหูแปลกตาน่าสนใจน่ารับรู้ขึ้นทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วอาจจะคือเรื่องเก่าหรือสิ่งเก่าๆ ที่วนเวียนในกรอบของการรับรู้เดิมๆ การเดินทางแม้สักชั่วเวลาหนึ่งก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากจะรับรู้หรือสิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่ประสาทสัมผัสก็คล้ายดูเป็นเรื่องใหม่หรือข่าวสารที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ทำให้ไม่น่าเบื่อหรือไม่รู้สึกว่าต้องถูกยัดเยียดหรือต้องทนรับฟังแต่อย่างใดการมีรัฐบาลใหม่ (จากนักการเมืองหน้าเดิมๆ วิธีการทำงานเดิมๆ หรือบรรยากาศของการยื้อแย่งแบ่งปันผลประโยชน์แบบเดิมๆ) หรือการมีสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ (แต่ไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะเป็นสถานีเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงได้อย่างไรโดยไม่ใช่แหล่งทำมาหากินและการยัดเยียดจากสื่ออีกทางหนึ่ง) ฟังเหมือนเป็นบรรยากาศที่มีความหวังของคนที่ห่างบ้านห่างเมืองแล้วกลับมาสู่บรรยากาศของการรับรู้ข่าวสารต่างๆ อีกครั้ง เป็นเหมือนความเคลื่อนไหวที่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปในทางดีหรือทางร้ายแต่มองในอีกมุมหนึ่งมันก็ช่างคล้ายรอยกระเพื่อมไหวของวงน้ำที่เกิดขึ้นในบ่อน้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งก่อนที่วงน้ำที่เคลื่อนไหวนั้นจะตีวงกว้างจางหายไปกับขอบบ่อแคบๆ อย่างรวดเร็วภายใต้บรรยากาศเก่าๆ เดิมๆ ของประเทศแห่งนี้
วาดวลี
ผู้ชายคนนั้นเหมือนไม่สนใจใครเลยเขาย่ำเท้าหนักๆ ลงบนผืนทราย บุ๋มเป็นรอยเท้าทับซ้อนกันไปมา เขาง่วนอยู่กับข้าวของบางอย่างตรงหน้า แต่ฉันไม่คิดว่าเขาจะลืม ว่าเวลาที่ตะวันยามเช้าสะท้อนแม่น้ำจนเป็นสีเหลืองนวลนั้นสวยงามเพียงใดหาดทรายริมแม่น้ำโขงที่ฉันมาเยือน อยู่ในความสนใจของนักเดินทาง โลกนัดเวลาให้เราไว้แล้ว สำหรับการตื่นในที่แปลกถิ่นและออกมาสูดอากาศ หากตื่นเช้ากว่าใครเพื่อน เราจะมองเห็น ผู้คนทยอยโผล่หน้าออกจากเกสเฮาส์ที่เรียงรายกันตลอดริมฝั่ง บ้างก็ลงมาเดินเล่น บ้างก็กางขาตั้งกล้องรอเอาไว้ เพื่อจะได้กดชัตเตอร์เมื่อดวงตะวันกลมโตสีแดงโผล่พ้นทิวเขาหลังแม่น้ำขึ้นมา นักเดินทางบางคนนัดกับเรือรับจ้างเอาไว้แล้ว เช้าตรู่เขาจะมารับที่ท่าน้ำ พาล่องไปเยี่ยมชมชีวิตผู้คนสองฝั่ง คือไทยและลาวเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเต็ม แล้วก็พากลับมาส่งที่เดิม บางคนโดยสารตัดแม่น้ำไปยังฝั่งโน้น แวะไปซื้อของที่ลาว หรือ ข้ามไปเที่ยวยังหลวงพระบาง เรือลำเล็กใหญ่เหล่านั้น ล่องผ่านสายตาของชายคนนี้อยู่ในระดับสายตา  ไปและมา มาและไป เหมือนภาพยนตร์ที่ฉายซ้ำเดิมทุกวัน และเขาก็ยังทำเช่นเดิม ไม่เหลียวแลที่จะมองใคร หากไม่เพราะว่าเขาเบื่อที่จะมองมันแล้ว ก็อาจเป็นเพราะว่า เขาได้วางชีวิตเอาไว้ในโลกที่ไม่เกี่ยวข้องกัน โลกของเขามีเพียงหาดทราย ถังน้ำพลาสติกนับร้อยใบ เมล็ดถั่วเขียวในถัง และเช่นเดียวกัน ใครจะรู้ได้ว่า โลกของคนบนเรือที่ไม่ข้องเกี่ยวกับเขาเหล่านั้น จะสนใจไยดีเขาบ้างหรือไม่ยกเว้นแต่ฉันเวลานี้ ความอ่อนด้อยประสบการณ์ดึงดูดให้เดินย่องลงไปใกล้ที่สุด เท่าที่จะใกล้ได้เหยียบเท่าลงบนผืนทราย เงยหน้าของเขา ทักทายด้วยรอยยิ้ม อุ่นใจเมื่อเขายิ้มตอบกลับมา จากนั้นก็เอ่ยถามออกไปด้วยน้ำเสียงลังเล “ลุงกำลังปลูกถั่วงอกใช่ไหมคะ” “ใช่แล้วล่ะ”ลุงตอบน้ำเสียงเรียบๆ เขายังไม่เงยหน้ามองฉันสักนิด จนเริ่มขาดความมั่นใจ แม้กระทั่งเรายืนใกล้กันนิดเดียว ฉันเหลือบไปมองเบื้องหน้า ตะวันโผล่พ้นน้ำสะท้อนเงาระยับเป็นสีเหลืองทองเหมือนในภาพถ่าย แต่มือใหญ่ๆ ในชีวิตจริงของลุงกำลังเอื้อมไปตักน้ำนั้นมาใส่ถังเมื่อได้น้ำมาแล้ว ก็ราดรดลงไปบนถังอีกใบ ซึ่งโปรยใส่เมล็ดถั่ว เขาไม่ได้ทำแค่เพียงครั้งเดียวใน 1 ถัง แต่ลุงทำแบบนั้นซ้ำๆ เป็นชั้นๆ ซ้อนกันขึ้นมาใส่ถั่ว รดน้ำ กลบทรายใส่ถั่วอีกชั้น รดน้ำ กลบทราย ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จวบจนกระทั่งเสร็จหมดแล้ว ก็เลื่อนกายไปยังถังที่อยู่หัวแถวที่สุดเปิดฝาสังกะสีออก ฉันก็พบกับต้นถั่วงอกที่เจริญงอกงาม ชูช่อ ทั้งแบบสีขาวนวลและเริ่มแตกใบ “โอ้โห” เผลออุทานออกมาเสียงดังได้ผล ลุงหันมายิ้มแล้ว “แบบนี้เก็บได้แล้วสิคะลุง”“ใช่ เดี๋ยวคัดๆ ที่ไม่สวยออก ก็ส่งได้เลย”ฉันพิจารณาต้นถั่วงอกที่ “ไม่สวย” ตามที่ลุงว่า แล้วก็ขออนุญาตถ่ายรูป สำหรับฉันแล้ว เริ่มรู้สึกว่าทุกต้นนั้นงามจนไม่ควรจะถูกทิ้งเสียด้วยซ้ำ และก็นึกถึง “ความสวย” ของถั่วงอกในร้านก๋วยเตี๋ยวที่ต่างกันออกไป“กี่วันคะ ถึงจะโตเท่านี้”“ก็ 4-5 วันนะ ลุงก็ทยอยปลูกไป เราต้องปลูกไม่พร้อมกัน ก็จะมีให้เก็บได้ทุกวัน”“อ๋อค่ะ” ฉันยิ้มเมื่อเห็นลุงเริ่มต้นคัดถั่วงอกที่ดีพอเพื่อนำไปส่ง“ลุงส่งร้านแถวนี้ใช่ไหม”“ใช่แล้ว ก็ตลาดแถวนี้ แล้วก็ตามร้านอาหารบ้าง”“ก็แปลว่าทานได้เลย ไม่ต้องเอาไปฟอกสินะ”“โอ้ย สดๆ แบบนี้หวานอร่อย ไม่เหม็นเลย ชิมดูสิ” ฉันเห็นรอยยิ้มกว้างๆ ของเขาแล้ว รอยยิ้มที่สว่างแข่งกับดวงตะวันบนท้องฟ้า ลุงเหลือบดูนาฬิกา เหมือนจะต้องไป ฉันก็เช่นกัน มองไปยังผืนน้ำ เห็นเรือลำน้อยใหญ่ยังคงเดินทางอย่างปกติ นักท่องเที่ยวคงตื่นกันหมดแล้ว ชีวิตในเมืองเชียงของเคลื่อนไหว ช้า เร็ว สลับกันไป ก่อนเราจะจากกัน ฉันถามเขาว่า“นี่เป็นที่ทำงานของลุงสินะ มาทุกวันเลยใช่ไหมคะ”“ใช่ มาทุกวัน เช้ามาก็เจอลุงได้ที่นี่แหละ”“ขอบคุณค่ะลุง”ที่ถามไปนั้น ฉันเองก็ตอบไม่ได้ ว่าจะมีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมลุงอีกหรือเปล่า ผ่านไปอีกไม่กี่วัน เราก็คงเป็นแค่ความทรงจำหนึ่งของกันเท่านั้น หรือ อาจจะไม่มีอยู่ด้วยซ้ำ แน่นอน ชายคนนี้คงไม่หวังที่จะเป็นความทรงจำของใคร เช่นเดียวกับเรือที่ผ่านน้ำโขงไป ลำแล้ว ลำเล่า และมองเห็นกันเป็นจุดเล็กๆ ก่อนฟ้าจะค่ำลงเดินห่างออกมาแล้ว ก็คลี่ดูต้นถั่วงอกที่ใหม่สดในมือ ต้นที่หล่นร่วงจากถัง และแอบหยิบมาดู เงยไปมองท้องฟ้า แล้วคิดว่า จริงๆ หรือ ที่ชีวิตเราไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตในถังถั่วงอกของลุงคนนั้น ?  
เงาศิลป์
ดนตรีแห่งฤดูกาล กำลังเปลี่ยนผ่านจังหวะไปสู่ความรุนแรงร้อนรน แต่กระนั้นก็ยังหลอกล่อหัวใจผู้คนด้วยจังหวะผ่อนแผ่วของไอหนาว เมื่อคืน ฉันเผลอเรอลืมห่อห่มร่างกายให้อบอุ่น จึงถูกไข้หวัดจู่โจม จะเรียกว่าเป็นความอ่อนแอของร่างกายหรือว่าเป็นความแข็งแรงอันร้ายกาจของไวรัสก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะรอบทิศทางของไร่ มีเปลวเพลิงลุกไหม้อยู่ทุกคืน การเผาซากอ้อยจึงกลายเป็นฤดูกาลเผาไร่...ฤดูกาลใหม่ของที่นี่ถ้าบินขึ้นไปบนท้องฟ้าไกลลิบนั่น คงเห็นรอยไฟลามเลียเป็นหย่อมๆ แผ่กระจายไปทั่ว คล้ายสัตว์ประหลาดสีแดงเพลิงเคลื่อนไหวเพยิบกลืนกินผิวโลกจนไหม้เกรียม และทุกหัวค่ำ ยังมีของแถมเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง คือกลิ่นเหม็นเน่าของน้ำทิ้งจากโรงงานน้ำตาล ที่ลอยมาไกล มองไม่เห็นต้นทางแหล่งที่มาฉันทำใจกับโลกใบนี้แล้วล่ะ..หันไปทางไหนก็ล้วนแต่มีปัญหาจากน้ำมือคน
ชิ สุวิชาน
ณ ห้องเล็กๆ แถวสี่แยกกลางเวียง เมืองเชียงใหม่ เก้าอี้ถูกเรียงเป็นแถวหน้ากระดานประมาณร้อยกว่าตัว  ข้างหน้าถูกปล่อยว่างเล็กน้อยสำหรับเป็นพื้นที่ตั้งเครื่องเล่นดีวีดีและโปรเจคเตอร์เพื่อฉายสารคดี ใกล้เวลานัดหมายผู้คนเริ่มทยอยกันเข้ามาทีละคน ทีละคู่ ทีละกลุ่ม“เค้าไม่อยากให้เราพูดถึงเรื่องการเมือง แต่เราอาจพูดได้นิดหน่อย” เจ้าหน้าที่ FBR กระซิบมาบอกผมเกี่ยวกับความกังวลของเจ้าของสถานที่ ผมยิ้มแทนการสนทนาตอบ เพียงแต่คิดในใจว่า หากการเมืองคือความทุกข์ยากของประชาชน ของชาวบ้านคนรากหญ้าก็ต้องพูดให้สาธารณะได้รับรู้ เพื่อจะหาช่องทางในการช่วยบรรเทาทุกข์ของประชาชน ชาวบ้านรากหญ้าด้วยกันในแนวทางที่อาจไม่ใช่การเมืองโดยตรงเมื่อเก้าอี้ที่เตรียมไว้ในห้องเริ่มถูกจับจองหมด จึงเริ่มกิจกรรมโดยการฉายสารคดี “สันติอธิษฐาน เพื่อบรรเทาทุกข์ในเขตการสู้รบในประเทศพม่า”ผ่านไปกว่าสี่สิบนาที หนังสารคดีได้จบลงท่ามกลางความเงียบที่หดหู่ต่อสิ่งที่พึ่งได้เห็นผ่านสารคดี ท่ามกลางความเงียบชายคนหนึ่งได้ลุกขึ้นยืน“ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาดูสารคดีครั้งนี้ ต่อจากนี้ผมขอมอบเวลาให้เพื่อนนักดนตรีปกาเกอะญอ แล้วแต่ว่าเขาจะมาทำอะไร ขอเชิญครับ” เขาเล่นโยนมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเลย หลังเขาพูดจบเขาไปเลื่อนเครื่องเล่นดีวีดีและโปรเจคเตอร์ไปแอบไว้ที่มุม เป็นการส่งสัญญาณให้ผมรู้ว่าพื้นที่ว่างนั้นถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็นเวทีดนตรีแล้วผมขยับตัวออกมาจากกลุ่มผู้ชมแล้วลุกขึ้นเดินไปยังพื้นที่ว่างข้างหน้า “ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง หลงทางมาจากทางใต้ของประเทศไทย พลัดหลงมาพบกับคนปกาเกอะญอบนภูหลายๆ เขา วันนี้ผมอยากให้เขามาเรื่องราวต่างๆ ที่เขาพบเจอระหว่างทางให้พวกเราฟัง ขอเชิญพบกับเมล็ดพันธุ์ป่าแห่งแผ่นดินครับ”  ผมพูดจบพร้อมกับส่งสายตาเป็นสัญญาณให้เขาขึ้นมาทำหน้าที่ ณ พื้นที่ว่างแห่งนี้เขาเดินเก้งก้างออกมา มือถือกีตาร์โปร่งที่ยืมมาจากคนอื่นอีกที เขาหยุดอยู่ตรงที่ว่างข้างหน้า มือสองข้างกอดกีตาร์แล้วมองมาที่คนดู“สิ่งที่เราดูผ่านไปเมื่อสักครู่ ทุกท่านคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติมั๊ยครับ? มันเป็นเรื่องปกติที่ควรจะเกิดมั๊ยครับ?หลังจากดูสารคดีเสร็จแล้วอยากให้ทุกท่านสำรวจดูหัวใจตนเองว่า หัวใจเรายังปกติดีอยู่หรือเปล่า? หากหัวใจเรายังปกติเราจะช่วยผู้ทุกข์เหล่านั้นได้อย่างไร?”เขาพูดจบเขาเริ่มเล่นกีตาร์และเริ่มร้องบทเพลง “หลงทาง”
ปรเมศวร์ กาแก้ว
บนศาลากลางหมู่บ้านวันนี้ไม่มีเสียงเอ็ดตะโรของเด็กๆ  ขณะที่ฟ้าใส ดวงอาทิตย์คล้อยบ่ายทิ้งไว้เพียงเศษเปลือกลูกยางที่แหลกแล้วและ ใบตองห่อขนมเกลื่อนพื้นอีกฟากหนึ่งเป็นถนนสายเล็กๆ เราเดินตามทางนั้นไปเลี้ยวอ้อมป่าละเมาะสู่อีกหมู่บ้านทางตะวันตกตามคำชวนของขาว สองข้างทางเป็นผืนนาไกลสุดตา  ปู่เคยบอกว่าแถวนี้มีที่นาของปู่รวมอยู่ด้วยแล้วช่วงเก็บเกี่ยวจะพาเรามาเที่ยวเล่นกันเด็กๆ ชักย่านเดินตามกันเต็มถนนตัดกลางทุ่งนาไปทางตะวันตกขณะที่แดดบ่ายโดนเมฆขาวบดบังเป็นร่มเงาและลมทุ่งผัดแผ่วๆ  ไล้เนื้อตัวเรา  อีกไม่ไกลข้างหน้าเป็นหมู่บ้านริมธารเล็กๆ ที่ขาวและเพื่อนๆ อาศัยอยู่ และที่นั่นแหละคือจุดหมายของเรา“เก็บทางมะพร้าวนั่นไว้สิ  เลือกอันที่มีเขาสวยๆ นะ” บอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปากเมื่อเห็นผมทำท่าสงสัยเรื่องทางมะพร้าว“เขา?”“เขาอะไรกัน?”“ก็ส่วนโค้งๆ ที่ตรงนั้นไงล่ะ”  บอยชี้นิ้วไปที่ทางมะพร้าวตรงโคนต้นก่อนหันมายิ้มให้อีกครั้ง“ได้แล้วๆๆ ฉันได้วัวแล้ว”  จ้อยเป็นคนแรกที่เลือกได้“นี่มันทางมะพร้าว จะเป็นวัวได้ไง”“นี่แหละวัวที่ขาวพูดถึง” จ้อยเปรยขึ้นแล้วเราก็หัวเราะครื้นเครงกันเราเดินเลือกวัวทางมะพร้าวไว้ได้คนละ 2 ตัว บอยชี้แนะเราถึงวิธีเล่นและอธิบายรูปลักษณ์ของวัวทางมะพร้าวให้เราหมดเปลือก ในรอยยิ้มของบอยอิ่มเอิบบอกเราว่าส่วนโค้งว้าวที่กาบเราให้มันเป็นเขากะยาวลงมาสัก 2 ฟุตให้มันเป็นลำตัวแล้วตัดออก เจาะรูผูกเชือกตรงส่วนหัวใช้ลากพุ่งด้วยความเร็วให้ชนกันเชือกของฝ่ายใดขาดก็แพ้ ประหนึ่งเหมือนกีฬาวัวชน กีฬาพื้นบ้านทางภาคใต้ที่นิยมเล่นกันนั่นเอง
กิตติพันธ์ กันจินะ
ผมรู้จักกับคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์  ตอนอายุ 18 ปี สมัยที่ได้เริ่มวาระการเป็นกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุข จากสายองค์กรเอกชนด้านเด็กและเยาวชน เมื่อหลายปีก่อน ตอนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการในตอนแรกๆ ผมค่อนข้างจะเกร็งเพราะคณะกรรมการแต่ละท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญต่อวงการสาธารณสุขและสังคมและอาวุโสห่างจากผมมากกว่า 20 ปี  ตอนนั้น คุณหมอสงวน ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในที่ประชุม และเมื่อประชุมเสร็จสิ้น ผมได้เข้าไปทักทายและแนะนำตัวเองกับท่าน ท่านมีความเป็นกันเองและให้เกียรติกับผมมากและได้บอกให้ผมสบายใจ มั่นใจและเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
  หลังจากนัดคุยกันระหว่างตัวแทนองค์กรเอกชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.51 เราต่างแยกย้ายกันราวๆ บ่ายสามโมงกว่า ขณะที่แต่ละคนกำลังเดินทางยังไม่ถึงที่หมายต่างก็ได้รับแจ้งเรื่องการจากไปอย่างสงบของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนแรกของประเทศไทย คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือคุณหมอใจดีในสายตาภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับบริการสาธารณสุขเพราะหมอสละเวลาบ่อยมากที่จะรับฟังความทุกข์ ความคับข้องใจ และความสูญเสียที่ประชาชนได้รับจากความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทย ตลอดจนหมอคือคนที่รับปากเริ่มต้นว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไทยได้ใช้ยารักษาโรคต่างๆ ในราคาที่ถูกลง ทำให้ทุกคนสามารถได้รับการรักษาได้โดยไม่ต้องพะวงว่าไม่มีเงินเพียงพอรักษา นั่นคือรับปากว่าจะหาทางทำให้การทำซีแอล* เป็นจริงในประเทศไทยดิฉันหยิบหนังสือที่คุณหมอมอบให้เมื่อต้นปี 48 มาพลิกดูอีกครั้ง หนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ปกหน้าด้านใน มีลายมือของหมอเขียนว่า "ขอให้กำลังใจการทำความดี เป็นเครือข่ายเป็นสายใยแห่งความงดงามในสังคมเสมอ" ดิฉันตระหนักเสมอว่าคุณหมอคือสายใยแห่งความงดงามเสมอเช่นกัน การพบกันครั้งแรกระหว่างดิฉันกับคุณหมอ เกิดขึ้นเมื่อสักปี 42 เมื่อดิฉันต้องทำหน้าที่เชื่อมประสานเครือข่ายประชาชนให้มาช่วยกันร่างกฎหมายว่าด้วยระบบหลักประกันสุขภาพ การต้องเริ่มต้นเขียนกฎหมายทั้งที่ไม่เคยเรียนกฎหมายและไม่เคยอ่านกฎหมายอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อนหน้านั้นนับเป็นเรื่องยากมาก วันนั้นคุณหมอเดินเข้ามาในห้องที่เรากำลังประชุมกันเรื่องเนื้อหากฎหมาย พร้อมด้วยเอกสารร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอเคยจัดทำและผลักดันให้เกิดการดำเนินการในกระทรวงสาธารณสุข แต่เนื่องจากคงเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าเกินไปกฎหมายฉบับนั้นไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่คุณหมอก็ไม่ท้อถอยและหยุดการขับเคลื่อน จากหนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" และหนังสืออื่นๆทั้งในงานด้านวิชาการ และการเขียนสรุปมุมมอง ความเห็น หลักการความเชื่อ ที่คุณหมอผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้รู้ว่าคุณหมอทำงานอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทุกขณะ ทั้งการทดลองปฏิบัติการปฏิวัติระบบสุขภาพในพื้นที่ การทำงานวิจัย การสร้างพันธมิตรทางวิชาการและกลุ่มบุคคลากรทางการสาธารณสุข การดำเนินนโยบายประกันสุขภาพในกระทรวงสาธารณสุข บัตรสุขภาพ บัตรสปร.สำหรับคนยากไร้ในการรักษาฟรี ตลอดจนการร่วมกับเครือข่ายประชาชนในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 42 เป็นต้นมาดิฉันเองเริ่มเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพจากการร่วมในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับประสบการณ์อันเลวร้ายจากประกันสังคมที่ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เมื่อดิฉันตัดสินใจยุติการทำงานในองค์กรออกมาเป็นคนทำงานรับจ้างทั่วไป ดิฉันต้องหาเงินประจำทุกเดือนให้ได้เพื่อจ่ายเป็นค่าประกันสังคมให้ตนเอง เนื่องจากวิตกว่าหากตนเองเจ็บป่วยเป็นอะไรไปจะเป็นภาระต่อญาติพี่น้องในการดูแล ซึ่งเป็นการจ่ายที่ดิฉันต้องจ่ายแทนนายจ้าง (ที่ไม่มีแล้ว) ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการเสียเปรียบอย่างมากของคนทำงานที่จ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างดีมาโดยตลอด เมื่อไม่มีงานประจำทำก็แทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากกองทุนประกันสังคมเลย ดังนั้นเมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้น ดิฉันจึงเลิกจ่ายเงินให้ประกันสังคมและเข้าเป็นผู้ใช้สิทธิในปีแรกๆ ของระบบหลักประกันสุขภาพที่กฎหมายมีผลดำเนินการในปลายปี 45 และมีโอกาสเป็นตัวแทนองค์กรเอกชนในการเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ต้น นั่นคือทำให้ได้ร่วมงานและเห็นการทุ่มเทการทำงานอย่างสุดจิตสุดใจของคุณหมอสงวนมาโดยตลอด ยิ่งในช่วงแรกที่ระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นได้เพราะอำนาจทางการเมือง การเริ่มต้นอย่างรวดเร็วและดำเนินการทั้งประเทศโดยที่บุคลากร และกระทรวงสาธารณสุขยังตั้งตัวไม่ทัน ทำให้คุณหมอถูกคาดคั้น บีบคั้น และคาดหวังจากทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มหมอที่ออกมาต่อต้านการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มโรงพยาบาลที่ประท้วงเนื่องจากบอกว่าเงินไม่พอใช้ในการรักษา กลุ่มประชาชนที่ได้รับสิทธิและต้องการบริการที่มีคุณภาพ ตลอดจนอำนาจทางการเมืองในการบริหารคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ การผลักดันให้ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลก่อกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จำกัดงบประมาณที่จะทำให้เกิดบริการที่มีคุณภาพ แม้มีกฎหมายรองรับแต่ก็ยังไม่มั่นคงในเชิงนโยบายของการบริหารคุณหมอคะ การดับสิ้นในโลกนี้มิอาจทำให้การกระทำและเจตจำนงของคุณหมอดับไปด้วย ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบแห่งชาติที่มีคุณภาพ และทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ว่าจะเป็นคนไหน ชนชั้นใด หรือยากไร้เพียงใด มีอีกหลายเรื่องที่ดิฉันและเครือข่ายและสังคมต้องดำเนินการต่อไปนั่นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพต้องไม่กีดกันคนที่ยังไม่มีสถานภาพบุคคล (ชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย คนยังไม่ได้บัตรประชาชน) ออกไป ต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานพื้นฐานเดียวกันของคนในสังคม ไม่แบ่งแยกว่าคนจน คนในประกันสังคม หรือคนในระบบราชการ การเชื่อมประสานกันระหว่างกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ กับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพและระบบรักษาข้าราชการ การคุ้มครองการเสียหายในระบบบริการ การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพทุกระดับ ดังที่เป็นปณิธานของคุณหมอตลอดมาเส้นทางชีวิตร่วมกันแม้ไม่ยาวนานนัก แต่คุณหมอทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตแห่งการเข้าใจคนอื่น การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยท้อถอย และใส่ใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะชีวิตหมอเป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นได้ในสังคมไทย * ซีแอล มาจาก CL : Compulsory Licensing ; การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ เพื่อดำเนินการในกรณีที่ยามีราคาแพง อันเนื่องจากการมีสิทธิผูกขาดในระบบสิทธิบัตร ทำให้มีผลต่อระบบสาธารณสุข ทำให้รัฐไม่มีงบเพียงพอรักษาประชาชนในประเทศ เมื่อประกาศแล้วก็สามารถให้บริษัท หน่วยงานรัฐ ผลิต หรือนำเข้าจากประเทศอื่น
มูน
ฉันกำลังแบกเป้เดินทางรับจ้างทำงานอยู่แถวภาคเหนือ ในช่วงเวลาที่บรรยากาศเริงรื่นยังคงรวยรินแม้จะเลยปีใหม่ไปแล้วหลายวัน คนที่ไม่มีงานประจำ แต่มีรายจ่ายเรียงรายรอคอยอยู่ทุกเดือนอย่างฉัน ไม่มีเวลานั่งอยู่เฉย (ถึงแม้จะอยากนั่ง) ใครจ้างมา ฉันก็ไป เหมือนมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ไม่เกี่ยงระยะทางและผู้โดยสารใกล้เที่ยงคืนที่วางเป้ลงอย่างอ่อนแรงในห้องพักเล็กๆ ควักสมุดบันทึกขึ้นมาคำนวณรายจ่ายและแผนการเดินทางในวันถัดไป ใจคิดล่วงหน้าถึงวันกลับบ้าน ก็ได้ยินเสียงโทรศัพท์ดังแผ่วๆ มาจากกระเป๋าข้างเตียง ............นานหลายปีมาแล้วที่ฉันรู้สึกว่าเทศกาลปีใหม่ไม่ใช่เวลาของความบันเทิงใจ ปีใหม่ในวัยเยาว์ครั้งหนึ่ง เป็นช่วงเวลาที่ฉันจมอยู่กับการทำความเข้าใจในเหตุผลการแยกทางของพ่อกับแม่อีกครั้งหนึ่งที่ฉันกระโดดโลดเต้นกลับถึงบ้าน ด้วยความเบิกบานใจที่จะได้สนุกสนานกับเพื่อนๆ ในวันสิ้นปี พบพ่อยืนรออยู่ เพื่อบอกข่าวร้ายเรื่องคุณตาฉันทรุดนั่งที่บันไดบ้าน ไม่หลงเหลือความเบิกบานใดๆ เมื่อคนที่ฉันรักที่สุดจากไปแล้วปลายปีถัดมา ขณะที่ทุกคนเริงร่ากับเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ฉันนั่งกอดอกอยู่ในโรงพยาบาลเล็กๆ ติดภูเขา ข้างเตียงที่คุณยายนอนอยู่ มองใบไม้แห้งปลิวอยู่ริมหน้าต่าง อากาศหนาวจับใจ ปีนั้น ของขวัญปีใหม่ของฉันคือการสูญเสียคนที่รักไปอีกหนึ่งคน...........การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ถ้อยคำนี้เป็นสัจธรรม แต่เราต้องอาศัยเวลาเคี่ยวกรำสักแค่ไหน จึงจะเข้าใจได้อย่างแท้จริง............ฉันไม่อยากรับโทรศัพท์ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ เสียงสั่นเครือของแม่แว่วผ่านระยะทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตร "โมเมตายแล้ว"แม้จะค่อนข้างเบา แต่ฉันได้ยินชัดเจน หมาสีดำที่แสนอาภัพตัวนั้นตายแล้ว วันที่ฉันจะเดินทาง มันกระเสือกกระสนตามด้วยความลำบาก ฉันรีบเกินกว่าจะกลับไปอุ้มมัน "มันทรมานหรือเปล่า" ฉันถามในเรื่องที่พะวงเสมอมา"แม่ไม่แน่ใจ มันเหมือนหายใจไม่ไหว มันหายใจช้าลงเรื่อยๆ แม่ว่ามันคงเหนื่อยมาก""ดีแล้ว มันจะได้ไม่เหนื่อยอีกต่อไป" ฉันปลอบแม่ แต่ในใจถามตัวเองว่า ดีจริงหรือ"พรุ่งนี้เช้าแม่จะจ้างคนมาขุดหลุมนะ" แม่บอกเพราะแน่ใจว่าฉันกลับไปฝังเองไม่ทัน"ให้มันนอนดีๆ นะ มันชอบนอนตะแคง""รู้แล้ว แม่บอกมันแล้ว ว่ายายขอโทษที่ช่วยไม่ทัน ก็แม่ไม่รู้จะทำยังไง แม่พาไปหาหมอไม่ไหว ถึงไหวก็ไม่มีสตางค์ ดึกอย่างนี้จะจ้างรถที่ไหนไปจังหวัด แล้วแม่ก็ไม่คิดว่าอยู่ๆ มันจะไป" แม่พูดยืดยาวอย่างเสียใจ"ไม่เป็นไร มันไปดีแล้ว" ฉันปลอบแม่พร้อมๆ กับปลอบตัวเอง"สงสารมัน จำได้ไหมวันก่อนที่เรายังคุยกันว่าถ้ามีสตางค์จะทำกรงมีล้อให้มัน จะได้ลากให้มันไปนอนอาบแดดบ้าง" แม่ยังอดพูดไม่ได้"ไม่เป็นไร มันคงไม่อยากให้เราลำบาก" "แม่ไม่น่าไปดุมันเลย เวลามันลากอึเลอะไปทั่วบ้าน ก็มันพิการนี่นา""เราทำดีที่สุดแล้ว" ฉันพยายามพูด แต่ในใจยังคงถามตัวเองซ้ำๆ ว่าทำดีที่สุดแล้วจริงๆ หรือ"ถ้ารู้ แม่จะไม่ดุมันเลย มันมองแม่เหมือนจะให้ช่วย แม่จะช่วยได้ยังไง" ฉันอยากให้แม่หยุดรำพันเสียที"แม่ไปนอนเถอะ จะได้ไม่เหนื่อย""กลับมาเอาเงินให้คนขุดดินด้วยนะ" แม่บอกก่อนวางสายไป ฉันรู้ว่าแม่จะนอนไม่หลับไปอีกครึ่งคืนสมุดบันทึกยังเปิดอยู่ ฉันพลิกไปด้านหลัง มีรายการที่ตั้งใจจะทำเขียนไว้ยาวเหยียด ฉันรู้ว่าโมเมกำลังรอความช่วยเหลือ โมโหตัวเองที่ไม่ได้ช่วยให้มันมีความสุขเท่าที่ตั้งใจไว้ ถ้าเพียงแต่....กี่ครั้งแล้วที่เราพูดประโยคทำนองนี้ กับบางเรื่องราวที่ไม่อาจย้อนคืน"ขอโทษนะโมเม"ฉันนั่งร้องไห้ให้กับชีวิตที่อาภัพของหมาพิการตัวหนึ่ง และความเชื่องช้าของตัวเอง............การเปลี่ยนปี เป็นแค่สิ่งเตือนถึงความเปลี่ยนแปลง ให้เรารู้ว่า เวลาช่างแสนสั้น ใครบางคนเคยให้ของขวัญเป็นนาฬิกาทราย เมื่อพลิกกลับด้าน ทรายด้านที่เต็มอยู่จะไหลพรูลงด้านล่าง ชีวิตเราช่างเหมือนทรายด้านบนที่พร่องลงเรื่อยๆสักวันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว เราคงได้ประสบกับความพลัดพรากอีกหลายครั้ง หลายหน ไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งของ หรือสถานที่ บางคนสูญเสียคนรัก บางคนพลัดพรากจากบ้านเกิด และบางคนอาจสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาในชีวิตในวันเวลาที่เรายังมีเหลือ มีอะไรบ้างที่เราต้องทำ อยากทำ และจะเสียใจหากไม่ได้ทำเราบอกรักกันพอไหม เราให้อภัยคนที่เราโกรธหรือยัง เราทำดีกับใครๆ มากพอหรือเปล่า  ในความโศกเศร้า เราได้เรียนรู้อะไร และยังหลงเหลืออะไร แม้สูญเสียใครไปแล้ว.................(เรื่องราวของโมเม อยู่ในบทความย้อนหลัง ตอน "แม้เลือกเกิดได้")
ฐาปนา
กิจกรรมส่วนที่สองของโครงการ one year # 2 ของมูลนิธิที่นา ที่ผมเข้าร่วม คือกิจกรรมเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ เริ่มต้นด้วยการประชุมแนะนำโครงการและให้ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนวาดรูปพืช ที่ตนเองอยากปลูก หรือ สัตว์ที่ตนเองอยากเลี้ยง ซึ่งในช่วงเวลาสามเดือนของกิจกรรมส่วนที่สองนี้ ทุกคนจะต้องดูแลสิ่งมีชีวิตของตนเองสองวันต่อมา เราเดินทางไปชมการทำเกษตรกรรมอินทรีย์และการดูแลสุขภาพวิถีไทที่ “สวนสายลมจอย” อำเภอสันกำแพง พื้นที่ไม่ถึงสิบไร่แห่งนี้ ถูกปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นามาเป็นร่องสวน และบ่อเลี้ยงปลา, เต็มไปด้วยมะพร้าว พืชผล พืชผัก และสมุนไพรนานาชนิดจากการทำนาทำสวนที่ใช้สารเคมีในอดีต ถึงวันที่เจ้าของสวนต้องล้มป่วยด้วยฤทธิ์ของสารเคมี สวนแห่งนี้จึงค่อยๆ ผ่านวันคืนแห่งการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมาสู่สภาพปัจจุบันต้นมะพร้าวนั้นถูกปลูกขึ้นในช่วงที่มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นเนื่องจากข้าวกำลังล้นตลาดปลาตัวโตในบ่อ เลี้ยงไว้แต่ไม่กิน เพราะที่นี่ทานมังสวิรัติ การเลี้ยงปลานั้นช่วยให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ขึ้นพืชผักใกล้บ้านและที่ปลูกริมลำเหมืองใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่ทำเอง ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น“แล้วเรื่องโรคเรื่องแมลงละครับ ?” ผมถาม“ก็มีบ้าง แต่เราปลูกหลายๆ อย่างรวมกัน มันก็ช่วยคุมกันไป ถ้ามีแมลงบ้างก็ถือว่าแบ่งกันกิน ให้มันกินบ้าง เรากินบ้าง ไม่เป็นไร”  เครื่องสีข้าวแรงคน ตั้งอยู่กลางกองข้าวเปลือกใต้หลองข้าว สีแต่พอหุง เมื่อหมดจึงสีใหม่  การสีข้าวแบบนี้ทำให้จมูกข้าวไม่ถูกทำลาย ข้าวแต่ละเมล็ดจึงเปี่ยมด้วยสารอาหารสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอยู่ในสวนแห่งนี้ ได้แก่บ้านพักหลังเล็กทั้งที่เป็นบ้านไม้ไผ่และบ้านดินที่ปลูกเรียงรายรอบบริเวณ อันเนื่องมาจากที่นี่ได้จัดกิจกรรมธรรมชาติบำบัดต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน นอกจากผู้ที่มาดูงานแบบเช้าไปเย็นกลับและผู้มาเข้ารับการรักษาแล้ว ยังมีผู้มาเข้าคอร์สบำบัดเรียนรู้เรื่องการรักษาสุขภาพวิถีไท ทำให้ต้องมีที่พักรองรับเอกชัย จินาจันทร์ เจ้าของสวนรุ่นที่สอง เล่าว่า แต่เดิมนั้น บิดาให้ความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และการปฏิบัติธรรม ต่อมาตนเองได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องธรรมชาติบำบัด จนกระทั่งสามารถให้คำแนะนำและดูแลรักษาผู้ป่วยได้ จึงได้ดำเนินกิจกรรมด้านนี้ควบคู่ไปกับการทำเกษตรอินทรีย์ปัจจุบัน สวนสายลมจอย อยู่ในเครือข่ายเกษตรกรรมอินทรีย์ซึ่งเริ่มมีครอบครัวเกษตรกรเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆหลังอาหารกลางวัน จำนวนผู้มาเข้ารับการบำบัดประจำวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่มานวด,ฝังเข็ม,พอกโคลน ฯลฯ พวกเรานั่งฟัง เอกชัย และ พี่ต้อม ผู้จัดการสวนสายลมจอย บรรยายเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองผ่านแผนผัง “นาฬิกาอวัยวะ” ซึ่งบอกช่วงเวลาการทำงานของอวัยวะภายในแต่ละส่วน หากเราสามารถใช้ชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับนาฬิกาอวัยวะนี้ได้ ชีวิตของเราก็จะดำเนินไปอย่างสมดุล ไม่โอนเอนไปมา ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากการเสียสมดุล03.00 – 05.00    ปอด         ตื่นนอนในช่วงนี้ได้ ปอดจะได้ทำงานเต็มที่ เพิ่มความแข็งแรงให้ปอด05.00 – 07.00    ลำไส้ใหญ่    ช่วงเวลาของการขับถ่าย เพราะลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดีที่สุด07.00 – 09.00    กระเพาะอาหาร    หากได้ทานอาหารเช้าในช่วงนี้จะมีพลังงานตลอดวัน09.00 – 11.00    ม้าม        อารมณ์โกรธ เครียด อิจฉา ริษยา มีผลต่อม้าม ซึ่งสร้างเม็ดเลือดขาว คนที่ใช้อารมณ์ด้านลบเป็นประจำจึงเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง11.00 – 13.00    หัวใจ        ช่วงเวลาหลังอาหารเที่ยงควรงีบหลับสัก 20 นาที (cesta) จะทำให้                สดชื่น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน13.00 – 15.00    ลำไส้เล็ก    ช่วงนี้มีการดูดซึมอาหารมากทำให้หิว แต่ไม่ควรรับประทานอะไรมาก15.00 – 17.00    กระเพาะปัสสาวะ  -17.00 – 19.00    ไต        ช่วงนี้คนจำนวนมากมักจะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้ไต ควรจะออกกำลังกายเบาๆ ไม่ควรหักโหม19.00 – 21.00    กล้ามเนื้อหัวใจ    ช่วงเวลาที่ระบบต่างๆ ในร่างกายเริ่มผ่อนคลาย เพื่อเตรียมนอน21.00 – 23.00    พลังงานรวม    -23.00 – 01.00    ถุงน้ำดี        -01.00 – 03.00    ตับ        -“เรื่องการดื่มกาแฟละครับ ?” ใครคนหนึ่งถาม“กาแฟมีประโยชน์ คือช่วยกระตุ้นสมองและหัวใจ แต่ควรดื่มหลังอาหารและไม่ควรดื่มมาก เพราะจะทำให้เลือดเป็นกรด” เอกชัย ตอบตื่นตีสี่ มื้อเช้าเจ็ดนาฬิกา พักผ่อนหลังอาหารเที่ยง เข้านอนสามทุ่ม นี่คือวัตรปฏิบัติของภิกษุสงฆ์ คือระบบที่พระพุทธองค์ทรงทราบ และนำปฏิบัติมาเป็นเวลากว่าสองพันปีแล้วหลังจบการบรรยาย เราต่างมองหน้ากันแล้วยิ้ม เพราะเราต่างรู้ดีว่าแต่ละคนใช้ชีวิตผิดจากนาฬิกาอวัยวะ บ้างก็มาก บ้างก็น้อย และเราก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องยากหากตั้งใจจะปฏิบัติจริงหรือไม่ใช่?

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม