The White Silk Dress: รอยน้ำตาแห่งชีวิตบนผืนผ้ากับโศกนาฏกรรมแห่งสงครามบนชุดอ๋าวส่าย
โดย ชนาวุธ วิพลกุล (ฟิล์ม กาวัน)
Áo Lụa Hà Đông หรือ The White Silk Dress ภาพยนตร์เวียดนามปี ค.ศ. 2006 ที่กำกับและเขียนบทโดยผู้กำกับลิวฮวิ่น (Lưu huỳnh) บอกเล่าเรื่องราวชีวิตความรักของเสิ่น (Dần) และกู่ (Gù) กับลูกๆ อีกสี่คนคือ (อาน (An) โง (Ngô) และน้องๆ อีกสองคน) ที่ถูกกดขี่โดยรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส ชีวิตของพวกเขาดำรงอยู่ภายใต้ความข้นแค้นอันเกิดจากสภาวะสงครามกับฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองห่าดง (Hà Đông) ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของกรุงฮานอย (Hà Nôi) ประมาณ 11 กิโลเมตร
ความโหดร้ายทารุณที่ถูกกระทำจากเจ้านาย ทำให้ทั้งสองตัดสินใจที่จะละทิ้งสภาพชีวิตอันเลวร้าย และเดินทางลงใต้ เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ณ เมืองโห่ยอาน (Hội An) โดยมีเครื่องยึดเหนี่ยวความรักของทั้งคู่คือ "ชุดอ๋าวส่าย” (Áo Dài)1 ของแม่ ที่กู่ได้มอบให้เสิ่นไว้เป็นของขวัญแต่งงาน ชุดอ๋าวส่ายนี้ไม่ได้เป็นเพียงของขวัญแต่งงานทั่วๆไป แต่มันเป็นของที่มีค่ามากกว่าพิธีแต่งงานหรือทรัพย์สมบัติใดๆ มันเป็นของชิ้นเดียวที่เป็นตัวแทนความรักที่กู่มีให้เสิ่น
เสิ่นได้ให้กำเนิดลูกสาว 4 คน ทำให้ครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะขัดสนและข้นแค้นอีกครั้ง แต่ถึงกระนั้นความเศร้าในชีวิตของพวกเขา ก็สร้างความสุขเล็กๆขึ้นภายในครอบครัว เกิดการเรียนรู้คุณค่าของชีวิตและความรักระหว่างกัน ซึ่งความรักทั้งหมดนั้นถูกอธิบายผ่านชุดอ๋าวส่าย ชุดประจำชาติเวียดนาม แต่แล้ววันหนึ่ง สงครามอันเลวร้ายและเกรี้ยวกราดก็เริ่มขึ้น เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงในเวียดนามภายหลังจากความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศส ณ สมรภูมิเดียนเบียนฟู (Điện Biên Phủ) จากนั้นมา ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ (Dwight David Eisenhower) แห่งสหรัฐฯ ได้เปิดฉากการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในสมรภูมิเวียดนามเมื่อปี ค.ศ. 19542 จนกลายเป็นสงครามตัวแทนเต็มรูปที่ความขัดแย้งขยายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ทำให้การเลือกตั้งในเวียดนามต้องกลายเป็นหมันในที่สุด) ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตของชาวเวียดนาม และแยกครอบครัวของพวกเขาออกจากกันอย่างไม่มีวันหวนกลับมา ในห้วงเวลานี้ สงครามได้ทำลายเกียรติยศและชีวิตของพวกเขาผ่านลูกระเบิดที่ร่วงหล่นจากฟากฟ้าและพรากชีวิตไปโดยไม่มีวันกลับฟื้นคืนมา ด้วยกระสุน กองเลือด และคราบน้ำตา
ตะเข็บแห่งศักดิ์ศรีและปลายด้ายของความเชื่อบนอ๋าวส่าย (Áo Dài)
ภาพยนตร์เรื่อง The White Silk Dress ได้ดำเนินเรื่องราวโดยใช้ชุดประจำชาติเวียดนามที่เรียกว่าอ๋าวส่าย (Áo Dài) เป็นสัญลักษณ์ ในขณะเดียวกัน เราก็จะเห็นการใช้ชุดอ๋าวหลัวะ (Áo Lụa) ที่แปลว่า "ชุดไหม" ซึ่งเป็นตัวแทนของชุดประจำท้องถิ่นคู่ขนานกันไป ชุดไหมมีความสำคัญสืบเนื่องสัมพันธ์กับเมืองห่าดง (HaĐông) อันเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมคุณภาพดี ซึ่งประชาชนนิยมประกอบอาชีพเลี้ยงไหมในบริเวณรอบนอกของกรุงฮานอย (Hà Nội) และด้วยสิ่งนี้เองที่สื่อให้เห็นถึงความสำคัญของชุดไหมในมิติของสำนึกรักท้องถิ่นของตัวละครเอกในเรื่องที่มีต่อเมืองห่าดง (Hà Đông) เมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นความรักระหว่างกู่กับเสิ่น
ทั้งชุดอ๋าวหลัวะหรือชุดไหม กับ ชุดอ๋าวส่ายหรือชุดยาวนั้น เป็นชุดที่ทอด้วยไหมทั้งคู่แต่มีความแตกต่างในเรื่องรายละเอียดของการออกแบบ ชุดอ๋าวหลัวะเป็นชุดที่ประกอบด้วยเสื้อและกางเกงเหมือนอย่างชุดทั่วไป ส่วนชุดอ๋าวส่าย เป็นชุดยาวที่มีลักษณะเป็นชุดชิ้นเดียวยาว3ภาพยนตร์ใช้ลักษณะของชุดอ๋าวหลัวะอธิบายต้นทางของการประกอบสร้างจนกลายเป็นชุดอ๋าวส่าย มันเป็นการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของประวัติศาสตร์ผ่านวิวัฒนาการของชุดประจำชาติ จากชุดประจำถิ่นสู่ชุดประจำชาติ จากความทุกข์ของคนในระดับท้องถิ่นกลายเป็นความทุกข์ของคนทั้งชาติ
โดยทั่วไปแล้วชุดอ๋าวส่าย (Áo Dài) ที่มักจะใส่ในโอกาสต่างๆ ทั้ง รัฐพิธี พิธีแต่งงาน งานเทศกาล ตลอดจนงานที่เป็นทางการต่างๆ4ผู้คนก็มักจะมองเพียงแค่ความงามที่ "ปิดลับอย่างเปิดเผย" ของชุดอ๋าวส่ายที่ออกแบบให้เนื้อผ้าคลุมเกือบทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่บ่าถึงปลายข้อมือและข้อเท้า มีลักษณะบางแนบชิดสรีระและเข้ารูป แต่ภายใต้ความงามนั้น มันมีบางอย่างซ่อนเร้นอยู่ ผู้กำกับเลือกที่จะใช้ชุดอ๋าวส่ายเป็นตัวแทน เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างผู้คนต่างสถานภาพ และการกดทับด้วยค่านิยมบางอย่างในสังคมเวียดนาม ที่ถูกเก็บซ่อนอยู่
ผู้กำกับใช้เงื่อนไขความเหลื่อมล้ำของระบบศักดินา(ที่มีชายเป็น ใหญ่) อธิบายการได้มาซึ่งชุดอ๋าวส่ายของเสิ่น เพื่อให้ลูกๆได้ใส่ไปโรงเรียน ผ่านเหตุการณ์ที่ว่าเสิ่นต้องหาเงินเพื่อหาซื้อชุดอ๋าวส่าย ด้วยการไปขายน้ำนมให้กับชายชรานามว่า "ถ่อน" (Ông Thoon) มันเป็นความเชื่อที่เล่าขานกันว่าหากชายชราที่ได้ดื่มนมที่มาจากเต้าผู้หญิง จะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ5ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องการบริโภคของชาวจีนโบราณ (ตามแบบฉบับของสังคมชายเป็นใหญ่) การกระทำของเสิ่นเป็นการสื่อสารประเด็นในทางเสียดสีว่า ตามคำอธิบายของสังคมชายเป็นใหญ่ นี่คือการกระทำที่เสื่อมศักดิ์ศรีของความเป็นหญิง ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะพื้นที่นอกครัวเรือนไม่ใช่ของผู้หญิง ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านก็ย่อมได้รับงาน “ที่ไม่พึงประสงค์"
ภายใต้สภาวะอันกดดันในสังคมของคนระดับล่างที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก จนไม่สามารถที่จะจัดการแต่งงานอย่างเป็นทางการได้ ชุดอ๋าวส่ายที่ปกติแล้วต้องใช้เป็นสีขาว หากอยู่ในบริบทของการแต่งงานทั่วไป แต่กลับเป็นสีเขียวในงานแต่งระหว่างกู่กับเสิ่น ผู้กำกับตั้งใจที่จะใช้สีเขียวนี้สื่อให้เห็นถึงความพยายามที่จะปลดแอกการกด ทับที่ถูกกำหนดโดยค่านิยมในสังคม
หรือแม้แต่ในระบบการศึกษา ที่การกดทับนั้น ปรากฏผ่านคำพูดของครูตอนหนึ่งว่า "อาน ฉันบอกเธอหลายครั้งแล้วว่า เธอต้องใส่ชุดอ๋าวส่ายเหมือนกับเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ" ซึ่งอานพูดกับโงถึงการที่เธอถูกครูตำหนิติเตียนว่า "เราไม่ได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน หากเราไม่มีชุดอ๋าวส่ายใส่" คำพูดของอานสะท้อนแสดงให้เห็นถึงลักษณะการกีดกันทางฐานะและชนชั้น ในระบบการศึกษาของเวียดนามภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ฝรั่งเศสกำหนดให้นักเรียนทุกคนใส่ชุดอ๋าวส่ายไปเรียน ทั้งนี้ ฝรั่งเศสอ้างเรื่องความสุภาพและความสวยงาม ในช่วงยุคต้นศตวรรษที่ 20 โดยที่ฝรั่งเศสกำหนดให้นักเรียนใส่ชุดอ๋าวส่ายไปเรียนเพื่อความสุภาพและความ สวยงาม แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการกีดกันทางชนชั้น ที่ใช้ชุดอ๋าวส่ายเป็นเครื่องมือของการกีดกันดังกล่าว6
ในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่จริงในแทบทุกสังคมที่มีกรอบความคิด เรื่องของ "การบังคับให้ใส่เครื่องแบบ" ได้ถูกฝังอยู่ในหัวของผู้คนและหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว การใช้ข้อบังคับของเครื่องแบบนั้น โดยนัยยะหนึ่งก็เพื่อใช้ควบคุมและสร้างลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อนของนักเรียน แต่มันก็แฝงลักษณะการกีดกันทางฐานะทางเศรษฐกิจไว้ กล่าวคือ ถ้าไม่มีเครื่องแบบก็อาจทำให้ประตูแห่งการเรียนรู้ตามระบบการศึกษาต้องปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย
ชุดอ๋าวส่ายที่ปรากฏและถูกนำเสนอในภาพยนตร์ จึงมีนัยยะที่หลากหลาย แต่ที่ดูจะหนักแน่นและชัดเจนคือ มันได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของการต่อต้านการกดขี่ทางฐานะและการกีดกันทางชน ชั้น ซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความของประวัติศาสตร์เวียดนาม ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมชาติต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพที่ตนพึงมี
รอยรักบนผิวหมาก
ความเชื่อเรื่องของหมากในพิธีแต่งงานของชาวเวียดนามนั้นถือว่าเป็นของคู่กัน ชาวเวียดนามใช้หมาก7ซึ่งระบบความเชื่อในสังคมเวียดนามปรากฏเรื่องเล่าตำนานของหมากในรัชสมัยของ พระเจ้าหุ่งเวือง (Hùng Vương) ที่ 4 โดยตำนานนี้เล่าผ่านพี่น้องสองคนนามว่า "เติน" (Tân) และ "ลาง" (Lang) ทั้งสองมีความรักต่อกันมาก ต่อมาเตินมีภรรยา จึงไม่ค่อยมีเวลามาหาสู่น้องเหมือนเช่นเดิมอีก จึงทำให้ลาง (Lang) รู้สึกเศร้าโศกมากจนกระทั่งหนีออกจากบ้านไป เมื่อเขามาถึงที่ข้างลำธารแห่งหนึ่ง เขารู้สึกเหนื่อยมากจนขาดใจตาย ศพของลางได้กลายเป็นหินปูน ในขณะเดียวกัน เมื่อเตินไม่เห็นน้องของตนกลับมาบ้านเป็นเวลานาน จึงได้ออกเดินทางตามหาน้อง จนกระทั่งมาถึงริมลำธารแห่งนั้น แล้วเตินก็สิ้นใจตาย ณ จุดเดียวกัน ศพของเตินได้กลายเป็นต้นหมากขึ้นอยู่ข้างหินปูนก้อนนั้น ต่อมาเมื่อภรรยาของเตินไม่เห็นสามีกลับมาเช่นกันก็ออกเดินทางตามหา จนกระทั่งมาถึงที่ริมลำธารนั้น เธอรู้สึกเหนื่อยมากและสิ้นใจไปในที่สุด ศพของนางได้กลายเป็นต้นพลูอยู่ข้างๆ หินปูนและหมาก เมื่อหมาก หินปูนและใบพลูอยู่ด้วยกัน จึงกลายเป็นสีแดงเหมือนเลือด ต่อมาเมื่อกษัตริย์หุ่งเวือง (Hùng Vương) ได้เดินทางผ่านไปทางนั้น และได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับความรักของคนทั้งสาม ก็ได้ให้คนเวียดนามใช้หมาก ปูน และใบพลู เป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงความรักระหว่างพี่น้อง และสามี-ภรรยา จนกลายมาเป็นประเพณีว่าจะต้องมีทั้งสามสิ่งนี้ในพิธีแต่งงาน8
เรื่องเล่าตำนานของหมากและพลูได้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ในมิติ เรื่องของความรัก ที่กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน หมากและพลูเป็นคู่ของกัน เช่นเดียวกับกู่และเสิ่น ทั้งสองเป็นของกันและกัน ดังคำพูดของเสิ่น ที่บอกกับกู่ว่า "หากเธอต้องการที่จะแต่งงานกับฉัน ก็จงนำหมากนี้กลับไปปลูกที่บ้าน เมื่อถึงวันที่มันออกดอกผล เราจะแต่งงานกัน" ซึ่งคำกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อที่สอดคล้องกับตำนานที่กล่าวมาข้างต้น เพราะหากเปรียบความรักที่แสดงผ่านการอยู่ร่วมกันของหมากและพลู ก็จะสังเกตเห็นว่าเสิ่นยังได้บอกให้กู่เอาใจใส่ดูแลต้นหมากนี้เฉกเช่นดูแล ตัวเธอเอง และเมื่อถึงเวลานั้นความรักของทั้งสองก็จะสุกงอม เหมือนลูกหมากที่จะตกลงจากต้นเพื่อไปสู่พิธีแต่งงานต่อไป ซึ่งทั้งสองก็รอคอยเวลานั้นเช่นกัน
สงคราม: สวรรค์แห่งอำนาจหรือนรกแห่งชีวิต
"ในภาวะสงคราม เราอาจจะใกล้ความตายเป็นร้อยครั้ง แต่เราจะมีโอกาสได้อยู่รอดเพียงครั้งเดียว เราต่างต้องพบกับความยากลำบากในชีวิต เมื่อสงครามมันเดือดดาลต่อไป ใครจะไปล่วงรู้ได้ว่าจะมีคนตายในคืนนี้อีกสักกี่คน และอีกกี่ครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกัน"
ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาตินั้นก็คงเคยมีคนตั้งคำถามว่า สิ่งที่เราได้จากสงครามจริงๆแล้วคืออะไร แล้วอะไรที่เรียกว่าชัยชนะ คงไม่มีใครใคร่คิดจะตอบคำถามนี้ แม้กระทั่งตัวผู้ทำสงครามเองก็ตาม เพราะพวกเขาเองก็คงรู้ว่าสิ่งที่ได้จากสงครามก็มีเพียงแค่ความสูญเสีย ซากศพ กองเลือด และรอยน้ำตา ชัยชนะจากสงครามที่มีผลเพียงแค่ค่าปฏิกรรมสงครามที่ประเทศผู้ชนะได้รับ ซึ่งก็คงไม่สามารถที่จะทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้
The White silk Dress ได้เนรมิตให้ผู้ชมได้พบเห็นภาพชีวิตผ่านรอยน้ำตาและเสียงสะอื้นไห้ของผู้คน ภายใต้บริบทและห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยภาวะสงครามในเวียดนาม ดังปรากฏในเรื่องตั้งแต่ยุคสงครามกับฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ. 1954 จนกระทั่งถึงสงครามต่อต้านอเมริกา มันเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดของผู้คนผ่านตัวละครตลอดมา ซึ่งใจหนึ่งของพวกเขาก็ต้องการที่จะหลุดพ้นจากสภาวะที่บีบคั้นอันเกิดจากการ กดขี่ของผู้ปกครองต่างชาติ และอีกใจหนึ่งก็ต้องการหลุดออกจากสภาวะที่แร้นแค้นของตน ดังนั้น สิ่งที่กู่เลือกคือ การหนีออกจากเมืองห่าดง ซึ่งความมุ่งหมายคือ หนีจากความวุ่นวายที่มาจากสงคราม และสภาพที่ยากจนแสนเข็ญ
แต่การเดินทางของกู่และเสิ่นสู่โห่ยอาน ที่ตั้งอยู่ในเขตตอนกลางของประเทศ ก็ไม่ได้กลายเป็นพื้นที่ที่แห่งความสุขของกู่แต่อย่างไร เพราะในสภาวะแห่งสงคราม พื้นที่ภาคกลางของเวียดนามเองก็เป็นเสมือนพื้นที่กึ่งกลางของการปะทะระหว่างฐานที่มั่นของสองฝ่าย ขบวนการชาตินิยมเวียดนาม (เวียดมินห์) ทางภาคเหนือ กับ ฝรั่งเศสและอเมริกาทางภาคใต้ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ระแวงว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางนี้ จะเป็นสายลับของฝ่ายตรงข้าม ทำให้สภาพชีวิตของผู้คนบริเวณนี้จึงค่อนข้างจะเลวร้าย พวกเขาต่างดำรงชีวิตอยู่ด้วยสภาพที่ขาดแคลน และหวาดกลัว
ครอบครัวของกู่ดำรงชีวิตผ่านมื้ออาหารแต่ละมื้อโดยมีเพียงแค่หอย กับมันเทศ ส่วนข้าวโพดต้มหรือข้าวต้มนั้น หาได้ยากมากสำหรับผู้คนในสภาวะสงคราม สภาพที่ผู้คนในเวียดนามมีเพียงมันและข้าวโพดเป็นอาหารหลักในสมัยสงคราม ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากในสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ามาในอินโดจีนช่วงสงครามโลกครั้ง ที่สอง ได้มีนโยบายให้ปลูกพืชจำพวกมัน แต่ไม่ได้ให้มีการปลูกข้าวเป็นหลัก ถึงแม้ว่าภูมิศาสตร์ของเวียดนามนั้นจะเอื้อต่อการปลูกข้าวก็ตาม คนเวียดนามในขณะนั้นจึงมีเพียงมันสำปะหลังเป็นอาหารหลัก ซึ่งนำไปสู่ภาวะขาดแคลนข้าวเพื่อการดำรงชีพอย่างมาก ผู้คนนับล้านในช่วงเวลานั้น ต้องจบชีวิตลงเพราะภาวะทุโภชนาการ
ขณะที่สองพี่น้องอานและโงดูเหมือนจะชินชากับความยากลำบาก และมองว่าความลำบากนี้ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความสุข ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่สองพี่น้องต้องรีบวิ่งกลับหลังจากเลิกเรียน เพื่อนำชุดอ๋าวส่ายที่มีเพียงชุดเดียว ไปให้กับอีกคนหนึ่งได้สลับกันใส่เพื่อไปเรียนต่อ มันถ่ายทอดความรู้สึกที่เจ็บปวดและเสียดแทง คละเคล้าไปกับความรักความอบอุ่นระหว่างพี่น้อง ที่ดูเหมือนว่าทั้งสองแทบไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดกับความยากจนแร้นแค้นที่เป็นอยู่ แต่กลับขอบคุณความแร้นแค้นนั้นที่ทำให้ทั้งสองมีความรักต่อกันอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ดี สภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายจากสงครามเช่นนี้ ก็ยังปรากฏความหวังที่อยู่ในใจของชาวเวียดนาม และพวกเขาก็พร่ำเรียกหามาตลอด นั่นก็คือ "สันติภาพ" คำๆ นี้เป็นคำที่โงได้บอกพ่อของเธอว่าจะสอนให้เขียนคำๆนี้ ด้วยความหวังที่ว่า สักวันหนึ่งพวกเขาจะได้เดินทางไปสู่สิ่งที่เรียกว่าสันติภาพ มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น สันติภาพที่ทุกคนต่างก็ถวิลหามาเป็นเวลายาวนาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันแทบจะไม่มีทางที่จะไปถึงเลย
ความฝันถึงสันติภาพพลันต้องดับลง เมื่อระเบิดลูกหนึ่งหล่นลงมาจากฟากฟ้า คร่าชีวิตของอาน ลูกสาวของพวกเขา อานจบชีวิตลงในชุดอ๋าวส่ายสีขาวที่แปดเปื้อนไปด้วยเลือด ภาพกองศพของนักเรียนและครูจำนวนมากในโรงเรียน พร้อมกับภาพของลูกระเบิดขนาดใหญ่ที่จมอยู่กับพื้น กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่โหดร้ายสำหรับชาวโห่ยอาน อ๋าวส่ายที่จมกองเลือดบนพื้นได้ทำหน้าที่ในฐานะภาพตัวแทนของ"ชาติ" ที่ถูกย่ำยี ภาพกองศพในชุดอ๋าวส่ายจำนวนมากที่ถูกเด็ดชีพด้วยระเบิด สื่อความหมายที่กระแทกจิตใจของคนเวียดนาม การยอมแพ้ต่อความรุนแรงที่โงได้ทำ โดยการใช้อ๋าวส่ายแทน "ธงขาว" ไม่ได้หมายความถึงการยอมแพ้ต่ออเมริกาในสงคราม แต่ได้สะท้อนถึงการยอมแพ้ต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างแสนสาหัส จนไม่สามารถจะต้านทานต่อไปได้อีก
ระเบิดที่ถล่มโรงเรียน และอีกหลายลูกที่คร่าทำลายชีวิตชาวเวียดนาม เป็นตัวแทนของการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของคนเวียดนามในช่วงสงคราม ระเบิดนั้นประทับตราตัวอักษรไว้ว่า "USA" อันเป็นตัวย่อของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของ "สิทธิและเสรีภาพ" สงครามเป็นดั่งสรวงสวรรค์ของผู้หลงใหลในอำนาจ แต่มันคือ นรกของประชาชนคนธรรมดาที่ต้องจบชีวิตลง (ด้วยความรุนแรงที่ตนไม่ได้ก่อ) สงครามอาจจะอยู่คู่โลกจนถึงวันที่โลกใบนี้จะดับลง หากมันถึงวันนั้นจริงๆ มนุษย์อาจจะบอกกับตัวเองอยู่หรือไม่ว่า พวกเรานี้คือ "สัตว์ประเสริฐ"
จากปฐมบทสู่จุดสุดท้ายของภาพยนตร์ เมื่อชุดอ๋าวส่ายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เมื่อนึกถึงเวียดนามสิ่งที่จะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆเลยก็คือ ชุดอ๋าวส่าย ชุดที่ซ่อนเงื่อนปมมากมายของสังคมเวียดนามไว้ภายใต้ความสวยบริสุทธิ์ของไหมสีขาว ทั้งคติความเชื่อ ค่านิยม และประเพณีต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย อีกทั้งความงามของมันก็ยังซ่อนเรื่องราวของความเศร้าและน้ำตาไว้เช่นเดียวกัน
ในประวัติศาสตร์ของเวียดนามนั้น จะปรากฏการต่อสู้ของสตรีในสมรภูมิต่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ในสมัยของวีรสตรีพี่น้องตระกูลจึง (Hai Bà Trưng)9 ที่ได้ปฏิวัติปลดแอกเวียดนามจากจีน รวมไปถึงวีรสตรีตระกูลเจี่ยว (Ba triều)10 และสตรีเวียดนามที่ร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยต่างๆ ทั้งสมัยสงครามกับฝรั่งเศสและอเมริกา ดังนั้น ความพยายามที่สำคัญอย่างยิ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือความต้องการที่จะให้ชุดอ๋าวส่าย มีความหมายมากกว่าเรื่องของความงาม เพราะหากมองจากมุมของประวัติศาสตร์แล้ว ชุดอ๋าวส่ายนี้ก็คือสัญญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งของสตรีชาวเวียดนามนั่นเอง
-------------------------------------------
เชิงอรรถ
1 Áo Dài หากอ่านตามสำเนียงฮานอยจะออกเสียงเป็น อ๋าวส่าย แต่หากออกตามสำเนียงไซ่ง่อนจะออกเป็น อ๋าวหญ่าย (ผู้เขียน)
2จากหนังสือประวัติศาสตร์เวียดนาม ตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน โดย สุด จอนเจิดสิน, 2550
3สัมภาษณ์ Nguyễn Ngọc Bình, นักศึกษาปริญญาเอกคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
4Đông Bằng Sông Hồng vùng dất con người, Nhà Xuất bản quân dồi nhân dân, 2010 (เรื่องชีวิตคนลุ่มน้ำแดงพื้นที่แห่งมนุษย์, สำนักพิมพ์กองทัพบกและประชาชน)
5สัมภาษณ์ Ta Quảng Tiến, sinh viên năm thứ 4 trường đà học quốc gia Hà nội khoa học xà hội và nhân văn (นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ฮานอย), สัมภาษณ์ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553
6สัมภาษณ์ Phương Hòang, sinh viên năm thứ 3 trường đài học quốc gia Hà nội khoa học xã hội và nhân văn (นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ฮานอย) วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553
7Đông Bằng Sông Hồng vùng dất con người, Nhà Xuất bản quân dồi nhân dân, 2010 (เรื่องชีวิตคนลุ่มน้ำแดงพื้นที่แห่งมนุษย์, สำนักพิมพ์กองทัพบกและประชาชน)
8 Kể Chuyện trạng Việt Nam (เรื่องเล่าเวียดนาม), Nhà Xuất Bản Văn Hêa - Thông tin (สำนักพิมพ์วัฒนธรรมและข้อมูล)
9พี่น้องตระกูล Trưng นำโดยสองพี่น้องจึงจ๊าค (Trưng Trác) และจึงหญิ (Trưng nhị) เป็นผู้นำการปลดแอกครั้งแรกที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ โดยถูกเรียกรวมๆ ว่าฮายบ่าจึง (Hai Bà Trưng) ซึ่งได้ทำการต่อต้านอำนาจของจีนราชวงศ์ฮั่น สุดท้ายถูกกองทัพจีนบุกเข้ามาใหม่ และพ่ายแพ้ให้กับกองทัพจีน จึงกระโดดแม่น้ำแดงเพื่อฆ่าตัวตายเมื่อ ค.ศ. 43 กลายเป็นตำนานและตัวแทนความเข้มแข็งของสตรีเวียดนามไป จากหนังสือ หน้าต่างสู่โลกกว้าง: เวียดนาม, สุพรรณี ปิ่นมณี ผู้แปล
10วีรสตรีตระกูลเจี่ยว หรือบ่าเจี่ยว (Bà Triệu) เป็นวีรสตรีของชาวเวียดนามกล่าวถึง เจี่ยว จิง เนือง (Triệu Trinh Nương), เจี่ยว ที จิง (Triệu thi Trinh) และ เจี่ยว กว๊อค จิง (Triệu Quốc Trinh) เมื่อครั้งการต่อต้านกองทัพจีนในช่วง ค.ศ. 225-248 จากหนังสือเล่มเดียวกัน
เอกสารอ้างอิงภาษาไทย
สุด จอนเจิดสิน. ประวัติศาสตร์เวียดนามตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสถึงปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ. โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2550
สุพรรณี ปิ่นมณี. หน้าต่างสู่โลกกว้างเวียดนาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ. สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้าง. 2550
เอกสารอ้างอิงภาษาต่างประเทศ
Nguyễn Trung Minh. Đồng Bằng Sông Hồng Vùng Đất con Người. 1st ed. Hà Nội: Nhà Xuất Bản Quân Đội Nhân Dân. 2010
Nguyễn văn Khương. Kể Chuyện Trạng Việt Nam. 1st ed. Hà Nội: Nhà Xuất Bản Quân Đội Nhân Dân. 2010
อ้างอิงจากการสัมภาษณ์
Ta Quảng Tiến. นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ฮานอย, สัมภาษณ์ ณ วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553
Phương Hòang. นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ฮานอย, สัมภาษณ์ ณ วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553
Nguyễn Ngọc Bình. อาจารย์วิชาภาษาเวียดนาม โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นักศึกษาปริญญาเอกคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สัมภาษณ์ ณ วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553
เผยแพร่ครั้งแรกในhttp://www.thaiworld.org/th/thailand_monitor/answer.php?question_id=1151