Skip to main content

หลังกลับมาจากเมืองริมแม่น้ำในครั้งนั้น ไม่นานผมก็เดินทางมาเมืองริมแม่น้ำอีกครั้งพร้อมกับความทรงจำเมื่อ ๒ เดือนก่อน...

ความทรงจำเมื่อ ๒ เดือนก่อนเกิดขึ้นบนแม่น้ำสายนี้ ผมจำได้ว่าช่วงนั้นเป็นฤดูฝน น้ำปริ่มฝั่งหมุนวนน่ากลัว ผมได้พบชายชราอีกครั้งหลังจากไม่ได้พบกันนาน ชายชรานั่งอยู่บนเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งวิ่งสวนทางกับเรือที่ผมโดยสารมา เมือเรือวิ่งสวนทางก็ได้ยินเสียงทักทายของคนขับเรือทั้งสอง แม้ว่าจะฟังสำเนียงการสนทนาไม่รู้เรื่องทั้งหมด แต่ก็พอจับใจความได้ว่าคนขับเรือทั้งสองคุยกันเรื่องอะไร บนนาวาชีวิตกลางสายน้ำของชะตากรรม คงไม่แปลกอะไรหากคนสองคนผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันจะรู้จักและสนิทชิดเชื้อกัน

ในวันนั้นผมบันทึกภาพชายชราเอาไว้อีกครั้ง พอกลับมาจากเมืองริมฝั่งน้ำ หลังว่างเว้นจากงาน ในคืนวันหนึ่ง ผมก็เอาภาพนั้นออกมาดู หลังจากดูเสร็จ ความรู้สึกข้างหลังภาพก็พาผมเดินทางหมุนวนกลับไปสู่เรื่องราวต่างๆ ...

เพื่อนบางคนเคยบอกผมว่า ภาพหนึ่งภาพสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ยิ่งเป็นภาพที่ถ่ายในระยะเวลาแตกต่างกัน ภาพที่ได้ออกมาจึงเป็นความรู้สึกแตกต่างกันไป ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น เพราะหลังจากดูภาพของชายชราเสร็จ ผมก็หวนคิดถึงคำพูดบางคำของพี่คนหนึ่ง พี่คนนั้นบอกกับผมว่า “ชายชราแกเป็นคนเก่ง เรื่องปลา เรื่องน้ำแกรู้หมด เพราะแกหากินกับน้ำมานาน”

และก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ผมจะไม่เชื่อตามนั้น เพราะเมื่อผมได้พูดคุยกับชายชราในตอนสายของวันหนึ่ง ผมก็พบว่า คำกล่าวของพี่คนนั้นไม่ได้เกินเลย และต่อจากนี้ ผมขอนำเอาเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งแห่งชีวิตของชายชรามาให้ทุกคนได้พิสูจน์ความจริงว่า ชายชราเป็นอย่างพี่คนนั้นเล่าให้ผมฟังหรือไม่

ช่วงต้นฤดูฝน สายน้ำเชี่ยวกรากได้พัดท่อนไม้ขนาดใหญ่ให้ไหลมากับสายน้ำ แน่ละเรื่องราวที่ผมสนใจไม่ใช่ความเชี่ยวกรากของสายน้ำ แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายชรา และเรือลำเล็กต่างหาก

ผมได้พบกับชายชราครั้งแรกตรงท่าเรือใต้ร่มจามจุรีหลังวัด หลังจากเรือกับคนหาปลาเดินทางกลับเข้าสู่ฝั่ง การพบกันครั้งแรกดูขันเขินเหลือทน คำทักทายแต่ละคำที่กลั่นออกมา ช่างยากเย็นแสนเข็นเสียเต็มประดา เพราะผมตระหนักรู้ว่า การเดินทางไปสู่อาณาจักรของใครโดยเจ้าของอาณาจักรไม่ได้เชื้อเชิญ มันดูเป็นเรื่องขัดเขิน และลำบากใจที่เจ้าของอาณาจักรจะต้อนรับแขกแปลกหน้าของเขา

“พ่อเฒ่า วันนี้หาปลาได้เยอะไหม?” ผมจำได้ว่านั่นเป็นคำพูดแรกที่เอ่ยกับชายชรา

ดูเหมือนว่าคำถามนี้มันเป็นคำถามที่ผมคิดได้ในเวลานั้น เพราะถ้าถามคนหาปลาที่กำลังกลับจากหาปลาด้วยคำถามอย่างอื่นคงไม่เหมาะสมนัก

“ได้สัก ๓-๔ กิโลนี่แหล่ะ”
“ได้ปลาอะไรบ้าง”
“ปลากด ปลาเพี้ย”

ขณะพูดคุยกันอยู่ ชายชราก็สาละวนเก็บของบนเรือมีทั้งที่นอน เสื้อผ้า และกล่องโฟมสีขาว หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจบนเรือเรียบร้อย เรือก็ถูกผูกโยงเข้ากับต้นไม้ริมน้ำ เมื่อผูกเรือเสร็จ ชายชราก็หันมาปลดเครื่องยนต์ออกจากเรือ บนเรือตอนนี้ไม่มีเครื่องยนต์ แต่หากใครคิดจะขโมยเรือทางเดียวที่จะเอาเรือออกไปได้ต้องพายออกไปเท่านั้น แต่ก็นั้นแหละคนที่จะเอาเรือไม่มีเครื่องยนต์ออกสู่แม่น้ำได้ต้องเป็นมืออาชีพที่รู้จักทางน้ำเป็นอย่างดี หากจะเรียกขโมยที่ขโมยเรือลำนี้ไปได้ว่า มืออาชีพก็คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลย

เมื่อปลดเครื่องยนต์ตรงด้านท้ายเรือเรียบร้อย ชายชราก็ยกเครื่องยนต์เรือขึ้นใส่บ่าและแบกเครื่องยนต์เรือขึ้นมาใส่รถเข็นที่จอดซุกไว้ในป่ากล้วยข้างวัด

“เครื่องเรือนี้ถ้าไม่เอาขึ้นมา พรุ่งนี้อาจไม่เหลือ”
ชายชราพูดกับผม ขณะเดินไปหารถเข็น คำพูดของชายชราไม่ได้เกิดขึ้นมาจากข้อสันนิษฐานลอยๆ  และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเหมารวมเอาว่าคนอื่นเป็นขโมย แต่การที่ชายชราต้องเอาเครื่องยนต์เรือขึ้นจากน้ำ มันมีที่มาที่ไป

“เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเอาเรือออกไปหาปลา ตอนนั้นมันแดดร้อน เหนื่อยก็เลยเอาเรือจอดไว้ริมฝั่ง แล้วขึ้นไปนอนใต้ร่มไม้ เผลอหลับไป พอตื่นขึ้นมา เครื่องเรือหาย รู้เลยว่ามีคนขโมยไป พอเครื่องเรือโดนขโมยเราก็ตามสืบ ตอนนั้นคิดจะเอาเรื่องเอาราวอยู่ แต่พอคิดไปคิดมาก็ไม่ได้เอาเรื่องเอาราว ตอนสืบหาเครื่องเรือ ก็อาศัยถามจากพรรคพวกหาปลาด้วยกัน เพราะคนหาปลามันจะรู้ว่าเรือใครใช้เครื่องอะไร เครื่องใหม่เครื่องเก่า เพราะอย่างน้อยเรือเราขนาดกี่ศอก เราน่าจะใช้เครื่องประมาณกี่แรงม้า เรื่องแบบนี้คนหาปลาเขาจะรู้กัน ตอนสืบหาเครื่องยนต์เรือ เราสืบไปสืบมาก็รู้ว่าใครเอาไป พอเรารู้ เราก็ได้แต่คิดว่า เขายืมไปใช้ ถ้าเขามีเป็นของตัวเองเขาคงเอามาคืน เราก็คิดแค่นั้น แต่คนที่ขโมยไปตอนนี้มันตายแล้ว มันตายก่อนเราอีก”

เมื่อชายชราพูดถึงเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นดวงตาของชายชราหม่นเศร้าลงเล็กน้อย ชายชราบอกกับผมเพิ่มเติมว่า  “เรามันคนกันเองแท้ๆ ไม่น่าจะทำกันอย่างนี้“

แม้ว่าเรื่องเครื่องยนต์เรือหายมันจะเกิดนานแล้วก็ตาม แต่ชายชราก็จดจำเรื่องราวในครั้งนั้นได้ดี เหมือนที่พูดมาตั้งแต่ตอนต้นว่า ถ้าเรือไม่มีเครื่องยนต์ก็ป่วยการที่มันจะวิ่งไปไหนมาไหนได้ เพราะสายน้ำไหลแรง เรือไม่ติดเครื่องยนต์คงไม่อาจต้านทานกระแสน้ำตอนทวนน้ำได้ แม้ว่าคนพายเรือจะแข็งแรงเพียงใดก็ตามสำหรับชายชราเครื่องยนต์เรือก็สำคัญพอๆ กับเรือ เพราะถ้าเรือไม่มีเครื่องยนต์ เรือก็ไม่สามารถออกหาปลาได้ และถ้ามีแต่เครื่องยนต์ เรือไม่มีก็ออกหาปลาไม่ได้เหมือนกัน

หลังจัดการกับสัมภาระทุกอย่างขึ้นบนรถเข็นเรียบร้อย ก่อนจะเข็นรถกลับสู่บ้าน ชายชราได้เล่าให้ผมฟังเพิ่มเติมว่า
“สมัยเด็กๆ ตอนเย็นนี่ลงเล่นน้ำสนุกสนาน ยิ่งลงเล่นทุกวันก็ยิ่งคุ้นเคย เราลูกแม่น้ำต้องว่ายน้ำเก่ง สมัยก่อนเห็นผู้ใหญ่เขาหาปลาได้เยอะเราก็อยากหาบ้าง แต่ตอนนั้นเป็นเด็กพ่อไม่ให้กลัวเราตกน้ำ กว่าจะได้หาปลาจริงก็ตอนเป็นหนุ่ม”
“แล้วพ่อเฒ่าหาปลาตอนแรกอายุกี่ปี”
“ถ้าเป็นช่วงหนุ่มๆ ก็ ๑๓-๑๔ แต่ตอนนั้นเราไม่กล้าออกน้ำใหญ่ ก็หาปลาตามห้วย ตามนา แต่ถ้าออกไปหาปลาน้ำใหญ่จริงนี่ ช่วงอายุ ๒๔ ตอนนั้นออกหาปลาในแม่น้ำเลย ก็อาศัยให้คนหาปลาคนอื่นสอนก่อน หลังจากนั้นเราก็หาคนเดียว เพราะน้ำนี่มันไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนตลอดที่วางเบ็ดมันก็เปลี่ยนตลอด ช่วงหาปลาใหม่ๆ เราเรียนรู้ทุกอย่าง”

หากพินิจคำพูดของชายชราแล้ว สายน้ำก็เป็นบทเรียนบทหนึ่งของโรงเรียนนอกระบบที่คอยสอนให้ผู้คนริมฝั่งทุกผู้ทุกนามได้เรียนรู้บทเรียนแตกต่างกันออกไป

ผมจำได้ว่า ในวันนั้นเราพูดคุยกันอีกหลายเรื่อง ทุกเรื่องล้วนตื่นเต้นสำหรับผม แต่ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นกว่าปกติก็เมื่อรู้จากชายชราว่า คนหาปลาที่หาปลาเป็นอาชีพเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการหาปลามีเรื่องราวสลับซับซ้อนพอสมควร อย่างน้อยคนหาปลาที่มีเรือก็ต้องรู้เรื่องเรือ เรื่องเครื่องยนต์ เรื่องทิศทางน้ำ ฤดูน้ำขึ้น-น้ำลง ฤดูวางไข่ของปลา ฤดูอพยพของปลา เพราะสิ่งเหล่านี้มันล้วนสำคัญกับคนหาปลาเสมอ และมันเป็นตัวชี้วัดด้วยว่าถ้ารู้เรื่องเหล่านี้ก็จะหาปลาได้

ในยามที่ชายชรากลับคืนสู่บ้าน วันนี้แกไม่ได้เข็นรถเข็นกลับบ้านเพียงลำพัง แต่ล้อรถเข็นเคลื่อนที่ไปได้ด้วยแรงของคนสองคนคือ ชายชรากับภรรยาของแก วัยของคนทั้งสองไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สำหรับผมแล้วผู้เฒ่าทั้งสองคนเป็นเพื่อนคู่คิดกันในยามแก่เฒ่าได้ดีทีเดียว

รถเข็นเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยแรงคนอย่างไร แน่ละชีวิตคนบางครั้งก็มุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงคนเช่นเดียวกัน...

ตลอดสองข้างทางที่รถเข็นผ่าน ชายชรามักจะได้รับคำถามไถ่จากคนรู้จักอยู่ตลอดเวลา มีบ้างบางครั้งรถเข็นจะหยุดข้างทาง เพื่อให้คนเข็นได้พักเหนื่อย และยกแก้วเหล้าน้ำใสเหมือนตาตั๊กแตน อันเป็นน้ำมิตรไมตรีจากข้างทางที่หยิบยื่นมาให้ขึ้นดื่ม

และบ่อยครั้งเช่นกันที่ชายชรากลับบ้านพร้อมกับปลาหลายกิโลกรัม แต่ปลามักเหลือกลับมาถึงบ้านเป็นส่วนน้อย เพราะถูกขายหมดระหว่างทาง วันนี้ก็เช่นกัน ปลาสะโม้หนัก ๒ กิโลกรัมตัวหนึ่ง ชายชราบอกขายกิโลละ ๒๐๐ บาท แม้ว่ามันจะแพง แต่ก็มีคนแย่งกันซื้อหลายคน บางครั้งปลาที่ได้มาก็ไม่พอขาย แต่บางครั้งปลาได้มามากพอขายก็ไม่ขาย ในช่วงที่ปลามีน้อย แต่คนต้องการมีมาก ราคาปลาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้ว ในบางฤดู โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ปลาจะมีราคาแพง เพราะหายาก ราคาปลาคนหาปลาจึงเป็นผู้ตั้งราคาเอง บ้างครั้งความเหมาะสมของราคาปลาหนึ่งตัวจึงหาจุดลงตัวยาก แม้ว่าในบางวันราคาปลาอาจแพงขึ้นมาบ้าง แต่คนซื้อปลาก็ไม่เคยบ่น เพียงแต่ต่อรองราคาขอลดกันนิดหน่อยก็ขายให้กันได้ แม้ปลาจะมีราคาแพง แต่ปลาก็จะถูกขายให้กับลูกค้าประจำที่คุ้นเคยกันเป็นคนแรกๆ อยู่เสมอ...

“พ่อเฒ่ามีคนบอกว่าปลาน้ำโขงมันอร่อยจริงหรือเปล่า”
“จริง ปลาน้ำโขงมันอร่อย เพราะน้ำมันเย็น น้ำมันกว้าง ปลามันว่ายไปไหนก็ได้ พอปลาว่ายไปไหนก็ได้ ร่างกายมันก็แข็งแรง ปลามันได้ออกกำลังกาย เนื้อปลาก็เลยแน่น เวลาเอามาทำอาหารมันก็อร่อย ปลาบางชนิดบางฤดูก็ไม่ค่อยอร่อย อย่างปลาเพี้ยนี่ถ้าเป็นหน้าน้ำขุ่นเอามาลาบจะอร่อย แต่ถ้าเป็นฤดูอื่นเอามาลาบก็ไม่ค่อยอร่อย เรามันคนลูกน้ำโขงต้องกินปลาน้ำโขง แต่ถ้าปลามันมีน้อยแบบนี้ ปลาอะไรก็อร่อยหมดแหล่ะ”

พอพูดมาถึงตรงนี้ชายชราก็หัวเราะออกมาเบาๆ
แม้จะเป็นเวลาน้อยนิดที่ได้พูดคุยกันในวันนั้น ผมก็ปักใจเชื่อเรื่องที่ชายชราเล่าให้ฟังเสียสนิทใจ...

แสงแดดของวันลับปลายวิหารของวัดไปแล้ว สายน้ำเงียบงันลงอีกครั้ง เพราะคนหาปลาได้นำเรือที่ลอยลำหาปลาอยู่บนแม่น้ำเดินทางกลับเข้าฝั่ง เวลาในการหาปลาของคนหาปลาหลายคนในวันนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ในฤดูฝนการหาปลาจะมีเวลาสั้น เพราะในแต่ละวัน คนหาปลาคาดเดาไม่ได้ว่าวันไหนฝนจะตก และถ้าในวันไหนแม้ไม่มีสายฝนโปรยปราย แต่ท้องฟ้ามืดครึ้มคนหาปลาก็จะไม่ออกเรือหาปลาเช่นกัน เพราะการหาปลาท่ามกลางพายุฝนบนสายน้ำเชี่ยวเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายไม่ใช่น้อย ดังนั้นแล้วเมื่อเป็นลมเป็นฝนหรือฝนตก คนหาปลาจึงไม่ออกเรือหาปลา

ฤดูแล้งจะเป็นช่วงหาปลาได้ยาวนาน และมีผลผลิตมากกว่าฤดูอื่น ยิ่งถ้าเป็นช่วงมีการจับปลาบึก ในเวลากลางคืนก็มีคนหาปลาออกเรือหาปลาอยู่ แต่การจับปลาบึกก็มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’