Long Road To Heaven : เมื่อสวรรค์ไม่มีทางลัดให้ไปถึง
รุจิเลข เจริญชัยไพบูลย์
สมาชิกฟิล์มกาวัน
ในวาระครบรอบ10ปี เหตุระเบิดที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย film kawan ขอร่วมรำลึกความสูญเสียในครั้งนั้นด้วยบทความ Long Road to Heaven : เมื่อสวรรค์ไม่มีทางลัดให้ไปถึง
Long Road to Heaven ภาพยนตร์อินโดนีเซีย ที่สร้างจากเหตุการณ์จริง กรณีเหตุระเบิดสถานบันเทิงบนเกาะบาหลีเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2002 อันเป็นช่วงเวลา 1 ปี 1 เดือน1 วัน หลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/1 1 ที่ตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มก่อการร้าย “เจมาอะห์ อิสลามิยะห์” หรือ “เจไอ” (Jemaah Islamiyah-JI) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 คน เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน อินโดนีเซีย 38คน ชาวอังกฤษ 24 คนชาวอเมริกัน 7 คน และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ อีก 47 คน นับเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย
เนื้อเรื่องฉายภาพเหตุการณ์ 3 ช่วงสลับกันไปมา ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ คือ ช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ก่อการประชุมกันเพื่อเลือกหาสถานที่ที่จะทำการ ช่วงเวลาในวันเกิดเหตุที่หญิงสาวชาวอเมริกันผู้เสียคู่รักในเหตุการณ์ 9/11 หลบมาพักใจบนเกาะบาหลี และช่วงเวลา 7 เดือนหลังเกิดเหตุระเบิด ดำเนินเรื่องผ่านเรื่องราวของนักข่าวสาวชาวออสเตรเลีย ผู้มาติดตามข่าวคราวความคืบหน้าของคดี พร้อมด้วยคนขับแท็กซี่ชาวบาหลี ผู้สูญเสียพี่ชายจากการระเบิดผู้สร้างภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่า แรงจูงใจในการก่อการระเบิดครั้งนี้ ล้วนมาจาก “ความศรัทธา ในพระเจ้า” และความเชื่อที่ว่า “เป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ (Holy War) เพื่อการเข้าถึงพระเจ้าในสวรรค์” ชื่อหนัง Long Road to Heaven ก็เป็นการกล่าวแย้งกับความเชื่อของตัวละครตัวหนึ่งที่เชื่อว่า การพลีชีพเพื่อสงครามศักดิ์สิทธิ์ (Holy War) นี้ จะเป็นทางลัดไปสู่สวรรค์ และในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ก็กล่าวถึงความเชื่อ ความศรัทธา ในหลายรูปแบบ ผ่านตัวละคร ที่เป็นชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวพุทธ -ฮินดู หรือแม้แต่ฮันน่านักข่าวสาวชาวออสเตรเลียที่กล่าวว่า “I believe in myself …. ฉันเชื่อในตัวฉันเอง” โดยแนวคิดรวมๆ ของภาพยนตร์แล้ว ต้องการสื่อถึงความเชื่อและความศรัทธาที่นำไปสู่การก่อการร้าย
อคติที่แอบแฝงกับความขัดแย้งแห่งโลกาภิวัฒน์
ในโลกความเป็นจริงยุคโลกาภิวัฒน์อันสับสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยความขัดแย้งดังที่ Levi Strauss, 1976 ได้เสนอว่า “มนุษยชาติขัดแย้งในตัวเองอยู่กับสองกระบวนการที่ขัดแย้งกันตลอดเวลา กระบวนการแรกคือ แนวโน้มที่เสริมสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ อีกกระบวนการหนึ่งคือความมุ่งมั่นที่จะดำรงหรือรื้อฟื้นความหลากหลายของมนุษย์” 1 ความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ล้วนมีความหลากหลาย แต่โลกในยุคระเบียบใหม่นั้นได้พยายามทำให้ความหลากหลายทั้งหลายนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน มีอุดมการณ์เดียวกันคือ การเป็น “โลกที่เสรี ” ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบกับกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่ร้อยรัดเชื่อมโยงและส่งผ่าน รวมไปถึงการครอบงำอุดมการณ์บางอย่างไว้จากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสู่ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า ทั้งที่รู้เท่าทันและไม่เท่าทัน ทั้งโดยความสมัครใจและการบีบบังคับ หากโลกาภิวัฒน์ คือการผสมผสานกลมกลืนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี ข่าวสารความรู้ ให้แก่กันและกันแล้ว ในทางกลับกันก็ย่อมมีการต่อต้าน จนนำไปสู่การปะทะกันระหว่างอารยธรรมที่ไม่ยอมรับการส่งผ่านที่มีความแตกต่างเหล่านั้น ท่ามกลางภาวะโลกปัจจุบันที่เต็มด้วยอคติและความแคลงใจระหว่างศาสนา เชื้อชาติ Holy War ใน Long Road to Heaven จึงมิได้เป็นเพียงสงครามศักดิ์สิทธ์ที่มีเป้าหมายคือสรวงสวรรค์ แต่เป็นสงครามศักดิ์สิทธ์ที่เป็นไปเพื่อธำรงรักษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และตัวตน
ภาพของมุสลิมในภาพยนตร์เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอคติและความแคลงใจระหว่างศาสนา ชาวมุสลิมมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายหรือพวกหัวรุนแรง นับตั้งแต่เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 มุสลิมทั่วโลกก็ถูกมองว่าเป็นผู้นิยมความรุนแรง ผ่านภาพลักษณ์ทางศาสนา และโลกของข้อมูลข่าวสารเองก็รวดเร็ว จนบางครั้งทำให้เราลืมตั้งคำถามว่า ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นมาจากที่ใด เป็นจริงแค่ไหน หลังเหตุการณ์ 9/11 เราได้รับข้อมูลข่าวสารจากตะวันตกมากมาย ภาพเครื่องบินพุ่งชนตึกไฟลุกท่วมจนพังทลายลงมา ภาพเหล่านี้ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมไปถึงภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 เช่น United 93 และ World Trade Center เป็นต้นในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ ขณะที่อิมรอนผู้ก่อการระเบิดกำลังลังเลใจกับการระเบิด ที่จะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนบาหลีด้วยกันเอง เขาได้ตั้งคำถามที่น่าคิดไว้ว่า “พระเจ้าจะจ้องมองเราเหมือนอย่างที่เราจ้องมองพวกเขาไหม ” และ “พวกเขาสมควรที่จะตายหรือ? ” อัมโรซีผู้ร่วมก่อการจึงตอบโต้ด้วยความคับแค้นใจว่า “ลองนึกถึงลูกหลาน พี่น้องชาวอัฟกานิสถานที่ต้องสูญเสียบ้างสิ …”บทสนทนาในตอนนี้ได้ทำให้เรานึกย้อนไปว่า ในความเป็นจริง เราได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้บ้างหรือไม่ ชาวมุสลิมถูกตัดสินไปแล้วว่า เป็นพวกก่อการร้ายที่ถูกล้างสมอง เป็นมุสลิม “หัวรุนแรง” ขณะที่สหรัฐอเมริกาและเหล่าประเทศพันธมิตร กลับมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อการ “ธำรงรักษาสันติภาพในโลก”
สันติภาพในม่านหมอกความรุนแรง
บาหลี นอกจากจะเป็นสวรรค์สำหรับใครหลายๆ คนแล้ว ก็ยังมีคนไม่น้อยที่เห็นว่าบาหลีเป็นสถานที่ที่สงบสุขที่สุดแห่งหนึ่งในโลกเช่นกัน บาหลีในใจของฮันน่าจึงเป็น “The most peaceful place in the world” เธอสวมสร้อยลูกปัดเส้นหนึ่งไว้ตลอดเวลา สร้อยคอที่ระลึกในเมืองท่องเที่ยวธรรมดา สร้อยลูกปัดบาหลีที่ระลึกที่คู่รักเธอให้ไว้ สร้อยลูกปัดที่ความหมายถึงสันติภาพ การที่จูลี่ เด็กสาวอเมริกัน ได้มอบสร้อยลูกปัดให้แก่เพื่อนที่เธอพึ่งจะพบในผับ หรือการที่ฮันน่าได้มอบสร้อยคอให้กับฮัจจิ ชายชาวมุสลิมผู้ที่สอนให้เธอรู้ว่า “ศาสนาอิสลามที่แท้จริงนั้นศรัทธาในสันติภาพ ผู้ที่ทำการเลวร้ายนั้นไม่ได้เข้าใจในอิสลามที่แท้จริง .. .… มันไม่มีทางลัดไปสู่สวรรค์หรอก”การให้ส่งมอบสร้อยลูกปัดให้แก่กัน จากเพื่อนสู่เพื่อน จากคู่รักสู่คู่รักส่งต่อไปยังคนแปลกหน้าที่พึ่งพบเจอ จากชาวตะวันตกสู่ชาวมุสลิม ก็เปรียบดั่งการส่งต่อความรักและสันติภาพให้แก่กันและกัน และอันที่จริงสันติภาพนั้นก็ไม่ได้ยึดติดอยู่กับสัญลักษณ์ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่มันควรเริ่มจากการมีสันติภาพในใจมากกว่า
การต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์
เกาะบาหลีในภาพยนตร์ Long Road to Heaven ถือได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว ดั่งที่ ฮันน่า หญิงสาวชาวอเมริกันผู้สูญเสียคู่รักจากกรณี 9/11 และได้หลบมาพักใจที่บาหลีได้กล่าวว่า “Bali is the most peaceful place in the world” บาหลีได้กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมและกลายเป็นสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก ความสวยงามของหาดทราย และความงามของวัฒนธรรม เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาก็เป็นที่แน่นอนว่า วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นจะเปลี่ยนไป เราจึงได้เห็นภาพกีฬาการละเล่นอย่าง พาราชู้ต วินเซิร์ฟ สกู้ตเตอร์ และภาพร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง KFC, Mc Donald ร้านอาหารนานาชาติ ผับ บาร์ ที่มีนักท่องเที่ยวดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน เต้นรำ นุ่งน้อยห่มน้อย ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมถือว่าเป็นบาปและเป็นเรื่องที่น่าละอาย ซึ่งต่างจากภาพบาหลีในช่วงแรกของหนังที่แสดงถึงความสงบ ความสวยงามของสถานที่ ประเพณี และพิธีกรรม ทั้งตามความเชื่อของชาวมุสลิมและพิธีกรรมของฮินดู ระบำบารอง การสวดสรรเสริญพระเจ้าภาพบ้านเรือนที่แปรเปลี่ยนไปเป็นโรงแรม ร้านค้าขายของที่ระลึก ห้างร้านขายสินค้าตะวันตก หญิงสาวชาวพื้นเมืองเริ่มมาทำงานในผับ ในบาร์ ดังในฉากหนึ่งของหนังที่นักข่าวสาวผู้รีบร้อนจนเหยียบกระทงเซ่นไหว้ โดยไม่ทันระวัง สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชัยชนะของวัฒนธรรมตะวันตก เหนือวัฒนธรรมแบบมุสลิม แม้จะเป็นไปเพราะวิถีการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ แม้จะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตามอุดมการณ์ ในการต่อสู้ทั่วโลกช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มักแบ่งเป็นสองแนวทางใหญ่ๆ คือ การปลดปล่อยประชาชาติ (National Liberation) กับลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การต่อสู้ที่อาศัยแนวทางของศาสนาอิสลาม ก็สามารถต่อต้านการปกครองแบบโลกเสรีได้เช่นกัน และก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือน (Shock Waves) ไปทั่วโลกมุสลิม ก่อให้เกิดกระแสการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม (Islamic Revival) ในระดับสากลช่วงทศวรรษ 1970โลกภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรี ทำให้อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์เสื่อมถอยลงไป การต่อสู้ของมุสลิมบางกลุ่มจึงได้นำแนวทางของศาสนาอิสลามมาใช้ โดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับมุสลิมทั่วโลก เพื่อต่อต้านอุดมการณ์แบบตะวันตกและดำรงอัตลักษณ์ของตน นำไปสู่การโหยหาวัฒนธรรมอิสลามดั้งเดิม แต่ก็เป็นไปโดยการ “ครอบงำ” และ “การตีความตามจินตนาการ” เพื่อเป้าหมายบางอย่าง เช่น การนำความศรัทธาของชาวมุสลิมที่มีต่อพระเจ้ามาใช้กล่าวอ้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างความรุนแรง กล่าวคือ ยิ่งการก่อการร้ายมีลักษณะรุนแรงมากยิ่งขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการลบล้างทางวัฒนธรรม (De-Culturalizatoin) ของมุสลิมที่ยึดถือในสันติภาพ การอ้างถึงความศรัทธาจนนำไปสู่การเข่นฆ่านั้น ไม่ใช่การแสดงออกของวัฒนธรรมมุสลิมดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ยุคหลังสมัย Postmodernism ที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับข้อคิดหรือแนวทางปฏิบัติที่เคยประพฤติกันมา หลายคนเลือกที่จะไม่เชื่อในพระเจ้าและเป็นคนไม่มีศาสนา (Atheist) อันเกิดจากความรู้สึกสงสัยไม่ไว้ใจ ก่อให้เกิดบทสนทนาหรือวาทกรรม ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ จากการครอบงำผ่านอุดมการณ์ หรือแนวประพฤติปฏิบัติต่างๆ ในสังคมมนุษย์ หรือที่เราเรียกว่า วาทกรรมแห่งการไม่ไว้วางใจ (Discourse of Suspicion) เกิดการล้มล้างความคิดเก่าๆ การหักล้างอุดมการณ์ที่มีอยู่ 2ในกรณีของการต่อสู้ระหว่างโลกตะวันตก และโลกมุสลิมก็เช่นกัน เราควรพิจารณากันเสียใหม่ว่า กรณีเหตุการณ์ 9/11 กรณีระเบิดบาหลี กรณีสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานนั้น แท้จริงแล้ว เป็นสงครามระหว่างศาสนา เป็นสงครามความศรัทธา หรือว่า เราถูกครอบงำว่ามันเป็นเช่นนั้น แล้วกรณีเรื่องความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความคิด รวมไปถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องเลยหรือกระบวนการโลกาภิวัฒน์ คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี เงินตรา ฯลฯ มันคือการย่อโลกให้เล็กลง หรือเป็นการครอบงำโลกกันแน่ และสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกวันนี้มีแต่กระบวนการของศาสนาอิสลามเท่านั้น ที่สามารถต้านทานการไหลบ่าของ “ความเป็นตะวันตก” เอาไว้ได้ แต่ทั้งนี้แนวทางการต่อสู้เพื่อดำรงอัตลักษณ์ของตน และต้านทานตะวันตกด้วยการใช้ความรุนแรงนั้น ก็มิใช่สิ่งที่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม ศีลธรรม และศาสนาใดๆ ทั้งมวล
Long Road to Peaceful World
เมื่อความเป็นอิสลาม ไม่ได้มีอำนาจในตนเอง จึงต้องมีการนำพระเจ้ามาเอ่ยอ้าง การย้ำยืนอัตลักษณ์ให้แก่คนของตน ในขณะที่แบ่งแยกสร้างความเป็นอื่นขึ้นในเวลาเดียวกันนั้น เป็นความคิดชาตินิยมแบบที่มีความรุนแรงในตัวเองการแบ่งแยกออกเป็น พวกเขา พวกเรา กลายเป็นหมู่พี่น้องชาวมุสลิม กับพวกตะวันตก นำไปสู่ความชิงชัง ขัดแย้งระหว่างกันเป้าของการโจมตี 9/11 เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ต่อต้านทางเศรษฐกิจโดยการเลือกเป้าหมายเป็นตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าโลก รวมไปถึงเป้าหมายที่เป็นศูนย์กลางทางทหาร และความมั่นคงอย่าง กระทรวงกลาโหม และเพนตากอนเป้าหมายในบาหลีก็เช่นกัน สถานทูตอเมริกา และผับแพดดี้ Paddy’s Pub และคลับส่าหรี Sari Club ที่มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ล้วนแต่เป็นเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์เพื่อการต่อต้านตะวันตก โดยไม่สนว่าเหยื่อจะเป็นใคร ขอแต่เพียงให้เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น และภาพยนตร์ให้เหตุผลที่เลือกบาหลีให้เป็นเป้าหมายในการระเบิดว่า
“ชายตะวันตกคนนั้น จงใจปิดลิฟท์ใส่หน้าเรา”
“มันไม่ยอมใช้ลิฟท์ร่วมกับพวกเราที่เป็นมุสลิม”
“ที่เสื้อของชายคนนั้น เขียนว่า ฉันรักบาหลี”
“แล้วถ้าเขาใส่เสื้อ ฉันรักภูเก็ตล่ะ”
“ถ้าอย่างนั้น เป้าหมายก็คือ ภูเก็ต”
การก่อการร้ายยุคใหม่จึงมีความรุนแรงและอันตราย มีการมุ่งเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ใช่อาวุธให้เป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพ เช่น ความศรัทธา โดยไม่แยแสกับชีวิตมนุษย์ผู้อื่น หรือ แม้กระทั่ง ชีวิตตนเอง โดยไม่สนใจว่าเป้าหมายจะเป็นที่ใด และเหยื่อจะเป็นใครอันที่จริงในกระแสความขัดแย้งระหว่างความคิดแบบเสรีประชาธิปไตยของตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา และความเชื่อทางศาสนาของชาวมุสลิมนั้น ในที่สุดแล้วก็มีจุดร่วมเดียวกันว่า ชีวิตมนุษย์ทุกชีวิตมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และตามหลักศีลธรรมแล้วไม่มีมนุษย์คนไหนสมควรตาย และ การตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงไม่ใช่หนทางสู่สันติภาพ ซึ่งหนังได้มองข้ามความสำคัญของประเด็นนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
บรรณานุกรม
- จุฑาพรรธ์ (จามจุรี) ผดุงชีวิต. วัฒนธรรม การสื่อสาร และอัตลักษณ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
- ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. จักรวรรดินิยมกับการก่อการร้าย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์, 2545.
- ธีรยุทธ บุญมี. ชาตินิยม และหลังชาตินิยม. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2545
ที่มา : http://www.thaiworld.org/th/include/answer_search.php?question_id=910