Skip to main content

  

ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ"


ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน เสาไฟฟ้าที่พอสันนิษฐานได้ว่าตรงนั้นเคยเป็นถนนมาก่อนถูกน้ำท่วมขึ้นมาถึงครึ่งหนึ่ง


เมื่อไปถึงหมู่บ้าน ผมก็มุ่งหน้าไปยังท่าน้ำ เพราะมีเป้าหมายในการไปดูพื้นที่หาปลา และไปฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับการหาปลาของคนหาปลา แต่ก็น่าเสียดาย เพราะวันที่ไปถึงนั้น น้ำในแม่น้ำโขงท่วมจนเกือบถึงตลิ่ง คนหาปลาจึงน้อย เพราะส่วนมากต้องไปทำนาอันเป็นหน้าที่การงานหลัก แต่ก็ถือว่าโชคดีที่คนหาปลาบางส่วนยังหาปลาอยู่ ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยหลังจากคนหาปลาเดินทางกลับมาจากการไหลมอง การพูดคุยก็มีหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่อง ‘กองทุนปลา' ที่คนหาปลาในหมู่บ้านได้ก่อตั้งขึ้นมา

การก่อตั้งกองทุนปลาขึ้นมาก็เพื่อเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยน และทำการขายปลา โดยปลาที่จับได้จะถูกนำมาขายให้กับกองทุนในราคาที่เหมาะสม และกองทุนก็จะนำปลาที่รับซื้อมาจากคนหาปลาไปขายให้พ่อค้าแม่ค้าอีกทอดหนึ่ง สำหรับพ่อค้าแม่ค้าเมื่อมาถึงแล้วก็รับรองได้ว่าจะมีปลานำกลับไปขายต่อ และคนหาปลาก็ไม่ต้องห่วงว่าปลาที่จับได้จะขายไม่ได้ นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในกองทุนปลา เงินทุนที่ได้มายังมาจากชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดโดยไม่มีคนนอกเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุน เงินปันผลก็จะกลับไปหาผู้ร่วมทุนแตกต่างกันออกไปตามแต่จำนวนหุ้นที่ลงทุนในกองทุน


การพูดคุยกำลังสนุก แต่ดูเหมือนว่าฝนบนฟ้าจะไม่ค่อยเป็นใจ เพราะฟ้าเริ่มมืด และครึ้มฝนมาทุกทิศทุกทาง ราวบ่ายผมจึงเดินทางออกจากหมู่บ้านพร้อมกับปลาเคิงหนัก ๓ กิโลกรัม หลังกลับมาจากหมู่บ้านในคราวนั้น ผมก็ไม่ได้กลับไปอีกเลย แต่ยังมีความหวังว่า ผมจะกลับไปยังหมู่บ้าน เพื่อตามเจาะลึกเรื่องราวกองทุนปลาอีกครั้ง




แล้ววันที่ผมเฝ้ารอจะกลับไปยังบ้านผาชันอีกครั้งก็เดินทางมาถึง จากการไปเยือนบ้านผาชันครั้งแรกกับครั้งล่าสุดที่ผมเดินทางไปนี้ห่างกันเกือบ ๗ เดือน การไปบ้านผาชันครั้งนี้ ผมไม่ได้เดินทางด้วยรถ แต่เป็นการเดินทางไปทางน้ำโดยการล่องเรือจากสามพันโบก บ้านสองคอน ระยะทางจากสามพันโบกไปถึงบ้านผาชันทางน้ำราว ๑ ชั่วโมงของการเดินเรือ


พูดถึงสามพันโบกแล้วผมเองยังไม่อยากเชื่อว่าในแม่น้ำโขงจะมีพื้นที่เช่นนี้อยู่ สามพันโบกเป็นชื่อของหลุมที่อยู่บนแก่งหินที่อาจารย์เรืองประทิน เขียวสดบอกว่า มีถึงสามพันหลุม (ผู้คนทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณนั้นเรียกหลุมที่เกิดขึ้นบนแก่งหินว่า ‘โบก') การเกิดขึ้นของโบกมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา โดยมีอาจารย์เรืองประทินเล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่งว่า มีปู่กับหลานคู่หนึ่งพากันไปหาปลาตามแก่ง ปู่ไปตักต้องอยู่ริมฝั่งจนเที่ยงก็ไม่ได้ปลา หลานก็หิวข้าว พอปู่รู้ว่าได้เวลากินข้าวสวย (ข้าวเที่ยง) แล้วก็วางเครื่องมือหาปลาขึ้นมาหาหลาน และพอได้รู้ว่าหลานหิวข้าว แต่ปู่ก็ไม่ได้ปลาสักตัว ปู่จึงเดินไปตามแก่งหินและเริ่มลงมือจก (ล้วง) เข้าไปตามแก่งหินเพื่อหาปูไปปิ้งให้หลานกิน การจกของปู่ การล้วงไปล้วงมาจนเกิดเป็นโบก หลังอาจารย์เรื่องประทินเล่าให้ฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนแอบยิ้ม และพึมพำว่า ดูท่าปู่จะจกปูหลายปี และหลานคงมีหลายคนจึงเกิดโบกตั้งสามพันโบก


บริเวณที่เรียกว่าสามพันโบกนี้กินบริเวณพื้นที่ราว ๑๐ ตารางกิโลเมตร ในช่วงหน้าแล้งหลังน้ำลด โบกจะโผล่พ้นน้ำไปจนถึงเดือนมิถุนายน และหลังจากนั้นโบกก็จะจมอยู่ใต้น้ำ นอกจากสามพันโบกจะเป็นพื้นที่อันสวยงามในเชิงของการท่องเที่ยวแล้ว สามพันโบกยังเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาที่อาศัยตามโบกในช่วงฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนที่น้ำท่วมหลาก ปลาก็จะเดินทางออกสู่แม่น้ำโขง


การเดินทางไปบ้านผาชันในครั้งนี้ เราใช้เรือ ๓ คัน หลังคนเดินทางขึ้นเรือเรียบร้อย เครื่องยนต์ท้ายเรือก็ดังขึ้น แล้วเรือก็บ่ายหน้าออกจากตลิ่งพาผู้โดยสารราว ๓๐ คนล่องแม่น้ำโขงเพื่อเดินทางสู่บ้านผาชัน การเดินทางบนเรือเหนือแม่น้ำโขงบริเวณนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผม แม้จะเคยเดินทางไปหลายพื้นที่ของแม่น้ำโขงมาแล้ว การเดินทางในครั้งนี้ก็มีความตื่นเต้นเดินทางมาเคาะประตูหัวใจ


ตลอดสองฝั่งน้ำ แก่งหินสูงชันขึ้นไปจากลำน้ำ ในห้วงยามที่เรือเดินทางผ่านแก่งหิน และมีคนหาปลาพักพิงอาศัยตามแก่งหินทำให้ผมหวนนึกถึงเรื่องราวของภาพเขียนบนผนังผาแต้ม ผมแอบสันนิษฐานเพียงลำพังว่า ผู้คนแถบถิ่นนี้ได้อาศัยแม่น้ำโขงเป็นที่อยู่ที่กินมาหลายชั่วอายุคน แม่น้ำคงมีความสำคัญต่อผู้คนในถิ่นนี้มากมายทีเดียว อย่างน้อยๆ ภาพเขียนบนหน้าผาที่ผาแต้มก็คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผู้คนไม่ว่ายุคสมัยใดล้วนพึ่งพาแม่น้ำเพื่อการยังชีพมาช้านาน


ตะวันจวนลับขอบฟ้า เรือก็พาคนเดินทางมาถึงบ้านผาชัน หน้าผาสูงชันที่อยู่สูงขึ้นไปจากแม่น้ำถึงขนาดที่ว่า หน้าผาบางแห่งต้องนำบันใดมาปีนขึ้นไปถึงจะปีนข้ามหน้าผาไปยังหมู่บ้านได้


"ผามันสูงชันจริงๆ สมแล้วที่ชื่อว่าบ้านผาชัน" ใครบางคนในขณะร่วมเดินทางเอ่ยออกมา ขณะเรือกำลังตีวง เพื่อเดินทางทวนแม่น้ำไปยังท่าเรือบ้านผาชัน หลังขึ้นจากแม่น้ำโขงมา ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมหมู่บ้านที่ผมเคยมาเยือนเมื่อ ๗ เดือนก่อนจึงได้ชื่อว่า ‘บ้านผาชัน'


จากตัวเลขที่ปรากฏอยู่ตามหน้าผาบางแห่งบอกว่า หน้าผาสูงจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อยู่ในช่วงหน้าแล้งถึง ๑๕ เมตร


ตะวันตกลับเหลี่ยมภูเขาลงไปแล้ว การเดินทางจากสามพันโบกไปบ้านผาชันสิ้นสุดลงแล้ว คนหาปลาเริ่มทยอยกลับคืนสู่บ้าน ผม และคณะเดินทางออกเดินทางจากหมู่บ้านโดยมีความร้อนของฤดูแล้งแห่งภาคอีสานเป็นแรงหนุนให้รถตู้โดยสารต้องเปิดแอร์แรงสุด


"แปลกจริงๆ เลย พวกนักสร้างเขื่อนนี่ มันชอบทำเขื่อนแต่ตรงที่แม่น้ำสวยๆ ทั้งนั้น อีกหน่อยถ้าทำเขื่อนบ้านกุ่มทั้งสามพันโบก และบ้านผาชันคงจมอยู่ใต้น้ำ" ใครบางคนบนรถตู้รำพึงรำพันด้วยความร้อนกาย และร้อนใจทั้งที่บนรถแอร์เย็นฉ่ำ...

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกมติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…