Skip to main content
วันจากไปนิรันดร์ของใครบางคน ทำให้ใครหลายคนมาเจอกัน วันเช่นนั้น มักจะมีม่านแห่งความเศร้าคลี่คลุมไปทั่ว บางคนที่ตั้งสติได้ อาจย้อนถามใจตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งฉันจะต้องเป็นผู้ไปบ้าง อะไรจะเกิดขึ้น

 

อะไรจะเกิดขึ้น หมายถึงอะไรเล่า

หมายถึงความเศร้าโศกเสียใจของใครบ้างหรือเปล่า

หรือหมายถึง ความชื่นชมยินดีในวิถีแห่งการตาย พร้อมคำว่า....สาธุ

เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ฉันได้เดินทางสู่เทือกภูพาน เพื่อไปพบเจอกับความตายอันงดงามนั้น และเรื่องราวที่อยากถ่ายทอด ไม่ใช่เพียงเรื่องของเรือนร่างที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีธรรมชาติ แต่เป็นบันทึกที่เจ้าของร่างทิ้งเอาไว้ให้เราอ่านเป็นบทเรียน

 

เด็กหญิง อายุ 12 ปี ป่วยเป็นมะเร็งในตับอ่อนรายที่สามของประเทศไทย หมอบอกว่าเธอจะมีเวลาเหลือ 2 เดือน ถ้ารักษาด้วยเคมีบำบัด แต่เธอได้ปฏิเสธการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วตัดสินเลือกธรรมโอสถเยียวยาตัวเอง จนมีเวลาอยู่ต่อมาได้อีก 4 เดือน พร้อมบันทึก 4 เล่ม ที่ตรึงใจ

 

 

ตอนที่แล้ว.....แม่พาลูกไปอาบแดด ที่ข้างกุฏิ

 

ถึงเวลาที่ต้องเข้านอนในห้อง แม่อุ้มประคองร่างลูกน้อยด้วยความระมัดระวังเกรงว่าลูกจะเจ็บ เพราะร่างกายของลูกบอบบางเหลือเกิน ก่อนนอนของทุกวันแม่กับพ่อจะต้องนวดฝ่าเท้าให้ลูก แต่วันนี้แม่ทำคนเดียวเพราะพ่อไปงานศพลุงยุทธ แม่นวดเบาๆอย่างทะนุถนอม แล้วลูกก็ผ่อนคลายร่างกายอย่างสบายอยู่บนเตียงนอน มีหนังสือที่ลูกชอบอ่าน คือประวัติหลวงปู่มั่น วางไว้บนหัวเตียง (ลูกน้อยชอบวางหนังสือไว้บนหัวเตียงทุกครั้งก่อนนอนตั้งแต่เล็กๆแล้วถ้าไม่มีหนังสือจะนอนไม่หลับต้องหามาจนได้) คืนสุดท้ายมีหนังสือ 4 เล่มอยู่บนหัวนอนคือหลวงปู่มั่น, รัตนนารี, สัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลก, 40 ภิกษุณีอรหันต์

 

คืนนั้น ลูกนอนหลับตั้งแต่หัวค่ำ แต่ตื่นบ่อยมากเพราะหิวน้ำบ่อยกว่าปกติ (อาจเป็นเพราะเมื่อตอนกลางวันลูกดื่มน้ำมะพร้าวไปสามลูก) และถ่ายอุจจาระไม่รู้ตัว

"ลูกรู้สึกตัวมั้ยว่าลูกถ่าย" ลูกน้อยส่ายหน้าเบาๆ ทำให้แม่กังวลใจไม่น้อยทำไมลูกแม่จึงเป็นอย่างนี้

 

ประมาณห้าทุ่มลูกสะดุ้งตื่นเพราะฝันร้าย แม่ซึ่งยังหลับๆตื่นๆ คอยสังเกตอาการของลูก รีบกอดลูกไว้แนบอก

"แม่จ๋า มีคนมัดมือมัดเท้าของป่านเอาไว้ จนอึดอัดหายใจแทบไม่ออก ป่านพยายามดิ้นรนต่อสู้ แล้วตัดสินใจหายใจเข้าลึกๆ จึงตื่นจ้ะแม่"

"มันเป็นเพียงความฝันเท่านั้นเองแหละลูก ไม่มีใครมาทำอันตรายอะไรหนูได้หรอก" ลูกกอดแม่ แม่กอดลูกด้วยความรักและสงสารลูกจับใจ ลูบหัวให้ผ่อนคลาย ลูกเงียบไปชั่วครู่ แล้วถามว่า

"เมื่อไหร่พ่อจะกลับมาล่ะจ๊ะแม่ พ่อคงกลับถึงวัดตอนเช้านะแม่" คำถามของลูก ทำให้แม่รู้ว่าจิตใจของลูกคงรอพ่ออยู่

"พ่อคงถึงพรุ่งนี้เช้านะลูกเพราะนี่ก็ดึกแล้ว" ตามกำหนดแล้วเป็นอย่างนั้น และลูกก็รู้ว่าพ่อไปช่วยงานศพของลุงยุทธ ลุงยุทธที่เป็นมะเร็งเช่นเดียวกันกับลูก และเป็นหัวหน้าของพ่อ ได้เสียชีวิตไปเมื่อตอนสายของวันที่


20 สิงหาคม 2551 แต่ไม่นานนัก พ่อก็มาถึง พ่อกลับมาที่วัด มาหาลูกในเวลาเที่ยงคืน พ่อคงห่วงลูกมาก การขับรถทางไกลจากขอนแก่นมาดงหลวง หนทางไม่ใกล้นัก แม่รู้ว่าหัวใจของพ่ออยู่ที่ลูกตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อมาเห็นอาการบางอย่างของลูก จึงกระซิบบอกกับแม่ว่า

"ลูกเราอาการไม่ดีแล้วนะแม่ สงสัยว่าลูกคงอยู่กับเราได้อีกไม่นาน" พ่อพูดเบาๆไม่ให้ลูกได้ยิน แม่นิ่งเงียบไม่โต้ตอบ เพราะหัวใจของแม่มันไม่ยอมรับรู้ในเรื่องนี้

"พ่อ ลูกบอกว่าลูกหายใจไม่สะดวกด้วยนะ" แม่เปลี่ยนเรื่อง พ่อซึ่งนั่งจับมือลูก ลูบหัวลูกอย่างอ่อนโยน

 

แม่จึงทำ "กัวซา" และนวดเฟ้นตามร่างกายโดยเฉพาะที่เท้าอันเย็นเฉียบให้ลูก แม่นวดคลำอยู่อย่างนั้นแทบตลอดคืน

คืนนั้น เป็นคืนที่ยาวนานและทรมานหัวใจแม่อย่างเป็นที่สุด แม่อยากให้ท้องฟ้าสว่างเร็วๆเพื่อว่าบรรยากาศแห่งความกดดันจะทุเลาเบาบางลงบ้าง พ่อและแม่นั่งสมาธิประคองมือลูกสาวตัวน้อยไว้ในอุ้งมือ แล้วแผ่เมตตาภาวนาถ่ายทอดพลังชีวิตให้แก่ลูกจนกระทั่งลูกหลับไปอย่างสงบสบาย

 

ทุกๆวันที่ลูกนอนอาบแดด ลูกจะนอนหลับตาทำสมาธิ วันนี้ลูกหลับตานิ่งนานคล้ายหลับลึกจนแม่เป็นห่วง แสงแดดจ้ามาก แม่จึงอุ้มลูกกลับมานอนที่ระเบียงกุฏิ ในขณะที่ช้อนร่างเล็กๆของลูก น้ำหนักร่างช่างเบาหวิวเหลือเกิน แต่ทว่าในใจแม่กลับหนักอึ้ง เมื่อรู้ว่าวันนี้ความร้อนของแสงตะวันไม่สามารถสลายความเย็นเฉียบที่ห่อหุ้มแข้งขาของลูกได้อีกแล้ว

 

แม่ค่อยๆวางร่างอันบางเฉียบลงนั่งพิงเบาะหนา แม่ส่งถาดผลไม้ให้ลูกอธิษฐานถวายแด่หลวงพ่อ และกล่าวอุทิศบุญ จากนั้นแม่ค่อยๆประคองให้ลูกนอน ปกติลูกจะนอนตะแคงอ่านหนังสือ สลับกับการเขียนบันทึก วันนี้ แม่เห็นลูกหยิบเล่มที่เป็นเรื่องราวของหลวงปู่มั่นมาอ่านบ่อยที่สุด สลับกับเล่มอื่นๆ ที่ลูกชอบอ่าน หนังสือทั้งหมดที่มีอยู่หลายสิบเล่มลูกอ่านหมดแล้ว วันนี้คงเป็นวันที่อ่านทบทวนในเรื่องที่ลูกสนใจจริงๆ

 

แม่นวดให้ลูกตลอดเวลาจนลูกหลับไป และตื่นมาในเวลาเที่ยงกว่าๆ แม่เห็นความสดชื่นของลูกมีมากขึ้น จึงวางใจว่าลูกกลับมาเข้มแข็งได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

 

หลังจากกินอาหารเที่ยง ลูกนอนหลับอย่างยาวนาน แม่ไม่พยายามรบกวนใดๆ จนกระทั่งลูกตื่นขึ้นมาในเวลาสี่โมงเย็น ได้เวลาอาหารเย็นและเป็นเวลาที่ป้าเฒ่ากับลุงเปี๊ยกขึ้นมาเยี่ยมตามปกติ วันนี้ป้าเฒ่ามีเพื่อนพยาบาลที่ทำงานที่โรงพยาบาลเขาวงมาด้วยหนึ่งคน

 

ป้าเฒ่ากับเพื่อนพยาบาลจับที่ชีพจรของลูกแล้วมองหน้ากัน ป้าเฒ่าบอกว่าพรุ่งนี้จะขอเตียงผู้ป่วยกับออกซิเจนที่โรงพยาบาลมาให้ เวลานั่งนอนจะได้สะดวกขึ้น จากนั้นป้าเฒ่าก็พาเพื่อนพยาบาลเดินชมบริเวณวัดลุงเปี๊ยกไม่ได้ไปด้วย นั่งคุยกับพ่ออยู่ใกล้ๆที่ลูกนอน พ่อคงเห็นอาการบางอย่างของลูกที่คิดว่าผิดปกติ จึงร้องถามอย่างตกใจ

"ป่าน เป็นอะไรไปลูก" ลูกสบตาพ่อสงบนิ่ง ตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า

"พ่อ หนูไม่ได้เป็นอะไรซักหน่อย" ทุกคนชะงัก แม้แต่แม่ พ่อและลุงเปี๊ยกหันมาจับมือกันอย่างดีใจ หัวเราะอย่างลืมตัว น้ำตาของแม่ที่ปริ่มๆพลัดร่วงลงมาอย่างไม่รู้ตัว

ป้าเฒ่ากับเพื่อนๆเดินกลับมาที่กุฎิอีกครั้งและบอกกับลูกว่า

"รอป้านะ แล้วป้าจะกลับมาหาอีกในคืนนี้" ลูกน้อยพยักหน้ารับคำช้าๆ

จากนั้นป้าเฒ่า ลุงเปี๊ยกและเพื่อนที่มาด้วยกันก็เดินทางกลับ

 

เมื่อทุกคนกลับลงไปแล้ว เวลาประมาณสี่โมงเย็น ลูกทานผลไม้แล้วเขียนบันทึกว่า

16.18 น. กินหมากเบน+น้อยหน่า+ส้มเช้ง
16.31 น. กินผลไม้เสร็จ ใช้เวลา 13 นาที

 

นี่คือบันทึกช่วงสุดท้ายของลูก ถ้าลูกยังแข็งแรงเช่นทุกวัน ลูกจะต้องบันทึกอาการของร่างกายที่เกิดจากการพอกยาในตอนหัวค่ำ การพอกยาครั้งสุดท้ายนี้ ลูกไม่สามารถบันทึกเพื่อรายงานหลวงพ่อได้อีกแล้ว

 

(ยังมีต่อ)

 

วันสุดท้ายของชีวิต เราควรจะมีท่าทีต่อมันอย่างไร ฉันถามตัวเองบ่อยครั้ง และยังสงสัยว่าการเตรียมพร้อมนั้นต้องพร้อมตั้งแต่เมื่อใด และอย่างไรจึงจะเรียกว่าพร้อม

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล