Skip to main content

เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น


สายลมแล้งของเดือนมีนาคมพัดมาเฉื่อยช้า ความร้อนเพิ่มขึ้นตามการเดินทางของพระอาทิตย์ ในที่สุดเจ้าม้าศึกสีเทาที่เดินทางมาไกลกว่า ๑,๒๕๐ กิโลเมตรก็มาถึงจุดหมายปลายทาง แม้อากาศจะร้อน แต่ลมจากธรรมชาติก็เย็นฉ่ำกว่าแอร์คอนดิชั่นหลายเท่า เมื่อหันหน้าออกสู่ทิศตะวันออก แก่งหินขาดใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำก็ปรากฏต่อสายตา แม้อยากจะลงไปสัมผัสความงามของแก่งหินเบื้องหน้าเพียงใด แต่ความร้อนที่ส่องลงมากระทบกับหิน และหินได้เก็บสะสมความร้อนเอาไว้ก็ไม่เอื้อให้เยื้องย่างลงไปชื่นชม บนแผ่นหินกว้างไกลสลับซับซ้อนไร้ผู้คนปีนป่ายจึงดูเหมือนว่ายามสายสางเช่นนี้เป็นช่วงเวลาพักผ่อนของแผ่นหิน


อาจารย์เรืองประทิน เขียวสดผู้เดินท่องไปบนพื้นที่ของสามพันโบกจนรู้จักทุกซอกมุมของแก่งหินกว้างใหญ่แห่งนี้บอกว่า ‘สามพันโบก’ เป็นชื่อของหลุมที่อยู่บนแก่งหินมีมากถึงสามพันหลุม จึงได้ชื่อว่า ‘สามพันโบก’ ผู้คนทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบริเวณนั้นเรียกหลุมที่เกิดขึ้นบนแก่งหินว่า ‘โบก’ ลักษณะระบบนิเวศแบบโบกจะพบได้ในแม่น้ำมูลตอนปลาย และแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดอุบลราชธานี


การเกิดขึ้นของโบกมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า วันหนึ่งมีปู่กับหลานคู่หนึ่งพากันไปหาปลาตามแก่ง ปู่ไปตักต่องอยู่ริมฝั่งจนเที่ยงก็ไม่ได้ปลา หลานที่ไปด้วยก็หิวข้าว พอปู่รู้ว่าได้เวลากินข้าวสวย (ข้าวเที่ยง) แล้วก็วางเครื่องมือหาปลาขึ้นมาหาหลาน และพอได้รู้ว่าหลานหิวข้าว แต่ปู่ก็ไม่ได้ปลาสักตัว ปู่จึงเดินไปตามแก่งหินและเริ่มลงมือจก (ล้วง) เข้าไปตามแก่งหินเพื่อหาปูไปปิ้งให้หลานกิน การจกของปู่เป็นการล้วงไปล้วงมาจนเกิดเป็นโบก หลังอาจารย์เรื่องประทินเล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนแอบยิ้ม และพรึมพรำว่า ดูท่าปู่จะจกปูหลายปี และหลานคงมีหลานคนจนเกิดโบกตั้งสามพันโบก


บริเวณที่เรียกว่าสามพันโบกมีพื้นที่รวมกันทั้งหมดราว ๑๐ ตารางกิโลเมตร ในช่วงหน้าแล้งหลังน้ำลดโบกจะโผล่พ้นน้ำไปจนถึงเดือนมิถุนายน และหลังจากนั้นก็จะจมอยู่ใต้น้ำเช่นเดิม นอกจากสามพันโบกจะเป็นพื้นที่อันสวยงามในเชิงของการท่องเที่ยวแล้ว สามพันโบกยังเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาที่อาศัยตามโบกในช่วงฤดูแล้ง พอถึงฤดูฝนที่น้ำท่วมหลาก ปลาก็จะเดินทางออกสู่แม่น้ำโขง


ตะวันใกล้บ่ายคล้อย ผู้คนเริ่มมาเยือนสามพันโบกจาก ๒ คนเป็น ๓-๔ และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากสามพันโบกจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ใต้เงื้อมหินยังเป็นที่หลบแดดของคนหาปลาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้อีกด้วย เมื่อมองลงไปในแม่น้ำ ภาพของคนหาปลาหลบอยู่ในเพิงพักคือแก่งหินสูงชั้นลดหลั่นกันไป ห้วงนั้นจินตนาการถึงกลุ่มคนโบราณที่ได้ประทับรอยฝ่ามือ รอยเครื่องมือหาปลา และปลาตัวใหญ่ไว้บนหน้าผาที่ได้ชื่อต่อมาว่า ‘ผาแต้ม’


ปัจจุบันคงส่องทางให้เห็นอดีต ความน่าจะเป็นในอดีตเกี่ยวกับเรื่องราวภาพเขียนบนผาแต้มอาจเป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่ริมฝั่งน้ำโขง ในวันที่หลบพักในเงื้อมผาสูง พวกเขาคงอยากบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตของตัวเองเอาไว้ หากภาพวาดเหล่านั้นเป็นฝีมือของคนหาปลาแห่งเงาอดีต แน่ละคนหาปลาคนนี้คงสุนทรีย์ไม่น้อย ความสุนทรีย์คงเกิดขึ้น เพราะได้ปลาตัวใหญ่จนเก็บความตื่นเต้นเอาไว้ไม่ได้ ต้องเขียนไว้ให้คนอื่นได้ดูด้วยว่า ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ก็คือส่วนหนึ่งแห่งบ้านของปลา และผู้คนบนสายน้ำโขงเช่นกัน


ค่ำคืนที่แผ่นหินแห่งสามพันโบกนอนเหยียดยาวนิ่งเงียบรอการมาถึงของยามเช้า สำหรับช่างภาพแล้วการจะถ่ายรูปสามพันโบกให้สวยต้องถ่ายช่วงนี้ เพราะแสงแดดรื่อเรืองส่องกระทบก้อนหินฉายเงาแห่งความแกร่งงดงาม หากแผ่นหินของสามพันโบกเป็นหินเนื้ออ่อนบางเบาคล้ายดินโคลน เราคงเห็นรอยเท้าของเราปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของสามพันโบกได้ไม่ยาก และบางทีรอยเท้าของเราอาจถูกกดทับด้วยรองเท้าของคนอื่นเช่นกัน เพราะสามพันโบกวันนี้ผู้คนมากขึ้นเป็นลำดับ

 

ด่านช่องเม็ก-วังเตาใต้เงาความเปลี่ยนแปลง


ล้อรถหมุนเวลา ๑๐ โมงเช้าจากห้วยวังนองโดยมีจุดหมายปลายทางที่ด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร คนขับทำความเร็วพอประมาณ แต่กว่าจะไปถึงด่านช่องเม็ก-วังเตาก็เลยเที่ยงไปจวนบ่าย ที่ไปถึงช้ากว่าความน่าจะเป็น เพราะคนขับรถถูกผู้โดยสารขอร้องให้จอดรถอยู่หลายครั้ง เนื่องจากกองเห็ดข้างถนนช่างยั่วยวนความอยากเสียเต็มประดา แต่สุดท้ายก็ได้เพียงผักจากตลาดเท่านั้น


รถมาถึงด่านช่องเม็กราวบ่าย บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองผู้คนพลุกพล่านพอสมควรแม้จะเป็นวันอาทิตย์ เมื่อคนพร้อมตรงจุดนัดหมายบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อย พิธีการผ่านแดนเสร็จสิ้นลง คณะเดินทางทั้งหมดก็ทยอยเดินไปตามทางเดินเล็กๆ ที่ถูกกั้นไว้โดยรั้วเหล็กมุ่งหน้าสู่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศลาว


นี่ไม่ใช่การเดินทางข้ามพรมแดนแห่งนี้ครั้งแรก การเดินทางในรอบนี้จึงดูตื่นเต้นน้อยกว่าครั้งผ่านมา แต่มีบางอย่างที่ต้องรอบครอบมากขึ้น เช่น การเช็คค่าเงิน เช็คข้อมูลที่ถูกกรอกลงไปในเอกสารผ่านแดน และหนังสือเดินทาง การเดินทางข้ามประเทศแม้จะมีพรมแดนติดกัน สำหรับคนที่มีหนังสือเดินทางจะมีพิธีการยุ่งยากกว่าการถือหนังสือผ่านแดนชั่วคราว แต่พอผ่านพิธีการต่างๆ เหล่านี้จากด่านตรวจคนเข้าเมืองไปแล้ว คนที่มีหนังสือเดินทางสามารถที่จะอยู่ในประเทศลาวได้ยาวนานกว่า โดยระยะเวลาในการอยู่ในประเทศลาวของคนถือหนังสือผ่านแดนชั่วคราวสามารถอยู่ได้เพียง ๒ คืน ๓ วัน สำหรับคนที่มีเวลาในการเดินทางสู่ลาวใต้ไม่หลายวันมากนักสามารถทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวได้ตรงด่านตรวจคนเข้าเมือง


ขณะเดินข้ามด่านพรมแดนไป สิ่งที่สังเกตเห็นได้ในรอบการเดินทางเที่ยวนี้คือ ป้ายประกาศเตือนต่างๆ ทั้งป้ายห้ามนำกล้วยไม้ บุหรี่ สุรา ไพ่ โทรศัพท์มือถือ วีซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ของแท้เข้าภายในประเทศ ป้ายประกาศเตือนเหล่านี้ทำเอาหลายคนที่ชอบฝ่าฝืนกฏระเบียบคิดหนักพอสมควร


ด่านวังเตายามบ่ายดูเงียบสงบ ผู้คนผ่านแดนน้อยลง อาจเป็นเพราะหลายคนเลือกที่จะข้ามไปในตอนเช้า เพราะถ้าข้ามไปเช้าแล้วสามารถทำธุระให้เสร็จแล้วกลับเข้ามาในตอนบ่ายได้จากนั้นก็สามารถเดินทางกลับถึงบ้านได้ในตอนเย็น


หลังกรอกเอกสารจนเสร็จแล้วยื่นเข้าไปประทับลงตราเลขที่ของหนังสือเดินทาง หลายคนก็แปลกใจเล็กน้อย เพราะค่าบริการรวมค่าทำเนียมดูเหมือนว่าจะแพงขึ้นว่าปีก่อน มิหนำซ้ำใบเสร็จก็ไม่มีให้ แต่สำหรับบางคนที่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีก็ผ่านเลยไป เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นการเดินทางสู่ลาวใต้โดยมีจุดหมายอยู่ที่สี่พันดอนก็เริ่มขึ้น

 

เรื่องเล่าบนถนนหมายเลข ๑๓ สู่ลาวใต้


รถตู้สีขาวค่อยเคลื่อนออกจากจุดจอดเพื่อมุ่งหน้าไปบนถนนหมายเลข ๑๓ เรื่องราวสองข้างทางบนถนนสายนี้ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมายนัก บ้านเรือนที่เคยถ่ายรูปเอาไว้เมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีก่อนก็ยังอยู่ที่เดิม จะมีบ้างก็วิลล่าหลังใหญ่ที่เริ่มถูกปลูกสร้างมากขึ้น วิลล่าหลังใหญ่หลายหลังที่ถูกปลูกสร้างขึ้นข้างทุ่งนาสองข้างทางบ่งบอกสถานะของผู้เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี โดยส่วนมากแล้ว วิลล่าเหล่านี้เป็นของคนที่เพิ่งอพยพกลับมาจากอเมริกา


ขณะตัดภาพสายตาจากวิลล่าหลังใหญ่มาสู่ท้องนา ภาพบางภาพที่ไม่ค่อยคุ้นชินเท่าใดนักในประเทศลาวก็ปรากฏต่อสายตา รถไถนาเดินตามสีแดงส่งควันโขมงจากปลายท่อ แผดเสียงคำรามก้องดังไปทั่วท้องนาเริ่มเข้ามาทดแทนที่ควายสีดำมากเข้าไปทุกที


ในปีก่อนนาผืนเดียวกันริมถนนแห่งนี้ที่รถวิ่งเริ่มลงมือปักดำข้าวกล้าแล้ว แต่ปีนี้ฝนจากฟ้าคงกำลังเริ่มส่งน้ำลงมา นาบางแปลงจึงอยู่ในช่วงของการรอต้นกล้า และบางแปลงก็กำลังอยู่ในช่วงไถพรวน


รถทำความเร็วไม่มากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขอ้จำกัดในการใช้รถที่ถูกจำกัดความเร็วเอาไว้ด้วยป้ายกำหนดความเร็วที่ข้างถนน หลายคนเริ่มรู้สึกอึดอัด เพราะความเชื่องช้าของรถ บางคนเริ่มบ่น บางคนเริ่มขอให้เปิดเพลง บางคนที่ดื่มด่ำเมรัยตราหัวเสือสัญชาติลาวก็ง่วงหลับฟุบลงกับเบาะนั่ง เมื่อรถเข้าสู่เมืองจำปาสัก รถก็ถูกสั่งให้จอดแวะข้างทาง เพื่อให้ผู้โดยสารหิวโหยบนรถได้ลงไปปลอดปล่อยความหิวโหยของตัวเองในร้านเฝอเจ้าประจำ


บางคนเริ่มหวั่นใจถึงการเดินทางสู่เป้าหมายอาจล่าช้า เพราะรถวิ่งไม่ค่อยเร็ว แต่บางคนก็มีรอยยิ้มบนใบหน้า เพราะสังเกตุจากการพูดคุยแล้ว การเดินทางในลาวเหมือนกับเราได้ทำตัวเองให้ช้าลง ความช้าทำให้เรามีเวลาได้ครุ่นคิดอะไรหลายอย่าง ว่ากันตามความจริงแล้ว คณะเดินทางของเราชุดนี้ต่างเคยร่วมเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ในประเทศลาวมาด้วยกันหลายครั้ง ความเข้าใจในข้อจำกัดของแต่ละคนจึงเป็นที่รับรู้ เช่น บางคนมีข้อจำกัดในเรื่องของการไม่กินเนื้อ การเข้าร้านอาหารหรือแม้แต่การทำอาหารก็จะถูกคิดเผื่อคนที่ไม่กินเนื้อด้วย


โดยสัตย์จริงการเดินทางร่วมกับคณะเดินทางชุดนี้ มีความรื่นรมย์มากกว่าการเดินทางร่วมกับคณะเดินทางชุดอื่น เราสามารถรอคนลงที่ไปถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอได้โดยไม่มีใครเร่งรีบ จะมีบ้างก็แต่การบอกให้หามุมกล้อง หาโลเกชั่นในการถ่ายเท่านั้น


รถจอดแวะข้างทางอีกครั้งที่ตลาดหลักซาว เพื่อให้คณะเดินทางได้ผ่อนคลายอิริยาบท และบางส่วนก็ลงไปซื้อเครื่องปรุงอาหารที่เมนูถูกคิดเอาไว้แล้ว การเดินทางสู่ลาวใต้ด้วยการเช่ารถในครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่ากว่าครั้งก่อน เพราะคนขับรถไม่ได้เรื่องมาก มิหนำซ้ำยังดูแลผู้โดยสารเป็นอย่างดี หากเป็นรถตู้บางคันแล้ว เราคงไม่ได้มิตรภาพอันงดงามเช่นนี้


ตลาดหลักซาวในยามบ่ายเริ่มวายบ้างแล้ว ผู้คนน้อยลง แต่มีแม่ค้าขายสินค้ากันอยู่ตามปกติ ว่ากันว่าตลาดแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีอาหารป่าหลายประเภทวางขายให้เลือกซื้อ แม้ว่าทางหน่วยงานราชการจะเข้มงวดกวดขันก็ตามที จึงไม่แปลกนักเมื่อเราไปเดินตลาด เราจะได้เห็นกระจงนอนนิ่งอยู่ข้างเนื้อเก้งหรือเนื้อหมูป่า นอกจากสินค้าเหล่านี้แล้ว สินค้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของลาวใต้ในตลาดแห่งนี้คือปลา ปลาที่ถูกนำมาวางขายมีหลายชนิดมีหลายขนาด ว่ากันว่าสำหรับคนที่ไม่บริโภคเนื้อปลาการมาเที่ยวลาวใต้อาจไม่ใช่ปลายทางของความสุข แต่สำหรับคนที่บริโภคเนื้อปลา การมาลาวใต้คงสุขใจไม่น้อย เพราะปลาที่หลากหลายชนิด ราคาไม่แพงจะถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารอันแสนอร่อยจนลืมไม่ลง เนื่องจากตระหนักในข้อนี้ บางคนในคณะเดินทางของเราจึงแอบซื้อวาซาบิกระป๋องติดกระเป๋าข้ามประเทศเข้ามากินกับเนื้อปลาแม่น้ำโขงด้วย


หลับๆ ตื่นๆ ไปบนรถราว ๓ ชั่วโมง รถก็มาถึงบ้านนากะสัง หมู่บ้านอันเป็นทั้งตลาดค้าส่งปลา ของกินของใช้อื่นๆ และเป็นท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยวผู้ต้องการเดินทางไปสู่ดอนเดช ดอนคอน แสงแดดหลังฝนตกเมื่อวานร้อนจนคนศรีษะล้านไม่กล้าเดินผ่าน ทำเอาพวกเราหลายคนเหงื่อไหลย้อยอาบใบหน้า


หลังลงรถได้ไม่นาน เรือที่นัดหมายให้มารับก็มาถึง เรียกว่าพอลงรถก็ขึ้นเรือ เวลาพักเหนื่อยคือเวลาที่นั่งอยู่บนเรือนั่นเอง เมื่อลงมาถึงเรือหลายคนกล่าว ‘สบายดี’ ทักทายเจ้าของเรือสองสามีภรรยา ก่อนจะขนสัมภาระทุกอย่างขึ้นเรือ เมื่อสัมภาระถูกจัดวางเรียบร้อย เรือก็ค่อยๆ เบนหัวออกจากท่าเรือบ้านนากะสัง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่บ้านเอื้อยพรอันเป็นบ้านพักริมแม่น้ำโขงที่ดอนคอน ก่อนแม่น้ำโขงจะไหลลงสมพะมิด


เฮือนของเอื้อยพรนอกจากจะเปิดเป็นบ้านพักแล้ว ยังเป็นจุดรับซื้อปลาที่ใหญ่ที่สุดในดอนคอน ตอนเช้าเราจึงเห็นปลาจำนวนมากกองอยู่บนเสื่อ และในถังน้ำแข็ง ปลาเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปที่บ้านนากะสังในช่วงสายของวัน

 

 

 

 

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…