Skip to main content

บล็อกกาซีน ประชาไท

วาดวลี
“พี่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ใครจะฟ้องร้องเอาอะไร ก็ไม่มีให้เขา มันเสียไปหมดแล้ว” รถโดยสารของความอึดอัดกำลังเคลื่อนขบวน โดยมีเราอยู่ในนั้น ฉัน และเขา “ผู้เช่าบ้าน” และ “ผู้ให้เช่า” ตามภาษาในเอกสารสัญญาของเรา กำลังยืนอยู่ตรงหน้ากัน  ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็น และอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน..........จำได้ว่าเมื่อ 1 ปีก่อน ตอนที่ฉันพบเขาครั้งแรก เขาไขกุญแจรั้วบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีป้ายติดประกาศว่า “ให้เช่า” ด้วยท่าทีอ่อนโยน ดวงตาเป็นประกาย พาฉันเดินเยี่ยมชมอย่างต้อนรับขับสู้ ริมฝีปากนั้นไม่เคยขาดรอยยิ้ม เขาเล่าว่า ทาวเฮาส์หลังนี้ซื้อไว้เมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อให้แม่อาศัย ส่วนเขาซื้ออีกหลังหนึ่งในหมู่บ้านเดียวกัน“บ้านหลังนี้พี่อยู่กับแม่ จนพี่ตั้งท้อง ก็อาศัยอยู่มาตลอด ซอยนี้เงียบสงบ เหมาะที่จะทำงานส่วนตัว พี่รักบ้านหลังนี้มาก ไม่เคยคิดจะขาย เมื่อไม่มีใครอยู่ ก็คิดว่าให้คนเช่าดีกว่า”ฉันมองไปยังห้องน้ำ ห้องครัว มุมนั่งเล่น จินตนาการเจิดจ้าว่าจะตกแต่งส่วนไหนเป็นอย่างไร ประตูกระจกเลื่อนได้ มีฟิล์มกรองแสงแล้ว ห้องน้ำแม้จะไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ห้องนอนก็ดูกว้างขวางดี “เอาเป็นว่าตกลงเช่าค่ะ” ฉันบอกเขาไปด้วยแววตาดีใจ ได้บ้านถูกใจเสียที ส่วนเขาเอื้อมมือมาแตะไหล่เบาๆ“พี่รู้แล้วว่าต้องตกลง พี่ถูกชะตาเรานะ เหมือนพระเจ้าส่งเรามาให้ เพราะท่าทางเป็นคนรักบ้านเหมือนพี่”คนพเนจรอย่างฉัน แม้จะยังไม่มีบ้านของตัวเอง แต่ก็ยังเป็นคนเลือกมาก ปีที่แล้วฉันตระเวนดูบ้านไม่น้อยกว่า 20 แห่ง เพื่อหา “พื้นที่” ที่ดีที่สุดในการใช้ชีวิตและการทำงาน ใครๆ มักถามว่าทำไมยังไม่ซื้อบ้าน นั่นสินะ ฉันก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน การมีบ้านเป็นความฝันสูงสุด แต่การ “ยังไม่มี” ในเวลาหนึ่งก็ยังไม่ควรจะเป็นทุกข์ การซื้อบ้านสำหรับฉันเป็นเรื่องใหญ่ ที่บางครั้งมีเหตุผลอันน้อยนิดเพียงแค่ว่า ฉันยังไม่รู้ว่าจะอยู่ที่นี่ไปตลอดหรือเปล่า และอีกหลายๆ เหตุผลตามมา การเป็นคนเช่าบ้าน จึงให้ประสบการณ์หลายอย่างในชีวิตว่า แม้บ้านจะไม่ใช่ของเรา แต่เราอาศัยอยู่ทุกวัน เราจึงควรทำบ้านให้สะอาด น่ารัก น่าอยู่ และรักมันในฐานะที่พักพิงของเราฉันเชื่อแบบนั้น ไม่เคยคิดมากกับการปลูกต้นไม้ลงที่บ้านคนอื่น สักวันต้องไป ก็มอบของขวัญไว้แก่ผืนดิน ทาสีบ้านใหม่ให้สวย เราจะได้อยู่สบายใจ ตรงไหนชำรุดก็ต้องซ่อมแซม ฉันทำแบบนั้นตั้งแต่วันที่ย้ายเข้ามา และคิดเสียว่า ทำบ้านไปให้ดีจะได้อยู่นานๆ อาจนานจนกระทั่งจากจร หรือ นานจนกว่ามีบ้านของตัวเองสักหลังบังอาจฝันเอาไว้แบบนั้น  แล้วก็พบกับความจริงที่ว่า ผ่านไปยังไม่ถึง 1 ปี ขณะที่นั่งทำงานอยู่ดีๆ อย่างมีความสุข ฉันก็ต้องกลับไปเป็นคนพเนจรอีกครั้ง“คุณอยู่บ้านหลังนี้ได้อย่างไรเหรอ” คนแปลกหน้าในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาวสะอาด ตะโกนเข้ามาจากหน้าบ้าน ฉันออกไปดู เจ้าหน้าที่สามคน ยืนถือเอกสารมากมาย กล้องถ่ายรูป พร้อมรถคันใหญ่ ยืนรอเจรจาอยู่ด้านนอกฉันงงกับคำถาม เปิดประตูให้เขา แล้วก็ยืนตอบออกไป “เอ่อ ก็เช่าอยู่อ่ะค่ะ”“แล้วเช่ากับใคร” เขาทำเสียงเข้ม สลับกับมองเอกสารในมือ“ก็เช่ากับเจ้าของค่ะ เขาอยู่ซอยถัดไปนี่เอง” มือก็ชี้นิ้วออกไป เขาทำคิ้วย่น แล้วก็ขอเบอร์โทรศัพท์เจ้าของบ้าน อีกคนขอตัวไปคุย อีกคนก้าวเข้ามาสำรวจ อีกคนถ่ายรูปหน้าบ้านฉันเอาไว้ ก่อนจะหันมาอธิบาย“น้อง บ้านหลังนี้ไม่มีสิทธิจะมาเช่าหรืออยู่นะ ธนาคารยึดไว้ตั้งนานแล้ว เป็นทรัพย์สินของธนาคาร น้องคงต้องย้ายออกไป”“อ้าว ก็นี่เช่ากับเขา ทำสัญญาเรียบร้อยค่ะ”“นั่นสิ ถึงได้ถามว่าเข้ามาอยู่ได้ยังไง ตอนนี้ธนาคารจัดงานแกรนเซลล์ขายทอดตลาดนะ เดี๋ยวคงมีคนมาดูเรื่อยๆ พี่เคยติดป้ายไว้แล้ว แต่มีคนรื้อออก ตอนนี้จะมาติดใหม่”ฉันนิ่งอึ้งไป เขาขออนุญาตประทับป้ายสีเหลืองขนาดใหญ่ ที่มีตัวโตๆ เขียนไว้ว่า “ขาย” แปะที่รั้วสีขาวหน้าทางเข้า ต้นจำปีในกระถางถูกเขยิบออก สองสามแรงช่วยกัน โดยมีฉันยืนมองอย่างไม่รู้จะทำตัวอย่างไร“เรียบร้อยละ อย่าเอาป้ายออกนะ พี่คุยกับคนที่ให้น้องเช่าแล้ว เขาไม่มีสิทธิที่จะให้ใครเช่า เขาไม่ใช่เจ้าของบ้าน นี่จ่ายเงินไปบ้างหรือยัง”“จ่ายตลอดค่ะ ทุกเดือน ทำสัญญารายปี” ฉันตอบ“สัญญาพวกนี้ใช้อะไรไม่ได้นะในทางกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ เพราะผู้ทำสัญญากับน้องเขาไม่มีกรรมสิทธิ์อยู่ จะว่าไปก็เป็นสัญญาปลอม และยังผิดกฎหมายอีกด้วยเพราะเอาทรัพย์สินผู้อื่นมาให้เช่า”เขาอธิบายได้ชัดเจนดี จากนั้นก็ขอตัวอำลาพร้อมให้นามบัตรเอาไว้ “เผื่ออยากซื้อติดต่อได้เลยนะครับ ราคาพิเศษ”เขาว่าแบบนั้น  ฉันรับเอาไว้พร้อมถอนหายใจ เกิดอะไรขึ้นหรือนี่ จะมีใครอธิบายได้บ้าง ก็คงจะต้องเป็นเขา พี่เจ้าของบ้านคนนั้นทันที่ที่เราเจอกัน  เจ้าของบ้านถอนหายใจเล็กน้อย เหมือนพิจารณาวันคืนที่ผ่านมาของตัวเอง เขาไม่มีรอยยิ้มเหมือนเดิมแล้ว ไม่มีคำขอโทษ และราวกับไม่มีความเสียใจ“อย่าไปตกใจนะน้อง อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปกลัวหรอก พวกธนาคารน่ะ”“เอ่อ แต่มันเป็นทรัพย์ของเขานี่คะ คงจะขายวันไหนก็ได้ หากอยู่ต่อมันก็คงจะเสี่ยง”ฉันค่อยๆ เริ่มเล่าความคิดในมุมของฉัน เขาส่ายหน้าไม่เห็นด้วย“โอ้ย อยู่ไปเหอะ ร้อยวันพันปีขายไม่ได้หรอก บ้านแถวนี้โทรมจะตาย ปลวกก็มีเยอะ ใครจะมาซื้อ อยู่ไปเรื่อยๆ ได้เลย อีก 10 ปี” ในมุมของเขาก็สวนกลับมา“ดูแล้วก็คงจะจริง น่าจะขายยาก แต่คิดว่าคงจะย้ายค่ะ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง”ฉันพูดออกไป เขาชะงักไปเล็กน้อย แววตานั้นแสดงความเฉยเมยและแปลกหน้าต่อกันอย่างเห็นได้ชัด เขาถอนหายใจอีก“พี่จะบอกอะไรให้นะ พูดอย่างน่าไม่อายเลย บ้านที่พี่อยู่อีกหลัง นั่นก็โดนยึดแล้วเหมือนกันแต่เราไม่ไปเสียอย่าง ใครจะทำอะไรเราได้”“แล้วไม่มีปัญหากับธนาคารเหรอคะ” ฉันถามอย่างฉงน อดสงสัยไม่ได้ “ก็มีแหละ เขาก็ฟ้องนะ ส่งหมายศาลอะไรมา เราก็ไป อยากยึดไปก็ยึด ยึดไปจนไม่มีอะไรให้ยึดแล้ว เขาก็เลิกไปเอง บอกจะขายบ้านก็ไม่เห็นใครมาซื้อซะที เราก็อยู่ไปเรื่อยๆ”เขาพูดราวกับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ฉันจ้องลึกไปในดวงตาเขา ชีวิตในอดีตเขาเป็นอย่างไรก็สุดคาดเดาได้ เราเพิ่งรู้จักกัน ดวงหน้าที่มีริ้วรอยความสวยงาม ภาษาที่ใช้ การแต่งตัวที่บอกให้เห็นว่าเขาน่าจะเคยมีชีวิตที่ดีกว่านี้ มีอะไรเปลี่ยนไปในชีวิตคนเรามากมาย แต่ท้ายที่สุด เราก็รู้จักเพียงแค่ปัจจุบันของเขา“เขาไม่มาไล่เหรอคะ” ฉันถามออกไป“ไล่สิ ก็มาบอกแบบบอกน้องไง ว่าให้ย้ายออก เนี่ยหลังอื่นๆ ก็ชะตากรรมเดียวกัน บางคนทนไม่ไหวก็ย้ายออกไปเอง แต่พี่เป็นคนที่ยืนหยัด เราไม่กลัว เรายืนหยัดแล้วเราก็จะอยู่ได้”ฉันรู้สึกว่า ฉันไม่เคยรู้จักเขามาก่อน 1 ปีที่ไปมาหาสู่ ช่วยสอนคอมพิวเตอร์ ช่วยซ่อมแซมของเสียหาย อาหารที่แบ่งปันกันกิน เขามีความลับมากมายที่เก็บซ่อนเอาไว้ แม้กระทั่งคำว่า “พี่รักบ้านนี้มาก” ก็ยังไม่จางออกจากปาก ฉันยืนอยู่ตรงนั้น หน้าบ้านที่ไม่ใช่ของฉันและไม่ใช่ของเขา กลิ่นดินกระทบฝนบอกลาเอาไว้แล้วอย่างเงียบๆลาจากทั้งเขา และลาจากทั้งบ้านหลังนี้“พี่น่าจะบอกกันสักคำ คือจะได้รู้ตัวว่าอยู่ได้ไม่นาน ไม่ได้เตรียมใจจะย้ายเลย เรื่องโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตที่จะต้องย้าย ข้าวของมากมาย คงใช้เวลาอยู่เหมือนกัน”ฉันรำพึงออกมาตามแบบของฉัน เสียงที่ตอบกลับมาก็เป็นอีกเสียงในแบบของเขา“ถึงได้บอกไงว่าไม่ต้องย้าย อยู่ไปแหละนะ เดี๋ยวพี่จะเอาป้ายออก”และเขาก็ทำอย่างนั้นจริงๆ เขาขยับป้ายออกไป ซุกซ่อนเอาไว้หลังต้นไม้ ให้ดูคลุมเครือและมองเห็นได้ยาก“ตกลงจะเอายังไง” เขาถามฉันอีกครั้ง ราวกับฉันเป็นคนเดียวที่ต้องตัดสินใจ “ก็คงจะย้ายค่ะ” ฉันตอบไปอย่างชัดเจน วูบนั้นฉันเห็นเขาส่ายหน้า ตามด้วยถอนหายใจ“ก็ไม่เป็นไรนะ พี่เข้าใจ คนกลัวน่ะอยู่ไม่ได้หรอก พี่จะอยู่ต่อไป ให้เช่าต่อไป ใครจะมาฟ้องมาอะไรก็เชิญ พี่ไม่มีอะไรจะเสียหรอก”..........แดดยามบ่ายไม่มี ลมไม่พัด ใบไม้ไม่เคลื่อนไหว ฝนกำลังจะตก ยามบ่ายของทุกวันที่ฉันจะนั่งมองต้นไม้พร้อมจิบชา จากนี้ไปก็คงไม่ได้ทำแบบนั้นที่นี่ การมองหาบ้านใหม่อีกครั้ง การเตรียมตัวเพื่อจัดการสิ่งต่างๆ อย่างที่ต้องทำ แต่ก็คงไม่เป็นไร ไม่มีอะไรหนักหนาหรอกก็แค่การย้ายบ้านสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของฉันวันนี้ ไม่ใช่เรื่องธุรกรรมเอกสาร ไม่ใช่การฉีกสัญญาหรือความรู้สึกที่โดนหลอก แต่แววตาคู่นั้น และสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมด ทำให้ฉันนึกถึงความลับของจักรวาลที่ว่าด้วยความซับซ้อนของมนุษย์ “ยามสุขนั้นมองกันไม่เห็น ยามมนุษย์ตกต่ำนั้นต่างหาก ที่จะวัดคุณค่าของตัวเขาได้มากที่สุด”
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ  www.salweennews.orgที่มาภาพ www.sarakadee.comที่มาภาพ www.salweennews.orgกอดกับความเย็นเยียบอยู่อย่างนั้น, กลางป่าเปลี่ยวอ้อมอกอันบอบบางของเธอมิเคยอบอุ่นอยู่กับความมืดดำในความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึง, ชีวิตความตายเหมือนมิเคยแยกจางห่างกันเลยโอ. เด็กๆ  ตามแนวชายแดนยามใดหนาวฤดูลมแล้งแห้งโหมพัดเข้ามาสู่,หัวใจเธอนั้นเหมือนจักรับรู้รสสัมผัสชีวิตวิถีที่จำต้องระเหเร่ร่อนนั่น,คือสัญญาณความขัดแย้งอันเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบเขารอการอุบัติเสียงแม่กระซิบบอกพวกเธอเบาๆเร็วเข้า, รีบกอบฝุ่นกลบกองฟืนไฟให้ดับมอดแล้วรีบเร่งเดินทางไกลหนีไปให้ห่างจากแนวชายแดนบทเพลงสงครามกวาดล้างชนเผ่ากำลังเริ่มต้น, อีกครั้งเหมือนดั่งบทเพลงเร่าร้อนที่ร่ำร้องไม่รู้จักจบท่ามกลางเสียงลามเลียปะทุไหม้ของไฟป่าผสานเสียงห่ากระสุนปืน ระเบิดก้องในหุบเขา,เปรี้ยง เปรี้ยง...ปัง ปัง !!!กี่ชีวิตหมุนคว้างดั่งใบไม้ปลิดปลิวร่วงแผ่นดินจึงสั่นสะเทือนไปทั่วสองฟากฝั่งทำให้ฉันคิดถึงเธอ…เด็กๆ ตามแนวชายแดน. หมายเหตุ : บทกวีชิ้นนี้เขียนไว้นานแล้ว เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ตามแนวชายแดนแถบ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ หยิบมาอ่านอีกครั้งๆ...เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง.
ชิ สุวิชาน
บุ เต่อ โดะ นะ แล บุ เออบุ ลอ บ ะ เลอ ต่า อะ เออชะตา วาสนาช่างรันทดต้องเผชิญแต่สิ่งลำเค็ญ
กวีประชาไท
ภาพจาก: forum.serithai.net/index.php?topic=17348.msg2  
อิทธิฤทธิ์ ประคำทอง
คืนและวันที่ดูแปลกหน้า แม้สบายๆ แต่ก็เปี่ยมด้วยความมุ่งหวังบางอย่าง หลายสิ่งที่ได้พบเห็นเติมเต็มความรู้สึกที่ได้รับจากการเดินทาง จากดินแดนเหนือสุดของเวียดนามประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้เรากำลังไต่ตามแผ่นดินแคบๆ ที่เลียบท้องทะเลมาถึงเมืองมรดกโลกลือชื่ออย่าง  ‘ฮอยอัน’  และในระหว่างเส้นทางอันยา
ชนกลุ่มน้อย
ผมพบเขาครั้งแรกในหน้าหนาวเมื่อหลายปีก่อน  หมู่บ้านเล็กๆ  ใจกลางเทือกถนนธงชัย  เขาไม่ค่อยมองสบตาในช่วงแรกๆ  เงียบเหมือนหิน  ยิ้มยาก  เคร่งขรึมอบอวลอยู่ภายใน  ผมนึกว่าคนจากพื้นล่าง  ขึ้นมารอซื้อของป่า  หรือพูดง่ายๆว่าอาจเป็นพ่อค้าซื้อของป่าสักอย่าง  ซึ่งมักปิดปากเงียบ  ไม่อยากให้รายละเอียดใครต่อใคร  ถึงจุดหมายที่มาของตัวเองต่อคนแปลกหน้าด้วยกัน  และของป่าที่จะซื้อก็ใช่ว่ามันจะเถรตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย  หรือจะพูดอีกอย่างว่า  ได้มาง่าย  ได้มาถูกๆ  ได้ของมาโดยไม่เหมือนคนอื่น  ก็ถือเป็นกำไรของการดั้นด้นมาตามหาของป่าไกลลึกผมบอกอย่างนี้  เพราะผมเคยพบหน้ากับคนค้าของป่านานาชนิด  ทั้งวัวควาย  แพะ  เห็ด  ผลไม้เมืองหนาว  สัตว์ป่า  เอื้องป่า  ยาสมุนไพร  สารพัดที่จะลงไปสู่พื้นราบแล้วแปลงร่างเป็นเงินงามๆออกมาได้กระทั่งเจ้าของบ้านบอก  เป็นกะเหรี่ยงจากพม่า  ผมโพล่งภาษาอังกฤษ(แบบงูๆปลาๆ)ออกไปทักทาย   ผมมานึกอีกทีหนึ่ง  ผมไม่น่าเริ่มต้นอย่างนั้นเลย  แค่ต่าบรึ โอมูโชเปอ  ทักทายตามธรรมเนียม ก็น่าจะเพียงพอกล่าวคำทักทายแต่เขาตอบกลับมาเป็นภาษาไทยชัดคำ  ชัดเจน  ใบหน้าผมเจื่อน  หดสั้นลงเหลือนิ้วเดียว  และเป็นนิ้วเดียวที่ยับๆย่นๆยู่ยี่ดูไม่ได้เลยผมแนะนำตัวเอง  เขาบอกชื่อ เหล่อวา  อันแปลว่าหินขาว(ผมเชื่อเหลือเกินว่า  มีคนรู้จักเขาอีกมาก  แต่ผมผ่านพบเขาแค่ลมวูบเดียวจริงๆ)เขาบอกเรื่องตัวเองให้ผมรู้น้อยมาก  กระทั่งถึงเช้าอีกวัน..   เพลงของ จอร์น เดนเวอร์ แว่วมาแต่เช้า  มันเป็นน้ำเสียงไม่ธรรมดา  เป็นน้ำเสียงของการฝึกฝนมายาวนาน  เสียงสวย  นุ่มนวล  เพราะมาก  ตามด้วยเพลงของ พอล ไซม่อลและอาร์ต  การ์ฟังเกล  ตามมาอีก เป็นเพลงในภาษาของเขาไม่นาน  เราพบในห้องบันทึกเสียงกลางเมืองเชียงใหม่  เขากำลังทำงานเพลงบอกเล่าเรื่องของเขาผมชวนมาเขามาเที่ยวที่บ้าน  บ้านที่ผมพักเช่าอยู่เขาพกรูปถ่ายมาด้วย  ผมเห็นใบหน้าตรากตรำสะพายปืนอาก้า   ผูกเปลนอนกันกลางป่า  ครอบครัวของเขา  ลูกของเขา  เพื่อนของเขาที่อยู่ในเขตสู้รบ   ภาพพักแรมตามป่าในเขตพม่า เขาร้องเพลงให้ผมฟังแล้วเขานัดผมว่า  อีกไม่กี่วันข้างหน้า  เอาจะเอาเพลงที่เขาเคยบันทึกแจกจ่ายกันตามตะเข็บชายแดนเมื่อหลายปีก่อนมาให้ผมไปรับเทปเพลงที่กลางเมือง  ราวกับยื่นรับสิ่งของผิดกฎหมายคราวหน้า  ผมจะเอาเพลงของเขา  มาขึ้นจอให้ดู ... + + + + + + + +หมายเหตุ   หน่วยสืบรู้คงตามหาตัวเขาไม่ได้แล้ว ผมไม่ได้พบหน้าเขาอีกเลย  เขาไปเป็นพลเมืองดีของอเมริกันชน  ผมรู้ความจริงแค่นั้น  เส้นทางนักรบเขียนเพลงของเขา  ยังเดินทางต่อหรือไม่  ไม่รู้... 
ประสาท มีแต้ม
กลไกการควบคุมระบบพลังงานของโลกเรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่และเชื่อมโยงกันหลายมิติหลายสาขาวิชา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจกันในช่วงเวลาอันสั้นและจากเอกสารจำนวนจำกัด ในที่นี้ผมจะเริ่มต้นนำเสนอด้วยภาพการ์ตูนและข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นเราจะเข้าใจทันทีว่า (๑) ทำไมกลุ่มพ่อค้าพลังงานทั้งระดับประเทศและระดับโลกจึงมุ่งแต่ส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลที่ใช้หมดแล้วหมดเลย ซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้า (๒) ทำไมพลังงานจากธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ เช่น พลังงานจากพืช พลังงานลมและแสงอาทิตย์ จึงถูกกีดกันและกล่าวหาต่างๆนานา และ (๓)  ทำไมสงครามอ่าวเปอร์เซีย จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งกับอิรัก และอิหร่านที่กำลังจ่อคิวตามมาติดๆเรามาเริ่มกันที่การ์ตูนกันก่อนเลยครับ  ผมมีคำบรรยายอยู่ใต้รูปการ์ตูนแสดงการเชิดหุ่น  ผู้เชิดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านพลังงานชื่อ Enron  โดยที่ในมือถือนโยบายพลังงานอยู่ฉบับหนึ่งด้วย  หุ่นที่ถูกเชิดตัวแรก เป็นพ่อค้าน้ำมันที่มีตำแหน่งเป็นถึงรองประธานาธิบดีสหรัฐด้วย  โดยที่รองประธานาธิบดีได้เชิดหุ่นประธานาธิบดี บูซส์ อีกต่อหนึ่ง ทั้งสามถือนโยบายพลังงานฉบับเดียวกัน  โดยที่หุ่นท่านประธานาธิบดีกล่าวว่า “มันเป็นการบังเอิญเท่านั้นนะ”ดูภาพนี้แล้วลองย้อนกลับมาดูนโยบายพลังงานของรัฐบาลไทยแต่ละชุดซิครับ ปรากฏว่า ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามารับตำแหน่ง ไม่เคยมีนโยบายที่หนีไปจากแหล่งพลังงานฟอสซิลเลย ต่างก็มุ่งแต่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น จนคุณเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อมาตุภูมิและสิ่งแวดล้อมที่ถูกสังหารไปแล้ว ได้กล่าวสรุปไว้อย่างคมคายว่า  “ในหัวของคนพวกนี้มีแต่ถ่านหิน”หลังจากได้ดูการ์ตูนที่สะท้อนปัญหารวมของระบบพลังงานทั้งโลกแล้ว ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเสริมเพื่อขยายความภาพรวมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นข้อมูลที่ว่านี้คือข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของประเทศต่างๆ ที่มากที่สุด ๑๐ ประเทศ ขอย้ำว่าเป็นข้อมูลการนำเข้า ไม่ใช่การบริโภคเพราะบางประเทศก็มีแหล่งน้ำมันของตนเองด้วยประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสูงสุด ปี  ๒๕๔๘   สังเกตว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันสูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก  ที่มา www.nationmaster.com จากแผนผังก็เป็นไปตามที่ทุกท่านทราบกันแล้วคือ สหรัฐอเมริกานำเข้าสูงถึง ๓๔.๘% ของโลก  รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น (๑๗.๗%) และเยอรมนีเป็นอันดับสาม (๘.๗%) ที่น่าแปลกใจมากคือ ประเทศไทยเราเองมีการนำเข้าน้ำมันในปี ๒๕๔๘ สูงเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ประมาณ  ๑.๘%  ของโลก ในขณะที่มีรายได้ประชาชาติ [1] อยู่ในอันดับที่ ๓๒ ของโลก ข้อมูลนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือการแปลงพลังงานมาเป็นรายได้ของคนไทยเรานั้นน่าเป็นห่วงมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อาจถือเป็นวาระแห่งชาติก็ยังได้มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich-Böll Foundation)   จากประเทศเยอรมนีได้สรุปแบบฟันธงไว้ว่า “ความยั่งยืนของระบบพลังงานโลกต้องขึ้นอยู่กับสองยุทธศาสตร์ คือหนึ่งการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (energy efficiency) และ สอง การใช้พลังงานหมุนเวียน”เมื่อได้กล่าวถึงประเทศผู้นำเข้าน้ำมันแล้ว  เรามาดูประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองกันบ้างแสดงอันดับประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลกที่มา Energy Information Administration, International Energy Outlook 2006จากตาราง เราพบว่าประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองสูงสุด ๗ อันดับแรกของโลก คือ ซาอุดิอาระเบีย แคนาดา อิหร่าน อิรัก  คูเวต  สหรัฐอาหรับอิมิเรส  และ เวเนซูเอลา ตามลำดับ  ถ้าเราพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของประเทศทั้ง ๗ นี้กับประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คือสหรัฐอเมริกาแล้ว เราจะพบว่ามีเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น คือประเภทที่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่นกับประเภทที่เป็นศัตรูที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซง รุกรานและกำลังจะรุกรานทั้งสิ้น สอดคล้องกับคำประกาศของประธานาธิบดีบุสซ์หลังกรณี ๑๑ กันยายน ที่ว่า “ถ้าคุณไม่เป็นพวกเรา คุณก็คือศัตรูของเรา” วารสารของศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง [2] ได้กล่าวเชิงสรุปว่า “สงครามเพื่อทำลายซัดดัมแห่งอิรัก แท้จริงก็มีต้นตอมาจากการที่อังกฤษ-อเมริกาไม่ต้องการให้มีใครเป็นก้างขวางคอ ในการที่พวกตนจะมีอิทธิพลเหนือผู้ผลิตและผู้ค้าน้ำมันในคูเวตและซาอุดิอารเบียนั่นเอง”นักวิเคราะห์บางคน เช่น  William Clark [3] เชื่อตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ แล้วว่า สหรัฐอเมริกาที่มีเป้าหมายที่จะรุกรานประเทศอิหร่านด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เครื่องอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นเพราะอิหร่านกำลังจะหันไปใช้เงินตระกูลยูโรในการค้าน้ำมันแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐที่ลดค่าลงเรื่อยๆ ดูท่าจะรุกรานประเทศโน้นประเทศนี้อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นตราบใดที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังมีความต้องการน้ำมันสูงขนาดนี้   เป็นที่น่าสงสัยว่า ถ้าประเทศอิหร่าน อิรัก ไม่มีแหล่งน้ำมันแล้ว สหรัฐอเมริกาจะทำสงครามด้วยหรือไม่ถ้าชาวโลกหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ใครก็ไม่สามารถผูกขาดได้ นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการป้องกันความขัดแย้งระหว่างประเทศและในโลกได้อีกด้วย  ภาพการ์ตูนในหน้าถัดไป ตั้งชื่อภาพว่า “ผู้เสพย์ติดสงคราม” ในภาพเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกาคนหนึ่ง พร้อมด้วยมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสงคราอิรัก ภาพนี้สะท้อนความคิดที่ติดเป็นนิสัยของผู้นำสหรัฐได้เป็นอย่างดี นักวิจารณ์คนหนึ่งบอกว่า ถ้านำงบประมาณที่ใช้ในการบุกอิรักซึ่งมีประมาณ ๐.๒๐๘ ล้านล้านดอลลาร์(นับถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ เท่านั้น) มาทำกังหันลม จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ ๗-๑๑% ของที่ชาวอเมริกันใช้ทั้งประเทศ และเป็นการใช้ได้ตลอดไปจะไม่ดีกว่าหรือ  ท่านที่สนใจค่าใช้จ่ายในสงคราม สามารถเข้าไปดูได้ จะพบว่าขณะสูงถึงกว่า ๔ แสนล้านดอลลาร์แล้ว [4] ปัจจุบันทั้งรองประธานาธิบดี ดิกค์  เชนนี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดร. คอนโดลีซซา ไรท์ ต่างก็เคยเป็นบุคคลสำคัญในบริษัทน้ำมันระดับใหญ่ที่สุดในโลก คือ Halliburton และ Chevron ตามลำดับ สำหรับภาพข้างล่างนี้เป็นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ที่ทางบริษัทได้นำชื่อของเธอมาตั้งเป็นชื่อเรือเพื่อเป็นการให้เกียรติเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ ของบริษัท Chevron ที่นำชื่อ Condoleezza Rice รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเธอเคยเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท  ที่มา http://www.aztlan.net/oiltanker.htm ศาสตราจารย์ โจเซฟ  สติ๊กลิทซ์  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์  กล่าวว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นประมาณ ๕ ถึง ๑๐ เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลโดยมีสาเหตุมาจากการก่อสงคราม  ดังนั้น ผลกระทบจากสงครามอิรักได้ส่งผลกระทบถึงเราทุกคนทั่วโลกเชื่อได้แล้วนะครับว่า การเมืองโลกกับพลังงานโลกมีความสัมพันธ์กันแนบแน่นขนาดไหน เรื่องถ่านหินก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับน้ำมันเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า  ดังนั้นผมจะไม่ขอกล่าวถึงในทีนี้ผมยังมีอีก ๓ ประเด็นที่จะกล่าวเพิ่มเติมในบทนี้ครับ คือ (๑) เรื่องราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิตและ (๒) ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหิน และ (๓) แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้าซึ่งจะช่วยให้เรามองภาพในอนาคตได้ชัดเจนขึ้นราคาน้ำมันกับจำนวนการผลิตในปี ๒๕๔๘ มีการผลิตน้ำมันทั่วโลกประมาณวันละ ๘๕ ล้านบาร์เรล [5]  มีการคาดการณ์ว่าในปี ๒๕๕๓ จะเพิ่มเป็น ๙๑.๖  ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่น่าจะเพิ่มสูงกว่านี้อีกเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนและอินเดียที่มีประชากรรวมกันถึง ๔๐% ของโลกสำหรับปริมาณการผลิตและราคาในช่วง ๑๕ ปี (ค.ศ. ๑๙๙๐-๒๐๐๕) สามารถดูได้จากกราฟในหน้าถัดไป  แต่เป็นข้อมูลของตลาดในกลุ่มโอเปค [6]  เท่านั้น อนึ่ง กลุ่มโอเปคมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ ๓๗ - ๓๙% ของโลก ดังนั้น หากต้องการทราบจำนวนการผลิตทั่วทั้งโลกก็สามารถคิดสัดส่วนเอาได้จากกราฟ  ถ้าพิจารณาอย่างผิวเผิน เราจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการผลิตกับราคา(ต่อบาร์เรล) เป็นไปตามกลไกการตลาด คือถ้าราคาสูงก็มีการผลิตเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆของโลกทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองและมาจากภัยธรรมชาติในประเด็นเรื่องราคากับการผลิต ผมยังมีอีก ๒ กราฟเพื่อขยายความในรายละเอียด ท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าเข้าใจดีแล้ว ก็สามารถข้ามไปดูกราฟสุดท้ายที่เป็นเรื่องอนาคตได้เลยครับ(กราฟต่อไปเป็นการแสดงราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๙  เราพบว่าก่อนปี ค.ศ. ๑๙๗๓ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ราคาน้ำมันดิบอยู่ประมาณ ๑๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ได้เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในปี ๒๕๑๖ เนื่องจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับอาหรับและการรวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมัน (ตามที่กลุ่ม The Club of Rome คาดหมาย-ในบทที่ ๓) จากนั้นก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การปฏิวัตพระเจ้าซาร์แห่งอิหร่าน (๑๙๗๙)  สงครามระหว่างอิรัก กับอิหร่าน (ที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนอิรัก ปี ๑๙๘๐)  รวมทั้งสงครามรุกรานอิรักในปี ๒๕๔๖ การประท้วงของกรรมกรบ่อน้ำมันในเวเนซูเอลา (PDVSA Strike) ราคาน้ำมันดิบในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๘  พร้อมการขึ้นลงของราคาตามเหตุการณ์สำคัญ ข้อมูลเกี่ยวกับถ่านหินเนื่องจากในประเทศไทยเรายังมีกลุ่มที่สนใจถ่านหิน ถึงขั้นที่รับเป็นเจ้าภาพประชุมวิชาการเรื่องถ่านหินโลก(Coaltrans Thailand)   ที่จังหวัดลำปาง  เมื่อปี ๒๕๔๘ ประเทศที่ให้การสนับสนุนการเงินเพื่อจัดประชุมครั้งนั้นคือประเทศออสเตรเลีย  ในที่นี้ผมเพียงแต่เอาข้อมูลมานำเสนอว่า ประเทศที่มีแหล่งถ่านหินในอันดับต้นๆ ของโลกนั้น ได้แก่ประเทศใดบ้าง ลำดับประเทศที่มีแหล่งถ่านหินสำรองอันดับแรกๆของโลก  พบว่า ๓ อันดับแรกของโลกคือ ประเทศโรมาเนีย (๓๐.๑%)  ออสเตรเลีย(๒๑.๙%)   จีน (๑๗.๗%)  ที่มา  www.nationmaster.com สำหรับ ๒ ภาพข้างล่างนี้เป็นเหตุการณ์การแสดงออกของ “คนไม่เอาถ่านหิน” ที่ จ.ลำปาง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการร่วมกันสร้างเชิงนโยบายสาธารณะของเรา ภาพเหตุการณ์ วันประชุมวิชาการถ่านหินโลก (มกราคม ๒๕๔๘) ที่จังหวัดลำปาง  ซ้ายมือเป็นภาพผู้เสียชีวิตจากโรคหืดหอบ (พร้อมขวดยาที่ใช้แล้ว) ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ขวามือเป็นการตั้งแถวรับมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการมาประท้วงของเครือข่าย “คนไม่เอาถ่านหิน”  ภาพจาก http://www.thaingo.org แนวโน้มการใช้แหล่งพลังงานต่างๆ ในอนาคตอีก ๗๐ ปีข้างหน้าเรื่องสุดท้ายสำหรับบทนี้  เป็นการแสดงให้เห็นการใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ถึง ๒๖๑๘  กราฟนี้ผมได้มาจากเว็บต์ของประธานาธิบดีอินเดียจากกราฟข้างล่างนี้ พบว่าในปัจจุบัน (ปี ๒๐๐๗) พลังงานจากแสงอาทิตย์(ไม่ระบุว่าเป็นชนิดใด) กำลังมีอัตราการใช้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแหล่งพลังงานชนิดอื่น(เพราะมีความชันมากกว่าชนิดอื่นๆ) ในขณะที่อัตราการใช้ของพลังงานจาก ถ่านหิน น้ำมัน กำลังลดลง นี่แสดงว่านโยบายการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังสวนกระแสโครงสร้างแหล่งพลังงานของโลกในช่วงปี ค.ศ. ๑๘๕๐ ถึง  ๒๐๗๕ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า พลังงานจากไม้และชีวมวลต่างๆ ซึ่งเคยเป็นแหล่งพลังงานที่มีการใช้กันมากที่สุดในอดีตนับร้อยปี ได้มาถึงจุดต่ำสุดในช่วงปีนี้ แต่กำลังจะได้รับความนิยมใหม่อีกครั้งหนึ่งในอนาคตนี่เป็นแนวโน้มในอนาคตที่ช่วยเสริมสร้างกำลังใจอย่างดีให้กับกลุ่มประชาสังคม ที่ทำงานรณรงค์และผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ----------[1] ข้อมูลปี ๒๕๔๗  จาก  http://www.nationmaster.com/graph/eco_gdp-economy-gdp-nominal   (หมายเหตุ ไม่มีข้อมูลปีเดียวกัน แต่ถึงจะเป็นคนละปีก็พออนุโลมเทียบกันได้)[2] ฉบับที่ ๑๖ น้ำมัน , กรกฎาคม ๒๕๔๔ หน้า ๑๕ [3] The Real Reasons Why Iran is the Next Target: The Emerging Euro-denominated International Oil Marker, โดย William Clark www.globalresearch.ca   เมื่อ   27 October 2004[4] http://nationalpriorities.org/index.php?option=com_wrapper&Itemid=182 [5] ในขณะที่ประเทศไทยใช้น้ำมันในปี ๒๕๔๘ เฉลี่ยวันละ  ๗๔ ล้านลิตร (๑ บาร์เรล เท่ากับ ๑๕๙ ลิตรโดยประมาณ) [6] ที่มา http://www.wtrg.com/oil_graphs/PAPRPOP90.gif   กลุ่มโอเปก ประกอบด้วยสมาชิก ๑๑ ประเทศคือ Algeria, Indonesia, Iran, Iraq, Kuwait, Libya, Nigeria, Qatar, Saudi Arabia, the United Arab Emirates, and Venezuela. 
new media watch
  http://www.sapparod.com/ด้วยเหตุว่า sapparod.com มีหูตาเป็นสัปปะรด คอยรายงานความเคลื่อนไหว ตอบคำถาม และรวบรวมเกร็ดความรู้นานาสารพันมาให้นักท่องเน็ตได้ตามอ่านกันอย่างจุใจ เรื่องราวที่หาอ่านได้จากสัปปะรด (เนื้อแน่น) ออนไลน์ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับ ‘คอมพิวเตอร์' ที่แทบจะกลายเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของคนบางกลุ่มไปแล้ว บล็อกเกอร์ผู้ปลูกสัปปะรดบอกว่า บางครั้งข้อมูลที่เอามาโพสต์ "อาจจะไม่ใช่ข้อมูลทางเทคนิคขั้นสูงนัก แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่ยังไม่รู้" (อันนี้มันแน่นอนอยู่แล้ว -ไม่มากก็น้อย) ถ้าดูจากความสม่ำเสมอในการอัพบล็อก ก็เชื่อได้ว่าสัปปะรดดอทคอมมีเรื่องน่าสนใจมาให้บล็อกเกอร์อื่นๆ อ่านกันได้อีกนาน แถมท้ายด้วยคำยืนยันของเจ้าของบล็อกที่บอกว่า "ผมคิดว่าคอมพิวเตอร์มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์สิ่งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังมีอะไรมาให้ทดลองเล่นสนุกๆ เยอะแยะอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจึงตั้งใจที่จะให้เว็บไซต์แห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของคนที่รักคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน"
Hit & Run
  อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาดูเหมือนเรื่องน่าจะจบลงไปแล้ว กับความพยายามของ สนช.กว่า 60 คน ที่เข้าชื่อกันยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนที่สุดท้าย สนช.จะตัดสินใจถอนการแก้ไขออกไปก่อนแม้เรื่องนี้มีนัยยะที่น่าสนใจหลายประเด็น แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กระแสความคิดที่เกิดขึ้น แม้ภายหลังการถอยและถอนการเสนอแก้กฎหมายแล้วก็ตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจำนวน 242 คน โดย สนช. สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอหรือแก้ไขกฎหมายได้ ผ่านการเข้าชื่อเพียงจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ยกเว้นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน เราอาจจะไม่สามารถเหมารวมได้ทันที ว่าผู้ที่เข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย จะมีความเห็นที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่เสนอไปหรือไม่  เพราะการเข้าชื่อเป็นเพียงกระบวนการขั้นแรกที่ทำให้กฎหมายได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาถกเถียงเพื่อแก้ไขต่อไป ซึ่งจะเห็นต่างหรืออยากแก้ไขอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของ สนช. 'ที่เหลือ' ที่จะแปรญัตติเมื่อจำนวนเพียง 25 ชื่อ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเปิดพื้นที่ให้กฎหมายสักฉบับเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาแต่งตั้ง แต่โดยธรรมเนียมของสภาที่ผ่านๆ มา หากเป็นกฎหมายสำคัญๆ จำนวนของรายชื่อ ก็มีนัยยะที่สื่อสารกับสังคมได้เช่นกัน ยิ่งมากก็ยิ่งเห็นดีกรีที่สภาแสดงออกถึงความจำเป็น ความเร่งด่วนในการผลักดัน แล้วก็ไม่ค่อยจะมีใครที่ลงนามในกฎหมายที่ตนไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ขาดสิทธิในการแปรญัตติ จำนวนมากกว่า 60 รายนาม จึงมีนัยยะสำคัญที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้แล้ว การแก้ไข ป.อาญา มี สนช.แต่งตั้งเข้าชื่อถึง 64 รายชื่อ ส่วนป.วิอาญา มีสนช.แต่งตั้งร่วมเข้าชื่อถึง 61 รายชื่อ สาระของการเสนอแก้ไข ประเด็นแรก คือ การเพิ่มเติมความคุ้มครอง ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง เรื่องนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช. ผู้เสนอ ให้เหตุผลของการแก้เนื้อหาไว้ว่า เพราะที่ผ่านมา "บางท่านกลายเป็นหยื่อทางการเมือง"การแก้ไขแบบนี้ มีผู้วิพากษ์วิจารณ์หนาหู ถึงการวางให้คณะองคมนตรีอยู่ในฐานะพิเศษเหนือปุถุชนสามัญ และคณะองคมนตรีก็แสดงความไม่สบายใจ จนท้ายที่สุด นายพรเพชร ก็ตัดสินใจถอนการแก้ไขกฎหมายออกไปการเสนอแก้ไขอีกฉบับหนึ่งนั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14/1 ของ ป.วิอาญา ซึ่งมีสาระว่า ในระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความผิดต่อองค์พระ มหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในกรณีเห็นสมควร พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือคู่ความ อาจยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้สั่งห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด และหากศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว เห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพื่อการคุ้มครองปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ศาลสั่งอนุญาตตามคำร้องและอาจกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของศาลดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก็ถูกถอนตามไปด้วย โดยนายพรเพชรให้เหตุผลว่า เมื่อถอนก็ต้องถอนทั้งสองฉบับ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน มาตรา 14/1 ที่แก้ไขนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งปรากฏว่า มีสื่อที่แสดงท่าทีชัดเจนต่อเรื่องนี้ ตัวอย่างหนึ่งคือ บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 ตุลาคม 2550 หรือ 2 วันหลังการถอนการแก้กฎหมาย และอาจเพราะเป็นธรรมเนียมของ 'รูปแบบ' บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ อันเป็นพื้นที่แสดงจุดยืนของหนังสือพิมพ์นั้นๆ งานชิ้นนี้จึงไม่ระบุชื่อผู้เขียน ขออนุญาตคัดบางส่วนที่น่าสนใจของบทบรรณาธิการชิ้นนี้...            "เป็นที่เข้าใจได้ว่า สำนักข่าวต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ขาดความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับคนไทย อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงการก่อกำเนิดของชาติที่ต่างกัน จึงนำเสนอข่าวสารคัดค้านในแง่มุมของตะวันตก             น่าตระหนกที่ สาระตามมาตรา 14/1 กลับถูกสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่ง และนักสิทธิมนุษยชนบางคน พยายามเคลื่อนไหวคัดค้าน กล่าวประณาม สนช.กลุ่มที่นำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะตีความว่า มาตรานี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสาร ทำให้ศาลมีอำนาจสั่งห้าม มิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด             ในฐานะสื่อมวลชนไทยเช่นกัน จำเป็นต้องสอบถามถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพต่อการแสดงท่าทีดังกล่าวด้วยความเคารพว่า ท่านต้องการเสรีภาพ โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความ ผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จริงๆ น่ะหรือ            หากเป็นเช่นนั้น ก็สมควรที่เข้าชื่อเปิดเผยตัวตนต่อประชาชน เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของความเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพให้ประจักษ์            เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารล้วนเป็นที่หมายปองของคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชนทุกผู้คน หากแต่เสรีภาพนั้นย่อมมีขอบเขตข้อจำกัดด้วยจารีต ประเพณี หน้าที่ของพลเมืองในแต่ละสังคม            หน้าที่ของคนไทย คือ ทำนุบำรุง ปกป้อง รักษาซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หากเสรีภาพจะได้มาด้วยการสูญเสียซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสามสิ่งนี้             เราขอยืนหยัดคัดค้านอย่างสุดกำลัง" แม้ท้ายที่สุด สนช. จะ 'หยุดชะงัก' การแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับไปแล้วก็ตาม แต่ใช่ว่าจะลบล้างเรื่องทั้งหมดได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น และกระแสที่ตามมา ได้สะท้อนเรื่องราวหลายอย่าง และเป็นคุณประโยชน์ต่อหลายๆ แวดวงในเมืองไทย โดยเฉพาะสถาบันวิชาชีพและสถาบันการศึกษา ด้าน 'สื่อมวลชน' ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสื้อเหลืองแบบนี้ ความกังวลใจของ 'เขา' ไม่ได้อยู่ที่คุ้มครองใคร แต่ตรงกันข้าม สิ่งที่ 'เขา' เกรงกลัว น่าจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่น และมูลเหตุของคดีหมิ่น นั่นคือ การแก้ไขกฎหมายเพื่อระบุว่า ห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่น มีความสำคัญที่เป็นอันตราย ยิ่งกว่าการให้สถานะอภิสิทธิ์ชนเป็นไหนๆสังคมไทยมีบรรยากาศของความเงียบ ที่ปกคลุมความรู้สึกสงสัยแบบตรงไปตรงมาอันมีต่อสถาบันกษัตริย์ เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีไม่ว่ากับฝ่ายใด แม้แต่กับชาวเสื้อเหลืองแห่งสยามประเทศ เพราะไม่เพียงแต่สถาบันอันเป็นที่รักของชาวเสื้อเหลืองจะไม่มีผู้ใดตรวจสอบได้เท่านั้น แต่ยิ่งเปิดช่องให้สถาบันอันเป็นที่รัก ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ผ่านความศรัทธาของชาวเสื้อเหลืองเอง (ไม่แน่ใจว่า บทบรรณาธิการของโพสต์ทูเดย์คิดกับเรื่องนี้อย่างไร) เรื่องนี้ น่าจะเป็นคำถามท้าทาย ให้คนแวดวงสื่อ และแวดวงวิชาการสื่อสารมวลชน ว่าจะอยู่ภายใต้ฟ้าเหลืองอย่างเท่าทันได้อย่างไรอย่างไรก็ดี ไม่เคยมีตำราทางนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ที่สอนว่า มีเรื่องประเภทใดที่ห้ามหรือไม่ควรเอ่ยถึงในสื่อมวลชน สิ่งที่เป็นข้อห้าม จะมีก็แต่การห้ามละเมิดหรือเหยียดในสีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา กล่าวความเท็จให้ผู้อื่นเสียหายตรงกันข้าม สิ่งใดยิ่งมีความสำคัญมาก ยิ่งต้องพูดถึง วิจารณ์มาก เปิดพื้นที่ให้เห็นความคิดที่หลากหลายให้มาก เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งสำคัญนั้นๆ โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการตรวจสอบ ไม่ว่าเรื่องใดเรื่องนี้อาจจะไม่แปลกหรือไม่มีนัยยะสำคัญ หากผู้พูดไม่ได้มาในนามของสื่อ และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ สื่อมวลชนเสนอตัวในการประกาศเรื่องความจำเป็นในการจำกัดเสรีภาพเสียเองบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ แสดงอาการยินยอมอย่างเต็มที่ หากศาลจะวินิจฉัยมิให้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหา ฟ้องร้อง ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมทั้งประกาศความเชื่อด้วยว่า การมีเสรีภาพภายใต้ขอบเขตที่จำกัดด้วยจารีตประเพณี หน้าที่พลเมือง จะเป็นทางหนึ่งที่จะทำนุบำรุง ปกป้อง รักษา ซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ได้ หลายคนคงรู้ดีว่า การถูกรัก ด้วย 'วิธีรัก' ในบางรูปแบบ เป็นอันตราย และการทำให้เรื่องสำคัญที่ยากตรวจสอบได้ถูกตรวจสอบ ว่าไปก็เป็นเรื่องจรรโลง สร้างสรรค์ มากกว่าเพื่อหวังจะเอาใจชั่วครู่ชั่วยามในฐานะที่ไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่เชื่อมั่นว่า หากประชาชนไทยมีพื้นที่ให้ได้รับรู้ เข้าถึงข้อเท็จจริง มีโอกาสและมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องร้องในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จะเป็นผลดีต่อทุกๆ สถาบันและทุกๆ อุดมการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยค่ะ ...ดิฉันชื่อ  อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา  
Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป ทางวงได้ออกมาบอกชัดเจนว่าเนื้อหาของอัลบั้มนี้จะหันมาพูดเรื่องสังคมการเมือง  ขณะที่ในอัลบั้มก่อนๆ Sum 41 มีภาพของวงขวัญใจวัยรุ่นอยู่พอสมควรซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะวง Pop Punk ขวัญใจวัยรุ่นอย่าง Green Day เองก็ได้เขียนเพลงเกี่ยวกับ ชีวิต สังคม การเมือง และสร้างผลงานชุดดังอย่าง American Idiot ออกมาแล้ว ไม่นับวง Political Punk อื่นๆ ที่มีแนวทางของตัวชัดเจนแต่น่าสนใจตรงที่ว่า นอกจาก Linkin' Park แล้ว วง Sum 41 เองก็เริ่มทำท่าว่าอยากจะหันมาสร้างงานที่ทำให้ตัวเองดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่า Linkin'Park ยังทำตรงนี้ได้ไม่ดีนัก เลยจะลองมาดูกันว่า Underclass hero อัลบั้มล่าสุดของ Sum 41 จะแสดงมุมมองต่อโลกนี้อย่างไร และทำได้ดีแค่ไหนจะว่าไปชื่ออัลบั้มนี้ชวนให้นึกถึงชื่อเพลง Working Class Hero ของ John Lennon อยู่บ้าง คำว่า Working Class นั้น แปลตรงตัวได้ว่า ชนชั้นแรงงาน ถึงแม้ชื่อเพลงมันอาจจะชวนให้เข้าใจว่าเชิดชูผู้ใช้แรงงานก็ตาม แต่จริงๆ แล้วมันฟังดูเป็นเพลงวิจารณ์ระบบการศึกษามากกว่า และคำว่า Hero ก็ใช้อย่างประชดประชัน ไม่ได้นำมาใช้เชิดชูส่วนคำว่า Underclass มีความหมายกว้างกว่ามาก เพราะมันเป็นคำที่หมายรวมชนชั้นใต้ถุนสังคมผู้ไร้โอกาส ตั้งแต่คนจนข้ามรุ่น คนจรข้างถนน คนติดยา คนตัวเล็กที่ไร้กำลังในโลกของธุรกิจมืด ไปจนถึงคนไข้โรคจิตเพลง Title Track ซึ่งขึ้นมาเป็นเพลงแรกของอัลบั้ม แม้ยังคงให้ความรู้สึกแบบ Pop Punk อยู่ แต่หากตัดอคติเรื่องความเป็นผู้ใหญ่ในเนื้อหาออกไป เนื้อเพลงมันก็สื่ออารมณ์แบบอนาคิสต์ผู้ป่าวประกาศต่อต้านรัฐและความเป็นสถาบันอย่างตรงไปตรงมาดี ติดตรงที่ดนตรียังฟังดูทรงพลังไม่มากพอ ทำให้รู้สึกว่ามันไม่ค่อยไปด้วยกันกับเนื้อหาเท่าไหร่"Well i wont be caught living in a dead end jobor pray to a government guns and godsnow its us against themwe're here to representstare right in the face of the establishmentand i dont believestand on my ownwasting the usespeak for yourself"- Underclass Heroแต่ขณะเดียวกันไม่รู้ทำไม เมื่อผมได้ฟังอัลบั้มนี้แล้วกลับไม่รู้สึกนึกถึง Underclass ในภาพเดียวกับที่เขียนถึงในข้างต้นเลยแม้แต่น้อย อาจจะเว้นไว้หน่อยให้กับชนชั้น "วัยรุ่นมีปัญหา" ซึ่งก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็น Underclass จริง ๆส่วนตัวผมเองแล้วชอบเพลงที่สะท้อนความรู้สึกสับสน เจ็บปวด เคียดแค้น ของวัยรุ่นที่อยากจะบอกอะไรต่อโลกและคนรอบข้างอยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหากับเนื้อหาแบบนี้สักเท่าไหร่ เพียงแต่ราคาคุยของ Sum 41 ที่บอกว่าจะเป็นแนวสังคมการเมืองอาจจะเสียไปบ้าง เพราะเพลงที่มีเนื้อแบบ "วัยรุ่นมีปัญหา" อย่าง Count Your Last Blessing . Walking Disaster หรือ Dear Father (Complete Unknown) นั้นฟังดูสื่อออกมาได้จริงใจกว่าเนื้อเพลงที่พูดถึงเรื่องราวอื่นๆ ในอัลบั้มโดยเฉพาะเพลง Dear Father (Complete Unknown) ที่ Deryck Whibley มือกีต้าร์และนักร้องนำ เขียนถึงพ่อของตัวเขาเองที่ไม่เคยได้เห็นหน้าเลย เพราะเขาเป็นเด็กที่เกิดจากแม่อายุ 17 และพ่อก็ทิ้งเขาทั้งสองไป จะว่าไปเพลงนี้น่าจะทำให้วง Sum 41 ดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเพลงอื่นๆ เสียอีก เพราะเนื้อหามันก็ไม่ได้คร่ำครวญอะไรมากมาย และดูจะท้าทายผู้เป็นพ่อที่ทิ้งเขาไปหน่อยๆ ด้วย"I addressed this letter to ‘dear father'I know you as complete unknownI guess it's better you don't botherAll our truth should be left alone"- Dear Father (Complete Unknown)ขณะที่เพลงอย่าง Pull the Curtain นั้นทำท่าว่าจะดีในช่วงต้นๆ เพลง แต่ตัวดนตรีกลับดูยืดยาวเกินความจำเป็นและพูดอะไรซ้ำซากไปหน่อย ส่วนเพลง Confusion And Frustration In Modern Times ที่ชื่อเพลงก็ประกาศอยู่แล้วว่า จะพูดถึง "ความสับสนและวิตกกังวลในโลกสมัยใหม่" นะ มันคงฟังดูน่าสนใจหากมีแง่มุมใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้คนในยุคสมัยปัจจุบัน แต่กลายเป็นว่าเนื้อเพลงฟังดูโหวง ๆ ดนตรีก็ไม่ได้มีอะไรชวนให้รู้สึกถึงสิ่งที่พวกเขาบอก หรือแม้แต่พวกเขาเองจะรู้สึก Confuse หรือ Frustrate จริงๆ หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ หรือถ้าไม่คิดมาก การที่หลายเพลงดูจืด ๆ และสื่ออารมณ์ยังไม่ "ถึง" อาจจะมาจาก เสียงร้องนำของ Deryck Whibley เองที่ไม่ว่าจะเป็นเพลงเศร้า เพลงโกรธ หรือเพลงประชด ก็มีน้ำเสียงคล้ายกันไปหมดจน ทำให้อารมณ์ร่วมดูเจือจางไปไม่ต้องกลัวว่าจะลืมพูดถึงเพลงประท้วง แต่จะเรียกว่าเป็นเพลงประท้วงก็เรียกได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่ เพราะเพลงโจมตีผู้นำ (แน่นอน...โดยเฉพาะ ผู้นำอเมริกา) คือ March of the Dogs , The Jester และ King of Contradition ฟังดูเป็นเพลงสาปแช่งมากกว่าจะเป็นเพลงที่พูดถึงปัญหาที่เกิดจากตัวคนที่พวกเขาโจมตี ตัวเพลงเองก็ดูจะมีแต่น้ำและไม่ได้มีท่าทีจะสะท้อนอะไรจาก Underclass เลยจริง ๆผมเองพยายามจะไม่คิดอะไรมากกับมันและนึกเสียว่ากำลังฟังเพลงสาปแช่งเพื่อความสะใจของตัวเองอยู่ แต่จะว่าไป มันก็ยังมีเพลงสาปแช่งที่มันส์สะใจกว่านี้หลายเท่าอยู่นี่นา... ทำไมผมถึงต้องมามัวฟัง (Political?) Punk อยู่ด้วยเล่า"I hope you burn like a cigarette in ashesAs your head comes down an crashesYour throat pours blood from slashesAnd I hope you never forget like a tatoo of regret this time, this time"- King of Contraditionให้ตายสิ...ทั้งที่ Sum 41 ตั้งมั่นไว้ว่าจะกรุยทางไปสู่เนื้อหาประท้วงสังคม แต่เพลงที่ผมชอบกลับเป็นเพลงที่สุดแสนจะปัจเจกอย่าง Best of Me ที่เป็นเพลงช้าได้อารมณ์ (โชคดีที่ Backing Vocal ช่วยกลบเสียงชืดๆ ของ Deryck ไว้ได้ในบางช่วง) เนื้อหาของเพลงนี้มันพูดถึงการสำรวจตัวเอง ที่สามารถตีความเป็นเพลงรักได้ ถ้าให้บอกกันจริง ๆ เนื้อหาสุดแสนจะปัจเจกบางเพลง มันกลับบอกอะไรจากสังคมได้ดีกว่าเพลง (พยายาม) ประท้วง เสียอีกSum 41 กลายเป็นอีกวงหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนตัวเอง แต่กลับไม่สามารถก้าวข้ามอะไรบางอย่างไปได้ หากจะเรียก Underclass Hero ว่าเป็นอัลบั้มความหวังใหม่ของพังค์การเมือง มันก็จะกลายเป็นอัลบั้มที่เต็มไปด้วยรอยตำหนิและไปไม่ถึงสิ่งที่อยากจะเป็น หรือแม้กระทั่งจะคิดว่ามันก็คืออีกอัลบั้มหนึ่งของศิลปินพังค์วัยรุ่น ก็จะกลายเป็นอัลบั้มที่ดูด้อยพลังลงกว่าแต่ก่อนอยู่ดีหาก Angry Young Men ทั้งหลาย อยากจะพูดถึงสังคมอย่างจริงจังบ้างมันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อยากลองให้พวกเขาไปศึกษาวง Political Punk บางวงดูเสียหน่อย อาจจะทำให้เห็นแนวทางได้มากขึ้น อย่างวง Anti-Flag ที่ประท้วงได้อย่างมีแนวทางชัดเจน หรือวง Propagandhi ที่เนื้อเพลงเสียดสีอย่างน่าคิด และแม้กระทั่งวงอื่น ๆ ที่ถึงแม้จะไม่ได้พูดอะไรลึกนัก แต่ก็มีพลัง และอย่างน้อยก็เข้าใจในสิ่งที่ตนเองต้องการประท้วงอีกนัยหนึ่ง การเป็น Angry Young Men มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะบางเพลง แม้มันจะไม่ใช่เพลงประท้วงหรือเพลงที่มุ่งสะท้อนสังคมอย่างจริงจัง แต่มันกลับสามารถถ่ายทอดอะไรจากสังคมออกมาได้ดีกว่าเสียอีก ที่สำคัญคือ ถ้าความโกรธเกรี้ยว หรือเศร้าโศกมันถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงาม และออกมาจากใจจริง มันก็ยังคงคุณค่าในความเป็นศิลปะอยู่ดี
นาโก๊ะลี
ค่ำ.....มหานครถนนสายหนึ่งคลาคล่ำไปด้วยรถราและผู้คน  ว่ากันว่าถนนสายนี้  มักเนืองแน่นไปด้วยรถและคนอยู่เสมอไม่เว้นวาย  หลายคนหวาดผวาที่จะผ่านเข้าไปในถนนสายนี้ โดยเฉพาะรถรับจ้างสาธารณะไม่ประจำทางทั้งหลาย  ตึกแถวร้านค้าขายของคึกคักจนหน้าร้านล้ำเข้ามาบนทางเท้า  ริมทางรถยนต์ผู้ค้าเร่ปูผ้า หรือตั้งโต๊ะเรียงรายเป็นแนวบนทางเท้า  นั่นทำให้ทางที่แคบอยู่แล้ว ยิ่งแคบลงไปอีกมาก  คนจำนวนหนึ่งต้องออกมาเดินอยู่บนทางรถยนต์  นั่นก็ยิ่งทำให้รถยนต์ที่มากอยู่แล้วต้องเสียทางวิ่งไปอีกหนึ่งเส้นทาง  นี่ยังไม่ได้ว่าถึงอันตรายที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเรื่องราวของมันก็คือว่าสนามพลังที่ครอบฟ้ามหานครอยู่นี้  ล้วนเป็นพลังที่เร่งรีบบีบคั้น  เป็นพลังที่กดทับความเบิกบานผ่องใสของผู้คน  ในสถานการณ์อันบีบคั้นนั้น ผู้คนต่างมีภาระหน้าที่ของตัวเอง  มันจึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้เลยที่ภาระของคนๆ หนึ่ง จะกลายเป็นผลกระทบ เป็นเครื่องกีดขวางภาระของคนอื่นๆ  อีกมากมาย  ว่าก็คือมีคนมากมายขายของอยู่บนทางเท้า  ขณะที่มีคนมากมายเดินดู เลือกซื้อสินค้านั้นอย่างไม่เร่งร้อน  คนมากมายที่กำลังเร่งรีบเดิน ไปสู่ภาระ หรือกลับสู่บ้านตน  คนอีกมากมายบนรถยนต์ที่ต่างก็กำลังมุ่งสู่ภาระตนเช่นเดียวกัน  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนถนนสายเดียวกัน และในเวลาเดียวกันค่ำ.....ในชนบทฟ้าสีส้มจางๆ  หลังตะวันลับฟ้าไปแล้ว  ทางหลวงที่ทอดตัวยาวผ่านทุ่งกว้างนั้น เงียบสงบ แม้จะมีรถยนต์วิ่งผ่านตลอด  แต่ก็ยังรักษาสภาพสงบเอาไว้ได้  ทั้งหมดนั้นไปได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยว่ายามสนธยาเช่นนี้อาจมีฝูงวัว-ควายที่ยังกลับไม่ถึงคอกที่ร่วมใช้ถนนสายเดียวกัน  คนเฒ่า เด็กน้อย บ้างปั่นจักรยาน บ้างเดิน ด้วยต่างภาระก็ว่ากันไป  ลมทุ่งยังผ่านพัดมาได้ ด้วยไม่มีอะไรมาบัง  มองออกไป ต้นไม้ใบหญ้า ภูเขา ป่า ข้าว ยังดำรงอยู่ตรงนั้นร่วมกัน มองเห็นได้ สัมผัสได้จริงแท้  หมู่บ้าน ก็ยังมีเสียงของหมู่บ้าน  เสียงคนคุย เสียงหมาเห่า เสียงไก่ เสียงมอเตอร์ไซค์ รถรา  เรื่องราวของมันก็คือว่าผู้เฒ่าและเด็กครองบ้านแถบถิ่นนี้  สนามพลังที่ครอบฟ้าที่นี่ จึงเป็นสนามพลังอันเงียบเหงา  บนทุ่งกว้างใหญ่มีการสืบสายยาวนานมาต่อเนื่อง  แต่กาลเวลาก็นำพาคนหนุ่มสาวพรากจากไปมากมายนัก  ภาระของคนที่นี้จึงเป็นภาระที่เป็นไปไม่เร่งร้อน ในบรรยากาศที่เงียบ บางครั้งก็เป็นอย่างเหงาหงอยไปก็ยังมีค่า.....มุมหนึ่งบนตึกสูงกลางมหานครนอกหน้าต่างนั้น ภาพภายนอกปรากฏ  เวิ้งฟ้ากว้างถูกเบียดแทรกด้วยตึก  สูงขึ้นไป ฟ้าหม่นด้วยฝุ่นพิษควันเมือง  แสงสุดท้ายค่อยๆ หายไป และพร้อมกันนั้นแสงไฟฟ้าก็ครอบฟ้าแทนตะวัน ในสนามพลังแห่งความเงียบเหงาท่ามกลางความวุ่นวายทั้งหลาย ณ มหานคร

แท็กล่าสุด

แท็กยอดนิยม