หายไปหลายอาทิตย์เพราะอาการเจ็บไข้และติดพันภารกิจการงาน กลับมาไม่นาน ได้ทราบข่าวจากเพื่อนสื่อชาวอินโดนีเซียว่า ผู้อาวุโสนักต่อสู้เพื่อสื่อเสรีและวิทยุชุมชนคนสำคัญคนหนึ่งของอินโดนีเซีย เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งผู้เขียนไม่อยากจะเชื่อว่าท่านจะไปเร็วด้วยโรคร้าย แม้ว่าอายุอานามของท่านจะ 70 กว่าๆ แล้ว แต่สมองของท่านเฉียบยังคมดีอยู่ ร่างกายแข็งแรง ปราดเปรียวเคลื่อนไหวคล่องตัวไม่เหมือนคนอายุ 70 ทั่วไป ทั้งยังท่วงท่าสง่างาม หลังไม่ค้อม เดินเหินคล่องแคล่ว สำคัญคือ ท่านลดอายุด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ ขนาดวัยรุ่นยังอาย เพราะอินเทรนด์ ตลอดเวลา ผมและหนวดขาว ไม่ทำให้รู้สึกว่าท่านอายุเกิน 70 แล้ว เลย
ซานอล ซูร์โยกูซูโม ท่านเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของสมาคมผู้สื่อข่าวอินโดนีเซีย และเป็นที่ปรึกษาอีกหลายสมาคมหรือชมรมสื่อของอินโดนีเซีย ท่านเป็นคนพื้นเพดั้งเดิมจากเกาะมาดูลา ซึ่งเป็นเกาะที่แห้งแล้ง และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดของอินโดนีเซียและเป็นพื้นที่ติดอันดับยากจนของประเทศ ผู้คนจึงอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านเรือนในแถบพื้นที่อื่นๆ ของอินโดนีเซีย แต่ท่านต่างจากคนอื่น เพราะเป็นตระกูลที่มีฐานะในมาดูลา จึงได้รับการศึกษาอย่างดีในโรงเรียนของดัชต์ ในยุคอาณานิคม แต่ที่เหมือนคนอื่นทั่วไปคือ ท่านอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่จาการ์ตา และกลายเป็นบ้านถาวรของท่านและครอบครัว
ท่านเป็นนักคิด และนักเขียน สามารถเขียนได้ทุกช่วงเวลา ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ ท่านมีแลปท้อปคอมพิวเตอร์ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง ด้วยประสบการณ์ด้านสื่อและความเป็นนักสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ ทำให้บรรดาสื่อรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานมักเชิญท่านไปบรรยาย ไปเป็นที่ปรึกษา ไปช่วยเหลือ ไปเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านสื่อ ทั่วอินโดนีเซีย หลังจากบรรยายและสนทนาปราศัยกับบรรดาสื่อรุ่นหลังแล้ว ช่วงกลางคืนท่านจะนั่งทำงานเขียนจนดึกดื่น งานเขียนของท่านไม่เพียงช่วยพัฒนาวงการสื่อเท่านั้น ยังเป็นการพัฒนาเชิงสังคมไปด้วย
หลังจากสิ้นยุคซูฮาร์โต ท่านเป็นคนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนและพัฒนาด้านสื่อวิทยุของอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้สื่อวิทยุถูกปิดล้อมด้วยอำนาจมืดของรัฐบาล ไม่มีเสรีภาพในการสื่อข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เมื่อมาถึงยุคประชาธิปไตย ท่านจึงหันมาร่วมมือกับสื่อวิทยุรุ่นหลังพัฒนาสื่อวิทยุเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ท่านยังให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนาสื่อวิทยุชุมชร่วมกับชุมชนในจังหวัดต่างๆ ในทุกภาคของอินโดนีเซีย
เหตุผลในการเข้าไปพัฒนาสื่อวิทยุในเชิงธุรกิจ ท่านมองว่า การที่สื่อสามารถพึ่งตนเองได้ ธุรกิจของสื่อไปได้ด้วยดี ทำให้สื่อมีอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สื่อมีเสรีภาพทางด้านความคิดด้วย ทั้งนี้ต้องปราศจากการควบคุมของรัฐ ในแง่การต่อสู้กับอำนาจรัฐ ท่านได้ต่อสู้กับกฎหมายว่าด้วยสื่อวิทยุและโทรทัศน์ของอินโดนีเซีย ชื่อว่า the Broadcasting Act No. 32/2002 ในเรื่อง อายุในการครอบครองคลื่นความถี่ และกฎเกณฑ์ในการตัดสิทธิการครอบครองคลื่นความถี่ที่ยังให้อำนาจของหน่วยงานรัฐไว้มาก
ผู้เขียนมองว่า วัฒนธรรมการต่อสู้ด้านเสรีภาพของสื่ออินโดนีเซียมีความเข้มข้นสูง สังเกตว่าพวกเขาจะกลัวการถูกกำหนดจากอำนาจรัฐบาล อำนาจของทหาร (หรืออำนาจของสถาบันต่างๆ) อย่างมาก เพราะประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเคยอยู่ภายใต้มันในช่วงเผด็จการนั้น มีแต่เรื่องเลวร้าย การถูกสั่งปิดสื่อ สั่งห้ามพูด ห้ามทำ เป็นเรื่องที่พวกเขาไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในยุคประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น อะไรที่สามารถดึงองค์กรสื่อออกมาเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นองค์กรธุรกิจที่เข้มแข็งได้ โดยไม่มีอำนาจรัฐอยู่เหนือขึ้นไป พวกเขายอมทำทั้งนั้น ท่านจึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมวิทยุเอกชนแห่งชาติ หรือ PRSSNI (Indonesian Private National Broadcasting Radio Association)
คนในวงการสื่อให้การเคารพอยู่เสมอ การบรรยาย หรือเป็นที่ปรึกษาของแวดวงสื่อจึงเป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่ง
นอกจากนี้ ท่านสามารถรวมสื่อวิทยุเอกชนในจังหวัดชวาตะวันออกได้จำนวนมากถึง 140 สถานี ชื่อแปลเป็นไทยๆ ว่า สมาคมวิทยุเอกชน จังหวัดชวาตะวันออก ประกอบด้วย เมืองสุราบายา เมืองจอมบัง เมืองมารัง นับว่าเป็นสมาคมวิทยุเอกชนที่เข้มแข็งแห่งหนึ่ง ที่ไม่เพียงแต่สะสมกำไรเท่านั้น ทุกปีสมาชิกของสมาคมจะมาประชุมประจำปีเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะร่วมกัน จะต้องมีรายการเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนกี่นาที มีรายการบันเทิงกี่นาที มีการโฆษณากี่นาที โดยไม่ต้องให้สาธารณะต่อว่าต่อขานก่อนแล้วจึงมาปรับเปลี่ยนแก้ไข นอกจากนี้แล้ว สมาชิกของสมาคมวิทยุเอกชน จังหวัดชวาตะวันออกยังต้องแบ่งบันผลกำไร 5% เข้าสู่สมาคม เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปทำประโยชน์และพัฒนาสมาคม รวมไปถึงพัฒนาบุคลากรต่อไป กองทุนดังกล่าวประธานสมาคมไม่เปิดเผยตัวเลข แต่บอกกับผู้เขียนว่า ครั้งหนึ่ง พวกเขาเช่าเหมาลำเครื่องบินให้สมาชิกไปประชุมกับกลุ่มวิทยุโทรทัศน์ระดับกลุ่มประเทศเอเชียที่สิงคโปร์มาแล้ว และไม่ใช่ปีเดียว ทำเป็นประจำเกือบทุกปีหากมีการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้
ซานอลกับสมาชิกวิทยุชุมชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองจอมบัง
อีกงานที่หนักหนาไม่แพ้กัน คือ งานด้านวิทยุชุมชน ท่านศึกษาจากประเทศต้นแบบหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และประเทศที่แยกตัวออกจากประเทศรัสเซีย เพราะประเทศเหล่านั้นใช้สื่อ (ทางเลือก) เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพ ความจริงแล้ววิทยุชุมชนที่อินโดนีเซียเริ่มเติบโต โดยภาคประชาชนและเอ็นจีโอ ที่อินโดนีเซียมีกลุ่มสื่อทางเลือกประเภทต่างๆ รวมไปถึงวิทยุชุมชนที่เข้มแข็งมาก เพราะความกดดันหลายอย่าง ทำให้ภาคประชาชนของอินโดนีเซียเข้มแข็ง
ท่านเข้าไปเกี่ยวพันกับการทำงานเพื่อสื่อวิทยุชุมชนก็เนื่องจากประสบการณ์ความเป็นสื่อและเป็นหนึ่งในผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ เป็นนักค้นคว้าหาความรู้ รู้จักเรียนรู้ประสบการณ์ของคนอื่นและนำมาปรับใช้ จึงได้รับความเชื่อใจจากชุมชน ในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษา เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการทำงานด้านสื่อชุมชนกับกลุ่มคนในชุมชน เมื่อสองปีที่แล้ว วิทยุชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศอินโดนีเซีย ท่านจึงเดินสายประชุมร่วมกับสื่อวิทยุชุมชนโดยไม่เหน็ดเหนื่อย
แท้จริงแล้ว หลังสิ้นยุคซูฮาร์โต สื่อในอินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว และแบ่งเป็นหลายสาย หลากกลุ่มแนวคิด มีทั้งแบบทุนนิยมจ๋าอย่างกลุ่ม Java post group แบบแนวเสรี อย่าง kompas group แบบ tradition อย่าง waspada แบบท้องถิ่นนิยมอย่าง Kedaulatan Rakyat แบบไม่ขวาแต่ไม่เชิงซ้ายอย่าง Tempo group แบบแนวอิงศาสนาอิสลามเป็นหลักก็มีหลายกลุ่มซึ่งผู้เขียนจำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไรบ้าง แต่มีสื่ออิงศาสนาอยู่มากในอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความหลากกรุ๊ป หลายแนวทั้งหลายเหล่านี้ ต่างเปล่งเสียงเดียวกันว่า “ไม่เอารถถังและปืน” ไม่เด็ดขาดที่จะอยู่ภายใต้เผด็จการไม่ว่าจะเป็น เผด็จการทหารหรือเผด็จการในรูปแบบอื่นๆ (เช่น ทักษิโณมิก)
ป๊าซานอลผู้ชี้แนะแนวทางและเปิดหูเปิดตาเรื่องสื่ออินโดนีเซียให้แก่ผู้เขียน
ผู้เขียนเรียนรู้เรื่องสื่อของอินโดนีเซียได้ เพราะได้รับการช่วยเหลือจากท่าน ขอไว้อาลัยยิ่งต่อการจากไปของสื่อมวลชนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินโดนีเซีย ผู้อาวุโสที่ใจดี ใจกว้าง ฉลาดลุ่มลึก อ่อนโยน และมีเมตตาต่อผู้เขียน ที่เป็นสื่อท้องถิ่นจากเมืองไทย ซึ่งท่านได้เปิดหูเปิดตากว้างแก่ผู้เขียนอย่างยิ่ง ขอไว้อาลัยอย่างสุดซึ้ง .....ในวันที่ท่านกลับไปสู่อ้อมอกของพระเจ้า