Skip to main content

 

วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 . ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
\\/--break--\>

 

ตอนทำพิธี หลวงพ่อถามว่าจะรับศีลข้อที่ไม่ถือเงินด้วยหรือเปล่า ลูกบอกว่า ไม่สามารถถือปฏิบัติในข้อนี้ได้เพราะลูกตั้งใจว่า ถ้าหายจากอาการป่วย ลูกจะเดินทางไปเรียนต่อที่ธิเบต การเดินทางและเล่าเรียนจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงิน การมีเงินไว้ใช้สอยและจัดการด้วยตนเองได้ จึงยังต้องทำ

 

คืนนั้น ในท่ามกลางความสงัดเงียบของวัด แสงไฟสลัวรางจากเปลวเทียนแท่งใหญ่ สาดจับผนังถ้ำเป็นเงาวิบวับ ทุกคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ต่างใจจดจ่อกับภาพตรงหน้า นั่นคือ พ่อ แม่ และญาติมิตรที่เป็นสักขีพยานเพียงไม่กี่คน หนังอยู่แถวด้านหลังลูก ซึ่งนั่งสงบนิ่งในชุดขาว ตรงหน้าของหลวงพ่อ
 

แม่หวั่นใจว่า ลูกจะประคองตัวนั่งตรงๆได้นานสักแค่ไหน เพราะปกติต้องนั่งพิงหมอนนุ่มๆ แต่คืนสำคัญเช่นนี้ แม้แม่จะเป็นห่วงกลัวลูกจะประคองตัวนั่งได้ไม่นาน แต่แม่ก็ภาวนาขอให้ลูกสามารถผ่านพิธีกรรมนี้ให้ได้ด้วยดี จนถึงที่สุด

 

ลูกแม่ ตอนที่ลูกท่องคำขอบวช ทุกคนในที่นั้นยิ่งนิ่งอึ้ง จากภาวะที่นิ่งเงียบอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ความสงบสงัดแผ่ซ่านไปทั่ว เสียงของลูกที่กังวานออกมาจากจิตอันแน่วแน่ มีพลังเต็มเปี่ยม เรียกว่าได้ว่า เป็นน้ำเสียงที่ออกมาจากดวงจิตที่ห้าวหาญ จึงดังกังวานสดใส คล้ายระฆังแก้ว แม้น้ำเสียงจะขาดห้วงกระท่อนกระแท่นไปบ้าง เพราะความเหนื่อย แต่พลังเสียงไม่ได้ลดน้อยลง


ลูกแม่
..แม่ไม่ได้พูดเกินความจริง ทุกคนต่างยืนยันและบอกว่า เหลือเชื่อ...เหลือเชื่อเพราะว่า ไม่มีใครคิดว่าลูกจะนั่งได้ตัวตรงๆพนมมือได้นานขนาดนั้น และที่เหลือเชื่อที่สองคือ หลังจากผ่านพิธีบวชไปแล้ว ทุกคนนั่งสมาธินิ่งเงียบรวมทั้งลูก สิ่งที่แม่กังวลตลอดเวลาคือ กลัวว่าลูกจะทรุดลงเพราะไม่สามารถทรงตัวได้ ทั้งจากความอ่อนเพลีย และความผอมบางของร่างกาย ที่ไม่มีกล้ามเนื้อสะโพกมารองรับการนั่งได้อีกแล้ว แต่ลูกกลับทำในสิ่งที่เกินคาดหมาย ลูกนั่งหลับตานิ่งอยู่ในท่าสมาธิได้นานถึง 45 นาที

 

นั่นคือครั้งแรกและครั้งเดียว ที่ลูกนั่งสมาธิได้นานขนาดนั้น แม้ว่าวันพระต่อมา ที่ลูกจดจ่อเฝ้ารอการมาฟังคำเทศน์และทำสมาธิที่ถ้ำ นับจากวันนั้นแล้ว ลูกได้ใช้เวลานั่งน้อยลง และเพียงสามครั้งเท่านั้น สำหรับวันพระที่ในถ้ำ แล้วลูกก็จากเราไป

 

 

น่าแปลก ที่ลูกไม่ได้เขียนเรื่องการบวชไว้เลยในบันทึก

บันทึกในวันที่ 1 สิงหาคม ลูกเขียนเรื่องราวทั่วๆไป ในเรื่องอาหารการกิน และญาติมิตรที่มาเยี่ยม วันนั้นเป็นคณะลุงยงค์ ป้าจ๋า ลุงขุน ป้าตุ๋ย จากขอนแก่นมาเยี่ยม และแม่สังเกตเห็นช่วงเวลาที่หายไป คือช่วงที่ทำพิธีกรรมอยู่ที่ถ้ำ

 

16.34 . อาบน้ำต้มสมุนไพร สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำแล้วรู้สึกสดชื่นชึ้น หอมกลิ่นสมุนไพรตามตัว

.........(ช่วงเวลาที่ขาดหายไปนี้ คือช่วงที่ทำพิธีบวช)...

20.42 . กินยาธิเบต กินน้ำอุ่น

 

วันต่อมาก็เป็นป้าเฒ่า ลุงเปี๊ยก อาปลา ลุงชัย ป้านกยูง ฝากสมุดวาดรูปที่ทำเองมาให้ด้วย สมุดนั้นช่วยกันทำหลายคน มีเพื่อนลุงชัย ที่ชื่อ เมธี เมธา ด้วย

 

ตอนบ่ายๆของทุกวัน หลวงพ่อยังคงมาสอนธรรมะให้ลูกที่กุฎิสม่ำเสมอ และตอนเย็นลูกจะทำวัตรเย็น เจริญเมตตาพรหมวิหาร

 

แม่เริ่มพบว่ามีบางอย่างที่แปลกออกไปจากวันก่อนๆ

เริ่มจาก วันที่ 4 สิงหาคม ในบันทึกนั้นมีเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้น

 

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล