Skip to main content
1. คำนำ


บทความนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง ให้เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของคนไทยโดยเฉลี่ยซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ และหากแผนผลิตไฟฟ้าดังกล่าวมีปัญหาแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างไร

สอง เพื่อเล่าถึงการจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าที่ผูกขาดโดย "กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ" จำนวนน้อยตลอดมาและจะชี้ให้เห็นถึงบางสิ่งที่ผมคิดว่า "น่าจะไม่ถูกต้อง"

สาม หากท่านผู้อ่านได้เห็นปัญหาในข้อสองแล้ว จะได้เห็นความจำเป็นของ "การเมืองภาคประชาชน" ในการตรวจสอบโครงการของรัฐมากขึ้น

ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะโจมตีหน่วยงานใด ๆ ขณะเดียวกันหากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดคิดว่า วิธีคิด ตลอดจนข้อมูลของผมไม่ถูกต้อง ผมยินดีรับฟังเสมอครับ แต่โปรดอย่ากล่าวหาว่ากันด้วยวิธีง่าย ๆ ว่าข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ผมขอเริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์ที่สองก่อนนะครับ

 

2. แผนผลิตไฟฟ้า คืออะไร


แผนผลิตไฟฟ้า ก็คือแผนที่จะบอกว่าในอนาคต ประเทศไทยควรจะมีโรงไฟฟ้าจำนวนกี่เมกกะวัตต์ ที่ไหน เมื่อไหร่ ด้วยเชื้อเพลิงประเภทใด และให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดำเนินการ


โดยปกติ ถ้าเราตัดสินใจจะสร้างโรงไฟฟ้า (ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เชื้อเพลิง) ในวันนี้ ก็ต้องรออีกประมาณ 5-7 ปี เราจึงจะได้ใช้งานจริง ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าจึงมีความจำเป็น


อนึ่ง ยังมีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ลม ชีวะมวล ที่ใช้เวลาในการก่อสร้างไม่ถึงหนึ่งปี แต่ "กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ" ไม่ให้ความสนใจ


บทความนี้จะสนใจที่เราควรจะมีโรงไฟฟ้าสักกี่เมกกะวัตต์เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น

 

3. ความเป็นมาของแผนผลิตไฟฟ้า


เอกสารที่ผมนำมาวิจารณ์ในบทความนี้ มาจากเอกสารที่ชื่อยาว ๆ ว่า "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "พีดีพี 2007:ปรับปรุงครั้งที่ 2" เป็นเอกสารที่นำเสนอต่อ "คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา" (20 เมษายน 2552) ผู้เสนอคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


แผนนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โดยก่อนหน้านี้ ( 9 มีนาคม 2552) ได้ผ่านความเห็นชอบ "คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ" ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง


อนึ่ง โปรดสังเกตวันที่ 9 มีนาคม 2552 ไว้ให้ดีนะครับ เพราะเป็นวันที่นำไปสู่ความผิดพลาดที่สำคัญของการปรับปรุงครั้งที่ 2 ซึ่งผมจะวิจารณ์ต่อไป


ความจริงแล้ว แผนพีดีพี 2007 ได้ผ่านรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาแล้ว (มิถุนายน 2550) และปรับปรุงครั้งที่ 1 ในปลายปี 2550 แต่ต้องมาปรับปรุงครั้งที่ 2 ก็เพราะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ดังที่เราทราบกันอยู่

โดยสรุป แผนนี้ได้ผ่านมาถึง 4 รัฐบาลแล้ว แต่ก็ยังมีความผิดพลาดที่ไม่น่าเกิดขึ้นจนได้

 

4. แผนผลิตไฟฟ้า ผิดพลาดตรงไหน


ผมมีข้อสังเกต 4 ข้อต่อไปนี้

หนึ่ง หลักยึดสำคัญที่ "กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ" ของไทยใช้ในการวางแผนผลิตไฟฟ้าในอนาคตก็คือ การพิจารณาจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (หรืออัตราการเพิ่มของจีดีพี) เปรียบเทียบกับอัตราการเพิ่มของการใช้พลังงานไฟฟ้าในอดีต ซึ่งถือว่าเป็นหลักยึดหรือหลักการที่มีเหตุผลมาก


ปัจจุบัน ข้อมูลของไทยเราระบุว่า ถ้าอัตราการเพิ่มของจีดีพีเท่ากับ 1 หน่วย อัตราการเพิ่มของการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ถึง 1.2 หน่วย (นักวิชาการเรียกค่านี้ว่า Elasticity)


เมื่อต้องการจะคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคต ก็ต้องมาการคาดการณ์กันว่า อัตราการเพิ่มของจีดีพีในปีต่อ ๆ ไปจะเป็นเท่าใด จากนั้นก็นำไปคูณกับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในปีที่เพิ่งผ่านไปหมาด ๆ คือปี 2551 แล้วคำนวณปีถัดไปเรื่อยๆ ตามที่เราต้องการ


อนึ่ง นิลส์ บอห์ร (Niels Bohr) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล (ปี 1922) ที่มีความเข้าใจทางสังคมอย่างลึกซึ้งว่า "มันเป็นการยากมากที่จะทำการพยากรณ์ได้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องของอนาคต"


ดังนั้นการพยากรณ์จะถูกจะผิดไม่ใช่เรื่องที่สังคมติดใจ กลับเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะเข้าใจ และเห็นใจถึงความยากลำบากของนักวิชาการ แต่สิ่งที่ติดใจคือการใช้ข้อมูลมาคาดการณ์ต่างหาก


ต่อไปนี้ ท่านผู้อ่านโปรดอ่านอย่างช้า ๆ นะครับ แผนนี้ได้ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ณ วันนั้น กระทรวงพลังงานทราบแล้วว่า ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้จริงในปี 2551 ทั้งปีเท่ากับ 134,707 ล้านหน่วย (ที่มาhttp://www.eppo.go.th/info/stat/T05_03_03.xls)


แต่ในแผนนี้กลับใช้ตัวเลข 147, 229 ล้านหน่วย ซึ่งสูงกว่าความเป็นจริงไปถึง 9.3% ดังนั้นผลลัพธ์ของการทำนายก็ผิดพลาดอย่างน้อย 9.3% แล้ว


คำถามก็คือ มันเกิดอะไรขึ้นกับการ "ปรับปรุงครั้งที่ 2" นี้ ทั้งๆ ที่ข้อมูลแท้จริงได้เกิดขึ้นเกือบ 70 วันมาแล้ว แต่ในแผนยังใช้ข้อมูลที่มาจากการคาดคะเนซึ่งสูงกว่าความเป็นจริง


มีทางที่เป็นไปได้ 3 ทางคือ (1) ลืมปรับตัวเลขใหม่ (2) ขี้เกียจจะปรับ (3) ยังไม่ได้รับข้อมูลใหม่ แต่ในทางที่สามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือของ กฟผ. และเป็นข้อมูลที่วัดได้ตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง (real time)


อย่างไรก็ตาม การผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ได้แสดงให้สังคมเห็นแล้วว่า เป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่คล้ายกับพิธีทอดผ้าบังสุกุลในงานประชุมเพลิงศพเท่านั้นเอง กล่าวคือ พระสงฆ์ทุกรูปพิจารณาแล้วรับทุกรูปทั้ง ๆ ที่บางครั้งไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย


สอง ทั้ง ๆ ที่ทั่วโลกกำลังประสบกับสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงที่สุดตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดยมีการส่งสัญญาณให้เห็นแล้วหลายประการ เช่น การส่งออกรถยนต์ลดลงของไทยถึง 30% การใช้ไฟฟ้าระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2551 ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง (คือลดลงถึง 16% ในสองเดือน) แต่คณะผู้จัดทำแผนผลิตไฟฟ้าของไทยก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร


กล่าวคือ "เขา" คาดว่า "การใช้ไฟฟ้าในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2551 (ที่เกินความจริงมาแล้ว) ถึง 2.19%" โดยนายกอภิสิทธิ์ฯ ก็บอกเองว่าอาจจะติดลบ 4-5 %


นอกจากนี้จากข้อมูลการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของกระทรวงพลังงานเองยังระบุว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม (ที่มีสัดส่วนการใช้เกือบ 40% ของทั้งประเทศ) ภาคธุรกิจ และภาคที่อยู่อาศัย ได้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 12.9 , 12.0 และ 2.6 ตามลำดับ ในขณะที่ในปีปกติจะเพิ่มขึ้นทุกภาคส่วนประมาณ 3-6%


สาม ทำไม "เขา" ไม่นำบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 มาเป็นบทเรียนในครั้งนี้บ้าง


ไม่ใช่เรื่องเสียเวลาหรือยากเย็นอะไรเลยที่จะค้นข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในปี 2540


เช่นเดียวกันครับ จากแหล่งข้อมูลเดิมพบว่า ต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 34 เดือน การใช้ไฟฟ้าจึงกลับมาสู่ระดับเดิม (7,187 ล้านหน่วยในมิถุนายน 2540 มาเป็น 7,173 ล้านหน่วยใน เมษายน 2543)


ดังนั้น เราควรตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2554 จะเท่ากับปี 2551 หากคำถามนี้เป็นไปได้ เราพบว่าการใช้ไฟฟ้าในแผนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะสูงเกินจริงถึง 27,948 ล้านหน่วย หรือประมาณ 1 ใน 5 ของไฟฟ้าที่ใช้ในปี 2551 ทั้งประเทศเลยทีเดียว


สี่ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่เคยมีการ "ประเมินผลหลังโครงการ" ผมจึงย้อนไปตรวจสอบการพยากรณ์ในแผน "พีดีพี 2001" พบว่ามีการพยากรณ์ว่าในปี 2551 จะมีการใช้ไฟฟ้าถึง 162,438 ล้านหน่วย (หลักฐานจาก "ภาระที่ไม่จำเป็นด้านพลังงาน" เขียนโดย ประสาท มีแต้ม) แต่พบว่าในปีดังกล่าวมีการใช้จริงเพียง 134,707 ล้านหน่วย หรือการคาดการณ์สูงกว่าความเป็นจริงถึง 20.6%

นี่เป็นผลเพียง 8 ปี ไม่ใช่ 15 ปีตามที่ "เขา" พยากรณ์ และพยากรณ์ในช่วงที่ไม่มีวิกฤติใด ๆ

 

5. ค่าไฟฟ้าของคนไทยต่อรายได้และความเสียหายจากแผน


ในหัวข้อนี้ ผมมี 2 ประเด็นที่จะนำเสนอ

หนึ่ง เรื่องค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าของคนไทย ในปี 2551 คนไทยทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงินปีละ 3 แสน 8 หมื่น 3 พันล้านบาท โดยที่รายได้ประชาชาติเท่ากับ 9.103 ล้านล้านบาท


หรือโดยเฉลี่ย คนที่มีรายได้เดือนละ 1 หมื่นบาทจะเสียค่าไฟฟ้าถึง 420 บาทต่อเดือน อนึ่ง คนที่มีรายได้เดือนละไม่ถึง 1 หมื่น 5 พันบาท เป็นคนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ให้ความช่วยเหลือ แสดงว่าคนพวกนี้พอจะจัดเป็นพวกที่มีรายได้น้อย ดังนั้นค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในแต่ละบาทจึงมีความหมายต่อพวกเขาพอสมควร


สอง ถ้าแผนผลิตไฟฟ้าสูงเกินจริงแล้วจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีกอย่างไร โดยปกติสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะเป็นแบบ "ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย" ถ้าการพยากรณ์ให้ผลสูงกว่าความเป็นจริงมาก ก็จะมีผลให้ฝ่ายปฏิบัติการต้องเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าไว้มากเกินความจำเป็น ดังนั้นค่าไฟฟ้าก็จะต้องแพงขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะกิจการพวกนี้สะกดคำว่า "ขาดทุนและรับผิดชอบ" ไม่เป็น แต่จะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้

 

6. สรุป


ตามที่ได้เรียนมาแล้วว่า ผมอยากให้สังคมช่วยกันตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจัง รวมทั้งช่วยตรวจสอบเนื้อหาสาระในบทนี้ของผมด้วย


การเมืองภาคประชาชนจะเข้มแข็งได้ ก็ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่ายครับ แต่สำหรับผู้วางแผนผลิตไฟฟ้าชุดนี้นั้น ผมหมดความไว้วางใจมานานด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วแล้วครับ.

 

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
เคยมีคนไปถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ว่า “ท่านคิดว่าสิ่งประดิษฐ์ใดของมนุษย์ที่มีอำนาจในการทำลายล้างมากที่สุด” ผู้ถามคงจะคาดหวังว่าไอน์สไตน์น่าจะตอบว่า “ระเบิดนิวเคลียร์” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวข้องในการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย แต่ไอน์สไตน์กลับตอบว่า “สูตรดอกเบี้ยทบต้น”
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ “รักเจ้าจึงปลูก” เป็นชื่อโครงการที่ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังครุ่นคิดเพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผมเองได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 2 ตอนแล้ว
ประสาท มีแต้ม
  1. คำนำ       ภาพที่เห็นคือบริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จังหวัดสงขลา (ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน 2552) หาดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากของชาวเมืองสงขลา อยู่ทางตอนใต้ของหาดสมิหลาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีประมาณหนึ่งกิโลเมตร สิ่งที่เห็นในภาพที่มีถุงทรายสีขาว ยางรถยนต์เก่ายึดด้วยไม้หลักปักทราย รวมทั้งรูปต้นสนล้ม คงสะท้อนทั้งความรุนแรงของปัญหาและความพยายามแก้ปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม ในตอนที่ 1 ผมได้นำข้อมูลที่มาจากงานวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการที่พบว่า นักเรียนทุกระดับชั้นของประเทศไทย ทั้งระดับ ป.6 , ม.3 และมัธยมปลายมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงครึ่งทุกวิชา โดยวิชาที่สอบได้คะแนนน้อยที่สุดคือวิชาคณิตศาสตร์ ได้เพียงร้อยละ 29.6 เท่านั้น ในตอนที่ 2 นี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาที่ได้ตั้งไว้ในชื่อบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาเราตกต่ำ นอกจากนี้ ผมได้นำเสนอความคิดเห็นและความพยายามของผู้บริหารระดับสูงสุดของมหาวิทยาลัยด้วย
ประสาท มีแต้ม
๑. คำนำ ผมขอเรียนกับท่านผู้อ่าน “ประชาไท” ตามตรงว่า ผมใช้เวลานานมากในการคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เขียนทิ้งเขียนขว้างไปหลายชิ้น ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเพราะว่าผมสับสนในตัวเอง ไม่ทราบว่าจะนำเสนออะไรดีให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง
ประสาท มีแต้ม
๑. ปัญหาในภาพเล็ก ที่ภาควิชาที่ผมทำงานอยู่คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังคิดทำโครงการที่จะพัฒนานักศึกษานอกเหนือจากรายวิชาและกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามปกติแล้ว โครงการยังไม่เป็นรูปเป็นร่างดีนัก แต่ชื่อโครงการก็ค่อนข้างจะเห็นตรงกันคือ “โครงการรักเจ้าจึงปลูก” ที่มาจากเนื้อเพลง “อิ่มอุ่น” ของ ศุ บุญเลี้ยง
ประสาท มีแต้ม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีวิชาบังคับให้นักศึกษาต้องเรียนอยู่วิชาหนึ่งจำนวน 3 หน่วยกิต ชื่อว่า “วิชาวิทยาเขตสีเขียว (greening the campus)” วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้ก็คือ ให้นักศึกษาลุกขึ้นมาศึกษาปัญหาส่วนรวมหรือปัญหาสาธารณะที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง แต่โดยมากมักจะเน้นไปที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการจราจร ปัญหาขวดน้ำพลาสติกที่มีมากอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาการประหยัดพลังงาน และกระดาษ เป็นต้น
ประสาท มีแต้ม
ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
ประสาท มีแต้ม
ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก
ประสาท มีแต้ม
ผมได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อ"ชี้แจงแสดงความคิดเห็น" เรื่อง ค่าการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 1 กรกฎาคม 52 คนนอกที่นอกจากผมแล้วก็มีอีก 6 -7 ท่าน ได้แก่ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนบริษัทบางจาก, บริษัท ปตท. นายกสมาคมผู้ค้าน้ำมันแห่งประเทศไทย, คุณรสนา โตสิตระกูล และนักวิชาการปิโตรเลียม เป็นต้น