Skip to main content
ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นจากถนนวอลล์สตรีทในสหรัฐอเมริกากำลังลุกลามไปอย่างรวดเร็วราวกับลาวาภูเขาไฟไปสู่ทุกถนนของโลก ในภาคใต้ของประเทศไทยโดยหน่วยงานของรัฐและการนิคมอุตสาหกรรมก็กำลังดำเนินการให้มีแผนพัฒนาภาคใต้ด้วยโครงการต่าง ๆ มากมาย ทั้งโดยเปิดเผยและแอบแฝง


ตัวอย่างของโครงการเหล่านี้ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในจังหวัดนครศรีธรรมราช โครงการอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี โครงการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเซฟรอน ที่นครศรีธรรมราช ตลอดจนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 3 โรง นอกจากนี้ยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดตรัง และท่าเทียบเรือน้ำลึกในจังหวัดสงขลาและอีกหลายจังหวัด เป็นต้น


ถ้ากล่าวโดยสั้น ๆ จะได้ว่า ภาคใต้กำลังจะถูกทำให้เป็นมาบตาพุดแห่งที่สองนั่นเอง


สิ่งที่รัฐบาลและสังคมไทยควรตั้งคำถามก็คือ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งของโลกและของประเทศไทยในขณะนี้นั้น มันเป็นทิศทางที่ถูกต้องดีแล้วจริงหรือ เรามีทางเลือกอื่นในการพัฒนาอีกหรือไม่


ข่าวทีวีหลายช่องรายงานว่า คนอเมริกันเองได้ตั้งคำถามอย่างโกรธแค้นกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเอไอจี (AIG- American International Group) ว่า ในขณะที่บริษัทขาดทุนจนรัฐบาลต้องนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาช่วยเหลือบริษัทนับล้านล้านบาท แต่บริษัทนี้ก็จ่ายโบนัสให้กับผู้บริหารนับหมื่นล้านบาท


เหตุผลที่เขานำมาอ้างก็คือ มันเป็นสัญญาที่ได้ทำไว้แล้ว การไม่รักษาสัญญาอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบกฎหมายของประเทศได้


พูดถึงตรงนี้ก็ต้องวกมาที่กองทุน กบข. ของบ้านเรา ในขณะที่กิจการกำลังมีปัญหา กบข. ก็จ่ายโบนัสให้กับพนักงานถึงสองเดือนกว่า


แม้คุณจะอ้างว่าต้องทำตามสัญญา แต่สัญญาในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามทำนองครองธรรมอย่างแน่นอน


มันเป็นเหตุผลเดียวกับที่หมาป่าใช้อ้างเพื่อที่จะกินลูกแกะในนิทานอีสบนั่นเอง


ผมเองเคยตั้งคำถามถึงความผิดปกติของระบบเศรษฐกิจโลกมานานแล้วว่า ถ้าโลกมีการซื้อขายนักฟุตบอลดัง ๆ ระดับโลกในราคาคนละนับหมื่นนับพันล้านบาท ในขณะที่เงินเดือนคนทำงานและคนใช้สมองทั่วไปยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ระบบเศรษฐกิจโลกเส็งเคร็งเช่นนี้ก็ไม่น่าจะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน


ประเด็นหลักของบทความนี้ คือ ทำไมผู้มีอำนาจในขณะนี้ซึ่งได้แก่นักการเมือง ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไปจึงไม่ตั้งคำถามกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย


บทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ศาลปกครองจังหวัดระยองได้สั่งให้รัฐบาลประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สอนอะไรเราบ้าง


จากรายงานการศึกษาที่สนับสนุนโดยหน่วยงานของรัฐบาลพบว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ได้เปลี่ยนจังหวัดระยองจากที่เคยมีรายได้หลักจากการเกษตร อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวอย่างสมดุล (เศรษฐกิจ 3 ขา) มาเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวโดยมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมถึง 80 % สาขาอื่น ๆ แทบจะไม่มีความหมาย


แต่แม้ว่าจังหวัดระยองจะมีรายได้ต่อหัวมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนจังหวัดนครปฐม (เศรษฐกิจ 3 ขา) ถึง 6 เท่า แต่คนระยองกลับมีครัวเรือนที่มีหนี้สิน มีสัดส่วนคนจน และมีอัตราการว่างงานมากกว่าจังหวัดนครปฐมเสียอีก


นี่ยังไม่ได้นับถึงปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่น ยาเสพติด อัตราผู้ป่วยเอดส์ โรคทางเดินหายใจ มะเร็ง ตลอดจนกุ้ง หอย ปู ปลาในทะเล ผักผลไม้ที่ถูกทำลายไป


ผมเชื่อว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับมาบตาพุด ไม่ใช่เป็นแค่ตัวอย่างหรือเรื่องบังเอิญเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงระบบของเศรษฐกิจทั้งโลกเลยทีเดียว


นักเศรษฐศาสตร์จากประเทศรัสเซีย (วาสิลี โคลตาซอฟ) วิเคราะห์ว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้กู้ที่ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกันอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักวิเคราะห์กัน


แต่เกิดจากประเทศอุตสาหกรรมในโลกที่หนึ่ง (ปัจจุบันหมายถึงสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว) ได้ย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศโลกที่สาม (เกาหลี ไต้หวัน ไทย จีน ฯลฯ) โดยมีเป้าประสงค์หลักอยู่ 3 ประการ คือ (1) หาแหล่งแรงงานราคาถูก (2) กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เข้มงวด และ (3) ไม่มีสหภาพแรงงานหรือมีก็ไม่เข้มแข็งพอ


เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมถูกย้ายออกไปสู่ประเทศด้อยพัฒนา จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 อย่าง คือ (1) นักลงทุนจำนวนหนึ่งสามารถสูบกำไรกลับประเทศของตนเอง จนสร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาลให้กับเจ้าของกิจการ และ (2) รายได้ที่แท้จริง (เมื่อคิดเงินเฟ้อด้วย) ของชนชั้นกลางในสหรัฐอเมริกาก็ลดลง จนต้องกู้หนี้ยืมสิน เมื่อ 20 ปีก่อนนี้ รายจ่ายหมวดที่อยู่อาศัยของคนอเมริกันอยู่ที่ 25% ของรายได้ แต่ทุกวันนี้ได้เพิ่มขึ้นมาถึง 50-60 %


ไม่นานมานี้ ข่าวทีวีได้ฉายให้เห็นภาพสองด้านที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันนี้

ภาพแรก ข่าวทางโทรทัศน์หลายช่องในบ้านเราได้ถ่ายให้เห็นภาพคนอเมริกันที่ถูกยึดบ้านที่กำลังผ่อนซื้อ จนต้องไปกางเต้นส์นอนในที่สาธารณะ มิหนำซ้ำต้องไปแย่งที่ของคนไร้บ้านที่นอนอยู่ก่อนด้วย


ภาพที่สอง มาจากนิตยสารฟอร์ปส์ (Forbs) ที่ได้ประกาศอันดับของเศรษฐีโลก พบว่า ทรัพย์สินของมหาเศรษฐี 3 อันดับแรกรวมกัน (112,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) แล้วประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติของคนไทยทั้งประเทศ


เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนกว่านี้ ผมขอยกข้อมูลขององค์กรหนึ่งของสหประชาชาติที่มีชื่อย่อว่า (WIDER - World Institute for Development Economic Research อ้างโดย Susan George- นักวิจารณ์ระบบทุนนิยมที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลก) ว่า ทรัพย์สินในครัวเรือนของคนทั้งโลกรวมกันแล้วประมาณ 125 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 3 เท่าของรายได้ในแต่ละปีของคนทั้งโลก) พบว่าคนรวยที่สุดเพียง 2 % มีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับครึ่งหนึ่งของโลก ในขณะที่คนครึ่งหนึ่งของโลกที่เป็นคนจนมีทรัพย์สินรวมกันเพียง 1 % เท่านั้น


ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ดังกล่าว ได้สร้างปัญหาให้กับสังคมโลกอย่างมากมาย


เราคงนึกไม่ออกว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีค่าสักเท่าใดกันแน่ เอาอย่างนี้ สมมุติว่าใครคนหนึ่งมีเงินจำนวน 4 หมื่นล้านบาทก็แล้วกัน จากเงินจำนวนนี้ ถ้าเราสามารถได้ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เราสามารถคิดได้ว่า เราจะได้รับดอกเบี้ยวันละ 4.38 ล้านบาท


รายได้จากดอกเบี้ยจำนวนกว่า 4 ล้านบาทต่อวันนี้ สามารถนำไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญหรืออย่างมีผลสะเทือนต่อสังคมได้


กลับมาที่ปัญหาการพัฒนาของประเทศไทยอีกครั้ง


ดร.สาวิตต์ โพธิวิหก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและเคยเป็นผู้วางแผนพัฒนาภาคตะวันออก ได้กล่าวในวงสัมมนาเรื่อง "แผนพัฒนาภาคใต้ ทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยมาบตาพุด" (จัดโดยสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ 13 มีนาคม 2552) ว่า "ภาคใต้มีพื้นที่จำกัด ประชากรก็เพิ่มขึ้นทุกวัน อุตสาหกรรมจะทำให้ลูกหลานของคนใต้สามารถมีงานทำได้"


จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นก็เป็นประเด็นสำคัญในการวางแผนพัฒนา แต่จากการเจาะลึกไปถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องได้พบสิ่งที่น่าสนใจมากคือ ในช่วง 2536 ถึง 2550 จำนวนประชากรของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเพียง 8 % แต่รายได้ประชาชาติในช่วงเดียวกันได้เพิ่มขึ้นถึง 168 % ขณะเดียวกันมูลค่าการใช้พลังงานได้เพิ่มขึ้นถึง 327 %


ตัวเลขเหล่านี้อธิบายว่า จำนวนประชากรของเราไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่ท่านที่ปรึกษากังวล แต่มูลค่าการใช้พลังงานกลับเพิ่มมากกว่ารายได้ที่ได้รับถึงสองเท่า


ในปี 2536 ประเทศไทยใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่า 11 % ของรายได้ประชาชาติ แต่ในอีก 15 ปีต่อมา (2550) มูลค่าพลังงานที่ใช้คิดเป็น 19.3 % หรือเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ ถ้าข้อมูลเป็นอย่างนี้ เราอาจคาดการณ์ได้ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า มูลค่าพลังงานที่ใช้อาจจะเป็น 2 ใน 5 หรือ 40 % ของรายได้ ถึงวันนั้นโปรดอย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในกรณีที่อยู่อาศัยของคนอเมริกัน


ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่า ประเทศเราเน้นไปที่การใช้พลังงานในการหารายได้ แทนที่จะเน้นไปที่การพัฒนาฝีมือ หรือความสามารถทางสมองของคนในชาติ


เมื่อพูดถึงพลังงานซึ่งเราใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น เราก็น่าจะต้องตั้งคำถามอีกเช่นกัน


คือแทนที่เราจะเน้นไปที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ ก๊าซธรรมชาติ (ตามแผนที่ได้กำหนดไว้) ซึ่งเป็นตัวก่อมลพิษและไม่ก่อให้เกิดรายได้กับประชาชนแล้ว ทำไมเราไม่เลือกใช้พลังงานหมุนเวียนที่สามารถก่อให้เกิดรายได้และสร้างงานให้กับคนในชาตินับแสนตำแหน่งได้ด้วย


นี่คือบางคำถามที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เดินตามก้นของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่วันนี้แม้แต่คนอเมริกันเองก็ยังโกรธเคืองและตั้งคำถามให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตอบว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นเร็วหรือต้องนอนยาวไปอีกนาน

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เคยมีคนไปถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ว่า “ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างมากที่สุด” ผู้ถามคงจะคาดหวังว่าไอน์สไตน์น่าจะตอบว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่ไอน์สไตน์กลับตอบว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ “รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว
ประสาท มีแต้ม
  1. คำนำ       ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม ในตอนที่ 1 ผมได้นำข้อมูลที่มาจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นของประเทศไทย ทั้งระดับ ป.6 , ม.3 และมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา โดยวิชาที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ได้เพียงร้อยละ 29.6 เท่านั้น ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่ได้ตั้งไว้ในชื่อบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเราตกต่ำ นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอความคิดเห็นและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย
ประสาท มีแต้ม
๑. คำนำ ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง
ประสาท มีแต้ม
๑. ปัญหาในภาพเล็ก ที่ภาควิชาที่ผมทำงานอยู่คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังคิดทำโครงการที่จะพัฒนานักศึกษานอกเหนือจากรายวิชาและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามปกติแล้ว โครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดีนัก แต่ชื่อโครงการก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันคือ “โครงการรักเจ้าจึงปลูก” ที่มาจากเนื้อเพลง “อิ่มอุ่น” ของ ศุ บุญเลี้ยง
ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
ประสาท มีแต้ม
ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก
ประสาท มีแต้ม
ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52 คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น