Skip to main content

-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง-

สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด

หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย

การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา ในการมาถึงเมืองหลวงพระบางครั้งแทบไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเป็นเพียงการแวะมาพักนอนเท่านั้น เพราะในรอบการเดินทางเที่ยวนี้ จุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองงอย

หลวงพระบางในฤดูฝนพรำทุกอย่างยังคงเป็นอยู่อย่างที่เคยเป็น แม้แต่เฮือนพักเพียงจัน คนเฝ้าเฮือนพักก็ยังเป็นชายหนุ่มคนเดิม เมื่อก้าวเข้าไปในเฮือนพัก เขากล่าวทักสบายดีพร้อมกับยื่นกุญแจห้องพักให้ หลังจากรับกุญแจห้องพักมา พอพลิกดูหมายเลขห้องพบว่า มันเป็นห้องพักห้องเดิมที่เคยมาพักเมื่อ ๓ เดือนก่อน แล้วเราก็หัวเราะออกมาแทบจะพร้อมกัน

-ต้นทางที่หลวงพระบางปลายทางที่เมืองงอย-

หลังจากร่วมวงเฝอ และข้าวเปียกที่แกล้มด้วยกาแฟรสชาติหวานขมในตอนเช้าแล้วเสร็จสัมภาระก็ถูกนำขึ้นรถจัมโบ้ เพื่อไปสู่ท่าเรือหลวงที่อยู่ด้านหลังพระราชวัง เรือที่นัดหมายจอดลอยลำรออยู่แล้วตั้งแต่ตอนเย็นเมื่อวาน เรือลำที่จะพาไปสู่จุดหมายปลายทางลำนี้เป็นเรือขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับเรือล่องหลวงพระบาง-ห้วยทราย ขนาดของเรือพอเหมาะกับคนนั่งไม่เกิน ๑๐ คน เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วพบว่า เรือลำนี้ถูกย่อส่วนลงมาจากเรือลำใหญ่ที่จอดลอยลำขนาบข้างอยู่

ในการเดินทางรอบนี้โชคดีหน่อยที่คนไม่เยอะ ที่นั่งจึงเหลือพอให้วางสัมภาระ บนเรือมีคน ๙ คน หลังทีมเดินทางบางคนไปซื้ออาหารที่ตลาดกลับมา เรือจึงค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากท่าเรือเมืองหลวงพระบาง

ต้นฤดูฝนเช่นนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น เกาะแก่งที่โผล่พ้นน้ำในช่วงหน้าแล้งจมเงียบหายไปกับสายน้ำ หากถามชาวบ้านว่าสังเกตได้ยังไงว่าน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น คำตอบที่ได้คือ ช่วงใดที่น้ำในแม่น้ำโขงเป็นสีโอวันติลเข้มข้น ช่วงนั้นแหละน้ำเริ่มขึ้น

เมื่อเสียงเครื่องยนต์บนเรือดังขึ้นเป็นลำดับ เรือก็พุ่งทะยานทวนสายน้ำมุ่งหน้าสู่ทิศเหนือ ขณะเรือผ่านปากน้ำคานพบว่า แปลงผักริมแม่น้ำในช่วงหน้าแล้งหายไปแล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำคานเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

ด้านนอกเรือบรรยากาศมืดครึ้มด้วยเมฆฝน

พอเรือมาถึงบ้านดอนเก่า อ้ายเซียงกระแตคนขับเรือและเจ้าของเรือก็เบาเรือแล้วนำเรือเข้าเทียบเรือลำใหญ่ เพื่อเติมน้ำมัน ถัดจากเรือลำเล็กไปเป็นเรือลำใหญ่ ซึ่งมีจุดหมายปลายทางอยู่เมืองปากแบ่ง ผู้คนบนเรือแน่นขนัด เพราะเป็นเรือโดยสาร

หลังเติมน้ำมันเสร็จสิ้น เรือก็ค่อยๆ ทวนน้ำขึ้นไปสู่เป้าหมายต่อไป ขณะเรือวิ่งมาได้ไม่นาน เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่า ข้างหลังมีเรืออีก ๒ ลำที่ตามมา จากการพูดคุยกับนายน้ำ (คนลาวเรียกคนขับเรือว่านายน้ำ) จึงได้รู้ว่า จุดหมายของเรือ ๒ ลำที่ตามมาอยู่ที่เดียวกันกับจุดหมายที่เรือเราจะไป

พอพ้นถ้ำติ่งมาแล้ว เรือถูกบังคับให้มุ่งหน้าเข้าสู่แม่น้ำอู แม้จะเป็นหน้าฝน น้ำในแม่น้ำอูยังใสจนมองเห็นท้องน้ำ น้ำในแม่น้ำอูแม้จะเป็นหน้าฝน แต่ก็ยังไม่เพิ่มระดับขึ้น ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปบนฝั่ง ภูเขาหินปูนปรากฏต่อสายตา ว่ากันว่าบนภูเขาหินปูนที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ผาแอ่น-หน้าผาที่มีนกนางแอ่นมาอาศัยอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกผาแอ่น' นั้นมีโลงนางอั้วอยู่บนผานั้นด้วย (‘โลง' ในภาษาลาวหมายถึง หีบศพคนตาย)

การเดินทางทวนสายน้ำอูสู่เมืองงอยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว...

-แม่น้ำอูจากภูฟ้าลงมาดิน-

แม่น้ำอูมีต้นกำเนิดอยู่ในเมืองเจียงเฉิง ฮานูจู๋ มณฑลยูนนาน ประเทศแผ่นดินจีน หลังจากนั้นก็ไหลเข้าสู่ประเทศลาวที่เมืองอูเหนือ แขวงพงสาลี และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากอู แขวงหลวงพระบาง รวมความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำทั้งสิ้น ๔๗๕ กิโลเมตร ตลอดความยาวกว่า ๔๐๐ กิโลลเมตรนั้น แม่น้ำอูมีระบบนิเวศสลับซับซ้อนทั้งที่เป็นดอน เป็นหาดหิน เป็นแก่ง บางคนบอกว่าเมื่อมานั่งเรือล่องแม่น้ำอูเหมือนกับได้นั่งเรือล่องแม่น้ำโขง เพราะแม่น้ำอูมีสภาพคล้ายกับแม่น้ำโขง

มีเรื่องตลกเล่าให้ชวนหัวบนเรือว่า บรรดาลูกของแม่น้ำโขง (แม่น้ำสาขา) ทั้งหมด มีแม่น้ำอิงเพียงสายเดียวที่ไม่เหมือนแม่ (แม่น้ำอิงมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำในจังหวัดพะเยา และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากอิงใต้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย) เพราะระบบนิเวศของแม่น้ำอิงจะไม่มีแก่งหิน ริมฝั่งจะมีลักษณะเป็นดินทราย

บางครั้งที่เรือวิ่งฝ่าความเชี่ยวของสายน้ำ ทำให้หวนคิดถึงบางช่วงของแม่น้ำโขงในอำเภอเชียงของได้เช่นกัน โดยเฉพาะตรงจุดที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘หาดคอ' ที่บ้านหาดคอ ตรงหาดคอนี้น้ำทั้งสายถูกแยกออกเป็นสายเล็กสายน้อย และมีบางแห่งเท่านั้นที่เรือจะฝ่าความเชี่ยวของสายน้ำขึ้นไปได้

บนแม่น้ำอูมีแก่งหลายแห่งที่คนขับเรือต้องใช้ความกล้า เพื่อพาเรือมุ่งหน้าฝ่าสายน้ำ นายน้ำ (ศัพท์ที่คนลาวใช้เรียกคนขับเรือ) บอกกับพวกเราว่า เมื่อหลายปีก่อนมีเรือเร็ววิ่ง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะมันเกิดอันตรายบ่อย และที่สำคัญชาวบ้านทนเสียงคำรามก้องกังวานของมันไม่ไหว เมื่อชาวบ้านร้องเรียนขึ้นไปทางเมืองจึงส่งห้ามเรือเร็ววิ่งขึ้น-ลงในแม่น้ำอู

แม้น้ำจะเชี่ยว และไหลแรงเพียงใด จากประสบการณ์ในการขับเรือล่องขึ้น-ลงบนแม่น้ำสายนี้มาตั้งแต่อายุ ๒๖ จนถึง ๔๒ ปีในตอนนี้ คงการันตีถึงความสามารถของนายน้ำคนนี้ได้เป็นอย่างดี

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเราเดินทางด้วยรถไปบนท้องถนน เราก็ต้องไว้ใจคนที่คุ้นเคยกับรถและถนนเส้นนั้น การเดินทางด้วยเรือก็ดุจเดียวกัน เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะไว้ใจคนขับเรือที่คุ้นเคยกับเรือ และแม่น้ำอันเป็นถนนให้เรือวิ่งด้วยเช่นกัน

นายน้ำไม่ได้ทำให้เราผิดหวังในเรื่องนี้

ตลอดสองฝั่งน้ำที่เรือวิ่งผ่านบริเวณใดมีหมู่บ้านอยู่ ริมฝั่งน้ำเราก็จะได้เห็นเด็กๆ ลงมาทำกิจกรรมริมแม่น้ำ บางคนตกปลา บางคนเล่นวิ่งไล่จับ บางคนออกไปหาปลากับพ่อ ไม่ว่าเด็กหญิงเด็กชาย เราจะพบเห็นพวกเขาเหล่านั้นไม่ต่างกัน เด็กผู้ชายหว่านแหหาปลาได้ เด็กผู้หญิงก็หว่านแหหาปลาได้เช่นกัน แต่ปลาที่พวกเขาหาได้ อาจเทียบไม่ได้กับปลาที่พวกผู้ใหญ่ได้มา แต่สิ่งที่ลึกลงไปในเรื่องราวเหล่านี้คือ วิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้ถูกตัดขาดจากสายน้ำที่พวกเขารู้จัก และคุ้นเคยกับมันเลยแม้แต่น้อย

เข็มบนหน้าปัดนาฬิกาบอกเวลา ๑๑ โมงเช้า เท่ากับว่าตอนนี้เรือพาเราออกเดินทางมาได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว แม้จะล่วงเลยเข้าไปเกือบเที่ยงแต่พระอาทิตย์ยังคงขี้เกียจจึงหลบอยู่หลังก้อนเมฆไม่ยอมออกมาส่องแสง

หลังจากเรือวิ่งผ่านบ้านหาดคอมาแล้ว สายตาก็ผ่านพบวัตถุบางอย่างที่ตั้งโดดเด่นอยู่ริมฝั่งน้ำ เมื่อถามนายน้ำจึงได้รู้ว่า เครื่องอะไรไม่รู้ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำนั้น ชาวบ้านเรียกมันว่า ‘เครื่องสูบหิน-ทรายใต้น้ำ'

เขาสูบหิน-ทรายขึ้นมาจากแม่น้ำทำไม?
คำตอบคือ หิน-ทรายที่สูบขึ้นมาล้วนมีทองปะปนอยู่ในนั้น เขาสูบหิน-ทรายขึ้นมาเพื่อเล่นแล่แปรธาตุให้มันเป็นทองนั่นเอง

เครื่องจักรแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่เราเห็นตั้งเด่นอยู่ริมแม่น้ำ มันก็คือเครื่องมือดูดทรายดูดหิน เพื่อเอาขึ้นมาร่อนผ่านน้ำหาทรัพย์ในดินอันมีค่าสีเหลืองอร่ามนั่นเอง

คนบนเรือคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า กว่าที่จะได้ทองพอขายในแต่ละวัน ต้องใช้เวลานาน เพราะกว่าจะเจอทองที่ซ่อนตัวอยู่ในดินและหินอย่างแปลกแยกต้องใช้เวลา แต่ก่อนการร่อนทองชาวบ้านจะใช้ถาดที่คล้ายกับหมวกชาวเวียดนามมาเป็นเครื่องมือในการร่อน โดยการร่อนในแต่ละครั้ง ชาวบ้านก็จะไปหาจุดที่คาดว่าจะมีทองฝั่งอยู่ แล้วจะตักดินจากบริเวณนั้นขึ้นมาใส่ถาด แล้วก็ร่อน แก่วงไปแก่วงมากับน้ำจนดินทรายหรือหินหลุดร่วงจากถาดหมด วิธีการร่อนทองแบบนี้ถือเป็นวิธีการร่อนทองแบบดั้งเดิม จากนั้นพอได้ทองมาแล้วก็จะนำน้ำยามาประสานทองที่ได้ทั้งหมดให้เข้ากัน เพื่อนำไปขาย

เวลาล่วงเข้าไปเกือบบ่าย เรือก็พาเรามาถึงคอนไผ่ (คำว่า ‘คอน' ในพจนานุกรม อีสาน ไทย อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๒ ให้ความหมายว่า "น.ร่องน้ำลึก ที่น้ำตก แม่น้ำที่มีสันดอนสูง น้ำไหลไปเป็นร่องลึก เรียกคอน ถ้าน้ำไหลไป ๒ ร่อง มีสันดอนอยู่ตรงกลาง เรียก สองคอน เช่น สองคอนในแม่น้ำโขง") ที่ขวางอยู่กลางลำน้ำ นายน้ำบอกว่า ในช่วงหน้าน้ำท่วมหลาก การขับเรือข้ามคอนไผ่จะเป็นไปได้ง่ายกว่า แต่ในหน้าแล้งการขับเรือข้ามคอนไผ่จะเป็นไปได้ยาก เพราะน้ำยิ่งน้อย น้ำก็ยิ่งแรง

หลังเรือพ้นคอนไผ่มาแล้วก็มาถึงแก่งใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แก่งแห่งนี้ชาวบ้านเรียก ‘แก่งหลวง' น้ำบริเวณแก่งหลวงไหลแรง และหมุนวน การอยู่บนลำเรือเหนือสายน้ำเชี่ยว มันช่างฉุดดึงหัวใจให้ลอยไปสู่ความหวาดกลัวได้ดียิ่งนัก ขณะเรือผ่านแก่งหลวงไปได้ ใครบางคนแอบถอนหายใจออกมา

หลังเรือผ่านแก่งหลวง บนริมฝั่งแม่น้ำมีคนหลายสิบคนรวมกันเป็นกลุ่มวุ่นวายอยู่กับปั้มลมที่ใช้ปั้มอากาศ พอสอบถามนายน้ำจึงได้รู้ว่าชาวบ้านกำลังร่อนทอง

การร่อนทองแบบนี้แตกต่างกับการร่อนทอง ๒ แบบที่ผ่านมา เพราะการร่อนทองในรูปแบบนี้มีการเดิมพันด้วยชีวิต เนื่องมาแต่ต้องมีคนดำลงไปในน้ำลึก เพื่อขุดเอาหิน-ทรายใต้น้ำขึ้นมาใส่เครื่องร่อน ในการลงดำน้ำแต่ละครั้ง คนที่ลงไปใต้ในน้ำต้องเอาสายที่ต่อจากปั้มลมใส่อมไว้ในปาก เพื่อจะได้มีอากาศหายใจ จากนั้นก็จะดำลงไปในน้ำ สำหรับไฟฟ้าที่นำมาใช้กับปั้มลมก็มาจากแม่น้ำ ตอลดลำน้ำเราจึงได้เห็นเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่อาศัยแรงดันของน้ำ เพื่อให้ใบพัดของเครื่องทำงาน จากนั้นเครื่องก็จะส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปตามสายไฟฟ้า พอไปถึงปลายทางไฟฟ้าที่ได้มาทั้งหมดก็จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า ๒๒๐ v (อุปกรณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดมาจากประเทศจีน)

ตะวันบ่ายโผล่พ้นขอบฟ้าออกมา แสงแรกของวันฉาบไล้ลงบนแม่น้ำหลังจากเรือพาเรามาถึงเมืองชื่นเริ่มต้นเขตการปกครองของเมืองงอย หากว่าจะผ่านเลยเมืองชื่นไปเลยก็ได้ แต่มีบางอย่างฉุดดึงให้เราต้องหยุดเรือถ่ายรูป และวัดระดับความลึกของแม่น้ำ ตรงหินก้อนหนึ่งที่อยู่ริมฝั่งน้ำมีตัวหนังสือถูกเขียนทับลงบนแผ่นหินบอกไว้ว่า เขตวังสงวน เพราะป้ายนี้แหละที่ทำให้เราต้องหยุดเรือ

"ชาวบ้านเขาทำวังสงวนพันธุ์ปลา" นายน้ำบอก เมื่อเห็นพวกเราสงสัยและมีทีท่าว่าจะหยุดอยู่ตรงวังน้ำลึกแห่งนี้นานเกินไป

จากบ้านเมืองชื่นขึ้นมาตามน้ำเรื่อยๆ เราพบเห็นเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าอยู่เป็นระยะ บางที่มีอยู่หลายอัน บางที่ก็มีอันเดียว สำหรับเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าที่อาศัยแรงดันจากน้ำ หนึ่งตัวราคาอยู่ที่ประมาณ ๑,๕๐๐ บาท แต่สามารถใช้ได้หลายปี ไฟฟ้าที่ไปถึงปลายสายสามารถใช้กับหลอดไฟส่องสว่างได้ประมาณ ๒ หลอด ดูทีวีได้ ๑ เครื่อง และมันพอเพียงกับบ้านหนึ่งหลังเท่านั้น บางบ้านที่เก็บไฟไว้กับแบตเตอรี่ก็สามารถใช้ได้หลายชั่วโมง พื้นที่ในการติดตั้งเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าพลังงานน้ำนี่ก็มีทั้งที่ติดตั้งถาวร และติดตั้งชั่วคราวตามระดับของน้ำคือถ้าน้ำมามากและน้ำจะท่วมก็ยกเครื่องขึ้น แต่ถ้าน้ำมาน้อยก็ยกเครื่องลง จุดที่พบเครื่องให้กำเนิดไฟฟ้าเหล่านี้มากที่สุดคือตามแก่งหิน แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเหล่านี้อาจจะไม่ได้ใช้อีกต่อไปในอนาคต เมื่อเรือพาเราผ่านป้ายที่บอกเอาไว้ชัดเจนว่าจุดสำรวจในการก่อสร้างเขื่อน

จุดก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้อยู่ห่างจากบ้านหาดฟางขึ้นไปทางเหนืออยู่ระหว่างแก่งจายกับบ้านหาดฟาง จากข้อมูลเบื้องต้นที่พอหาได้พบว่า บริเวณนี้ได้มีการสำรวจผ่านไปแล้ว และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีเขื่อนเกิดขึ้นที่นี้ เมื่อเขื่อนเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เรือจากหลวงพระบางมาเมืองงอยก็จะถูกลดบทบาทลง แว่วว่า กลุ่มคนที่จะมาทำเขื่อน เพื่อนำไฟฟ้ามาขายให้กับไทยก็คือกลุ่มทุนจากจีน

แล้วการเดินทางอันยาวนานตั้งแต่ตอนเช้าก็ใกล้สุดลงเมื่อเรือจอดใต้สะพาน บนสะพานคือถนนจากหลวงพระบางมาสิ้นสุดลงตรงนี้ ต่อจากนั้นถนนเส้นนี้ก็มีจุดหมายปลายทางอยู่แขวงซำเหนือ หากจะเดินทางไปเมืองงอยเก่าต้องเดินทางด้วยเรือเท่านั้น

เรือ ๒ ลำที่เดินทางตามกันมาตั้งแต่ตอนเช้าจอดสงบนิ่งลงตรงท่าเรือ ผู้โดยสารทยอยลงจากเรือ ตรงท่าเรือแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า ‘หนองเขียวหรือเมืองงอยใหม่' เมืองงอยใหม่หรือหนองเขียวแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือบ้านหนองเขียวเหนือ และบ้านหนองเขียวใต้ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งของสะพานเป็นบ้านสบฮุ่น

บริเวณหนองเขียวแห่งนี้เมื่อเดือน ๑๑ ปี ๒๐๐๗ ชาวเมืองงอยได้พร้อมใจกันทำเขตวังสงวนขึ้นมาเป็นแห่งแรก (เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา) จากการประกาศเขตสงวนในครั้งนั้น พอมาถึงปีนี้ ชาวบ้านบอกว่าปลาเพิ่มขึ้น เมื่อยืนอยู่บนสะพานสามารถมองเห็นปลากระโดดขึ้นมาเหนือผิวน้ำได้ นอกจากที่หนองเขียวจะมีเขตวังสงวนแล้ว ยังมีบ่อกุ้งธรรมชาติที่มีกุ้งจำนวนมากอาศัยอยู่ จากข้อมูลเบื้องต้นที่สอบถามจากคนขับเรือพบว่า ในปีหนึ่งจะจับได้ครั้งเดียวในช่วงหน้าน้ำ กุ้งที่จับได้จะอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัม

หลังเรือจอดพักประมาณ ๑๐ นาที เครื่องยนต์ท้ายเรือก็ดังขึ้นอีกครั้ง เรือพาพวกเรามุ่งหน้าสู่เป้าหมายข้างหน้าขณะเข็มนาฬิกาบอกเวลาว่า ๑๗ นาฬิกา

ท้องฟ้าเริ่มมืดลงแล้ว ริมฝั่งผู้คนทยอยลงสู่แม่น้ำ เพื่ออาบน้ำ ใช้เวลาไม่นานนัก เรือก็พามาถึงแก่งทาง แก่งที่ได้รับการขนานนามว่า แก่งอันเชี่ยวกรากแห่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่เมืองงอยเก่า เมือเรือมาถึงแก่งทาง ด้วยน้ำที่มีอยู่ไม่มาก น้ำทั้งสายถูกบังคับทางน้ำให้เหลือร่องน้ำลึกเพียงแห่งเดียว กว่าเรือจะผ่านจุดนี้ไปได้ก็ใช้น้ำมันไปหลายลิตร แม้ว่าแก่งแห่งนี้จะไม่ยาวมาก ขณะเรือมาถึงตรงกลางของแก่ง เรือตะแคงไปด้านซ้าย น้ำจึงกระฉอกเข้ามาในเรือ สัมภาระบางส่วนที่อยู่ท้ายเรือเปียกชุ่ม ในราว ๑๘.๒๐ นาฬิกา เรือจึงเข้าจอดเทียบท่าบ้านเมืองงอยเก่า จากตัวเลขบนเครื่อง GPS บอกหมุดหมายของการเดินทางในบรรยากาศพลอยฟ้าพลอยฝนเอาไว้ว่า ๑๐๘ กิโลเมตร นี่คือระยะทางจากหลวงพระบางมาถึงเมืองงอยเก่า

เมื่อผ่อนคลายอิริยาบทแล้ว กระเป๋าเดินทางถูกนำขึ้นบนบ่า โดยมีเป้าหมายอยู่ที่บ้านของนายน้ำนั่นเอง

เสียงเครื่องปั่นไฟดังระงมผ่านความมืดมา แสงไฟตามเฮือนพักสว่างพอประมาณ บ้านเมืองงอยเก่าชีวิตในห้วงยามกลางคืนได้กลับมาอีกครั้ง ถ้าคืนนี้เป็นค่ำคืนของหลายปีก่อนที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง หมู่บ้านแห่งนี้จะเงียบงันไร้แสงไฟ

บ้านเมืองงอยเก่าแห่งถือเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่สวยงาม เพราะแวดล้อมไปด้วยขุนเขา ว่ากันว่าขุนเขาที่โอบล้อมเมืองงอยเอาไว้คือป้อมปราการในยามเกิดศึกสงครามเมื่อคราวอเมริกาบุก

ด้วยอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสมในช่วงสงคราม เมืองงอยจึงกลายเป็นฐานที่มั่น เพื่อต่อต้านอเมริกา บ่อยครั้งที่เครื่องบินของอเมริกามาบุกและทิ้งระเบิด ชาวบ้านจะพากันเข้าไปหลบอยู่ในถ้ำ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน

หากนับเนื่องจากวันนั้นจนถึงวันนี้เวลาก็ผ่านไปเกือบ 30 ปี แต่ลูกระเบิดขนาดใหญ่ยังคงตกค้างอยู่ตามป่าเขา และเป็นภาระให้ชาวบ้านต้องคอยระวังลูกหมากแตกเหล่านี้ ในขณะที่ระเบิดอันสิ้นฤทธิ์ของมันลง ชาวบ้านก็นำมาวางไว้หน้าบ้านคล้ายจะประจานผู้รุกรานป่าเถื่อนให้จดจำอย่าได้ลืม

ปัจจุบันบ้านเมืองงอยเก่ามีบ้านจำนวน ๑๔๖ หลังคาเรือ และมีผู้คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจำนวน ๗๐๐ กว่าคน มีโรงเรียนหนึ่งแห่ง มีวัดอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอีกหนึ่งแห่ง

ยามกลางคืนมาเยือนแล้ว หลังอาหารเย็นผ่านพ้นไป เสียงเพลงดวงจำปาจากไวโอลีนของนักดนตรีวง RECYCLE เคล้าคลอความเงียบส่งผ่านไปยังห้วงความรู้สึกของใครหลายคนจนต้องเดินออกมานั่งฟังอยู่ริมถนนกลางหมู่บ้าน

ตรงระเบียงเฮือนพักคนต่างถิ่นต่างภาษามาเจอกันด้วยความงดงามของธรรมชาติ และก็จะจากไปพร้อมกับทิ้งรอยทรงจำบางรอยเอาไว้ ในฤดูพลอยฟ้าพลอยฝนเช่นนี้ เมืองงอยยังคงงดงามอยู่ในอ้อมกอดแห่งภูผาหินไม่เปลี่ยนแปลง

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…