Skip to main content

 

“กี” (GIE; เป็นการออกเสียงที่ถูกต้องตามไวยากรณ์ภาษาอินโดนีเซีย—Tata Bahasa Indonesia) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากชีวประวัติของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง อินโดนีเซีย นามว่า “ซู ฮก กี” (Soe Hok Gie) และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของอินโดนีเซียในปี 2005 เรื่องราวของ “กี” ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางหลังจากบรรยากาศทางการเมืองในอินโดนีเซีย ได้เปิดกว้างมากขึ้น เมื่ออดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต้ (Soeharto) ลงจากตำแหน่งเมื่อปี 1998 ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับการแสดงโดย รีรี รีซา (Riri Riza) และนำแสดงโดย นิโคลาส ซาปูตรา (Nicholas Saputra) นักแสดงขวัญใจวัยรุ่นอินโดนีเซีย1ทุกวันนี้ “กี” ได้กลายเป็นต้นแบบของนักศึกษาจำนวนมากในอินโดนีเซีย เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคน ให้หันมาสนใจการเมือง ปัญหาสังคม และความทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียที่ยังต้องประสบพบเจอ แม้ผู้นำเผด็จการจะถูกโค่นล้มไปแล้วก็ตาม ซึ่งนั่นรวมไปถึง รีซา ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ที่ได้นำแรงบันดาลใจเหล่านั้นมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม

 

ประวัติของ “กี” กับการต่อสู้ทางการเมือง

“กี” เป็นนักเขียนและนักต่อสู้ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 60 อันเป็นช่วงเวลามืดมนที่สุดยุคหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย หลังจากได้รับเอกราชเพียงแค่สองทศวรรษ อินโดนีเซียก็เริ่มประสบปัญหาอันหนักหน่วงเรื่องการดำรงมั่นคงของชาติ บุรุษที่เคยได้ชื่อว่าเป็นวีรบุรุษในการเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคม ดัตช์อย่าง ซูการ์โน (Soekarno) เริ่มกลายเป็นผู้ต้องคำครหาเรื่องคอรัปชั่น และความมุ่งหมายที่จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในทางการเมือง ประชาธิปไตยแบบมีการนำ(Guided Democracy) ที่ถูกนำมาใช้ในปี 1959 เริ่มแสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือทางอำนาจอันเป็นธรรมที่ผู้นำประเทศพึงมี ต่อมาจนถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 60 เริ่มมีการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพอินโดนีเซีย กับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia—PKI) ที่ซูการ์โนให้การสนับสนุน ซึ่งหลังจากที่เขาหมดอำนาจไปและพร้อมกับการขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศของนายพลซูฮาร์โต้นั้น พบว่ามีการปราบปรามผู้ที่มีแนวคิดสังคมนิยม ต่อต้านรัฐบาลทหารและนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง กล่าวกันว่า ทั่วอินโดนีเซียมีประชาชนถูกสังหารไปกว่า 6 ล้านคน

เรื่องราว ชีวิตของ “กี” ดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่อึมครึมและรุนแรงดังกล่าวข้างต้น เขาต้องฝ่าฟันทั้งมรสุมทางการเมือง และชีวิตส่วนตัวที่เกี่ยวพันกับเพื่อนฝูงและความรัก ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวลักษณะเฉพาะตัวของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่แม้จะมีความแน่วแน่ในอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ก็ซ่อนความอ่อนไหวในอารมณ์และความรู้สึกไว้ในส่วนลึกของจิตใจ หลังจากที่ผิดหวังจากความล้มเหลวในการต่อสู้ เพื่อสิทธิเสรีภาพทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการทหาร และชีวิตรักส่วนตัว สถานการณ์ของ “กี” ก็คล้ายๆกับนักต่อสู้ทางการเมืองของโลกหลายๆคน ที่ถูกโดดเดี่ยวและแปลกแยก ซึ่งก็เข้าลักษณะภาษิตที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” เพราะเมื่ออุดมการณ์ทางการเมืองของเขาเริ่มแข็งกร้าวมากขึ้น เขาก็เริ่มโดดเดี่ยว เพื่อนฝูงเริ่มถอยห่างเมื่อไม่อาจร่วมเดินแนวทางเดียวกับเขาได้

สิ่งหนึ่งที่แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านตัวละครหลักของเรื่องคือ อุดมการณ์ทางการเมืองภาคประชาชนที่ยึดถือประโยชน์ของสาธารณะ ผลประโยชน์พื้นฐานอันพึงมีของประชาชนเป็นสำคัญ “กี” กล้าที่จะเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารภายใต้การนำของนายพลซูฮาร์โต้ ต่อกรณีการสังหารหมู่กลุ่มบุคคลที่เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียกว่าแสนคนบนเกาะบาหลี ซึ่งเขาเห็นว่า รัฐบาลทหารเองที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในฐานะผู้ร่วมสร้างชาติ อินโดนีเซียขึ้นมา เมื่อถึงวันหนึ่งที่มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ก็มิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ต่างอะไรไปกับรัฐบาลพลเรือนของซูการ์โนที่ถูกโค่นล้มไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ลักษณะของนักต่อสู้ทางการเมืองอย่างเขา ผู้ที่ไม่พยายามสนองและทำตัวสอดคล้องไปกับผลประโยชน์ทางการเมืองของชนชั้นนำนั้น จะต้องกลายเป็นศัตรูทางการเมืองและเป็นเป้าหมายที่จะต้องถูกกำจัดไปในที่สุด อย่างไรก็ดี “กี” พยายามทำความเข้าใจชีวิตอันโหดร้ายผ่านความเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ เขาเลือกที่จะใช้ความอ่อนโยนของธรรมชาติ เป็นเครื่องบำบัดจิตใจและปลดเปลื้องความเจ็บปวดผ่านกิจกรรมปีนเขาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต หากจะเทียบความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ไทยแล้ว “กี” น่าจะมีความใกล้เคียงกับ ภาพยนตร์เรื่อง “คนล่าจันทร์” (The Moon Hunter) ที่เล่าถึงชีวประวัติของผู้นำนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 (1973) อย่าง “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ผ่านช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตส่วนตัวของตัวละครหลัก

แม้จะมีความแตกต่างกันพอสมควรในแง่ของรายละเอียด แต่ในแง่ของปรัชญา วิธีคิด และอารมณ์ความรู้สึกที่ตัวละครหลักได้ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวชีวิตส่วนตัวนั้น ถือว่าสื่อออกมาได้ดีในสัดส่วนของคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ปรัชญาและวิธีคิดส่วนนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะช่วยการแตกยอดทางปัญญาและแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักและเข้าใจใน “คุณค่า” และ “ตัวตน” ในความเป็นปัญญาชนระดับมันสมองของสังคม

 

“กี” ในฐานะ หนังการเมือง

หลังจากที่ภาพยนตร์ชีวประวัติของเขาได้ออกฉายไปทั่วอินโดนีเซีย ภาพลักษณ์ของเขาก็ถูกให้ความหมายในเชิงบวกอย่างแพร่หลาย ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นไปพร้อมกับความตื่นตัวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของนักศึกษาอินโดนีเซีย นับตั้งแต่การประกาศตัวบนถนนทางการเมืองอย่างภาคภูมิเมื่อ ปี ค.ศ.1998 ทั้งนี้มีตัวเลขระบุว่า ในปี ค.ศ. 2005  ซึ่งเป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายนั้น มีผู้ชมราว 300,000 คนเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ หากคิดในทางกลับกันในกรณีของประเทศไทย บรรยากาศของขบวนการนักศึกษาเมื่อ 30-40 ปีก่อน ก็มี “จิตร ภูมิศักดิ์” นักคิด นักเขียนทางการเมืองภาคประชาชนคนสำคัญเป็นวีรบุรุษของใครหลายๆคน

กล่าวกันว่าในช่วง “ระเบียบใหม่” (New Order) ภายใต้การปกครองของนายพลซูฮาร์โต้นั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อถูกปิดกั้น ขบวนการภาคประชาชนต่างๆถูกคุกคาม ทั้งด้านสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งต้องห้าม นักศึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่และพลังบริสุทธิ์ของสังคมเริ่มตระหนักถึงบทบาทของตนเอง และเริ่มรวมตัวกันตามวงเสวนาต่างๆในมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย นักศึกษาจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับวรรณกรรมการเมือง ข้อเขียนและบทวิจารณ์การเมืองต่างๆทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งงานเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ถูกผลิตจากจิตวิญญาณของนักคิด นักเขียนชาวอินโดนีเซีย ที่ต่างถูกคุกคามจับกุมคุมขังด้วยอำนาจมืดของรัฐบาล งานเขียนของพวกเขาแม้จะถูกสั่งห้ามพิมพ์เผยแพร่หรือมีไว้ในครอบครอง แต่นักศึกษาเหล่านั้นก็สามารถเสาะหามาเผยแพร่ในหมู่ของพวกเขาได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นงานเขียนของ “กี” และคงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า งานเขียนและวรรณกรรมทางการเมืองที่นักศึกษาไทยยุคก่อน 14 ตุลาคม 1973 อ่านกันนั้น ก็มีส่วนอย่างมากเช่นกันที่ทำให้อุดมการณ์อันแรงกล้าของพวกเขาเหล่านั้น หล่อหลอมและตกตะกอน จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่การแสดงออกทางการเมือง ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

นักศึกษาอินโดนีเซียในช่วงเวลานั้นต่างรู้สึกร่วมกันว่า ภารกิจทางการเมืองที่นักศึกษารุ่นพี่ได้ทำไว้นับแต่ช่วงทศวรรษที่ 60 เรื่อยมานั้น ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นมันจึงควรจะเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องสานต่อภารกิจนั้น นั่นก็คือ “การนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากระบอบเผด็จการ” “สถาปนาสังคมประชาธิปไตยให้กับอินโดนีเซีย” และภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดคือ “การขับไล่ซูฮาร์โต้ออกจากตำแหน่ง” ซึ่งท้ายที่สุดภารกิจดังกล่าวก็สำเร็จเมื่อ ซูฮาร์โต้ ต้องออกจากตำแหน่งไป หลังครองตำแหน่งผู้นำประเทศมายาวนานกว่า 32 ปี

เกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านไป ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตของสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว (แม้ประเทศนี้จะยังคงประสบปัญหาร้อยแปดรุ้มเร้าอยู่ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย การก่อการร้ายและอื่นๆ) ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือใน ปี ค.ศ.2004 นั้น อินโดนีเซียมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก แต่ทว่ากลับมีเหตุร้ายและความรุนแรงอันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งน้อยมาก หากเทียบกับฟิลิปปินส์ ประเทศที่ (ครั้งหนึ่งเคย) ได้ชื่อว่ามีสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งมีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีเดียวกัน

 

มอง “กี” ผ่านพัฒนาการทาง “ภาพยนตร์อินโดนีเซีย”

ภาพยนตร์เรื่องแรกของอินโดนีเซียที่มีการบันทึกไว้นั้น ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1926 ซึ่งขณะนั้นเป็น ลักษณะของ “หนังเงียบ” (Silent Film)  มีชื่อเรื่องว่า Loetoeng Kasroeng กำกับโดย จีคุ้กเกอร์ (G.Kruger) และ แอล. ฮิวเวลดอร์ป (L.Heuveldrop) โดยเนื้อเรื่องนั้นดัดแปลงมาจากนิทานพื้นบ้านของชวาตะวันตก และนักแสดงนั้นก็เป็นชาวดัตช์ที่อาศัยอยู่ในชวา  หลังจากนั้นมาการผลิตภาพยนตร์ก็เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น แต่การสร้างและตัวผู้สร้างนั้น ก็มักจำกัดอยู่แต่ในบรรดาชาวดัตช์และชาวจีน ซึ่งเป็นพวกคหบดีที่มั่งคั่งร่ำรวย พี่น้องตระกูลหว่อง เจ้าของบริษัท Wong Film และตระกูลตันเจ้าของบริษัท Tan Film ถือเป็นนายทุนสร้างภาพยนตร์รายใหญ่ชาวจีนในขณะนั้น ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองอินโดนีเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ (ที่ถือครองโดยชาวดัตช์และชาวจีน) ก็หยุดชะงักไป แต่กระนั้นด้วยสภาพการณ์นี้ คนพื้นเมืองอินโดนีเซียก็ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นผู้ผลิตแทน ชาวดัตช์และชาวจีน

ราวปี ค.ศ. 1944 ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผลิตโดยคนอินโดนีเซียซึ่งมีชื่อว่า “Prosperity” ก็ถูกสร้างขึ้น โดยเนื้อหานั้นสอดรับกับนโยบายของคณะผู้ปกครองญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ภายหลังจากได้รับเอกราช เมื่อ ปี ค.ศ. 1945 แล้ว ภาพยนตร์ในอินโดนีเซียก็มีการผลิตมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ(progaganda)ของรัฐ โดยมีเนื้อหาปลุกเร้ากระแสชาตินิยม และต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก และที่สำคัญรัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ  ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่บอกเป็นนัยถึงสถานการณ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการ เข้าถึงข่าวสารของประชาชนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดีว่าเริ่มเข้าสู่บรรยากาศที่อึมครึมมากขึ้น ในภาพยนตร์เรื่อง “กี” ให้บรรยากาศความอึมครึมในยุคมืดนี้ได้เป็นอย่างดี แม้กระนั้นก็ยังมีภาพยนตร์การเมืองที่เล็ดลอดออกมาอยู่บ้าง ที่เห็นเด่นชัดคือภาพยนตร์เรื่อง ตามู อากุง (Tamu Agung) ในปี ค.ศ. 1955 ซึ่งเป็นผลงานกำกับของ อุสมาร์ อิสมาอิล (Usmar Ismail) ความน่าสนใจของผลงานชิ้นนี้ก็คือ อุสมาร์เลือกที่จะใช้ภาพยนตร์แนวตลกเสียดสีล้อการเมืองชิ้นนี้ สร้างตัวละครสมมติเพื่อวิพากษ์บทบาทของซูการ์โนที่เริ่มเผยให้เห็นถึงการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ และ บารมีทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ไม่ค่อยพอใจภาพยนตร์เรื่องนี้เท่าใดนัก แต่ก็ไม่ได้สั่งห้ามฉายแต่อย่างใด

เมื่อเข้าสู่ยุคของนายพลซูฮาร์โต้ มาตรการเรื่อง censorship เกี่ยวกับการนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องต่างๆก็เด่นชัดมากขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ 80 จะได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคทองของวงการภาพยนตร์อินโดนีเซีย ที่ปีๆหนึ่งมีการผลิตภาพยนตร์กันมากกว่า 100 เรื่อง ซึ่งภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นคือ จาตัดตัน ซี บอย แอนด์ บล็อก เอ็ม (Catatan Si Boy and Blok M) แต่กระนั้นเนื้อหาอันเกี่ยวเนื่องกับการเมืองหรือแนววิพากษ์วิจารณ์สังคมและเศรษฐกิจในมุมที่ต่างออกไปไม่อาจจะทำได้ และนั่นก็เป็นผลลบต่อความคิดสร้างสรรค์ในงานผลิตงานคุณภาพต่อเนื่องเรื่อยมา โดยนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 90 เป็นต้นมา ภาพยนตร์อินโดนีเซียซึ่งเริ่มจะมีเนื้อหาจำเจและถูกตีกรอบจากสภาพสังคมการเมืองในขณะนั้น ก็ถูกภาพยนตร์จากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด การสร้างภาพยนตร์นั้นลดลงกว่า 50% ตัวอย่าง เช่น ในปี ค.ศ.1990 นั้น มีการผลิตภาพยนตร์กว่า 115 เรื่อง แต่พอถึงปี ค.ศ.1993 ก็เหลือเพียง 37 เรื่องเท่านั้น

ความตื่นตัวของภาพยนตร์อินโดนีเซียก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง  ภายหลังที่ซูฮาร์โต้ลงจากอำนาจในปี ค.ศ.1998 พร้อมกับความตื่นตัวทางการเมืองภาคประชาชนตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ภาพยนตร์ในยุคหลังปี ค.ศ.1998 นี้นั้นถือว่าเป็น “การเกิดใหม่” อีกครั้งของภาพยนตร์อินโดนีเซีย กล่าวคือ มีผู้กำกับภาพยนตร์อิสระจำนวนมากลุกขึ้นมาผลิตภาพยนตร์ที่พูดถึงประเด็นต้องห้ามต่างๆ ทั้งเรื่องการเมือง ศาสนา ความขัดแย้งทางชนชั้นและเพศสภาพ ภาพยนตร์ยุคหลังซูฮาร์โต้ที่มีความโดดเด่นในเนื้อหาอย่างมาก ก็ได้แก่ ปาซี เบอร์บิซิค (Pasir Berbisik) ที่พูดถึงเพศหญิงกับความใกล้ชิดกับธรรมชาติ และสำนึกของมนุษย์ผ่านการวิพากษ์ความเห็นแก่ตัวของเพศชาย และภาพยนตร์ เรื่อง บีโอลา ตัก เบอร์ดาไว (Biola Tak Berdawai) ภาพยนตร์เรื่องนี้วิพากษ์ประเด็นการทำแท้ง  และการคุกคามทางเพศต่อสตรี กล่าวกันว่าภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์เรื่องประเด็นเพศสภาพในบริบทสังคม วัฒนธรรมนั้น ถือเป็นจุดเด่นของภาพยนตร์อินโดนีเซียเลยทีเดียว

และในปี ค.ศ.2005 การหล่อหลอมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกทางการเมืองผ่านแผ่นฟิล์มก็สุกงอม เมื่อภาพยนตร์เรื่อง “กี” ได้ออกฉายไปทั่วอินโดนีเซีย ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่มีแค่เนื้อหาที่กล่าวถึงนักต่อสู้ทางเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรากฏตัวของ “คนจีน” กับตัวตนทางการเมืองบนพื้นที่สาธารณะในอินโดนีเซียอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่า ในอินโดนีเซียภายใต้การปกครองของซูฮาร์โต้ การปรากฏตัวของ “ตัวตนคนจีน” นั้นมีอยู่อย่างจำกัด แต่หลังจากปี ค.ศ.1998 แล้ว สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป งานฉลองเทศกาลตรุษจีนสามารถทำได้อย่างเปิดเผย มีการปรากฏตัวตนคนจีนมากขึ้นบนสื่อสาธารณะมากขึ้น ดังนั้น ภาพยนตร์เรื่อง “กี” จึงมีนัยยะเรื่องความเท่าเทียมกันทางชาติพันธุ์ในอินโดนีเซียแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นความคึกคักของวงการภาพยนตร์อินโดนีเซียก็ปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อมีการจัดเทศกาลภาพยนตร์ขึ้นในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1998 ซึ่งจัดขึ้นในชื่อของ “เทศกาลภาพยนตร์จาการ์ต้า” (Jakarta Film Festival) และเทศกาลนี้ก็จัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอีกทั้งใน ปี ค.ศ. 2004 ก็มีการฟื้น “เทศกาลภาพยนตร์อินโดนีเซีย” (Indonesian Film Festival) ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่หยุดจัดไปในปี ค.ศ.1993

 

อย่างไรก็ดีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวของภาพยนตร์อินโดนีเซีย และการปรากฏตัวของภาพยนตร์เรื่อง “กี” นี้ กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยเท่าใดนัก เช่นเดียวกันกับบทเรียนทางประวัติศาสตร์การเมืองภาคประชาชนของอินโดนีเซียก็ถูกรับรู้อย่างเบาบาง เรามีความเข้าใจเพื่อนบ้านน้อยมากต่อประเด็นดังกล่าวและอื่นๆ หลายครั้งเราคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่หารู้ไม่ว่า “อัตราการเจริญเติบโตของสิทธิและเสรีภาพทางการเมือง” นั้น มีขึ้นมีลง เฉกเช่น “อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” และอัตรานั้น จะลดต่ำลง หากคุณภาพทางประชาธิปไตยถูกบั่นทอนลง ในสถานการณ์ปัจจุบัน คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คุณภาพของประชาธิปไตยไทยกำลังอยู่ในระดับใด

ลองจินตนาการดูว่าประเทศที่เคยได้ชื่อว่า มีระบอบเผด็จการที่เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สามารถผลิตภาพยนตร์การเมืองที่วิพากษ์ระบอบเผด็จการที่เพิ่งจะล้มไปได้ไม่นานได้เปิดกว้างเช่นนี้ ซึ่งหากพิจารณาว่า สื่อภาพยนตร์นั้นถือเป็นช่องทางการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและเสรีภาพของประชาชนทั่วไปแล้ว นั่นย่อมเป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า มันก็คือดัชนีอย่างหนึ่งที่ชี้วัดเสรีภาพและกระบวนการเป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกันประเทศที่ได้ลิ้มรสกับประชาธิปไตยมาแล้วอย่างประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่สาธารณะอย่างเพียงพอที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง  กลับมีแต่บรรยากาศของความเงียบเหงาอย่างน่าเศร้าใจสำหรับภาพยนตร์ทางการเมือง

 

 

เชิงอรรถ

Film Gie, the official website, http://www.milesfilms.com/gie
 
Maxwell, John.2001. Soe Hok Gie: Pergulatan Intelektual Muda Melawan Tirani. Jakarta: PT Pustaka Utama Grafiti.
 
การวัดความสำเร็จของภาพยนตร์ในอินโดนีเซียนั้น จะให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เข้าชมมากกว่ารายได้ เช่นว่า ในปี ค.ศ. 2002 ภาพยนตร์เรื่อง อาดา อาปา เดองัน จินตา (Ada Apa Dengan Cinta?) สามารถทำสถิติยอดผู้เข้าชมสูงสุดในรอบหลายสิบปี คือ 1.5 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญแก่วงการภาพยนตร์อินโดนีเซีย ยุคหลัง ปี ค.ศ. 1998
 
สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ. “กี” หนังอินโด ที่นักศึกษาไทยไม่ควรพลาด.ประชาไทออนไลน์ , 19 กุมภาพันธ์ 2549
 
Robertson, Patrick .1993. The Guinness Book of Movie Facts & Feats.New York: Abbeville Press
 
Tamu Agung – Exalted Guest,http://arts.monash.edu.au/mai/films/guest.html
 
Sen, Krishna; Giecko, Anne Tereska (editor) (2006). Contemporary Asian Cinema,Indonesia: Screening a Nation in the Post-New Order. Oxford/New York: Berg, 96-107
 
Nugroho, Garin, “Seks clip : Dunia Fragmentasi”, Kompas, 24 Juli 1994

 

บล็อกของ Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)

Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 A Guerra Da Beatriz ในฐานะบันทึกบนแผ่นฟิล์มเรื่องแรกของ ติมอร์ ตะวันออก สงครามยังไม่สิ้นสุด
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
อิโล อิโล (Ilo-Ilo) :  สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ เกิด ตาย และการอยู่ร่วมกัน ในวันที่เราหลงลืมอะไรบางอย่าง 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
ภาพยนตร์เวียดนาม เมื่อรัฐออกแบบไม่ได้ Film  Kawan
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
มรกตวงศ์ ภูมิพลับFilm Kawan (ฟิล์ม กาวัน)  
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 จิตรลดา กิจกมลธรรม (Film Kawan) 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
  หากพวกเจ้าไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่บรรดา(สตรี)กำพร้าได้ ก็จงแต่งงานกับสตรีที่ดีแก่พวกเจ้า จะสองคน หรือสามคน หรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ก็จงแต่งงาน