Skip to main content

 

จิตรลดา กิจกมลธรรม (Film Kawan)

 

 

4.30 ภาพยนตร์แห่งความเหงาของคนเมือง

 

 

ภาพยนตร์เรื่อง 4:30 เป็นภาพยนตร์แนวอินดี้ของประเทศสิงคโปร์ โดยฝีมือการสร้างของผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง Royston Tan ที่เคยฝากผลงานดีๆเอาไว้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น 15 (2003) 881(2007) 12 Lotus(2008) และหนังสั้นอีกหลายสิบเรื่อง จุดเด่นของผลงานจากผู้กำกับท่านนี้อยู่ที่การสร้างภาพยนตร์ที่แฝงเนื้อหาเน้นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม จนบางครั้งภาพยนตร์ของเขาก็กลายเป็นชิ้นงานที่ต้องต่อสู้และท้าทายกับกองเซนเซอร์ของสิงคโปร์[1] เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่แม้ว่าตลอดทั้งเรื่องจะดำเนินเรื่องไปด้วยความ “เงียบ” และ “ง่าย” แต่ความเงียบและการเดินเรื่องแบบง่ายๆที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับแฝงแง่คิดให้ผู้ชมได้เห็นถึงประเด็นทางสังคมที่อยู่ใกล้ตัว

เนื้อเรื่องใน 4:30 ดำเนินเรื่องผ่านชีวิตของ จาง เสี่ยวหวู่ เด็กหนุ่มวัย 15 ปีที่อาศัยอยู่ในห้องของอาพาร์ทเมนท์เก่าๆแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเสมือนบ้านของเขา ชีวิตของเสี่ยวหวู่ในแต่ละวันอยู่แค่ในอาพาร์ทเมนท์และโรงเรียน เด็กหนุ่มใช้ชีวิตอยู่ในห้องพักที่ทั้งเก่าและแคบร่วมกับ จุง คุณน้าชาวเกาหลีวัย 30 ปีที่เข้ามาแบ่งห้องเช่า ส่วนแม่ของเสี่ยวหวู่ต้องเดินทางไปทำงานยังประเทศจีน เสี่ยวหวู่จึงต้องอาศัยอยู่ในห้องอาพาร์ทเมนท์กับคุณน้าชาวเกาหลีตามลำพังเพียงสองคน

เวลาตีสี่ครึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเวลาที่ “เสี่ยวหวู่” แอบย่องเข้ามาที่ห้องนอนของคุณน้าชาวเกาหลี เพื่อเฝ้ามองอากัปกิริยาต่างๆของหนุ่มเกาหลีคนนี้ทุกคืน เสี่ยวหวู่แอบเข้ามาค้นและสำรวจสมบัติของคุณน้าชาวเกาหลีทุกชิ้นที่อยู่ในห้อง พร้อมทั้งจดบันทึกเรื่องราวลงในสมุดไดอารี่ส่วนตัวของตนว่า วันนี้ตนพบเห็นอะไรและมีความทรงจำอะไรต่อหนุ่มชาวเกาหลีคนนี้บ้าง จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่ “ความเงียบ” ที่ค่อยๆดึงให้ผู้ชมเข้าถึงอารมณ์แห่ง “ความเหงา” ร่วมไปกับตัวละคร

Royston เลือกที่จะให้ตัวเลขเวลา 4:30 เป็นชื่อของภาพยนตร์ ก็เพราะเขาสนใจในข้อมูลที่ว่าในเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีสถิติการฆ่าตัวตายมากที่สุด และเขายังมองว่าช่วงเวลาตีสี่ครึ่งนี้เป็นช่วงเวลาที่ “ช้าเกินกว่าที่จะเป็นหลับ และเร็วเกินไปที่จะตื่น”[2] Royston จึงคิดที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดและแบ่งปันความเหงาของผู้คนที่ไม่อาจข่มตาหลับในช่วงเวลาดังกล่าวได้

เมื่อกล่าวถึงสถิติการฆ่าตัวตาย เราอาจเคยได้ยินกันมาว่าอัตราการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบรรดาประเทศถูกเรียกว่าเป็น “ประเทศที่เจริญแล้ว” เจริญทั้งในด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นประเทศแห่ง “สังคมเมือง” ที่มีความเป็นอยู่ที่แสนสะดวกสบายกว่าสังคมในประเทศที่ยังไม่พัฒนา เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่หลายคนอาจนึกภาพได้ว่าเป็นสังคมเมืองที่เจริญที่สุดในอุษาคเนย์  แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับสะท้อนให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของความเป็นจริงในสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความกดดัน

สถิติตัวเลขการฆ่าตัวตายของชาวสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 2006 ถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 43 จากจำนวน 109ประเทศทั่วโลก[3] ซึ่งหากคิดเฉลี่ยจากจำนวนประชากรของชาวสิงคโปร์แล้ว ต้องถือว่าเป็นอัตราที่สูงมากสำหรับชาติที่มีจำนวนประชากรเพียง 5 ล้านคน และด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนั้นก็อาจส่งผลให้ตัวเลขสถิติการทำอัตตวิบากกรรมของชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามมา เวลา 4:30 จึงเสมือนเป็นการตอกย้ำให้เราได้มองเห็นว่ายิ่งสังคมมีความเจริญเท่าไหร่ ความกดดันต่อการใช้ชีวิตก็ยิ่งสูง ความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับสังคมเมืองในแบบที่ใครหลายคนเคยหวังไว้นั้น อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง


ความเหงาของชาวสังคมเมืองที่ถูกมองข้าม

เนื้อเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นฉายแต่ภาพของเสี่ยวหวู่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในอาพาร์ทเมนท์ การดำเนินเรื่องระหว่างเสี่ยวหวู่และคุณน้าชาวเกาหลีในอาพาร์ทเม้นจึงมีแต่ความเงียบตลอดทั้งเรื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติและภาษาที่ไม่อาจสื่อสารกันให้เข้าใจกันได้ ทั้งๆที่ทั้งสองคนต่างก็เป็นผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหา และต่างก็ต้องการใครสักคนที่จะรับฟังและแบ่งปันความเหงา แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับการสื่อสารระหว่างคนสองคนที่มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน เพราะแม้แต่เสี่ยวหวู่ซึ่งเติบโตอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะพูดคุยกับใครได้

 

 

4.30 เพราะความเหงาและโดดเดี่ยว ทำให้เรามาเจอกัน

 

 

เวลา 4:30 ที่เสี่ยวหวู่แอบย่องเข้าไปในห้องของคุณน้าชาวเกาหลี จึงเป็นเสมือนเวลาที่เขารู้สึกว่าได้อยู่กับใครซักคน แม้ว่าในภายหลังนั้นเสี่ยวหวู่จะสามารถทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับคุณน้าชาวเกาลีคนนี้มากขึ้น แต่ไม่ทันไรคุณน้าคนนี้ก็ต้องย้ายออกจากห้องไป ทิ้งให้เสี่ยวหวู่ต้องกลับมาเหงาเพียงลำพังอีกครั้ง ท้ายที่สุดแล้วเวลา 4:30 ที่เคยเป็นเวลาแห่งความสุขสำหรับเสี่ยวหวู่นั้น กลับต้องกลายมาเป็นเวลาแห่งความเหงาที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่เขาเสียเอง เช่นเดียวกับอีกฉากหนึ่งของภาพยนตร์ที่กลุ่มผู้สูงอายุกำลังรำไทเก็กกันอยู่ในสวนสาธารณะ และเสี่ยวหวู่ต้องเดินทางไปโรงเรียนโดยผ่านสวนสาธารณะแห่งนี้ทุกวัน ทั้งๆที่ในกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์กันแต่ก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ แม้แต่เสี่ยวหวู่เองก็อดที่จะอิจฉาไม่ได้เมื่อเห็นคนกลุ่มนี้มีกิจกรรมร่วมกันทุกเช้า แต่ท้ายที่สุดแล้ววันหนึ่งกิจกรรมยามเช้าที่เสี่ยวหวู่เห็นทุกเช้าก็ต้องหายไป เพราะรัฐเข้ามาจัดการเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้นตามแผนงานที่วางไว้

ความเป็นจริงแล้วการที่เสี่ยวหวู่ที่เติบโตมาในอาพาร์ทเมนท์แห่งนั้นก็น่าจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนบ้านหรือเพื่อนที่โรงเรียนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่เพราะความเป็นสังคมเมืองในปัจจุบันที่ผู้คนมีวิถีชีวิตกันแบบต่างคนต่างอยู่ ทำให้เสี่ยวหวู่ต้องใช้ชีวิตตามลำพังและไม่เคยที่จะไปพูดคุยกับใคร เช่นเดียวกับภาพของสังคมเมืองในปัจจุบันที่นับวันก็ยิ่งทำให้คนรู้จักกันน้อยลง


กลิ่นอายของความเป็นเพศที่สาม หรือความอยากรู้ของวัยเด็กที่ไม่อาจถามใครได้

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ อาจรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านการจัดประเภทให้เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สาม หรือที่เรียกกันให้เข้าใจง่ายๆว่า “หนังเกย์” บรรดานักวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นตรงกันว่าความรู้สึกของเสี่ยวหวู่ที่มีต่อคุณน้าชาวเกาหลีนั้นเป็นอาการ “แอบรัก” ของชาวรักร่วมเพศ รวมทั้งผู้ชมหลายท่านก็มองว่าการกระทำของเสี่ยวหวู่ต่อคุณน้าชาวเกาหลีนั้น สะท้อนถึง “รสนิยมรักร่วมเพศ” ของเสี่ยวหวู่ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านฉากต่างๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ชัดเจนจนถึงขนาดที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นหนังแนวรักร่วมเพศอย่างเต็มรูปแบบ แม้แต่ตัวผู้กำกับเองก็ไม่ได้ต้องการที่จะสะท้อนประเด็นเรื่องเพศออกมามากจนเกินไป เพราะเขาต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดความเหงาระหว่างคนทั้งสองมากกว่า

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การกระทำของเสี่ยวหวู่ก็ไม่ต่างไปจาก “เด็ก” ที่ต้องการเรียนรู้และกำลังตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆที่เพิ่งได้พบเห็น เสี่ยวหวู่เป็นเด็กหนุ่มที่อยู่ในวัยรุ่นที่กำลังย่างเข้าสู่ชีวิตแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แต่เพราะการใช้ชีวิตตามลำพังของเด็กหนุ่มจึงทำให้ไม่เขาสามารถปรึกษากับใครได้ เช่นเดียวกับสังคมสิงคโปร์ (และสังคมเมืองอื่นๆ) ในปัจจุบันที่พ่อแม่ต่างก็ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทิ้งไว้เพียงเงินให้ลูก และปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตด้วยตัวเองโดยปราศจากคำปรึกษาหารือและการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิกในครอบครัว

 

สังคมเมืองที่ไม่เคยมีคำว่าเท่าเทียม

เมื่อพูดถึงสิงคโปร์ เรามักจะนึกภาพในมุมมองที่ว่าเป็นชาติที่เจริญแล้ว หรืออาจเคยเห็นภาพของสิงคโปร์ผ่านจอโทรทัศน์ที่เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง อาคารสูงระฟ้าที่ทันสมัย บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน แต่แท้จริงแล้วในอีกมุมหนึ่งของใจกลางนครสิงหะปุระแห่งนี้ กลับมีพื้นที่อีกหลายแห่งที่ยังคงแช่แข็งอดีตของสิงคโปร์ และถูกซ่อนอยู่ในซอกลืบของใจกลางมหานครอันทันสมัยแห่งนี้ พื้นที่ละแวกบ้านเสี่ยวหวู่ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในเขตเมืองที่เราไม่ค่อยเห็น หรือไม่เคยถูกนำเสนอผ่านสื่อที่เน้นแต่โปรโมทความเจริญอันยิ่งใหญ่ของสิงคโปร์

ชีวิตของเสี่ยวหวู่อาจถูกจัดว่าเป็นชีวิตของชนชั้นกลาง แต่ชนชั้นกลางในที่นี้คือ กลุ่มชนชั้นกลางใน “ระดับล่าง” ที่อยู่คู่ขนานกับชนชั้นกลางในอีกระดับที่มีฐานะดีกว่า และไม่อาจที่จะมาบรรจบหรือสามารถเทียบชั้นกันได้ แม่ของเสี่ยวหวู่เองต้องเดินทางไปทำงานยังพื้นที่ต่างถิ่น แม้ว่าครอบครัวของเสี่ยวหวู่จะเป็นชาวจีนซึ่งป็นชนกลุ่มใหญ่ของสิงคโปร์ แต่ในกลุ่มคนชาติพันธุ์เดียวกันเองก็ยังปรากฏปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นก็ยิ่งถูกเอาเปรียบในทางเศรษฐกิจมากกว่า หรืออาจต้องไปทำงานในระดับที่ชนกลุ่มใหญ่มองว่าเป็นงานชั้นสอง เช่นเดียวกับโลกแห่งความจริงของสิงคโปร์ที่ถูกผูกขาดโดยรัฐบาลพรรคเดียวมาตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศ เบื้องหน้าของพรรครัฐบาลได้รับการชื่นชมกับผลงานทางเศรษฐกิจของชาติที่สามารถสร้างการเติบโตนำหน้าเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาคอาเซียน แต่อีกด้านหนึ่งของรัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังต้องประสบกับปัญหาเงินเฟ้อ การอพยพแรงงานต่างชาติ[4] และช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่นับวันจะยิ่งกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกสั่งสมจนยากที่จะแก้ไข

 

การใช้ชีวิตแบบซ้ำซากที่ไม่ต่างกับระบบอุตสาหกรรม

ชีวิตของเสี่ยวหวู่และคุณน้าชาวเกาหลีที่ดำเนินผ่านไปในแต่ละวันนั้น ต่างเป็นการใช้ชีวิตในแบบเดิมๆทุกวัน และมีแต่ความซ้ำซาก ทุกๆวันเสี่ยวหวู่ใช่ชีวิตอยู่ในอาพาร์ทเมนท์ ตอนเช้าก็ตื่นนอน ไปโรงเรียน เลิกเรียนกลับห้อง และรอคอยให้ถึงเวลาตีสี่ครึ่ง ในทุกคืนเสี่ยวหวู่ต้องนั่งดูละครทางโทรทัศน์ที่ถูกนำมาออกอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเขาสามารถท่องบทของตัวละครในเรื่องได้ขึ้นใจครบทุกประโยค ส่วนคุณน้าก็อยู่ในอาพาร์ทเมนท์ ตื่นนอน สูบบุหรี่ ออกไปข้างนอก ดื่มเหล้า และเมากลับมาที่ห้องในเวลาดึกทุกคืน
การใช้ชีวิตของเสี่ยวหวู่และคุณน้าชาวเกาหลีที่ถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ ดูแล้วก็ไม่ต่างจากชีวิตของผู้คนในสังคมเมืองที่ใช้ชีวิตแบบเดิมๆทุกวัน ไม่ต่างกับเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำงานซ้ำๆ ชาวสังคมเมืองหลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างรีบร้อนเพื่อแข่งกับเวลาในแต่ละวันที่ถูกจำกัดมากขึ้น เวลาแต่ละวันของผู้คนหมดไปกับการทำงานเพื่อสนองระบบตลาด ชีวิตของผู้คนในเมืองที่ดำเนินไปอย่างซ้ำซาก ในแต่ละวันจึงไม่ต่างกับระบบการทำงานที่ถูกโปรแกรมวางเอาไว้ เพื่อให้มนุษย์มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด ซึ่งแม้ว่ามนุษย์จะเบื่อหน่ายกับชีวิตที่ซ้ำซากนี้แค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะหนีพ้นไปได้

 

ดำเนินชีวิตเพื่อ “ตนเอง” หรือเพื่อสนองตาม “รัฐ”

สิงคโปร์ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้มงวดในเรื่องกฎระเบียบ และมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงและจริงจัง จนบางครั้งรัฐบาลสิงคโปร์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการดำเนินคดีที่รุนแรงเกินความจำเป็น การใช้กฎหมายของสิงคโปร์จึงมักถูกตั้งคำถามจากภายนอกว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้คนใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกปลอดภัย หรือทำให้สังคมเต็มไปด้วยความกลัวจนผู้คนไม่อาจดำเนินชีวิตในแบบที่ตนเองพึงจะมีได้กันแน่

เช่นเดียวกับเสี่ยวหวู่ที่ต้องถูกคุณครูสาวทำโทษเพราะทำการบ้านมาผิดคำสั่ง แทนที่เสี่ยวหวู่จะเขียนเรียงความตามหัวข้อที่ครูสาวให้มา แต่เสี่ยวหวู่กลับเลือกที่จะเขียนเรียงความในเรื่องที่เขาอยากจะเขียน เขาจึงถูกอาจารย์ต่อว่าด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และทำโทษเขาโดยที่ไม่ซักถามหรือไม่ให้โอกาสเขาได้อธิบาย การกระทำของคุณครูสาวต่อเสี่ยวหวู่ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ ดูแล้วก็ไม่ต่างจากการกระทำของรัฐที่พยายามควบคุมให้คนอยู่ในกรอบคำสั่งที่รัฐกำหนด เช่นเดียวกับเสี่ยวหวู่ที่ต้องการระบายเรื่องราวและความต้องการของตนที่ไม่อาจบอกกับใครได้ เขาจึงใช้วิธีระบายความในใจของตนผ่านการเขียนเรียงความ แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อสิ่งที่เสี่ยวหวู่ต้องการไม่ใช่คำสั่งจากครูผู้มีอำนาจในห้องเรียน เสี่ยวหวู่ก็ต้องถูกทำโทษเพราะฝ่าฝืนคำสั่งที่ผู้มีอำนาจกำหนด

สุดท้ายแล้วภาพยนตร์เรื่อง 4:30 สำหรับบางคนอาจดูเป็นภาพยนตร์ที่ดูไร้อารมณ์และไร้ความบันเทิงสิ้นดี แต่ 4:30 สำหรับผู้ชมบางคนอาจเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองที่กำลังดำเนินชีวิตไม่ต่างกับเสี่ยวหวู่หรือคุณน้าชาวเกาหลีคนนั้น

 



เชิงอรรถ

[1] 4:30 ช้าเกินกว่าที่จะหลับ และเร็วเกินกว่าที่จะตื่น. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก :  http://filmsick.exteen.com/20070126/entry. (วันที่ค้นข้อมูล 16 เมษายน 2554)

[2] Film Synopsis. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก :  http://www.zhaowei.com/430/synopsis.html. (วันที่ค้นข้อมูล 16 เมษายน 2554)

[3] List of countries by suicide rate. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก : http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_suicide_rate. (วันที่ค้นข้อมูล 11 กรกฎาคม 2554)

[4] พรรครัฐบาลสิงคโปร์เผชิญหน้าความท้าทายครั้งใหม่ ขณะการเลือกตั้งทั่วไปเริ่มขึ้นแล้ววันนี้. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก :  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1304743795&grpid=&catid=06&subcatid=0600. (วันที่สืบค้นข้อมูล 11 กรกฎาคม 2554)

 

บล็อกของ Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)

Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 A Guerra Da Beatriz ในฐานะบันทึกบนแผ่นฟิล์มเรื่องแรกของ ติมอร์ ตะวันออก สงครามยังไม่สิ้นสุด
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
อิโล อิโล (Ilo-Ilo) :  สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ เกิด ตาย และการอยู่ร่วมกัน ในวันที่เราหลงลืมอะไรบางอย่าง 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
ภาพยนตร์เวียดนาม เมื่อรัฐออกแบบไม่ได้ Film  Kawan
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
มรกตวงศ์ ภูมิพลับFilm Kawan (ฟิล์ม กาวัน)  
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
 จิตรลดา กิจกมลธรรม (Film Kawan) 
Film Kawan (ฟิล์ม กาวัน)
  หากพวกเจ้าไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่บรรดา(สตรี)กำพร้าได้ ก็จงแต่งงานกับสตรีที่ดีแก่พวกเจ้า จะสองคน หรือสามคน หรือสี่คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ก็จงแต่งงาน