Skip to main content

เสียงไก่ขันสลับกับเสียงกลองจากวัดบนภูเขาดังกระชันถี่ขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่ายามเช้าใกล้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในรอบหนึ่งเดือน เสียงกลองยามเช้าจากวัดจะดังอยู่ ๘ ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า ‘วันนี้วันพระ’


เมื่อลองมาไล่เรียงตัวเลขบนปฏิทินก็รู้ว่า วันนี้เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ในทางพุทธศาสนาแล้ว วันนี้ถือเป็นวันก่อเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ๓ อย่างพร้อมกัน คือวันนี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นปฐมบทแห่งศาสนาพุทธ


ไก่ขันครั้งสุดท้ายล่วงเข้ามา หลายบ้านเริ่มตื่นขึ้นมาก่อไฟหนึ่งข้าว และทำอาหารเช้า พอพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าได้ไม่นาน ทิวแถวของผู้คนในหมู่บ้านก็เดินตามกันขึ้นไปตามทางเดินอันไปสู่ลานวัด ในมือของแต่ละคนมีกระติ๊บข้าวเหนียว และอาหาร บางคนมีดอกไม้ และน้ำสำหรับนำไปกรวด เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย บนบ่าของแต่ละคนจะมีผ้าสไบขนาดกว้างประมาณ ๒ คืบพาดเฉียงเอาไว้ทั้งชายหญิง ใบหน้าของแต่ละคนอิ่มเอิบ ในทิวแถวของชาวบ้านที่เดินขึ้นไปบนวัด ใช่ว่าจะมีแต่คนในหมู่บ้านเท่านั้น ยังมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นๆ อยู่ในกลุ่มของชาวบ้านทั้งหมดด้วย


ในความเป็นจริงแล้ว วัดแห่งนี้มีพระจำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว แต่วันนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ พระในวัดจึงเพิ่มขึ้นมาอีก ๕ รูป ความพิเศษของวันนี้จะมีขึ้นหลังพระฉันภัตตาหารเช้าเสร็จสิ้น เพราะในตอนสายของวันนี้ ชาวบ้านจะได้ร่วมกันจัดงาน ‘บวชน้ำ สร้างวังสงวน’


บวชน้ำ’ เมื่อได้ฟังคำนี้ครั้งแรกความฉงนสนเท่ห์ก็ตามมา เพราะไม่เคยได้ยินมาสักครั้งเลยว่าแม่น้ำทั้งสายสามารถบวชได้เช่นเดียวกับคน แต่ความฉงนสนเท่ห์อยู่ได้ไม่นาน คำเฉลยเพื่อคลายความสงสัยก็เกิดขึ้น เมื่อแนวโฮมของหมู่บ้าน และนายบ้านได้นั่งถกเถียงกันเรื่องนี้


อาจารย์อยู่วัดเพิ่นเว้าว่า ท่าเฮาจะบวชน้ำนี่ เฮาต้องยกสิม (อุโสถ) ลงไปไว้ในน้ำ พระก็ต้องมี ๑๒ ตนขึ้นไป ท่าจั่งซั่นมันสิบวชบ่ได้” แนวโฮม (ผู้อาวุโสและเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน) ออกความเห็นพร้อมกับเล่าเรื่องที่พระอาจารย์ที่วัดฝากมาถามนายบ้าน

มันบ่มันบวชแนวนั้นหนา คือเอาเพิ่นมาสูดเจริญพระพุทธมนต์ เพราะท่าเฮาสิบวชแท้มันกะบ่ได้ แต่นี่เฮาเอาเพิ่นมาสูด และกะให้ศีลให้พร ท่าเอาอาจราย์มาสูดแล้วคนมันกะสิย้าน บ่กล้ามาเฮ็ดหยังกับบ่อนที่เฮาบวช” นายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) อธิบาย

ท่าจั่งซั่นกะฮู้แล้ว เดียวสิได้ขึ้นไปบอกพระอาจารย์เพิ่น”

23_7_01


จากคำตอบที่ได้รับมาการ ‘บวชน้ำ’ ในความหมายของชาวบ้านแตกต่างจากการบวชเป็นพระในพุทธศาสนา เพราะการบวชน้ำไม่ต้องมีการเสพงัน ไม่มีการไปอยู่วัด เพื่อเป็นนาค ไม่มีไตรจีวร การบวชน้ำในความหมายของชาวบ้านคือ การร่วมกันอุปโลกน์พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งในแม่น้ำให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และพื้นที่แห่งความเคารพนับถือ ความเชื่อของคนทั้งหมู่บ้าน


ทำไมต้องบวชน้ำ?” ใครบางคนเอ่ยถามนายบ้าน หลังร่วมกันกินข้าวสามัคคีในตอนเย็นแล้วเสร็จ

เฮาต้องบวช พอบวชน้ำแล้ว ซาวบ้านเพิ่นสิเคารพนับถือ มันคือกับเฮาบวชคนให้เป็นพระ พอบวชเป็นพระแล้ว คนกะให้ความเคารพนับถือ”


23_7_02


บางทีการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก็ก้าวไปสู่กฏเกณฑ์ใหญ่ๆ เช่นกันพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้เมื่อมีการบวชแล้ว และชาวบ้านให้ความเคารพก็จะไม่มีผู้ใดจะเข้าไปทำอะไรไม่ดีในพื้นที่แห่งนั้น เพราะหากใครทำก็จะเป็นบาปติดตัวไป


หลังชาวบ้านกลับลงมาจากวัด คนหนุ่มสาวของหมู่บ้านได้พากันมาขนของขึ้นใส่รถ ทั้งเก้าอี้ โต๊ะ ถ้วย จาน ชาม และหม้อแกง รถไถนาเดินตามดัดแปลงแบบนั่งขับส่งเสียงคำรามก้อง ก่อนที่คนขับจะหักพวงมาลัยพารถเลี้ยวออกสู่ถนนไปสู่บริเวณจัดงาน


ก่อนที่คนหนุ่มสาวจะมาช่วยกันขนของ คนเฒ่า แนวโฮม เฒ่าจ้ำได้เดินทางออกไปบริเวณจัดงานล่วงหน้าแล้ว เพื่อบอกกล่าวให้เจ้าที่รับรู้ว่า วันนี้ชาวบ้านจะได้จัดงานขึ้นที่บริเวณแห่งนี้ เมื่อเฒ่าจ้ำจุดเทียนบอกกล่าวเจ้าที่เสร็จ เหล้าขาว หมากพูลก็ถูกนำมาวางไว้ข้างกัน


ตะวันสายโด่งขึ้นมาแล้ว เสียงประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านออกเดินทางไปยังบริเวณพิธีดังแว่วมา สิ้นเสียงประกาศได้ไม่นาน ชาวบ้านก็ทยอยกันไปสู่บริเวณงาน หลายคนในหมู่บ้านได้รับมอบหมายหน้าที่แตกต่างกันออกไป กลุ่มสาวหนุ่มได้รับหน้าที่ดูแลแขกที่มาร่วมงาน กลุ่มปกส.บ้านมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ในมือปกส.บ้านจึงมีอาวุธอยู่ในมือดูน่าเกรงขาม ส่วนเฒ่าแก่ แนวโฮมได้รับหน้าที่ให้ดูแลพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนรองนายบ้านคนที่ ๑ ได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินรายการตลอดงาน ดูเหมือนว่างานนี้จะเป็นงานแรกของรองนายบ้าน เพราะเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แกเพิ่งเสร็จจากการอบรมวิธีการพูด และการเป็นพิธีกร


สถานที่บวชน้ำห่างออกมาจากหมู่บ้านประมาณ ๓๐๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า ‘วังคกห้วยก่อง –คก หมายถึง บริเวณที่เว้าเข้าไปในริมฝั่งแม่น้ำมีขนาดลึก และเป็นที่วางไข่ของปลา คกเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง’ ที่มาที่ไปของชื่อคกแห่งนี้ นายบ้านบอกว่า ถามผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่ค่อยรู้ แต่หลายคนบอกว่าเรียกตามที่คนไทยมาตั้งไว้ เพราะบริเวณแถบนี้เคยมีคนไทเลยมาอาศัยอยู่ก่อน


พูดถึงการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ ใช่ว่าจะมีแต่คนไทยที่เข้ามาอยู่ก่อน หลังคนไทยกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานเคลื่อนย้ายกลับข้ามไปยังฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้ว ชาวบ้านปากส่วนจากบ้านปากเซือม แขวงหลวงพระบางก็อพยพเคลื่อนย้ายหนีภัยสงครามฝรั่งมาอยู่เป็นกลุ่มถัดมา ในช่วงเริ่มแรกของการตั้งหมู่บ้าน คนไม่มากมีบ้านเพียง ๖ หลัง ตั้งกระจายไปตามลำห้วยหาง จากนั้นก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จนกลายมาเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการว่า บ้านห้วยหาง อยู่ในเขตปรกครองของเมืองสังข์ทอง แขวงนครหลวงเวียงจัน หลังขึ้นตรงกับเขตการปกครองเมืองสังข์ทอง บ้านห้วยหางก็กลายเป็นหมู่บ้านสุดท้ายในเขตปกครองของเมืองสังข์ทองที่เชื่อมต่อกับเขตปกครองของเมืองสานคามไปโดยปริยาย ปัจจุบันบ้านห้วยหางมี ๘๘ หลังคาเรือนมีประชากร ๒๑๕ คน มีโรงเรียนที่สอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ๑ แห่ง มีวัด ๑ แห่ง และในวัดมีพระจำพรรษา ๑ รูป บ้านห้วยหางอยู่ตรงข้ามกับบ้านห้วยเหียม บ้านปากครอบ และบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลยในทางฝั่งไทย


เมื่อต่างหน้า (ตัวแทน) ของทางเจ้าเมือง (นายอำเภอ) เดินทางมาถึง พิธีการบวชน้ำจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เสียงพระสงฆ์สวดมนต์ดังขึ้นมาจากตลิ่งริมแม่น้ำสิ้นสุดลงเอาเมื่อพิธีเริ่มดำเนินไปได้ร่วม ๒ ชั่วโมง หลังเสร็จพิธี พระสงฆ์ ๑ รูป และเฒ่าแก่แนวโฮมอีก ๔-๕ คนก็เดินนำหน้าพระไปยังริมแม่น้ำ เพื่อปล่อยปลาดุกลงสู่แม่น้ำ เพื่อเป็นหมุดหมายแรกว่า การบวชน้ำ และสร้างวังสงวนได้ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้นแล้ว


ภายหลังเมื่อพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้นลง รองนายบ้านก็ได้กล่าวแนะนำแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งส่วนมากมาจากกลุ่มท้อนเงิน (กลุ่มออมทรัพย์) ภายใต้การนำพาของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิง สหพันธ์แม่ญิงลาวของหลายหมู่บ้านในเมืองสังข์ทอง รวมทั้งต่างหน้า (ตัวแทน) ของท่านเจ้าเมืองสังข์ทอง


ผ้าแพรสีแดงคลุมป้ายขนาดใหญ่ค่อยๆ เลื่อนออกจากกัน เสียงลูกโป่งแตกดังขึ้น นิมิตรหมายแห่งพิธีการทางฆาราวาสก็ได้เริ่มขึ้นเช่นกัน บนป้ายไม้ดู่ขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่หลังผ้าแพรสีแดง มีข้อความเขียนเอาไว้ว่า กฏระเบียบเขตวังสงวนคกห้วยก่อง


วังสวงน’ หมายถึงเขตอนุรักษ์พันธ์ปลาที่ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้น

พีธีการต่างๆ ได้สิ้นสุดลงเมื่อเวลาล่วงเข้าไปเกือบเที่ยง ในที่สุดเวลาที่หลายคนรอคอยก็มาถึง เมื่อพาบายศรีถูกยกออกมาวาง และการบายศรีสู่ขัวญก็เริ่มขึ้น เมื่อการบายศรีสู่ขัวญจบลงวงข้าวสามัคคีจึงถูกจัดขึ้นพร้อมกับเสียงขับทุ่มหลวงพระบาง ด้วยสำเนียงคนหลวงพระบางดั้งเดิมที่คลอไปกับเสียงระนาด เสียงกลอง และเสียงซ้อ


ต่อไปมื้อหน้าแต่ละบ้านฮิมน้ำของอยู่เมืองสังข์ทองนี่ต้องมีวังสงวนทั้งเหมิด บ่ซั่นมื้อหน้าลูกหลานสิบ่มีปลากิน”


เอื้อยจากกลุ่มท้อนเงินบางคนเอ่ยออกมา ขณะการเดินทางจากกันเพื่อไปสู่เป้าหมายต่อไปของแต่ละคนได้เริ่มต้นขึ้นในตอนบ่ายคล้อย...

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’