มรกตวงศ์ ภูมิพลับ
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
โปสเตอร์ภาพยนตร์ “Indochine” ปี 1992 ภาพสะท้อนของชนชั้นปกครองอาณานิคมที่เสมือนหนึ่งเป็น “เจ้า” เหนือชาวเวียดนามเจ้าของแผ่นดินที่แท้จริง |
ภาพยนตร์ของฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1992 โดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Regis Wargnier ที่กล้าออกมาวิพากษ์การปกครองเวียดนามภายใต้รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลว และการเอารัดเอาเปรียบของการปกครองแบบอาณานิคม ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอแง่มุมทางประวัติศาสตร์เวียดนามในยุคล่าอาณานิคมระหว่างปลายทศวรรษที่ 1920 ถึง 1950 เหตุผลที่เหล่านักล่าอาณานิคมเคยใช้ว่าจะนำเอาความเจริญมาสู่ประเทศที่ล้าหลังกว่ากลายเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการขยายอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคม วิกฤตทางสังคมในเวียดนามที่เกิดขึ้นก็คือสิ่งที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสหยิบยื่นให้ ภาพสะท้อนระหว่างชีวิตของผู้ปกครองอาณานิคม และชนชั้นศักดินา กับกรรมกร และแรงงานชาวเวียดนามที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ภาวะทุพภิกขภัย ความตกต่ำทางเศรษฐกิจภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลอาณานิคม และการดูถูกเหยียดหยามชาวเวียดนาม ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้ขบวนการชาตินิยมเวียดนามก่อรูปก่อร่างขึ้นมา และค่อย ๆ ผนึกกำลังกันได้อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้การดำเนินงานโดยแนวร่วมใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม สารัตถะของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงที่พยายามจะสะท้อนถึง “สาเหตุ” ที่นำไปสู่กาลอวสานของ “อินโดจีน” ที่ฝรั่งเศสครอบครอง
เนื้อเรื่องดำเนินผ่านชีวิตรักดราม่าของแม่เลี้ยงชาวฝรั่งเศสเอเลียน (Éliane Devries รับบทโดย Catherine Deneuve นักแสดงหญิงระดับตำนานของฝรั่งเศส) เจ้าของสวนยางพารา (Rubber plantation owner) และกามิล (Camille รับบทโดย Linh Dan Pham นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เชื้อสายเวียดนาม) ลูกเลี้ยงชาวเวียดนามผู้มีเลือดขัตติยาของราชวงศ์เหงวียน (ราชวงศ์ที่เรืองอำนาจเป็นราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม) กับฌอง แบ๊บทิส (Jean-Baptiste รับบทโดย Vincent Pérez ดาราเจ้าบทบาท ที่ผู้ชมชาวไทยคุ้นเคยกับฝีมือการแสดงของเขาใน The Crow “อีกา พญายม”) นายทหารเรือหนุ่มชาวฝรั่งเศส ความรักที่ไม่ลงตัวของหญิงสองชายหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้กามิล เดินทางออกสู่โลกกว้างด้วยการตามหาชายหนุ่มที่รัก เมื่อฌอง-แบ๊บทิสถูกเนรเทศไปยังดินแดนทุรกันดารในเขตตังเกี๋ย บนเกาะแถบอ่าวฮาลองตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ตามคำร้องขอและการใช้อำนาจของเอเลียน และนี่เองที่กามิลค่อย ๆ ได้เรียนรู้ และเห็นความยากแค้น ความอยุติธรรม และความไร้มนุษยธรรมที่พี่น้องร่วมมาตุภูมิได้รับจากเจ้าหน้าที่ปกครองของรัฐบาลอาณานิคม จนในที่สุดก็มีเหตุให้กามิลเข้าร่วมขบวนการกู้ชาติ กับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
“อินโดจีน”: นิยามเขตแดน กับมรดกอาณานิคม
“ในวัยเยาว์ เราคิดว่า โลกนี้ประกอบไปด้วยสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ คือ ชาย หญิง, ภูเขาและที่ราบ, มนุษย์ และพระเจ้า, อินโดจีน และฝรั่งเศส”
“In our youth we thought, the world consisted of inseparable things -- men and women, mountains and plains, humans and gods, Indochina and France.”
---Éliane Devries----
-
“อินโดจีน (Indochiné หรือ Indochina)” มาจาก Indo กับ Chiné หมายถึงบริเวณที่ตั้งอยู่ระหว่างอินเดียและจีน “อินโดจีน” เป็นทั้งความหมายเชิงสัญลักษณ์ และเป็น “ประดิษฐกรรม” ของลัทธิล่าอาณานิคม ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึง 20 อินโดจีนจึงแสดงถึงจุดเริ่มต้น สะท้อนความรุ่งเรือง และจุดจบของจักรวรรดินิยมสมัยใหม่ การปกครองภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศสกินพื้นที่เหนือดินแดนกว่าครึ่งของภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์ อินโดจีนมีบทบาทสำคัญในการสร้างชุดความคิดแบบอาณานิคมอย่างชัดเจน สร้างความเป็นรัฐชาติ ซึ่งถือเป็นมรดกของอาณานิคม ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของเอเลียน ภาพที่เจ้าอาณานิคมพยายามสร้างให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เป็นของคู่กัน เมื่อมีฝรั่งเศส ก็ต้องมีอินโดจีน จะตัดขาดกันเสียไม่ได้
ในทางประวัติศาสตร์ “อินโดจีนของฝรั่งเศส (French Indochina หรือ Đông Dương thuộc Pháp ในภาษาเวียดนาม)” ถูกใช้เป็นครรลองการปกครองของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ.1887-1954 โดยแบ่งออกเป็น 1 อาณานิคม ได้แก่ โคชินจีน (Cochinchina) หมายถึงอาณาบริเวณทางใต้ทั้งหมดของเวียดนาม ที่ปกครองโดยตรง เป็นเสมือนแผ่นดินเดียวกับฝรั่งเศส และ๔ รัฐอารักขา ได้แก่ ตังเกี๋ย (Tonkin) หมายถึงอาณาเขตทางตอนเหนือของเวียดนาม อานนาม (Annam) หมายถึงอาณาเขตทางภาคกลางของเวียดนาม, กัมพูชา และลาว ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคมของเวียดนามจึงขาดเสียไม่ได้ที่จะกล่าวถึง “อินโดจีน” เพื่อการสร้างเอกภาพในการปกครองของเจ้าอาณานิคม คำ ๆ นี้จึงเป็นเสมือนสิ่งประดิษฐ์ และผลิตผลของลัทธิล่าอาณานิคมที่ได้หยิบยื่นให้กับชาวเวียดนาม กัมพูชา และลาวในช่วงเวลากว่าหกทศวรรษ
มายาคติ และมโนทัศน์ของเจ้าอาณานิคมต่อ “ชาวอินโดจีน”
เราจะพบทรรศนะของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่มีต่อชาวอินโดจีนถูกแสดงให้เห็นในภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง เมื่อกล่าวถึงทรรศนะของเจ้าอาณานิคมต่อชนพื้นเมืองที่ถูกปกครองนั้น มักเป็นเหมือนสูตรสำเร็จที่เจ้าอาณานิคมจะต้องแสดงสถานะที่เหนือกว่าของตน ในทางตรงกันข้ามก็กำหนดให้ชนพื้นเมืองนั้นด้อยกว่าตน และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างต่ำต้อยด้อยค่า เฉกเช่นเดียวกันกับชาวฝรั่งเศสที่เข้าไปปกครอง ทำธุรกิจและอาศัยในอินโดจีน หรือแม้กระทั่งเหล่าขุนนาง และคหบดีพื้นเมืองเองที่เลือกปฏิบัติต่อชาวเวียดนาม แม้กระทั่งการเรียกว่าเป็น “ชาวอินโดจีน (Indochinese)” ในหมู่นักปกครองอาณานิคมก็ให้ความหมายในเชิงดูถูก เหยียดหยาม
ฝรั่งเศสพยายามสร้างความชอบธรรมในการปกครอง และปฏิบัติต่อคนพื้นเมืองเหล่านี้ด้วยแนวคิดที่เปรียบตนเองเหมือนเป็นพ่อ-แม่ (ฝรั่งเศส) ที่เข้ามาปกครองลูก (เวียดนาม) เห็นได้จาก ฉากที่เอเลียนลงโทษ แรงงานคนหนึ่งที่กำลังจะหนีออกไปจากการเป็นแรงงานในสวนยาง โดยเอเลียนกล่าวว่า “คิดหรือว่าบรรดาคนเป็นแม่จะชอบตบตีลูก ๆ ของพวกเธอ (You think mothers like beating their children?)” ทั้งยังสร้างสำนึกให้กับคนพื้นเมืองเหล่านี้ว่าเจ้าที่ดิน และเจ้าอาณานิคมเป็นเสมือนบิดามารดา ดังที่แรงงานคนนั้นตอบกลับไปว่า “ท่านคือพ่อ-แม่ของฉัน (You are my father and mother.)” ซึ่งสะท้อนการสร้างมายาคติ และอคติในการที่จะเข้าไปปกครองชาวอินโดจีนในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเห็นการสร้างอภิสิทธิ์ของข้าราชการอาณานิคมต่อคนท้องถิ่นที่ตอกย้ำแนวคิดนี้ขึ้นไปอีก ดังจะเห็นจากฉากที่ตำรวจฝรั่งเศสจับเอาผู้ต้องสงสัยชาวเวียดนามว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์มาสอบสวน โดยชี้ให้เห็นว่าการแข็งข้อต่อรัฐบาลอาณานิคมนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดไหน เจ้าหน้าที่ตำรวจคนนั้นกล่าวว่า “กบฎต่ออำนาจรัฐ ก็ถือว่าหนักหน่วงเท่ากับกบฎต่อบิดาและบรรพบุรุษ (Rebelling the authorities is as serious as rebelling against your dad and ancestors.)”
นอกจากนี้ยังปรากฏลักษณะของการแสดงความเหนือกว่าในฐานะของ “คนผิวขาว” หรือ “The White Man” ต่อคนผิวสีอื่น ดังจะเห็นได้ในฉากแข่งเรือระหว่างทีมทหารเรือเจ้าอาณานิคม กับทีมเรือพายกุลีชาวเวียดนามที่เป็นแรงงานในสวนยางพาราของเอเลียน และถูกฝึกฝนโดยพ่อของเอเลียน แม้ว่าเจ้าผู้ปกครองอาณานิคมฝรั่งเศสจะปรามาสว่าชาวอินโดจีนไม่มีทางมีศักยภาพที่จะสามารถเอาชนะเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ ดังที่นายพลเรือของฝรั่งเศสกล่าวว่า “เราไม่ควรจะให้พวกนี้รู้จักคำว่า “ชนะ” (We shouldn’t give these people idea of victory)” แต่ที่สุดแล้วกลับกลายเป็นว่าทีมเรือกุลีเวียดนามสามารถเอาชนะทีมเรือพายของทหารเรือฝรั่งเศสได้
สอดคล้องกันในทางประวัติศาสตร์การที่จะควบคุมให้ชนพื้นเมืองเวียดนามให้ยังยอมอยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส คือการไม่สร้างความภูมิใจในความสามารถ และศักยภาพของตนเอง ที่กล่าวได้ว่ามีเทียบเท่าหรืออาจเหนือกว่าคนผิวขาวผู้เจริญเสียด้วยซ้ำ และหากให้ชาวพื้นเมืองเหล่านี้ได้หัดรู้จักกับคำว่าชนะแล้วอาจจะส่งผลให้แข็งข้อขึ้นมาได้ หรือจะเป็นการไม่ใยดีถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเลือกปฏิบัติกับแรงงานเวียดนามเหล่านั้นเหมือนเป็นวัตถุ เช่น บทสนทนาตอนหนึ่งในภาพยนตร์ระหว่างเอเลียน กับฌอง-แบ๊บทิส ที่เอเลียนไม่ได้สนใจต่อสายตาแปลก ๆ ที่แรงงานในสวนยางมองดูเธอ เพราะเธอคิดว่าแรงงานเหล่านี้เป็น “กุลีของเธอ" แต่ฌอง-แบ๊บทิสกลับแย้งว่า พวกเขาเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน
หรือแม้กระทั่งการดูถูก และหยามเหยียดสตรีเพศ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเกือบตลอดทั้งเรื่อง หากสถานการณ์นั้นมีความเกี่ยวพันกับหญิงชาว เวียดนามแล้ว พวกเธอก็มักจะถูกเรียกว่า “Congaie (คองกี้ ตามสำเนียงฝรั่งเศส)” แม้จะเป็นคำที่มาจากภาษาเวียดนามคือ “con gái (กอน ก๋าย)” ซึ่งแปลว่า “ผู้หญิง” ก็ตาม แต่คำนี้ก็ถูกบิดให้มีความหมายในเชิงลบโดยเจ้าอาณานิคม ซึ่งใช้เพื่อสื่อความหมายว่าเป็น นางบำเรอ ภรรยาลับ หรือโสเภณี แม้กระทั่ง กามิลที่มีเลือดขัตติยาได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศส หรือมีฐานะการเงินดี ก็ถูกเรียกว่า Congaie เช่นกัน ดังนั้นสตรีชาวอินโดจีนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหนก็ตาม ต่างถูกมองในมาตรฐานเดียวกัน
ทรรศนะของนักปกครองอาณานิคมที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้างชุดความคิดเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยการโฆษณาชวนเชื่อว่า คอมมิวนิสต์คือความชั่วร้าย คือความโหดร้าย คือความสกปรก คืออันตราย และจ้องแต่จะทำลายล้าง คอมมิวนิสต์จ้องที่จะฆ่าทุกคนที่ไม่ใช่พวกของเขา และหากเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แล้วผู้ใดทรยศหักหลัง หรือเปลี่ยนความคิดก็ต้องตาย อย่างเช่นฉากที่มีคนยิงขุนนางเวียดนามในงานเลี้ยง ก็สร้างความเชื่อที่ว่าพวกคอมมิวนิสต์เป็นฆาตกร และจะมาฆ่าชาวบ้านคนอื่น ๆ ด้วย หรือฉากที่โรงบ่มยางของเอเลียนถูกเผา พวกกุลีก็ไม่กล้าทำงานต่อเพราะกลัวว่าพวกคอมมิวนิสต์จะมาฆ่า หรือที่เด็กชายชาวฝรั่งเศสด่าเอเลียนว่า “คุณเป็นพวกแดง คุณเป็นคอมมิวนิสต์โสโครก”
อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงตัวละครอย่างฌอง-แบ๊บทิส จะเห็นว่าตัวละครตัวนี้สะกิดให้นึกถึงอีกแง่มุมของข้าราชการอาณานิคม แม้ในตอนแรกเขาจะมีความสับสนระหว่างหน้าที่ กับมโนสำนึกต่อเพื่อนมนุษย์ แต่ในที่สุดเขาก็เลือกสัญชาตญาณแห่งความมีมนุษยธรรม และเคารพความเท่าเทียมกันของคน ดังที่เห็นในฉากเขาสั่งให้เผาเรือชาวบ้านเวียดนามสองพ่อลูกจนวอด เพราะฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามเรือแล่นอยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แต่หลังจาก ๒๐.๐๐ น. ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจออกตามหาเด็กชาย ว่ารอดชีวิตหรือไม่ด้วยความสำนึกผิด ประเด็นนี้ถือว่าน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างการปกครองอินโดจีนของฝรั่งเศส กล่าวคือการที่ไม่สามารถเหมารวมว่าชาวฝรั่งเศสในอินโดจีน จะแสดงความดูถูกคนพื้นเมืองเหมือนกันทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามมีชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยพยายามเคารพสิทธิ และสร้างกรอบความคิดที่ว่าชาวเวียดนามก็มีศักยภาพ มีความรุ่งเรือง และเป็นอารยะมาก่อนเช่นกัน ซึ่งชุดความคิดแบบนี้ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งในขบวนการกู้ชาติเวียดนาม และเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่นำความสำเร็จในการต่อสู้มาสู่ชาวเวียดนาม มีนักกู้ชาติจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศสในการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม และการเรียกร้องเอกราชให้ตนเอง ดังที่หลายครั้งประธานาธิบดี โฮจิมินห์ได้ขยายความนิยามของคำว่า “ศัตรู” ของชาวเวียดนามในช่วงการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสอย่างชัดเจนว่าศัตรูของชาวเวียดนามมิใช่ชาวฝรั่งเศสทั้งหมด เนื่องจากชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยที่ถือได้ว่าเป็น “สหาย” หรือ “มิตร”แท้ของชาวเวียดนาม แต่ศัตรูที่แท้จริงของชาวเวียดนามเจาะจงอยู่ที่ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามากดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และรุกล้ำมาตุภูมิของชาวเวียดนาม โดยยังหมายรวมถึงขุนนาง ชนชั้นศักดินา และผู้รับใช้ต่อผู้ปกครองอาณานิคมชาวเวียดนาม จึงมิใช่เรื่องแปลกที่ภาพยนตร์ฝรั่งเศส ที่สรรสร้างโดยชาวฝรั่งเศสจะวิพากษ์ ความเลวร้ายของลัทธิล่าอาณานิคมเพื่อเยียวยาความผิดพลาด และความล้มเหลวของชาติตน
จาก “ตังเกี๋ย” สู่ “โคชินจีน”: การแสวง “โชค” เพื่อชีวิตใหม่ของกุลีอินโดจีน
ความร่ำรวยกับความยากจน ความมีกินมีใช้กับความอดอยากปากแห้ง ความศิวิไลซ์กับความเสื่อมโทรมความอุดมสมบูรณ์กับความกันดาร ภาพของคู่ตรงกันข้ามเหล่านี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจากการเดินเรื่องผ่านชีวิตของกามิล ตั้งแต่โคชินจีน ศูนย์กลางการบริหารของรัฐบาลอาณานิคม ไปยังตังเกี๋ยซึ่งถูกมองว่าเป็นดินแดนทุรกันดารอันไกลโพ้นเป็นสิ่งที่ข้าราชการอาณานิคมไม่ปรารถนาที่จะไป มันตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิงกับความอุดมสมบูรณ์ของโคชินจีน ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางหลักในการแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐบาลอาณานิคม และยังเป็นศูนย์กลางของบรรดาความเจริญทางด้านวัตถุ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ภาวะทุพภิกขภัยที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางในตังเกี๋ย การเก็บภาษีที่แพงลิบลิ่ว ภาพยนตร์ได้ฉายภาพการทารุณกรรมแรงงานทาสด้วยวิธีต่าง ๆในตังเกี๋ย ไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนตี หรือทรมาน ทำให้บ่อยครั้งที่มีความพยายามจะหนี ด้วยเชื่อใน “ความหวัง” ที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่าจะเสี่ยง และจะรอดหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตา ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้แก่สังคมอินโดจีน ได้แก่“ตลาดทาส” เป็นตลาดมืดที่จะเอาชาวบ้านเวียดนามลงเรือเพื่อไปค้าแรงงานจากตังเกี๋ยไปยังโคชินจีน โดยปกติเมื่อกล่าวถึงการค้าทาส ค้าแรงงาน มักจะเป็นการถูกเกณฑ์มาโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แต่ที่น่าตกใจคือ การค้าทาสที่เกิดขึ้นในเวียดนามในช่วงนี้เป็นไปโดยสมัครใจ ถือว่าเป็นวิกฤตที่แสดงให้เห็นความย่ำแย่ของสังคมเวียดนามภายใต้การปกครองของอาณานิคมอย่างชัดเจน เพื่อหลีกหนีสภาวะที่อดอยาก เพื่อจะให้มีกินมากกว่าที่เป็นอยู่ ชาวบ้านเวียดนามจำนวนไม่น้อยที่ตกลงขายตัวเองเพื่อไปทำงานในไร่ขนาดใหญ่หรือเหมืองแร่ ในภาพยนตร์แสดงภาพที่ชัดเจนถึงกรรมวิธีการขายทาส ตั้งแต่การจัดประเภทโดยการชั่งน้ำหนักตัว การตรวจร่างกาย ซึ่งหากจะเปรียบเทียบก็คงไม่ต่างอะไรจากการชั่งน้ำหนักซื้อขายในตลาดค้าสัตว์ การปฏิบัติต่อชาวบ้านเหล่านี้เป็นไปตามความพอใจโดยเสรีของข้าราชการอาณานิคม
การขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ทำให้มีการเพิ่ม “การทำไร่ขนาดใหญ่ หรือ plantation” อย่างมากในอินโดจีนและเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของตลาดทาส ด้วยความต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการส่งออกในการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านและชาวนาที่ยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตังเกี๋ยยอมเสี่ยงโชคล่องเรือจากเหนือลงใต้เพื่อไปทำงานในสวนยางบ้าง ในเหมืองแร่บ้าง โชคดีสำหรับบางคนที่รอดชีวิตเข้าไปค้าแรงงานในไร่ต่าง ๆ ในโคชินจีน แต่ก็ใช่จะมีชีวิตที่ดีเพราะสวัสดิการของรัฐบาลอาณานิคมไม่ครอบคลุมถึงกุลีชาวเวียดนามเหล่านี้ ดังนั้นเวลาป่วยก็ต้องกู้เงิน ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลิ่ว และเงินค่าแรงที่ได้รับมานั้นไม่พอจ่าย ทำให้ป็นหนี้ทบต้นทบดอกกันพัลวัน จนทำให้หลายครอบครัวไม่อาจจะหลุดพ้นจากวงจรของการเป็นทาสเพราะเมื่อเงินไม่พอก็ต้องขายลูกหลานให้เป็นทาสต่อเนื่องเป็นวงจรไปเรื่อยๆ
ศิลปะการเมืองผ่านศิลปิน: การโน้มน้าวมวลชน กับขบวนการชาตินิยมเวียดนาม
เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในทศวรรษที่ 1930-1950 นั้นเป็นพัฒนาการที่เป็นขั้นเป็นตอนในการปลดแอกจากลัทธิล่าอาณานิคม ภาพยนตร์เลือกเอา “ขบวนการเอียนบ๋าย (Yen Bai movement)” เป็นชนวนก่อให้เกิดการรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมในปารีสของเหล่านักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามในฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดปะทุให้เกิดความเคลื่อนไหวของขบวนการสมานฉันท์แห่งเวียดนาม และการสร้างพลังมวลชนที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม การผนึกกำลังอย่างแข็งแกร่งของเหล่าผู้รักชาติล้วนเป็นกำลังสำคัญในการแสวงหาแนวทางในการปลดแอกจากอาณานิคม
แนวคิดเรื่อง “อิสรภาพ และความเท่าเทียมกัน” ถูกนำมาเผยแพร่โดยนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าชาวเวียดนามอย่างกว้างขวาง ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่นำมาปลูกฝังให้ชนพื้นเมืองเวียดนาม และเป็นอาวุธทางปัญญาชั้นเลิศในการปลุกระดมมวลชน ขนบเดิมอย่างเรื่องการปฏิบัติตามแนวคิดขงจื้อถูกลดความสำคัญลง อย่างที่เราเห็นจากที่แต็ง (Tanh) ชายที่ให้ความช่วยเหลือกามิลเลือกปฏิเสธที่จะไม่ทำตามธรรมเนียมของตระกูล โดยมองว่าการอยู่ในโอวาทได้สร้างความเป็นทาสให้แก่คน (Obedience has made slaves of us.) เขาจึงเลือกหนทางที่จะเข้าร่วมทำงานกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อปลดแอกให้แก่แผ่นดินเกิด เช่นเดียวกันกับกามิลที่เลือกเอาประโยชน์ของเพื่อนร่วมชาติ มากกว่าบุตรของตน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะสิ่งที่กามิลพบเห็นมามากมายทั้งการกดขี่ และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของรัฐบาลอาณานิคมที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ
การดำเนินงานใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามนั้นเป็นไปอย่างลับที่สุด การปลุกระดมมวลชนด้วยวิธีการต่าง ๆ ผ่านหนังสือพิมพ์ ใบปลิว และคณะละครพื้นบ้านของเวียดนาม ที่เรียกว่า “ต่วง (Tuồng)” (มีลักษณะคล้ายการแสดงอุปรากรจีน) เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะละคร ดังที่เห็นจากภาพยนตร์ที่หัวหน้าหน่วยย่อย และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จะแฝงตัวในคณะละคร เพื่อปฏิบัติการต่อต้านฝรั่งเศส และฆ่าเหล่าขุนนางเวียดนามที่รับใช้รัฐบาลอาณานิคม สำหรับศิลปินพื้นบ้านเวียดนามนั้นเป็นอาชีพอิสระ ได้รับเกียรติและการยกย่องในสังคม จึงถือเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิด และมีอิทธิพลทางความคิดกับชาวบ้านอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังถือเป็นสื่อกลางในการปลุกระดมการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม และระบอบศักดินาอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นจากการแสดงเรื่องราวตำนานรักของกามิล และฌอง-แบ๊บทิส จนทำให้กามิลเป็น “โยนออฟอาร์คของอินโดจีน” การปลุกระดมชาวบ้าน และปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ส่วนมากจะอยู่ที่หมู่บ้านเป็นสำคัญ เพราะหมู่บ้านของเวียดนามนั้นหน่วยทางสังคมที่เข้มแข็งมาก อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลอาณานิคมอินโดจีนระแวง และระมัดระวังต่อสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ใบปลิว และคณะละคร ทำให้มีคำสั่งกวาดล้าง และจับกุมเหล่าศิลปินพื้นบ้านทั้งหลายในตังเกี๋ย อานนาม รวมทั้งโคชินจีน ช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษนี้ได้กลายเป็นยุคมืดของศิลปินพื้นบ้านเวียดนามในที่สุด
ภาพยนตร์เรื่องนี้จบด้วยความสวยงามด้วยการที่ชาวเวียดนามได้สัมผัสกับความเป็นเอกราช ด้วยการปลดแอกจากการปกครองของรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส และระบบศักดินาเก่าของเวียดนาม ในปี ค.ศ.1954 พรรคคอมมิวนิสต์ และนักเคลื่อนไหวผู้รักชาติเวียดนามมีชัยชนะเหนือสมรภูมิเดียนเบียนฝู จนนำไปสู่การยินยอมลงนามในสนธิสัญญาเจนีวา ระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศส และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยมีเนื้อหาในการแบ่งเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ ที่เส้นขนานที่ 17 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1954 “อินโดจีน” ประดิษฐกรรมของลัทธิล่าอาณานิคมจึงมาถึงกาลอวสาน ด้วยคำพูดของกามิลว่า “อินโดจีนของคุณไม่มีอีกแล้ว มันได้ตายไปแล้ว (Your Indochina is no more. It’s dead.)”
เอกสารอ้างอิง
เชิดเกียรติ อัตถากร. ขบวนการคอมมิวนิสต์เวียดนาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.
อนันท์ธนา เมธานนท์. เวียดนามในทัศนะฝรั่งเศส: การสำรวจเชิงวิเคราะห์ผลงานวิชาการภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับเวียดนามระหว่าง ค.ศ. 1884-2000. กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มแม่น้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2547.
Vo Nguyên Giap. People’s War People’s Army. Hanoi: The Gioi Publishers, 2004.
Duiker, J.W. Ho Chi Minh. New York: Hyperion, 2000.
Irving, R.E.M. The first Indochina war: French and American policy 1945-1954. London: Croom Helm Ltd, 1975.
Robson, Kathryn and Yee, Jennifer (Editors). France and “Indochina”: Cultural Representations. Lanham, Md.: Lexington Books, 2005.
Le Kinh Lich (Editor). The 30-year war 1945-1975 (Volume I: 1945-1975). Hanoi: The Gioi Publisher, 2000.