ถ้าหาก E เท่ากับ EMOTION (อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง และ อื่นๆ), M เท่ากับ MAN (มนุษย์ไม่ว่าหญิง ชาย และอื่นๆ) และ C เท่ากับ CLOCK (ซึ่งหมายถึงระยะเวลา) จากสมการ E=mc2คุณคิดว่า ‘จำนวนของบุคคล' ที่เหมาะสมกับ ‘ความรัก' จะเท่ากับเท่าไหร่?
รัก/สาม/เศร้า ตามสมการ รัก/สอง/สุข และเวลาแค่ไหนถึงจะพอสำหรับ ‘รัก'
‘รัก/สาม/เศร้า' เป็นเรื่องราวของเพื่อนรักสามคน ที่ ‘แอบรัก' กัน ในฐานะที่มากกว่าเพื่อน ‘น้ำ' แอบรัก ‘พายุ' ‘พายุ' แอบรัก ‘ฟ้า' โดยที่ตัวฟ้าเองก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าพายุแอบรักตนเอง (และก็ไม่เคยรับรู้เช่นกันว่าเพื่อนรักของตนอย่าง ‘น้ำ' ก็แอบรักเพื่อนรักอย่าง ‘พายุ' เหมือนกัน) ตาม สมการความรักเป็นเรื่องของคนสองคน จึงไม่ยากที่ ‘คนป่วย' ผู้ปรารถนาความรักอย่าง ‘ฟ้า' จะตกหลุมรัก ‘ผู้ดูแล' อย่าง ‘พายุ'
แต่ เมื่อฟ้ารับรู้ว่าเพื่อนรักอย่าง ‘น้ำ' แอบรัก ‘พายุ' สมการความรักระหว่าง ‘ฟ้า' กับ ‘พายุ' จึงถูกรบกวนด้วย ‘ความเป็นเพื่อนของน้ำ' และด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เวลาชีวิต' ของเธอนั้นเหลือน้อยลงทุกที ‘ฟ้า' จึงคิดว่าคงเป็นการเปล่าประโยชน์ที่เธอจะนำพาความรักของพายุไปกับเธอ เธอจึงตัดสินใจลบตนเองทิ้งจากสมการความรักระหว่าง ‘น้ำ' กับ ‘พายุ' ด้วยความมุ่งหวังว่า หากไม่มีเธอสักคน สมการความรักระหว่างเพื่อนรักของเธอจะสมบูรณ์ขึ้น
แต่การหายตัวไปของ ‘ฟ้า' กลับไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะทุกคนต่างก็ต้องสูญเสียส่วนหนึ่งของความรู้สึกดีๆ (รวมถึงตัวของฟ้าเอง) ‘น้ำ' จึงตัดสินใจที่จะออกตามหา ‘ฟ้า' และตัดสินใจที่จะลบตนเองออกจากสมการความรักระหว่าง ‘ฟ้า' กับ ‘พายุ' แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักระหว่าง ‘พายุ' และ ‘น้ำ' ในวันที่ ‘ฟ้า' ได้จากลาโลกนี้ไป
จากเรื่องราวทั้งหมดของ รัก/สาม/เศร้า
หาก E หมายถึง ‘ความรัก' M หมายถึง ‘ฟ้า' และ C เท่ากับ ‘ระยะเวลาที่เหลืออยู่' น้อยนิดของ ‘ฟ้า' ค่าความรักของ ‘ฟ้า' จึงยิ่งใหญ่และงดงาม (แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ)
หาก E หมายถึง ‘ความรัก' M หมายถึง ‘พายุ' และ C หมายถึงระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลง ค่าความรักของ ‘พายุ' จึงอาจผันแปรและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
และหาก E หมายถึง ‘ความรัก' M หมายถึง ‘น้ำ' และ C หมายถึงระยะเวลาส่วนหนึ่งของชีวิตที่ยังยึดมั่นในความรัก ค่าของความรักของน้ำ จึงยังมั่นคงเสมอต่อ ‘พายุ'
เพราะฉะนั้นจากสมการ E=mc2 ก็จะทำให้เรา รับทราบว่า ‘ความรัก' นั้น สัมพันธ์กับ ‘บุคคล' และ ‘กาลเวลา' เสมอ
" ความรักมันมีปัญหา เพราะเราอยากได้ อย่างเช่นเรารักใครแล้วเราก็อยากได้รักกลับมา ซึ่งมันคือจุดเริ่มต้นของความเจ็บปวด มันเป็นความรักที่เอาแต่ได้ ไม่เคยคิดว่า เฮ้ย เธอรักเขาเหรอ เธอไปกับเขาเถอะ เราไม่เคยคิดแบบนั้น แล้วเราคิดว่าการคิดแบบนั้นมันไม่ใช่ แต่ ณ วันนี้ หนังเรื่อง รัก/สาม/เศร้า ไม่ได้คิดแบบนั้น ทุกคนมีแต่ให้ ทุกคนแย่งกันให้ ถามว่าในชีวิตจริงมีไหม บอกไม่ได้ ไม่กล้าฟันธง นี่เป็นความรักในอุดมคติที่หายาก แต่เราเชื่อว่ามันมีอยู่จริง เราเลยทำหนังออกมาให้คนดูสัมผัสว่ามันก็มีความรักแบบนี้อยู่นะ"(บางส่วนจาก บทสัมภาษณ์ ยุทธเลิศ สิปปภาค.นิตยสาร Starpics.No.728 1 June 2008)
ส่วน ตัวของข้าพเจ้าเอง ไม่แน่ใจว่า ‘มนุษย์' (ซึ่งหมายรวมถึงตัวของข้าพเจ้าเอง) ถูกทำให้เชื่อว่า ‘ความรัก' ที่สมบูรณ์แบบและเหมาะสมจะต้องประกอบด้วย ‘คนเพียงสองคน' ตั้งแต่เมื่อไหร่
แต่ที่แน่ๆ เรื่องราวแบบที่เราเรียกกันว่า ‘รักสามเส้า' นั้นกลับกลายเป็นพล็อต (plot) ยอดนิยมของเรื่องสั้น นวนิยาย ละครเวที ละครทีวี รวมไปถึงภาพยนตร์เกือบทั่วโลก (บางทีอาจจะนิยมมากกว่าความรักแบบที่มีคนเพียงสองคนด้วยซ้ำ)
ใคร หลายคน (ซึ่งรวมถึงตัวของข้าพเจ้า) มักจะปฏิเสธในการก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความรักที่ประกอบด้วยจำนวนคน มากกว่า 2 ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงยังมีผู้คนอีกจำนวนมากบนโลกใบนี้ที่มองว่า ‘ความรัก' ที่สมบูรณ์แบบไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของบุคคล
‘รัก/สาม/เศร้า' ในแบบของยุทธเลิศ สิปปภาค จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดคำถามว่า หากไม่ใช่สังคมที่ถูกทำให้เชื่อว่า ‘ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน' ‘รัก/สาม (ยังต้อง) เศร้าอยู่ไหม?'
ส่วน คำตอบอีกมากมายนั้นอยู่ที่ตัวของคุณทุกๆ คน เพราะ"เป็นไปได้ที่เราจะอธิบายทุกอย่างด้วยวิทยาศาสตร์ แต่มันคงดูไร้สาระ ไร้ความหมาย เหมือนกับการอธิบายเพลงซิมโฟนีของเบโธเฟ่นว่าคือความแปรผันของคลื่นเสียง"