Skip to main content

ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่คละเคล้าก่อตัวกันเป็นโลกและชีวิต มีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติ อย่างปกติ.....


ลมหนาวพัดกรรโชกไร้ทิศทาง พัดพาเอาควันไฟจากกองฟืนใต้ถุนกระท่อมเล็ดลอดผ่านช่องว่างแผ่นกระดานปูพื้นทำให้รู้สึกแสบตาแสบจมูกอยู่เป็นระยะ


ต้นไม้ขนาดพอกอด ที่ล้มลงเองตามวาระ เนื่องจากที่โคนถูกไฟที่ลุกลามมาจากป่า เมื่อปีก่อนที่ฉันจะมาอยู่ที่นี่ และบังเอิญมันเป็นไม้ที่อยู่ตรงเขตแดน เ มื่อฝนตกหนักมันจึงล้มฟาดลงมานอนในเขตพื้นที่ของฉัน ฉันจึงใช้รถแทร็คเตอร์ลากมาเก็บที่หน้ากระท่อม ตอนนี้มันกำลังลุกไหม้เป็นเปลวไฟ ส่งประกายแดงวาบเปล่งความอบอุ่นกล่อมเจ้าหมาน้อยใหญ่ห้าตัวให้ยอมนอนหลับที่ใต้บันได ความจำเป็นอย่างนี้ ที่ต้องทำการเผาผลาญต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดการตื่นขึ้นมาใส่ไฟในยามดึก ไม้ขนาดใหญ่จะลุกไหม้นาน แค่เปลี่ยนเป็นถ่านแดงๆ ก็สามารถให้ไออุ่นได้ทั้งคืน


แต่ยามกลางวันนี่สิ กว่าฉันจะดับไฟได้ ต้องใช้กระบอกฉีดน้ำเล็กๆ ฉีดพ่นอยู่นาน

ไฟสุมขอนดับยากจริงๆ” นึกถึงคำเปรียบเปรยที่ใช้กับสถานการณ์ทางภาคใต้ มันช่างยากจะดับให้สนิทจริงๆด้วย

เมื่อสมัยเป็นเด็ก เคยเห็นพ่ออมน้ำแล้วพ่นเป็นฟองฝอยลงใส่ไฟ พ่อบอกว่า เป็นการดับไฟอย่างนุ่มนวล ไม่ให้อากาศไล่ขี้เถ้าให้ฟุ้งขึ้นมา จนเลอะเทอะบ้าน มาวันนี้ฉันทำหน้าที่ดับไฟของตัวเองอย่างช้าๆ แต่หลายครั้งต้องกลับมาฉีดน้ำใหม่ เพราะลมหนาวที่กระพือพัดอย่างแข็งขัน โหมให้เปลวไฟลุกโชนขึ้นมาใหม่อย่างง่ายดาย


ครั้งหนึ่งด้วยความใจร้อน ตักน้ำใส่ฝักบัวแล้วราดลงไป ผลก็คือขี้เถ้าลอยฟุ้งกระจาย เกาะตามเนื้อตัวผมเผ้าจนขาวโพลน ขาวไปทั่วบ้าน


จึงรู้ว่าการดับไฟ ทั้งภายนอกและภายใน ต้องใส่ใจระมัดระวังอย่างรู้วิธี


นอกจากเรื่องของไฟ ฉันยังเป็นหนี้บุญคุณต่อดิน เพราะฉันเป็นคนปลูกต้นไม้ ดังนั้นเรื่องการจัดการกับดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฉันจะต้องเรียนรู้ การฟื้นฟูชีวิตของดินให้หวนคืนมา ฉันต้องพึ่งพาน้ำ หากปราศจากน้ำฉันคงไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนปลูกต้นไม้ แต่วิธีการที่จะให้น้ำ ต้องใช้ความประณีตบรรจงพอสมควร ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการฆาตกรรมดินซ้ำสอง


การดูแลต้นไม้ ต้องค่อยๆรดน้ำให้ซึมลงไปในดินทีละนิด หรือใช้การขุดหลุมให้ลึกประมาณข้อศอกแต่มีขนาดแคบเพื่อเอาขวดน้ำปักลงไปในดิน ให้น้ำไหลซึมออกมาสู่เนื้อดินที่ละนิดแล้ว ต้นไม้ดูดน้ำเข้าสู่ลำต้นทางหมวกรากได้เร็วที่สุด ไม่ต้องให้น้ำสูญเสียไปกับแสงแดด ไม่ทำให้ดินทรายจับก้อนแข็งราวผลึกแก้วที่พร้อมจะกักเก็บและสะท้อนไอร้อนขึ้นสู่อากาศได้อีก


หากดินเป็นกระดาษและต้นไม้เป็นตัวอักษร อันมีน้ำเป็นปากกา วิธีการเขียนอักษรต้องใจเย็น จึงจะทำให้อักษรเด่นชัดขึ้นมา ขณะที่มีแรงลมคอยเกื้อกูลอย่างเงียบๆ ส่วนไฟนั้นเล่า ไฟที่เป็นเชื้อเพลิง ฉันใช้มันเพื่อดำรงชีวิต

แม้จะไม่เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้เท่าใดนัก แต่มันก็เกี่ยวเนื่องกัน ต้นไม้ที่ใช้มาทำเชื้อเพลิงหุงต้มในทุกวัน ฉันเก็บมาจากป่าข้างไร่ จากต้นที่ล้มตายลงมีอยู่เหลือเฟือ


เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการได้มาของไฟและความอบอุ่นจากไฟแล้ว สิ่งที่เหลือจากกองไฟคือขึ้เถ้า มันก็จะกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีแก่ต้นไม้ต่อไป


ฉะนี้แล้ว จะไม่เรียกว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ชีวิตฉันได้อย่างไร


แต่ในนามของดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบเป็นตัวตนภายใน

ฉันเหมือนดินที่ผุกร่อนลงทุกวัน รู้สึกได้ถึงสายน้ำที่ไหลวนอย่างแปรปรวน ส่วนลมนั้นเล่า บ่อยครั้งที่ก่อตัวพัดโหมรุนแรง แต่บางครั้งก็อ่อนล้าคล้ายขาดสาย ส่วนสิ่งสุดท้ายที่สำคัญ คือไฟ บ่อยครั้งที่สุด ที่ไฟภายในลุกโหมเผาไหม้ตัวเองจนแทบกลายเป็นจุล โดยไม่รู้เหตุแห่งที่มา


ยามก้มเก็บไม้ผุเพื่อเอามาเผาไฟ ยามเขียนอักษรต้นไม้ลงบนกระดาษดิน

ฉันบอกกับตัวเองเสมอว่า นี่คือโอกาส ที่จะได้ “รู้” ในเรื่องราวของดิน น้ำ ลม ไฟ


บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล