สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ (Film Kawan)
ภาพยนตร์เรื่อง Pasir Berbisik (2001) เป็นผลงานการกำกับของ Nan T. Achnas ผู้กำกับภาพยนตร์สตรี ผู้ปลุกกระแสการผลิตภาพยนตร์แนวอิสระให้ตื่นตัวอย่างกว้างขวางในอินโดนีเซีย1 เธอก้าวขึ้นมาจากการเป็นผู้กำกับอิสระที่สร้างภาพยนตร์นอกกระแสในช่วงปลายของยุคสมัยการปกครองภายใต้ระเบียบใหม่ (New Order) ของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งภาพยนตร์ในขณะนั้นได้เริ่มมีการตั้งคำถามกับระบอบการปกครองที่เบ็ดเสร็จ โดยการตั้งคำถามดังกล่าวเกิดขึ้นไปพร้อมกับกระแสการเรียกร้องทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในสังคมขณะนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวจากมุมของศิลปิน ที่เกิดในระนาบเดียวกันกับกลุ่มทางสังคมอื่นๆ ที่ต่างเรียกร้องประชาธิปไตย และการเมืองแบบเปิด
Berlian กับ Daya ความสัมพันธ์อันซับซ้อนใน Pasir Berbisik
ภาพยนตร์ที่อัดไปที่ใจกลางของสังคมแบบชายเป็นใหญ่ในอินโดนีเซีย
Pasir Berbisik เป็นผลงานชิ้นเอกของ Nan T. Achnas ที่สร้างสรรค์ขึ้นเมื่ออำนาจการปกครองของซูฮาร์โตสิ้นสุดลงใน ปี ค.ศ. 1998 ภาพยนตร์เรื่องนี้ของเธอเต็มไปด้วยความซับซ้อนและลึกซึ้ง ในประเด็นการวิพากษ์แนวสตรีนิยม ทั้งการเล่นกับประเด็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชวา รวมไปถึงการจัดวางให้เรื่องราวในภาพยนตร์ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยทศวรรษที่ 60 ซึ่งการปราบปรามคอมมิวนิสต์ดำเนินไปอย่างรุนแรง ภาพยนตร์เรื่องนี้แทรกประเด็นการวิพากษ์อย่างเข้มข้นในทุกอณูของเรื่อง โดยตัวภาพยนตร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากนักวิจารณ์ในระดับนานาชาติ โดยสามารถคว้ารางวัลสาขา Best New Director, Cinematography and Sound จากงาน Asia Pacific Film Festival 2001
ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอความสัมพันธ์อันซับซ้อน ระหว่าง Berlian ผู้เป็นแม่ (นำแสดงโดย Christine Hakim ราชินีภาพยนตร์อินโดนีเซีย) กับ Daya ลูกสาว (นำแสดงโดย Dian Sastrowardoyo นักแสดงหน้าใหม่ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาเธอกลายเป็นดาราสาวที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งยุค) ทั้งสองอาศัยอยู่ตามลำพัง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชวาตะวันออก ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1960 พ่อของ Daya เป็นพ่อค้ายาเร่ที่จากครอบครัวไปนมนาน นับตั้งแต่ Daya ยังเด็ก ซึ่ง Daya ตั้งตาคอยที่จะพบพ่อสักครั้ง Berlian จึงเลี้ยงดูลูกของเธอตามลำพังด้วยการขาย Jamu ซึ่งเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นหมอตำแยทำคลอดและทำแท้ง ขณะที่ชีวิตของสองแม่ลูกดำเนินไป ก็กลับต้องพลัดพรากจากแหล่งที่อยู่ สืบเนื่องจากความรุนแรงของการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia--PKI) ที่แผ่ขยายไปยังพื้นที่ห่างไกลในเขตชนบทของเกาะชวา และตามเกาะอื่นๆของอินโดนีเซีย โดยเมื่อย้ายไปยังที่อยู่ใหม่ แม่-ลูกก็พบกับพ่ออีกครั้ง
การจัดวางให้ฉากในเรื่องเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งของการเมืองนั้น มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ ผู้กำกับเลือกที่จะนำเสนอและสะท้อนชีวิตของผู้คนชายขอบที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในช่วงเวลานั้น มันเป็นชีวิตที่ไร้ซึ่งความแน่นอน การล้มหายตายจากและการที่ต้องย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ ของผู้คนในระดับล่าง กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตของพวกเขา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นมุมมองการนำเสนอที่เรามักจะไม่พบในภาพยนตร์ที่ผูกเรื่องไว้กับประวัติศาสตร์การเมืองสักเท่าใดนัก อย่างในกรณีของภาพยนตร์เรื่อง Pengkhianatan G30S/ PKI2 หรือ การทรยศของขบวนการ 30 กันยายน-พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ภาพยนตร์ชวนเชื่อโดยรัฐ ที่กำกับโดย Arifin C. Noer ในปี ค.ศ. 1984 สร้างให้คอมมิวนิสต์เป็นปีศาจต่อสู้กับทหารที่เป็นคนดี และพูดถึงความสามารถของรัฐในการปราบปรามสิ่งที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม แต่กลับพูดถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนในระดับล่างน้อยมาก ซึ่งในแง่นี้ เราจะพบว่าผู้กำกับส่วนใหญ่ที่จับประเด็นประวัติศาสตร์ เพื่อถ่ายทอดในภาพยนตร์ มักจะเป็นผู้ชายและพวกเขาก็เลือกที่จะถ่ายทอดมุมมองทางประวัติศาสตร์แบบเพศชาย ที่รายละเอียดมักจะเป็นเรื่องความสำคัญของคนในระดับบน ดังนั้น Pasir Berbisik จึงมีลักษณะเด่นมากเป็นพิเศษ กล่าวคือ ไม่ใช่แค่นำเสนอชีวิตของผู้คนระดับล่างในฉากประวัติศาสตร์การเมืองระดับชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องราวชีวิตของเพศหญิงอีกด้วย ที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่แบกรับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองโดยตรง เพราะพวกเธอคือคนที่อยู่เบื้องหลัง หากผู้ชายในครอบครัวต้องล้มหายตายจากเพราะความรุนแรง
ความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่าง Berlian กับ Daya เผยให้เห็นจากลักษณะของตัวละครอย่างชัดเจน Berlian รักลูกสาว แต่ขณะเดียวกันก็เข้มงวดและเล่นบทแม่ที่ดุ คอยควบคุมและห้าม Daya ที่อยากรู้อยากเห็นในเรื่องต่างๆ โดยเธอเลือกที่จะเป็นผู้ปกป้องคุมครองลูกสาวให้ห่างจากการเลี้ยงดูของพ่อ ที่เป็นเสมือนตัวแทนของสังคมชายเป็นใหญ่ที่กดทับเพศหญิง ในแง่นี้หากพิจารณาจากลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวชวา จะพบว่าผู้หญิงนั้นเป็นศูนย์กลางของครอบครัว อย่างไรก็ดีตัวของ Berlian ก็หาใช่แบบอย่างตามมาตรฐานของผู้หญิงชวาที่ดี เพราะเธอเลี้ยงลูกด้วยการรับจ้างทำแท้ง
Berlian เองมีลักษณะของแม่ที่เข้มงวดแบบสุดโต่ง เธอเรียก Daya ว่า Anak ที่แปลว่า ลูก ไม่เรียกชื่อของลูก ซึ่งมีความหมายว่า พลังอำนาจ ซึ่งสะท้อนภาวะของการควบคุมในความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก Berlian เลือกที่จะกันไม่ให้ Daya เข้าใกล้สิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย ซึ่งในที่นี้ก็คือเรื่องเพศ เช่น เธอมักจะห้ามไม่ให้ Daya ดูเธอขณะกำลังทำคลอด และไปเล่นใกล้กับหลุมฝังศพของเด็กที่ตายเพราะการทำแท้ง เธอพยายามที่จะไม่ให้ Daya เข้าใกล้งานของ Delima ผู้เป็นน้า ที่มีอาชีพเต้นรำ Tayub กับผู้ชาย ซึ่งการเต้นรำประเภทนี้เป็นวัฒนธรรมของชาวชวา การเต้นถูกออกแบบให้มีการสัมผัสทางร่างกายค่อนข้างมาก ภายหลังจากเต้นเสร็จแล้ว ผู้ชายจะเอาเงินใส่เข้าไปชุดชั้นในของนางรำ คนส่วนหนึ่งมองว่าการเต้นรำประเภทนี้ ผูกติดอยู่กับโลกของผู้หญิงให้บริการทางเพศค่อนข้างมาก 3 ในแง่นี้ อาจจะกล่าวได้ว่าผู้กำกับต้องการจะวิพากษ์พื้นฐานทางวัฒนธรรมดั้งเดิมบางอย่าง ที่เอาเข้าจริงแล้ว เป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ฐานะและบทบาทของผู้หญิงถูกกดทับ และถูกอธิบายไว้คู่กับสิ่งชั่วร้าย เพราะฉากหลังจากนั้น ก็ปรากฏว่า Berlian เผาชุดเต้นรำที่ Daya ได้จากน้าสาว ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ลูกของเธอฝักใฝ่ในกิจกรรมสำราญที่บำเรอให้กับชาย
ลักษณะการเป็นผู้ควบคุมและกำหนดความเป็นไปของผู้อื่น ดังปรากฏในตัวของ Berlian เป็นรูปแบบของการนำเสนอตัวละครผู้หญิงที่ต่างไปจากรูปแบบของตัวละครหญิงในภาพยนตร์ในยุคระเบียบใหม่ ที่มักจะเป็นไปในลักษณะของการเป็นผู้สนับสนุนและอ่อนน้อมดังที่กล่าวไปข้างต้น
การกลับมาของตัวสามี หลังจากสองแม่ลูกย้ายไปตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ สร้างความรำคาญใจให้กับBerlian เพราะเขาเข้ามาแทนที่บทบาทเดิมของเธอ และดูเหมือนเขาค่อยๆพราก Dayaไปจากเธอทีละนิดๆ จนในที่สุดเขาก็หลอกล่อ Daya ไปขายให้กับพ่อค้าคนหนึ่ง ซึ่งนี่ถือเป็นจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง เมื่อพ่อค้าเกลี้ยกล่อมให้ Daya สัมผัสร่างกายของเธอเอง เรื่อยไปจนถึงหน้าอกและใต้กระโปรงของเธอ และพ่อค้าก็ดื่มด่ำและสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองต่อหน้า Daya โดยมีพ่อรออยู่ด้านนอก สาวน้อยตกอยู่ในเงามืดของอำนาจผู้ชาย ไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรอง คนหนึ่งเป็นพ่อของเธอเอง อีกคนเป็นพ่อค้าผู้ซื้อเธอมาจากพ่อ อายุของเขาสามารถเป็นพ่อของเธอได้เลย ฉากความรุนแรงทางเพศนี้ เผยให้เห็นถึงภาวะที่ผู้หญิงถูกทำให้เป็นเหยื่อ ซึ่งผู้กระทำนั้นก็เป็นคนใกล้ตัว เป็นคนที่เหยื่อไว้เนื้อเชื่อใจ ในแง่นี้สะท้อนภาพความเป็นจริงของการละเมิดทางเพศโดยรวม ที่จำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างบุคคลใกล้ชิด แม้ Daya จะมิได้ถูกฝ่ายตรงข้ามกระทำบนร่างกาย (ซึ่งนั่นน่าจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ เพราะการละเมิดทางเพศ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นผ่านการสัมผัสของร่างกายของสองฝ่าย) แต่ก็ทำให้เธอบอบช้ำทางจิตใจอย่างแสนสาหัส Berlian สังเกตเห็นความผิดปกติ และเธอก็ตัดสินใจที่จะลงโทษสามีด้วยการวางยา ปลิดชีพผู้ชายที่ย่ำยีลูกสาวของตัวเอง ในตอนท้าย Berlian ตัดสินใจที่จะปล่อย Daya เป็นอิสระ โดยขอให้เธอละทิ้งหมู่บ้านแห่งนี้ไปเสีย และเธอก็เรียกลูกสาวด้วยชื่อเป็นครั้งแรก ในด้านหนึ่ง การจากลาของแม่-ลูก เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่ Daya จะเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยทิ้งความเลวร้ายที่เธอได้ประสบเอาไว้เบื้องหลัง ซึ่งโครงเรื่องลักษณะนี้ เราแทบจะหาไม่ได้จากภาพยนตร์ยุคก่อนหน้าเลย
จะเห็นได้ว่าคำอธิบายหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ จัดวางให้ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในใจกลางของเรื่องอย่างชัดเจน เป็นศูนย์กลางแห่งการวิพากษ์สิ่งแปลกปลอมและความชั่วร้ายที่อยู่รอบๆ ตั้งแต่เรื่องการเมืองจนไปถึงเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งจะมีเพศชายเป็นเป้าสำคัญของการโจมตี อย่างไรก็ดี การใช้สัญลักษณ์ที่มีอยู่อย่างเกลื่อนกลาดในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพิ่มความซับซ้อนในการทำความเข้าใจในบริบทของเรื่องเป็นอย่างมาก เช่น กรณีการเสียชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านที่ถูกคลื่นทะเลซัดมา และนำไปสู่การย้ายถิ่นของผู้คนในหมู่บ้านนั้น ดูเผินๆอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของโรคระบาด แต่เอาเข้าจริง นี่อาจจะเป็นการใช้สัญลักษณ์แทนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์การปราบปรามผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็น และให้การสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียในช่วงเวลานั้น4 ที่ผลของมันสร้างความเดือดร้อนและความหวาดกลัวให้กับประชาชนคนธรรมดาอย่างมาก จนพวกเขาไม่ต้องการที่จะทิ้งอะไรไว้ในยามที่ต้องย้ายถิ่นไปยังที่อื่น ซึ่งหากเราคุ้นเคยกับประเด็นคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียนั้น ก็จะพบว่าการเล่นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ในที่สาธารณะนั้นไม่ง่ายนัก มันยังคงเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล เป็นความจริงอันไม่น่าอภิรมย์ ที่สังคมเลี่ยงที่จะพูด แม้ว่าพื้นที่แห่งสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นจะเปิดกว้างก็ตาม แต่การจงใจไปแตะเรื่องที่ยังไม่ชำระ และละเอียดอ่อน อาจจะทำให้ศิลปะในการใช้สัญลักษณ์ถูกนำมาใช้อย่างมากมายในงานชิ้นนี้
โดยรวมนั้น Pasir Berbisik ถือเป็นหลักหมายสำคัญของการวิพากษ์แนวสตรีนิยมแบบเข้มข้น ในภาพยนตร์อินโดนีเซียหลังยุคระเบียบใหม่ จะพบว่าการก่อร่างสร้างตัวในการวิพากษ์ จะเพิ่มความหนักแน่นและหลากหลายไปยังแง่มุมอื่นๆในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากภาพยนตร์ออกฉาย หลายคนมองว่าความหนักของภาพยนตร์เรื่องนี้ เอาเข้าจริงแล้วก็สะท้อนความเร่าร้อนที่จะลิ้มรสเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนในยุคหลังระเบียบใหม่นั่นเอง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
1 Independent Eyes on Film Jakarta Globe Lisa Siregar | August 19, 2010 http://www.thejakartaglobe.com/entertainment/independent-eyes-on-film/391819
2 ในช่วงที่ซูฮาร์โตยังเรืองอำนาจ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกฉายในทุกค่ำคืนของวันที่ 30 กันยายนของทุกปี ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐ TVRI (Televisi Republik Indonesia) และนักเรียนทุกคนก็จะถูกบังคับให้ต้องไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้
3 Singgir Kartana, "'Tayub' dance moves with the times," URL: http://www.thejakartapost.com/news/2003/01/24/tayub039-dance-moves-times.html
4 การกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียและผู้ต้องสงสัยที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1965-1966 นั้น มีการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตไว้แตกต่างกันมาก ตามคำอธิบายของแต่ละฝ่ายนั้น มีตั้งแต่ 200,000 -1,000,000 คน
*เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.thaiworld.org/th/include/answer_search.php?question_id=1055