ชญานุช เล็กตระกูลชัย
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Mona_Lisa_Smile
“ศิลปะคืออะไร อะไรที่ทำให้มันดีหรือแย่ แล้วใครเป็นคนกำหนด”
“ศิลปะไม่ใช่ศิลปะ จนกว่าจะมีคนบอกว่าใช่… มันมีมาตรฐาน เทคนิค องค์ประกอบ สี และหัวข้อ”
(บางส่วนของบทสนทนาระหว่างตัวละคร ‘แคเธอรีน วัตสัน’ (จูเลีย โรเบิร์ตส์) อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และ ‘เบ็ตตี้ วอร์เร็น’ (เคิร์สเตน ดันสต์) นักศึกษาสาวจากวิทยาลัยเวสลี่ย์คอลเลจ)
ปรัชญา ศิลปะ และกระบวนการทำให้ ‘หญิง’ เป็น ‘หญิง’
ภาพยนตร์เรื่อง Mona Lisa smile นำเสนอภาพสะท้อนของสังคมตะวันตก (ทั้งยุโรป และอเมริกา) ในช่วงต้น คริสต์ศตวรรษที่ 20 (ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ยังคงถูกครอบงำจากปรัชญาดั้งเดิม (สมัยกรีก มาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ จนกระทั่งยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์) ในเรื่องของ ‘ความดี’ ‘ ความงาม’ ‘ความสมบูรณ์’ รวมไปถึงเรื่องของ ‘ศิลปะ’ ตลอดจนวิถีชีวิตประจำวัน
ผู้คนส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อมั่นว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดี (เช่นเดียวกับศิลปะ) ที่ถูกต้องนั้นมีเพียงมาตรฐานเดียว และเป็น ‘มาตรฐานสากล’ แบบเดียวกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
เช่นเดียวกันกับนักศึกษาสาวจากวิทยาลัยเวสลี่ย์คอลเลจ (ตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์นิยม) ที่กระบวนการของการเรียนการสอนในชั้นเรียนช่วยตอกย้ำให้พวกเธอเชื่อมั่นว่ามาตรฐานที่สังคมวางไว้ให้ คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของ ‘หญิงสาว’ ผู้สมบูรณ์แบบ
พวกเธอถูกกำหนดให้เรียนวิชาศิลปะ ด้วยการท่องจำสิ่งที่อยู่ในตำรา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้พวกเธอไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามกับ ‘อำนาจ’ (authority) ที่กำหนดให้พวกเธอ เป็นอะไร? และต้องทำอะไร?
พวกเธอถูกบังคับให้เรียนการจัดโต๊ะอาหาร เพื่อที่จะทำให้พวกเธอรับรู้ว่าหน้าที่ที่สำคัญของพวกเธอคือการหมกมุ่นอยู่กับงานบ้าน มากกว่าการพัฒนามันสมอง
พวกเธอถูกสอนว่าควรจะ ‘นั่ง’ หรือ ‘ยืน’ อย่างไร? ด้วยการหล่อหลอกว่าสิ่งเหล่านั้นคือ ‘ความงาม’ (ในแบบเดียวกับศิลปะ) ภายใต้หลักสูตร ‘มารยาททางสังคม’
พวกเธอถูกทำให้เชื่อว่า ‘การแต่งงาน’ คือการปลดปล่อยให้พวกเธอมีอิสระ โดยที่ทางวิทยาลัยจะยกเว้นให้นักศึกษาที่แต่งงานแล้วไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน
แต่การก้าวเข้ามาของ ‘แคเธอรีน วัตสัน’ อาจารย์ประวัติศาสตร์ศิลปะคนใหม่ (สัญลักษณ์ของการต่อต้านสังคมประเพณี ตัวแทนของหลังสมัยใหม่) ได้ช่วยกระตุ้นความสงสัย และความกระหายในเสรีภาพ ขึ้นภายในจิตใจของเหล่านักศึกษาสาว
“ภาพซากศพ ปี 1925” คือ บทเรียนแรกที่ แคเธอรีน วัตสัน ใช้ปลดเปลื้องพันธนาการทางความคิดของเหล่าลูกศิษย์ ที่ยึดมั่นอยู่กับ ‘มาตรฐานสากล’ จนทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายในชั้นเรียน และเป็นเครื่องมือเบื้องต้นที่ช่วยปลดปล่อยพวกเธออออกจากกรอบที่ทางวิทยาลัย (สังคม) ได้กำหนดไว้
ผลงานรูปดอกทานตะวันของ วินเซนต์ แวนโกะ คือบทเรียนต่อมาที่แคเธอรีน วัตสัน ใช้ในการประณามกระบวนการจับจิตวิญญาณของมนุษย์ยัดใส่กล่อง (ความพยายามในการสร้างมนุษย์ภายใต้มาตรฐานเดียว) เธอตั้งคำถามถึงความชอบธรรม ในการนำผลงานของศิลปิน (ผู้ปฏิเสธแบบแผนและประเพณี) มาผลิตซ้ำด้วยวิธีการสร้างมาตรฐาน เช่นเดียวกับสินค้าทั่วไป
ภาพ ‘Mona Lisa’ คือ เครื่องมือชิ้นสุดท้าย ที่ช่วยทำให้นักศึกษาสาวผู้ยึดมั่นในจารีตประเพณีอย่าง ‘เบ็ตตี้ วอเร็น’ เข้าใจว่า แท้จริงแล้วเบื้องหลังรอยยิ้มของโมนาลิซ่า อาจจะไม่ได้แฝงไว้ด้วยความสุขอย่างที่ผู้คนทั่วไปรับรู้ เช่นเดียวกันกับ ‘มาตรฐานสากล’ ที่สังคมพยายามหยิบยื่นให้ผู้หญิงอย่างพวกเธอ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดก็ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘เธอ’ จึง ‘ไม่จำเป็น’ ที่จะ ‘ต้องยิ้ม’ เมื่อพวกเธอไม่ต้องการที่จะยิ้ม
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง Monalisa smile ยังพยายามสอดแทรกสัญลักษณ์มากมายลงในแผ่นฟิล์ม เพื่อที่จะบ่งชี้ถึงกระบวนการผลิตซ้ำความหมาย หรือค่านิยม โดยผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปะ’
อาคารเก่ายอดแหลมที่มีลักษณะคล้ายโบสถ์ทางศาสนา ซึ่งถูกใช้เป็นวิทยาลัย คือสัญลักษณ์ในการเชื่อมโยง ‘ความรู้’ กับ ‘ศีลธรรม’ ให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน และผู้ที่อยู่ภายใต้ตึกแห่งนี้จำเป็นที่จะต้องนอบน้อม และยอมรับในสิ่งที่วิทยาลัย (สังคม) หยิบยื่นให้ด้วยความศรัทธา (เช่นเดียวกับความศรัทธาในศาสนา) แม้ว่า ‘ความศรัทธา’ หรือ ‘การน้อมรับ’ นั้นจะทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของอาคารแห่งนี้จะต้องตกอยู่ในบรรยากาศซึมเศร้าของฉากสีทึมๆ ก็ตาม
ลายดอกไม้ ที่ใช้ตกแต่งฝาผนังของบ้านหรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่ตัวละครหญิงสวมใส่ คือสัญลักษณ์ของความพยายามผลิตซ้ำความหมายที่ว่า “ศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาติ” และ ผู้หญิงก็ควรจะมีความงามในลักษณะเดียวกันกับธรรมชาติ คือมีความสวยงามและอ่อนช้อยเหมือนดอกไม้ ยามแรกแย้ม
ตู้เย็น ของ แนนซี่ แอ๊บบีย์ (มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เด้น) ครูสาวผู้สอนวิชาการออกเสียงและการวางตัว ซึ่งถูกจัดระเบียบด้วยการแบ่งช่อง และแปะชื่อเจ้าของ (พื้นที่) ในแต่ละชั้น คือสัญลักษณ์ของกรอบประเพณีที่ผู้หญิงควรยึดมั่น และพวกเธอไม่สามารถที่จะก้าวข้ามออกจากกรอบเหล่านั้นได้
เสื้อผ้าสีเข้ม คือภาพสะท้อนของกฎระเบียบทางสังคม ที่ส่งผลต่อตัวบุคคล จะสังเกตได้ว่าตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องจะสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม แต่สำหรับอาจารย์ที่ต้องถูกไล่ออกจากวิทยาลัยเวสลี่ย์คอลเลจ เนื่องจากทำผิดกฎด้วยการแจกห่วงอนามัยให้นักศึกษาหญิง กลับสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวในฉากที่เธอจะต้องถูกไล่ออก เพราะนั่นคือสัญลักษณ์ในการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจาก ‘มาตรฐานสากล’ เช่นเดียวกับ ‘นกพิราบสีขาว’ ซึ่งบินออกจากอาคารเรียนก็คือสัญลักษณ์ในการปลดปล่อยเหล่านักศึกษาสาวให้เป็นอิสระจากวาทกรรม ‘แม่’ และ ‘เมีย’ หลังจากจบการศึกษา
ระบำใต้น้ำ คือกระบวนการอบรมให้ผู้หญิงทำในสิ่งที่เหมือนๆ กัน ดังเช่น กลุ่มนักกีฬาระบำใต้น้ำที่จะต้องพร้อมเพรียงกันในการเคลื่อนไหว และไม่ว่าพวกเธอ (ผู้หญิง) จะรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น กีฬาชนิดนี้ก็บังคับให้พวกเธอ “ต้องยิ้มเข้าไว้”
และแม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง Mona Lisa smile จะพยายามตั้งคำถามกับปรัชญาตะวันตก และศิลปะที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางเพศ แต่ขณะเดียวกันตัวละครอย่าง ‘แคทเธอรีน วัตสัน’ ก็คือประชาสัมพันธ์ชั้นดีของ ‘อเมริกา’ ที่ทำหน้าที่ประกาศให้โลกรู้ว่า พวกเขาคือผู้ปลดปล่อยโลกออกจากสังคมประเพณี และนั่นคือเหตุผลที่เธอจะต้องออกเดินทางไป “ทำลายกำแพงในยุโรป” ในตอนจบของภาพยนตร์
ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบ ‘หนัง’ ในฐานะ ‘ศิลปะ’ หรือสัญลักษณ์ในการบอกเล่าเรื่องราวทาง‘สังคม’ แต่ Mona Lisa smile ก็น่าจะเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่คนดูหนัง ควรดู (แม้ว่าจะหายากหน่อยนะ)