Skip to main content

ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท


ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทย พื้นที่ที่เกิดความเสียหายเป็นแห่งแรก คืออำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สุดท้ายคืออำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ บางคนคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำโขงท่วมครั้งนี้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างมากมายขนาดนี้



27_8_01


หากมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏการณ์น้ำโขงหลากท่วมในทุกพื้นที่ริมฝั่งโขงเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงคือน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ กับปี ๒๕๑๔ และมีอีกหลายครั้งที่เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามริมน้ำโขงทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่น้ำโขงหลากท่วมมักจะเกิดขึ้นจากฝนตกลงมาอย่างหนักทั้งในประเทศต้นน้ำ และประเทศท้ายน้ำ


จากความทรงจำของผู้คนริมฝั่งโขงหลายคนโดยเฉพาะที่อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม จังหวัดเลย และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย คำบอกเล่าของชาวบ้านต่างเป็นคำบอกเล่าเดียวกันคือ น้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ และในปีอื่นๆ จะมาจากฝนตกหนัก ที่สำคัญคือน้ำจะท่วมมาจากต้นน้ำของแม่น้ำสาขา ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำโขงที่หนุนสูงขึ้น จากนั้นน้ำก็เอ่อท่วมเป็นรัศมีวงกว้างออกไป


พ่อสงคราม อินทะปัญญา ชาวบ้านปากเนียม อำเภอปากชม จังหวัดเลยได้บอกเล่าเรื่องน้ำท่วมในปี ๒๕๐๙ ให้ฟังว่า “ในปี ๐๙ นี่น้ำมันจะท่วมมาจากห้วยก่อน เพราะฝนตกหลายวัน อย่างน้ำเลยก็มาจากภูหลวงแล้วท่วมเมืองเลยก่อน ต้นน้ำมันท่วมก่อน จากน้ำก็ไหลออกมาท่วมหมู่บ้านตรงปากน้ำที่ติดแม่น้ำโขง น้ำจากแม่น้ำโขงเริ่มหนุนสูงก็กลายเป็นว่าน้ำท่วมใหญ่เลย”


แล้วน้ำที่ท่วมในอีก ๔๒ ปีต่อมา (ปี ๒๕๕๑) หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี ๒๕๐๙ แตกต่างกันอย่างไร?จากการประมวลบทสรุปของหลายพื้นที่พบข้อสังเกตบางประการถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะข้อสรุปของนายบูรฉัตร บัวสุวรรณ เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ระบุว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากฝนตกหนักที่ส่งผลมาจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านหลายประเทศโดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ลาว เวียดนาม รวมทั้งภาคเหนือของไทย


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๘ ส..ที่ผ่านมา พบฝนสะสมในปริมาณมากจนเสี่ยงต่อสภาวะน้ำท่วมกระจายในตอนบนของแม่น้ำโขง ซึ่งยืนยันว่าระดับน้ำโขงที่สูงผิดปกติในครั้งนี้ มาจากปริมาณฝนที่มีมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะลดระดับต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ระดับน้ำต้องทรงตัวอยู่หลายวัน ไม่ใช่ลดแบบฮวบฮาบแบบที่เกิดขึ้น (สำนักข่าวไทย ๑๙ ส.. ๕๑) และจากแถลงการณ์ของ MRC เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคมระบุว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพายุเขตร้อนคามูริ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และน้ำโขงที่เวียงจัน ๕๐ % มาจากจีน ที่เหลือมาจากน้ำสาขา และระบุอย่างชัดเจนว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมิได้เกิดจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนในจีน ซึ่งมีปริมาณกักเก็บน้ำน้อยเกินกว่าจะสร้างผลกระทบต่ออุทกวิทยาในแม่น้ำโขง


แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลต่างๆ ที่มีออกมาจาก MRC นั้นจะสวนทางกับข้อเท็จจริงหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของปริมาณน้ำฝน เพราะชาวบ้านที่อยู่ในริมฝั่งโขงหลายพื้นที่ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ฝนที่ตกนั้นไม่ได้ตกลงมากแม้จะมีพายุ และฝนตกขนาดนี้ไม่สวามารถทำให้น้ำท่วมได้ แต่น้ำท่วมในครั้งนี้เกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง และไหลเข้าท่วมไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามริมแม่น้ำโขง และไหลเข้าไปในแม่น้ำสาขา ลำห้วยสาขาทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง


27_8_02


นอกจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้มาจากแม่น้ำโขงเอ่อท่วมเป็นสำคัญ เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตบางประการถึงเหตุผลที่
MRC ให้มาเกี่ยวกับปริมาณน้ำ และระบบเตือนภัยเรื่องน้ำท่วมที่ใช้ไม่ได้จริง โดยในแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงได้ระบุว่า MRC เป็นตัวแทนของหน่วยงานรัฐบาล ๔ ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไม่มีหน้าที่แก้ตัวแทนเขื่อนจีน แต่ควรประสานงานกับเครือข่ายสถานีวัดน้ำ โดยเฉพาะสถานีจิ่งหง และแจ้งเตือนภัยแก่สาธารณะทันที

ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา MRC ทำเพียงประกาศเตือนภัยทางเว็บไซต์ จึงกล่าวได้ว่า MRC มีข้อมูลระดับน้ำและตระหนักดีว่า น้ำจากแม่น้ำโขงตอนบนในจีนจะหลากท่วมพื้นที่ตอนล่าง แต่กลับไม่ประกาศต่อสาธารณะผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้เตรียมตัวป้องกันความเสียหาย นับตั้งแต่มีเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงในปี ๒๕๓๙ จีนได้กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า เขื่อนในจีนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำโขงสายหลัก มิได้มาจากน้ำสาขาในไทยหรือลาว ตรงกับที่หนังสือพิมพ์เซียงไฮ้เดลี่ วันที่ ๑๓ สิงหาคม รายงานข่าวความเสียหายจากพายุในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง รายงานข่าวระบุว่าประชาชนกว่า ๑,๒๕๐,๐๐๐ คน ใน ๑๑ เมือง ได้รับความเดือดร้อน มีผู้เสียชีวิต ๔๐ คน แม้แต่ในประเทศตัวเองแท้ๆ คำพูดที่จีนกล่าวอ้างต่อสาธารณะว่า เขื่อนจะช่วยป้องกันน้ำท่วมก็ไม่ได้เป็นความจริงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด


นี่คือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบบเตือนภัย...


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงชี้ให้เห็นว่า ปริมาณน้ำจากตอนบนในจีน มีนัยยะสำคัญต่อปริมาณน้ำและอุทกวิทยาในแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย แต่ระบบเตือนภัยที่มีอยู่นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


นอกจากออกแถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้แล้วทางเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงยังได้มีข้อเรียกร้องเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง จึงขอเรียกร้องให้ MRC ตอบคำถามของสาธารณะ ว่าปริมาณน้ำจากทางตอนบน โดยเฉพาะจากเขื่อน ๓ แห่งในจีน จะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ใดบ้าง รวมถึงข้อมูลระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำตั้งแต่เขื่อนม่านวาน เขื่อนต้าเฉาซาน และเขื่อนจิ่งหง ทั้งนี้เพื่อให้มีการเตรียมการป้องกันภัยได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของ MRC เรื่องมีการแจ้งเตือนจากจีนมาก่อนหน้า มิเช่นนั้นจะเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ปราศจากหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับ


แถลงการณ์ของ MRC หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าเขื่อนในจีนได้มีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ การกล่าวเพียงว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนในจีนมีความจุน้อยเกินไปที่จะควบคุมอุทกวิทยาของน้ำโขงตอนล่าง เป็นการพูดที่น่าอับอายมากที่สุด บนความพิบัติและความเดือดร้อนของประชาชนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างในขณะนี้


เหตุการณ์น้ำโขงท่วมในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ คงจะเป็นบทเรียนให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้เรียนรู้ร่วมกันว่า ความจริงหลังน้ำลดที่ต้องรีบทำคือ ทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต้องแสวงหาแนวทางในการจัดการน้ำ การบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดฝนตกหนัก และนำไปสู่สภาวะน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาต้องไปภาระของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไม่ใช่เป็นภาระของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป


การแสวงหาแนวทางในการทำงานร่วมกันในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ก็คงต้องพึ่งพิงการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ทั้งในระดับนโยบาย และประชาชน เพื่อก้าวไปสู่การวางรากฐานแนวทางในการที่จะให้ผู้คนในประเทศลุ่มน้ำโขงได้อยู่ร่วมกัน และใช้แม่น้ำโขงร่วมกันอย่างสันติอันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน เพราะไม่ว่าเราจะเป็นพลเมืองของประเทศใดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราล้วนต้องได้ร่วมชะตากรรมที่เกิดขึ้นอันเดียวกัน เพราะเหตุการณ์น้ำโขงท่วมครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…