อิโล อิโล (Ilo-Ilo) : สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ เกิด ตาย และการอยู่ร่วมกัน ในวันที่เราหลงลืมอะไรบางอย่าง
โดย ฟิล์ม กาวัน (Film Kawan)
“อิโล อิโล” ผลงานของแอนโธนี่ เฉิน (Anthony Chen) เป็นภาพยนตร์จากสิงคโปร์ที่คว้ารางวัลกล้องทองคำ (Camera d’or) ซึ่งมอบให้กับผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด และได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้ชมที่ยืนปรบมือให้กับหนังยาวนานกว่า 15 นาที
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีอะไรพิเศษ?
ชื่อเรื่องก็แปลก มันสิงคโปร์ยังไง ?
แอนโธนี เฉิน ผู้กำกับวัย 29 ปี ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงของตนเอง เพราะตอนที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้น ครอบครัวของเขาก็ได้รับผลกระทบโดยตรง นั่นทำให้เขาสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างสมจริงและเจ็บปวด
“อิโล อิโล” เป็นชื่อของจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคตะวันตกของวิซายาส (Visayas) หมู่เกาะทางตอนกลางของฟิลิปปินส์ ผู้ที่มาจากจังหวัดนี้คือ ชาวอิลองโกส (Ilongos) มีภาพลักษณ์ของการเป็นคนสุภาพอ่อนโยน พูดช้า นิ่มนวลและดูแลเอาใจใส่ผู้อื่น เมื่อสามสิบปีก่อน จังหวัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนของวิซายาส ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะออกมาเผชิญโชคเป็นแรงงานต่างด้าวร่วมกับชาวฟิลิปปินส์จากภูมิภาคอื่น แม้ว่าทุกวันนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีชาวอิลองโกสจำนวนมากเดินทางออกไปทำงานนอกประเทศ “เทอรี่” หรือ "เทเรซา" ตัวละครสำคัญในเรื่องมาจาก อิโล อิโล เธอก็เลือกเส้นทางเดินคล้ายๆกับผู้หญิงจำนวนมากในฟิลิปปินส์ที่เดินทางเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ในฐานะแม่บ้าน เพื่อหวังจะหารายได้จากค่าแรงที่สูงกว่าเพื่อไปจุนเจือลูกน้อยและครอบครัวที่บ้านเกิด เทอรี่ เข้ามาทำงานกับครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่งในสิงคโปร์ในช่วงที่วิกฤตเศรษฐกิจกำลังถาโถม โดยมีคุณผู้ชายที่ชะตาใกล้ขาดกับงานที่โรงงานทำกระจกแห่งหนึ่ง ประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจกว่า 15 ปี ไม่อาจจะช่วยให้เขาอยู่รอดในตำแหน่งงานได้อีกต่อไป เขาต้องยอมไปทำงานเป็นยาม ณ โรงงานแห่งหนึ่งโดยปิดบังความจริงไม่ให้คนในครอบครัวรู้
ขณะที่คุณผู้หญิงทำงานเป็นเสมียนให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง หญิงท้องแก่อย่างเธอต้องคอยเฝ้าสังเกตการณ์ลางร้ายของปัญหาเศรษฐกิจในบริษัทอยู่ตลอด หน้าที่ประจำวันของเธอในช่วงเวลานั้นคือ การพิมพ์จดหมายเลิกจ้างของพนักงาน และต้องเห็นคนงานที่ค่อยๆเดินออกจากบริษัทไปทีละคน เทอรี่เข้าใจสถานการณ์ของครอบครัวนี้เป็นอย่างดี เธอรับหน้าที่ดูแลงานภายในบ้านในฐานะที่แม่บ้านคนหนึ่งพึงทำ แล้วก็ยังไปแอบทำอาชีพเสริมเป็นช่างทำผมอย่างที่แม่บ้านชาวฟิลิปปินส์นิยมทำกัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอต้องปวดหัวที่สุดคือ เด็กชายวัย 10 ขวบของครอบครัวนี้นามว่า “เจียเล่อ” (Jiale) เด็กแสบคนนี้ดูเหมือนจะไม่รับรู้ความทุกข์ร้อนใดๆของคนในบ้าน แต่การเป็นเด็กดื้อของเขาก็ทำให้เขาเอาตัวรอดได้ในหลายครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างเทอรี่และเจียเล่อ ค่อยๆพัฒนาไปในทางที่ดี ในยามที่พ่อแม่ของเขาต่างวุ่นวายและเครียดกับปัญหาเศรษฐกิจ เทอรี่ทำหน้าที่ไม่ต่างจากแม่ของเขา จนแม่ตัวจริงรู้สึกว่าเธอกำลังสูญเสียบทบาทนั้นไป
“อิโล อิโล” ไม่ใช่หนังที่หวือหวาและมีประเด็นที่ซับซ้อนใดๆ แต่เป็นความเรียบง่ายที่ลึกซึ้ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายๆครอบครัวที่ต้องข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายและเข้าใจการเดินทางสามัญของชีวิตมนุษย์ ความสมบูรณ์แบบที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามสร้างให้กับผู้คนและสังคมทั้ง การศึกษา ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจที่ดี และอื่นๆ อาจจะไม่เพียงพอและอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการก้าวผ่านความยากลำบากในชีวิต ห้องสี่เหลี่ยมของอพาร์ทเม้นท์ที่เป็นรังนอนของคนสิงคโปร์ทั่วไปดูจะเหมาะสมกับสภาพชีวิตในสังคมเมือง เป็นชีวิตตามรูปแบบของคนทำงานออฟฟิศ แต่ที่สุดแล้วความสมบูรณ์นั้นอาจจะทำให้พวกเขาหลงลืมอะไรไปบางอย่าง ทันทีที่เทอรี่สวดมนต์ต่อพระเจ้าก่อนทานข้าว พวกเขาก็เริ่มสังเกตบางอย่างที่แปลกปลอม วันดีคืนดีความตายก็มาเยือนเมื่อเพื่อนบ้านกระโดดตึกตายด้วยปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า แต่เสียงสวดกงเต็กในงานศพที่ดังลั่นอพาร์ทเม้นท์ก็ยังไม่สามารถกระตุกให้เห็นถึงสิ่งที่หลงลืมไปได้
กระนั้นเมื่อวันเกิดของเจียเล่อมาถึง พวกเขาได้เดินเข้าหาสิ่งที่หลงลืมนั้นโดยไม่รู้ตัว คุณผู้ชายและคุณผู้หญิงเริ่มรู้สึกว่าเงินในกระเป๋านั้นแฟบเกินกว่าที่จะซื้อของแพงๆให้เจียเล่อ ด้วยสถานะทางการเงินที่มี พ่อเลือกที่จะเอา "ลูกเจี๊ยบ" (ซึ่งได้มาจากไข่ของโรงงานที่เขาทำหน้าที่เป็นยาม) มาเป็นของขวัญวันเกิดให้ลูกชายเพื่อทดแทนทามาก๊อดจิ หรือ ลูกเจี๊ยบโรบอต ที่เขาโยนทิ้งไปด้วยความเกรี้ยวกราด พร้อมๆกับอาหารมื้อวันเกิดที่เป็น "ไก่ทอด" เจียเล่อเลี้ยงดูลูกเจี๊ยบเหล่านั้นเป็นอย่างดีจนมันเติบใหญ่ และในวันที่ครอบครัวต้องหาไก่ไหว้เจ้าไปเซ่นไหว้อากงที่ฮวงซุ้ย อดีตลูกเจี๊ยบที่เป็นไก่เต็มตัวในวันนี้ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ โดยมีเทอร์รี่เล่นบทคนเชือดไก่เพื่ออากง
การเกิดและความตายนั้นเชื่อมโยงถึงกันอยู่ในธรรมชาติ เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เพราะเราบริโภคสิ่งที่ตายแล้ว ขณะเดียวกันสิ่งที่ตายแล้วทำให้เรารู้จักความหมายของการมีชีวิตอยู่ ตัวคุณผู้หญิงดูเหมือนจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆจากปัญหาที่รุมเร้า เทอรี่ทำให้เธอรู้สึกว่า เธอกำลังเสียความรักของลูกชายไป แต่การกลับบ้านของเทอรี่ในวันที่เธอไม่มีเงินจ้างอีกต่อไป ก็ทำให้เธอได้เข้าใจว่าความหวังในชีวิตคืออะไร เพราะลูกในท้องที่กำลังนำมาซึ่งความหมายของการเกิด การเกิดของสิ่งใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนชีวิตให้เดินต่อไป แม้ว่าเส้นทางนั้นจะเต็มไปด้วยวิกฤตก็ตาม
แอนโธนี่ เฉิน ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จกับผลงานชิ้นนี้ในฐานะภาพยนตร์ที่หลายคนชื่นชอบ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การที่ อิโล อิโล ได้กลายเป็นภาพยนตร์ที่พยายามจะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่าง สิงคโปร์กับฟิลิปปินส์ เขานำเสนอภาพของความสัมพันธ์ที่มีทั้งขมและหวานระหว่างครอบครัวนายจ้างกับลูกจ้าง ราวกับว่ามันคือชีวิตทั่วไปของคนที่อยู่ด้วยกันในครอบครัว ขณะเดียวกันก็ได้ให้ความหมายของคำว่า "แม่บ้าน" ในฐานะ "อาชีพ" โดยต้องการที่จะหลุดพ้นไปจากวิธีคิดเรื่อง "นาย" กับ "บ่าว" มันเป็นการตั้งคำถามเรื่องสิทธิความมนุษย์ของแรงงานด้วย เพราะความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มีแรงงานชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ พวกเขาเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระงานบ้านให้กับชาวสิงคโปร์ ซึ่งในแง่นี้พวกเขาควรได้รับการยกย่องและดูแลที่ดี ในรอบปีที่ผ่านมามีที่เดินทางเข้าไปกว่า 140,000 คน โดยประมาณ 16,000 ทำงานเป็นแม่บ้าน โดยเงินเดือนของพวกเธอที่ได้รับจริงๆตกอยู่ราว 10,500 บาทสำหรับที่ไม่มีประสบการณ์ ขณะที่คนมีประสบการณ์จะได้อยู่ราว 11,800 บาท ซึ่งต่ำกว่าสัญญาที่ได้มีการตกลงกันระหว่างเอเย่นต์ของนายจ้างกับทางสำนักงานการจ้างต่างประเทศของฟิลิปปินส์ (Philippine Overseas Employment Administration -- POEA) อยู่ที่ 12,325ต่อเดือน
ในสภาพความเป็นจริงนั้น เรื่องการจ้างแม่บ้านชาวฟิลิปปินส์มีความสลับซับซ้อนและมีข้อขัดแย้งในเรื่องของการหักค่าหัวคิวและการไม่ปฏิบัติตามสัญญาอยู่ตลอด จนเมื่อกลางปีก็มีการยุติการส่งแม่บ้านจากฟิลิปปินส์มาสิงคโปร์ชั่วคราว ขณะที่อคติระหว่างกันก็สะท้อนออกมาอยู่เนืองๆ ดังปรากฏใน Flor Contemplacion ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ ปี 1995 ที่มีภาพลักษณ์ของสิงคโปร์คือ นายจ้างที่ใจดำ รัฐบาลที่ใช้กฏหมายป่าเถื่อน ขณะที่ภาพยนตร์สิงคโปร์ปี 2005 อย่าง The Maid ได้ทำให้เกิดภาพจำใหม่ในหมู่คนสิงคโปร์ที่มีต่อแรงงานฟิลิปปินส์ นั่นคือ ผีสาวใช้ หนังสยองขวัญเรื่องนี้ได้สร้างสถิติเป็นหนังสยองขวัญที่ทำเงินสูงสุดของประเทศ
แอนโธนี่ เฉิน (Anthony Chen) ในวันที่ได้รับรางวัลกล้องทองคำ (Camera d’or)
ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้กับผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
ที่สุดแล้ว ความทรงจำของแอนโธนี่ เฉิน ได้ช่วยให้ภาษาของหนังเรื่องนี้เดินก้าวข้ามไม่ใช่แค่เรื่องของความเข้าใจในชีวิต แต่ยังรวมความถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนาอีกด้วย การตามหาเทอร์รี่ตัวจริงเพื่อมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสิ่งที่อาจจะฟินที่สุดของเขาในกระบวนการสร้างงานชิ้นนี้ ชื่อหนังเองก็ได้ก้าวข้ามเรื่องของชาติไปแล้ว เพราะมันเป็นชีวิตจริงในโลกปัจจุบันที่เราต่างอยู่กับคนต่างเชื้อชาติในประเทศที่เราอยู่ และเขาเหล่านั้นก็เป็นมากกว่าผู้อาศัย
-----------------------------------------------------
“ดูรักษาชีวิตของคุณให้ดี เพราะมันเป็นสิ่งล้ำค่าสิ่งเดียวของคุณ คนรุ่นหลังจะเอาความรักของคุณที่มีให้กับคนรอบข้างเป็นแบบอย่าง ช่วงเวลานั้นจะมาถึง มันเป็นช่วงเวลาที่ความดีงามที่คุณทำถูกจารึกไว้บนโลกใบนี้ โลกอันผาสุกที่เต็มไปด้วยสรรพสิ่ง หากคุณยังเก็บงำความเศร้าโศกแห่งอดีตไว้ มันจะไม่มีที่ว่างหลงเหลือให้กับปัจจุบัน เอื้อนเอ่ยมันออกมาและไตร่ตรองมันให้ดีต่อหน้าสิ่งที่คุณบูชา ความขมขื่นในอดีตจริงๆมันก็คือความหอมหวานที่รออยู่เบื้องหน้าเท่านั้น เอื้อเอ่ยมันออกมา บอกกับฉันสิว่า คุณจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า “
วง Asin ศิลปินชาวฟิลิปปินส์ เจ้าของบทเพลง Kahapon at Pag-Ibig
บทเพลง "กาฮาโปน อัต ปักอิบิก" (Kahapon at Pag-Ibig) หรือ "วันวานและความรัก" ของวงแนวโฟล์คร๊อคชื่อดังจากฟิลิปปินส์นามว่า "Asin" ยังช่วยขับกล่อมผู้ชมแม้ว่าฉากสุดท้ายของ “อิโล อิโล” ที่เป็นภาพคลอดลูกชองคุณผู้หญิงในตอนจบ จะจบลงไปแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แอนโธนี่ เฉินถึงเลือกเพลงนี้ แต่มันก็ทำให้รู้ว่า เขา "ไม่ได้หลงลืมอะไรบางอย่างที่ว่านั้นแน่ๆ"
----------------------------------------
**หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสารไบโอสโคป ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2556