ชนาวุธ วิพลกุล (Film Kawan)
Vượt Sóng หรือ Journey from the Fall ภาพยนตร์เวียดนามปี 2007 ที่กำกับและเขียนบทโดย Ham Tran ผู้กำกับชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญให้กับชุมชนชาวเวียดนามในสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ พวกเขารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนเงินทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งได้บอกเล่าถึงความขมขื่นของคนเวียดนามใต้สองกลุ่ม ที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายภายหลังจากกรุงไซง่อนแตก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 1975 พวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมอันโหดร้ายในสองรูปแบบ กล่าวคือ กลุ่มหนึ่งถูกนำเข้าไปอยู่ใน Re-Educational Camp 1 หรือเรียกง่ายๆก็คือ “คุกการเมือง” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะขุดรากถอนโคนแนวคิดเสรีนิยมเดิมในเวียดนามใต้ แล้วปลูกฝังแนวคิดตามแนวทางของคอมมิวนิสต์เวียดนามเข้าไปแทน ผ่านการเรียนในห้องเรียน การทารุณกรรม และการใช้แรงงาน ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยให้เห็นถึงความขัดแย้งทางความคิดภายใน Re-Educational Camp อยู่ตลอดเวลา ผ่านตัวละครเอกของเรื่อง เช่น ฉากการโต้เถียงกับผู้คุมเพื่อให้เห็นความแตกต่างทางความคิด ที่เกิดขึ้นในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามบุกยึดไซง่อน
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Journey from The Fall
ภาพยนตร์แห่งประวัติศาสตร์ของชาวเวียดนามพลัดถิ่น
อีกกลุ่มเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่ล่องเรือเพื่อหลบหนีออกจากเวียดนามซึ่งในช่วงเวลานั้นก็ต้องพบกับอันตรายและอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากทหารคอมมิวนิสต์หรือโจรสลัดอ่าวไทย พวกเขาเดินทางไปสู่สังคมใหม่ ถิ่นฐานใหม่บนแผ่นดินอเมริกา แต่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่หวัง พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติในฐานะคนชายขอบของสังคมอเมริกา ภาพยนตร์นำเสนอภาพดังกล่าวผ่านฉากเหตุการณ์ในโรงเรียน ที่อาจารย์เลือกปฏิบัติ
Long ข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลไซง่อน ถูกจับเข้าไปยัง Re-Educational Camp หลังอเมริกาถอนทัพออกจากเวียดนาม เขาเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้ผู้ชมเกิดการตั้งคำถามในประเด็นเรื่องของชาตินิยมของคนในชาติเดียวกัน แต่มีอุดมการณ์และการนิยามของเสรีภาพที่แตกต่างกัน ภาพยนตร์เล่าถึงเหตุการณ์ความโหดร้ายของสงครามในไซง่อน ซึ่งทำให้ชาวเวียดนามนับล้านต้องอพยพออกจากเวียดนาม แต่สำหรับ Long เขาเลือกที่จะไม่ไปเพื่อยืนยันความเชื่อในอุดมการณ์การต่อสู้ของเขา ขณะที่ Mai ภรรยาของ Long และครอบครัวตัดสินใจที่จะอพยพไปอเมริกาตามคำขอร้องครั้งสุดท้ายของ Long ทั้งนี้ก็เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของครอบครัว แต่ในระหว่างการอพยพพวกเขาก็เผชิญกับอุปสรรคมากมาย การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่และการคุกคามของโจรสลัด ซึ่งคงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า บทของเรื่อง Vượt Sóng ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ข้ามผ่านเกลียวคลื่น” นั้น เปรียบได้กับการก้าวข้ามคลื่นสึนามิเลยทีเดียว พวกเขาต้องพยายามรักษาความสงบของจิตใจอันว้าวุ่น เพื่อที่จะลืมความโหดร้ายที่ได้ประสบจากสงครามอันน่าสะพรึงกลัวลงต่อลูกหลานของชาวเวียดนามอพยพ
อิสรภาพ กับความหมายในประวัติศาสตร์ Re-Educational Camp (ที่ถูกลืม)
ทหาร : | พวกเรารู้ถึงความผิดของแกหมดแล้ว |
Long: | ผมไม่ได้ทำผิด |
ทหาร: | ไม่ผิด? แกเป็นพวกจักรวรรดินิยมอเมริกา ทำสงครามต่อต้านการปฏิวัติ แกมันคนทรยศต่อประเทศตัวเองและประชาชนของแก เข้าใจไหม? |
Long: | ทรยศต่อประเทศของผมหรือ? ผมต่อสู้เพื่อรักษาอิสรภาพของประเทศผมต่างหาก |
ทหาร : | ต่อสู้เพื่อรักษาอิสรภาพของประเทศแกหรือ? คนอย่างแกไม่มีวันรู้ถึงวิถีทางที่จะปลดปล่อยเวียดนามหรอก ตอนนี้เท่านั้นที่เวียดนามเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะอเมริกาถอนทัพออกไป และเราก็สามารถปลดปล่อยคนเวียดนามได้แล้ว |
Long: | พวกแกปลดปล่อยพวกเขาหรือพวกเขาปลดปล่อยแก |
จากการพูดคุยของตัวละครทั้งสองนี้ เราสามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของนิยามของคำว่าอิสรภาพ ที่มีพลังรุนแรงจนสามารถทำลายชีวิตคนร่วมชาติได้ อย่างไรก็ตาม จากบทสนทนานี้ได้ปรากฏภาพตัวแทนของกลุ่มคนสองกลุ่มที่มีความคิดที่ต่างกัน ซึ่ง Long ก็ได้แสดงความเป็นภาพตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลและประชาชนชาวเวียดนามใต้ ที่ต้องเผชิญชะตากรรมอันยากลำบาก หลังการรวมประเทศโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในขณะเดียวกันตัวละครที่เป็นทหารก็เป็นภาพตัวแทนความคิดเรื่องเสรีภาพที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามนิยาม ตัวละครทั้งสองแสดงทรรศนะออกมาได้อย่างชัดเจนถึงอุดมการณ์เบื้องลึกของตนเอง ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ความหมายของเสรีภาพคือ “การหลุดพ้นจากการควบคุมภายหลังจากการถอนทัพของสหรัฐฯ ในปี 1975 ตอนหนึ่งของบทสนทนา ทหารคนนั้นกล่าวว่า “Only now is Vietnam truly free. Now that the Americans abandoned their post and now we succeeded to free people of Vietnam.” แต่ Long ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น เขามองว่าเสรีภาพของเวียดนามไม่ได้อยู่แค่การเอาชนะสหรัฐฯ แต่คือเสรีภาพของการได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกาออกไปแล้วนั้น โฮจิมินห์ได้กล่าวถึงข้อความตอนหนึ่งในพินัยกรรมของท่าน ซึ่งได้แสดงถึงเจตจำนงที่จะกำหนดนโยบายความเป็นหนึ่งว่า “ถึงจะต้องลำบากยากเข็ญเพียงใด ประชาชนเราจักต้องได้รับชัยชนะที่สมบูรณ์ จักรวรรดินิยมอเมริกาจะต้องหนีออกจากประเทศเรา ประเทศเราจะต้องรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประชาชนทั้งเหนือจรดใต้จะได้อยู่ร่วมชายคาเดียวกัน”2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมานฉันท์ยิ่ง ภายใต้ชายคาที่เรียกว่า ประเทศเวียดนาม
แต่ในความเป็นจริงนั้น ข้อความในพินัยกรรมหลักของท่านโฮจิมินห์ ได้พลิกผันไปโดยสิ้นเชิงเมื่อสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากเวียดนามหลังสงครามสิ้นสุดลง Re-Educational Camp ได้กลายเป็นสถานที่ที่มีนัยยะสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของเวียดนาม แต่ทว่ามันกลับไม่ได้รับการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ฉบับทางการของรัฐบาลฮานอยเท่าใดนัก ภาพที่คนภายนอกรับรู้กันโดยทั่วไปก็คือ ปี 1975 เป็นปีแห่งการ “รวมชาติ” ของเวียดนามให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ของชาวเวียดนามทั้งมวล ชื่อเมือง “ไซง่อน” ถูกแทนที่ด้วย “โฮจิมินห์ซิตี้” ชื่อใหม่ของเมืองแห่งนี้ สะท้อนถึงอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีประธานโฮจิมินห์เป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ปลดปล่อยเวียดนามทั้งประเทศได้เป็นอย่างดี ศูนย์กลางที่ชื่อว่า “ไซง่อน” ก็ตกขอบประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย และสภาพชีวิตของประชาชนเวียดนามใต้ กลับอยู่ภายใต้สภาวะที่เลวร้ายอย่างรุนแรงมากขึ้นภายใน Re-Educational Camp และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่สำหรับ Ham Tran ผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรง ผู้เป็นลูกหลานชาวเวียดนามอพยพในสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะเกิดหลังจากสงครามยุติไปแล้ว แต่ก็มีความตั้งใจที่จะกลับไปสู่อดีตของบรรพบุรุษ เพื่อเล่าเรื่องราวอีกด้านที่กำลังเลือนหายไปกับความพ่ายแพ้ของ “ไซง่อน” ผ่านแผ่นฟิล์ม เสมือนเป็นการสะท้อนภาพมุมกลับของประวัติศาสตร์ เพื่อให้ประชาคมโลกได้รับรู้ Ham Tran ใช้เรื่องราวความเป็นไปของบรรดานักโทษการเมืองชาวเวียดนามใต้ใน Re-Educational Camp เพื่อโต้แย้งและเสียดสีต่ออุดมการณ์ชาตินิยมกระแสหลัก ที่มีฮานอยเป็นศูนย์กลางไว้อย่างน่าสนใจ
Long:
ผู้พันคุณอยากฟังเรื่องตลกซักเรื่องไหม? อะไรคือความแตกต่างระหว่าง Re-Educational Camp กับคุกอื่นๆ?
Major:
อะไรที่แตกต่าง?
Long :
ในคุกนั้น ปกติคุณรู้ว่าความผิดของตัวเองคืออะไร และคุณรู้ว่าคุณจะต้องโทษนานเท่าไหร่
The Legend of Le Loi: เมื่อดาบไม่คืนสู่ท้องสมุทร
นอกจากมีการเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์ของตัวละครแล้ว ภาพยนตร์ยังใช้ตำนานคลาสสิกของชาวเวียดนาม อย่าง “Le Loi กับทะเลสาบคืนดาบ” เพื่อเสียดสีและตั้งคำถามกับการกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม Ham Tran สามารถสื่อสารตำนานเรื่องนี้ได้อย่างแยบยล ผ่านตัวละครผู้เป็นแม่ของ Long เธอเป็นผู้เลี้ยงดูหลานชาย Lai อย่างใกล้ชิดตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่ก่อนไซง่อนแตกจนถึงช่วงย้ายถิ่นไปสหรัฐอเมริกา เธอมักจะเล่านิทาน เรื่องราวของ Le Loi กลายเป็นความทรงจำที่คงทนและฝังลึกอยู่ในความรู้สึกของหลานชาย จนดูเหมือนจะเป็นความทรงจำเกี่ยวกับเวียดนามเพียงเรื่องเดียวที่ Lai มี ความสัมพันธ์ระหว่างย่ากับหลานคู่นี้ถ่ายทอดความรู้สึกลึกๆ ของคนเวียดนามใต้ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ที่รำพึงอยู่ในใจว่า “เมื่อบ้านเมืองสงบสุขแล้วความรุนแรงนั้นยังคงสำคัญไฉน”
ตำนานของ Le Loi แห่งทะเลสาบคืนดาบ หรือ Ho Hoan Kiem นั้นเป็นตำนานคลาสสิกที่ถูกเล่าขานกันมาอย่างยาวนานในเวียดนาม เป็นตำนานที่ผู้คนในประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้รับรู้กันถึงวีรกรรมของ Le Loi ในการต่อสู้กับชาวจีนผู้รุกราน เรื่องมีอยู่ว่า ในเวลานั้นกองทัพราชวงศ์หมิงได้บุกเข้าโจมตีเวียดนาม ส่งผลให้ทหารเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนถูกเผาทำลาย แต่ไกลออกไปจากสมรภูมินั้นมีชาวประมงผู้หนึ่งนามว่า Le Loi ได้ดึงแหของเขาขึ้นมาภายหลังจากที่เขารู้สึกว่ามีบางอย่างกำลังสั่นไหวอย่างรุนแรง เขาถามตัวเองว่า “โอ้ นี่มันเป็นปลาชนิดไหนกันนะ” แต่แล้วสิ่งที่ติดแหของเขากลับไม่ใช่ปลา หากเป็นเทพเจ้าเต่าสีทองตนหนึ่งนามว่า Kim Quy เขาตกใจมากและพยายามร้องขอโทษเทพเจ้าตนนั้น แต่แทนที่จะถูกลงโทษ เทพเจ้า Kim Quy กลับมอบดาบวิเศษเล่มหนึ่งให้กับ Le Loi พร้อมกับรับสั่งว่า “เอาดาบเล่มนี้ไปสิ แล้วนำประชาชนไปต่อสู้กับกองทัพจีน ข้าสัญญาว่าเจ้าจะชนะ โดยมีข้อแม้อยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อเจ้าชนะในสงครามแล้วเจ้าต้องคืนดาบเล่มนี้”
เมื่อ Le Loi รับดาบเล่มนั้นมา เครื่องแต่งกายของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าอัศจรรย์กลายเป็นชุดเกราะหยก และก็เป็นไปตามดั่งคำของเทพเจ้า Kim Quy เมื่อกองทัพของเขาสามารถรบชนะกองทัพจีนได้สำเร็จ Le Loi ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิของเวียดนาม แต่เขาก็ยังไม่ได้คืนดาบแก่เทพเจ้าเต่าตนนั้น จนกระทั่งเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อจีนยอมรับในความเป็นอิสรภาพของเวียดนามแล้ว Le Loi ได้ออกเรือไปยังทะเลสาบ และมอบดาบคืนให้กับ Kim Quy อันเป็นที่มาของชื่อ Ho Hoan Kiem หรือที่แปลว่า ทะเลสาบคืนดาบ Ho = ทะเลสาบ และ Hoan Kiem = คืนดาบ 3
ตำนานเรื่องนี้กำลังบอกเล่าอะไรเราอยู่ ?
มีบางคนเคยบอกว่าเมื่อสันติสุขและเสรีภาพคืนกลับมา อาวุธยุทโธปกรณ์และความรุนแรงทั้งหลายไหนเลยจะสำคัญ ถ้าดาบเปรียบได้กับความรุนแรง แล้วไฉนเลยดาบจึงยังไม่กลับคืนสู่ท้องสมุทรเสียที ความหวังของบรรดานักโทษการเมืองใน Re-Educational Camp ก็คือว่า สักวันหนึ่งหากยังไม่สิ้นลมหายใจ และสามารถหลุดพ้นจากสถานที่กักกันอันโหดร้ายแห่งนี้ไปได้ ก็ขอให้ได้พบกับคนในครอบครัว พวกเขาเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ Le Loi จะคืนดาบสู่ห้วงนที เพราะเสรีภาพก็เกิดขึ้นแล้ว แต่ดาบก็ยังไม่กลับคืนสู่ที่เดิมของมันสักที
---------------------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
สุชาติ สุขสวัสดิ์. จากโฮจิมินห์ ถึง เปลื้อง วรรณศรี รวมสัมภาษณ์ผู้นำฝ่ายซ้ายในอินโดจีน. กรุงเทพฯ : ดาวเรือง , 2518.
สุด จอนเจิดสิน. ประวัติศาสตร์เวียดนามตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2544
Nguyen Ngoc Binh. สัมภาษณ์, 17 กันยายน 2552
---------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
1 ภายหลังกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนาม เข้ายึดเมืองไซง่อน และขับไล่กองทัพอเมริกาออกไปแล้ว จึงได้มีการจัดตั้ง Re-Educational Camp ขึ้น เพื่อกักกัน และถ่ายทอดแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ ตลอดจนมีการทรมานนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมตัวไว้ ในปี 1975
2 คัดจากพินัยกรรมของท่านโฮจิมินห์ ณ กรุงฮานอย ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1969 จากหนังสือ จากโฮจิมินห์ ถึงเปลื้อง วรรณศรี โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
3 อ้างบางส่วนจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Hoan_Kiem_Lake
เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=934