รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ
เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่ บนเรือมีเด็กผู้ชายหนึ่งคน เด็กผู้หญิงตัวเล็กที่นอนนิ่งอยู่ในอ้อมอกอีกหนึ่งคน เสียงเครื่องยนต์เรือดังขึ้นไม่นาน คนขับเรือก็ค่อยๆ พาเรือลำนั้นออกจากท่าน้ำมุ่งหน้าสู่เป้าหมายปลายทาง
บางด้านของเกาะ
หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ตรงท่าเรือมีป้ายประกาศแผ่นหนึ่งเขียนบอกเรื่องราวของปลาชนิดหนึ่งเอาไว้ ปลาชนิดนี้เป็นคนท้องถิ่นในประเทศกัมพูชาเรียกว่า ‘พซอต’ คนทั่วไปรู้จักกันในนาม ‘โลมาอิรวดี’ ส่วนคนลาวเรียก ‘ปลาข่า’ ในความเป็นจริงแล้ว ปลาโลมาที่เรารู้จักกลับไม่ใช่ปลาอย่างที่เข้าใจ เพราะนักวิชาการด้านพันธุ์ปลาได้ให้คำจำกัดความว่า ‘โลมาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เลี้ยงลูกด้วยนม แต่อาศัยอยู่ในน้ำ และดำรงชีวิตคล้ายปลา ที่สำคัญมันออกลูกเป็นตัว คนทั่วไปจึงเข้าใจเอาว่ามันเป็นปลา โลมาอิรวดีถือว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะโลมาน้ำจืด ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดหลายสาย เช่นที่ทะเลสาปสงขลา แม่น้ำปางปะกง และแม่น้ำโขง ในแม่น้ำโขงนั้นโลมาถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด ไม่แพ้ยักษ์ใหญ่แห่งลุ่มน้ำโขงเช่นปลาบึกเลยทีเดียว
โลมาเป็นสัตว์ที่ใช้โซนาร์ที่มีอยู่ในตัวเป็นเครื่องนำทางในการหาอาหาร และสื่อสารถึงกัน มนุษย์เราก็ไม่ได้แตกต่างจากโลมาเท่าใดนัก แม้ว่าเราจะไม่ใช้โซน่าในการสื่อสารถึงกัน แต่ในรอยยิ้มอันเปี่ยมด้วยมิตรภาพที่ส่งผ่านมาถึงกันก็นำพาสายสัมพันธ์ของผู้คนในลุ่มน้ำเดียวกันให้ส่งผ่านถึงกันได้ไม่ยากเย็น
หลังลงจากรถเรียบร้อย และมุ่งหน้าสู่ท่าเรือ รอยยิ้มของผู้คนนิรนามบนท่าเรือก็เปิดเผยสู่กันอย่างจริงใจ รอยยิ้มบนริมฝีปากของผู้คนหลายชาติหลายภาษาเหมือนได้ทำลายกำแพงแห่งเชื้อชาติของแต่ละผู้คนลงอย่างสิ้นเชิง
ราวก่อนเที่ยงวันเล็กน้อย เรือก็พาเราออกจากท่าเรือมุ่งหน้าสู่เกาะรองแง็ง เกาะที่มีความยาวราว ๔๐ กิโลเมตร ซึ่งใหญ่พอๆ กับดอนโขงในลาว เมื่อไปถึงการพูดคุยถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนเกาะที่ลานวัดของหมู่บ้านก็เริ่มขึ้น
ชาวบหลายคนต่างตกใจเมื่อ เราถามถึงเรื่องเขื่อนจะที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ หลายคนเป็นพะวงรอยยิ้มบนใบหน้าเริ่มหายไป จากการพูดคุยชาวบ้านบอกเล่าว่าเคยได้ยินมาเหมือนกันว่าจะมีการมาสร้างเขื่อนซัมบอ แต่ยังไม่รู้ในรายละเอียดว่าเขื่อนจะสร้างด้วยความยาว ๓๓ กิโลเมตรหรือว่าน้อยกว่านั้น แต่ที่รู้แน่นอนจากพิกัดบน GPS แล้ว เมื่อสร้างเขื่อน เกาะรองแง็งแห่งนี้จะถูกน้ำท่วม ผู้คนหลายร้อยคนต้องเดินทางอพยพไปอยู่ที่อื่น
ใช่ว่าเมื่อสร้างเขื่อนสามบอแล้วจะมีแต่คนเท่านั้นที่ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น โลมาที่มีอยู่ไม่มากก็จำเป็นต้องแหวกว่ายหนีหายไปหากินอยู่ที่อื่น หรือไม่พวกมันอาจถูกฆ่าตายในตอนเริ่มก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ก็เป็นได้
ใบหน้า และแววตาของผู้จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในอนาคต
เราหลายคนเมื่อได้เห็นพื้นที่กับตาตัวเองต่างส่ายหน้า และออกความเห็นว่าไม่มีทางทำเขื่อนในบริเวณนี้ได้ เพราะแม่น้ำโขงกว้างใหญ่มาก การจะทำเขื่อนกั้นบริเวณเกาะกับเกาะที่น้ำโขงกว้างขนาดนี้ต้องใช้เงินมหาศาล แล้วคนลงทุนจะกล้าที่จะลงทุนหรือเปล่า แต่ขณะเดียวกันก็มีใครบางคนบ่นออกมาเบาๆ ว่า ทำไมจะสร้างไม่ได้ เมื่อคนที่จะสร้างเขื่อนนี้เป็นคนจีน และทุนก็มาจากจีน ขนาดแม่น้ำแยงซีกว้างใหญ่ขนาดไหน จีนยังสร้างเขื่อนกั้นมาแล้ว พวกเราได้แต่พยักหน้า และหัวเราะเมื่อเขาคนนั้นพูดจบ
หลังอาหารเที่ยงผ่านพ้น ชาวบ้านได้พาเราเดินทางไปดูโลมา การเฝ้ารอราวหนึ่งชั่วโมงโลมาก็ไม่ปรากฏตัวเหนือผิวน้ำ คนนำทางจึงตัดสินใจเอาเรือเข้าฝั่ง ขณะเรือลอยลำอยู่กลางแม่น้ำ ผมเผลอคิดไปว่า หากเขื่อนแห่งนี้ถูกสร้าง ปลาข่า-พซอต-โลมา และผู้คนบนสายน้ำแห่งนี้จะมีชะตากรรมเป็นเช่นใด