ฉันมีโอกาสไปร่วมงานรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ ๑๐ ปีนี้ เลยทำให้อดคิดไม่ได้ว่า รางวัล มีความหมายอย่างไรต่อชีวิตคนบ้าง ลองเปิดพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานดู เขาก็บอกว่า
รางวัลคือ สิ่งของหรือเงินที่ได้มาจากความดี ความชอบ หรือความสามารถ
ย้อนทบทวนตอนเด็กๆ รางวัลแรกของฉันมาจากการวิ่งได้ที่ ๓ จากการวิ่งแข่งกันสี่คน (เกือบไป!) โชคดีได้ขึ้นแท่นรับรางวัลกับเขา ยิ้มแก้มแทบปริ และเมื่อถึงบ้านก็รีบเอาสมุดดินสอมาให้พ่อกับแม่ดู
หลังจากนั้นก็เลยรู้ว่าหากมีการประกวดอะไรก็ตามถ้าเราเข้ารอบ เราก็จะได้รางวัล ดังนั้น นอกจากเล่นกีฬาแล้วฉันก็เลยเริ่มเขียนงานประกวด (ส่วนใหญ่เป็นประเภทเรียงความ) รวมถึงส่งงานไปตามหน้านิตยสารเพราะรู้ว่าถ้าได้ลงเราจะได้ตังค์
แต่เมื่อโตขึ้น เริ่มครุ่นคิดอย่างจริงจังถึงการใช้ชีวิต ฉันตอบคำถามตัวเองได้ว่าชีวิตที่มีคุณค่าคืออะไร จึงรู้ว่าเงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นคุณค่าของการทำงานต่างหาก (ก็คงไม่ต่างอะไรจากต้อยในโฆษณาประกันชีวิตของบริษัทหนึ่ง ฉันชอบโฆษณาชุดนี้เพราะมันช่วยเตือนฉันและคนอื่นๆ ที่บางทีเราจมอยู่กับปัญหาของตนเองมากเกินไปให้คิดได้ว่า หันมองคนอื่นบ้าง อย่างน้อยก็มองต้อยและเด็กๆ เหล่านั้น)
ฉันเลิกคิดถึงเงินรางวัลนับตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยและหันมาทำกิจกรรมที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ฉันเริ่มเขียนหนังสือโดยไม่ได้คิดว่าต้องเอาเงินเป็นตัวตั้ง เลิกฝันถึงการงานอาชีพที่จะมีเงินใช้เยอะๆ รุ่นพี่ที่ชมรมของมหาวิทยาลัยนับว่ามีส่วนช่วยให้ฉันเชื่อมั่นในความคิดนี้ไม่น้อยแต่ว่าเราก็ไม่อาจสลัดเรื่องเงินหรือการยอมรับของสังคมให้หลุดออกจากชีวิตทั้งหมดทั้งมวลได้ นั่นเพราะเรายังมีพ่อแม่พี่น้องที่เป็นเพียงคนธรรมดาๆ ของสังคม พวกเขายังคาดหวังว่าเราจะมีการงานอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่พอเลี้ยงตัวอยู่ได้ไม่ขัดสน มีสวัสดิการชีวิตที่ดี ดังนั้น ไม่แปลกที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยังฝันให้ลูกรับราชการ เพราะสบาย มั่นคง มีเกียรติ อะไรจะดีไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
แต่ความศรัทธา ความใจจดจ่อต่อเส้นทางที่รัก บวกความดื้อรั้นอย่างยาวนานก็พอจะทำให้ฉันมีที่ทางของตัวเองบ้าง ยืนหยัดได้แม้ไม่สะดวกสบายนัก
ในงานรางวัลลูกโลกสีเขียวไม่ได้มีแค่คนเขียนหนังสือเท่านั้น แต่ใจความสำคัญหลักๆ อยู่ที่คนทำงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากกว่า งานนี้ฉันจึงได้เห็นคนทำงานตัวจริงเสียงจริงหลายคนนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มาร่วมงานกันอย่างชื่นมื่น
พี่นนท์ (เจ้าของคอลัมน์ การเดินทางของนักรบที่ไม่มีใครรู้จัก) บรรณาธิการคนแรกในงานเขียนของฉัน เราพบกันโดยไม่ได้นัดหมายในงานนี้ พี่นนท์บอกกับฉันว่า เชื่อไหม หลายๆ คนที่ได้รางวัล เวลาเขาอยู่ในชุมชนของเขา เขาเหมือนผีบ้า กลายเป็นคนแปลกแยก เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นไม่เหมือนใครในหมู่บ้าน คนอะไรมาปลูกต้นไม้ คนอะไรมาทำการเกษตรอินทรีย์ในยุคที่คนอื่นเขาใช้สารเคมีกันทั่ว บางคนคัดค้านต่อต้านนโยบายรัฐ เป็นพวกหัวดื้อ ชาวบ้านคนอื่นไม่ชอบ แต่การได้รางวัลมันเหมือนช่วยให้เขาเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น ทำให้เขาอยู่ในสังคมง่ายขึ้น
ฉันเองเลิกใส่ใจกับเรื่องรางวัลมานานนักแล้ว แต่ครั้นได้เห็นหลายๆ คนที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ ฉันถึงรู้สึกได้ว่ารางวัลก็มีส่วนดีของมัน โดยเฉพาะในกรณีที่คนทำดีแล้วเขาควรได้รับการยกย่อง ไม่ใช่ถูกเมินเฉยจากสังคม ปล่อยให้เขาโดดเดี่ยวท่ามกลางวิถีที่คนเลือกทำตามกระแส (เพราะไม่ต้องเจ็บตัว)
การยืนหยัดเชื่อมั่นในสิ่งที่เราเชื่อท่ามกลางคนส่วนใหญ่ที่คิดต่าง มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำรงอยู่อย่างสบายอกสบายใจ แต่การปราศจากความเชื่อและดำรงชีวิตอย่างเลื่อนลอยล่องไหลตามกระแสคนส่วนใหญ่เพียงเพราะกลัวความแปลกแยก สำหรับบางคน การเป็นเช่นนี้ทุกข์ใจกว่า
ฉันขอแสดงความชื่นชมกับทุกคนที่ต่างยืนหยัดทำดีจนมีคนมองเห็นในวันนี้
และฉันขอแสดงความชื่นชมอย่างมากสำหรับคนที่ยืนหยัดต่อสู้มายาวนานแต่ยังไม่เคยมีใครเห็น
ไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ได้รางวัลฉันก็หวังว่าเราจะเลือกทำและสร้างสรรค์การงานบนหนทางที่ดีงามนี้ตลอดไป