Skip to main content

 

A Guerra Da Beatriz ในฐานะบันทึกบนแผ่นฟิล์มเรื่องแรกของ ติมอร์ ตะวันออก สงครามยังไม่สิ้นสุด

          การได้ชม อา เกรา ดา บิทรีส (A Guerra Da Beatriz) หรือ สงครามของบีทริส หนังเรื่องแรกของติมอร์ตะวันออก ที่นักแสดงทั้งหมดเป็นชาวติมอร์ตะวันออก ทำให้การเยือนประเทศเกิดใหม่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีความพิเศษเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดใน ดิลี (Dili) เมืงหลวงของประเทศ เราจะเห็นรูปของผู้หญิงคนหนึ่งในชุดทหาร หน้าตาเคร่งขรึม แววตานิ่งเรียบ สะพายปืน อยู่บนผืนผ้าสีแดง ราวกับ ‘เช เกวารา’ ในภาคของสตรีเพศ ป้ายผ้าประชาสัมพันธ์ดังกล่าวสร้างความสนอกสนใจให้กับชาวติมอร์ตะวันออกไม่น้อย ประชาชนจำนวนมากตั้งตาคอยที่จะชมภาพยนตร์เรื่องแรกของประเทศเรื่องนี้ โดยหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นมีการจัดรอบพิเศษให้กับแขกผู้ทรงเกียรติทั้งชาวท้องถิ่นและต่างประเทศ ทั้งทูตานุทูต เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ภรรยาของนายกรัฐมนตรีมาร่วมชม และนอกจากนั้นผู้กำกับก็ยังนำหนังไปฉายในจังหวัดต่างๆเพื่อให้ผู้คนทั่วภูมิภาคได้ดูหนังเรื่องนี้กันอย่างทั่วถึงในรูปแบบของหนังกางแปลง เฉพาะที่เมืองมาเลียนา (Maliana) ในฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการเผาทำลายและสังหารประชาชนของฝ่ายทหารบ้าน (Militia) ที่สนับสนุนอินโดนีเซีย มีผู้ชมกว่า 4,000 คนตลอดสองวันสองคืนของการฉาย ณ สนามฟุตบอลแห่งหนึ่งกลางเมือง

 

          รอบปฐมทัศน์ของอา เกรา ดา บิทรีส ที่ดิลีนั้นฉายที่โรง The Cineplex ในห้าง Timor Plaza ห้างใหม่ในเมืองหลวงกรุงดิลี ซึ่งเป็นโรงหนังที่ลงทุนโดยบริษัทจากอินโดนีเซีย บรรยากาศโดยทั่วไปของโรงหนังแห่งนี้ค่อนข้างที่จะหรูหราเหมือนกับโรงหนังแบบซีเนเพลกซ์ชั้นดีในประเทศอื่นๆ ราคาค่าตั๋วก็สมเหตุสมผล อยู่ที่ 3 เหรียญ หรือ ราว 90 บาท ชาวติมอร์ตะวันออกหลายคนที่มีโอกาสได้พูดคุยต่างบอกตรงกันว่า ยังไม่เคยได้มาลองมาใช้บริการโรงหนังแห่งนี้เสียที กะว่าจะถือโอกาสนี้มาดูหนังเรื่องแรกของชาวติมอร์ในโรงหนังแห่งแรกหลังได้รับเอกราช เป็นครั้งแรกในคราวเดียวกันเลย

          เกรา ดา บิทรีส เป็นผลงานการกำกับของ ลุยจิ อักกิสโต  (Luigi Acquisto) และ เบตี้ เลอิส  Bety Reis ภายใต้การร่วมสร้างของบริษัทจากออสเตรเลีย FairTrade Films และ ติมอร์ตะวันออกในนาม Dili Film Works  หนังดึงเค้าโครงมาจากโศกนาฏกรรมรักของชนชั้นชาวนาฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 16 โดยนำมาปรับใช้กับบริบทการต่อสู้ของชาวติมอร์ตะวันออกในตลอดช่วงเวลา 24 ปีแห่งการยึดครองของอินโดนีเซียผ่านชีวิตของหนุ่มสาวคู่หนึ่งและประชาชนกับเหตุการณ์สังหารในหมู่บ้านกรารัส (Kraras) ทางภาคตะวันออกของประเทศ

          จุดเริ่มของเรื่องย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของติมอร์ตะวันออก เมื่อประเทศได้รับเอกราชช่วงสั้นๆหลังโปรตุเกสที่ปกครองมายาวนานกว่า 3 ศตวรรษตัดสินใจทิ้งอาณานิคมแห่งนี้ไว้ และก็ถูกอินโดนีเซียที่มีชายแดนติดกันเข้ามายึดครองในปี 1975 เพื่อความปลอดภัยของ บิทริส เด็กสาววัย 10 ขวบ แม่ของเธอจึงเลือกที่จะให้ลูกสาวแต่งงานกับเด็กชายวัยเดียวกันนาม โทมัส (Tomas) ที่เป็นลูกของอดีตศัตรูที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทั้งสองบ้านต้องหันหน้าเข้ากันเพื่อต้านทานการรุกรานของกองทัพอินโดนีเซีย แต่สุดท้ายก็ถูกทำลายย่อยยับ ทั้งคู่ระหกระเหินเร่ร่อนเพื่อหนีการรุกราน ช่วงเวลานั้นบิทริสฝึกฝนจนรู้จักวิธีการใช้ปืน เธอแข็งแกร่งและปกป้องสามีที่ไม่เป็นงานใดๆเกี่ยวกับใช้อาวุธอย่างเช่นชายคนอื่นในหมู่บ้าน พวกเขาถูกทหารอินโดนีเซียจับและมาตั้งถิ่นฐานที่ กรารัส (Kraras) จนบิทริสให้กำเนิดลูก โดยในระหว่างตั้งครรภ์เธอก็ถูกนายทหารอินโดนีเซียข่มขืน

     

         ราวปี 1983 เป็นช่วงที่อินโดนีเซียกับกองกำลังเรียกร้องเอกราชติมอร์ตะวันออกในนาม ‘เฟรติลิน’ (Fretilin) ทำข้อตกลงหยุดยิง แต่อย่างไรก็ดี มันเป็นช่วงที่ฝ่ายเรียกร้องเอกราชนั้นได้มีการประสานเครือข่ายกันอย่างลับๆ เพื่อฟื้นฟูกองกำลังขึ้นใหม่ ขณะที่ฝ่ายกองทัพอินโดนีเซียเองก็เริ่มทำการข่มเหงประชาชนอีกครั้งอันเป็นการละเมิดข้อตกลง และเมื่อการตอบโต้พร้อม แนวร่วมของ Fretilin จึงจัดการสังหารอินโดนีเซียในวันฉลองวันชาติอินโดนีเซีย 17 สิงหาคม ในหมู่บ้านที่พวกเขาถูกควบคุมโดยกองทัพ และหลังจากนั้นกองโต้ตอบจากฝ่ายกองทัพอินโดนีเซียก็กลายเป็นเรื่องโหดร้ายเกินกว่าที่จะคาดเดา

          การสังหารหมู่ที่ กรารัส (Kraras Massacre) เกิดขึ้นหลังจากทหารอินโดนีเซียรุกกลับและเริ่มดำเนินการเอาคืน โดยการสังหารคนแก่และเด็ก รวมทั้งจับผู้ชายทั้งหมดในหมู่บ้านไว้ และนำตัวพวกเขาขึ้นศาลเตี้ยยังริมฝั่งแม่น้ำ เวตูกู (Tahu Bein/Wetuku) จากนั้นเอาปืนเล็งไปพร้อมยิงและบังคับให้ทั้งหมดร้องเพลง โฟโฮ รัมเมเลา (Foho Ramelau) ซึ่งเป็นเพลงของขบวนการ Fretilin เมื่อทุกคนจำเป็นต้องร้อง เสียงที่เปล่งออกมาจำเป็นหลักฐานว่า พวกเขาเป็นแนวร่วมของขบวนการ เป็นกบฏต่ออินโดนีเซีย ทหารอินโดนีเซียจึงสำเร็จโทษทั้งหมดทันที เหตุการณ์สังหารหมู่ในหนังนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของติมอร์ตะวันออกในปี 1983 ซึ่งถือว่าเป็นการสังหารหมู่ครั้งแรกหลังการยึดครอง โดยได้มีการบันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้ว่า มีผู้ชายในหมู่บ้านถูกสังหารไปพร้อมกันเกือบสองร้อยคน จนหมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รู้จักในนาม “หมู่บ้านแม่หม้าย”  หลังจากนั้นบรรดาแม่หม้ายทั้งหลายก็ถูกควบคุมและโยกย้ายถิ่นฐานไปตามทหารอินโดนีเซียตลอดช่วงเวลาการยึดครองจนถึงปี 1999 หลายคนมีลูกกับทหารอินโดนีเซียเพราะถูกบังคับ

       

          ตลอดช่วงเวลานั้นบิทริสยังคงเชื่อว่า โทมัสไม่ได้ถูกสังหารไปพร้อมกับผู้ชายในหมู่บ้าน เธออยู่ด้วยความหวังว่า สามีของเธอยังมีชิวิตอยู่ตลอดมา ภายหลังจากการลงประชามติในปี 1999 ที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะเป็นเอกราชจากอินโดนีเซีย อะไรๆก็ดูเหมือนจะกลับคืนสู่สันติภาพอีกครั้ง ทุกอย่างก็ค่อยๆคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่สำหรับบิทริสแล้วฉากชีวิตอันโหดร้ายกำลังเริ่มต้นอีกครั้ง อยู่มาวันหนึ่ง ชายคนหนึ่งอ้างว่าตัวเองคือ โทมัส เดินทางกลับมายังที่หมู่บ้าน และบอกกับทุกคนว่าเขารอดชีวิตจากการสังหารหมู่ครั้งนั้นและได้หนีไปร่วมรบกับขบวนการเรียกร้องเอกราช สามีของบิทริสที่พลัดพรากกันไปสิบกว่าปีกลับมาอีกครั้ง ทุกคนเชื่อเป็นตัวทัสจริงๆ มีเพียงบิทริสเท่านั้นที่สงสัย แต่สุดท้ายเธอหลงรักและมีลูกกับเขา จนวันหนึ่งความแตก และทำให้เขาต้องสารภาพว่าเขาไม่ใช่ โทมัส แต่คือ เดนียล คอร์เตส (Daniel Cortes) ทหารบ้านคนสนิทของปราโบโว นายทหารคนสำคัญของกองทัพอินโดนีเซีย เขาแกล้งทำเนียนเพื่อพยายามจะหลีกเลี่ยงความผิดจากการที่เขานำทหารบ้านรุมทำร้าย ฆ่า และเผาบ้านเรือนของประชาชนที่ลงคะแนนเพื่อเอกราชของติมอร์ตะวันออก เพราะเขาเป็นฝ่ายแพ้แต่ยังอยู่ในประเทศ เขาจึงต้องหาทางเอาตัวรอด เดเนียลเล่าว่า เขาเจอกับสามีตัวจริงของบิทริส ที่กลายเป็นคนเสียสติ และเสียชีวิตในที่สุด ทั้งคู่มีหน้าตาคล้ายกัน เดเนียลจึงสืบประวัติจากโทมัสจนทราบเรื่องราวในครอบครัว และเลียนแบบลักษณะท่าทางต่างๆของเขา และเดินทางกลับมายังกรารัส สุดท้ายแล้ว เดนียล คอร์เตส ก็ถูกจับและต้องได้รับโทษจากความผิดในฐานะอาขญากร แต่สำหรับบิทริสและชาวติมอร์ตะวันออกคนอื่นๆ จะจัดการกับชีวิตที่เหลืออยู่อย่างไร เมื่อพวกสงครามภายในตัวตนเพิ่งจะเริ่มต้น

          หลังจากจบรอบฉายในรอบปฐมทัศน์ ผู้ชมต่างรู้สึกซาบซึ้งกับผลงานภาพยนตร์ชิ้นแรกของชาวติมอร์ตะวันออกที่ไม่ใช่แค่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอกราชตมแบบฉบับทางการเท่านั้น แต่ยังช่วยเก็บรายละเอียดของชีวิตผู้คนในระดับล่างที่ต่างร่วมประสบการณ์การต่อสู้อันยาวนานและยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน จากที่ได้พูดคุยกับหลายคน ดูเหมือนว่า เรื่องราวชีวิตของบิทริสนั้นไม่ได้ดูจะดราม่าเกินจริงเลยแม้แต่น้อย ชายคนหนึ่งในวัย 50 คนหนึ่งที่นั่งในแถวหลังสุดเล่าว่า การได้มารู้จักกับบิทริสผ่านหนังเรื่องนี้ เหมือนกับว่ามันได้ช่วยฉายหนังย้อนกับไปยังชีวิตของเขาเมื่อครั้งถูกคุกคามจากกองทัพอินโดนีเซีย

มีหลายเรื่องในติมอร์ตะวันออกที่สามารถเป็นบทเรียนให้กับความขัดแย้งอื่นๆในโลก ทุกวันนี้แม้ความรุนแรงจะสิ้นสุดไปแล้ว การสร้างชาติใหม่ได้ดำเนินมาครบหนึ่งทศวรรษ แต่กระบวนการเยียวยาบาดแผลแห่งอดีตยังเพิ่งเริ่มต้น เพราะชีวิตในสงครามว่ายากแล้ว แต่ชีวิตหลังสงครามนั้นยากยิ่งกว่า หลังจากรอบฉายในประเทศ “สงครามของบีทริส” มีกำหนดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่ออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งก็หวังว่า วันหนึ่งเราจะได้ชมหนังเรื่องนี้ในประเทศไทย ได้เรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตว่ามีค่าเพียงใดหากสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งมาได้

 

**หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารไบโอสโคป ฉบับเดือนธันวาคม 2556 

บล็อกของ Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)

Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 A Guerra Da Beatriz ในฐานะบันทึกบนแผ่นฟิล์มเรื่องแรกของ ติมอร์ ตะวันออก สงครามยังไม่สิ้นสุด
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
อิโล อิโล (Ilo-Ilo) :  สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ เกิด ตาย และการอยู่ร่วมกัน ในวันที่เราหลงลืมอะไรบางอย่าง 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
ภาพยนตร์เวียดนาม เมื่อรัฐออกแบบไม่ได้ Film  Kawan
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
มรกตวงศ์ ภูมิพลับFilm Kawan (ฟิล์ม กาวัน)  
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 จิตรลดา กิจกมลธรรม (Film Kawan) 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
  หากพวกเจ้าไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่บรรดา(สตรี)กำพร้าได้ ก็จงแต่งงานกับสตรีที่ดีแก่พวกเจ้า จะสองคน หรือสามคน หรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ก็จงแต่งงาน