พ่อมาก พระโขนง ทำรายได้ทะลุ 200 ล้าน
คำโปรโมทในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ลงคำโฆษณาตัวเบ่อเริ่มว่า ภาพยนตร์เรื่อง พ่อมาก พระโขนงของค่าย GTH ทำรายได้ถล่มทลายชนิดที่ว่าไม่มีหนังไทยเรื่องใดทำรายได้มหาศาลขนาดนี้มาก่อนในรอบหลายปีแถมสร้างปรากฏการณ์โรงเต็มทุกรอบให้ได้เห็นกัน เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่แปลกตาในสายตาของใครหลายคนที่จะเห็นคนเข้าแถวรอชมภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้กันราวกับเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเสียอีก
ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงทำรายได้มากขนาดนี้อาจจะมีหลายปัจจัยทั้งเรื่องอากาศร้อนทำให้คนอยากจะเข้ามาดูหนัง เพราะเป็นหนังของค่าย GTH ค่ายมหาชนที่ทำหลายคนไว้ใจว่า หนังต้องได้คุณภาพอย่างแน่นอน อาจจะเพราะเป็นหนังตลกที่ดูแล้วไม่เบื่อ หรือเพราะ เป็นแฟนของโต้ง บรรจง ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ หรือปัจจัยอย่างชอบนักแสดงนำอย่าง มาริโอ้ เมาเร่อ แต่ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยใดสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตำนานของแม่นาก พระโขนงนั้นยังคงขายได้แม้ว่าจะอายุยืนยาวมากกว่าเกือบหลายปีแล้วก็ตาม
ซึ่งการที่หนังนำตำนานของแม่นาก พระโขนงมาดัดแปลงนั่นทำให้หลายคนสนใจว่า เรื่องราวที่เกือบจะเป็นตำนานของประเทศนี้ไปแล้วยังคงเป็นสิ่งที่ขายได้อยู่ในทุกวันนี้
เมื่อมองย้อนไปในปี 2542 ในยุคภาพยนตร์ไทยยังคงตกต่ำอยู่นั้น ก็ได้มีปรากฏการณ์แม่นากฟีเวอร์ขึ้นในตอนนั้นด้วยภาพยนตร์เรื่อง นางนาก ภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ไปกว่า 150 ล้านบาทที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองของภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง
ซึ่งจะบอกว่า วงการภาพยนตร์ไทยนั้นเป็นหนี้บุญคุณภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ไม่ใช่คำที่เกินเลยไปนัก
และเหมือนจะบังเอิญที่ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพ่อมาก พระโขนง อย่าง วิสูตร พูนวรลักษณ์ ก็เคยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนางนากด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าระหว่างที่เขียนต้นฉบับนี้นั่นผมยังไม่ได้รับชมพ่อมาก พระโขนง แต่คาดว่าน่าจะไปชมในเร็ววันนี้ แต่ที่ผมกำลังจะพูดถึงคือเรื่องราวของนางนากและผีเพศหญิงอื่น ๆ ในแถบเอเชียนี้
สำหรับที่คนที่คุ้นเคยกับตำนานของนางนากดี ภาพยนตร์เรื่อง นางนากนั้นจะเรียกว่า เป็นการสร้างความมีเลือดเนื้อให้กับตัวละครนางนากหลังจากถูกนำขึ้นจอมาหลายสิบครั้งในรอบหลายปี ซึ่งเรื่องราวของหนังล้วนแล้วแต่เล่าเพียงเรื่องราวเดิม ๆ ที่เรารู้กัน แต่ใส่สีตีไข่ลงไปเพื่อให้เรื่องราวสนุกสนานไปด้วย
แต่โครงเรื่องที่เรารู้กันนั้นจะมีดั่งนี้
นายมากที่เป็นผัวของนางนากแห่งทุ่งพระโขนงต้องลาจากเมียไปรบในสงคราม ระหว่างที่เมียของเขากำลังท้องแก่ใกล้คลอด แต่นายมากได้รับบาดเจ็บสาหัสเกือบตายไปหลายปี ทำให้ไม่ได้กลับบ้านและไม่รู้ว่า เมียของตัวเองได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ด้วยความรัก วิญญาณของนางนากยังคงรอคอยการกลับมาของผัวอยู่ที่ท่าน้ำทุกวันท่ามกลางความหวาดกลัวของผู้คน จนกระทั่งนายมากได้เดินทางกลับมาและได้พบเมียของเขาอีกครั้ง
โดยไม่รู้ว่าเมียของเขาได้ตายไปแล้ว
นี่คือสิ่งที่ผู้คนต่างรับรู้กัน และมีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันไปจนไม่รู้ว่า ตำนานใดเป็นจริงกันแน่
นพพร สุวรรณพานิชได้กล่าวถึงเรื่องผีนางนากไว้ในหนังสือ พระเจ้าและผีห่าซาตานไว้ สรุปกำเนิดของเรื่องเล่าเกี่ยวกับปีศาจนางนากนั่นมีมากมายเหลือคณานับจนไม่รู้ว่า ตำนานใดแน่ที่เป็นเรื่องเล่าแรกกันแน่
อาทิ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เล่าเรื่องของนางนากไว้ว่า
“จะเป็นวันเดือนปีใดไม่แน่ชัด พระศรีสมโภช (บุด) ผู้สร้างวัดมหาบุศย์เล่าเรื่อง อำแดงนากพระโขนงถวายพระเจ้าบรมวงศ์ธอกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (วัดโพธิ์) เสด็จอุปัชฌาย์ของนายกุหลาบว่า ในรัชกาลที่ 3 อำแดงนากบุตรขุนศรีนายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เป็นภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกัณฐ์ในพระเจ้าบรมวงศ์ธอเจ้ากรมหลวงพิทักมนตรี อำแดงนากคลอดลูกตาย นายชุ่มอาศพไปไว้ที่ป่าช้าวัดมหาบุศย์ เมื่อฝังแล้วก็หาได้เป็นปีศาจหลอกหลอน แต่เพราะนายชุ่มเป็นคนมั่งมีและมีบุตรชายหญิงหลายคนซึ่งล้วนไม่ได้ออกเรือน บุตรของนายชุ่มหวงสมบัติกลัวบิดาจะมีภรรยาใหม่และลูก ๆ จะพากันอดตาย จึงทำอุบายให้คนไปขว้างปาผู้พายเรือไปมาตามลำคลองตรงป่าช้าที่มีศพของอำแดงนาก ทำผีหลอกผู้คนตลอดจนช่วยนายชุ่มถีบระหัดวิดน้ำเข้านาและวิดน้ำกู้เรือของนายชุ่มที่เรือล่มอยู่ พวกลูกชายพากันแต่งตัวคล้ายแม่หลอกหลอนชาวบ้านจนกลัวทั้งพระโขนง พระศรีสมโภชได้เล่าถวายสมเด็จอุปัชฌาย์ไว้เท่านี้ ”
ในหนังสือชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆษิตตาราม เขียนโดย อำมาตย์ตรีพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) มีตอนหนึ่งได้กล่าวถึงสมเด็จโตและนางนากไว้ว่า
“เมื่อนางนาก บ้านพระโขนง เขาตายทั้งกลม ปีศาจของนางนากกำเริบ เขาลือกันต่อมาว่า ปีศาจนางนากมาเป็นรูปคนช่วยผัววิดน้ำเข้านาได้จนทำให้ชายผู้ผัวมีเมียใหม่ไม่ได้ ปีศาจนางนากเที่ยวรังควานหลอกหลอนคนเดินเรือในคลอพระโขนงไม่ได้ ตั้งแต่ตะวันรอน ๆ ลงไป ต้องแลเห็นปีศาจนางนากเดินห่มสีบ้าง โหนตัวบนต้นโพธิ์ต้นไทรบ้าง พระสงฆ์ในวัดมันก็ล้อเล่น จนกลางคืนพระภิกษุสามเณรต้องนอนรวมกัน ถ้าปลีกไปนอนองค์เดียวเป็นต้องถูกปีศาจนางนากรบกวนจนเสียงกร๊อกแกร๊กอื่น ๆ ก็เหมาเป็นปีศาจนางนากไปหมด จนชั้นนักเลงกลางคืนต้องหยุดเขาลงเพราะกลัวปีศาจนางนาก พวกหมอผีไปทำเป็นผู้วิเศษตั้งพิธีผูกมัดเรียกภูตมัน มันก็เข้ามานั่งแลบลิ้นปลิ้นตาเอาเจ้าหมอต้องเจ๊ง มันมาหลายคน จนพวกแย่งชิงล้วงลักปลอมเป็นนางนากหลอกหลวงเจ้าบ้าน เจ้าของบ้านกลัวนางนากเลยมุดมุ้ง ขโมยเก็บเอาของไปสบาย ค่ำลงก็ต้องล้อมต้องนั่งกอดกันยังรุ่งก็มี”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต ) ท่านรู้เหตุปีศาจนางนากำเริบเหลือมือหมอ ท่านจึงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ในคลองพระโขนง พอค่ำท่านก็ไปนั่งปากหลุม แล้วท่านก็เรียกนางนากปีศาจขึ้นมาสนทนากัน ฝ่ายปีศาจนางนากก็ขึ้นมาพูดจาตกลงกันอย่างไรไม่ทราบ ลงผลท้ายที่สุดท่านก็ได้เจาะเอากระดูกหน้าผากนางนากที่เขาฝังเอามาได้
เรื่องเล่าจบลงเพียงนี้
สิ่งที่น่าสนใจเมื่อเรามองไปยังตำนานของนางนากนั่นล้วนแล้วมีจุดที่เหมือนกันอยู่ก็คือ สามีหรือผัวนั้นจะต้องไปเกณฑ์ทหารในขณะที่ยังท้องแก่อยู่ ซึ่ง ส. พลายน้อย อเนก นาวิมูล และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้บรรจุเรื่องนี้เอาไว้ว่า เป็นเรื่องราวของไพร่หลวงรับราชการปีล่ะสามเดือน เดือนหนึ่งต้องเสียค่าปรับตำลึงกึ่ง ปีหนึ่งเสียสี่ตำลึงกึ่ง ส่วนไพร่สมเสียเพียง 1 เดือน เพียงตำลึงกึ่ง
เมื่อมองดูเรื่องเล่าตำนานของนางนาก เราจะพบว่า เรื่องราวของเธอเป็นเรื่องราวที่เกิดในยุคที่สตรียังเป็นเพียง ชนชั้นล่าง ของสังคมยุคนั้นที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียงใด ๆ เหมือนเช่นสตรีอื่น ๆ ในยุคนั้นที่ทำได้เพียงแค่ร้องไห้อ้อนวอนสามีหรือทำได้เพียงแค่ดูดวงต่อดวงให้เท่านั้นแต่ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้เลย
เมื่อเรามองไปยังตัวหนังนางนากเอง เราจะพบว่า หนังดัดแปลงมาจากตำนานนางนากหลายตำนานแต่ยึดโยงให้อยู่ในสภาพสมจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่เองที่ทำให้คนไทยทั่วรู้สึกแปลกใจที่เห็นสิ่งที่คุ้นเคยมีความแตกต่างออกไปจนกลายเป็นปรากฏการณ์
หากมองย้อนกลับในเวอร์ชั่นเดิม ๆ ของนางนากไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละครล้วนแล้วแต่เสริมแต่งเรื่องราวขึ้นมาทั้งเรื่องรักของครอบครัวที่ไม่ถูกกันราวกับเอาโรมิโอ แอนด์ จูเลียต มาดัดแปลง หรือแต่งให้นายมากมีภรรยาใหม่กับครอบครัวศัตรู ที่ทำให้เราต้องสงสัยในความรักของเขาที่มีแต่ภรรยาที่ตายไปแล้ว แต่ในการดัดแปลงที่คล้าย ๆ กันในหนังเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ก็คือ นางนากถูกสร้างเป็นหญิงสาวที่ขี้หึง ไม่ฟังเหตุผลนอกจากอาละวาด ฆ่าคนตายเป็นใบไม้ร่วงทำให้ต้องมีพระมาปราบในตอนท้ายเสมอ ๆ
ในขณะที่เวอร์ชั่นของนางนากนั่นกลับมีท่าทีต่างออกไป เพราะ หนังได้ดำรงตัวตนตั้งคำถามถึงผู้หญิงในสังคมผู้ชายออกมาได้น่าสนใจยิ่ง
การเป็นผีนั่นมีนัยยะที่น่าสนใจในเชิงเฟมินิสต์ไม่ใช่น้อย
เราจะเห็นว่า ในสังคมยุคนั้นเธอแทบจะไม่มีปากมีเสียงอันใดทั้งสิ้น แม้กระทั่งการเรียกร้องความยุติธรรมในตัวเองเมื่อมีการลักขโมยของรักของเธอไป หรือกระทั่งตั้งคำถามต่อรัฐบุรุษถึงความไม่ยุติธรรมที่สามีของเธอต้องไปรบในช่วงที่เธอท้องแบบนี้
นั่นเองที่ทำให้การกลายเป็นผีของเธอน่าสนใจยิ่งขึ้น
เพราะการเป็นผีของเธอนั้นทำให้เป็นสิ่งที่เหนือการกดทับทางสังคมของบุรุษเพศ แปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เหนือกว่าธรรมชาติไป (ซึ่งน่าสนใจว่า เมื่อเรามองดูอุปสรรคของตัวละครของนางนากที่จะทำให้เธอได้รักกับสามีของเธอนั้นล้วนแล้วแต่เป็นบุรุษเพศแถมทั้งสิ้น ตั้งแต่ เพื่อนบ้าน หมอผี ไปจนถึงพระแถวบ้าน) ซึ่งนั่นทำให้เธอได้สำแดงอำนาจของตนเองให้เหล่าบุรุษเพศเหล่านั้นเป็นเดือดเป็นแค้นที่สตรีคนหนึ่งลุกขึ้นมาหักล้างกฎหรือประเพณีที่ตัวพวกเขาสร้างขึ้นมาแบบนี้ เอาตามจริงมันไม่ต่างกับการลุกฮือขึ้นของไพร่ที่มีต่อชนชั้นที่สูงกว่าสักเท่าไหร่นัก
อย่าลืมว่า นางนากในหนังไม่ใช่ผีที่จะไล่หักคอชาวบ้านแบบหนังยุคก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังนั้นเกิดขึ้นจากเหตุบังเอิญ ทั้งการตายของยายปริกที่หัวใจวายเพราะตัวเองไปขโมยของของเขามา หรือ การตกน้ำของเพื่อนนายมากที่เกิดจากการไปท้าทายนางนากกลางสายฝน (ที่หนังก็ไม่ให้เราเห็นภาพว่า ถูกฆ่าโดยนางนากเสียเมื่อไหร่) แต่ก็อีกเมื่อสตรีเพศมีอำนาจมากเกินไป กระบวนการเปลี่ยนเจ้าตัวให้กลายเป็นปีศาจก็ย่อมเกิดขึ้นเพื่อมิให้สตรีเพศมีอำนาจเหนือสิ่งที่บุรุษวางไว้อยู่ดีจึงไม่น่าแปลกใจที่คนคลองพระโขนงจะโทษทุกสิ่งทุกอย่างว่า
เกิดจากผีนางนากทำเสียหมด
สิ่งที่ต้องแปลกใจเมื่อเราลองขยับถอยออกห่างจากเรื่องราวของนางนากมานั่น เราจะพบว่า ในแถบเอเชียแห่งนี้ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวของผีเพศหญิงอยู่มากมายทั้งตำนานหรือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวการกดทับทางสังคมบุรุษเพศที่มีต่อสตรีในยุคนั้น ๆ
ราวกับเป็นกระจกสะท้อนของนางนากที่ยังคงอยู่ไม่จางหาย
บุปผาราตรีก็เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่มีความน่าสนใจยิ่งในการตั้งคำถามต่อการกดขี่ของสังคมบุรุษเพศที่มีต่อผู้หญิงคนหนึ่งได้น่าสนใจยิ่ง
บุปผา ราตรี เป็นชื่อของหญิงสาวนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งที่ใฝ่ฝันจะพบรักแท้ในชีวิตหลังจากที่เธอพบเจอแต่การข่มเหงจากพ่อเลี้ยงมาตลอดเวลาจนกระทั่งเธอได้พบกับ เอก ชายหนุ่มมาดรวยที่มาเข้าหาเธอและทำให้เธอหลงรักก่อนที่เขาจะทิ้งเธอไปพร้อมกับที่ตั้งท้องพอดี ทำให้บุบผาตัดสินใจไปทำแท้งเพื่ออนาคตของตัวเอง แต่ทว่าเธอกลับต้องเสียเลือดจนตายและกลายผีในห้องหมายเลข 609 ที่รอคอยการกลับมาของรักแท้ของเธออยู่
แน่นอนว่าบุปผาราตรีย่อมเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยในยุคปัจจุบันที่สตรียังคงเป็นเพศที่มีค่าเล็กน้อยในสังคมผู้ชาย แม้ว่าพวกเธอจะสามารถทำอะไรได้ดีกว่าผู้ชาย แต่พวกเธอก็มักจะถูกดูแคลนจากผู้ชายว่า เป็นแค่ผู้หญิงเท่านั้น นี่เองทำให้บุบผาราตรีถูกกดทับด้วยสายตาของผู้ชายที่มองผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องระบายอารมณ์ทางเพศที่จะทำอย่างไรก็ได้ จะทำให้รักก็ได้ จะทำให้ร้องไห้ก็ได้ ดังนั้นการเป็นผีของบุบผาอาจจะเป็นการเลื่อนสถานะของตัวเองขึ้นมาจากสิ่งที่ถูกกดทับด้วยสังคมนั้น
เราจึงได้เห็นบุปผาอาละวาดเมื่อคนเข้าไปยุ่งกับเธอ (ไม่ว่าจะเป็นหมอผีชาติใด ไทย จีน เขมร) มีคนหลายคนที่ต้องตายเมื่อเผชิญหน้ากับเธอส่งผลให้เธอสามารถแก้แค้นคนที่เคยทำกับเธอเอาไว้ (โดยที่กฎหมายไม่อาจจะปกป้องตัวเองได้)
แต่ที่ตลกก็คือ เธอยังคงเป็นหญิงสาวที่รอคอยการกลับมาของชายคนรักของเธออยู่ดี
ซึ่งตรงนี้ทำให้มองบุบผาและนางนากว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างน้อยก็เป็นหญิงสาวที่สุดท้ายยังคงถูกสยบลงด้วยสิ่งที่เรียกว่า มายาคติรักแท้ อันเป็นสิ่งที่สังคมปิตาธิปไตยสร้างขึ้นมานั่นเอง
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจก็คือ ครูพะนอ แห่ง ภาพยนตร์สยองขวัญที่หลายคนต่างยกย่องว่าน่ากลัวที่สุดอย่าง ลองของ ที่เป็นอีกตัวอย่างของหญิงสาวที่ถูกสังคมปิตาธิปไตยทำร้ายจนต้องกลายเป็นปีศาจร้ายในที่สุด
การกระทำของเธอในเรื่องล้วนแล้วเกิดมาจากมายาคติเรื่องความรักที่เชื่อว่า ถ้าสวยจะไม่มีใครมาแกล้งเธอและหลงรัก ดังนั้นครูพะนอในวัยเด็กจึงทำเสน่ห์หรือคุณไสยใส่ตัวเองให้มีคนรักคนหลง
และผลของมันก็คือ ทำให้ตัวเธอต้องเจอกับเรื่องพวกนี้ไปจนตาย
ทั้งการถูกทำเสน่ห์จากพ่อของนักเรียน ทำเสน่ห์จากครูชาย ทำเสน่ห์จากนักเรียนชายที่หลงรักเธอส่งผลให้เธอแทบจะคลั่งและเสียสติจนต้องไปฆ่าหมอผู้ทำของและดึงอวิชชาพวกนี้เข้ามาในตัวเพื่อเอาชีวิตรอด
ก่อนที่เธอจะเดินหน้าแก้แค้นผู้ที่ทำกับเธออย่างสาสม
หรือกระทั่งภาพยนตร์เรื่อง Shutter กดติดวิญญาณ ผลงานสร้างชื่อของ โต้ง บรรจง และ โอ๋ ภาคภูมินั้นก็เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกสังคมชายทำร้ายจนกลายเป็นผีเพื่อแก้แค้นและอยู่กับชายคนที่เธอรักเท่านั้นเอง
เมื่อกระโดดข้ามไปยังประเทศอื่นในเอเชียนั้น ประเทศที่น่าสนใจในการตั้งคำถามเกี่ยวกับผีผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตยได้น่าสนใจที่สุดก็ไม่พ้น ญี่ปุ่นที่สร้างกระแส J-Horror ไปทั่วโลกก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีเพศหญิงมากมายดั่งเช่น ตำนาน ผีผู้หญิงนับจาน หรือ กระทั่ง ผีตัวขาดครึ่งท่อน ผีคอยาวและอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นเรื่องราวของสตรีที่ถูกเล่าในฐานะของวิญญาณหรือ Yokai ในสังคมชายในญี่ปุ่น
ใน The Ring หรือ Ringu หนังผีของผู้กำกับฮิเดโอะ นากาตะ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการจุดกระแส J-Horror นั่นเป็นเรื่องราวที่พูด ซาดาโกะ หญิงสาวที่มีพลังจิตและถูกฆ่าด้วยการจับโยนลงไปในบ่อเนื่องจากกลัวเกรงพลังของเธอ ด้วยความเครียดแค้น ซาดาโกะจึงอัดพลังของตัวเองใส่วีดีโอเพื่อล้างแค้นผู้คนด้วยคำสาปว่า หากได้ดูวีดีโอและไม่ส่งต่อจะต้องตายในเจ็ดวัน
หรือ Ju-on ภาพยนตร์ของ ทาเคชิ ชิมิสุ นั้นก็เป็นเรื่องราวของผีแม่ลูกที่ถูกสามีของตัวเองฆ่าตายเพราะหึงหวงที่เธอไปมีใจให้ชายคนอื่นก่อเกิดคำสาปแช่งที่ไม่ว่าใครเข้าภายในบ้านหลังนี้จะตายกันทุกคนไป
Kaidan ของ ฮิเดโอะ นากาตะ เองก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากตำนานของญี่ปุ่นเกี่ยวกับวิญญาณผีสาวที่พยาบาทอาฆาตสามีที่ทิ้งเธอให้ต้องตายเพียงลำพังในขณะที่เขาหนีตามภรรยาใหม่ไป โดยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับเธอว่า ถ้าเขาแต่งงานใหม่ เธอจะไปฆ่าภรรยาใหม่ของเขา และสามีก็ได้รับรู้ว่า ภรรยาของเขามิได้ผิดสัญญาใด ๆ เลย แต่เธอกลับรังควาญเขาไปตลอดกาลจนกระทั่งชีวิตของพินาศลงไปในที่สุด
สามเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่า สถานะของหญิงสาวในประเทศหรือโลกที่ลัทธิปิตาธิปไตยเป็นใหญ่นั้นสถานะภาพของผู้หญิงแถมจะไม่ต่างกันนัก พวกเธอยังคงเป็นหญิงสาวที่ยังหลงงมงายในมายาคติแห่งรักที่ผู้ชายสร้างขึ้นเพื่อมิให้พวกเธอกล้าฮืออือกับชนชั้นสังคมนั้น ๆ และหากพวกเธอมีอะไรที่มากกว่าสิ่งที่สังคมให้ได้ พวกเธอก็จะถูกมองไม่ต่างจากปีศาจ อย่างเช่น ซาดาโกะ ที่เอาจริงแล้วเหนือแท้ของเธอนั้นไม่ใช่หญิงสาวที่ชั่วร้ายแต่อย่างใด แต่เพราะพลังจิตของเธอที่มีมหาศาลบวกกับการปกป้องตัวเองบ้าง ปกป้องแม่บ้างทำให้เธอใช้มันและส่งผลให้คนรอบข้างมองเธอเป็นตัวอันตรายหรือสัตว์ประหลาดนั้นเอง
และที่น่าตกใจก็คือคนที่ฆ่าเธอคือ คนที่เป็นพ่อของเธออีกต่างหาก
เช่นเดียวกับ Kaidan ที่แม้จะย้อนเวลากลับในยุคซามูไรก็ตาม ผู้หญิงก็อยู่ในสถานะของพลเมืองชั้นสองอยู่เช่นเดียว ดั่งที่นางเอกของเรื่องที่เป็นครูสอนดอกไม้ที่อายุมากทำให้เธอไม่อาจจะแต่งงานแบบเอริกเกริกกับชายหนุ่มสามีที่อายุน้อยกว่าแถมฐานะน้อยกว่าได้ (เพราะภาพสังคมที่มองว่า เธอกินหญ้าอ่อน) ทำให้สามีของเธอปันใจไปให้กับหญิงอื่นที่สาวกว่าส่งผลให้เธอต้องพบกับชะตากรรมที่ทำให้ตัวเองต้องตายเพราะความหึงหวงและความรักของตัวเองในที่สุด
ดังนั้นชะตากรรมของพวกเธอจึงยังคงอยู่กับการเฝ้ารอด้วยความหวัง
อาทิ
นางนากที่รอผัวกลับมาอยู่ที่ท่าน้ำทุกวันและพยายามใช้ชีวิตเหมือนสามีภรรยาปกติโดยไม่รู้ว่า เมื่อไหร่เขาจะรู้ความจริง
บุบผา ราตรียังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในบ่วงกรรมแห่งความรักและมองหารักแท้ในห้อง 609 ต่อไปไม่จบสิ้น
ครูพะนอได้รับกรรมจากกระสุนปืนที่ยิงเข้าใส่เธอจบสิ้นชีวิตที่ถูกย้ำยีโดยเพศชายมานับศตวรรษเพียงเพราะเธอสวย
ผีสาวยังคงอยู่กับคนรักของเธอในโรงพยาบาลบ้าแห่งหนึ่งตลอดไป
คำสาปของวีดีโอมรณะยังคงอยู่ บ้านมรณะยังคงมีชีวิต และผีสาวคนหนึ่งก็ได้อยู่กับสามีของเธอตลอดไป
เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะ สิ่งที่เรียกว่า ความรัก
และความรักนี่เองที่คือ อาวุธที่ร้ายแรงที่สุดที่ลัทธิปิตาธิปไตยใช้พิฆาตผู้หญิงมานักต่อนักแล้ว
แม้ว่าพวกเธอจะหลุดพ้นจากการกดทับทางสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ไปแล้วก็ตาม ถึงพวกเธอจะมีอำนาจมากเพียงใด มีพลังจิตมากเพียงใด
แต่สุดท้ายพวกเธอก็ไม่อาจจะก้าวพ้นสิ่งที่เพศชายสร้างเอาไว้ได้อยู่ดี
ยิ่งเราดูหนังสยองขวัญที่มีวิญญาณหญิงสาวเหล่านี้ปรากฏการณ์อาละวาดมากเพียงใด เรายิ่งมองเห็นภาพการต่อสู้ทางชนชั้นที่ไม่มีวันชนะของเพศหญิงบนสังคมปิตาธิปไตยชัดแจ้งยิ่งขึ้น
มายาคติแห่งรักจึงเป็นกลไกสำคัญทางสังคมปิตาธิปไตยที่สร้างขึ้นเพื่อควบคุมมิให้พวกเธอลุกขึ้นและเปลี่ยนสังคมปิตาธิปไตยที่ชายเป็นใหญ่ลงเสีย
มันช่างเป็นกับดักที่สวยงามและโหดร้ายจริง ๆ
บล็อกของ Mister American
Mister American
“จูออน คือ คำสาปของผู้ที่ตายด้วยความเคียดแค้น ณ สถานที่ที่ตาย ผู้ที่เผชิญหน้ากับมันจะต้องตาย และ คำสาปแช่งใหม่จะถือกำเนิด”
Mister American
“เสียงปืนที่ดังขึ้นภายในงานเลี้ยงของกำนันผู้มีอิทธิพลในจังหวัดเชียงรายดังขึ้น ร่างของกำนันคนดังล้มลงกองกับพื้น หลังจากพึ่งรับตำแหน่งได้ไม่นาน เสียงหวีดร้องของผู้คนในงาน เสียงร่ำไห้ และ ความตื่นตะลึงเกิดขึ้น มือปืนยืนนิ่งอยู่ตรงหน้าของศพที่แน่นิ่งจมกองเลือดอย่างไร้ซึ่งอารมณ์ ข
Mister American
สำหรับหลายคน หนังเรื่องแรกเป็นเสมือนความฝันอันงดงามที่อยากจะทำให้สำเร็จ แต่สำหรับผู้กำกับหลายคนนั้นหนังเรื่องแรกของพวกเขานั้นไม่ได้สวยงามหรืออกมาราบรื่นอย่างที่คิด บางคนถูกไล่ออกจากโปรเจ็ท บางคนเกือบสติแตก หรือ บางคนก็เจอการกดดันจากอิทธิพลที่
Mister American
"วิญญาณคือ ความทรงจำที่ตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีหรือเลวร้าย มันจะยังคงอยู่และปรากฏขึ้นเสมอ"
Mister American
ระหว่างที่ผมกำลังนั่งเขียนต้นฉบับอยู่ตอนนี้ภาพยนตร์ซอมบี้ทุนต่ำเรื่องใหม่จากเกาะญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า One Cut of the dead กำลังสร้างกระแสครั้งใหญ่ให้กับวงการหนัง เมื่อ หนังซอมบี้ทุนต่ำเรื่องนี้ทำรายได้ถล่มทลายไปแล้วทั่วโลกกว่า 10 ล้า
Mister American
คิชิดะ จุน เป็นเด็กหนุ่มมัธยมปลายที่มองเห็นคนตายได้ และ ข้าง ๆ เขานั้นมี ฮายาคาวะ เคียวโกะ เพื่อนสมัยเด็กที่ถูกฆ่าตายและมาปรากฏตัวอยู่เคียงข้างเขา ท่ามกลางเรื่องราวสยองขวัญ ลึกลับที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา
Mister American
คงไม่ต้องแปลกใจหาก KOE NO KATACHI หรือ รักไร้เสียง อนิเมชั่นเรื่องดังจากญี่ปุ่นโดยฝีมือผลงานของสตูดิโอ Kyoto Animation หรือที่เรียกติดปากนักดูอนิเมะว่า เกียวอนิเมะ ผู้ผลิตอนิเมชั่นชื่อดังอย่าง Clannad , Kanon , K-on เป็นต้น จะกลายเป็นห
Mister American
คงไม่ใช่ความน่าแปลกหรือประหลาดใจอีกแล้วกับปรากฏการณ์หนังอีสานถล่มเมืองที่นับจากผู้บ่าวไทบ้านภาคแรกเข้าฉายในปี 2014 และทำเงินไปได้อย่างมากมายในแผ่นดินอีสานนั้นจะทำให้เกิดหนังลูกอีสานหน้าใหม่ขึ้นอย่างมากมาย และแน่นอนว่า ความสำเร็จนี้ได้ต่อยอดให้หนังอ
Mister American
ณ ช่วงเวลานี้คงไม่มีอนิเมชั่นเรื่องใดถูกกล่าวถึงและพูดมากกว่า อนิเมชั่นเรื่องล่าสุดของชินไค มาโคโตะ ผู้กำกับอนิเมชั่นดราม่าชื่อดังอย่าง 5 centimeters per second หรือ The Garden of word อย่าง Your Name หรือ Kimi No Nawa (หลับตาฝันถึงชื
Mister American
คงไม่ต้องแปลกใจว่า หากจะมองหาหนังไทยสักเรื่องที่น่าหยิบมาพูดถึงหนังเรื่อง ผู้บ่าวไทบ้าน 2 ตอน แจกข้าวหาแม่ใหญ่แดง นั้นเป็นหนึ่งในหนังที่ควรหยิบมาพูดมากเรื่องหนึ่งในขณะนี้นอกจากจะเป็นหนังภาคต่อที่สานความสำเร็จมาจากภาคแรกที่สร้างปรากฏหนังท้องถิ่นนิยมให้เกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อหนังเล็ก ๆ นี้
Mister American
นี่คือ การกลับมาที่ทุกคนรอคอย ภายหลังจาก ก็อตซิลล่าฮอลลีวู้ดของ กาเรธ เอ็ดเวริ์ดออกอาละวาดไปในปี 2014 และแน่นอนว่า มันทำให้ชื่อของก็อตซิลล่าลืมตาตื่นขึ้นอีกครั้ง ทว่า สำหรับแฟน ๆ เดนตายของก็อตซิลล่านั้นคงค่อนข้างที่จะผิดหวังที่ได้เห็นก็อตซิล