ภาพยนตร์เวียดนาม เมื่อรัฐออกแบบไม่ได้

ภาพยนตร์เวียดนาม เมื่อรัฐออกแบบไม่ได้

 

Film  Kawan

           หากแฟนๆภาพยนตร์ที่ติดตามภาพยนตร์เวียดนาม (ที่ผลิตในประเทศ) ยังคงมีภาพจำว่า ภาพยนตร์ประเทศนี้มักจะวนเวียนกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสงคราม อีกทั้งโดยมากยังเป็นไปในลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ อาจจะต้องทำความเข้าใจใหม่กับความเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์เวียดนามในรอบสิบปีที่ผ่านนี้ เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์เวียดนามมีความหลากหลายขึ้นผิดหูผิดตา นั่นเป็นเพราะปัจจุบันมันมีภาพยนตร์ที่ทำโดยเอกชนมากขึ้น และมีแนวทางของประเด็นและเนื้อหาที่ “รัฐออกแบบไม่ได้”

        ปลายปี ค.ศ. 2009 ภาพยนตร์เรื่อง “เจย เวย” (Chơi Vơi) หรือ “ความเปลี่ยว (เหงา)” ภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่าง Feature Film Studio n°1 ของเวียดนามกับ Acrobates Films ของฝรั่งเศส โดยผู้กำกับฝีมือดี "บุ่ย ถาก เจวียน" (Bùi Thạc Chuyên) ได้สร้างความน่าสนใจและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่นกับประเด็นเรื่องเพศและความเดียวดายของคนรุ่นใหม่ในสังคมเวียดนามที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์  "บุ่ย ถาก เจวียน" ผู้นี้เกิดและเติบโตที่ฮานอย และมีบิดาเป็นอดีตทหารที่เคยรบให้กับกองทัพปลดแอกในยุคสงครามเย็น ซึ่งต่อมาประกอบอาชีพเป็นนักข่าวสายบันเทิงให้กับสื่อของรัฐ "บุ่ย ถาก เจวียน" หนุ่มใหญ่วัย 44 ปีจึงซึมซับความคิดหลายอย่างจากผู้เป็นพ่อ และตัวเขาเองก็ผ่านประสบการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมเวียดนามมาตั้งแต่วัยเด็กเมื่อครั้งสงครามเข้าสู่จุดที่การรบเข้มข้น จนมาถึงจุดสิ้นสุดในปี 1975 ความยากลำบากในยุคสงคราม เรื่อยมาจนถึงยุคฟื้นฟูหลังการประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ในปี 1986 และยุคปัจจุบันที่เวียดนามกลับเข้ามาสู่กระแสหลักของการพัฒนาของโลกอีกครั้ง ด้วยมุมมองดังกล่าว งานของ "บุ่ย ถาก เจวียน" จึงมีความน่าสนใจในการเฝ้าติดตามไม่น้อย

          “เจย เวย” นำเสนอเนื้อหาที่ค่อนข้างจะท้าทายกับขนบดั้งเดิมของสังคมเวียดนามที่ค่านิยมของลัทธิขงจื๊อนั้นฝังรากลึก เมื่อคุณค่าความสัมพันธ์ของครอบครัวแบบเดิมเริ่มถูกแทนที่โดยปัจเจกชนนิยม และความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชายไม่สามารถเป็นพื้นฐานของการสร้างครอบครัวในแบบเดิมได้อีกต่อไป ทำให้การได้อยู่เคียงข้างและไขว่คว้าซึ่งปรารถนาในความรักจากเพศเดียวกันอาจจะเป็นหนทางสู่การสร้างความสุขได้มากกว่า

          “เซวียน” (Duyên) ตัวเอกของเรื่องเป็นไกด์สาวสวยตัดสินใจแต่งงานอยู่กินกับสามีนามว่า “ไฮ” (Hải) แท็กซี่หนุ่มที่อ่อนวัยกว่าเธอ 2 ปี แต่แล้วความสุขที่คู่ครองพึงจะมีให้ซึ่งกันและกันหลังจากการแต่งงานก็มิได้บังเกิด ทุกอย่างกลับกลายเป็นความรู้สึกในทางตรงข้าม  “ความเปลี่ยว (เหงา)” เริ่มทำให้ “เซวียน” ไขว่คว้าและเปลี่ยนแปลงตนเองจากคนใสซื่อธรรมดากลายเป็นผู้หญิงผู้ตื่นรู้ตามความทันสมัยที่แปรเปลี่ยนไปของฮานอย โดยมี”เกิ่ม” (Cầm) เพื่อนหญิงนักเขียนผู้เจนโลกของเธอเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ดูเหมือนว่า “เซวียน” จะเริ่มตระหนักว่า “เกิ่ม” ได้ช่วยเยียวยา “ความเปลี่ยว (เหงา)” ของเธอได้ ทุกอย่างดูจะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะ “เกิ่ม” เองก็ไม่อาจจะหาความสุขได้จากความสัมพันธ์กับชายหนุ่มนามว่า “โถ” (Thổ) ไกด์หนุ่มรูปงามผู้เสพติดเซ็กส์ และเธอเองก็เริ่มรู้สึกมีปฏิกิริยาเคมีกับ “เซวียน” มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ “เกิ่ม” ได้ทำให้ “เซวียน” กับ “โถ” ได้เจอกัน ซึ่งเขาเองก็กลายเป็นอีกคนที่เข้ามาบำบัด “ความเปลี่ยว (เหงา)” ของ “เซวียน” ในนามของความคลั่งไคล้ตามแบบฉบับของสังคมชายเป็นใหญ่ ตัวละครทั้งหมดไม่อาจจะรั้ง“ความเปลี่ยว (เหงา)” และความปรารถนาเบื้องลึกให้หยุดนิ่งได้ และต่างต้องเผชิญหน้ากับมาตรฐานทางศีลธรรมแบบประเพณีนิยม และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่จะเกี่ยวพันกับความรู้สึกของทุกตัวละคร

          “เจย เวย” สามารถสะท้อนความรู้สึกของมนุษย์ที่พัวพันอยู่ในความซับซ้อนของแรงปรารถนาและต้องฝ่าฟันกับกำแพงทางศีลธรรมที่สังคมเป็นผู้กำหนดได้อย่างลึกซึ้ง ที่พรมแดนแห่งความดีและชั่วไม่มีอยู่ในความปรารถนาเช่นนี้ แม้ว่าเรื่องของรักร่วมเพศในสังคมเวียดนามยังถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามตามแบบแผนหลักของสังคม แต่การปรากฏตัวของเจย เวยได้แสดงให้เห็นว่าค่านิยมเรื่องเพศในสังคมเวียดนามเริ่มเปลี่ยนแปลงไป แบบแผนหลักบางประการของสังคมที่หญิงต้องคู่กับชาย ไม่สามารถจะเป็นคำตอบสุดท้ายพียงคำตอบเดียวให้กับความสุขของมนุษย์ได้

           ความน่าสนใจของการปรากฏตัวของ “เจย เวย” ที่มากไปกว่าเนื้อหาที่ล่อแหลมและท้าทายกับค่านิยมขงจื๊อในสังคมเวียดนาม ก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล ซึ่งหากอยู่ในยุคสมัยที่เวียดนามเพิ่งจะปฏิวัติสำเร็จ รวมชาติและสถาปนาระบอบสังคมนิยมไปทั่วดินแดนทั้งเหนือและใต้ เนื้อหาการนำเสนอในลักษณะนี้คงจะไม่มีทางที่รัฐจะให้การสนับสนุนและไม่สามารถผลิตออกมาได้เป็นแน่ การสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเช่นนี้จึงไม่น่าจะสะท้อนเพียงแค่การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยภาครัฐเพียงเท่านั้น แต่มันอาจจะเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกให้รู้ว่า รัฐบาลเองก็ตระหนักถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคมเวียดนามอยู่ ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการที่เวียดนามได้กลับเข้าไปผูกติดกับกระแสของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ และบางทีรัฐบาลอาจจะกำลังเรียนรู้ว่า "รัฐไม่อาจจะออกแบบชีวิตของคนในสังคมไปได้เสียทุกเรื่อง"

          “เจย เวย” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีหลังจากตระเวนฉายไปตามงานเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆทั่วโลก ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิสครั้งที่ 66 "บุ่ย ถาก เจวียน" นี้ได้รับรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และตัวภาพยนตร์เองได้รับการจัดฉายในหมวดของ "ภาพยนตร์เทรนด์ใหม่ของโลกภาพยนตร์" นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาพยนตร์เวียดนามที่เรียกว่าเป็น “homemade” เพราะกำกับโดยผู้กำกับชาวเวียดนามในประเทศ เพราะที่ผ่านมาโลกภาพยนตร์จะรู้จักภาพยนตร์เวียดนามผ่านผลงานของบรรดา “เวียดเกี่ยว” หรือ “เวียดนามโพ้นทะเล” ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ นอกจากนั้นการออกฉายของ “เจย เวย” ยังกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าตลาดภาพยนตร์ภายในของเวียดนามนั้นโตขึ้นอย่างมาก ทั้งในแง่ปริมาณและแนวทางของภาพยนตร์ ที่ทุกวันนี้ความหลากหลายของเนื้อหามีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจากสภาพทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปของเวียดนาม ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในรอบสิบปีที่ผ่านมา การลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของภาคเอกชน โรงภาพยนตร์ใหม่ๆเริ่มผุดขึ้นตามเมืองใหญ่ ผู้ชมตามโรงภาพยนตร์ต่างก็มีเพิ่มมากขึ้น และพวกเขาก็อยากที่จะเข้าไปชมภาพยนตร์ของคนเวียดนามในโรงภาพยนตร์ อีกทั้งบาดแผลแห่งความขัดแย้งระหว่างคนเหนือกับคนใต้ในอดีตก็เริ่มเบาบางลง ทำให้ชาวเวียดเกี่ยว (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามใต้) ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมามีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บุคลากรที่เป็นเวียดเกี่ยวที่มีความสามารถในงานด้านภาพยนตร์ก็เข้ามาช่วยให้วงการภาพยนตร์เวียดนามนั้นมีสีสันมากขึ้น พวกเขาทุกคนต่างใฝ่ฝันถึงการที่จะทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในโลกของภาพยนตร์เทียบเท่ากับชาติอื่นๆในเอเชีย และเอาเข้าจริงแล้วในอดีตเวียดนามนั้นถือได้ว่ามีชื่อเสียงไม่น้อยในโลกภาพยนตร์ โดยเวียดนามเหนือขึ้นชื่อในเรื่องของการทำภาพยนตร์สงคราม โด่งดังในวงการภาพยนตร์ของฝ่ายสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันออก ขณะที่เวียดนามใต้ก็จะปรากฏความคึกคักของวงการภาพยนตร์ตามแนวทางของฝ่ายที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกค่ายเสรีนิยม

            แม้ว่าขณะนี้สัดส่วนของภาพยนตร์เวียดนามในโรงภาพยนตร์ยังมีอยู่น้อยแต่ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะผู้ชมเองก็คาดหวังที่จะได้ชมภาพยนตร์เวียดนามที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ความสำเร็จของ “เจย เวย” จึงมีความหมายที่มากไปกว่าความสำเร็จเฉพาะตัวภาพยนตร์ แต่มันคือความสำเร็จในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับวงการภาพยนตร์เวียดนามโดยรวมที่มาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ และความกล้าที่จะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคม (แม้จะยังไม่สามารถจะสร้างหนังวิพากษ์การเมืองได้ก็ตาม) อย่างตรงไปตรงมา

            ภายหลังจากความสำเร็จของ “เจย เวย” ก็มีภาพยนตร์คุณภาพดีที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมเวียดนามผ่านมุมมองเรื่องเพศออกมาหลายเรื่อง เช่น Hot Boy Nổi Loạn ในปี 2011 ภาพยนตร์แนวดราม่าที่นำเสนอชีวิตของคนชายขอบในเมืองใหญ่อย่างนครไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ ซิตี้) เป็นความรักสองแบบของรักสามเส้าระหว่างชายสามคน และความรักของชายไม่สมประกอบกับผู้หญิงให้บริการ ความรักระหว่างชายผ่านความเปลี่ยนแปลงของเมืองใหญ่อย่างไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ ซิตี้) และ Bi, Don’t Be Afraid ในปี 2010 ภาพยนตร์ดราม่า ที่ตีแผ่แรงปรารถนาทางเพศของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่นผ่านฉากอีโรติกอันเร่าร้อน เฉียบเนียนและลึกซึ้ง โดยมีความคล้ายคลึงบางประการกับ “เจย เวย”

             อาจกล่าวได้ว่าการกลับมาเกิดใหม่เป็น “New age” ของภาพยนตร์เวียดนามได้เริ่มขึ้นแล้ว และทำให้แฟนๆภาพยนตร์ได้ตระหนักว่า ภาพยนตร์เวียดนามไม่ได้มีดีแค่ภาพยนตร์สงคราม โฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ และผลงานของบรรดาเวียดเกี่ยวเท่านั้น ที่สำคัญภาพยนตร์ที่เป็น“New age” เหล่านี้กำลังสะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางประการของสังคมเวียดนาม ที่หลายอย่างกำลังบอกเราว่า “รัฐออกแบบไม่ได้” อีกแล้ว

 

`````````````````

หมายเหตุ แก้ไขจากต้นฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารไบโอสโคป ฉบับเดือนมกราคม 2556